วันที่: 16/9/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมเดือนกันยายน 2564

description

ตลอดเดือนกันยายน 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศ อย่างน้อย  141 ครั้ง เกิดกับจับกุมทั้งสิ้น 19 วัน มีผู้ถูกจับกุม อย่างน้อย 269 คน โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถูกจับกุมอย่างน้อย 18 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปีอย่างน้อย 60 ราย รวมเยาวชนและเด็กทั้งสิ้น 78 คน

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมเดือนกันยายน 2564 

หลังจากมีศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ในการประชุม ศบค. วันที่ 10 กันยายนนี้ จะพิจารณาทบทวนการใช้อำนาจตามราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยมีแนวโน้มทบทวนการใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินโดยจะสิ้นสุดในวันที่ 30 กันยายน 2564 ต่อมาในวันที่ 11 กันยายน 2564 ราชกิจจานุเบกษา เผยข้อกำหนดมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฉบับที่ 33 คงมาตรการโควิด-19 เดิม รวมถึงเคอร์ฟิวต่อไปอีก ตั้งแต่ 15-30 ก.ย. 64 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ในวันที่ พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผบช.น. โฆษกบช.น. แถลงข่าวเรื่องภาพรวมการชุมนุมตอนหนึ่งว่า เตรียมปูพรมดำเนินการหากเป็นไปได้ “อาทิตย์หน้า จะสามารถจบสถานการณ์ความวุ่นวายของผู้ก่อเหตุได้อย่างแน่นอน”จากการแถลงข่าวของรองโฆษก กองบัญชาการตำรวจนครบาลแสดงให้เห็นถึงท่าทีของเจ้าหน้าที่ที่ต้องการควบคุมสถานการณ์การชุมนุมโดยเฉพาะการชุมนุมที่ดินแดง ซึ่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลเรียกกลุ่มอิสระที่นัดหมายชุมนุมที่ดินแดง หรือ กลุ่มทะลุแก๊ซ ว่า “กลุ่มผู้ก่อเหตุ” 

ขณะที่ตลอดเดือนกันยายน 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศ อย่างน้อย 141 ครั้ง  กลุ่มหลักที่เคลื่อนไหวคือ กลุ่มของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ กลุ่มแนวร่วมนักศึกษา ได้แก่ กลุ่มเครือข่ายรามคำแหง กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กลุ่มพลเมืองโต้กลับ กลุ่ม We, The people ลพรรควิฬาร์ และแนวร่วมอื่นๆ เช่น กลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน และกลุ่มอิสระหรือทะลุแก๊ซ ซึ่งชุมนุมต่อเนื่องกว่า 41 วัน ตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม (นับตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม) ซึ่งข้อเรียกร้องหลักคือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี รวมถึงกิจกรรม “ยืน หยุด ทรราช” โดยกลุ่ม We, The people ที่เชียงใหม่ และ “ยืน หยุด ขัง” โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่ศาลฎีกา กรุงเทพฯ โดยทำกิจกรรมต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมต่อศาลในเรื่องสิทธิประกันตัวของผู้ถูกคุมขังทางการเมือง เป็นวันที่ 46 และวันที่ 42  

asset

#ม็อบ7กันยา : มึงทำระยำมา 7ปี อภิปรายครั้งนี้มึงผ่านมาได้ไง ภาพโดย Mob Data Thailand

อย่างไรก็ตามสืบเนื่องจากการชุมนุมที่ดินแดงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เจ้าหน้าจึงมีความพยายามปรับรูปแบบในการ ปราบปรามการรวมกลุ่มของกลุ่มทะลุแก๊ซ ได้แก่ การตั้งด่านตรวจก่อนและ หลังการชุมนุม การกระชับพื้นที่ และการสลายการชุมนุม รวมไปถึงการออกหมายจับ ภายหลังการชุมนุม คุกคามก่อนเข้าร่วมการชุมนุม เป็นต้น ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ชุมนุมอิสระที่เข้าร่วมการชุมนุมที่ดินแดง ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและเด็ก ข้อมูลอ้างอิงจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า เด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีในเดือนกันยายน อย่างน้อย 97 คน ใน 38 คดี ในจำนวนนี้เป็นเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 24 ราย อายุน้อยสุด 12 ปี โดยในจำนวนนี้มีเด็ก อายุ 16 ปี 1 คน ที่ไม่ได้รับการประกันตัว เนื่องจากไม่มีผู้ปกครองมารับรอง เหตุจากการโดนจับกุมในวันที่ 23 กันยายน 2564 โดยถูกกล่าวหาว่าทุบทำลาย ทรัพย์สินตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรใน 8 จุด 8 คดี 

assetasset

การชุมนุมและการจับกุมกลุ่มทะลุแก๊ซในวันที่ 23 กันยายน 2564 ภาพโดย ไข่แมวชีส

จากจำนวนการดำเนินคดีผู้ขุมนุมรวมไปถึงเด็กและเยาวชนที่พุ่งสูงขึ้นจากการแสดงออกและการชุมนุม โดยการคุกคามและจับกุมทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการชุมนุม ส่วนใหญ่เป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ สะท้อนการดำเนินคดีเพื่อปราบปรามไม่ให้มีการชุมนุมยังคงดำเนินต่อไป เมื่อมีผู้ชุมนุมบางส่วนใช้ลูกกระทบ ระเบิดปิงปอง และพลุไฟ รวมไปถึงพยายามทำลายทรัพย์สินราชการ เจ้าหน้าที่จึงเข้าล้อมเพื่อกระชับพื้นที่ รวมไปถึงเรียก ผู้ชุมนุมอิสระ โดยรวมว่าเป็น”ผู้ก่อความไม่สงบ หรือผู้ก่อเหตุ” ไม่เพียงกลุ่มอิสระอย่างกลุ่มทะลุแก๊ซเท่านั้น กลุ่มการเคลื่อนไหวทางการเมือง ที่ออกมาเคลื่อนไหวทุกรูปแบบที่ออกมาต่อต้านอำนาจของรัฐต่างถูกเจ้าหน้าที่รัฐปราบปราม เพื่อสกัดการการแสดงออกรวมถึงการระงับไม่ให้มีการชุมนุมอย่างเข้มข้นและสะท้อนถึงการดำเนินการที่เกินกว่า ความเป็นจำเป็น และความได้สัดส่วนในหลายมิติ ดังจะกล่าวต่อไป 

ลักษณะการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการยุติการชุมนุม จำนวนและตัวอย่างของผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุม รวมทั้ง เด็กและเยาวชน สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ 

แม้ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ซึ่งออกตามความในข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะกำหนดไว้อย่างชัดเจน การสลายการชุมนุมนั้นอาจทำได้ในกรณีพิเศษอันเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น กล่าวคือ หากการชุมนุมนั้นไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบอีกต่อไป หรือเมื่อมีพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับ การใช้ความรุนแรงอย่าง ร้ายแรง โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจแก้ไขได้อย่างสมเหตุสมผล ด้วยมาตรการอื่นที่ได้สัดส่วน มากกว่าและ แม้ว่าจะเข้าเงื่อนไขให้ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสลายการชุมนุมได้ แต่เงื่อนไขและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็น การปฏิบัติเท่าที่ กำหนดไว้ในกฎหมาย ที่สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

