วันที่: 13/9/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุม เดือนมีนาคม 2564

description

Mob Data Thailand พบว่าการชุมนุมในเดือนมีนาคม ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีมากถึง 581 คน ใน 268 คดีภายในรอบ 3 เดือน มีการสลายการชุมนุมรวม 3 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกจากรัฐที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564

Mob Data Thailand พบว่าการชุมนุมในเดือนมีนาคม ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีมากถึง 581 คน ใน 268 คดีภายในรอบ 3 เดือน มีการสลายการชุมนุมรวม 3 ครั้ง แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมและการแสดงออกจากรัฐที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลโดย Amnesty International Thailand และ ILAW ผ่านโครงการ Mob Data ในเดือนมีนาคม 2564 สามารถสรุปได้ว่า   

  • ในเดือน มีนาคม มีการชุมนุมทั้งหมด 86 ครั้ง เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม 3 ครั้ง โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ชุมนุม การควบคุมผู้ถูกจับกุมในสถานที่อื่น ซึ่งมิได้กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา การจับกุมบุคคลซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดซึ่งหน้าโดยใช้กำลังเกินความจำเป็นและไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำความผิด 

  • ศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ถึง 199 คน ใน 61 คดี และมีการจับกุมผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 179 คน รวมถึงมีการจับกุมผู้ชุมนุมโดยไม่มีหมายจับ โดยข้อหาหลักที่ใช้ในการดำเนินคดี คือ ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อกำหนดเพื่อป้องกันโรคติดต่อ ทั้งนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาตามความผิดดังกล่าวเเล้วไม่ต่ำกว่า 140 คน ใน 20 คดี และยังเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีกับสมาชิกกลุ่ม We Volunteer ถึง 18 คน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและ 2 คน เป็นเด็ก ในความผิดฐานเป็นอั้งยี่และซ่องโจร ตาม ม.209 และม.210 ประมวลกฎหมายอาญา อีกด้วย 

  • ผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม. 112 เพิ่มขึ้น ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีจำนวนมากถึง 82 คน ใน 74 คดี และมีผู้ถูกคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวนตามความผิดดังกล่าว จำนวน 13 คน ในชั้นรอพิจารณาคดี จำนวน 6 คน เเละยังมีผู้ถูกคุมขังในความผิดอื่นอีกจำนวน 7 คน รวมทั้งหมด 20 คน  

  • แกนนำกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งประกอบด้วย พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, สมยศ พฤกษาเกษมสุข, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร บุญภัทรรักษา,ภาณุพงศ์ จาดนอก ยังคงถูกปฏิเสธสิทธิในการปล่อยชั่วคราวอย่างต่อเนื่อง เเม้ภายหลังศาลอาญา รัชดา จะอนุญาตให้ปล่อยตัว ปฏิวัติ สาหร่ายเเย้ม เเต่ต้องวางเงินประกันสูงถึง 200,000 บาท พร้อมต้องยอมรับเงื่อนไขในการรายงานตัวและไม่เดินทางออกนอกประเทศ ส่วน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ยังคงประท้วงด้วยการอดอาหารในเรือนจำ เพื่อเรียกร้องให้คืนสิทธิในการปล่อยชั่วคราวแก่ผู้ต้องหาทางการเมือง 

  • เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีในความผิดอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ภายในเดือนมีนาคม 2564 มีเด็กอย่างน้อย 33 คน ใน 34 คดีถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งรวมถึงม.112 มากถึง 6 คน ในจำนวนนี้ เป็นเด็กอายุ 14 ปี 2 คน เด็กยังประสบกับความรุนเเรงในการจับกุม การตรวจสอบการจับกุมที่ไม่ประกันหลักผลประโยชน์สูงสุดของเด็ก เเละการดำเนินคดีที่ไม่สอดคล้องกับกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็กและเยาวชน 

ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมและกฎหมายที่ใช้ดำเนินคดี 

ข้อเรียกร้องส่วนใหญ่ของผู้ชุมนุมที่ออกมาชุมนุมจำนวนไม่น้อยกว่า 45 ครั้ง ในเดือนมีนาคม 2564 ยังคงเป็นข้อเรียกร้องให้คืนสิทธิในการปล่อยชั่วคราวหรือสิทธิในการประกันตัวแกนนำคณะราษฎรและผู้ชุมนุมที่ยังถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดี (#ปล่อยเพื่อนเรา) เนื่องจากขณะนี้ ยังมีผู้ถูกคุมขังมากถึง 20 คน บางรายเช่น พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แสดงอารยะขัดขืนโดยการอดอาหารประท้วง และการให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองอื่น จากข้อมูลของ Mob Data Thailand พบว่า มีการชุมนุมใหญ่อย่างน้อย 3 ครั้ง เกิดขึ้นในเดือนมีนาคม 2564  

  • การชุมุนมใหญ่ 2 ครั้ง จัดโดยกลุ่ม Redem เป็นการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำ จัดขึ้นวันที่ 6 มีนาคม 2564 โดยเดินขบวนจากบริเวณห้าแยกลาดพร้าวไปศาลอาญา เพื่อนำขยะไปทิ้งหน้าศาล อันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อสถาบันตุลาการ สืบเนื่องจากการสั่งฟ้องแกนนำจากการชุมนุมในวันที่ 19-20 กันยายน 2563 และการไม่ให้สิทธิปล่อยชั่วคราวแก่ผู้ต้องหาทางการเมืองระหว่างการพิจารณาคดี อย่างไรก็ตาม ภายหลังมีการจับกุมสมาชิกกลุ่ม We Volunteer กว่า 48 คน จากบริเวณห้างสรรพสินค้า เมเจอร์ รัชโยธิน เเม้กลุ่มดังกล่าวยังไม่ได้เข้าร่วมหรือปรากฏตัวในที่ชุมนุม ส่วนการชุมนุมอีก 1 ครั้ง จัดขึ้นวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณท้องสนามหลวง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงออกถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ในการชุมนุมครั้งนี้มีผู้ถูกจับกุมถึง 32 คน 

assetasset

#ม็อบ6มีนา : ทิ้งขยะหน้าศาลอาญา ภาพโดย Mob Data Thailand

asset

#ม็อบ20มีนา : #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ฯ ภาพโดย Mob Data Thailand

