วันที่: 16/9/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2564

description

เฉพาะเดือนพฤษภาคม สถานการณ์การแสดงออกและการชุมนุมเกิดขึ้นทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 259 ครั้ง และมีการสลายการชุมนุม 1 ครั้ง 

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2564

ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2564 สถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดหนักต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ด้วยสถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองที่ยังมีต่อเนื่อง และมีการสลายการชุมนุมที่จัดโดย Redem 1 ครั้ง ในวันที่ 2 พฤษภาคม ที่หน้าศาลอาญา ซึ่งสะท้อนการพยายามของรัฐในการจำกัดเสรีภาพการทำงานของสื่ออย่างชัดเจนยิ่งขึ้น และตามด้วยการออกหมายจับเเละดำเนินคดีในความผิดต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ดูหมิ่นศาล อีกเป็นจำนวนมาก ขณะที่การชุมนุมในรูปแบบ #ยืนหยุดขัง เพื่อเรียกร้องปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ประกอบกับสถานการณ์โควิดในเรือนจำที่ระบาดหนักและแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว ตอกย้ำปัญหาเรือนจำแออัดและการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขที่ดีในเรือนจำ  ส่วนสถานการณ์การดำเนินคดี เฉพาะคดีตามประมวลกฎหมายอาญา 112 จากการแสดงออกและการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์มีเพิ่มมากขึ้น รวมถึงคดีความของผู้ถูกดำเนินคดีจาการแสดงออกและการชุมนุมในปี 2563 เข้าสู่ชั้นศาลอย่างรวดเร็วโดยมีถึง 15 คดีที่ถูกสั่งฟ้องในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงคดีของเยาวชน ที่อัยการสั่งฟ้องต่อศาลเยาวชนเป็นคดีแรกในเดือนพฤษภาคม จากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ที่วงเวียนใหญ่ 

asset

#ม็อบ1พฤษภา : #ราษมัมยืนหยุดขัง ภาพโดย Mob Data Thailand

asset

#ม็อบ7พฤษภา : ทวงถามความยุติธรรมบุคคลสูญหาย ภาพโดย Mob Data Thailand

จากการสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลโดย Amnesty International Thailand และ ILAW ผ่านโครงการ Mob Data ในเดือนพฤษภาคม 2564 สามารถสรุปได้ว่า   

  • นับตั้งแต่เดือนมกราคม - พฤษภาคม 2564 มีการแสดงออกและการชุมนุมทั้งสิ้นอย่างน้อย 621 ครั้ง เฉพาะเดือนพฤษภาคม สถานการณ์การแสดงออกและการชุมนุมเกิดขึ้นทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 259 ครั้ง และมีการสลายการชุมนุม 1 ครั้ง 

  • ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตั้งแต่การชุมนุมเดือนกรกฎาคม 2563 - พฤษภาคม 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 679 คน ในจำนวน 344 คดี ถือว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 44 คน ใน 43 คดี 

  • มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน 2548 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 499 คน ใน 146 คดี แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 23 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 123 คดี 

  • มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 97 คน ใน 92 คดี จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯรายงานว่าคดีความที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนพฤษภาคมส่วนใหญ่เป็นคดีที่ประชาชนเป็นผู้ไปร้องทุกข์ โดยมีถึง 42 คดี ใน 97 คดี และมีแนวโน้มเป็นการแสดงความคิดเห็นบนอินเทอร์เน็ต จึงเห็นได้มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งหรือดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง 

  • ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 มีผู้ถูกคุมขังทางการเมืองทั้งสิ้น 29 คน  มี 17 คน ที่ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112  ต่อมา ในเดือนเมษายน - พฤษภาคม ศาลทยอยให้ประกันตัว 27 คน รวมถึงแกนนำราษฎร อาทิ  

    • ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม  (ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ - 9 เมษายน เป็นเวลา 60 วัน) 

    • สมยศ พฤกษาเกษมสุข (ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ - 23 เมษายนเป็นเวลา 74 วัน)  

    • จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 8 มีนาคม - 23 เมษายนเป็นเวลา 74 วัน) 

    • ปิยรัฐ จงเทพ (ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 6 มีนาคม - 8 พฤษภาคมเป็นเวลา 61 วัน)  

    • ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล (ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 8 มีนาคม - 6 พฤษภาคมเป็นเวลา 60 วัน อดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม - 6 พฤษภาคมเป็นเวลา 38 วัน ) 

