ภาพรวมการชุมนุมช่วงวันที่ 7 สิงหาคม ถึง 15 สิงหาคม 2564
กลุ่มผู้จัด สถานที่ เวลา ผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยประมาณ จำนวนเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุม
นับตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและประชาชนทั่วไปเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนกระทั่งปัจจุบัน โครงการ ม๊อบ ดาต้า ประเทศไทย (Mob Data Thailand) พบว่ามีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 1,852 ครั้ง ในทั้ง 77 จังหวัด แม้จะมีการประกาศใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินมาตั้งแต่วันที่ 25 มีนาคม 2563 อีกทั้งยังมีข้อกำหนด ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง และผู้ว่าราชการจังหวัด ห้ามการรวมกลุ่มและชุมนุมอันเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อระบาดของโรค ห้ามการชุมนุมหรือรวมกลุ่มเกินกว่า 5 คนขึ้นไป ด้วยวัตถุประสงค์ทั้งรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากยังคงรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐเร่งแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น วิพากษ์วิจารณ์ถึงความล่าช้าในการจัดสรรวัคซีน และผลกระทบจากการใช้มาตรการล็อคดาวน์ประเทศและบางพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงตั้งแต่ช่วงเวลา 21.00 – 04.00 น. ของทุกวันอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ตลอดช่วงวันที่ 7-15 สิงหาคม 2564 หลายกลุ่มได้ประกาศทำกิจกรรมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง รวมทั้งกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) กลุ่มทะลุฟ้า และกลุ่มจัดกิจกรรมคาร์ม๊อบ (Car Mob) รวมทั้งสิ้น 35 ครั้ง ในบริเวณอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย แยกราชประสงค์ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ และสามเหลี่ยมดินแดง เฉพาะกิจกรรมคาร์ม๊อบ มีการนัดหมายเพื่อขับเคลื่อนกิจกรรมร่วมกันอย่างน้อย 35 แห่ง ใน 28 จังหวัด อย่างไรก็ตาม ผู้จัดกิจกรรมในจังหวัดพัทลุงและสุราษฎร์ธานี ได้ประกาศยกเลิกกิจกรรมก่อนกำหนด เนื่องจากกังวลเรื่องความปลอดภัยของผู้จัดและผู้เข้าร่วมกิจกรรม
การชุมนุมวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ณ แยกปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
การชุมนุมวันที่ 13 สิงหาคม 2564 จาก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษากรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
ลักษณะการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการยุติการชุมนุม จำนวนและตัวอย่างของผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุม รวมทั้ง เด็กและเยาวชน สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ (ถ้ามี)
แม้ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ซึ่งออกตามความในข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การสลายการชุมนุมนั้นอาจทำได้ในกรณีพิเศษอันเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น กล่าวคือ หากการชุมนุมนั้นไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบอีกต่อไป หรือเมื่อมีพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงอย่างร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจแก้ไขได้อย่างสมเหตุสมผลด้วยมาตรการอื่นที่ได้สัดส่วนมากกว่า และแม้ว่าจะเข้าเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสลายการชุมนุมได้ แต่เงื่อนไขและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นการปฏิบัติเท่าที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ที่สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย พบว่า การชุมนุมที่เกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-15 สิงหาคม 2564นั้น เจ้าหน้าที่ได้สลายการชุมนุมทุกครั้ง บางกรณีมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและใช้อุปกรณ์สลายการชุมนุมขณะที่ยังไม่เริ่มการชุมนุมด้วยซ้ำ บางกรณีเจ้าหน้าที่ประกาศว่าการกระทำการของผู้ชุมนุมผิดกฎหมายและทำการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและยิงกระสุนยางทันที หรือบางกรณีเจ้าหน้าที่ประกาศห้ามผู้ชุมนุมฝ่าแนวกั้นที่เจ้าหน้าที่วางกำลังอยู่ เมื่อมีผู้ชุมนุมพยายามจะเปิดทางเดิน เจ้าหน้าที่ก็ได้ทำการสลายการชุมนุม เป็นต้น
