วันที่: 14/9/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุม เดือนมิถุนายน 2564

description

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 สถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดหนักต่อเนื่องจากการระบาดระลอกที่ 3 เดือนเมษายน 2564 และมีแนวโน้มจะเข้าสู่ระลอกที่ 4 จากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ซึ่งสะท้อนการบริหารงานของรัฐบาลไทยที่ไม่สามารถจัดการควบคุมสถานการณ์การระบาดและการนำเข้าวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนและภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดออกมาแสดงออกเพื่อเรียกร้องการเยียวยาจากรัฐบาล ขณะเดียวกันจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในฉพาะเดือนมิถุนายนนี้ สถานการณ์การแสดงออกและการชุมนุมเกิดขึ้นทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 125 ครั้ง

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2564

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2564 สถานการณ์โควิด-19 ยังคงระบาดหนักต่อเนื่องจากการระบาดระลอกที่ 3 เดือนเมษายน 2564 และมีแนวโน้มจะเข้าสู่ระลอกที่ 4 จากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม ซึ่งสะท้อนการบริหารงานของรัฐบาลไทยที่ไม่สามารถจัดการควบคุมสถานการณ์การระบาดและการนำเข้าวัคซีนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ประชาชนและภาคประชาสังคมผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดออกมาแสดงออกเพื่อเรียกร้องการเยียวยาจากรัฐบาล ขณะเดียวกันจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีก็พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลโดย Amnesty International Thailand และ ILAW ผ่านโครงการ Mob Data ในเดือนมิถุนายน 2564 สามารถสรุปได้ว่า    

  • นับตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2564 มีการแสดงออกและการชุมนุมทั้งสิ้นอย่างน้อย 800 ครั้ง เฉพาะเดือนมิถุนายน สถานการณ์การแสดงออกและการชุมนุมเกิดขึ้นทั้งสิ้นไม่ต่ำกว่า 125 ครั้ง  

  • ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตั้งแต่การชุมนุมเดือนกรกฎาคม 2563 - มิถุนายน 2564 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 695 คน ในจำนวน 374 คดี ถือว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 17 คน ใน 31 คดี 

  • มีผู้ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืนพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อย่างน้อย 501 คน ใน 155 คดี แยกเป็นคดีในระหว่างการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี และคดีฝ่าฝืนข้อกำหนดเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด 19 จำนวน 131 คดี  

  • มีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเเล้ว อย่างน้อย 106 คน ใน 103 คดี โดยมีคดีใหม่อย่างน้อย 6 ราย ใน 8 คดี ซึ่งในรายคดีส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกิดการ โพสต์หรือแชร์ข้อความ ทางออนไลน์และมีบุคคลทั่วไปเป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ ซึ่งในเดือนนี้มีการออกหมายจับ 2 คน ใน 2 คดี ซึ่งเป็นคดี จากการแชร์หรือโพสต์ข้อความเกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อนได้รับการประกันตัวหลักทรัพย์ 200,000 บาท 

  • นอกจากนี้แกนนำคณะราษฎรที่ได้รับการปล่อยตัวจากการคุมขังก่อนพิจารณาคดีได้รับแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติมในเดือนนี้ ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ จากการโพสต์ข้อความวิจารณ์การใช้พื้นที่สนามหลวง ในเดือนธันวาคม 2563 รวมถึง จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และภาณุพงศ์ จาดนอก ซึ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากกรณีการปราศรัยหน้า  สภ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ทั้งนี้ยังมีผู้ได้รับหมายเรียกจากการปราศรัยในการชุมนุม เมื่อวันที่  21 พฤศจิกายน 2563 ที่บีทีเอสสยาม ในกิจกรรม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ โดยรวมสามเณรสหรัฐ หรือ สามเณรโฟล์ก 

  • ในส่วนคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่เข้าสู่กระบวนการศาลแล้ว จากการเก็บข้อมูลของ Amnesty International มีอย่างน้อย 26  คดี ที่อัยการสั่งฟ้องแล้ว โดยส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็น หรือเผยแพร่ข้อมูลทางออนไลน์ 

ประชาชนและภาคประชาสังคมออกมาเรียกร้องการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิดอย่างต่อเนื่อง 

