วันที่: 29/8/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

รายงานสถานการณ์ชุมนุมระหว่างวันที่ 8 – 21 พฤศจิกายน 2563: มีข้อเสนอจากการชุมนุมที่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่รัฐใช้ความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน

description

การชุมนุมระหว่างวันที่ 8 – 21 พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 43 ครั้ง เป็นการชุมนุมในกรุงเทพฯ อย่างน้อย 12 ครั้ง และต่างจังหวัดอย่างน้อย 26 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลืองอีกอย่างน้อย 7 ครั้ง จากสถิติดังกล่าวจะพบว่า การชุมนุมในช่วงสองสัปดาห์นี้จำนวนการชุมนุมลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสองสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีการชุมนุมทั่วประเทศรวมกันอย่างน้อย 77 ครั้ง

ภาพรวมการชุมนุม

การชุมนุมระหว่างวันที่ 8 – 21 พฤศจิกายน 2563 มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 43 ครั้ง เป็นการชุมนุมในกรุงเทพฯ อย่างน้อย 12 ครั้ง และต่างจังหวัดอย่างน้อย 26 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อเหลืองอีกอย่างน้อย 7 ครั้ง จากสถิติดังกล่าวจะพบว่า การชุมนุมในช่วงสองสัปดาห์นี้จำนวนการชุมนุมลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับสองสัปดาห์ก่อนหน้าที่มีการชุมนุมทั่วประเทศรวมกันอย่างน้อย 77 ครั้ง  สำหรับเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลานี้คือ วันที่ 17 – 18 พฤศจิกายน ที่มีการเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวน 7 ฉบับ ซึ่งมีร่างที่ถูกนำเสนอโดยภาคประชาชนด้วย ทำให้ประชาชนกลุ่มราษฎรนัดชุมนุมบริเวณด้านหน้ารัฐสภา (เกียกกาย) เพื่อกดดันรัฐสภาให้ลงมติรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน ขณะเดียวกันก็มีประชาชนกลุ่มเสื้อเหลืองที่ไม่เห็นชอบให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็นัดชุมนุมในวันและสถานที่เดียวกัน จนเกิดการปะทะกันระหว่างสองกลุ่ม  

นอกจากนี้ในระหว่างที่รัฐสภากำลังอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของภาคประชาชน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้ดำเนินการสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรด้วยการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุม ส่งผลให้มีผู้ชุมนุมบาดเจ็บจำนวนมาก จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมนี้เองได้สร้างความคับแค้นให้กับผู้ชุมนุม จนนำมาสู่การยกระดับการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยมีข้อความวิพากษ์วิจารณ์และเสียดสีพระมหากษัตริย์ที่ตรงไปตรงมามากขึ้น จนทำให้วันทึ่ 19 พฤศจิกายน 2563 มีการปล่อยแถลงการณ์นายกรัฐมนตรี โดยมีใจความสำคัญว่า “รัฐบาลและหน่วยงานด้านความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเพิ่มความเข้มข้นในการปฏิบัติ โดยจะบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับ ทุกมาตราที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุมที่กระทำผิด ฝ่าฝืนกฎหมาย เพิกเฉยต่อการเคารพสิทธิเสรีของบุคคลอื่น โดยจะดำเนินคดีต่างๆ ให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของประเทศ ที่สอดคล้องกับหลักสากล” แถลงการณ์ดังกล่าวมีความหมายอีกด้านคือ การประกาศว่ารัฐบาลจะใช้ “ข้อหาหมิ่นกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับประชาชน หลังจากที่ไม่ได้ถูกใช้มาตั้งแต่มีการเปลี่ยนรัชสมัย  

asset

เหตุการณ์การชุมนุมบริเวณด้านหน้ารัฐสภา (เกียกกาย) การปะทะระหว่างกลุ่มคณะราษฎรและผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองระหว่างการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ภาพโดย Voice Online

assetasset

มวลมหาประชาชนชุมนุมที่แยกราชประสงค์และหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ วันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 และมีการใช้เป็ดยางสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของการเคลื่อนขบวนชุมนุม ภาพโดย ประชาไท