การสลายการชุมนุมในการชุมนุมวันที่ 7 สิงหาคม 2564 ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย ยังพบว่า มีความพยายามจับกุมและใช้กำลังในการจับกุมผู้เข้าร่วมชุมนุมอันเป็นวิธีการหนึ่งในการยุติการชุมนุม แต่การใช้กำลังในการจับกุมเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ รวมทั้งการระดมยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา ถีบรถจักรยานยนต์ที่ใช้เป็นยานพาหนะ เป็นต้น ทำให้มีผู้ถูกจับกุมและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากโครงการม๊อบ ดาต้า ประเทศไทยและศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ระหว่างวันที่ 7-15 สิงหาคม 2564 มีผู้ถูกจับกุมและถูกดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมรวม 98 คน เป็นเด็กและเยาวชน 17 คน มีผู้บาดเจ็บจำนวนหนึ่ง ซึ่งยังไม่มีข้อมูลเผยแพร่หรือตรวจนับอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่รัฐผู้ดูแลการชุมนุม เบื้องต้น ข้อมูลที่ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยและม๊อบ ดาต้า ประเทศไทย บันทึกไว้ มีทั้งผู้ชุมนุมที่ปรากฏเป็นข่าวอย่าง นายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย และผู้สังเกตการณ์อิสระอีก 1 คน ซึ่งได้รับบาดเจ็บและสูญเสียดวงตา ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นที่ตรวจสอบคืออาการบาดเจ็บดังกล่าวเป็นผลมาจากแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการสลายการชุมนุม และสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง แม้จะแสดงป้ายระบุว่าเป็นสื่อมวลชน หรือวิ่งหลบเข้าพักบริเวณใต้อาคาร แต่กลับมีบางส่วนถูกยิงด้วยกระสุนยาง เป็นต้น
ลักษณะการสลายหรือยุติการชุมนุม
ลักษณะการวางกำลังของเจ้าหน้าที่ ระยะเวลาที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม ข้อกฎหมายที่อ้างว่าฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นเหตุให้ยุติการชุมนุม
ในทางกฎหมายระหว่างประเทศและแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการหรือศาลสิทธิมนุษยชน ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงทั่วไปว่า เส้นแบ่งระหว่างการชุมนุมโดยสงบและไม่สงบอาจไม่ชัดเจนเสมอไป แต่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบ และการกระทำรุนแรงเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมบางคนไม่สมควรจะถูกนำไปเหมารวมเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมคนอื่นหรือของการชุมนุมโดยรวม และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชุมนุมบางคนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมบางประการ ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมนั้นหลุดพ้นจากการคุ้มครองตามข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นหน้าที่ของรัฐในการรับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ด้วยการเคารพและประกันการใช้สิทธิดังกล่าวโดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐต้องอนุญาตให้การชุมนุมโดยสงบเกิดขึ้นได้และต้องไม่แทรกแซงโดยมิชอบ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการห้ามแทรกแซงเนื้อหาของการชุมนุม รัฐต้องอำนวยความสะดวกและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมด้วย
มีการปิดกั้นการชุมนุมหรือไม่ หากมี ใช้วิธีการ/อุปกรณ์ใด ตัวอย่างเช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม มีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ถังน้ำมันเก่า และอื่นๆ
แม้หน้าที่ดังกล่าวของรัฐจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการชุมนุม อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย พบว่า เจ้าหน้าที่รัฐยังมีการห้าม จำกัด ขัดขวาง และรบกวนการชุมนุมของบุคคลหลายครั้งด้วยรูปแบบและมาตรการที่แตกต่างกัน ที่พบเห็นได้บ่อยคือการใช้อุปกรณ์หรือวัตถุขนาดใหญ่ปิดกั้นพื้นที่เพื่อมิให้ผู้ชุมนุมใช้เส้นทางหรือเดินขบวนได้ เช่น รั้วเหล็กสำหรับใช้กั้น ตู้คอนเทนเนอร์ โบกี้รถไฟและถังน้ำมันเก่า ซึ่งเป็นการปิดกั้นการใช้สิทธิในการชุมนุมของผู้ชุมนุมอย่างชัดเจน และแม้จะมีการให้ข้อมูลจากผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า อุปกรณ์ดังกล่าวติดตั้งและเคลื่อนย้ายเพื่อลดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่และป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายหรือรุกล้ำเข้าไปในสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของชาติ แต่การแถลงการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการสลายการชุมนุม อันแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่าการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ จึงปิดกั้นและขัดขวางมิให้เกิดการชุมนุมขึ้น
การชุมนุมวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
การชุมนุมวันที่ 13 สิงหาคม 2564 จาก อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ไปยัง กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษากรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
มีการตรวจค้น-ยึดอุปกรณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใดเป็นการจำเพาะเจาะจงหรือไม่
