วันที่: 13/9/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564

description

จากข้อมูล Mob Data Thailand ตั้งแต่วันที่ 1 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 73 ครั้งทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น การชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 44 ครั้ง เชียงใหม่ 8 ครั้ง ขอนแก่น 4 ครั้ง และจังหวัดอื่น เช่น เชียงราย อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชัยภูมิ สงขลา จังหวัดละ 2 ครั้ง และที่ ยะลาและนราธิวาสจังหวัดละ 1 ครั้ง โดยมีการดำเนินคดีหลังจากการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 10 ครั้ง

ภาพรวมการชุมนุม

ในเดือนกุมภาพันธ์ สถานการณ์การชุมนุมมีความตึงเครียดมากขึ้นเนื่องจากการดำเนินคดีและการสลายการชุมนุมจากฝ่ายรัฐ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อสกัดยับยั้งการใช้เสรีภาพอย่างชัดเจน  ในเดือนนี้มีการดำเนินคดีจากการชุมนุมอย่างต่อเนื่องและเจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังในการสลายการชุมนุมถึง 4 ครั้ง 

โดยการชุมนุมแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์ทั้งคนไทยและชาวเมียนมาร์ในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า 18 ครั้ง และการสลายการชุมนุมถึง 2 ครั้ง รวมถึงการกักขังแกนนำในระหว่างพิจารณาคดีแสดงถึงความไม่เป็นธรรมของกระบวนการยุติธรรมส่่งผลให้มีการชุมนุมเรียกร้อง “ปล่อยเพื่อนเรา” พร้อมทั้งเรียกร้องยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง  

ทั้งนี้ยังมีการชุมนุมครั้งใหญ่ครั้งแรก ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ลักษณะการชุมนุมเป็นการเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปที่ราบ 1 โดยกลุ่ม REDEM ที่เรียกตัวเองว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ โดยผู้ชุมนุมมีส่วนร่วมในการตัดสินใจร่วมกัน ในการชุมนุมครั้งนี้เจ้าหน้าที่รัฐได้ใช้กำลังสลายการชุมนุม พร้อมทั้งมีการใช้กระสุนยางในการเข้าควบคุมพื้นที่เป็นครั้งแรก 

asset

ภาพโดย Mob Data Thailand

ในประเด็นเกี่ยวเนื่องการบริหารงานของรัฐภายใต้สถานการณ์โควิด 19 และประเด็นสังคมอื่นยังคงมีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เช่น การเคลื่อนไหวที่เรียกร้องมาตรการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19  การเรียกร้องภาครัฐให้มีการพูดคุยและแก้ปัญหาการอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่บางกลอย รวมไปถึง การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปข้าราชการตำรวจในกรณีตั๋วช้าง 

asset

วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนชุมนุมหน้ารัฐสภาเพื่อเรียกร้องเงินเยียวยาถ้วนหน้า ภาพโดย แนวหน้า

การชุมนุม 77 ครั้ง กับคดีที่ไม่น้อยกว่า 10 คดี 

จากข้อมูล Mob Data Thailand ตั้งแต่วันที่ 1 – 28 กุมภาพันธ์ 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 73 ครั้งทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็น การชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 44 ครั้ง เชียงใหม่ 8 ครั้ง  ขอนแก่น 4 ครั้ง และจังหวัดอื่น เช่น เชียงราย อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชัยภูมิ สงขลา  จังหวัดละ 2 ครั้ง และที่ ยะลาและนราธิวาสจังหวัดละ 1 ครั้ง  โดยมีการดำเนินคดีหลังจากการจัดกิจกรรมอย่างน้อย 10 ครั้ง โดยข้อกล่าวหาหลักยังคงเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องห้ามการชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  มาตรา 34 (6) มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

นอกจากนี้ยังมีข้อกฎหมายอื่นที่ถูกใช้ในการดำเนินคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออก คือ ข้อหาตามพระราชบัญญัติธง พ.ศ. 2522  จากการชุมนุมที่ บึงสีฐาน ตึกอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 รวมทั้งข้อกฎหมายเดิมที่ใช้ผิดวัตถุประสงค์ คือพ.ร.บ.ความสะอาดฯ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ จากการชุมนุมวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ สภ.ภูเขียว จังหวัด ชัยภูมิ 

การชุมนุมไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งที่มีการดำเนินคดีหลังจากการจัดกิจกรรม  