ท่ามกลางสถานการณ์การระบาดรอบที่ 3 ของโควิด-19 รัฐบาลต้องเผชิญข้อท้าทายในการบริหารและการจัดการควบคุมสถานการณ์ โดยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน จำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ  ซึ่งมาจากสามกลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวัง การค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน และกลุ่มผู้ต้องขังในเรือนจำ อยู่ที่  2,000 – 3,000 รายต่อวันและต่อมาช่วงกลางเดือน ยอดผู้ติดเชื้อมีรายใหม่มีเพิ่มสูงขึ้นจากกว่า 3,000 ราย เป็น 4,000 รายต่อวัน และมียอดสูงสุดของเดือนที่ 5,406 ราย เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน ซึ่งแนวโน้มยังสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม มียอดผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 9,539 ราย ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตทำสถิติต่อเนื่อง อยู่ในช่วง 40-60 รายในเดือนมิถุนายน และ 60-80 รายในสัปดาห์แรกของเดือนกรกฎาคม โดยต่อมายอดผู้เสียชีวิตทำสถิตสูงสุดที่ 91 ราย ในวันที่ 10 กรกฎาคม  

ยิ่งไปกว่านั้น อัตราการฉีดวัคซีนยังถือว่าต่ำเมื่อเทียบกับจำนวนที่ต้องฉีดขั้นต่ำเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งนายกรัฐมนตรี ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ในวันที่ 16 มิถุนายน ถึงเป้าหมายในการฉีดวัคซีนว่า ต้องฉีดเข็มเเรกให้ได้ 50 ล้านโดสภายใน 120 วันก่อนเปิดประเทศ (ประมาณตุลาคม 2564) เเละ 100 ล้านโดส ภายในสิ้นปีนี้ ทั้งนี้ บีบีซีรายงานว่าอัตราฉีดที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย คือต้องฉีดวันละ 503,050 โดส แต่ค่าเฉลี่ยของการฉีดวัคซีนในแต่ละวัน คือ 93,753 โดส และจากรายงานของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าใช้เฉลี่ยในการบรรลุเป้าหมายในการฉีด นอกจากนี้การส่งมอบวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีความล่าช้าและได้รับการจัดสรรวัคซีนได้ไม่ครบตามแผนการที่วางไว้  

เนื่องด้วยสถานการณ์ที่มีความรุนแรงมากขึ้น จากการระบาดระลอกที่ 3 ในเดือนเมษายน ศบค.จึงมีความพยายามในการลดอัตราการเพิ่มของผู้ติดเชื้อ โดยการออกมาตรการควบคุมพื้นที่ตามระดับความรุนเเรงของการแพร่ระบาด การประกาศเคอร์ฟิว การจำกัดการเดินทางระหว่างจังหวัด การปิดห้างสรรพสินค้า และห้ามทำกิจกรรมสาธารณะที่มีการรวมตัวกันของบุคคล ห้าคนหรือมากกว่านั้น ส่งผลให้ประชาชนซึ่งอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ดังกล่าว ได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยเฉพาะภาคธุรกิจ ดังจะเห็นได้จากการออกมาแสดงออกเพื่อสื่อสารกับรัฐบาลโดยตรงของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดที่หลากหลายยิ่งขึ้นในเดือนมิถุนายน เช่น ตั้งแต่ต้นเดือนมีการรวมกลุ่มของ สหภาพไรเดอร์ ในหลายจังหวัด นัดหมายหยุดรับงาน และแสดงออกเพื่อเรียกร้องค่าแรงที่ไม่ยุติธรรม นอกจากนี้ยังมีกลุ่มแรงงานแพลตฟอร์ม สหภาพแรงงาน กลุ่มสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ กลุ่มพนักงานบริการ เครือข่ายร้านอาหาร และ สมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง

assetasset

วันที่ 4 มิถุนายน 2564 ไรเดอร์ไลน์แมนรวมตัวกันเรียกร้องค่าแรงที่เป็นธรรม ภาพโดย Mob Data Thailand