แม้เจ้าหน้าที่รัฐจะมีอำนาจในการสั่งให้หยุดเพื่อตรวจค้น ทั้งการค้นตัวบุคคลและการค้นยานพาหนะ ตามกฎหมายอาญาปกติ แต่การกระทำดังกล่าวต่อผู้ชุมนุมหรือผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุม เจ้าหน้าที่จะสามารถกระทำได้เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าจะก่อให้เกิดหรือข่มขู่ว่าจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงและต้องเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม มีสามาชิกกลุ่ม We Volunteer อย่างน้อย 9 คน ถูกค้นรถ ค้นเคหสถาน และที่พักอาศัยส่วนตัวก่อนการชุมนุมวันที่ 7 สิงหาคม 2564 และต่อมาถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอั้งยี่-ซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 และมาตรา 210 จากการค้นพบสิ่งของที่เจ้าหน้าที่ระบุว่าอาจนำไปใช้ในการกระทำความผิด ซึ่งไม่อาจพิสูจน์ทราบได้ว่าบุคคลที่ถูกจับและถูกดำเนินคดีนั้นเกี่ยวข้องกับการจัดการชุมนุมหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการเรียกให้ผู้ที่สัญจรไปมาระหว่างสามเหลี่ยมดินแดงและอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิหยุดเพื่อตรวจค้นยานพาหนะ แม้ว่าบุคคลดังกล่าวจะเกี่ยวข้องหรือเข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่ก็ตาม
มาตรการของเจ้าหน้าที่ในการใช้อาวุธและอุปกรณ์เพื่อสลาย-ยุติการชุมนุม เช่น รถน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง
แนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความรุนแรงน้อยกว่าในการบังคับใช้กฎหมาย (Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement, 2020) ของ ICCPR ตามมาตรฐานสากลที่ออกโดย UN Human Rights Institution กำหนดโดยสรุปว่า
ปืนน้ำ
ปืนน้ำจะถูกนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีความไม่สงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง "ในกรณีที่มีความเสี่ยงอันอาจให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต การบาดเจ็บอย่างร้ายแรง หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างแพร่หลาย" โดยต้องคำนึงถึงหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน จะต้องวางแผนการปฏิบัติการด้วยความระมัดระวัง และจะต้องควบคุมและสั่งการการใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง
แก๊สน้ำตา
แก๊สน้ำตาสามารถใช้ได้จากระยะไกลต่อกลุ่มบุคคลที่มีการกระทำรุนแรงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้กลุ่มบุคคลแยกจากกัน และไม่ให้กลุ่มบุคคลนี้ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ การใช้แก๊สน้ำตาควรยิงในมุมสูง ในการยิงแก๊สน้ำตาจะต้องไม่เล็งไปยังบุคคล และไม่ว่าในกรณีใด ๆ ไม่ควรยิงที่หัวหรือหน้าของบุคคล เนื่องจากจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตหรือร่างกายอย่างรุนแรง
กระสุนยาง
อุปกรณ์ที่อาจสร้างความเสียหายจากการยิงหรือขว้างปา เช่น กระสุนยาง กระสุนพลาสติก กระสุนถุงตะกั่ว จะใช้ได้ต่อ "บุคคลที่สร้างความรุนแรง" โดยการใช้ดังกล่าวจะต้องเล็งไปยังช่วงล่างของร่างกายลงไปหรือขาของผู้ที่สร้างความรุนแรง และจะต้องเป็นการใช้ในกรณีที่เห็นว่า "มีภัยคุกคามต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลทั่วไปเท่านั้น ซึ่งภัยคุกคามดังกล่าวต้องเป็นภัยคุกคามที่กระชั้นและไม่สามารถหลบเลี่ยงได้" การเล็งไปยังใบหน้าหรือศีรษะของผู้คนอาจทำให้กระดูกหักหรืออาการบาดเจ็บทางสมอง ดวงตา หรืออาจถึงขั้นตาบอดและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การใช้อาวุธดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการใช้แบบอัตโนมัติ รวมถึงต้องไม่ใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน ลูกกระสุนโลหะไม่ควรจะถูกนำมาใช้
ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม ลำดับการใช้อาวุธและอุปกรณ์ในการสลายการชุมนุม ลักษณะการใช้อาวุธและอุปกรณ์ดังกล่าวต่อผู้ชุมนุม ระยะและแนวการยิง เป้าหมายที่ยิง จำนวนผู้บาดเจ็บ ลักษณะ-อาการบาดเจ็บ (ถ้ามี)
แม้หลักการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะมิได้ระบุอย่างชัดเจนถึงระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ก่อนจะยุติหรือสลายการชุมนุม แต่ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุในส่วนของการใช้อาวุธที่มีความรุนแรงน้อยกว่า อุปกรณ์เหล่านี้ (แก๊สน้ำตา หัวฉีดน้ำซึ่งหมายรวมถึงรถฉีดน้ำ อาวุธปืนซึ่งหมายรวมถึงการใช้อาวุธปืนที่ยิงด้วยกระสุนยาง) ควรถูกนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้ายหลังจากที่มีการตักเตือนด้วยวาจาและ ‘ให้โอกาสที่เหมาะสมแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมในการสลายการชุมนุม’ และโดยหลักการที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติเมื่อมีการสลายการชุมนุมหรือใช้กำลังในการยุติการชุมนุม ควรต้องสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความจำเป็น หลักความได้สัดส่วน หลักการใช้ความระมัดระวัง และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยพลการได้ ดังนั้น มาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงวางหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานซึ่งดูแลการชุมนุมและอนุญาตให้ศาลเข้ามาทบทวนคำสั่งให้ยุติการชุมนุมได้