ข้อเรียกร้องหลากหลายมากขึ้น แต่ยืนยันข้อเสนอหลักไม่ลดเพดาน 

การชุมนุมที่เกิดขึ้นทั่วประเทศในช่วงวันที่ 8 – 21 พฤศจิกายน อย่างน้อย 38 ครั้ง มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ยังคงยืนยันในสามข้อเรียกร้องหลักของคณะราษฎร คือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, การขับไล่พลเอกประยุทธ์ และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกันการชุมนุมอย่างน้อย 7 ครั้ง ของกลุ่มคนเสื้อเหลืองคือการออกมาคัดค้านการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งการคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ประเด็นใหม่ๆ ในการเรียกร้องเกิดขึ้นตามสถานการณ์การเมืองในช่วงเวลานั้น เช่น การใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมคณะราษฎร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน หน้ารัฐสภา (เกียกกาย) ส่งผลให้เกิดการชุมนุมแสดงความไม่พอใจในพื้นที่อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่จังหวัดเชียงใหม่มีผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 100 คน เดินขบวนไปยังสภาตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่เพื่อ “แจ้งความตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” จากกรณีการฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง ใส่ผู้ชุมนุมบริเวณแยกเกียกกายจนได้รับบาดเจ็บและทรัพย์สินเสียหาย ที่จังหวัดเพชรบุรีผู้ชุมนุมทำพิธีสาปแช่งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้สั่งการและผู้อยู่เบื้องหลังในการใช้ความรุนแรงกับประชาชน รวมทั้งที่กรุงเทพมหานครที่มีประชาชนกว่า 30,000 คน มาชุมนุมกันที่บริเวณแยกราชประสงค์ 

นอกจากนี้การชุมนุมหลายครั้งยังพบข้อเรียกหรือการรณรงค์ในประเด็นอื่นๆ เช่น วันที่ 12 พฤศจิกายน ที่จังหวัดมหาสารคาม ภาคนักเรียนมหาสารคาม และเครือข่ายแนวร่วมนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จัดชุมนุมประกาศจุดยืน “ไม่ยอมรับคณะกรรมการปรองดอง-สมานฉันท์” ที่รัฐบาลตั้งขึ้น ในวันเดียวกันที่สกายวอล์ค อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กลุ่มคณะราษฎรบอมบ์ นัดทำกิจกรรม “อยากเห็นท้องถิ่นดีขึ้นยังไง” โดยให้ประชาชนเขียนโพสต์อิทแสดงความคิดเห็น วันที่ 14 พฤศจิกายน กลุ่มนักเรียนเลวได้จัดชุมนุมเพื่อ “ประท้วงและขับไล่ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ” เนื่องจากทำงานไม่มีประสิทธิภาพ และในวันเดียวกันมีหลายกลุ่มกิจกรรมจัดงาน Mob Fest บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อ “เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยในงานมีการพูดถึงประเด็นทางการเมืองและสิทธิต่างๆ หรือวันที่ 19 พฤศจิกายน ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการเดินขบวนรณรงค์เพื่อ “สะท้อนปัญหาที่ดินป่าไม้ไทย” เนื่องในวาระครบรอบ 46 ปี การก่อตั้งสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย พร้อมมีการประกาศเจตนารมณ์สนับสนุนให้ประเทศไทยมีการกระจายอำนาจการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม 

asset

วันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มคณะราษฎรบอมบ์ นัดทำกิจกรรม “อยากเห็นท้องถิ่นดีขึ้นยังไง” โดยให้ประชาชนเขียนโพสต์อิทแสดงความคิดเห็น ภาพโดย The Standard

asset

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มนักเรียนเลวได้จัดชุมนุมเพื่อประท้วงและขับไล่ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ภาพโดย แนวหน้า

asset

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 นักกิจกรรมหลายกลุ่มกิจกรรมจัดงาน Mob Fest บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อ “เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” โดยในงานมีการพูดถึงประเด็นทางการเมืองและสิทธิต่าง ๆ ภาพโดย Waymagazine

การคุกคาม: ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจากการสลายชุมนุม 

1. ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

การชุมนุมที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8 – 21 พฤศจิกายน มีการชุมนุมสองครั้งที่มีผู้ชุมนุมได้รับการบาดเจ็บ ครั้งแรก วันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 กลุ่มราษฎรนัดชุมนุมเพื่อส่งจดหมายถึงพระมหากษัตริย์ โดยเวลาประมาณ 18.00 น. บริเวณหน้าศาลฎีกาผู้ชุมนุมพยายามเลื่อนรถเมล์ฝ่าแนวกั้นตำรวจเพื่อไปยังพระบรมมหาราชวัง แต่ก็เกิดเหตุการณ์ชุลมุนเมื่อมีการฉีดน้ำประมาณ 1 - 2 นาที ประชาชนบางส่วนหลบเข้าไปในสนามหลวงจนสถานการณ์เกิดความตึงเครียด ขณะที่ประชาชนบางส่วนที่รู้สึกโกรธก็ขว้างปาสิ่งของ เช่น ขวดน้ำ เข้าไปใส่แนวเจ้าหน้าที่ การ์ดของผู้ชุมนุมพยายามขอความร่วมมือให้ผู้ชุมนุมหยุดขว้าง และพยายามควบคุมสถานการณ์โดยตั้งแนวและขอให้ผู้ชุมนุมถอยออกจากไปแนวของตำรวจเพื่อลดความเสี่ยงในการปะทะ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที สถานการณ์ก็เริ่มกลับเข้าสู่ความสงบ โดยทีมการ์ดขอให้ผู้ชุมนุมนั่งลงบนพื้นสนามหลวง และตำรวจประกาศว่าจะไม่ฉีดน้ำอีก ทั้งนี้ ผู้สังเกตการณ์ไอลอว์รายงานว่า มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บระหว่างเหตุชุลมุน 6 คน ในจำนวนนั้นมีผู้ชุมนุม 4 คน และการ์ด 2 คน เป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยจากการถูกฉีดน้ำ แต่ยังไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บถึงขนาดต้องถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล 

asset

การสลายการชุมนุมโดยการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุมในการชุมนุมวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ภาพโดย แนวหน้า

