การคุกคามและการปิดกั้นการชุมนุมในประเทศไทย

# รายงานสถานการณ์ชุมนุม การคุกคามและการปิดกั้นการชุมนุม ระหว่างวันที่ 13 – 21 ตุลาคม 2563
# ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม
เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 การชุมนุมใหญ่ของกลุ่ม “คณะราษฎร” เพื่อเรียกร้องต่อสามข้อเรียกร้องหลัก คือ 1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี 2. ให้รัฐสภาเปิดวิสามัญพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ก่อนหน้านั้นหนึ่งวัน (วันที่ 13 ตุลาคม) เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมของกลุ่ม “คณะราษฎรอีสาน” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
@gun_sangtong
ต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 14 ตุลาคม เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้ชุมนุมเริ่มมาร่วมตัวกันและเริ่มเคลื่อนขบวนในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 14.00 น. ไปยังทำเนียบรัฐบาล การชุมนุมของคณะราษฎรดำเนินไปเป็นคู่ขนานกับเจ้าหน้าที่รัฐและมวลชนที่ใส่เสื้อสีเหลืองซึ่งรวมตัวกันตลอดสองข้างทางของถนนราชดำเนินเพื่อรอรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
@gun_sangtong
ก่อนที่ขบวนของผู้ชุมนุมคณะราษฎรจะมุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันสองเหตุการณ์ เหตุการณ์แรกเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 13.00 น. มีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมกลุ่มเสื้อเหลืองกับผู้ชุมนุมคณะราษฎรบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หน้าร้านเมธาวลัย ศรแดง ทั้งสองฝ่ายเกิดการกระทบกระทั่งกันขึ้น มีการขว้างปาขวดน้ำใส่กัน มีเจ้าหน้าที่พยายามเข้าไปสกัดกั้นเพื่อไม่ให้สถานการณ์บานปลายจนสามารถยุติการปะทะกันได้ในเวลาต่อมา เหตุการณ์ที่สองเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. บริเวณถนนพิษณุโลก หน้าทำเนียบรัฐบาลได้มีขบวนเสด็จฯ ขับผ่านมา กลุ่มผู้ชุมนุมคณะราษฎรจึงได้ชูสัญลักษณ์สามนิ้วพร้อมกับส่งเสียงโห่และเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมไป หลังจากที่ขบวนเสด็จได้ขับผ่านไปผู้ชุมนุมจำนวนหลายหมื่นคนทำการยึดถนนบริเวณโดยรอบทำเนียบรัฐบาลได้ท่ามกลางกระแสข่าวการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดทั้งคืน อย่างไรก็ตามอานนท์ นำภา แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ประกาศว่า ให้ผู้ชุมนุมแยกย้ายในช่วงเช้าของวันที่ 15 ตุลาคม และในเย็นวันเดียวกันให้ผู้ชุมนุมไปชุมนุมที่บริเวณสี่แยกราชประสงค์
@gun_sangtong
อย่างไรก็ตามเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม เวลา 04.00 น. รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้ออก “ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร” โดยอ้างเหตุผลว่า 1. มีบุคคลหลายกลุ่มปลุกระดมให้มีการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งก่อให้เกิดความปั่นป่วนและความไม่สงบเรียบร้อย 2. มีการกระทำที่กระทบต่อขบวนเสด็จพระราชดำเนิน 3. การชุมนุมกระทบต่อมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และ 4. กระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ เป็นจุดเริ่มต้นของการสลายการชุมนุมของตำรวจปราบจราจลที่เริ่มตั้งแต่เวลา 04.30 น. แกนนำผู้ชุมนุมอย่างอานนท์ นำภา พริษฐ์ ชิวารักษ์ และประสิทธิ์ ครุธาโรจน์ ถูกจับกุมตัว แต่การสลายการชุมนุมดังกล่าวได้นำมาสู่การชุมนุมใหญ่โดยไม่มีแกนนำครั้งแรกที่บริเวณแยกราชประสงค์ และนำมาสู่การสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม อีกครั้งบริเวณถนนพระราม 1 ใต้รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสยาม
@gun_sangtong