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นเวลากว่า 1 ปี 5 เดือน พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ถูกงดการบังคับใช้ หลักเกณฑ์ต่างๆ จึงถูกระงับไม่บังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุม ทำให้ทุกกรณี เจ้าหน้าที่จะประกาศข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพระราชกำหนดดังกล่าวแทน โดยระบุว่าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายข้างต้น และตั้งแนวเจ้าหน้าที่เพื่อเข้ากระชับพื้นที่โดยทันที หรือบางกรณีประกาศห้ามเดินหรือฝ่าแนวเจ้าหน้าที่ที่ตั้งแถวปิดกั้นผู้ชุมนุม ต่อด้วยการใช้อุปกรณ์ควบคุมผู้ชุมนุม เช่น แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง ยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และเล็งไปยังกลุ่มสื่อมวลชนที่รายงานข่าวในขณะนั้น หรือระบุว่าการกระทำของผู้ชุมนุมเป็นการกระทำเกินขอบเขตของกฎหมาย ‘เผาบ้านเผาเมือง’ สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการ หรือยิงแก๊สน้ำตาในลักษณะกดต่ำ โดยประสงค์ให้ผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บ เช่น การยิงจากบริเวณทางด่วนใกล้ๆ พื้นที่สามเหลี่ยมดินแดง บางส่วนของแก๊สน้ำตาจึงตกลงหรือเข้าไปในเคหสถานของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเดินลาดตระเวนเพื่อหาตัวและจับกุมผู้ชุมนุม และยิงกระสุนยางเข้าไปในเคหสถานของประชาชนบริเวณถนนดินแดงอีกด้วย หรือกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีการขว้างปาประทัดและสาดสีใส่เจ้าหน้าที่ซึ่งได้ตั้งแถวเป็นแนวเพื่อปิดกั้นผู้ชุมนุมบริเวณฝั่งถนนพหลโยธิน แถบอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทำให้เจ้าหน้าที่ทำการยิงกระสุนยางเพื่อเปิดทางและจับกุมผู้ชุมนุมทันที หรือกรณีที่ผู้ชุมนุมพยายามเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์และมีบางส่วนพยายามโยนสิ่งของติดไฟเข้าหลังแนวตู้ดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุมทันที ภายหลังแม้เหตุการณ์สงบแล้ว เจ้าหน้าที่ยังคงใช้อุปกรณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส คือสูญเสียดวงตา จากเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างน้อย 2 คน
การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2564 ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
การใช้และยิงแก๊สน้ำตาดังกล่าวของเจ้าหน้าที่จาก 5 กรณีที่มีการชุมนุมเกิดขึ้น ส่วนใหญ่จึงไม่ใช่การยิงระยะไกลต่อกลุ่มบุคคลที่กระทำรุนแรง แต่เป็นการยิงระยะใกล้แม้จะเป็นการยิงต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงก็ตาม แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกยิงจนเกินสมควรแก่เหตุ ยิ่งไปกว่านั้น การยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางโดยไม่เลือกเป้าหมายและกดหัวอุปกรณ์ให้ต่ำลงนั้น เจ้าหน้าที่ย่อมเล็งเห็นผลว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมอื่นๆ ซึ่งมิใช่ผู้ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรง เช่น กรณีของนายธนัตถ์ ธนากิจอำนวย และผู้สังเกตการณ์อิสระอีก 1 คน ซึ่งได้รับบาดเจ็บจากการยิงแก๊สน้ำตาแบบกระสุนจนสูญเสียดางตา อีกทั้งยังละเมิดข้อห้ามมิให้ยิงแก๊สน้ำตาบริเวณศรีษะหรือหน้าของบุคคลอีกด้วย นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังใช้มาตรการกระชับพื้นที่หรือปิดล้อม (Containment หรือ Ketting) กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและระดมยิงแก๊สน้ำตารวมทั้งกระสุนยางอย่างต่อเนื่อง ขัดต่อหลักการเบื้องต้นในเรื่องความจำเป็นและความได้สัดส่วนของการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวและความเห็นที่ว่าแก๊สน้ำตาไม่ควรยิงในพื้นที่ที่จำกัด
การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 จาก แยกราษฎรประสงค์ ไปยัง คิง พาวเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