อย่างไรก็ตามในช่วงเดือนกันยายน การปราบปราม ผู้ชุมนุมจากเจ้าหน้าที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงใช้วิธีการปิดล้อมผู้ชุมนุม (kettling) ซึ่งไม่สอดคล้องกับ ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจน ว่าเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องปฏิบัติการเฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและความได้สัดส่วนโดยมุ่งแก้ไขความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ความรุนแรงเท่านั้น  หากการปฏิบัติการปิดล้อมนั้นถูกใช้โดยไม่แยกแยะ หรือใช้เพื่อลงโทษ การกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและอาจละเมิดสิทธิอื่นๆ ยิ่งไปกว่านั้นการปฏิบัติการในช่วงเดือนกันยายนส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ การชุมนุม ซึ่งสะท้อนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกินความจำเป็น อย่างชัดเจนทั้งความพยายามในการ จำแนกสื่อไร้สังกัดหรือ สื่ออิสระออกจากพื้นที่การชุมนุม การจับกุมสื่อมวลชน การจับกุมผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม รวมไปถึงอาการบาดเจ็บ ทางร่างกายจากการจับกุม  

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตลอดเดือนกันยายนเกิดกับจับกุมทั้งสิ้น 19 วัน มีผู้ถูกจับกุม อย่างน้อย 269 คน โดยมีเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ถูกจับกุมอย่างน้อย 18 ราย เยาวชนอายุ 15-18 ปีอย่างน้อย 60 ราย รวมเยาวชนและเด็กทั้งสิ้น 78 คน ถึงแม้ว่าคดีส่วนใหญ่ยังได้รับการประกันตัว แต่แนวโน้มที่ศาลจะไม่ให้ประกันตัว ด้วยเหตุของการกระทำผิดซ้ำ รวมถึงบุคคลที่ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน หรือเยาวชนที่ไม่มีผู้ปกครองมารับรองการประกันตัว เช่น กรณีของ นางฮวด (นามสมมติ) หญิงไร้บ้านชาวกัมพูชา ที่ถูกจับกุมจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 ซึ่งมีปัญหาเรื่องเอกสารยืนยันตัวตน  ส่วนเยาวชนอายุ 16 ปีที่ไม่มีผู้ปกครองมาประกันตัวถูกจับกุม จากการทุบตู้สัญญาณไฟจราจร 

asset

การจับกุมผู้ชุมนุมในการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซวันที่ 11 กันยายน 2564 ภาพโดย The Standard

ขณะเดียวกันการปฏิบัติการเพื่อปราบปรามการชุมนุมส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 107 คน แบ่งเป็นผู้ใหญ่จำนวน 72 คน เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ทั้งสิ้น 35 คน โดยเด็กที่ได้รับผลกระทบอายุต่ำที่สุดคือ อายุ 13 ปี จำนวนถึง 4 คน นอกจากนี้ยังมีสื่อมวลชนอย่างน้อย 5 คน ในจำนวนของผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งหมด นับเป็นผู้ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 80 คน โดยสาเหตุส่วนใหญ่ เกิดจากขณะจับกุม เช่น การเหยียบหัว หรือการทุบตีตามร่างกาย และแผลจากกระสุนยาง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส จากการจับกุม ไม่ต่ำกว่า 4 คน รวมถึงกรณีที่ประชาชนได้รับบาดเจ็บจากเจ้าหน้าที่ ชุดควบคุมฝูงชนหน่วยเคลื่อนที่เร็ว ได้ขับรถพุ่งชน จนได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 32 ราย และระบุตัวตนผู้บาดเจ็บไม่ได้ 4 กรณี  

ทั้งนี้ยังพบผู้ได้รับบาดเจ็บจากสถานการณ์ทั้งที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมและไม่ได้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 9 คน มีผู้เสียชีวิต 1 คน จากการขับรถชนตู้คอนเทนเนอร์ที่เจ้าหน้าที่ตั้งเพื่อขวางกั้นและสกัดการชุมนุมในเวลากลางคืน 

ยิ่งไปกว่านั้น จากการเฝ้าติดตามสถานการณ์จะพบว่าเจ้าหน้าที่ได้ยิงกระสุนยางรวมถึงเข้าค้นพื้นที่ภายในเคหสถานไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง ซึ่งในบริเวณพื้นที่อยู่อาศัยที่วิถีกระสุนทั้ง กระสุนยางและแก๊สน้ำตา พบเด็กอายุ 4 เดือนอาศัยอยู่   

ลักษณะการสลายหรือยุติการชุมนุม 

ตลอดเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ได้เข้ากระชับพื้นที่และการสลายการชุมนุมด้วยอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนไม่ต่ำกว่า 20 ครั้ง เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่การชุมนุมโดยปรับเปลี่ยนรูปแบบการกระชับพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เช่น การตั้งจุดตรวจขาเข้าและขาออกบริเวณรอบแยกดินแดง การปิดกล่องล้อมผู้ชุมนุมและกวาดจับผู้ชุมนุมเป็นจำนวนมาก การจับกุมก่อนเริ่มกิจกรรมด้วยการใช้ชุดหน่วยเคลื่อนที่เร็วและการกระชับพื้นที่และสลายการชุมนุมหลังเคอร์ฟิว โดยเฉพาะ สถานการณ์ที่ดินแดง ซึ่งพื้นที่การรวมกลุ่มของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ หรือทะลุแก๊ซที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องคือบริเวณแยกดินแดงจนถึงหน้าแฟลตดินแดง 1 ถนนวิภาวดีขาออกบริเวณกรมดุริยางค์ทหารบกและบริเวณตรงข้ามโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ซอยมิตรไมตรี 1 ตัดกับถนนวิภาวดีขาเข้า ทั้งการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุม เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มรวมตัวและปาสิ่งของเข้าไปในกรมดุริยางค์ทหารบก เช่นในวันที่ 5 กันยายน 2564   

asset

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงเพื่อกระชับพื้นที่ระหว่างการชุมนุมวันที่ 5 กันยายน 2564 โดยกลุ่มทะลุแก๊ซ ภาพโดย PPTV HD 36

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่มีการใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนขึ้นบนรถกระบะและรถจักรยานยนต์เพื่อปิดล้อมและเข้าจับกุม และมีการทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมไม่ต่ำกว่า 5 ครั้ง เช่น วันที่ 6 กันยายน 2564 โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วขับรถจักรยานยนต์จากทางลงท่านด่วนดินแดงและจากกรมดุริยางค์ทหารบก โดยมีผู้ชุมนุมถูกจับกุมไม่น้อยกว่า 18 คนและยึดรถจักรยานไม่น้อยกว่า 31 คัน ปากคำของเยาวชนวัย 17 ปีรายหนึ่งระบุว่า ตอนที่ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วขับรถมอเตอร์ไซด์มาจับกุมนั้น เขาถูกยิงด้วยกระสุนยางที่หลังและถูกตีที่บริเวณใบหน้า มีบาดแผลที่มุมปาก และจากรายงานสดของสำนักข่าวราษฎรเห็นว่า ตำรวจควบคุมฝูงชนจับกุมชายรายหนึ่งลงจากรถจักรยานยนต์ แม้ว่า ตำรวจในทีมอย่างน้อย 4 นายจะสามารถควบคุมตัวชายคนนี้ลงมาจากรถและกดตัวให้ลงมานั่งที่พื้นโดยไม่มีท่าทีว่าจะต่อสู้ แต่ตำรวจอีกนายหนึ่งกลับใช้กระบองฟาดเข้าที่ศีรษะ ภายหลังจับกุมผู้ชุมนุมได้ เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “บางครั้งเราต้องควบคุมสถานการณ์อย่างรวดเร็ว เพื่อคืนพื้นผิวการจราจร ต้องขออภัยสื่อมวลชนที่ไม่สามารถแจ้งเตือนทันได้อย่างทันท่วงที ยืนยันว่าเราปฏิบัติตามหลักสากล”  

asset

เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดเคลื่อนที่เร็วปิดล้อมและจับกุมผู้ชุมนุมในวันที่ 6 กันยายน 2564 ภาพโดย ไทยรัฐออนไลน์