1. การชุมนุมโดยกลุ่ม We Volunteer ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สถานทูตเมียนมาร์ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์ของการชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านการรัฐประหารในเมียนมาร์ ซึ่งมีการสลายการชุมนุม และผู้ชุมนุมถูกจับกุมในพื้นที่และถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

2. การชุมนุมโดยคณะราษฎรภูเขียว ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สภ.ภูเขียว ชัยภูมิ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษที่ไปเยี่ยมบ้านเยาวชนที่ออกมาแสดงออก โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฝ่าฝืนประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

3. การชุมนุมโดยเครือข่ายกะเหรี่ยง ในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ณ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยของกะเหรี่ยงบางกลอย แสดงออก โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  

4. การชุมนุมโดยกลุ่มราษฎร ในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สกายวอล์คแยกปทุมวัน กรุงเทพฯ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความไม่พอใจ หลังจากศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข  โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  พ.ร.บ.โรคติดต่อ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

5. การชุมนุมโดยกลุ่มราษฎร ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 ณ แยกปทุมวัน กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และเรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มผู้ต้องหาที่ถูกควบคุมตัวอยู่ใน สน.ปทุมวัน โดยมีผู้ถูกติดตามจับกุมในพื้นที่การชุมนุม และถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  พ.ร.บ.โรคติดต่อ และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

6. การชุมนุมโดยราษฎรขอนแก่น ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2564 ณ บึงสีฐาน ตึกอธิการบดี ขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ภายหลังการชุมนุมมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.บ.ธง มาตรา 53,54 

7. การชุมนุมโดยราษฎร ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกคุมขังหลังจากศาลไม่อนุญาตประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี โดยมีผู้ถูกติดตามจับกุมในพื้นที่การชุมนุม และถูกดำเนินคดีภายหลังการชุมนุม ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ, มั่วสุมเกิน 10 คน, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ต่อสู้ขัดขวาง และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน  

8. การชุมนุมโดยราษฎรโขงชีมูล ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 บริเวณหน้าสวนเรืองแสง และเดินขบวนไปหน้า สภ.เมืองขอนแก่น ขอนแก่น วัตถุประสงค์ในการชุมนุมคือ เรียกร้องการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำที่ถูกคุมขังหลังจากศาลไม่อนุญาตประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีภายหลังการชุมนุมในข้อหา ข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

9. การชุมนุมโดยราษฎร ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ณ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพฯ  วัตถุประสงค์คือเพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปข้าราชการตำรวจ รวมถึงยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง (ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่ง และ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) โดยมีผู้ถูกติดตามจับกุมในพื้นที่และดำเนินคดีภายหลังการชุมนุมในข้อหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

10. การชุมนุมโดยกลุ่ม REDEM ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และเดินขบวนไปที่บ้านพักหลวงของประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ราบ 1 วัตถุประสงค์คือเพื่อขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ รวมถึงยืนยัน 3 ข้อเรียกร้อง (ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐบาลประยุทธ์ต้องลาออกจากตำแหน่ง และ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์) 

เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุม โดยมีผู้ถูกจับกุมในพื้นที่และดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไปใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215), เจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก (มาตรา 216). ร่วมกันต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงาน (มาตรา 140, 296) 

ประเด็นเรียกร้อง : “ยกเลิกมาตรา 112 พร้อมกับ ปล่อยเพื่อนเรา” และ การแสดงออกในจุดยืนต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาร์ 

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 สถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 แกนนำราษฎร ได้แก่ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ถูกสั่งฟ้องคดีชุมนุม 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร รวมทั้งกรณีของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ที่ถูกสั่งฟ้องในคดีชุมนุม Mob Fest อีกคดีหนึ่ง ทั้งนี้ศาลยังมีคำสั่งไม่อนุญาตให้แกนนำทั้ง 4 คน ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทั้งที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาใด ด้วยเหตุนี้ส่งผลให้มีการชุมนุมไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง ที่แสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการไม่ได้สิทธิประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดี พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

อย่างไรก็ตามการชุมนุมอย่างน้อย 18 ครั้ง เป็นการชุมนุมของชาวเมียนมาร์ในประเทศไทยที่ต้องการแสดงจุดยืนต่อต้านรัฐประหารในประเทศเมียนมาร์ ข้อสังเกตคือ เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลังในการสลายการชุมนุมถึง 2 ครั้ง