    • พริษฐ์ ชิวารักษ์ (ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ - 11 พฤษภาคมเป็นเวลา 92 วัน อดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม - 11 พฤษภาคม เป็นเวลา 57 วัน) 

    • ภานุพงศ์ จาดนอก (ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 8 มีนาคม - 1 มิถุนายน เป็นเวลา 86 วัน) 

    • อานนท์ นำภา (ถูกคุมขังระหว่างวันที่ 9 กุมภาพันธ์ - 1 มิถุนายน เป็นเวลา 113 วัน ซึ่งนับว่าถูกคุมขังนานที่สุด) 

ปัจจุบันยังมีผู้ถูกคุมขัง ในระหว่างการสอบสวน 1 คน และในระหว่างอุทธรณ์คดี  2 คน 

สถานการณ์โควิดในเรือนจำ  

เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นเดือนเมษายนที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อโควิด19 ที่เรือนจำนราธิวาส พบผู้ติดเชื้อสูงสุด จำนวน 263 คน จากการสืบค้นข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนราธิวาส ต่อมา ไอลอว์ เปิดเผยเอกสารราชทัณฑ์ซึ่งปรากฏว่าตั้งแต่ 29 เมษายน 2564 เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ติดเชื้อ 77 คนผู้ต้องขัง 575 คนในเรือนจำ 19 แห่ง รวมถึง เรือนจำกลางเชียงใหม่ และ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ต่อมากรมราชทัณฑ์รายงานตัวเลขผู้ติดเชื้ออีกครั้งวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เป็นผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครและทัณฑสถานหญิงกลางจำนวน 2,835 คน ทั้งนี้ มีผู้ที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวทั้งระหว่างการสอบสวน ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไม่ต่ำกว่า 29 ราย ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ที่ติดเชื้อโดควิด-19 แล้วไม่ต่ำกว่า 10 ราย ก่อนจะได้ประกันตัวในเวลาต่อมา นอกจากนี้มาตรการ “Bubble and Seal” ที่บางเรือนจำบังคับใช้เพื่อลดการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังออกนอกบริเวณเรือนจำ จำกัดการเเพร่ระบาดเเละลดการสัมผัสกับบุคคลภายนอก ยังกระทบถึงสิทธิในการเข้าถึงการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องขัง เช่น กรณีของชูเกียรติ แสงวงศ์ ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ติดเชื้อโควิด-19 จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้รับการรักษาจนหาย เเต่ต้องถูกส่งตัวกลับไปยังเรือนจำอีกครั้งระหว่างที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษกเลื่อนไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว  

ถึงแม้จะมีมาตรการในการดูเเลผู้ต้องขังของกรมราชทัณฑ์ ภายใต้กระทรวงยุติธรรม สำนักงานประธานศาลฎีกาเเละสำนักงานศาลยุติธรรม แต่จำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำยังคงไม่ลดลง ศูนย์บริหารรสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2564 จนถึง วันที่ 9 มิถุนายน 2564 ว่ามีมากถึง 30,657 คน และมีผู้เสียชีวิตถึง 25 คน สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากความเป็นอยู่ในเรือนจำมีความแออัด การไม่ได้รับรู้สถานการณ์ของผู้ต้องขังทำให้การระมัดระวังการแพร่เชื้อหละหลวม รวมไปถึงเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขล่าช้าและมีข้อจำกัดในการพบแพทย์ 

รัฐมีแนวโน้มใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงแนวโน้มที่เสรีภาพของสื่อจะถูกจำกัดในการทำงานในพื้นที่การชุมนุมมากขึ้น จากการชุมนุมวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 

วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 กลุ่ม REDEM ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ ขณะเดียวกัน มีรถเครื่องเสียงคอยประกาศ นัดหมายเชิญชวนรถทุกประเภทร่วมคาราวานเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยฯ มุ่งหน้าศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก เรียกร้องปล่อยตัวแกนนำราษฎรและแนวร่วมที่ถูกคุมขังในเรือนจำ เมื่อมาถึงที่บริเวณหน้าศาลอาญา เวลาประมาณ 17.00 น. ในการชุมนุมมีการทำกิจกรรม เช่นการปาไข่ และ สีใส่ป้ายศาลอาญา และมีบางส่วนปาเข้าไปในรั้วศาลอาญา ขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้อ่านประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประกาศให้สื่อมวลชนบันทึกภาพการกระทำของมวลชน พร้อมให้ยุติการชุมนุม จนเวลา 18.00 น. มีการประกาศจากรถขยายเสียงให้มีการยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับบ้าน ต่อมายังคงหลงเหลือผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 20 คนยังอยู่บริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อเวลา 19.00 น. ตำรวจควบคุมฝูง พร้อมรถฉีดน้ำแรงดันสูงและกระสุนยางเข้ายึดพื้นที่ มวลชนบางส่วนปาประทัด และถอยร่นเข้าซอยรัชดาภิเษก 32 ตรงข้ามศาลอาญา ขณะนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการแยกให้สื่อมาอยู่บนฟุตบาธหน้าศาลอาญา และให้เตรียมบัตรสื่อพวกตรวจว่าเป็นสื่อจริงหรือไม่ จากการสลายการชุมนุมครั้งนี้ มีการจับกุมในพื้นที่ 4 คน และแจ้งข้อหาเพิ่มเติมภายหลังไม่ต่ำกว่า 60 คน ในข้อหาดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 198 

assetassetasset

ภาพโดย Mob Data Thailand

ข้อสังเกตจากการสลายการชุมนุมครั้งนี้ คือ เจ้าหน้าที่มีความพยายามที่จะจำกัดเสรีภาพในการทำงานของสื่ออย่างชัด อย่างกรณีที่ผู้ชุมนุมเริ่มปาสิ่งของ เจ้าหน้าที่ได้มีการประกาศให้สื่อบันทึกภาพไว้ แต่ในขณะที่มีการสลายการชุมนุม  เจ้าหน้าที่ได้มีการประกาศให้สื่ออยู่ในบริเวณหน้าศาลอาญา นอกพื้นที่การสลายการชุมนุม ทำให้บริเวณที่มวลชนถอยร่น เข้าไปในซอยรัชดาภิเษก 32 แทบจะไม่มีสื่อติดตามทำข่าว รวมถึงข้อมูลในช่วงเวลาการสลายการชุมนุมมีความไม่ชัดเจน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมีการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาในการสลายการชุมนุม สืบเนื่องจากหลังการสลายการชุมนุมพบปลอกกระสุนยางจำนวนมากตกอยู่บนพื้นถนน ผู้สังเกตการณ์รายงานด้วยว่า ในช่วงต้นตำรวจไม่ได้ประกาศแจ้งก่อนการใช้กระสุนยาง ทั้งนี้การเข้าสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ไม่ต่ำกว่า 3 กองร้อยต่อผู้ชุมนุมไม่ถึง 100 คน พร้อมรถฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา และกระสุนยาง เข้าสลายในพื้นที่ชุมชนและเป็นพื้นที่แคบในตรอกซอกซอย จึงไม่เป็นไปตามความจำเป็นและความได้สัดส่วน  

assetassetasset

ภาพโดย Mob Data Thailand

แนวโน้มที่ศาลให้ประกันตัวผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองพร้อมกับเงื่อนไขที่อาจกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุม 

เนื่องด้วยศาลกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาคดีทางการเมืองโดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ส่วนใหญ่คล้ายคลึงกันคือ ห้ามไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยกระทำความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ร่วมการชุมนุมที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกจากราชอาณาจักร จากเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งมีลักษณะตีความอย่างกว้างๆ จนอาจกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม จนนำไปสู่คำถามว่าศาลใช้อำนาจเพื่อปิดกั้นการแสดงออกทางการเมืองเกินขอบเขตหรือไม่  อย่างไรก็ตาม หลังจากแกนนำราษฎรได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ประชาชนบางกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ากลุ่มปกป้องสถาบันได้เรียกร้องให้มีการเพิกถอนการให้ประกันตัว เนื่องจากมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองจนอาจละเมิดเงื่อนไขของศาล เช่น นายจักรพงษ์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยื่นหนังสือถึงอธิบดีอัยการเพื่อให้พิจารณาเพิกถอนการให้ประกันตัวของ 3 จำเลย ในคดีความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้แก่ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน และนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และ กรณี นายสนธิญา สวัสดี ที่ปรึกษากรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร เดินทางมายื่นหนังสือต่อนายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา ให้พิจารณากรณีที่นายพริษฐ์  ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน แกนนำกลุ่มราษฎร โพสต์เฟซบุ๊กหัวข้อ "สาส์นแรกแห่งอิสรภาพ" หลังจากที่ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาสู้คดี เพื่อให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญาวินิจฉัยว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการกระทำที่ขัดต่อเงื่อนไขที่ระบุไว้ในคำขอประกันตัวหรือไม่   