ต่อมาเพียงหนึ่งวัน ในวันที่ 7 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมรถกระบะ 2 คัน พร้อมเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและอาวุธปืนกระสุนยางอยู่หลังรถกระบะ โดยไม่มีตราสัญลักษณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจ พุ่งเข้ามาในบริเวณที่ผู้ชุมนุมเริ่มรวมตัวบริเวณแยกดินแดง พุ่งชนผู้ชุมนุมซึ่งเพิ่งรวมตัวกันที่แยกดินแดง จับกุมอย่างน้อย 4 คน และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากกระดูกไหปลาร้าหัก 1 ราย และรถชนกันจนได้รับผลกระทบที่ปอด 1 ราย หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้กลับไปตั้งกำลังที่กรมดุริยางค์ จนกระทั่งเวลาหลังเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชน หน่วยเคลื่อนที่เร็ว ได้นั่งท้ายกระบะพร้อมถือโล่และปืนบรรจุกระสุนยางเข้าล้อมบริเวณแยกดินแดงอีกรอบ และขอตรวจบัตรผู้สื่อข่าวของสำนักงานราษฎร ตรวจค้นซอยในบริเวณแฟลตดินแดงอย่างละเอียด และมีการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้าไปในบ้านของผู้พักอาศัยในย่านดินแดงจนทำให้ได้รับความเสียหาย เช่น กระจกบ้านแตก เป็นต้น ส่งผลให้ในวันที่ 7 กันยายน 2564 มีผู้ถูกจับกุมทั้งสิ้น 15 คน เป็นเยาวชน เยาวชน 5 ราย อายุระหว่าง 14-17 ปี และยังพบว่าผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 4 ราย รวมเยาวชนหนึ่งราย ให้ข้อมูลยืนยันว่าไม่ได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมแต่อย่างใด แต่ถูกจับกุมระหว่างเดินทางกลับบ้าน 

asset

เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนชุดเคลื่อนที่เร็วพร้อมรถกระบะเข้าจับกุมผู้ชุมนุมในวันที่ 7 กันยายน 2564 ภาพโดย Mob Data Thailand

ในวันที่ 11 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่บริเวณหน้าสำนักงานเขตดินแดง ถนนมิตรไมตรี จนถึงบริเวณแยกดินแดง โดยก่อนหน้าเจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุมอิสระด้วยการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางตอบโต้ เมื่อถึงเวลาเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่ประกาศให้ผู้สื่อข่าวปิดถ่ายทอดสด และตรวจบัตรประจำตัวผู้สื่อข่าว และในวันดังกล่าว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีการจับกุมผู้ชุมนุม แพทย์อาสาและอาสากู้ภัย และคนที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมกว่า 78 คน ซึ่งถือเป็นการล้อมพื้นที่และจับกุมมากที่สุดในเดือนกันยายน ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติหน้าที่ 5 ราย และบาดเจ็บสาหัส 1 รายจากประทัดยักษ์บริเวณใบหน้าและตาขวา ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน 2564 ในเวลาหลังเคอร์ฟิว บริเวณซอยมิตรไมตรี 2 เจ้าหน้าที่ใช้รถเคลื่อนที่เร็วเข้าจับกุมผู้ชุมนุมภายหลังที่ยังคงรวมตัวในเวลาเคอร์ฟิว ส่งผลให้ประชาชนรวมถึงสื่ออิสระ 2 คนและแพทย์อาสา 1 คน รวมทั้งสิ้น 11 คน ถูกจับกุมพร้อมข้อหา นอกจากนี้ในวันที่ 19 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับยุทธวิธีเพื่อไม่ให้มีการรวมตัวกันของกลุ่มทะลุแก๊ซด้วยการเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกดินแดงด้วยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและตำรวจนครบาล

asset

เจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุมอิสระด้วยการยิงแก๊สน้ำตาในการชุมนุมวันที่ 11 กันยายน 2564 ภาพโดย ประชาไท

นอกจากนี้ยังมีเหตุการณ์ที่รถผู้ต้องขังขับชนผู้ชุมนุมในวันที่ 12 กันยายน 2564 ที่แยกดินแดง ในช่วงเวลาเคอร์ฟิว สำนักข่าว The Reporters รายงานสดเหตุการณ์ที่พบรถผู้ต้องขังของเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขับฝ่ามาด้วยความเร็วบริเวณพื้นที่การชุมนุมแยกดินแดงและชนเข้ากับผู้ชุมนุมรายหนึ่งทำให้ผู้ชุมนุมคนดังกล่าวปลิวไปกว่าสองเมตรด้วยแรงกระแทก และรถผู้ต้องขังก็ขับไปด้วยความรวดเร็ว ผู้ชุมนุมบาดเจ็บที่คาง ต้องใส่เฝือกที่ลำคอ โดยต่อมากู้ภัยได้นำส่งโรงพยาบาลราชวิถี ต่อมาในวันที่ 13 กันยายน 2564 ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกแถลงยืนยันว่าคนที่ขับชนคือเจ้าหน้าที่ตำรวจของนครบาลจริง และแถลงเหตุการณ์ว่า เจ้าหน้าที่จำต้องขับรถออกมาจากที่เกิดเหตุ เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมรุมทุบตีรถผู้ต้องขัง และหลังจากที่ชนแล้ว เจ้าหน้าที่ได้มองกลับไป และเห็นว่าผู้ที่ถูกชนไม่มีอาการร้ายแรง จึงขับต่อมาจอดที่ โรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า

assetasset

การสลายการชุมนุมในวันที่ 12 กันยายน 2564 ภาพโดย Mob Data Thailand

asset

การสลายการชุมนุมในวันที่ 13 กันยายน 2564 ภาพโดย Khaosod English

การสลายการชุมนุม 

  • มีการปิดกั้นการชุมนุมหรือไม่ หากมี ใช้วิธีการ/อุปกรณ์ใด  

แม้หน้าที่ของรัฐสามารถจำกัดสิทธิการชุมนุมโดยสงบได้ในบางกรณี แต่เจ้าหน้าที่รัฐต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าข้อจํากัดทั้งหลายนั้นถูกต้องตามหลัก ความชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมีความจําเป็นและได้สัดส่วนต่อเหตุแห่งการจํากัดสิทธิข้อใดข้อหนึ่งตามที่ได้ บัญญัติไว้ในมาตรา 21 รวมถึงการห้ามชุมนุมจะต้องถูกพิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้าย รัฐควรพิจารณาให้มีการชุมนุมก่อน และค่อยพิจารณาในภายหลังว่ามีความจําเป็นต้อง ใช้มาตรการใด ๆ ต่อการทําความผิดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมหรือไม่ แทนการกําหนดข้อจํากัดไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดในการชุมนุม

จากข้อมูลของตัวแทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตลอดการเคลื่อนไหวช่วงปี 2563 - ปัจจุบัน เจ้าหน้าที่มักตั้งตู้คอนเทนเนอร์ หรือ รั้วลวดหนาม โดยอ้างว่าเพื่อป้องกันการชุมนุมที่อาจก่อเกิดความวุ่นวาย และเป็นไปเพื่อการรักษาสถานที่สำคัญ โดยเฉพาะการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม ซึ่งมักจบลงด้วยการสลายการชุมนุม แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่าการชุมนุมนั้นเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สงบ จึงปิดกั้นและขัดขวางมิให้ชุมนุม 

ในวันที่ 4 กันยายน 2564 กลุ่มรีเด็ม (Redem) นัดหมายการรวมตัวที่สถานเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ ที่บริเวณถนนวิทยุและเคลื่อนขบวนไปที่ลานพระรูปรัชกาลที่ 6 ที่สวนลุมพินี เจ้าหน้าที่ตำรวจ โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้สัมภาษณ์ว่า แนวที่ตั้งเป็นไปเพื่อการรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ให้เกิดความเสียหายกับสถานที่

asset

การชุมนุมของกลุ่ม Redem วันที่ 4 กันยายน 2564 ภาพโดย Mob Data Thailand

ขณะที่บริเวณโดยรอบเส้นทางที่มุ่งหน้าสวนลุมพินีถูกปิดกั้นด้วยคอนเทนเนอร์ เช่น บริเวณโรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ  เจ้าหน้าที่วางแนวตู้คอนเทนเนอร์ปิดถนนราชดำริทั้งขาเข้าและขาออกแยกราชประสงค์ บริเวณสี่แยกถนนวิทยุ มุ่งหน้าไปสวนลุมพินี ปิดจราจรด้วยตู้คอนเทนเนอร์ชั้นเดียว ด้านบนเป็นแผงสังกะสีและลวดหนาม พร้อมตำรวจประจำการอยู่ด้านหลังตู้คอนเทนเนอร์ บริเวณซอยหลังสวน อีกทางหนึ่งที่จะเดินไปทะลุถนนราชดำริได้ก็ปิดการจราจรด้วยลวดหนามคลุมด้วยสแลนสีดำ ต่อมาตำรวจจราจรยังปิดการจราจรบนถนนพระราม1 ที่แยกเฉลิมเผ่าไม่ให้รถมาทางแยกราชประสงค์ได้ เรียกว่าปิดล้อมสถานที่นัดหมายรวมตัว ขณะที่ด้านหน้าสวนลุมพินีฝั่งลานพระรูปรัชกาลที่ 6 ตำรวจใช้เพียงรั้วเหล็กกั้นไม่ให้เข้า พร้อมตำรวจควบคุมฝูงชนยืนประจำการ 1 แถว ไม่ได้วางกำลังแน่นหนามากนัก 

นอกจากนี้เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มเคลื่อนขบวนและผ่านโรงพยาบาลตำรวจ ที่สี่แยกราชประสงค์ เจ้าหน้าที่นำลวดหนามมาคล้องรั้วเหล็ก พร้อมรถฉีดน้ำแรงดันสูงและตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเข้าประจำการ

assetasset

ภาพตู้คอนเทนเนอร์ที่ถูกนำมาจัดตั้งในวันที่ 4 กันยายน 2564 รับการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม บริเวณสี่แยกถนนวิทยุ (ภาพที่ 1 - 2) 

assetasset

ภาพรั้วลวดหนามและแผงกั้น รวมถึงรถฉีดน้ำแรงดันสูงและเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนพร้อมอุปกรณ์ควบคุมฝูงชนครบมือ ในวันที่ 4 กันยายน 2564 รับการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม บริเวณ โรงพยาบาลตำรวจ แยกราชประสงค์  (ภาพที่ 3 - 4) 

asset

เจ้าหน้าที่ควบคุม ในวันที่ 4 กันยายน 2564 รับการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม บริเวณ ลานพระรูปรัชกาลที่ 6 สวนลุมพินี  (ภาพที่ 5) 

ภาพที่ 1 - 5 อุปกรณ์ที่เจ้าหน้าที่นำมาจัดตั้งในวันที่ 4 กันยายน 2564 รับการชุมนุมของกลุ่มรีเด็ม บริเวณสี่แยกถนนวิทยุมุ่งหน้าไปสวนลุมพินี

นอกจากตั้งเครื่องกีดขวางและปิดกั้นการจราจรบางส่วนแล้ว เจ้าหน้าที่ยังตั้งด่านตรวจ ที่ถนนสาธร มุ่งหน้าแยก วิทยุ ตรงข้าม ตึกบางกอก ซิตี้ ทาวเวอร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่วนตรวจ โดยสุ่มตรวจมอเตอร์ไซด์ต้องสงสัย โดยตรวจกระเป๋า ตรวจใต้เบาะรถ และในกล่องส่งของของพนักงานขับรถส่งอาหาร  

การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับแผนการปฏิบัติการอีกครั้งในพื้นที่ดินแดง ด้วยการยึดพื้นที่แยกดินแดงและตั้งด่านตรวจขาเข้าแยกหลายจุด ซึ่งส่งผลให้ตำรวจควบคุมฝูงชนและตำรวจตระเวนชายแดนเริ่มเข้าพื้นที่ถนนวิภาวดีขาออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 16.00 น. ก่อนการรวมตัวของกลุ่มทะลุแก๊ซ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในชุดควบคุมฝูงชน ตำรวจตระเวนชายแดนและตำรวจจราจร แสดงกำลังปักหลักใต้ทางด่วนดินแดง ทั้งนี้ยังมีรถตำรวจจอดเรียงยาวบริเวณถนนวิภาวดีขาออก ตั้งแต่แยกดินแดงไป จนถึงกรมดุริยางค์ทหารบก รวมทั้งตำรวจยังมีการตั้งจุดตรวจตามถนนขาเข้าแยกดินแดงเช่น แยกประชาสงเคราะห์และถนนราชวิถี อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้ชุมนุมอิสระได้รวมตัวที่แยกนางเลิ้ง ขณะที่เจ้าหน้าที่ตั้งแนวรั้วลวดหนามบริเวณศาลกรมหลวงชุมพร และวางตู้คอนเทนเนอร์บนสะพานชมัยมรุเชฐ ผู้ชุมนุมอิสระขว้างปาสิ่งของไปบริเวณแนวและเจ้าหน้าที่มีการยิงแก๊สน้ำตาเพื่อไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใกล้แนว ต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามี มีผู้ถูกจับกุมในวันที่ 19 กันยายน 2564 ทั้งสิ้น 22 ราย และถูกทำร้ายจากเจ้าหน้าที่ชุดจับกุม 11 คน  โดยเยาวชน 3 ราย ถูกยิงด้วยกระสุนยาง และ 2 รายต้องถูกส่งตัวให้แพทย์ทำการรักษาจากบาดแผลที่ศีรษะและสะบักขวาจากการถูกทำร้ายขณะถูกจับกุม โดยส่วนใหญ่เป็นการสกัดจับภายหลังการการชุมนุม 

asset

การชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับแผนการปฏิบัติการอีกครั้งในพื้นที่ดินแดง ด้วยการยึดพื้นที่แยกดินแดง ภาพโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