ส่วนการใช้กระสุนยางนั้น มีหลักการใช้เช่นเดียวกันเพราะมุ่งยุติบุคคลที่สร้างความรุนแรงและแยกบุคคลนั้นออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม การยิงกระสุนยางในลักษณะกราดยิงอย่างไม่เลือกเป้าหมาย หรือยิงเพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมผู้ชุมนุม หรือยิงจากยานพาหนะเพื่อประสงค์ให้ผู้ชุมนุมเสียหลักล้มหรือหยุดการขับขี่ เป็นการใช้กระสุนยางที่ไม่สอดคล้องกับหลักการใช้เมื่อมีภัยคุกคามที่กระชั้นที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น การยิงกระสุนยางเข้าไปในเคหสถานไม่ว่าด้วยเหตุผลที่เชื่อว่ามีผู้ชุมนุมหลบซ่อนอยู่หรือไม่ก็ตาม เป็นการใช้กระสุนยางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแน่นอน นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังเน้นย้ำเพิ่มเติมว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่ใช่อาวุธที่เหมาะสมในการควบคุมฝูงชนและจะต้องไม่ถูกใช้เพื่อสลายการชุมนุม ข้อเท็จจริงจากการใช้กระสุนยางข้างต้นจึงไม่สอดคล้องกับข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ที่ระบุไว้ว่า กระสุนยาง ‘จะต้องถูกใช้อย่างจำกัดกับบุคคลที่เป็นเป้าหมายภายใต้สภาวการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างเคร่งครัดเพื่อต่อต้านภัยต่อชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัสอันใกล้จะถึง’ ซึ่งประทัดยักษ์ สี และข้าวของ ยังไม่อยู่ในนิยามและความคาดหมายของภัยต่อชีวิตหรืออาจทำให้บุคคลบาดเจ็บสาหัสแต่อย่างใด ส่วนข้อเท็จจริงที่เจ้าหน้าที่ชี้แจงว่า พบบุคคลใช้กระสุนจริงหรือพกพาอาวุธปืนเข้าพื้นที่ที่ชุมนุมนั้น แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย ยังไม่รับทราบถึงแนวปฏิบัติต่อกลุ่มคนหรือบุคคลดังกล่าว และเป็นเพียงเหตุผลที่ถูกยกขึ้นมาอธิบายหลังจากเจ้าหน้าที่ทำการยิงแก๊สน้ำตาเข้าบริเวณดังกล่าวซึ่งมีผู้ชุมนุมอื่นอยู่ด้วย
การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 จาก แยกราษฎรประสงค์ ไปยัง คิง พาวเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพมหานครภาพโดย Mob Data Thailand
ส่วนเครื่องฉีดน้ำหรือรถฉีดน้ำแรงดันสูงยังถูกระบุให้เป็นมาตรการสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม เครื่องฉีดน้ำและรถฉีดน้ำแรงดันสูงถูกนำมาใช้ในการสลายการชุมนุมตั้งแต่ช่วงปลายปี 2563 แต่นับเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ใช้เพื่อสลายการชุมนุมในพื้นที่แคบและอยู่ใจกลางชุมชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างไม่แบ่งแยก และรวมถึงผู้สังเกตการณ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดใส่ผู้ชุมนุมเพื่อเปิดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่หรือทวงคืนพื้นที่ถนนจากผู้ชุมนุมที่พยายามรวมกลุ่มอยู่ ซึ่งยังไม่พบว่าเป็นกรณีที่มีความเสี่ยงอันอาจให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตหรือการบาดเจ็บร้ายแรง แต่อาจกระทำเพื่อควบคุมการทำลายทรัพย์สิน (ทุบกระจกป้อมจราจรและเผาป้อมจราจรบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง) ยังมีข้อโต้แย้งว่าเมื่อสามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว ควรยุติการใช้ทันที ดังนั้นการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดทางจึงขัดต่อหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วนของการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว
การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 จาก แยกราษฎรประสงค์ ไปยัง คิง พาวเวอร์ รางน้ำ กรุงเทพมหานครภาพโดย Mob Data Thailand
มีการใช้อาวุธอื่น เช่น อาวุธปืนและกระสุนจริง หรือไม่
มีรายงานเพียงฝ่ายเดียวจากผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าพบกลุ่มบุคคลประมาณ 6-10 คนพกพาอาวุธปืนจริงเข้าพื้นที่การชุมนุม แต่ยังไม่มีรายงานหรือตรวจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าหน้าที่รัฐถึงรายละเอียดอื่นเพิ่มเติม
มีการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ หากมีโปรดระบุว่ามีการใช้อาวุธหรืออุปกรณ์ใดในการก่อความรุนแรง เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแยกหรือใช้อุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นเจาะจงกับกลุ่มผู้อาจจะใช้ความรุนแรงหรือไม่
แม้โดยหลักการทั่วไป กรอบกฎหมายทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศจะมุ่งคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบเท่านั้น แต่หลักการพิจารณาว่าการชุมนุมใดเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ ‘ต้องอ้างอิงถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้ชุมนุม ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบไม่ทำให้การชุมนุมนั้นกลายเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง’