  • การชุมนุมใหญ่อีก 1 ครั้ง จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 ที่แยกราชประสงค์ รูปแบบการชุมนุมเป็นเวทีปราศรัย ซึ่งมีแกนนำ เช่น มายด์-ภัสราวลี ครูใหญ่-อรรถพล และไบร์ท-ชินวัตร ขึ้นปราศรัยเรียกร้องให้ ‘ปล่อยเพื่อนเรา’และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ต่อมา ภัสราวลี ยังถูกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) แจ้งความว่ากระทำความผิดตามม.112 จากการขึ้นปราศรัยดังกล่าว 

asset

#ม็อบ24มีนา : #เพราะประเทศนี้เป็นของราษฎร ภาพโดย Mob Data Thailand

หลังจากการชุมนุม รัฐบาลไทยยังคงดำเนินคดีกับแกนนำและผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้พรก.ฉุกเฉินและข้อกำหนดเพื่อป้องกันโรคติดต่อ กล่าวหาว่าบุคคลดังกล่าวไม่ปฏิบัติตามแนวทางในการป้องกันโรค COVID-19 ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากการฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน นับตั้งเเต่ประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 ถึง 444 คน ใน 128 คดี (ข้อมูลเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2564 รายงานโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)  นอกจากพรก.ฉุกเฉินเเล้ว ยังมีพรบ.โรคติดต่อ ที่ถูกบังคับใช้อย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการชุมนุมเป็นการทั่วไป เช่น ม.215 และม.216 (ความผิดฐานมั่วสุม ชุมนุมโดยผิดกฎหมาย) ประมวลกฎหมายอาญา และกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์อื่นเเต่ถูกใช้เพื่อจำกัดการชุมนุม เช่น พรบ.ควบคุมการโฆษณาโดยการใช้เครื่องขยายเสียง พรบ.การจราจรทางบก พรบ.ความสะอาด และกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมการรวมกลุ่มโดยผิดกฎหมาย ซึ่งนำมาใช้เเจ้งข้อกล่าวหากับกลุ่ม We Volunteer โดยเฉพาะ คือ ม.209 ม.210 ตามประมวลกฎหมายอาญา โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีมากกว่า 18 คน เป็นเด็ก 3 คน  

อย่างไรก็ตามการชุมนุมรูปแบบอื่น เช่น การชุมนุมเดินทะลุฟ้า จัดโดยกลุ่มราษฎร นำโดย ไผ่-จตุภัทร์ และกลุ่ม People GO Network เดินเท้า จาก จ.นครราชสีมา ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กทม. เริ่มเดินขบวนตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ จนถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยวันที่ 7 มีนาคม 2564 ใช้เวลาทั้งสิ้น 17 วัน ระยะทาง 247.5 ก.ม. ระหว่างการเดินขบวนได้มีแนวร่วมอื่นๆเช่น ตัวแทนเหมืองดงมะไฟ เฟมินิสต์ปลดแอก ไมค์-ภานุพงศ์ แม่ของแกนนำราษฎร เข้าร่วมเดินขบวน รวมไปถึงกิจกรรมระหว่างจุดแวะพักที่ต่างๆ ได้จัดกิจกรรม เช่น เสวนา เล่นดนตรี รวมถึง ฉายภาพยนตร์ ซึ่งต่อมา แกนนำเดินขบวนเดินทะลุฟ้าและกลุ่มราษฎร ได้แก่ รุ้ง-ปนัสยา ไผ่-จตุภัทร์ และ ไมค์-ภานุพงศ์ ถูกคุมขังในเรือนจำ ในวันที่ 8 มีนาคม 2564 แต่ต่อมากลุ่มที่ชื่อว่าเดินทะลุฟ้าV2 นำโดยกลุ่ม UNME of Anarchy ได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องสานต่อเจตนารมณ์ของเดินทะลุฟ้า นัดหมายชุมนุมในวันที่ 13 มีนาคม 2564 เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าเป็นเวลาทั้งสิ้น 15 วัน ก่อนชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมในเวลาเช้าตรู่ เวลาประมาณ 6.00 น. ของวันที่ 28 มีนาคม 2564  และถูกสลายการชุมนุมอีกครั้งในช่วงเย็นประมาณ 18.30 น. ทั้งนี้ประเด็นประณามการสลายการชุมนุมทั้ง 3 ครั้ง ก็ยังคงมีต่อเนื่องไปพร้อมๆกัน รวมถึงประเด็นเรียกร้องทางเศรษฐกิจและสัังคม เช่น การเรียกร้องภาครัฐต่อเนื่องให้แก้ปัญหาการอยู่อาศัยของกลุ่มชาติพันธุ์ที่บางกลอย รวมถึงประเด็นการจับกุมพี่น้องชาวบางกลอย ซึ่งมีการจัดการชุมนุมทั้งในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด 19 และการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องของกลุ่มสิทธิแรงงาน เช่นกลุ่ม We Fair และ กลุ่มไรเดอร์  การเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ให้กำลังใจชาวเมียนมาร์ต่อต้านรัฐประหารยังคงจัดอย่างต่อเนื่อง เช่นกัน นอกจากนี้มีการชุมนุมของกลุ่มที่เรียกว่า ปกป้องสถาบัน ชุมนุมบริเวณหอศิลป์ กรุงเทพฯ ไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง   

asset

เดินทะลุฟ้าคืนอำนาจประชาชน ภาพโดย Mob Data Thailand

asset

เครือข่าย Save บางกลอย จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จำลองเหตุการณ์การจับกุมชาวกะเหรี่ยง วันที่ 12 มีนาคม 2564 ภาพโดย Mob Data Thailand

การดำเนินคดีกับเด็ก 

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 มีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 33 คน ใน 34 คดี โดยเป็นเด็กที่ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 6 คน ใน 5 คดี อายุของเด็กที่น้อยที่สุดและถูกดำเนินคดีตามมาตรานี้ คือ 14 ปี จำนวน 2 คน จากการชุมนุมของกลุ่ม REDEM เมื่อวันที่ 20-21 มีนาคม 2564   เฉพาะเดือนมีนาคม มีเด็กถูกจับกุมและดำเนินคดีจากการเข้าร่วมหรืออยู่ในที่ชุมนุม ไม่ต่ำกว่า 18 คน ส่วนใหญ่ถูกดำเนินในความผิดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉิน และพ.ร.บ.โรคติดต่อ รวมถึงเด็กอย่างน้อย 2 คน ที่ถูกดำเนินคดีในความผิดตาม ม. 112 ปรากฏรายละเอียดจากการชุมนุม ดังนี้ 

  • การชุมนุมวันที่ 6 มีนาคม 2564  เด็ก 2 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมโดยไม่มีหมายจับ และถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อ ม.209 และ ม.210 ตามประมวลกฎหมายอาญา โทษสูงสุดที่เด็กอาจได้รับคือ จำคุกไม่เกิน 10 ปี  

  • การชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564 เด็กจำนวน 7 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนจับกุม มีเด็กอายุ 14 ปี จำนวน 2 คน ถูกดำเนินคดีในความผิดตาม ม. 112  เด็กอีก 2 คน ถูกดำเนินคดีในความผิดตาม ม.215 และ ม. 216  ม.138 (ความผิดฐานทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่) ของประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ส่วนเด็กอีก 3 คน ถูกดำเนินคดีตาม ม. 397 (ความผิดฐานกระทำการใดๆให้ได้รับความเดือดร้อนรำคาญ) ของประมวลกฎหมายอาญา และถูกเปรียบเทียบปรับก่อนที่จะเจ้าหน้าที่จะปล่อยตัวไป อย่างไรก็ตาม เด็กทั้งหมดถูกจับกุมและควบคุมตัวไปยัง บก.ตชด.ภาค 1 เช่นเดียวกับผู้ใหญ่เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาในเวลากลางคืนเเละได้รับปล่อยตัวในเวลาต่อมา 

  • การชุมนุมวันที่ 24 มีนาคม 2564  มีเด็กจำนวน 1 คน ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