อีกกลุ่มที่เคลื่อนไหวที่ถูกสลายการชุมนุมทุกวันในช่วงปลายเดือนกันยายน 2564 คือ กลุ่มทะลุฟ้าที่เคลื่อนไหวหลังมีความพยายามที่จะเดินเท้าไปที่ทำเนียบรัฐบาล ช่วงวันที่ 25-29 กันยายน 2564 ภายใต้ชื่อกิจกรรม “หยุดราชวงศ์ประยุทธ” โดยจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี   

assetasset

การสลายการชุมนุมในวันที่ 25 กันยายน 2564 ภาพโดย Mob Data Thailand

อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่วางแนวสิ่งกีดขวางตั้งแต่บริเวณแยกนางเลิ้งทั้งขาเข้าและขาออกทำเนียบรัฐบาล โดยเป็นลวดหนามหีบเพลงและแผงเหล็กหนึ่งชั้น ถัดไปด้านในห่างประมาณ 15 เมตรมีรั้วอีกหนึ่งชั้นด้านหลังเป็นรถฉีดน้ำแรงดันสูง  ขณะที่โดยรอบทำเนียบรัฐบาลเจ้าหน้าที่วางลวดหนามหีบเพลง คลุมด้วยแสลง โดยตลอดการทำกิจกรรม 5 วันที่กลุ่มทะลุฟ้าพยายามจะเคลื่อนไหวไปทำเนียบรัฐบาลนั้นถูกสลายการชุมนุมด้วยอุปกรณ์ควบคุมฝูงชน เช่น รถฉีดน้ำแรงดันสูง ที่บรรจุทั้งน้ำที่มีสีเพื่อระบุตัวตนในพื้นที่การชุมนุมและน้ำผสมสารเคมี ที่ทำให้ระคายเคือง ขระเดียวกันเจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่และการกวาดจับผู้ชุมนุมในพื้นที่โดยใช้ชุดเคลื่อนที่เร็ว ซึ่งทำให้มีการจับกุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 50 คน แบ่งเป็นการชุมนุมวันที่ 25 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่จับกุมผู้ชุมนุมกว่า 15 คนเป็นเยาวชน 9 คน วันที่ 27 ตุลาคม 2564 มีผู้ถูกจับกุม 26 คน แบ่งเป็นเยาวชน 4 คน วันที่ 28 กันยายน 2564 มีผู้ถูกจับกุม 9 คน เป็นเยาวชน 2 คน และวันที่ 29 กันยายน 2564 ไม่มีการจับกุมแต่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมด้วยรถน้ำแรงดันสูง และแก๊สน้ำตา   

  • ลักษณะการวางกำลังของเจ้าหน้าที่ ระยะเวลาที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม  

แม้หลักการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะมิได้ระบุอย่างชัดเจนถึงระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ต้องอนุญาต ให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ก่อนจะยุติหรือสลายการชุมนุม แต่ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุในส่วนของการใช้อาวุธที่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่า อุปกรณ์เหล่านี้ (แก๊สน้ำตา หัวฉีดน้ำซึ่งหมายรวมถึงรถฉีดน้ำ อาวุธปืนซึ่งหมายรวมถึงการใช้อาวุธปืนที่ยิงด้วยกระสุนยาง) ควรถูกนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้ายหลังจากที่มีการตักเตือนด้วยวาจาและ ‘ให้โอกาสที่เหมาะสมแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมในการสลายการชุมนุม’ และโดยหลักการที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติเมื่อมีการสลายการชุมนุมหรือใช้กำลังในการยุติการชุมนุม ควรต้องสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความจำเป็น หลักความได้สัดส่วน หลักการใช้ความระมัดระวัง และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยพลการได้ ดังนั้น มาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จึงวางหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานซึ่งดูแลการชุมนุมและอนุญาตให้ศาลเข้ามาทบทวนคำสั่งให้ยุติการชุมนุมได้   

ยิ่งไปกว่านั้น แม้ความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุถึงสิทธิในระหว่างที่มีสถานการณ์ฉุกเฉินว่าสิทธิการชุมนุมโดยสงบเป็นสิทธิที่รัฐภาคีอาจเลี่ยงพันธกิจของตนได้ อย่างไรก็ตามรัฐต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าการชุมนุมนั้นหรือการรวมกลุ่มใดๆ ก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของชาติและต้องสอดคล้องกับเงื่อนไขตามมาตรา 4 ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองซึ่งระบุชัดเจนว่าการประกาศภาวะสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นอย่างเป็นทางการแล้ว รัฐภาคีอาจใช้มาตรการที่เป็นการเลี่ยงพันธกรณีภายใต้กติกานี้”เท่าที่จำเป็น”ตามความฉุกเฉินของสถานการณ์และต้องไม่ขัดแย้งต่อพันธกรณี อื่นๆของตน ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ และไม่เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงเหตุแห่งเชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา หรือเผ่าพันธุ์ทางสังคม

นับแต่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นเวลากว่า 1 ปี  6 เดือน พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ถูกงดการบังคับใช้ หลักเกณฑ์ต่างๆ จึงถูกระงับไม่บังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุม แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ยังคงกล่าวอ้างและระบุว่าการรวมกลุ่มหรือการชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย บางครั้งระบุว่าการรวมกลุ่มนั้นผิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และดำเนินการสลายการชุมนุมด้วยการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งมีการผสมแก๊สน้ำตา มีการยิงกระสุนยางและยิงแก๊สน้ำตา เพื่อยุติการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมโดยทันที หรือทำการปิดล้อมและจับกุม โดยเฉพาะในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนทะลุแก๊ซรวมตัวอยู่ มีการฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าหาผู้ชุมนุมโดยตรง เข้ากระชับพื้นที่ และเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกเรียกว่าหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าจับกุมผู้ชุมนุม  

ในการดำเนินการดังกล่าว แม้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ซึ่งในที่นี่คือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวของผู้ชุมนุมไม่อาจทำให้ผู้ชุมนุมหลุดพ้นจากความคุ้มครองของข้อบทที่ 21 ตามกติการะหว่างประเทศได้

มีความเป็นไปได้ที่การชุมนุมโดยสงบดังกล่าวอาจถูกยั่วยุให้เกิดปฏิกิริยาเชิงต่อต้านหรือแม้แต่การใช้ความรุนแรงจากประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุผลในการห้ามหรือจำกัดการชุมนุมได้

ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่มักใช้รูปแบบการจับกุมด้วยชุดเคลื่อนที่เร็วเพื่อปิดล้อม (kettling) ผู้ชุมนุมในพื้นที่และกวาดจับผู้ชุมนุม รวมถึงการตั้งด่านตรวจ เพื่อตรวจค้น นับตั้งแต่การสลายการชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2564 จนถึงช่วงสลายการชุมนุมในช่วงสิงหาคม 2564 ที่ระยะเวลาการประกาศให้ยุติการชุมนุมก่อนการสลายการชุมนุมและการกระชับพื้นที่มักเกิดขึ้นในระยะสั้น โดยมีลักษณะประกาศแจ้งเตือนว่าการรวมกลุ่มนั้น ‘ผิดกฎหมาย’ หรือ ‘ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน’ ก่อนจะสลายการชุมนุมโดยเริ่มจากการฉีดน้ำจากเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งมีการผสมแก๊สน้ำตา ฉีดใส่ผู้ชุมนุม มีการยิงกระสุนยางในระยะประชิด และจับกุมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือไม่สามารถหลบหนีได้ทันจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวทันที 

ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การปิดล้อม (Containment หรือ Kettling) อาจกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและได้ สัดส่วนแก่การกระทำเท่านั้น เพื่อที่จะแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือภัยที่ใกล้จะถึงจากกลุ่มคนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งการปิดล้อมนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเท่าที่จะเป็นไปได้ การปิดล้อมที่กระทำโดยไม่แยกแยะหรือใช้เพื่อลงโทษ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และอาจละเมิดสิทธิอื่นด้วย เช่น เสรีภาพในการคุมขังโดยพลการ และเสรีภาพในการโยกย้าย แต่จากผลกระทบจากการกวาดจับผู้ชุมนุมสะท้อนการปฏิบัติการที่ขาดความจำเป็นและความได้สัดส่วนอย่างชัดเจน 

นอกจากนี้ ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ยังระบุชัดว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่สามารถปฏิบัติงานในการชุมนุมได้ ต้องผ่านการอบรมการควบคุมการชุมนุม รวมถึงมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่เกิดขั้นในหลายครั้งๆ ตั้งแต่ช่วงการชุมนุมเดือนสิงหาคมที่เริ่มมีการปิดกล่องและกวาดจับผู้ชุมนุม ในวันที่ 6 กันยายน 2564 ที่บริเวณหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าปิดล้อมและจับกุม โดย ขณะที่รถยนต์ยังคงสัญจรไปมา สื่อพลเมืองสำนักข่าวราษฎรได้ถ่ายทอดสดขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าล้อมจักรยานยนต์คันหนึ่งที่ขับผ่านและใช้ตะบองฟาดพร้อมทั้งจับตัวบุคคลดังกล่าวและกดลงกับพื้นและมีเจ้าหน้าที่ยังคงใช้ตะบองฟาดแม้บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีท่าทีขัดขืนเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ยังมีคลิปเจ้าหน้าที่ใช้ปืนยิงแก๊สน้ำตาในแนวระนาบอย่างชัดเจน สะท้อนการใช้อาวุธของเจ้าหน้าที่ที่มาตรงตามแนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความรุนแรงน้อยกว่าในการบังคับใช้กฎหมาย (Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) ออกโดย สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ซึ่งการใช้ปืนกระสุนยางต้องเล็งไปยังช่วงล่างของร่างกายลงไป และกระสุนแก๊สน้ำตาต้องถูกใช้จากระยะไกล และต้องเล็งให้กระสุนเป็นแนววิธีโค้ง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564 พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลร่วมสาธิตการยิงแก๊สน้ำตาให้กับสื่อมวลชนไทย โดยเป็นการยิงในแนววิถีโค้งมากกว่า 30 องศา พร้อมยืนยันว่า การยิงแก๊สน้ำตานั้นไม่เป็นอันตราย พร้อมทั้งปฏิเสธกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ว่าผู้ชุมนุมถูกกระสุนแก๊สน้ำตายิงเข้าที่ใบหน้าจนบาดเจ็บสาหัสนั้นไม่เป็นความจริง พร้อมย้ำว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามหลักสากล นอกจากนี้การใช้กระบองตามแนวปฏิบัติควบคุมฝูงชนใช้เพื่อวัตถุประสงค์ของการป้องกันตัว มิใช่ใช้เป็นอาวุธโจมตี ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนจากรายงานสดว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้กระบองฟาดที่บริเวณลำตัวของบุคคลที่ขับขี่จักรยานยนต์ที่ขับผ่านมาบริเวณปฏิบัติหน้าที่ขณะที่บุคคลดังกล่าวไม่มีท่าทีขัดขืนแต่อย่างใด  

asset

ในวันที่ 6 กันยายน 2564 ที่บริเวณหน้ากรมดุริยางค์ทหารบก ถนนวิภาวดีฝั่งขาออก เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าปิดล้อมและจับกุม ภาพโดย เยาวรุ่น ทะลุแก๊ส

กรณีการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงและแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม นั้นเกิดขึ้นน้อยลงในเดือนกันยายน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปรับแผนการปฏิบัติการไปเป็นการใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าจับกุมผู้ชุมนุมแทน พร้อมทั้งพบปืนชนิดใหม่จากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนซึ่งบรรจุลูกแก้วขนาดใหญ่เมื่อปฏิบัติการกระชับพื้นที่บริเวณพื้นที่ชุมชนชาวแฟลตดินแดง และ ซอยมิตรไมตรี  

หลังจากชุมชนที่พักอาศัยอยู่บริเวณดินแดงได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง โดยตัวแทนผู้พักอาศัยอยู่ในพื้นที่ดินแดงพยายามร้องเรียนถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ในวันที่ 24 สิงหาคม 2564 นายประสงค์ หอมสนั่น กรรมการชุมชนเคหะชุมชนแฟลตดินแดง 1-17 เข้ายื่นหนังสือเรื่องกรณีกลุ่มชาวบ้านที่แฟลตดินแดงที่ได้รับความเดือดร้อนจากการชุมนุมและเหตุปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจและผู้ชุมนุม ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแหง่ชาติ โดยเรียกร้องให้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนรวมถึงเรียกร้องถึงผู้รับผิดชอบให้มาตรวจสอบความเสียหายเนื่องจาก ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมาชุมชนได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากผู้ชุมนุมและจากพฤติกรรมและการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและผู้บังคับบัญชา  

อย่างไรก็ดี ในเดือนกันยายน เจ้าหน้าที่ได้มีการปรับแผนการปฏิบัติการจากที่กล่าวมาข้างต้น แต่การกวาดจับผู้ชุมนุมไปถึงในพื้นที่ชุมชนพร้อมทั้งใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตาในพื้นที่ชุมชนยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่อง เช่น การชุมนุมในวันที่ 11 กันยายน 2564 จากการสอบถามผู้อยู่อาศัยบริเวณดังกล่าว ระบุว่า การสลายการชุมนุมไม่มีการแจ้งเตือนและยิงแก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง เจ้าของร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ระบุว่าบ้านของตนได้รับผลกระทบจากการยิงแก๊สน้ำตาส่งผลให้กันสาดหลังคาร้านทะลุ นอกจากนี้มีผู้อาศัยในเขตชุมชนพบลูกแก้วขนาดลูกมีขนาดใหญ่กว่าลูกแก้วของผู้ชุมนุมอีก ต่อมา ในวันที่ 17 กันยายน 2564 สำนักข่าววอยซ์ทีวี รายงานว่าพบปืน FN303 ซึ่งคาดว่าบรรจุลูกแก้วขนาดใหญ่ จากเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน และในวันที่ 23 กันยายน 2564 วอยซ์ทีวีรายงานอีกครั้งว่าพบลูกแก้วขนาดใหญ่วิถียิงมาจากเจ้าหน้าที่ซึ่งถูกใช้ในการกระชับพื้นที่บริเวณถนนมิตรไมตรี ที่มวลชนอิสระหรือกลุ่มทะลุแก๊สรวมตัวกัน โดยลูกแก้วที่พบดังกล่าวไม่ได้ถูกระบุในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเครื่องมือควบคุมฝูงชน 