ขณะเดียวกันในเดือนนี้ หลากหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวตามแนวทางของตัวเอง เช่น กลุ่มประชาชนคนไทย (นำโดยนายนิติธร ล้ำเหลือ) กลุ่มไทยไม่ทน นำโดยนายจตุพร พรหมพันธุ์ ซึ่งมีเป้าหมายในการขับไล่รัฐบาล ประยุทธ์ จันทร์โอชา ขณะที่กลุ่มราษฎร รวมถึงแกนนำที่ได้สิทธิประกันตัว กลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาตามมหาวิทยาลัย ยังคงเคลื่อนไหวตาม 3 ข้อเรียกร้องเดิมควบคู่ไปกับกลุ่มอื่นๆที่เรียกร้องการเยียวยาจากรัฐด้วย

asset

#ม็อบ14มิถุนา : #ยืนทะลุฟ้า ภาพโดย Mob Data Thailand

ถึงแม้สถานการณ์โควิดจะยังไม่บรรเทา แต่ประชาชนแสดงออกอย่างต่อเนื่อง โดยมีการชุมนุมใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 2564 เฉพาะในกรุงเทพมีการชุมนุมอย่างน้อย 3 กลุ่มคือ กลุ่มราษฎรและกลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มประชาชนคนไทย และกลุ่มสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทย หรือ ไทยไม่ทน ดำเนินกิจกรรมโดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกัน โดย กลุ่มราษฎรและกลุ่มทะลุฟ้า จัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง คือ เหตุการณ์อภิวัฒน์สยาม 2475 หรือ ปฏิวัติ 2475 และเดินหน้าทำกิจกรรมยืนยันสามข้อเรียกร้อง ขณะที่กลุ่มประชาชนคนไทยและกลุ่มสามัคคีประชาชนเพื่อประเทศไทยทำกิจกรรมบริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลเพื่อขับไล่รัฐบาล หลังจากกิจกรรมสิ้นสุดลง พลตำรวจโท ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้สัมภาษณ์ว่าจะมีการดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 50 คน ในวันดังกล่าว

assetasset

#ม็อบ24มิถุนา : #ราษฎรยืนยันดันเพดาน จาก อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไปยัง รัฐสภา ภาพโดย Mob Data Thailand

asset

#ม็อบ24มิถุนา : #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ณ สกายวอล์คแยกปทุมวัน ภาพโดย Mob Data Thailand

assetasset

#ม็อบ24มิถุนา : #ไทยไม่ทน จาก สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ไปยัง ทำเนียบรัฐบาล ภาพโดย Mob Data Thailand

assetasset

#ม็อบ24มิถุนา : จุดเทียนอ่านประกาศคณะราษฎร ณ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ภาพโดย Mob Data Thailand

คดี “ละเมิดอำนาจศาล” และ “คดีหมิ่นศาล” จากการแสดงออกเพื่อเรียกร้อง สิทธิการประกันตัวให้ผู้ถูก คุมขังทาง การเมือง เข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลอย่างรวดเร็ว 

สืบเนื่องจากประชาชนที่ถูกดำเนินคดีและอัยการสั่งฟ้องจนนำไปสู่การคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มจำนวนมากขึ้น รวมถึงแกนนำที่ถูกคุมขังประกาศอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัวเพื่อสู้คดี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ - เดือนเมษายน ส่งผลให้ประชาชนร่วมชุมนุมและแสดงออกที่บริเวณหน้าศาลอาญา ไปสู่การแจ้งข้อกล่าวหาผู้ที่แสดงออกบริเวณหน้าศาล ศูนย์ทนายฯ รายงานว่า นับแต่เริ่มการชุมนุมกรกฎาคม 2563 ถึงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2564 มีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30 – 33 ซึ่งตัวกฎหมายมีลักษณะที่คุ้มครองกระบวนการ พิจารณาคดีให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ในบริเวณศาล ถึง 18 ราย ใน 14 คดี และมีผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาดูหมิ่นศาล ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 198 แล้วอย่างน้อย 24 ราย ใน 4 คดี 