ทั้งนี้การชุมนุมและการแสดงออกในประเด็นสังคมอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับสถานการณ์โควิด 19 โดยมีกลุ่มที่ยังเคลื่อนไหวต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมและยังไม่ได้รับการเยียวยา เช่น เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ซึ่งเรียกร้องให้เร่งดำเนินการนโยบายเกี่ยวกับแรงงาน กลุ่มเกษตรกร ที่เรียกร้องมาตรการเยียวยาที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นอกจากนี้ยังมีหลายกลุ่มทั้งในกรุงเทพและเชียงใหม่ ที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นชาติพันธุ์ในกรณีการแก้ปัญหาที่อยู่อาศัยของชาวบางกลอยและการคุมคามจากภาครัฐต่อชุมชนใจแผ่นดิน เช่น เครือข่ายกะเหรี่ยง และ เครือข่ายภาคี save บางกลอย  

asset

การชุมนุมของเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน หน้าทำเนียบรัฐบาล วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ภาพโดย ประชาไท

asset

การชุมนุมของเครือข่ายภาคี save บางกลอย หน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ภาพโดย ประชาไท

จากการสลายการชุมนุม มีการจับกุมและดำเนินคดี  3 ครั้ง 

การสลายการชุมนุมถึง 4 ครั้ง 2 ครั้ง เป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐประหารในเมียนมา 

สลายการชุมนุม #SaveMyanmar 2 ครั้ง 

วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 14.00 น. ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย มีประชาชนชาวเมียนมาเดินทางมารวมกันเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อต่อต้านการก่อรัฐประหารที่เกิดขึ้นในเมียนมาพร้อมกับมีกลุ่ม We Volunteer นำโดย โตโต้-ปิยะรัฐ จงเทพ นัดทำกิจกรรมเพื่อแสดงจุดยืนร่วมกับประชาชนมา และมีกิจกรรมอ่านแถลงการณ์นำโดย โตโต้-ปิยะรัฐ จงเทพ เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 

เวลา 15.45 น. หลังการแถลงการณ์ ปิยะรัฐเห็นว่า ยังมีมวลชนทยอยมาต่อเนื่องจึงตัดสินใจว่า จะทิ้งทีมรักษาความปลอดภัยและรถเครื่องเสียงไว้ให้มวลชนที่ทยอยมา บรรยากาศการชุมนุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนลงไปอยู่บนพื้นผิวการจราจรบ้าง ต่อมาเวลา 16.16 น. ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม และเวลา 17.00 น. ตำรวจนำกำลังชุดควบคุมฝูงชนตั้งแถวเข้าหาผู้ชุมนุม จนเกิดการปะทะ ขว้างปาสิ่งของที่คว้าได้ในบริเวณดังกล่าวใส่ตำรวจ หลังจากนั้นพบว่า มีการจับกุมประชาชนไปไม่น้อยกว่า 4 คน 

assetasset

ภาพโดย Mob Data Thailand

ต่อมา ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2564 ชาวเมียนมาที่อาศัยในประเทศไทยรวมตัวกันที่หน้าตึกสหประชาชาติประจำประเทศไทย เบื้องต้นตำรวจเจรจากับผู้ชุมนุมให้จัดการชุมนุมได้ตามเวลาที่กำหนดและไม่ให้คนไทยเข้าร่วมการชุมนุม โดยระบุว่า "จะมีคนไทยที่มันชอบสร้างความวุ่นวายมาร่วมด้วย ขอให้แยกให้ชัด" แต่ยังไม่ทันครบเวลาที่เจรจาไว้ ผู้ชุมนุมมารวมตัวกันมากขึ้น ตำรวจประกาศให้ยุติการชุมนุม โดยอ้างเหตุเรื่องการควบคุมโรค แต่ผู้ชุมนุมยังคงทยอยมาอย่างต่อเนื่อง จากนั้นตำรวจตั้งแถวรุกไล่และมีการถ่ายบัตรประจำตัวของผู้ชุมนุมไว้ด้วย  

assetasset

ภาพโดย Mob Data Thailand

ระหว่างการสลายการชุมนุมมีการกล่าวต่อชาวเมียนมาด้วยว่า"อย่าให้คนไทยมาทำให้พวกท่านแตกแยก"  เมื่อถูกรุกไล่อย่างต่อเนื่องท้ายที่สุดการชุมนุมจำต้องยุติลง สำหรับวันดังกล่าวเท่าที่สามารถติดตามได้ไม่มีการจับกุมผู้ชุมนุม  