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย พบว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในช่วงระหว่างวันที่ 7-15 สิงหาคม 2564 ความรุนแรงที่เกิดจากผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นความพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน การรื้อรั้วกั้นหรือการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ การขว้างปาสิ่งของ การขว้างปาประทัดยักษ์ และการจุดพลุไฟ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการปิดกั้นมิให้ใช้พื้นที่หรือเคลื่อนย้ายผ่านถนนหรือบริเวณที่ผู้ชุมนุมประสงค์จะชุมนุม ยิ่งไปกว่านั้น หากเจ้าหน้าที่พบว่ามีการใช้ความรุนแรงจากผู้ชุมนุมบางคน จึงจำเป็นต้องยุติด้วยมาตรการที่เหมาะสมกับความจำเป็นและความได้สัดส่วน แต่ไม่สมควรถูกนำไปเหมารวมว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เช่น ผู้จัดการชุมนุม หรือการชุมนุมโดยรวม ผู้ชุมนุมที่เหลือจึงยังต้องได้รับการคุ้มครองตามข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเบื้องต้นพบว่า การระบุตัวตนของบุคคลที่อาจก่อเหตุอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินส่วนรวมและเป็นวงกว้าง ยังไม่ได้รับการปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ การใช้อาวุธที่มีความรุนแรงน้อยกว่า เช่น หัวฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา การยิงกระสุนยาง รวมถึงการใช้กำลังในการจับกุม แม้จะถูกระบุให้เป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้สลายการชุมนุม หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณ์การใช้อย่างเคร่งครัด อาจส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายในวงกว้าง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักความได้สัดส่วนและสมควรแก่เหตุเสมอ
การใช้ความรุนแรงของผู้ชุมนุมในการชุมนุมวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ณ แยกราษฎรประสงค์กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม
มีการแยกหรือดูแลเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือไม่ หากไม่มี ระบุมาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม
หลักการทั่วไปในการปฏิบัติงานและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม คือ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วเท่านั้นที่จะสามารถปฏิบัติการควบคุมฝูงชนได้ และการฝึกอบรมดังกล่าวต้องกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงความต้องการที่ต่างกันไปของบุคคลหรือกลุ่มคนในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางต่างๆ ซึ่งบางกรณีรวมถึงผู้หญิง เด็ก และผู้พิการ ในขณะที่คนเหล่านี้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ
อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ไม่พบการใช้มาตรการพิเศษในการอำนวยความสะดวกและคุ้มครองให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมนุมสามารถชุมนุมโดยสงบได้แต่อย่างใด ในทางกลับกัน เด็กและเยาวชนถูกมองเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อความวุ่นวายในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2564 จนกระทั่งปัจจุบัน เด็กและเยาวชนถูกจับกุมจากการเข้าร่วมการชุมนุมในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนมาก ซึ่งบางส่วนมิใช่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม เป็นเพียงผู้สัญจรผ่านไปมา แสดงให้เห็นว่า ทั้งในทางปฏิบัติและหลักการ เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่มีมาตรการพิเศษที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้สามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบได้ แม้สิทธิในการชุมนุมและการแสดงออกจะเป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ให้เด็กและเยาวชน ซึ่งต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริม ทั้งตามกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กก็ตาม
หากมีเด็กหรือเยาวชนถูกจับกุม ระบุมาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการจับกุม เด็กหรือเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการถูกจับกุมหรือไม่ ข้อหาโดยสังเขป สถานที่ในการควบคุมตัว สิทธิอื่นของเด็ก เช่น สิทธิในการพบผู้ปกครอง การปฐมพยาบาล และสิทธิที่จะได้พบ-ปรึกษากับทนายความ
จากที่ได้กล่าวถึงข้างต้นว่าในช่วงระหว่างวันที่ 7-15 สิงหาคม 2564 มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมจำนวนมาก ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการในม๊อบมีเด็ก (Child in Mob) และม๊อบ ดาต้า ประเทศไทยพบว่า มีเด็กและเยาวชนซึ่งมิได้ถูกจับกุม หากแต่ได้รับหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยเฉพาะการจัดการชุมนุมแบบคาร์ม๊อบ มากถึง 3 คน และมีเยาวชน 1 ราย เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 เด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุม ส่วนใหญ่มาจากการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย พบว่า ส่วนใหญ่ถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ (เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ากระทำความผิดเฉพาะหน้า) ระหว่างถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการจับกุมและบางส่วนถูกพันธนาการด้วยกุญแจมือและเคเบิ้ลไทร์ นอกจากนี้ หากได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม เจ้าหน้าที่ยังมิได้ส่งไปรักษาตัวโดยทันที หากแต่จะนำตัวไปควบคุมยังกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เป็นส่วนใหญ่ เด็กและเยาวชนถูกยึดมือถือและบางรายที่มีรถจักรยานยนต์ก็ถูกยึดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ทนายเข้าพบผู้ถูกจับกุม รวมทั้งเยาวชนภายหลังทำบันทึกการจับกุมแล้วเสร็จเท่านั้น ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าบางกรณีมีการบันทึกข้อความว่าเด็กและเยาวชนให้การรับสารภาพระหว่างทำบันทึกการจับกุมอีกด้วย และเนื่องจากเหตุการณ์ถูกจับกุมเกิดขึ้นช่วงกลางคืน ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถพบผู้ปกครองได้อย่างทันท่วงที ทนายความที่เดินทางเพื่อขอเข้าพบยังไม่ได้รับอนุญาตให้เจอเด็กจนกว่าจะมีการทำบันทึกการจับกุมเสร็จ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงดำเนินกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงกลางคืน ก่อนจะนำตัวเด็กและเยาวชนเข้าตรวจสอบการจับกุมในช่วงเช้าของวันถัดไป ณ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
การชุมนุมวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ณ แยกราษฎรประสงค์กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
รายละเอียดการจับกุม การควบคุมตัว สิทธิในการรักษาพยาบาลและเข้าพบทนายความอย่างทันท่วงที มีดังนี้
วันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมทั้งสิ้น 12 คน อายุน้อยที่สุดประมาณ 13 ปี โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกถูกจับกุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ภายหลังมีเหตุการณ์ทำลายตู้จราจรบริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนไล่จับผู้ชุมนุมรวมถึงผู้ที่มิได้เข้าร่วมชุมนุม แต่อยู่ในบริเวณดักล่าว ทำให้มีเด็กและเยาวชนซึ่งถูกจับกุมได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 3 คน ถูกยิงด้วยกระสุนยางบริเวณต้นแขนขวาและใต้ข้อศอกหนึ่งคน อีกคนถูกยิงด้วยแก๊สน้ำตาในระยะกระชั้นชิดจากการเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ ส่วนอีกคนระบุว่าถูกรุมกระทืบและถูกของแข็งตีเข้าที่ศรีษะและบริเวณหลัง นอกจากนี้ เด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุมยังถูกใส่เครื่องพันธนาการเพื่อป้องกันการหลบหนี และผู้ที่บาดเจ็บกลับไม่ได้รับการส่งตัวไปรักษาอย่างทันท่วงนี้ แต่กลับถูกควบคุมตัวไปยัง สน.ดินแดง ส่วนเด็กและเยาวชนอีก 2 คนถูกจับกุมจากบริเวณด้านหน้ากรมการสารวัตรทหารบก จากการตั้งด่านและตรวจคนของเจ้าหน้าที่ทหาร ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่ตรวจค้นและถูกจับกุมและควบคุมตัวไปยัง สน.พญาไท
วันที่ 11 สิงหาคม 2564 มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมทั้งสิ้น 2 คน คนที่หนึ่งถูกจับกุมบริเวณอนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จากผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 13 คน แม้ยังไม่มีข้อมูลว่าเยาวชนคนดังกล่าวถูกทำร้ายร่างกายระหว่างการจับกุมหรือไม่ แต่ผู้ถูกจับกุมที่เหลือบางส่วนถูกถีบให้รถจักรยานยนต์เสียหลักและจับกุมตัวขณะที่ล้มลง บางคนถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าจับกุม ทำให้เกิดอาการปวดบริเวณแขนและตัว ส่วนเยาวชนอีก 1 คน อายุ 15 ปี ถูกจับกุมจากบริเวณหน้ากรมการแพทย์ทหารบกโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ซึ่งเยาวชนคนดังกล่าวถูกยิงด้วยกระสุนยางบริเวณแขนซ้าย และแม้ไม่มีข้อเท็จจริงที่ชัดเจนว่าเข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่ เจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาเยาวชนว่าฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ โดยออกนอกเคหสถานในเวลา 21.00-04.00 น. ทั้งสองคนรวมทั้งผู้ถูกจับกุมอื่นถูกนำตัวไปควบคุมที่บช.ปส.เช่นเดียวกัน
วันที่ 15 สิงหาคม 2564 มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมทั้งสิ้น 2 คน หนึ่งคนเป็นพนักงานร้านอาหารและกำลังเดินทางกลับที่พัก แต่กลับถูกเรียกให้หยุดและตรวจค้นตัวและยานพาหนะจนกระทั่งเลยระยะเวลาที่รัฐห้ามมิให้บุคคลออกจากเคหสถาน จึงถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ และถูกควบคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. ทั้งคืน ส่วนเยาวชนอีกรายบาดเจ็บสาหัสจากการถูกยิงกระสุนยางมากถึง 6 นัด ซึ่งขณะถูกยิง เยาวชนคนดังกล่าวให้ข้อมูลว่าตนกำลังซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์เพื่อออกจากพื้นที่ชุมนุม ขณะที่เจ้าหน้าที่กำลังเข้ากระชับพื้นที่หรือสลายการชุมนุมบริเวณแยกโบสถ์แม่พระ พบเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนนั่งท้ายรถกระบะประมาณ 3-4 คัน แต่ละคันระดมยิงกระสุนยางในระยะกระชั้นชิด โดยเฉพาะที่ศรีษะ ไม่มีการเล็งไปยังบริเวณส่วนล่างของลำตัวก่อนแต่อย่างใด ทำให้รู้สึกมึนหัวและอ่อนแรง หลังจากนั้นจึงถูกจับกุมพร้อมถูกควบคุมตัวไปยัง บช.