แนวโน้มคดี “ละเมิดอำนาจศาล” และ “คดีหมิ่นศาล” จากการแสดงออกเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง

ถึงแม้สถานการณ์โควิด-19 และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังมีจำนวนมาก ในขณะเดียวกันสถานการณ์ที่แกนนำคณะราษฎรและประชาชนถูกดำเนินคดีและศาลสั่งฟ้องคดีจนนำไปสู่การคุมขังระหว่างพิจารณาคดีเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมไปแกนนำที่ถูกคุมขังประกาศอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัวเพื่อสู้คดี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน ส่งผลให้ประชาชนร่วมชุมนุมและแสดงออกที่บริเวณหน้าศาลเพิ่มมากขึ้นนำไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่แสดงออกบริเวณหน้าศาล ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า นับแต่เริ่มการชุมนุมกรกฎาคม 2563 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 64 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 – 33  ซึ่งตัวกฎหมายมีลักษณะที่คุ้มครองกระบวนการพิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อยในบริเวณศาล ถึง 13 ราย ใน 13 คดี และมีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 แล้วอย่างน้อย 20 ราย ใน 3 คดี  

ส่วนในเดือนพฤษภาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาละเมิดอำนาจศาล 6 ราย ใน 7 คดี จากเหตุการณ์การชุมนุมหน้าศาลอาญาในวันที่ 29 – 30 เมษายน เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังในคดีการเมือง โดยมีผู้ถูกกล่าวหาจากนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มศิลปะปลดแอก และแกนนำเครือข่ายนนทบุรี ซึ่งในเวลานั้น พริษฐ์ ชิวะรักษ์ หนึ่งในผู้ถูกคุมขังที่เรียกร้องสิทธิประกันตัวด้วยการอดอาหาร ต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากอดอาหารมาเป็นเวลานานเกือบสองเดือน   

ในคดีดูหมิ่นศาล มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน จากการชุมนุมวันที่ 29-30 เมษายน จัดโดยกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม และวันที่ 2 พฤษภาคม จัดโดยกลุ่ม Redem ซึ่งมีจุดประสงค์คือการเรียกร้องสิทธิประกันตัวที่หน้าศาลอาญา ถ.รัชดา   นอกจากนี้ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาอื่น เช่น ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของ บ้านเมือง. พ.ศ. 2503  

แนวโน้มคดีผู้มีอำนาจทั้งภาครัฐและเอกชน ดำเนินคดี “หมิ่นประมาท” กับประชาชนที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นทางการเมือง สะท้อนการฟ้องคดีเพื่อปิดปาก (SLAPPs) เพื่อการตรวจสอบการใช้อำนาจต่างๆ เพื่อประโยชน์สาธารณะอีกด้วย 

ประชาชนที่แสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่จะถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 326 ประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท เนื่องจากเป็นฐานความผิดที่บุคคลทั่วไปสามารถร้องทุกข์กล่าวโทษได้ โดยไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เสียหาย ทำให้มีกลุ่มบุคคลใช้วิธีการแจ้งความดำเนินคดีบุคคลที่แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคมต่างๆ ด้วยข้อหานี้ ประกอบกับข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ประกอบการความผิดฐานอื่นตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2560 หากเป็นการเผยแพร่หรือเเสดงความเห็นในสื่อออนไลน์  

โดยในเดือนพฤษภาคม มีผู้ถูกดำเนินคดี เฉพาะกรณีหมิ่นประมาทและดูหมิ่น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเหตุวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของนายกรัฐมนตรีเเล้วไม่ต่ำกว่า 3 กรณี ทั้งนี้ โดยมีผู้รับมอบอำนาจจากพล.อ.ประยุทธ์เข้าเเจ้งความ คือ นายอภิวัฒน์ ขันทอง กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าเเจ้งความต่อ วีระ ชาติพงศ์ ผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญา ว่ากระทำความผิดฐานฐานหมิ่นประมาทนายกรัฐมนตรีด้วยการโฆษณา มาตรา 393 ดูหมิ่นโดยโฆษณา และจอห์น วิญญู  สื่อมวลชนเเละนักจัดรายการจากจากการทวิตข้อความ 2 ข้อความ ในปี 2563 ซึ่งวิจารณ์การบริหารประเทศของพล.อ.ประยุทธ์ 