การเร่งรัดเข้าสลายการชุมนุมถึงสองครั้ง สะท้อนให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่ต้องการเร่งรัดให้มีการยุติการชุมนุมโดยเร็ว แม้สภาพการณ์ของการชุมนุมเป็นไปโดยสงบ และการปะทะกันก็เป็นผลที่เกิดขึ้นหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุม นอกจากนี้ ยังพบว่า เจ้าหน้าที่มีความพยายามสร้างความขัดแย้งในหมู่ชุมนุมเพราะไม่ต้องการให้กลุ่ม We Volunteer หรือนักเคลื่อนไหวไทยเข้ามาเกี่ยวข้องในการเคลื่อนไหวต้านรัฐประหารของชาวเมียนมา ซึ่งความพยายามแยกคนไทยและชาวเมียนมาออกจากกันได้สร้างความรู้สึกหวาดกลัวให้แก่ชาวเมียนมาที่หวังใช้ไทยเป็นพื้นที่การเคลื่อนไหว 

"เราต้องประท้วงทุกวันจนกว่ามันจะได้ประชาธิปไตย...ตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่ตกอับที่สุด" นี่เป็นคำกล่าวจากชาวเมียนมารายหนึ่งที่คอยมายืนบอกให้เพื่อนกลับบ้านยามที่ตำรวจสั่งให้กลับ เธอหวั่นเกรงว่า หากมีการปะทะระหว่างคนไทยและตำรวจเช่นการขว้างปาสิ่งของจะส่งผลกระทบต่อชาวเมียนมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจับกุม เธอกล่าวต่อว่า "เราก็ต้องต่อสู้ให้ได้ แต่มันจะอีกกี่เดือนกี่ปี เราไม่รู้ จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยกลับคืนมา ทำให้เราต้องอยู่ในขอบในเขต" แม้จะไม่ชัดแจ้งถึงขอบเขตนั้น แต่ก็เข้าใจได้ว่า เป็นการปฏิบัติตามแนวทางของตำรวจ  

ขณะที่ชาวเมียนมาอีกรายหนึ่งกล่าวว่า เขาไม่ติดใจใดๆกับการเข้าร่วมกิจกรรมต้านรัฐประหารเมียนมาของชาวไทย คนเยอะยิ่งดีจะได้ช่วยกันต่อสู้ แม้ว่าการเคลื่อนไหวของชาวเมียนมาจะถูกกั้นเขตแดนเท่าไหร่ ในการชุมนุมครั้งต่อมาของนักกิจกรรมไทยชาวเมียนมาก็เข้ามามีส่วนร่วมด้วยหลายครั้ง 

ราษฎร : ความโกรธของผู้ชุมนุมและการกวาดจับของตำรวจ 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 เวลา 15.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลุ่มผู้ชุมนุมในนาม “ราษฎร” นัดรวมตัวกันทำกิจกรรม #นับหนึ่งถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน กิจกรรมมีการปราศรัยและรื้อต้นไม้ที่ฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้นเวลาประมาณ 18.00 น. จึงเคลื่อนขบวนไปที่ศาลหลักเมืองเพื่อทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ แต่ขบวนไม่สามารถเข้าไปได้เนื่องจากตำรวจตั้งแนวกีดขวางไว้บริเวณศาลฎีกา ซึ่งเป็นระยะรัศมี 150 เมตรจากเขตพระบรมมหาราชวัง อรรถพล บัวพัฒน์ หรือ ครูใหญ่ แกนนำได้เจรจาเพื่อเข้าไปทำพิธีภายในศาลหลักเมือง จนบรรลุข้อตกลง ระหว่างนั้นเวลา 19.38 น. ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงขอให้ตำรวจปิดไฟสปอตไลท์ด้านหน้ารถบรรทุกเครื่องขยายเสียง โดยให้เวลา 5 นาที 

asset

ภาพโดย Mob Data Thailand

เมื่อจวนจะครบกำหนดภาณุพงศ์นับถอยหลัง หลังนับถึง 1 มวลชนฝั่งหน้าแนวกั้นมีการขว้างปาสิ่งของข้ามเข้าไปในแนวกั้นตำรวจ เช่น ขวดน้ำและวัตถุมีประกายไฟ มีเสียงดังปังอย่างน้อย 2 ครั้ง มีวัตถุที่มีประกายไฟชิ้นหนึ่งตกที่แนวรั้วของสนามหลวง มีอย่างน้อย 1 ครั้งที่มีวัตถุมีประกายไฟลอยมาจากหลังแนวกั้นของตำรวจมาทางสนามหลวงที่มวลชนปักหลัก เป็นเวลา 2 นาที การขว้างปาจึงยุติลง 

