วันที่: 29/8/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

รายงานสถานการณ์ชุมนุมระหว่างวันที่ 20 – 31 ธันวาคม 2563: ท้ายปียังมีชุมนุมต่อเนื่อง แม้ขายกุ้งก็เป็นชุมนุม

description

การชุมนุมช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 หรือตั้งแต่วันที่ 20 - 31 ธันวาคม มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 8 ครั้ง ลักษณะการชุมนุมยังคงเหมือนสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ คือ มีเป้าหมายเพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อรณรงค์คัดค้านการใช้มาตรา 112 รวมทั้งยังมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิในประเด็นอื่นๆ นอกจากนี้ยังคงมีการคุกคามผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องทั้งการแจ้งข้อกล่าวหาและการสลายการชุมนุมของกลุ่ม WeVo หรือ We Volunteer

ภาพรวมการชุมนุม

การชุมนุมช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายของปี 2563 หรือตั้งแต่วันที่ 20 - 31 ธันวาคม มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 8 ครั้ง ลักษณะการชุมนุมยังคงเหมือนสองสัปดาห์ก่อนหน้านี้ คือ มีเป้าหมายเพื่อให้กำลังใจผู้ที่ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมทั้งการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อรณรงค์คัดค้านการใช้มาตรา 112 รวมทั้งยังมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิในประเด็นอื่นๆ นอกจากนี้ยังคงมีการคุกคามผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่องทั้งการแจ้งข้อกล่าวหาและการสลายการชุมนุมของกลุ่ม WeVo หรือ We Volunteer 

asset

ตำรวจตรึงกำลังขณะจัดกิจกรรมม็อบย่างกุ้ง ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ภาพโดย The Standard

ชุมนุมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี 112 

เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ต่อผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การนัดชุมนุมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีตามสถานีตำรวจก็ดำเนินไปอย่างคู่ขนาน โดยระหว่างวันที่ 20 - 31 ธันวาคม 2563 มีการชุมนุมในลักษณะนี้จำนวน 3 ครั้ง นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมเชิงสัญลักษณ์ด้วยการสวม “ชุดครอปท็อป” เดินห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน โดยมีวัตถุประสงค์ให้ยกเลิกการดำเนินคดีตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 กับเยาวชน และเพื่อยืนยันว่าสวมชุดครอปท็อปหรือการใช้เสรีภาพในการแสดงออก ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย  

ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ดังนี้ 

1. วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ที่ สน.บางเขน กรุงเทพมหานคร ผู้ชุมนุม 8 คน ประกอบด้วย อานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ, ณัฎฐธิดา มีวังปลา, พรหมศร วีระธรรมจารี และ อินทิรา เจริญปุระ เดินทางมารับทราบข้อหามาตรา 112 จากการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา หรือการชุมนุม “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ที่หน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน ผู้ชุมนุมทั้งหมดถูกดำเนินคดีเนื่องจากได้ขึ้นปราศรัย ยกเว้นอินทิราที่ไม่ได้ขึ้นปราศรัยใดๆ แต่ถูกดำเนินคดี 

2. วันที่ 21 ธันวาคม 2563 ระหว่างที่มีผู้ชุมนุมเข้ารับทราบข้อหา ที่ สน.บางเขน พนักงานสอบสวนจาก สภ.เมืองขอนแก่น และ สภ.พระนครศรีอยุธยา ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา มาตรา 112 เพิ่มเติมต่อ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล จากการปราศรัยในการชุมนุมสองพื้นที่ดังกล่าว คือ การชุมนุม #จัดม็อบไล่แม่งเลย ที่จังหวัดขอนแก่น และ การชุมนุม #อยุธยาจะไม่ทนอีกต่อไป ที่จังหวัดอยุธยา 

3. วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ สน.พหลโยธิน ผู้ชุมนุม 6 คน ประกอบด้วยพริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, พรหมศร วีระธรรมจารี, ภาณุพงศ์ จาดนอก และวรรณวลี ธรรมสัตยา เข้ารับทราบข้อกล่าวหาจากการชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2563 บริเวณหน้าสำนักงานใหญ่ธนาคารไทยพาณิชย์ จากการปราศรัยตั้งคำถามกับ "ทรัพย์สินพระมหากษัตริย์" ที่ถูกถ่ายโอนในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์  

 4. วันที่ 22 ธันวาคม 2563 ที่ สน.ชนะสงคราม “แอดมินเพจ กู kult” รับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีนำสติกเกอร์คำว่า กูkult ไปติดบนพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณสนามหลวง ในการชุมนุมที่สนามหลวงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563  

5. วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ที่ สน.ท่าพระ ชูเกียรติ แสงวงค์ นักกิจกรรมจากจังหวัดสมุทรปราการ ผู้แต่งกายคอสเพลย์เป็น “จัสติน” เดินทางเข้ารับทราบข้อหามาตรา 112 จากเหตุการณ์ชุมนุมของกลุ่มคณะราษฎร บริเวณสถานีรถไฟฟ้า MRT ท่าพระ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน  เนื่องจาก ชูเกียรติได้ขึ้นพูดแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

ขายกุ้งสนามหลวงถูกจับชุมนุม 

นอกจากการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แล้ว ในช่วงสองสัปดาห์สุดท้ายก่อนสิ้นปีก็ยังมีการชุมนุมอีกอย่างน้อย 3 ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นตามสถานการณ์บ้านเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดรอบที่สองของโรคโควิด-19 จนนำมาสู่การชุมนุม 2 ครั้ง คือ วันที่ 29 ธันวาคม 2563 หมอบูรณ์และกลุ่ม ‘ขอคืนไม่ได้ขอทาน’ จัดกิจกรรมขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอข้อเรียกร้องให้สำนักงานประกันสังคมแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการให้ผู้สมทบเงินประกันสังคมสามารถเบิกเงินสะสมชราภาพมาใช้ก่อนเกษียณ  

asset

29 ธันวาคม 2563 หมอบูรณ์และกลุ่ม ‘ขอคืนไม่ได้ขอทาน’ จัดกิจกรรมขอพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภาพโดย สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ยังมีการชุมนุม #ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อทำแท้ง นำโดย “กลุ่มทำทาง” เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องขอให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา เกี่ยวกับความผิดฐานทำให้แท้งลูกในสองประเด็น คือ 1. ยกเลิกมาตรา 301 ที่กำหนดให้การทำแท้งมีความผิดและมีโทษอาญา และ 2. แก้ไขมาตรา 305 เพื่อเอื้อให้แพทย์สามารถยุติการตั้งครรภ์อายุ 24 สัปดาห์ และมากกว่า 24 สัปดาห์กรณีจำเป็นเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิได้เข้าถึงบริการทำแท้งอย่างปลอดภัย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันทำกิจกรรมที่หน้ารัฐสภา ถนนเกียกกาย และปราศรัยถึงการแก้ไขกฎหมายทำแท้ง รวมทั้งทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ ด้วยการแสดงสีดาลุยไฟและวิจารณ์ถึงกฎหมายทำแท้งที่ฆ่าผู้หญิง โดยมีผู้ชุมนุมเข้าร่วมไม่ต่ำกว่า 30 คน 

asset

การชุมนุม #ไม่มีผู้หญิงคนไหนตั้งใจท้องเพื่อทำแท้ง วันที่ 23 ธันวาคม 2563 นำโดย “กลุ่มทำทาง” ภาพโดย มติชน

วันสุดท้ายของปี 31 ธันวาคม 2563 กลุ่ม WeVo หรือ We Volunteer จัดกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง เพื่อจัดจำหน่ายกุ้งเผาของเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้ง หลังตลาดกุ้งในจังหวัดสมุทรสาครได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อช่วงกลางเดือนธันวาคม โดยมีการปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์การทํางานของรัฐบาลด้วย อย่างไรก็ตามกิจกรรมนี้ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกดดันให้ยกเลิก จนนำมาสู่การสลายการชุมนุมสองครั้งบริเวณท้องสนามหลวงและบริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยมีประชาชนถูกจับกุมทั้งหมด 16 คน ซึ่งมีเยาวชนอายุ 17 ปีสองคนรวมอยู่ด้วย

assetassetasset

วันที่ 31 ธันวาคม 2563 WeVo หรือ We Volunteer จัดกิจกรรม #ม็อบย่างกุ้ง ภาพโดย ประชาไท

ผู้ชุมนุมทั้งหมดถูกควบคุมตัวขึ้นรถไปที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเหตุการณ์คล้ายกับช่วงเดือนตุลาคม 2563 ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และมีการประกาศให้กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 เป็นสถานที่ควบคุมตัวผู้ชุมนุม แต่ปัจจุบันไม่มีการประกาศดังกล่าวแล้ว ทั้งนี้ตำรวจได้แจ้ง 3 ข้อกล่าวหาต่อผู้ชุมนุม ได้แก่ ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการณ์ในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรคติดต่อฯ และฝ่าฝืนพระราชบัญญัติควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียงฯ นอกจากนี้มีรายงานว่า มีผู้ชุมนุมอย่างน้อยสามคนได้รับการบาดเจ็บจากเหตุการณ์สลายชุมนุมอีกด้วย

assetasset

แกนนำการ์ด WeVo ถูกจับกุมตัว ภาพโดย The Standard