การใช้มาตรการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสลายการชุมนุมส่งผลให้การชุมนุมขยายตัวมากขึ้นทั้งในด้านของพื้นที่การชุมนุมที่แผ่ขยายเป็นดาวกระจายทั้งในกรุงเทพมหานครฯ และจังหวัดต่างๆ รวมทั้งในด้านของจำนวนผู้ชุมนุมก็ขยายตัวมากขึ้นเช่นเดียวกัน ในขณะที่เจ้าหน้าที่ก็ยังคงใช้เทคนิคในการคุกคามผู้ชุมนุมโดยการติดตามตัวแกนนำผู้ชุมนุม จับกุมและดำเนินคดีกับผู้เข้าร่วมการชุมนุม อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์การชุมนุมจะยังไม่มีทีท่าจะยุติลงแต่วันที่ 22 ตุลาคม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาก็ได้ประกาศยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร ซึ่งในระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 13 – 21 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 76 ครั้ง มีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 90 ราย และถูกดำเนินคดี 84 ราย
# การชุมนุม: สถิติ รูปแบบ และข้อเรียกร้อง
การชุมนุมที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 13 – 21 ตุลาคม 2563 มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 76 ครั้ง แบ่งเป็นกรุงเทพฯ อย่างน้อย 16 ครั้ง โดยการชุมนุมอย่างน้อย 15 ครั้งเป็นการชุมนุมภายใต้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิกที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหานคร และต่างจังหวัดอย่างน้อย 60 ครั้ง หลังจากการสลายการชุมนุมด้วยกำลังตำรวจในช่วงเช้ามืดของวันที่ 15 ตุลาคม บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ส่งผลให้การชุมนุมในกรุงเทพฯ มีลักษณะที่เหมือนกันคือ ไม่มีแกนนำชัดเจนและไม่มีการจัดการ (ทั้งเรื่องการ์ดและเครื่องเสียง) และจุดที่ทำให้การชุมนุมขยายตัวขึ้นคือการสลายการชุมนุมในวันที่ 16 ตุลาคม บริเวณถนนพระราม 1 ใต้รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสยามที่มีการฉีดน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุม จนกระทั้งวันที่ 17 ตุลาคม มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 22 แห่ง เฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ มีการชุมนุมแบบดาวกระจายนับได้อย่างน้อย 4 แห่ง ประกอบด้วย การชุมนุมบริเวณห้าแยกลาดพร้าว วงเวียนใหญ่ แยกบางนา และสกายวอร์คบีทีเอสสถานีอโศก ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาก่อนหน้านี้
การชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคณะราษฎรในวันที่ 14 ตุลาคม มีข้อเรียกร้องชัดเจนสามข้อ คือ 1. พลเอกประยุทธ์ ลาออกจากการเป็นนายกฯ 2. เปิดประชุมสภาฯ รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่เมื่อแกนนำถูกจับกุมตัว การชุมนุมหลังจากนั้นจึงเพิ่มข้อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ชุมนุมโดยไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 การชุมนุมที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดย “นักศึกษากลุ่มประชาคมมอชอ” ได้ยื่นข้อเรียกร้องสามข้อต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ คือ 1. ให้มหาวิทยาลัยแสดงจุดยืนเกี่ยวกับนักศึกษาที่ถูกจับ 2. รัฐต้องหยุดคุกคามประชาชน และ 3. ยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงฯ ทันทีและปล่อยเพื่อนของเรา
# ลักษณะการคุกคามและปิดกั้นผู้ชุมนุม
การชุมนุมในช่วงระหว่างวันที่ 13 – 21 ตุลาคม 2563 ที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 76 ครั้งทั่วประเทศยังคงพบการคุกคามและปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อผู้ชุมนุมที่ชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ จะเห็นได้ว่าวิธีการต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้ในการสร้างอุปสรรคเพื่อให้การชุมนุมไม่ได้ผล และความพยายามในการขัดขวางผู้ชุมนุมเพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมกลายเป็นการเพิ่มแรงสนับสนุนในการต่อต้านรัฐบาลมากยิ่งขึ้น โดยในช่วงเก้าวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่รัฐได้พยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อการคุกคาม ปิดกั้น และสร้างอุปสรรคในการชุมนุม ประกอบด้วย
- ถูกจับกุมและดำเนินคดี