ในกรณีภาคเอกชนก็มีการดำเนินคดีกับผู้ที่แสดงความเห็นออนไลน์ เช่น กรณีคดีบริษัทบุญรอดกล่าวหาประชาชนผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพการสลายการชุมนุมบริเวณใกล้อาคารรัฐสภา #ม็อบ17พฤศจิกา  พร้อมข้อความวิพากษ์วิจารณ์กรณีพบว่าอาจมีการยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากพื้นที่ของบริษัท ซึ่งเดิมมีการแจ้งความร้องทุกข์ในข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาผ่านเจ้าหน้าที่ตำรวจ และมีผู้ถูกดำเนินคดี 2 ราย แต่ต่อมาได้มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญากรุงเทพใต้โดยตรง โดยกล่าวหาประชาชน 4 ราย ในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อีกด้วย  

การดำเนินคดีกับเด็ก  

จากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2563 มีเยาวชนถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและชุมนุมทางการเมือง แล้วทั้งสิ้นอย่างน้อย 44 ราย ใน 43 คดี  

  • เด็กจำนวน 8 คนถูกตั้งข้อหาหมิ่นพระบรมราชานุภาพ (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) ในจำนวน 7 คดี โดยมี 5 รายที่ถูกแจ้งความจากประชาชนทั่วไป และอีก 3 รายถูกเจ้าหน้าที่แจ้งความในข้อหาเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ และในจำนวน 8 รายมี 2 รายถูกแจ้งข้อหาจากการแสดงความคิดเห็นบนช่องทางออนไลน์ 1 รายถูกแจ้งพร้อมกับความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งในจำนวนนี้มีเด็กอายุน้อยที่สุด 2 รายคืออายุ 14 ปี 

  • เด็ก 1 คนถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่น (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ) 

  • เด็ก 25 คนถูกตั้งข้อฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินและ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 

  • เด็ก 3 คนถูกตั้งข้อหาฐานเป็นอั้งยี่และซ่องโจร (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209และมาตรา 210 ) 

  • เด็ก 13 คนถูกตั้งข้อหาเข้าร่วมชุมนุมผิดกฎหมาย (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ) ซึ่งมีจำนวน 2 คนถูกตั้ง 2 ข้อหารวมกับข้อหาไม่เลิกการชุมนุมตามคำสั่งเจ้าพนักงาน (ตามประมวลกฎหมายมาตรา 216) และมีจำนวน 10 ที่ถูกตั้ง 3 ข้อหารวมกับข้อหากระทำการโดยมีหรือใช้อาวุธ(ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 ) เป็นต้น  

  • เด็กที่มีคดีมากทีสุด มีจำนวนคดีรวมทั้งหมด  10 คดีรวมทั้งคดี หมิ่นพระบรมราชานุภาพ  

  • มีเด็กจำนวน 23 คนถูกควบคุมตัวโดยไม่มีหมายจับที่ได้ออกโดยศาล (จับโดยมิชอบด้วยกฎหมาย) 

  • การจับกุมเด็กจากการสลายการชุมนุมตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 จะไม่เเยกการควบคุมตัวกับผู้ใหญ่ และมักถูกนำตัวไปควบคุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวรชายแดน ภาค 1 จังหวัดปทุมธานี (ควบคุมตัวที่มิชอบด้วยกฎหมาย) เด็กยังไม่ได้รับการคุ้มครองขณะที่อยู่ในที่ชุมนุมเเละมีกถูกใช้ความรุนแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งใช้กระสุนยาง แก๊สน้ำตา เครื่องช็อตไฟฟ้า เครื่องพันธนาการ ต่อเด็กระหว่างการจับกุมเเละควบคุมตัว 

  • เยาวชนถูกสั่งฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางแล้ว 4 ราย ใน 3 คดี โดย 3 ราย ถูกฟ้องคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่มีความร้ายแรง ในเขตกรุงเทพมหานคร จากการชุมนุม #15ตุลาไปราชประสงค์ อีก 1 ราย ถูกฟ้องใน 2 คดี ได้แก่ คดีจากการชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา ในข้อหาหลัก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคดีจากการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา ในข้อหาตามมาตรา 112 ซึ่งในเดือนพฤษภาคม นับเป็นการสั่งฟ้องในคดีตามมาตรา 112 ของเยาวชนเป็นคดีแรก