ครั้งที่สองวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งตรงกันวันที่รัฐสภามีนัดพิจารณาเพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งหมด 7 ร่าง รวมทั้งร่างรัฐธรรมนูญที่ภาคประชาชนรวบรวมรายชื่อมากกว่าหนึ่งแสนรายชื่อ กลุ่มราษฎรนัดรวมตัวกันบริเวณด้านหน้ารัฐสภา แต่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้เนื่องจากถูกปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ชุมนุมพยายามฝ่าแนวกั้นเข้าไปด้วยการรื้อแนวลวดหนาม จนถึงเวลาประมาณ 14.00 น. สถานการณ์เริ่มตึงเครียด ตำรวจเริ่มฉีดน้ำสลายการชุมนุม มีการผสมแก๊ซน้ำตา และยิงแก๊ซน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม ตำรวจมีการฉีดน้ำและแก๊ซน้ำตารวมกันเป็นเวลาประมาณ 5 ชั่วโมง วชิรพยาบาล รายงานว่า มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมจำนวนทั้งสิ้น 18 คน เป็นชาย 12 คน หญิง 6 คน ส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากการใช้แก๊สน้ำตา, มีแผลตามร่างกายจากการโดนลวดบาด, ถูกฉีดน้ำ และมีผู้ชุมนุมศีรษะแตก 1 คน โดยผู้บาดเจ็บบางส่วนเดินทางกลับบ้านแล้ว นอกจากนี้ยังมีที่ผู้บาดเจ็บในเหตุการณ์การปะทะระหว่างกลุ่มราษฎรและมวลชนเสื้อเหลืองอีก รวมทั้งสิ้น 28 ราย  

asset

เจ้าหน้าที่ตำรวจฉีดน้ำสลายการชุมนุมในการชุมนุมวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ภาพโดย Mob Data Thailand

2. ผู้ชุมนุมยังคงถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง 

การดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมจากที่พื้นที่ทั่วประเทศยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ระหว่างวันที่ 8 – 21 พฤศจิกายน มีผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมจำนวน 24 คน ส่วนใหญ่ถูกต้องข้อหาเกี่ยวข้องกับการฝ่าฝืนข้อห้าม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงจำนวน 13 คน และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จำนวน 12 คน ผู้ที่ถูกดำเนินคดีส่วนใหญ่เป็นแกนนำที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร เช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, อรรถพล บัวพัฒน์, ธัชพงศ์ แกดำ และ สุวรรณา ตาลเหล็ก เป็นต้น ขณะเดียวกันก็มีผู้ชุมนุมในต่างจังหวัดก็ถูกดำเนินคดี เช่น จังหวัดเชียงใหม่ พึ่งบุญ ใจเย็น ถูกดำเนินคดีฐาน “ดูหมิ่นเจ้าพนักงาน” จากเหตุตะโกนสบถด่าตำรวจในระหว่างการชุมนุม หรือ จังหวัดเชียงราย เจ้าของร้านกาแฟแห่งหนึ่งผู้ไปช่วยเป็นผู้ดำเนินรายการในชุมนุมของนักเรียน #เวียงป่าเป้าบ่เอาเผด็จการ ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ แม้จะไม่ได้เป็นผู้ริเริ่มจัดกิจกรรม นอกจากนี้พบว่ามีเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง 2 ราย  

3. ติดตาม/เยี่ยมบ้านผู้ชุมนุม 

การติดตามหรือการเยื่ยมบ้านโดยเฉพาะแกนนำผู้ชุมนุมยังคงมีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวันที่ 10 พฤศจิกายน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จวางศิลาฤกษ์และเปิดอาคารทำการศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดอุดรธานี ทำให้นักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมชุมนุมอย่างน้อย 11 คน ในพื้นที่ถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งการโทรหาส่วนตัว ไปเยี่ยมบ้าน หรือไปหาที่โรงเรียน นอกจากนี้การชุมนุมในพื้นที่ๆ เช่น จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุตรดิตถ์ และจังหวัดบุรีรัมย์ แกนนำผู้ชุมนุมก็ถูกติดตามไปเยี่ยมบ้านรวมทั้งถูกห้ามปรามข่มขู่ไม่ให้ไปร่วมชุมนุม จนผู้ชุมนุมบางคนไม่กล้ากลับบ้าน

asset

นักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรมที่เคยเข้าร่วมชุมนุมถูกติดตามเยี่ยมบ้านโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างการเสด็จพระราชดำเนินที่จังหวัดอุดรธานี ภาพโดย iLaw