  • การชุมนุมวันที่ 28 มีนาคม 2564 ซึ่งผลจากการสลายการชุมนุมในช่วงเช้า เด็กอายุ 15-17 ปี จำนวน 6 คนถูกดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ร.บ จราจร พ.ร.บ.ความสะอาด และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง อย่างไรก็ตาม เด็ก 2 คนไม่ปรากฏว่ามีผู้ปกครองมาเข้าร่วมในกระบวนการตรวจสอบการจับกุมเเละการขอปล่อยชั่วคราว จึงทำให้มีปัญหาในการคุ้มครองสิทธิเด็กระหว่างการดำเนินคดีและการยื่นขอปล่อยชั่วคราว และจากการสลายการชุมนุมในเย็น เด็กจำนวน 1 คน ถูกดำเนินคดีในความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ประมวลกฎหมายอาญา ม.138 (ความผิดฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน) ม.392 (ความผิดฐานทำให้ผู้อื่นหวาดกลัว) ม.370 (ความผิดฐานทำให้เกิดเสียงอื้ออึง) 

การชุมนุม 86 ครั้ง การชุมนุมไม่น้อย 6 ครั้งที่ถูกดำเนินคดี ผู้ชุมนุมถูกจับกุมโดยไม่มีหมายในพื้นที่ และตัวเลขการดำเนินคดีพุ่งสูงขึ้น  

จากการติดตามและสังเกตการณ์การชุมนุมจากเว็บไซต์ Mob Data Thailand มีการชุมนุมไม่น้อยกว่า 86 ครั้งทั่วประเทศ โดยแบ่งเป็นการชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครจำนวน 64 ครั้ง เชียงใหม่ 7 ครั้ง ขอนแก่น 6 ครั้ง อุบลราชธานี 3 ครั้ง นครปฐม 2 ครั้ง และจังหวัดอื่น เช่น เชียงราย สงขลา นนทบุรี สมุทรปราการ จังหวัดละ 1 ครั้ง โดยมีการดำเนินคดีจากการชุมนุมอย่างน้อยจาก 6 ครั้งการชุมนุม โดยข้อกล่าวหาหลักยังคงเป็น 

  • การฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องห้ามการชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ 

  • พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ  มาตรา 34 (6) มีโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท 

รวมถึงยังใช้ข้อกฎหมายเดิมที่ถูกนำใช้ผิดวัตุประสงค์อย่างต่อเนื่อง เช่น  

  • พ.ร.บ.ความสะอาดฯ  

  • พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ  

  • พ.ร.บ.จราจรฯ  

นอกจากนี้ยังมีข้อกฎหมายอื่นถูกนำมาใช้ในการดำเนินคดีเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพ เช่น ความผิดฐาน อั่งยี่,ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209,210 ซึ่งมีผู้ถูกดำเนินคดีในวันที่มีการชุมนุมวันที่ 6 มีนาคม 2564 บริเวณห้าแยกลาดพร้าว โดยถูกจับกุมราว 48 คน และถูกดำเนินคดี ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯและ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209,210 (อั่งยี่,ซ่องโจร) 18 คน รวมถึง การ์ด Wevo โตโต้ ปิยะรัฐ  

การชุมนุมไม่น้อย 6 ครั้งที่ถูกดำเนินคดี โดยข้อหาหลักคือ ฝ่าฝืนพรก.ฉุกเฉิน 

1. การชุมนุมโดยกลุ่ม ราษฎรโขงชีมูล ในวันที่ 1 มีนาคม 2564 ณ สถานีตำรวจภูธร ย่อย ม.ขอนแก่น โดยมีวัตถุประสงค์ของการชุมนุมเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่หน้าราบ1 กรุงเทพฯ จากการชุมนุมนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดี 9 คน ในคดีฝ่าฝืน พรก. พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณา 

2. การชุมนุมโดยกลุ่ม Redem เดินขบวนจากห้าแยกลาดพร้่าวไปศาลอาญา ทำกิจกรรมทิ้งขยะหน้าศาล ในวันที่ 6 มีนาคม 2564  โดยมีการจับกุมการ์ดWevo ที่เมเจอร์รัชโยธิน และประชาชน อย่างน้อย 48 คน มีผู้ถูกจับกุมและโดนควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับอย่างน้อย 18 คน และถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ความผิดฐาน อั่งยี่,ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209,210 

3. การชุมนุมโดยกลุ่ม UNME of Anarchy ในวันที่ 13 มีนาคม 2564 เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 2  คนในข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ,  พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ, “วางสิ่งของกีดขวางการจราจร” ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ, “วางสิ่งของบนพื้นถนน” ตาม พ.ร.บ. ความสะอาดฯ และ “ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตาม พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ 

4. การชุมนุมโดยกลุ่ม Redem ในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ณ ท้องสนามหลวง กรุงเทพฯ  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ มีการใช้กำลังสลายการชุมนุม มีกลุ่มที่เรียกว่ากลุ่มปกป้องสถาบันฯเข้าทำร้าย รวมถึงมีการจับกุมในพื้นที่ และดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (2 คน เป็นเยาวชน),215, มาตรา 216, ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน 

5. การชุมนุมโดยกลุ่ม แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในวันที่ 24 มีนาคม 2564 ณ แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ โดยยืนยันวัตถุประสงค์ 3 ข้อเรียกเรียกร้องเดิม คือ เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ที่แสดงออกทางการเมืองจากการถูกคุมขัง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันฯ และ รัฐบาลประยุทธ์ยุต้องบสภา ในการชุมนุมนี้มีการดำเนินคดีในข้อหา ฝ่าฝืน  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้ขึ้นปราศรัยอย่างน้อย 10 คน เป็นเยาวชน 1 คน 

6. การชุมนุมโดยกลุ่มหมู่บ้านทะลุฟ้า และ หมู่บ้านทะลุฟ้าV2 ในวันที่ 28 มีนาคม 2564 ณ ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีวัตถุประสงค์ตาม 3 ข้อเรียกร้อง คือ ปล่อยผู้ต้องหาคดีการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 ซึ่ง การชุมนุมครั้งนี้ได้ปักหลักอยู่บริเวณทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชฐมาตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 โดยมีการสลายการชุมนุม 2 ครั้ง แบ่งเป็นเวลาเช้าประมาณ 6.00 น. มีผู้ถูกจับกุมในพื้นที่ ทั้งหมด 67 คน เป็นเยาวชน 6 คน และพระสงฆ์ 2 รูป และช่วงเวลาเย็นประมาณ 18.30 น. มีผู้ถูกจับกุมในพื้นที่ ทั้งหมด 32 คน รวมกันแล้วมีผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 99 ราย ถูกนำตัวขึ้นรถไปที่ บก.ตชด. ภาค 1 และ กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติด   

ฉนวนความรุนแรงจากรัฐ และการบริหารจัดการในประเด็นทางเศรษฐกิจและสังคม นำไปสู่การชุมนุมที่มีจำนวนมากขึ้น 