เวลา 20.14 น. แกนนำประกาศยุติการชุมนุม แต่มีมวลชนที่อยู่ฝั่งสนามหลวงข้างแนวกั้นของตำรวจประมาณ 100 คน ไม่ยินยอมกลับระบุทำนองว่า การชุมนุมเช่นนี้ไม่คุ้มค่าเดินทางที่เสียไป และมองไม่เห็นชัยชนะ นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า แกนนำไม่ใช่คนที่จะมาออกคำสั่งเขาได้ ผู้ชุมนุมกลุ่มดังกล่าวยังคงขว้างปาสิ่งของเข้าไปในแนวเป็นระยะทั้งแผงเหล็ก แผ่นอิฐที่ถูกทุบจนแตกขนาดพอดีมือ, ไม้และขวดน้ำ เข้าไปที่แนวตำรวจ บ้างตกด้านหน้าแนว บ้างตกเข้าไปในแนวตำรวจ ตำรวจยังไม่มีการโต้ตอบ มีการตะโกนเป็นระยะว่า ให้ปล่อยเพื่อนกู ซึ่งหมายถึงแกนนำราษฎรทั้ง 4 คนที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 

asset

ภาพโดย Mob Data Thailand

การปะทะรอบนี้เป็นครั้งแรกที่ได้ยินเสียงของตำรวจที่ปฏิบัติงานอยู่ ระหว่างที่แกนนำประกาศให้มวลชนกลับบ้านและไม่ทำลายทรัพย์สิน ตำรวจที่ตั้งโล่ในแนวกั้นร้องโห่ออกมา แต่ไม่ดังนัก เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ใช้เครื่องขยายเสียงขอให้ตำรวจอดทน 

จนกระทั่งเวลา 20.55 น. จึงประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ภายใน 30 นาที แต่มีรายงานการจับกุมประชาชนครั้งแรกเวลา 21.09 น. มีรายงานการจับกุมและกระทืบแพทย์อาสา D.N.A. ด้วย  จากคลิปของข่าวสดอิงลิชระหว่างที่ตำรวจหลายนายล้อมชายคนหนึ่งที่นอนราบกับพื้น มีเสียงชายคนหนึ่งพูดว่า "ทีพวกมึงทำกูอ่ะ" และมีมือของตำรวจควบคุมฝูงชนมากันแนวไม่ให้ผู้สื่อข่าวเข้าใกล้ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนถือปืนยาวที่ใช้กระสุนยางระหว่างการสลายการชุมนุมด้วย 

asset

ภาพโดย Mob Data Thailand

วันดังกล่าวมีการจับกุมประชาชนไปไม่น้อยกว่า 19 คน ในจำนวนนี้มีแพทย์อาสาที่ใส่เสื้อกั๊กสะท้อนแสงและคนไร้บ้าน ทั้งยังมีรายงานว่า มีความพยายามคุมตัวนักเรียนมัธยมศึกษาคนหนึ่งที่มาถ่ายภาพและปล่อยตัวโดยไม่มีการตั้งข้อหา สะท้อนให้เห็นถึงการกวาดจับในลักษณะไม่คัดแยกผู้ชุมนุมที่มีแนวโน้มในการใช้ความรุนแรงออกจากการชุมนุม 

REDEM1 : การเปิดฉากความรุนแรงของตำรวจ 

หลังเกิดเหตุปะทะเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ได้มีการชี้แจงจากแกนนำ นำโดย รุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ว่า ขบวนการยืนยันที่จะใช้สันติวิธีในการเคลื่อนไหว หลังจากนี้อาจพิจารณาเรื่องทีมสันติวิธี ด้านทีมงาน We Volunteer ก็มีการยืนยันการใช้สันติวิธีเช่นกัน 