โดยในเดือนมิถุนายน คดีที่เกี่ยวข้องกับศาลเข้ากระบวนการของศาลอย่างรวดเร็ว จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ มีการไต่สวนคดี 8 คดี และใน 3 คดี ได้มีคำพิพากษาแล้ว โดยมีความผิดทั้งหมด ซึ่งได้แก่ คดีจากการชุมนุมที่หน้าศาลอาญา วันที่ 29 เมษายน 2564 เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้แกนนำราษฎร คดีของไบร์ท ชินวัตร จันทร์กระจ่าง แกนนำกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี โดย ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ขณะที่ คดีของกระเดื่อง-พิสิฎฐ์กุล นักกิจกรรมกลุ่มศิลปะปลดแอกซึ่งศาลพิพากษาให้รอการกำหนดโทษ และคดีของอะดิศักดิ์ สมบัติคำ และ คดีอะดิศักดิ์ สมบัติคำ หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร ผู้ถูกกล่าวหาจากกรณีแตะไหล่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ ซึ่งยืนบังการพิจารณาของเขาในห้องพิจารณาคดี ล่าสุดศาลเห็นว่ามีความผิด ให้ลงโทษปรับ 500 บาท นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังแจ้งข้อหาดูหมิ่นศาลกับเยาวชน 4 คนเพิ่มเติม  จากการชุมนุมหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2564 

ในส่วนของคดีการชุมนุมเรียกร้องสิทธิประกันตัวแกนนำที่ถูกคุมขังที่ศาลอาญา วันที่ 29 เมษายน 2564 ซึ่งนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีอีก 4 คนนอกจากชินวัตรและพิสิฎฐ์กุล คือ เบนจา อะปัญ, ณัฐชนน ไพโรจน์, ภัทรพงศ์ น้อยผาง และเอฐ์เรียฐ์ ฟอฟิ โดยคดีของเบนจาและณัฐชนน ศาลทำการไต่สวน ผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองได้ยื่น คำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 33 ซึ่งเป็นบทกำหนดโทษฐาน ละเมิดอำนาจศาลให้จำคุกไม่เกิน 6 เดือน ขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26 หรือไม่ โดยในมาตราดังกล่าวมีใจความว่า “การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้กฎหมายดังกล่าวต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรมไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิ หรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุและจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผล ความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย”โดยศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ทำให้ต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา 

สถานการณ์การใช้กฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่เห็นต่างมีความเข้มข้นและรุนแรงมากขึ้น 

ในวันที่ 28 มิถุนายน 2564 เพจเฟสบุ๊คในชื่อ ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) เปิดเผยว่าจะแจ้งข้อหาหมิ่นประมาทพระบรมเดชานุภาพ หรือ  ม.112 กว่า 100 คน ซึ่งจัดทำผ่านแผนที่  ชื่อว่า "แผนที่112" ที่มีหมุดต่าง ๆ ปักอยู่ทั่วประเทศไทย ซึ่งแต่ละหมุดจะประกอบด้วยภาพบุคคลพร้อมเปิดเผยสถานศึกษาหรือสถานที่ทำงาน ซึ่งหมุดพวกนี้คือบุคคลที่ทางกลุ่ม ศชอ.อ้างว่าจะแจ้งม.112 ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 100 คน  ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือเป็นการคุกคามและละเมิดสิทธิเสรีภาพการแสดงออกอย่างร้ายแรง  ขณะเดียวกันศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2564 จนถึงปัจจุบัน ศูนย์ทนายฯได้รับการร้องเรียนจากผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนมาก ว่าถูกสมาชิกของ ศชอ. ส่งเอกสารที่รวบรวมข้อมูลส่วนตัวมาทางกล่องข้อความ และแจ้งในลักษณะข่มขู่ว่าได้มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตรายดังกล่าว สถานการณ์ดังกล่าวค่อยๆ รุนแรงมากขึ้น และมีผู้ถูกคุกคามจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวันที่ 28 มิ.ย.นี้ พบว่ามีผู้แจ้งข้อมูลลักษณะนี้มาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมอย่างน้อย 62 รายแล้ว ในนี้เป็นเยาวชน 3 ราย  ต่อมาในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนกรกฎาคม แน่งน้อย อัศวกิตติกร ประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์เดินทางไปที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เพื่อนำบัญชีรายชื่อ 1,275 รายชื่อพร้อมเอกสารหลักฐานที่รวบรวมจากสื่อสังคมออนไลน์ทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และ TikTok มอบให้กับ พ.ต.อ.สุณัฐพล นิรมิตศุภเชษฐ์ ผู้กำกับสอบสวน บก.ปอท. เพื่อพิจารณาดำเนินคดีในข้อหาหมิ่นประมาทพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112