โดยการชุมนุมในเดือนมีนาคม ไม่ต่ำกว่า 45 ครั้ง ที่มีข้อเรียกร้องหลักคือ ปล่อยเพื่อนเรา และเรียกร้องต่ออำนาจตุลาการเพื่อคืนสิทธิประกันตัวให้กับแกนนำผู้ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112   

สืบเนื่องมาจากการจับกุมและดำเนินคดีอย่างต่อเนื่องกับนักกิจกรรมและประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง โดยมีผู้ถูกจับกุมและถูกคุมขังทั้งสิ้น 12 คน โดยถูกดำเนินจากการชุมนุม 6 คน ในคดีมาตรา 112 จำนวน 5 คน และคดีอื่น 1 คน โดยถูกข้อหาจากการชุมนุม 19 กันยาทวงคืนอำนาจราษฎร  จำนวน 3 คน ได้แก่ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาและ ภานุพงศ์ จาดนอก ต่อเนื่องจากนักกิจกรรม 4 คนก่อนหน้า ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์, อานนท์ นำภา, ปฏิวัฒน์ สาหร่ายแย้ม และ สมยศ พฤกษาเกษมสุข โดยทั้ง 7 คน ถูกควบคุมตัวระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล ขณะที่อีก 3 คนถูกพนักงานสอบสวนฝากขังระหว่างสอบสวน ได้แก่ พรหมศร จากการชุมนุมที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 แกนนำ 1 คน การชุมนุมวันที่ 20 มกราคม 2564  และ ประชาชนทั่วไป 1 คน จากการชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 1 วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ ตลอดเดือนมีนาคม มีรายงานการดำเนินคดีใหม่เพิ่มขึ้น 22 คน ใน 27 คดี รวมแล้วทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทั้งสิ้นอย่างน้อย 82 ราย ใน 74 คดี มีผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีตามมาตรา 112 อยู่อย่างน้อย 14 คน จากทั้งสิ้น 21 คน (ข้อมูลล่าสุดในเดือนมีนาคม) 

จากขบวนเดินทะลุฟ้า เดินทะลุฟ้าV2 สู่หมู่บ้านทะลุฟ้า และการสลายการชุมนุมโดยรัฐถึง 2 ครั้ง 

กิจกรรมเดินทะลุฟ้า จัดโดยกลุ่มราษฎร นำโดยไผ่ จตุภัทร์ กลุ่ม People GO Network และภาคีเครือข่าย เดินเท้า จาก จังหวัดนครราชสีมา ถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ โดยเริ่มเดินขบวนตั้งแต่วันที่ 16 กุมภาพันธ์ จนมาถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันที่ 7 มีนาคม 2564 ใช้เวลาทั้งสิ้น 17 วัน เป็นระยะทาง 247.5 ก.ม. ซึ่งมีความหมายถึงปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ โดยมีข้อเรียกร้องการเดินขบวน ดังนี้  

1. ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี เช่น คดี 19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร  

2. แก้รัฐธรรมนูญ สืบเนื่องจากปีที่ผ่านมาประชาชนได้ร่วมกันเข้าชื่อกว่าหนึ่งแสนรายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต่อมาสภาพิจารณาไม่รับร่างฉบับประชาชน ขณะที่สภามีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาว่า รัฐสภามีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อเปิดทางให้ตั้ง สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มาเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ โดยในวันที่ 11 มีนาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญลงมติวินิจฉัย ว่ารัฐสภามีอำนาจหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ต้องให้ประชาชนลงประชามติเสียก่อนว่าต้องการจะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้วลงประชามติอีกครั้ง 

3. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ นับตั้งแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก 2563 เป็นต้นมามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 63 คน โดยมีการตีความกว้างขวางไปถึง การแต่งตัวล้อเลียน,การเผาพระบรมฉายาลักษณ์และการใส่เสื้อหมดศรัทธาในสถาบันฯ ขณะที่มีผู้ถูกกล่าวหาไม่น้อยกว่า 20 คนที่ถูกฝากขังระหว่างการคดี  

โดยทั้ง 3 ข้อ อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก  

การคุกคามและการสกัดกั้นการแสดงออกจากรัฐ 

ตลอดการเดินขบวนเดินทะลุฟ้าไม่ได้มีการสกัดกั้นนัก เมื่อขบวนเดินผ่านท้องที่ใด ตำรวจในแต่ละท้องที่จะติดต่อมาติดตามและอำนวยความสะดวกการจราจร ขณะเดียวกันยังมีเจ้าหน้าที่จากสันติบาลมาสืบสวนการข่าวด้วย  

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564 มีรายงานว่า สันติบาลเข้าเยี่ยมบ้านผู้ร่วมเดินขบวนในจังหวัดสุรินทร์ หลังกลับจาการร่วมเดินไม่กี่ชั่วโมง ระบุว่า นายสั่งให้มาดูแล 

การเดินขบวนเริ่มมีอุปสรรคขึ้นเมื่อเข้าท้องที่สภ.คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี วันที่ 5 มีนาคม 2564 ระหว่างที่ขบวนออกเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มุ่งหน้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต มวลชนติดป้ายผ้ารณรงค์บนสะพานลอยที่ถูกตำรวจยื้อไม่ให้ติดสองครั้ง ระบุว่า เข้าข่ายพ.ร.บ.ความสะอาดฯ เมื่อมวลชนยืนยันในเสรีภาพการแสดงออก ตำรวจยอมให้ติดได้และปลดออกหลังขบวนผ่าน จากนั้นเมื่อเจรจาไม่ได้ผลจึงใช้วิธีปิดสะพานลอยที่ขบวนจะผ่านแทนรวมแล้วปิดไปไม่น้อยกว่า 13 แห่ง 

เมื่อขบวนเดินถึงลานตรงข้ามฟิวเจอร์พาร์ค เพื่อทำกิจกรรม ตำรวจไม่ยินยอมอ้างการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 แต่ท้ายที่สุดมวลชนเจรจาต่อรองปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค จึงจัดได้ในเวลากำหนดและมีการบอกผู้ค้าบริเวณดังกล่าวว่า หากกิจกรรมไม่เลิกตามเวลาที่กำหนดจะไม่ให้ผู้ค้าเปิดร้าน วันดังกล่าวเป็นวันแรกที่ผู้ค้ากลับมาขายของได้ หลังเผชิญกับการแพร่ระบาด 

ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 เวลาประมาณ 9.00 น. ขบวนออกเดินจากบริเวณเซียร์ รังสิต ตำรวจควบคุมฝูงชนตั้งแนวปิดหัวและท้ายขบวน ไม่ให้ขบวนเดินเข้าถนนวิภาวดีรังสิตให้ไปเดินเส้นพหลโยธินแทน อ้างว่า จะส่งผลต่อการจราจร แต่ตัวแทนไม่ยอมและตั้งข้อสังเกตว่า ตำรวจกำลังต้อนขบวนให้ไปที่ราบ 11 ซึ่งเป็นพื้นที่เปราะบางและเสี่ยงต่อการสลายการชุมนุม ทั้งยื่นคำขาดว่า หากไม่ยอมให้เดินจะปักหลักบนถนนและจะระดมมวลชนมาเสริม 