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 13 – 21 ตุลาคม 2563 มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมอย่างน้อย 90 ราย และมีผู้ถูกดำเนินคดี 84 ราย รายงานจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) พบว่าเจ้าหน้าตำรวจมีการใช้ทั้งการตั้งข้อหา หมายเรียก หมายจับทั้งคดีใหม่และคดีเก่ามาบังคับใช้กับกลุ่มแกนนำผู้จัดการชุมนุมและผู้เข้าร่วมการชุมนุม อีกทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมหลายคนก็ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว นอกจากนี้ยังมีเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปีอย่างน้อยสองคนถูกจับกุม โดยหนึ่งคนได้รับการปล่อยตัวภายหลังแต่อีกคนหนึ่งถูกดำเนินคดีแต่ได้รับการประกันตัวจากศาลเยาวชน
สำหรับคดีที่ผู้ชุมนุมถูกต้องข้อหามีดังนี้
- ป.อาญา มาตรา 110 ประทุษร้ายต่อพระองค์ หรือเสรีภาพของพระราชินีหรือรัชทายาท ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกตั้งแต่สิบหกปีถึงยี่สิบปี
- ป.อาญา ม.116 ข้อหายุยงปลุกปั่นฯ โทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี
- ป.อาญา ม.215 มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โทษจำคุกไม่ 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ป.อาญา ม.358 ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท
- ป.อาญา ม. 360 ทำให้เสียหาย ทำลาย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่ใช้หรือมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ป.อาญา ม.368 ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งเจ้าพนักงาน โทษจำคุกไม่เกิน 10 วัน ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ป.อาญา ม.385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- ป.อาญา ม.391 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น แต่ไม่เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ชุมนุมทำกิจกรรมหรือมั่วสุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- พ.ร.บ.โรคติดต่อ ม.34 (6) กระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาด โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
- พ.ร.บ.จราจรทางบก ม.114 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร โทษปรับไม่เกิน 500 บาท
- พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ม.12 ร่วมกันขูด กระเทาะ ขีด เขียน พ่นสี หรือทำให้ปรากฏด้วยประการใดๆ ซึ่งข้อความ ภาพ หรือรูปรอยใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท
- พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ ม.19 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน โทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท
- พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ม.10 ฐานการไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ
- พ.ร.บ.คอมฯ ม.14(3) นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
- สลายการชุมนุม
ในช่วงระหว่างวันที่ 13 - 21 ตุลาคม มีการสลายการชุมนุมเกิดขึ้นสามครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 13 ตุลาคม เป็นการสลายชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม มีการฉุดกระชากผู้ชุมนุมจนสามารถจับตัวได้ทั้งหมด 23 คน ครั้งที่สองเกิดขึ้นในวันที่ 15 ตุลาคม เป็นการสลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาล และครั้งที่สามวันที่ 16 ตุลาคม 2563 สลายชุมนุมบริเวณถนนใต้รถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีสยาม ซึ่งการสลายการชุมนุมครั้งนี้มีการใช้กำลังโดย ตำรวจชุดปราบจลาจลพร้อมโล่ กระบอง และรถฉีดน้ำแรงดันสูง โดยเริ่มจากการกระชับพื้นที่เข้าใกล้ผู้ชุมนุม และประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายในเวลา "5 นาที" นับตั้งแต่เจ้าหน้าที่ประกาศ เมื่อผู้ชุมนุมไม่ยุติการชุมนุมจึงเกิดการปะทะกัน ตำรวจใช้กำลังหลายร้อยนายตั้งแถวหลายชั้นเดินเข้าหาผู้ชุมนุม และใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงฉีดไปยังผู้ชุมนุมหลายครั้ง จนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากแรงดันน้ำและถอยแนวร่นไปทางสี่แยกปทุมวัน อีกทั้งยังมีการใช้น้ำผสมสีฟ้าฉีดสลับกัน ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์เล่าว่า "รู้สึกแสบตาและแสบบริเวณผิวหนัง" การกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ถือเป็นการใช้ความรุนแรง ซึ่งผิดกับตำรวจที่อ้างเสมอว่า "ทำตามหลักสากล"