สถานการณ์การปะทะเริ่มดีขึ้นในการชุมนุมครั้งต่อมา โดยการชุมนุมที่หน้ารัฐสภาระหว่างวันที่ 19-20 กุมภาพันธ์ 2564 ของ Mobfest และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม แม้จะมีเจ้าหน้าควบคุมฝูงชนจำนวนมากและรถฉีดน้ำแรงดันสูงตั้งแนว แต่ทั้งสองฝ่ายต่างเว้นระยะและเปิดพื้นที่ให้แสดงออก และต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ราษฎรจัดม็อบ #ตั๋วช้าง สะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรตำรวจ รวมทั้งการโอนย้ายข้าราชการตำรวจไปเป็นข้าราชการในสังกัดอื่นและการเลื่อนขั้นอย่างรวดเร็วอันเป็นผลจากการยกเว้นหลักเกณฑ์ของ พล.ต.ท. ต่อศักดิ์ สุขวิมลและพล.ต.จิรภพ ภูริเดช 

ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 REDEM ที่ริเริ่มโดยเยาวชนปลดแอกได้นัดรวมตัวกันที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเดินขบวนไปที่ราบ 1 ตำรวจได้วางแนวคอนเทนเนอร์และลวดหนามหีบเพลงกั้นเป็นแนวยาวที่ด้านหน้าราบ 1 เมื่อผู้ชุมนุมเดินขบวนมาถึงเวลา 17.40 น. จึงเริ่มตัดลวดหนามหีบเพลงและเลื่อนตู้คอนเทนเนอร์ (พฤติการณ์เช่นนี้เคยเกิดขึ้นในการชุมนุมวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ที่หน้าราบ 11 เช่นกัน แต่ไม่ปรากฏความรุนแรง) ต่อมาเวลา 18.02 น. ตำรวจตั้งแถวเดินมาจากสโมสรทหารบกและเริ่มต้นสลายการชุมนุมในเวลา 18.13 น. มีการจับกุมพร้อมทั้งทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม เช่น การผลักและการกระทืบ ผู้ชุมนุมที่อยู่หน้าแนวตำรวจไม่ได้รับมืออย่างเป็นระบบระเบียบนัก มีการปาสิ่งของเช่น สีและขวดน้ำใส่ตำรวจ 

assetasset

ภาพโดย Mob Data Thailand

นอกจากนี้ ยังมีผู้ชุมนุมบางรายนำไม้ออกมาจากกระเป๋ายาวประมาณ 60 เซนติเมตรปาเข้าใส่ตำรวจจากการตรวจสอบภาพและปากคำจากผู้อยู่ในเหตุการณ์พบว่า ผู้ชุมนุมและตำรวจมีการขว้างก้อนหินใส่กัน ขณะที่เวลา 18.39 น. เริ่มมีผู้ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา และไม่นานนักเวลา 18.52 น. พบปลอกกระสุนยาง ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมเข้มข้นขึ้นด้วยการฉีดน้ำและยิงกระสุนยางในระดับศีรษะไปทางผู้ชุมนุม ระหว่างการจับกุมมีการทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุม ทั้งยังมีการลากผู้ชุมนุมออกไปจากเตนท์พยาบาลที่อยู่ภายในปั๊มเชลล์  

assetasset

ภาพโดย Mob Data Thailand

การปะทะบานปลายไปถึงหน้า สน.ดินแดง มีการขว้างปาสิ่งของกันที่หน้า สน. และเผารถตำรวจ ขณะที่ตำรวจเองก็ใส่กระสุนยางยิงในระดับศีรษะเข้าใส่ผู้ชุมนุม ล่วงไปถึงเวลาประมาณ 01.00 น. การปะทะจึงจะจบ 

assetasset

ภาพโดย Mob Data Thailand

ในระยะหลังตำรวจมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อสกัดยับยั้งการใช้เสรีภาพ โดยการปะทะกันในระยะหลังตำรวจมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงเพื่อสกัดกั้นและยับยั้งการใช้เสรีภาพในการชุมนุมมากขึ้น แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีการอ้างกฎหมาย อาทิ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ปี 2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) แต่การใช้กำลังของตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมอาวุธเข้าสลายการชุมนุมที่เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธนับว่าเป็นการใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ ซึ่งอาจนำสู่การตอบโต้กลับจากประชาชนด้วยความโกรธแค้นจนอาจทำให้เกิดเหตุบานปลายมากขึ้น นอกจากนี้อาวุธที่นำมาใช้ในการสลายการชุมนุม สะท้อนถึงแนวโน้มความรุนแรงที่มีมากขึ้น เช่น กระสุนยาง ซึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการสลายการชุมนุมนับแต่การสลายการชุมนุมครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2563