ตำรวจพยายามจะขอตรวจอาวุธ แต่เมื่อทีมงานไม่ยินยอมจึงปล่อยให้เดินจนถึงที่หมายที่แยกเกษตร 

ขณะที่วันนี้เมื่อขบวนเดินจนถึงปลายทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและตั้งเวทีโดยปิดพื้นผิวการจราจรบางส่วนในวงเวียน ตำรวจไม่ให้ตั้งและกล่าวว่า หากยังฝืนกระทำอยู่ จะสลายการชุมนุม ขณะที่ผู้กำกับการสน.สำราญราษฎร์ประกาศว่า การกระทำของผู้ชุมนุมผิดกฎหมาย อ้างว่า มีประกาศห้ามชุมนุมตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้ยุติการชุมนุม  

หลังตำรวจประกาศ ทีมงานยืนยันจะจัดกิจกรรมต่อไปและย้ำว่า จะใช้สันติวิธีเข้าสู้เท่านั้น จนถึงขณะนี้กิจกรรมยังจัดต่อไปได้  

ต่อมาแกนนำเดินขบวนเดินทะลุฟ้าและกลุ่มราษฎรได้แก่่ ไผ่-จตุภัทร์ ไมค์-ภาณุพงศ์ และ รุ้ง-ปนัสยา ถูกคุมขังในเรือนจำหลังจากศาลสั่งฟ้องคดีชุมนุม 19 กันยายน 2563 และไม่ให้สิทธิประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี ทว่ากลุ่มที่ชื่อว่าเดินทะลุฟ้าV2 นำโดยกลุ่ม UNME of Anarchy ได้ทำกิจกรรมต่อเนื่องสานต่อเจตนารมณ์ของเดินทะลุฟ้า นัดหมายชุมนุมในวันที่ 13 มีนาคม 2564 เดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อปักหลัก ตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ร่วมกับหมู่บ้านบางกลอย ในระหว่างการเดินขบวนได้ย้ำจุดยืน 3 ข้อเรียกร้องและ 1 เงื่อนไขที่พลเอกประยุทธิ์ ต้องลาออกโดยทันที เมื่อตั้งหมู่บ้านบริเวณ ถนนพระรามที่ 5 เชิงสะพานชมัยมรุเชฐแล้ว กลุ่มผู้จัดได้ตั้งจุดคัดกรองและลงทะเบียน โดยมีการวัดไข้ และ ตรวจวัดอุณหภูมิ พร้อมลงลายมือชื่อ และประทับตราปั๊มของหมู่บ้านทะลุฟ้า เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมบริเวณทางเข้า-ออก หมู่บ้าน สอดคล้องกับข้อตกลงร่วมกันสำหรับหมู่บ้านทะลุฟ้า โดยเมื่อเข้ามาในพื้นที่จัดกิจกรรมจะพบป้ายระบุข้อตกลงร่วมกันของหมู่บ้านทะลุฟ้า ซึ่งมีข้อตกลงดังนี้  

1. หมู่บ้านทะลุฟ้าจะต่อสู้ด้วยแนวทางสงบ ไม่ปะทะ ไม่ยั่วยุ 

2. ทุกคน ทุกกลุ่ม ต้องไม่พกอาวุธ 

3. ผู้ปราศรัยต้องปราศรัยในเชิงหลักการเท่านั้น ใช้ข้อมูล ข้อเท็จจริง หรือ ลดทอนความเป็นมนุษย์ 

4. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์หมู่บ้าน 

5. ไม่ถ่ายรูปชาวหมู่บ้าน ในพื้นที่ส่วนตัว 

assetasset

#ม็อบ13มีนา : #เดินทะลุฟ้าV2 ภาพโดย Mob Data Thailand

กิจกรรมในหมู่บ้านนั้นมีความหลากหลาย เช่น จัดกิจกรรมเสวนา ในประเด็นต่างๆ ได้แก่ มุมมองการเคลื่อนไหวจากนักวิชาการและนักเคลื่อนไหว ประเด็นสิทธิประกันตัว การให้ความรู้เยาวชนสำหรับติวสอบ โดยติวเตอร์ รวมไปถึงมีกิจกรรมแสดงดนตรี ฉายภาพยนตร์ และ ตลาดนัด ถนนคนเดิน เป็นต้น

asset

 #ม็อบ13มีนา : #เดินทะลุฟ้าV2 ภาพโดย Mob Data Thailand

จนเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2564 มีรายงานว่า สำนักอนามัย สำนักงานเขตดุสิต ร่วมกับฝ่ายสิ่งแวดล้อมและเทศกิจ กรุงเทพมหานคร ประสานงานกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าแจ้งประกาศของกรุงเทพมหานคร ในเวลา 15.00 น. เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 20 ลงวันที่ 23 ก.พ. 64 เนื่องด้วยเหตุผลทางด้านความสะอาดและสถานการณ์โควิด-19  ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ยังไม่มีการขอคืนพื้นที่แต่อย่างใด 

จนเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2564 หมู่บ้านทะลุฟ้าได้ถูกชุดควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมในเวลาเช้าตรู่ เวลาประมาณ 6 นาฬิกา เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชน วางกำลังเต็มด้านหน้าหมู่บ้านทะลุฟ้าและมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่า ตอนนี้อยู่ภายใต้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเปิดพื้นผิวการจราจร ให้เวลาเก็บของ 3 นาที แต่ในระยะเวลาไม่ถึง 3 นาที เจ้าหน้าที่ก็เดินแถวเข้าจับกุมผู้ที่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้านทะลุฟ้า ขณะเดียวกันเจ้าหน้าที่บางคนเริ่มเก็บสิ่งกีดขวางที่อยู่หน้าทางเข้าหมู่บ้าน  

assetasset

#ม็อบ28มีนา : #ทะลุฟ้า ภาพโดย Mob Data Thailand

จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมดังกล่าวมีผู้ถูกจับกุมทั้งเยาวชน พระสงฆ์และบุคคลทั่วไป ราว 67 คน และถูกนำตัวไปที่ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 และแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ หลังจากเข้ายึดพื้นที่ เจ้าหน้าที่พร้อมกองพิสูจน์หลักฐานได้เข้าตรวจค้นและยึดอุปกรณ์ต่างๆโดยไม่ให้ผู้เกี่ยวข้องกับหมู่บ้านและทนายความเข้าร่วมการตรวจค้นและตรวจยึดสิ่งของต่างๆ 

สืบเนื่องจากการสลายการชุมนุมในเวลาเช้าตรู่ของวัน ในช่วงราว 15.00 น. กลุ่มนักกิจกรรมได้เริ่มประกาศตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าอีกครั้งที่บริเวณกลางสะพานชมัยมรุเชฐ โดยมีตัวแทนประชาชนกลุ่มต่างๆ ผลัดเปลี่ยนกันอ่านแถลงการณ์ประณามการสลายการชุมนุมที่ผ่านมา และเรียกร้องให้ปล่อยผู้ถูกควบคุมตัว  

จนเวลา 17.00 น.  เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เริ่มนำกำลังเข้ามาปิดล้อมการชุมนุมอีกครั้ง โดยเวลา 18.00 น. เริ่มมีการประกาศให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมภายใน 15 นาที โดยอ้างการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และได้พยายามประกาศให้ผู้สื่อข่าวถอยออกไปจากพื้นที่ 