asset

การสลายการชุมนุมในวันที่ 11 กันยายน 2564 ภาพโดย ข่าวสด

ขณะเดียวกัน ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 เป็นต้นมาเดียวกัน ผู้ถูกจับกุมมักได้รับบาดเจ็บในระหว่างการจับกุม ยกตัวอย่าง ในวันที่ 19 กันยายน 2564 จากการชุมนุมดาวกระจายที่บริเวณแยกนางเลิ้ง และ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยกลุ่มอิสระหรือกลุ่มทะลุแก๊ซ ข้อมูลของศูนย์ทนายฯ รายงานว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจับกุมผู้ชุมนุมและบางส่วนถูกทำร้ายระหว่างโดนจับกุม รวมไปถึงเยาวชน โดยในรายงานมีเยาวชนอายุ 15 ปี และ 16 ปี ถูกทำร้าย  โดยหลังถูกจับกุมเยาวชนอายุ 15 ปี ได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลแตกที่ศีรษะ ต้องนำส่งโรงพยาบาลตำรวจก่อน เมื่อที่ปรึกษาทนายเข้าพบในภายหลัง โดยร่างกายมีบาดแผลจากการถูกยิงกระสุนยางที่ใบหน้าซีกซ้ายและเหนือข้อเท้าและแผลที่ศีรษะจากการถูกตีจนต้องเย็บบาดแผล ขณะที่เยาวชนอายุ 16 ปี ซึ่งถูกควบคุมตัวไปที่ สน.พหลโยธิน ที่ปรึกษากฎหมายพบว่า มีบาดแผลขนาดครึ่งฝ่ามือที่สะบักขวา เลือดออกเล็กน้อย และแผลขนาดเล็กที่เอวด้านขวา เยาวชนดังกล่าวระบุว่าถูกรุมทำร้าย ทั้งมีรอยถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ข้อนิ้วมือขวา และเหนือศอกซ้าย ที่ปรึกษากฎหมายจึงขอให้ตำรวจส่งไปรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาลตำรวจอีกราย 

asset

เจ้าหน้าที่ปะทะกับผู้ชุมนุมอิสระในการชุมนุมวันที่ 19 กันยายน 2564 ภาพโดย The Standard

ส่วนเงื่อนไขในการสลายการชุมนุมตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า เมื่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ไม่มีผลบังคับใช้ เงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่มักอ้างถึงเพื่อสลายการชุมนุมจึงไม่ชัดเจน และระยะหลังไม่มีการกล่าวอ้างถึง ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้นจากผู้ชุมนุม แต่อ้างว่าการรวมกลุ่มและชุมนุมกระทำผิดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และทำการสลายการชุมนุมโดยทันที โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาให้ผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมหรือใช้มาตการอื่นที่ได้สัดส่วนมากกว่า กฎหมายภายในซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้สลายการชุมนุมนั้นก็ยังไม่ได้ระบุไว้อย่างแน่ชัด อ้างอิงจากการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สั่งให้สลายการชุมนุม ซึ่งมีการระบุเพียงว่าผู้ชุมนุมกระทำผิดตามพระราชกำหนดฯ การกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ไม่อาจทำให้ผู้ชุมนุมหลุดพ้นจากการคุ้มครองของข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศได้ อีกทั้งการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ที่ถึงแม้เป็นอาวุธที่มีระดับความอันตรายต่ำ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งกระสุนยางซึ่งถูกเน้นย้ำเสมอว่าไม่ควรนำมาใช้ในการควบคุมการชุมนุมกลับถูกใช้เป็นมาตรการแรก ไม่ใช่มาตรการสุดท้ายหลังกล่าวตักเตือนด้วยวาจาและ ‘ให้โอกาสที่เหมาะสมในการสลายการชุมนุม’ การยิงกระสุนยางถูกใช้โดยไม่จำกัดการใช้เฉพาะกับบุคคลที่เป็นเป้าหมายภายใต้สภาวการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างเคร่งครัด ‘เพื่อต่อต้านภัยต่อชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสอันใกล้จะถึง’ หากแต่เป็นการยิงอย่างต่อเนื่อง หรือยิงแบบอัตโนมัติ และยิงต่อผู้ที่สัญจรไปมาโดยยังไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวจะมุ่งร้ายหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของบุคคลใด การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ในการใช้กำลังเข้าจับกุมนั้น ตามความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้ กฎหมายไม่อาจใช้กำลังมากเกินสัดส่วนต่อสถานการณ์การสลายการชุมนุม หรือเพื่อจับกุมหรือสนับสนุนการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องสงสัยโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายภายในประเทศต้องไม่ให้อำนาจหน้าที่โดยกว้างขวางต่อเจ้าหน้าที่ เช่น ให้อำนาจในการใช้กำลังโดยไม่ยึดหลักความจำเป็น หรือไม่กำหนดมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอเมื่อต้องจับกุม เช่น การใช้ตะบองฟาดผู้จับกุม หรือการยิงกระสุนบางที่บริเวณหลัง จากข้อมูลชี้ให้เห็นว่าข้อมูลที่ผู้ถูกจับกุมให้มานั้น ระบุไปในแนวทางเดียวกันว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมและผู้ที่มิได้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างไม่คำนึงถึงหลักความจำเป็น หลักการใช้กำลังโดยได้สัดส่วน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก รวมถึงผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุม ส่วนหนึ่งเป็นเด็กและเยาวชน เช่น กรณีวันที่ 11 กันยายน 2564 มีผู้ถูกจับกุมถึง 18 คนที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุม เช่น ประชาชนที่มารับแจกอาหารที่เต็นท์แจกอาหาร, เป็นคนขับวินรถจักรยานยนตร์รับจ้าง, คนขับแท็กซี่, คนขายเฉาก๊วย, คนขายอาหารบริเวณม็อบเท่านั้น และมีหนึ่งรายที่เป็นทนายความซึ่งกำลังเดินทางกลับหลังจากการทำงาน ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process of Law) ทั้งการไม่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการจับกุมหรือมีอำนาจช่วยในการจับกุม อีกทั้งการจับกุมโดยที่ไม่มีหมาย

นอกจากนี้ในเดือนกันยายน ผู้ชุมนุมอิสระหรือกลุ่มทะลุแก๊ซยังคงใช้อุปกรณ์เช่น ประทัดยักษ์ ระเบิดปิงปอง พลุไฟ พลุเพลิง ลูกแก้ว และหนังสติก ในการตอบโต้เจ้าหน้าที่ ขณะที่เจ้าหน้าที่มีการใช้อุปกรณ์ชนิดใหม่อย่างปืน FN 303 ที่บรรจุกระสุนที่มีลักษณะทรงกลมอย่างลูกแก้วที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งเมื่อถูกใช้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่มีการดำเนินคดีโดยแสดงหมายจับภายหลังการชุมนุมต่อผู้ที่ทำลายทรัพย์สินราชการ เช่นทุบกล้องวงจรปิด เผาป้อมจราจร รวมถึงการพ่นสเปรย์และการเผาซุ้มที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งในเหตุการณ์หลังเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งมีเยาวชนเป็นถูกกล่าวหาอีกด้วย  