- ติดตามคุกคาม
รายงานจากศูนย์ททนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีการชุมนุมนอกพื้นที่กรุงเทพมหานคร อย่างน้อย 3 ครั้ง คือ วันที่ 18 ตุลาคม เป็นการชุมนุม #เผด็จการเป็นเหตุศรีสะเกษจะไม่ทน การชุมนุม #อำนาจเจริญไม่ทนเผด็จการ และการชุมนุม #สุพรรณจะไม่ทน พบว่าผู้จัดและผู้มีบทบาทในการปราศรัยถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคาม ทั้งโทรถามประวัติส่วนตัว ติดต่อไปยังคนใกล้ชิด ไปหาถึงบ้านพัก รวมทั้งมีการข่มขู่ห้ามไม่ให้ไปชุมนุม
ตัวอย่าง กรณีนักเรียนมัธยมศึกษาที่ปี่ 6 โรงเรียนหัวตะพานวิทยาคม จังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งได้ร่วมปราศรัยในการชุมนุม #อำนาจเจริญไม่ทนเผด็จการ ถูกติดตามและถูกคุกคาม โดยหลังจากนักเรียนกลับถึงบ้านได้รับการบอกเล่าจากแม่และย่าด้วยน้ำเสียงแตกตื่นว่า "ผู้ใหญ่บ้านมาบอกว่าตอนค่ำตำรวจได้โทรมาหา และให้บอกไม่ให้ไปร่วมชุมนุม" และช่วงดึก ของวันเดียวกันมีคนโทรมาหาแม่อีก และบอกว่าเป็นตำรวจจากกรุงเทพฯ มีการพูดในลักษณะข่มขู่ว่า "มีคำสั่งมาว่า หากเขาไปร่วมชุมนุมอีกอาจจะถูกดำเนินคดี และถ้าหมายมาถึงบ้านต้องไปรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันทั้งครอบครัว เพราะเขาอายุไม่ถึง 20 ปี อาจจะติดคุกทั้งพ่อแม่ ใช้เงินประกันหลักล้าน ถ้าติดคุกไปอาจโดนซ้อม หมดสิทธิเข้ามหาวิทยาลัย" ตอนท้ายชายคนดังกล่าวนัดให้แม่ไปพบที่ สภ.เมืองอำนาจเจริญ ในช่วงกลางวันของวันรุ่งขึ้น ซึ่งทำให้แม่เกิดความหวาดกลัว
กรณีหญิงเจ้าของร้านเสริมสวยวัย 32 ปี จังหวัดสุพรรณบุรี เล่าว่า วันที่ 19 ตุลาคม 2563 มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 4-5 นาย เดินทางมาร้านที่น้องสาวของเธอทำงาน โดยมีการถือรูปบัตรประชาชนของน้องเข้ามา แล้วถามว่าน้องได้ร่วมชุมนุมเมื่อวานหรือไม่ น้องยืนยันว่าไม่ได้ไป โดยคาดว่าเจ้าหน้าที่อาจจะเห็นว่าน้องสาวของเธอตัดผมและหน้าตาคล้ายคลึงกัน จึงเข้าใจว่าเป็นตน จากนั้น ตำรวจได้เข้าไปยังร้านของแฟนซึ่งเป็นตึกแถวอยู่ใกล้ๆ กับร้านของน้องสาวเธอ โดยเข้ามาคุยในร้าน และมีการแสดงภาพถ่ายบัตรประชาชนของแฟน เจ้าหน้าที่ถามเช่นเดิมว่าได้ไปร่วมชุมนุมหรือไม่ แฟนเธอก็ยอมรับว่าไป เจ้าหน้าที่ได้พูดคุยสั้นๆ ว่าให้ระมัดระวังการไปร่วม ตอนแรกเจ้าหน้าที่จะขอถ่ายคลิปวิดีโอเพื่อให้แฟนของเธอพูดยอมรับว่าไปชุมนุมด้วย แต่แฟนเธอปฏิเสธ ก่อนเจ้าหน้าที่จะกลับไป
- จำกัดการเดินทาง
การชุมนุมตั้งแต่วันที่ 13 – 21 ตุลาคม 2563 ผู้จัดชุมนุมได้ใช้สื่อโซลเซียลมีเดียในการนัดร่วมตัวกัน ซึ่งเน้นการร่วมตัวกันตามแนวรถไฟฟ้า เนื่องจากง่ายในการเดินทางและการเคลื่อนย้ายผู้คนจากหนึ่งจุดไปยังอีกหนึ่งจุดได้อย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงทำให้รัฐบาลออกคำสั่งปิดสถานีรถไฟฟ้าหลายสถานีทำให้การชุมนุมมีอุปสรรค
- มหาวิทยาลัยห้ามคนนอกเข้า ตำรวจขอห้ามพูดเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์
วันที่ 18 ตุลาคม มีการนัดชุมนุมภายในมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี แต่บริเวณด้านหน้ามหาวิทยาลัยฯ มีการตั้งด่านตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองของมหาวิทยาลัยฯ โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งของทางมหาวิทยาลัยฯ ที่ห้ามคนนอกเข้า ให้เพียงนักศึกษาและคณาจารย์เข้าไปได้เท่านั้น อย่างไรก็ตามนักศึกษาจึงได้ตัดสินใจย้ายสถานที่ชุมนุมไปยังบริเวณอนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ที่อยู่ห่างจากมหาวิทยาลัยไม่ถึง 50 เมตร โดยการชุมนุมครั้งนี้ตำรวจขอให้ผู้จัดไม่ปราศรัยเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์
@gun_sangtong