ส่วนผู้ร่วมหมู่บ้านทะลุฟ้ายืนยันปักหลักต่อไป โดยเริ่มนอนลงและชูสามนิ้วให้เจ้าหน้าที่ ก่อนชุดควบคุมฝูงชนได้เริ่มเคลื่อนเข้าปิดล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม และกันผู้สื่อข่าวอยู่ภายนอกวงล้อม ก่อนเริ่มทยอยจับกุมผู้ชุมนุมซึ่งนอนชูสามนิ้ว ทั้งในรูปแบบการหิ้วปีก และอุ้มขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขัง โดยมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมไปทั้งสิ้น 32 คน 

assetasset

#ม็อบ28มีนา : #ทะลุฟ้า ภาพโดย Mob Data Thailand

ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งหมดไปยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ซึ่งตั้งอยู่ภายในสโมสรตำรวจ บริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ย่านหลักสี่ โดยมีทนายเดินทางติดตามไป แต่ในตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่ยินยอมให้ทนายความ ส.ส. หรือญาติ เข้าไปยัง บช.ปส. ในช่วงแรก 

ตลอดระยะเวลาการชุมนุมของกลุ่มเดินทะลุฟ้า จนมาถึงหมู่บ้านทะลุฟ้า กลุ่มแกนนำและเครือข่ายได้ยึดหลักการการชุมนุมอย่างสงบและมีแนวทางการเรียกร้องอย่างชัดเจน ดังจะเห็นได้จากการประกาศข้อเรียกร้องโดยใช้วิธีการเดินเท้าเข้าหามวลชนในพื้นที่ต่างๆ จากนครราชสีมา มาจนถึง กรุงเทพฯ และตั้งหมู่บ้าน ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2564 เพื่อทำกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อสร้างการรับรู้ปัญหา และเข้าถึงประชาชน และยืนยันข้อเรียกร้องต่อรัฐต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การยึดมั่นหลักการชุมนุมโดยสงบ ไม่ปะทะหรือยั่วยุเจ้าหน้าที่ พร้อมทั้ง มีจุดคัดกรองและลงทะเบียนผู้ที่จะเข้าร่วม แต่จะเห็นได้ว่าเจ้าหน้าที่รัฐสกัดกั้นสิทธิเสรีภาพแสดงออก โดยเฉพาะการใช้ข้อกฎหมายและสถานการณ์โควิด-19 เช่นการอ้าง พ.ร.บ. ความสะอาด จากการติดป้ายผ้าที่บริเวณสะพานลอย หรือการอ้างว่ากระทำความผิดต่อ พรก.ฉุกเฉิน จนท้ายที่สุดนำมาสู่การสลายการชุมนุม 2 ครั้ง ซึ่งนับเป็นการจับกุมผู้ชุมนุมสูงสุดในรอบปี 2564  แม้การชุมนุมของกลุ่มเดินทะลุฟ้า มาสู่หมู่บ้านทะลุฟ้าไม่มีแนวโน้มแสดงถึงความรุนแรงหรือเป็นเหตุให้ต้องสลายการชุมนุม จนกระทั่งการนำไปสู่การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม แต่เจ้าหน้าที่รัฐยังคงใช้สถานการณ์โควิดเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง  

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังไม่ปฏิบัติตามตามมาตรฐานการควบคุมการชุมนุมระหว่างประเทศ จากการเข้าควบคุมตัวผู้ชุมนุมโดยไม่มีหมายและควบคุมตัวไปสถานที่ควบคุมตัวอย่างไม่เป็นทางการ อย่างกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี และ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ถึงแม้ว่าการนำตัวผู้ชุมนุมไปที่ โดยอ้างอิงบันทึกข้อความของรองผู้บัญชาการตำรวจนคร ในการขอใช้อาคารของ บช.ปส.เป็นสถานที่ควบคุมตัวและสอบปากคำผู้ต้องหาโดยอ้างเรื่องเพื่อให้การดำเนินคดีผู้ต้องหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความปลอดภัย และเป็นไปตามมาตรการรักษาความสงบเรียบร้อยกรณีที่มีการจับกุมผู้ต้องหาเป็นจำนวนมาก ซึ่งเสี่ยงต่อความปลอดภัยต่อผู้ถูกจับกุม และเป็นการจำกัดสิทธิการเข้าถึงทนาย รวมถึงการละเมิดสิทธิผู้ต้องหาอื่นๆ มีการรายงานว่าเยาวชนชายที่ถูกจับกุมในตอนเช้า ระบุว่าเจ้าหน้าที่ใช้เคเบิ้ลไทร์มัดที่มือระหว่างการถูกจับกุมระหว่างการสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจยังพยายามจะยึดโทรศัพท์มือถือของผู้ถูกจับกุม เป็นต้น 

REDEM 2 ครั้ง สู่การกวาดจับผู้ชุมนุมทั้ง 2 ครั้ง และการสลายการชุมนุม 1 ครั้ง 

การชุมนุมของกลุ่ม Redem ที่มีรูปแบบการนัดชุมนุมแบบไม่มีแกนนำ ในวันที่ 6 มีนาคม 2564 ลักษณะการชุมนุมมีการเดินขบวนจากบริเวณห้าแยกลาดพร้าวไปศาลอาญา ซึ่งกิจกรรมหลักคือการทิ้งขยะหน้าศาล เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อศาลสืบเนื่องจากการสั่งฟ้องแกนนำจากการชุมนุมวันที่ 19 กันยา รวมถึงการไม่ให้สิทธิประกันตัวต่อสู้กับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองระหว่างการพิจารณาคดี  

asset

#ม็อบ6มีนา : ทิ้งขยะหน้าศาลอาญา ภาพโดย Mob Data Thailand

ก่อนเริ่มการชุมนุม ที่ศาลอาญา มีการวางลวดหนามหีบเพลงตามแนวรั้ว ด้านในรั้วของศาลอาญามีการขึงตาข่ายสีน้ำเงินล้อมอาคารศาลอาญา มีรถฉีดน้ำแรงดันสูง,รถขยายเสียงของตำรวจและชุดคุมฝูงชนวางกำลัง ขณะที่หน้าสน.พหลโยธิน มีการขึงตาข่ายสีน้ำเงิน 15.35 น. พบเห็นเจ้าหน้าที่เติมน้ำใส่รถฉีดน้ำโดยสวมใส่หน้ากากกันแก๊สขณะเติมน้ำ 

asset

#ม็อบ6มีนา : ทิ้งขยะหน้าศาลอาญา ภาพโดย Mob Data Thailand

ในระหว่างที่ผู้ชุมนุมยังเริ่มทยอยเข้ามาที่บริเวณห้าแยกลาดพร้าว ที่ลานจอดรถเมเจอร์รัชโยธิน ชุดเจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือ เข้าควบคุมตัวการ์ด Wevo ราว 30 คน พร้อมทั้งมีหน่วยคอมมานโด สั่งให้กลุ่มการ์ดหมอบลงกับพื้นและมีปืนยาวเข้าจ่อด้านหลัง ทั้งยังถูกยึดสัมภาระ มีการตรวจยึดสิ่งของ และมัดมือผู้ถูกจับกุมด้วยสายเคเบิลไทด์ ก่อนเอาตัวขึ้นรถ จากนั้นเพื่อนและประชาชนที่รู้ว่าทีมการ์ดชุดแรกโดนจับ ได้พยายามขึ้นไปดู ก็กลับถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมเพิ่มเติมอีก 