โดยเหตุเพลิงไหม้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ รัชกาลที่ 10 ขึ้นอย่างน้อย 3 แห่ง ได้แก่ วันที่ 12 กันยายน 2564 ที่แยกดินแดง ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณทางลงทางด่วนดินแดงถูกเผาในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มอิสระ ทะลุแก๊ซ โดยเจ้าหน้าที่นำรถน้ำแรงดันสูงเข้าดับเพลิงได้ทัน วันถัดมาคือวันที่ 13 กันยายน 2564 เกิดเพลิงไหม้พระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นถูกเพลิงไหม้ และในวันที่ 14 กันยายน 2564 ซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้ากระทรวงแรงงานซึ่งอยู่ในพื้นที่ดินแดงซึ่งผู้ชุมนุมทะลุแก๊ซกำลังชุมนุมอยู่บริเวณดังกล่าว ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมและดำเนินคดีได้อย่างรวดเร็ว โดยเจ้าหน้าที่ได้จับกุม เด็กชายนัท (นามสมมติ) อายุ 14 ปี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าควบคุมตัวและค้นบ้านทั้งที่ไม่มีหมายค้นและไม่มีหมายจับ ต่อมาจึงแจ้งข้อกล่าวหา 6 ข้อหา โดยข้อหาหลักคือ ข้อหาหมิ่นประมาทอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217 รวมถึงฝ่าฝืนข้อกำหนด เรื่องการร่วมชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค และออกนอกเคหสถานระหว่างเคอร์ฟิว ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และพระราชบัญญัติโรคติดต่อ 2558 ซึ่งปัจจุบัน เด็กชายนัทยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำเนื่องจากไม่มีผู้ปกครองมาประกันตัว ส่วนอีกสองกรณีคือวันที่ 13 และ 14 กันยายน 2564 เจ้าหน้าที่จับกุมข้อหาวางเพลิง โดยไม่ดำเนินคดีตามมาตรา 112 ในคดีที่สภ.ขอนแก่น และ ข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือ ตามมาตรา 112 ในคดีที่สถานีตำรวจดินแดงตามลำดับ   

แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ในการชุมนุม  

  • นโยบาย-ถ้อยแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.บชน.) (ถ้ามี) ต่อกรณีการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน 

ความสำคัญของสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์การชุมนุม ได้รับการคุ้มครองและรับรองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อ การใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบของบุคคล สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์การชุมนุมจึงต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามพันธกรณีที่มีในกติการระหว่างประเทศฯและโดยการตีความของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 37 ด้วย ซึ่งหมายความว่า การสังเกตการณ์การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย จะไม่ถูกตอบโต้หรือคุกคาม อุปกรณ์ต้องไม่ถูกยึดหรือทำให้เสียหาย แม้ว่าการชุมนุมนั้นๆจะถูกประกาศว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่ต้องถูกสลายก็ไม่เป็นการตัดสิทธิในการสังเกตการณ์     

อย่างไรก็ตามตลอดเดือนกันยายนจากการลงสังเกตการณ์และการติดตามการลงพื้นที่ของสื่อในพื้นที่ โดยเฉพาะการจำกัดพื้นที่การทำงานสื่อ ทั้งการกันสื่อให้อยู่ในแนวฟุตบาท การตรวจบัตรสื่อหลังเวลาเคอร์ฟิว รวมไปถึงการจับกุมดำเนินคดีกับสื่อพลเมืองซึ่งในหลายๆการชุมนุม โดยเฉพาะในพื้นที่ดินแดง ซึ่งสอดคล้องกับความพยายามในการคัดแยกสื่อที่ไม่มีสังกัดออกจากสื่อทั่วไปที่มีสังกัด  ขณะเดียวกันการใช้ความรุนแรงในการปราบปรามผู้ชุมนุมจากเจ้าหน้าที่มีมาตรการ ที่เข้มข้นขึ้นด้วย 

จากวันที่ 25 สิงหาคม ที่องค์กรสื่อหารือร่วมกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลเรื่องสัญลักษณ์ของสื่อ โดยให้กำหนด สีเขียวสะท้อนแสงเป็นสัญลักษณ์สื่อมวลชน พร้อมปลอกแขนที่ออกโดยองค์กรสื่อ อย่างไรก็ตามตลอดเดือนกันยายน จุดที่สื่ออยู่ถึงแม้จะเป็นบริเวณเจ้าหน้าที่มักประกาศแจ้งเตือนให้เป็นพื้นที่ของสื่อเช่น บริเวณฟุตบาท แต่สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์กลับถูกยิงเลเซอร์สีน้ำเงิน รวมไปถึงการเล็งกระสุนยางมาบริเวณที่สื่ออยู่ เช่นกรณีวันที่ 13 กันยายน 2564 สื่อกระแสหลักที่ทำข่าวบริเวณหน้ากรมดุริยางค์ รายงานว่ามีการยิงกระสุนยางเข้ามาบริเวณดังกล่าวเพื่อไล่สื่ออกจากพื้นที่คือประกาศไปด้วยว่าให้สื่อออกจากพื้นที่

ยิ่งไปกว่านั้นในช่วงวันที่มีการกวาดจับ เช่นวันที่ 11 กันยายน 2564 สื่อถูกให้ปิดการถ่ายทอดสดถึง 2 ครั้ง ที่แยกมิตรไมตรี และ แยกดินแดง โดยอ้างถึงสถานการณ์เคอร์ฟิว และมีการประกาศว่าถ้าไม่ออกจากพื้นที่จะควบคุมตัว และในวันที่ 13 กันยายน 2564 ที่สื่ออิสระ ถูกควบคุมตัว คือสำนักข่าวอิสระ และ แอดมินเพจปล่อยเพื่อนเรา จากสัมภาษณ์  The Reporters สัมภาษณ์ผู้สื่อสำนักข่าวราษฎร ผู้สื่อข่าวกล่าวว่าตอนแสดงตัว เจ้าหน้าที่มีการสอบถาม และมีลักษณะการถามหาตัวสำนักข่าวราษฎร ต่อมาเมื่อเขาแสดงตนและถูกถามถึงบัตรสื่อและใบอนุญาตทำงานหลัง เวลาเคอร์ฟิว ในส่วนนี้เขาตอบว่ากำลังดำเนินการ ส่งผลให้ถูกควบคุมตัว และถูกแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันชุมนุมและ ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว รวมถึงในวันที่ 15 กันยายน 2564  ช่วงเวลาเคอร์ฟิว ที่แยกมิตรไมตรี เจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเข้ากระชับพื้นที่และทีมงานของสื่อพลเมือง จากเพจกะเทยแม่ลูกอ่อน โดยขณะนั้นทีมงานคนดังกล่าวมีบัตรประจำตัวสื่อมวลชน และได้ขอใบอนุญาตออกนอกเคหสถานในช่วงเวลา 21.00 – 04.00 น.ซึ่งต่อมาทีมงานถูกตั้งข้อหาได้แก่ ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามความมาตรา 9  แห่งพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมจัดกิจกรรมมรวมกลุ่มที่มีบุคคลจํานวนรวมกันมากกว่า 25 คนในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด และฝ่าฝืนข้อกำหนดของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เรื่องการออกนอกเคหะสถานในเวลาห้าม

asset

การชุมนุมวันที่ 13 กันยายน 2564 สื่ออิสระถูกควบคุมตัว ภาพโดย @KhaosodOnline

ขณะที่ในวันที่ 14 กันยายน 2564  พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุถึง การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนในการรายงานข่าวการชุมนุม ว่ากรณีฟรีแลนซ์ ยูทูบเบอร์ ทางสมาพันธ์สื่ออยู่ ระหว่างจัดระเบียบอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทั้งสื่อไทยและสื่อต่างประเทศต้องปฏิบัติตามสื่อมวลชนโดยทั่วไป มีการยืนยันต้นสังกัด สัญลักษณ์บอกฝ่าย ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์ทำข่าว เนื่องจากในพื้นที่มีตำรวจ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แพทย์พยาบาล หน่วยกู้ภัย นอกเหนือจากนี้ ยังมีสื่อมวลชนอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อรายงานข่าว หากไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้เป็นสื่อมวลชน จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนการเข้ามาสังเกตการณ์ต้องมีการทำหนังสือส่งมาให้รับทราบ ทั้งนี้ เพื่อป้องกัน ไม่ให้มีการแฝงตัว ของมือที่สามเข้ามาก่อเหตุความวุ่นวาย