asset

#ม็อบ6มีนา : ทิ้งขยะหน้าศาลอาญา ภาพโดย Mob Data Thailand

จากนั้น ผู้ถูกควบคุมตัวถูกแยกเป็นกลุ่ม นำตัวขึ้นรถควบคุมผู้ต้องขังแยกกันในรถ 3 คัน และเจ้าหน้าที่ได้นำตัวออกไปจากเมเจอร์รัชโยธิน โดยมีกลุ่มประชาชนที่พยายามสกัดการเคลื่อนของรถจากบริเวณแยกรัชโยธิน ทำให้รถคันหนึ่งไม่สามารถเดินทางไปได้ และมีผู้ถูกควบคุมตัวได้ออกมาจากรถดังกล่าว  ต่อมาผู้ถูกคุมตัวไม่หลบหนีออกมาจากรถ เนื่องจากเกรงว่าจะถูกดำเนินคดีหลบหนีการจับกุม จึงร่วมกันตัดสินใจเดินเท้าไปที่ สน.พหลโยธิน ท้องที่เกิดเหตุ และยังมีผู้ถูกควบคุมตัวในรถอีกคันหนึ่ง เดินทางมาสมทบ รวมแล้วทั้งหมด 30 ราย เพื่อยืนยันว่าไม่ได้หลบหนี ขณะที่ อีก18 คนรวมทั้ง โตโต้-ปิยรัฐ ถูกควบคุมตัวไป 

ขณะที่ในพื้นที่ชุมนุม 

มวลชนเริ่มเคลื่อนมาถึงหน้าศาลอาญา เวลาประมาณ 18.40 น. ตำรวจประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า ขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่รวมตัวกันอยู่ ณ ตอนนี้ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ความร่วมมือและให้ความเคารพในการใช้สิทธิและเสรีภาพของการแสดงออกทางความคิดและการชุมนุมด้วยสงบ ปราศจากอาวุธ เป็นสิทธิและเสรีภาพที่สามารถกระทำได้ ซึ่งได้รับการรับรองตามที่บัญญัติไว้ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องอยู่ภายใต้ของบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความมั่นคงของชาติและความปลอดภัย ตอนนี้มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สามารถชุมนุมได้ ขอความร่วมมือประชาชนได้โปรดปฏิบัติตามมาตรการป้องกันแพร่ระบาด ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ประกาศข้อกำหนดศาลอาญา ห้ามประพฤติไม่เรียบร้อย ทำลายทรัพย์สิน ปีนรั้ว ขอความร่วมมือให้ชุมนุมโดยความสงบ อย่ากระทำการใดที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ อย่ารุกล้ำเข้ามาในศาลอาญาเด็ดขาด เจ้าหน้าที่แจ้งว่าจะควบคุมสถานการณ์เท่านั้น จะไม่ทำอะไร และเวลาต่อมา 20.52 น. ผู้ชุมนุมประกาศว่าจะยุติการชุมนุมโดยสงบ 

asset

#ม็อบ6มีนา : ทิ้งขยะหน้าศาลอาญา ภาพโดย Mob Data Thailand

อย่างไรก็ตามแม้การชุมนุมในพื้นที่จะยุติลงอย่างสงบ แต่บริเวณพื้นที่ใกล้เคียงที่ชุมนุม มีผู้ถูกจับกุมจากห้างสรรพสินค้าเมเจอร์รัชโยธิน ไม่น้อยกว่า 48 ราย ซึ่งนับได้ว่าเป็นการจับกุมจากเหตุทางการเมือง เป็นจำนวนมากที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุมเยาวชนปลดแอก เมื่อกลางปี 2563 เป็นต้นมา 

ผู้ถูกจับกุม 30 คน เข้าแสดงตัวต่อตำรวจสน.พหลโยธิน ขณะที่ 18 คน ถูกควบคุมตัวไปที่ กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดน ภาค 1 และต่อมาถูกแจ้งข้อหาอั้งยี่-ซ่องโจร-พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยที่เจ้าหน้าที่อ้างว่าการ์ด Wevo เตรียมสร้างเหตุวุ่นวาย นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ใช้ข้อกล่าวหาตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ความผิดฐานร่วมกันเป็นอั้งยี่ และ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 กระทำผิดฐานร่วมกันเป็นซ่องโจร ควบคู่กับฝ่าฝืนพ.ร.ก. ฉุกเฉิน 

ทว่าผู้ถูกจับกุมทั้งหมดยืนยันว่าตำรวจเข้าควบคุมตัว โดน ไม่มีการแสดงหมายจับ ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมายใด ไม่แจ้งว่าจะพาตัวไปที่ใด ไม่มีการแจ้งสิทธิตามกฎหมาย ทั้งยังใช้กำลังควบคุมตัว ใช้อาวุธข่มขู่ มีการยึดทรัพย์สินของแต่ละราย  

การชุมนุมวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณสนามหลวง  

เวลา 17.00. น. โดย Redem และแนวร่วมกลุ่มต่างๆ เช่น ศิลปะปลดแอก มีวัตถุประสงค์เพื่อ ทำกิจกรรมพับจดหมายส่งถึงสถาบันฯ เรียกร้องให้กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ 

ตั้งแต่คืนวันที่ 19 มีนาคม 2564 ทางเจ้าหน้าที่ได้วางตู้คอนเทนเนอร์กั้นทั้งในและนอกบริเวณสนามหลวง มีการวางลวดหนามหีบเพลง และขึงผ้าสแลนสีเขียวต่อจากความสูงของตู้คอนเทนเนอร์ อ้างเหตุเพื่อตั้งรับการชุมนุมและป้องกันสถานที่สำคัญ เช่น พระบรมมหาราชวัง และ วัดพระแก้ว  

asset

#ม็อบ20มีนา : #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ฯ ภาพโดย Mob Data Thailand

ต่อมาในวันที่ 20 มีนาคม 2564 ช่วงเวลา 11.00 น. ทางด้าน พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รอง ผบช.น.) และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (รองโฆษก ตร.) แถลงข่าวที่อาคารกองบัญชาการตำรวจนครบาล ถึงมาตรการการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณพื้นที่ท้องสนามหลวงและพื้นที่ใกล้เคียง ระบุว่า ทางเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นต้องวางสิ่งกีดขวางโดยรอบสนามหลวงก่อนการชุมนุม ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใกล้พื้นที่ราชการ พระบรมมหาราชวัง วัดวาอาราม  

เมื่อการชุมนุมเริ่มขึ้น มีการทำกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่ เช่น การเล่นว่าว เล่นสเก็ตบอร์ด โดยที่ไม่มีการปราศรัย จนเวลา 18.30 น. พบว่ามีมวลชนกลุ่มหนึ่งพยายามขยับตู้คอนเทนเนอร์ที่ทางเจ้าหน้าที่ได้นำมากั้นไว้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ด้านหลังแนวกั้นได้ประกาศผ่านตู้คอนเทนเนอร์ว่า ขอให้มวลชนยุติการดึงตู้คอนเทนเนอร์ออก ไม่อย่างนั้นจะมีการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อรับมือ 

asset

#ม็อบ20มีนา : #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ฯ ภาพโดย Mob Data Thailand

สถานการณ์เริ่มตึงเครียดมากขึ้น เมื่อผู้มวลชนบางส่วนยังคงพยายามนำคอนเทนเนอร์ลง จนเวลาประมาณ 18.55 น. ตำรวจประกาศว่าหากยังกระทำต่อจะดำเนินการตามขั้นตอน คือ ฉีดน้ำและ ฉีดน้ำผสมแก๊สน้ำตา แต่อีก 1 นาที ถัดมา ตำรวจฉีดน้ำหนึ่งครั้ง ขณะเดียวกัน ผู้ชุมนุมทางด้านใกล้ช้างสามเศียร มีการนำผ้าขาวมากางทำเวฟ และตะโกนบอกว่าให้ปล่อยเพื่อนเรา จนเวลาประมาณ 19.29 น. ทางด้านตำรวจมีการประกาศให้ชุดควบคุมฝูงชนเดินหน้า 30 ก้าว จนถึงบริเวณใกล้เคียงโรงแรมรัตนโกสินทร์ และเตรียมพร้อมเข้าจับกุม ระหว่างนี้ยังงมีเสียงดังคล้ายประทัดอยู่ 1-2 ครั้ง และมีกลุ่มควันที่หน้าโรงแรม ต่อเนื่องกันมีการประกาศจากตำรวจว่าให้เข้าจับกุมผู้ชุมนุมและเตรียมพร้อมอุปกรณ์พิเศษ และมีรายงานว่ามีการใช้กระสุนยาง 

นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อื่นที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้ากระชับพื้นที่  ที่บริเวณสี่แยกคอกวัว มีการจุดไฟเผาสิ่งของกลางถนน ทางด้านตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาที่อยู่บริเวณนี้ต่อเนื่อง และ ช่วง 22.30 – 00.00 น. บริเวณแยกวันชาติว่ามีรถตำรวจจอดทิ้งไว้ในสภาพถูกทุบ โดยมีแนวของผู้ชุมนุมอยู่บนสะพานวันชาติ โดยมีตำรวจชุดควบคุมฝูงชนตั้งแนวอยู่ที่แยกสะพานวันชาติตรงข้ามกับผู้ชุมนุม โดยตำรวจมีการยิงกระสุนยางในจังหวะที่เป็นไฟแดงและไม่มีรถสัญจรและหยุดยิงในจังหวะไฟเขียว ส่วนทางด้านผู้ชุมนุมมีการโยนสิ่งของเป็นระยะและมีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นอย่างน้อย 2 รอบ และมีการใช้แผ่นป้ายบังขณะที่เคลื่อนเข้าหาเจ้าหน้าที่จนถึงบริเวณเชิงสะพาน 

assetasset

#ม็อบ20มีนา : #จำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ฯ ภาพโดย Mob Data Thailand

การสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 บริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งจัดโดย กลุ่ม Redem จากรายงาน Mob Data Thailand พบว่า จากจำนวนเจ้าหน้าที่ที่ส่วนใหญ่ถูกระบุเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน ในสัดส่วน 3,000 คน ต่อผู้ชุมนุม 500-1,000 คน มิได้ปฏิบัติหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ชุมนุม แต่กลับปิดกั้นเส้นทางและสถานที่ในการชุมนุมด้วยอุปกรณ์ที่มิได้ปรากฏอยู่ในคู่มือควบคุมการชุมนุมของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เช่น ตู้คอนเทนเนอร์ พร้อทติดลวดหนามหีบเพลงบนหลังคาตู้คอนเทนเนอร์ และขึงผ้าแสลนสีเขียว โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเพื่อป้องกันสถานที่สำคัญ อาทิ พระบรมมหาราชวัง  

เจ้าหน้าที่ยังประกาศย้ำว่าการชุมนุมดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายและเป็นเงื่อนไขให้แก่เจ้าหน้าที่ในการยุติการชุมนุม โดยไม่ต้องปฏิบัติตามขั้นตอนในพรบ.การชุมนุมสาธารณะ เนื่องจากยังอยู่ในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามพรก.ฉุกเฉินว่าด้วยการควบคุมโรคติดต่อ  นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ใช้อาวุธที่มีความร้ายเเรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายหลายประเภทรวมถึงกระสุนยางในการสลายการชุมนุมด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้องตามแนวปฏิบัติกำหนดไว้ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 19 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สื่อข่าว จำนวน 3 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่และแสดงสัญลักษณ์ชัดเจนว่าเป็นสื่อมวลชน  

ภายหลังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แถลงข่าวและระบุว่า การชุมนุมดังกล่าวมิใช่การชุมนุมโดยสงบ อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและสถานที่ จึงต้องยุติการชุมนุมโดยใช้กำลังพลและอาวุธข้างต้น อย่างไรก็ตาม ความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ในทุกการชุมนุม หากไม่ปรากฏเหตุแน่ชัดหรือระบุตัวบุคคลได้ว่ามีการใช้ความรุนเเรงหรือชักนำให้ผู้ชุมนุมก่อเหตุรุนเเรงซึ่งอาจนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของบุคคลอื่น รัฐต้องให้ความคุ้มครอง และต้องปฏิบัติตามแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมายต่อผู้ชุมนุมอย่างเคร่งครัดและรับผิดต่อการใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมหรือสลายการชุมนุมที่เกินกว่าเหตุ 

ในช่วงระยะ 3 เดือนแรกของปี 2564 จะเห็นได้ว่ารัฐมีพัฒนาการและแนวโน้มที่ชัดเจนมากขึ้นในการใช้ความรุนแรงเข้าสลายการชุมนุมและจับกุมดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงออกทางการเมือง โดยมีการเข้าสลายการชุมนุม 12 ครั้ง ภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน มีการดำเนินคดีจากการชุมนุมไม่ต่ำกว่า 25 ครั้งการชุมนุม และจับกุมในพื้นที่ทั้งที่ไม่มีหมายจับอย่างน้อย 11 ครั้ง นอกจากนี้การดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน พ.ร.บ. โรคติดต่อ ยังเป็นข้อหาหลักในการดำเนินคดีเพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก เช่นเดียวกับ ประมวลกฎหมายอาญา 112 ที่จำนวนการดำเนินคดีกับประชาชนและเยาวชนพุ่งสูงขึ้น (เยาวชนอย่างน้อย 6 คน ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา 112) ทั้งยังมีผู้คุมขังระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 20 คน โดย 13 คน เป็นผู้ถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยิ่งไปกว่านั้น สถานการณ์การจับกุมโดยที่ไม่มีหมาย และสิทธิของผู้ต้องหาก็มีแนวโน้มจะถูกจำกัดมากขึ้นตามไปด้วย