ปส. แม้ว่าอาการบาดเจ็บข้างต้นจะสาหัสถึงขั้นต้องส่งโรงพยาบาลแต่เจ้าหน้าที่กลับไม่ดำเนินการส่งตัวไปโรงพยาบาลแต่อย่างใด อกทั้งต้องรอเป็นระยะเวลาหลายชั่วโมงจนทนายความมีสิทธิเข้าพบเยาวชนคนดังกล่าว จึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจก่อนแจ้งข้อกล่าวหา ระหว่างนั้น เยาวชนคนดังกล่าวยังระบุว่าตนถูกข่มขู่ระหว่างที่นั่งรถและถูกควบคุมตัวว่าหากพยายามจะหลบหนีหรือ ‘ตุกติก จะยิงทิ้ง’ อีกด้วย
ระบุมาตรการของศาลเยาวชนและครอบครัว (หากมี) จำนวนเงินที่ใช้ในการประกันตัว เป็นต้น
มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ประกันสิทธิของผู้ถูกจับกุมคือ การให้ผู้จับกุมนำตัวผู้ถูกจับกุมไปยังศาลในโอกาสแรก ซึ่งตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ระบุว่า หากมีเด็กหรือเยาวชนถูกจับกุมตัว ให้นำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังถูกจับ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ส่งผลเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กที่ถูกจับกุมแต่อย่างใด เนื่องจากศาลจะนับระยะเวลาที่ถูกตรวจสอบการจับกุมเมื่อเด็กและเยาวชนได้พบกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น แต่ระยะเวลาช่วงที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจากที่ชุมนุม ซึ่งปรากฏว่าเป็นช่วงที่เด็กและเยาวชนไม่ต่ำกว่า 5 คน ถูกทำร้ายร่างกาย หรือได้รับบาดเจ็บจากการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตา ศาลกลับมีคำสั่งในทุกกรณีว่าการจับกุมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ
แม้ในการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ศาลมักมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือประกันโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ในกรณีของเยาวชนที่เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ศาลมีคำสั่งให้วางหลักทรัพย์ 30,000 บาท เป็นหลักประกัน นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนควรใช้ดุลพินิจของตัวเองในการพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน แต่ทั้งนี้พนักงานสอบสวนกลับไม่เคยใช้ดุลพินิจดังกล่าวเลย แม้จะปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าเยาวชนบางคนมิได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่ถูกจับกุมมาก็ตาม พนักงานสอบสวนจะนำตัวทุกคนไปศาลเยาวชนและครอบครัวเพื่อขออำนาจศาลฝากขังทุกกรณี
แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ในการชุมนุม
นโยบาย-ถ้อยแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.บชน.) (ถ้ามี) ต่อกรณีการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน
ความสำคัญของสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์การชุมนุม ได้รับการคุ้มครองและรับรองว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบของบุคคล สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์การชุมนุมจึงต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามพันธกรณีที่มีในกติการระหว่างประเทศและโดยการตีความของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 37 ด้วย ซึ่งหมายความว่า การสังเกตการณ์การทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย จะต้องไม่ถูกตอบโต้หรือคุกคาม อุปกรณ์ต้องไม่ถูกยึดหรือทำให้เสียหาย แม้ว่าการชุมนุมนั้นๆ จะถูกประกาศว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่ต้องถูกสลายก็ไม่เป็นการตัดสิทธิในการสังเกตการณ์
อย่างไรก็ตาม จากการแถลงข่าวที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักข่าวตำรวจแห่งชาติ ในวันที่ 10 สิงหาคม 2564 พล.ต.ต.ยิ่งยศ เทพจำนงค์ ย้ำเตือนถึงการกำหนดจุดและให้คำแนะนำแก่สื่อมวลชนในการปฏิบัติหน้าที่ ในพื้นที่การชุมนุม เพื่อให้ความปลอดภัยของสื่อมวลชน แต่พบว่ามีสื่อมวลชนบางส่วนที่ไม่ทำตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่
มาตรการหรือวิธีการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อสื่อมวลชนหรือผู้สังเกตการณ์การชุมนุม
มีการปิดกั้นไม่ให้สื่อมวลชน/ผู้สังเกตการณ์การชุมนุมเข้าพื้นที่หรือไม่ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อสื่อมวลชนที่ใส่ปลอกแขนสื่อกับที่ไม่มีปลอกแขนสื่อ เหมือนหรือต่างกันอย่างไร
มีการใช้อาวุธหรืออุปกรณ์เช่น กระสุนยาง แก๊สน้ำตา รถน้ำและอื่นๆ ต่อสื่อมวลชนหรือผู้สังเกตการณ์หรือไม่
ระบุจำนวนผู้ได้รับความเสียหาย อาจจะบาดเจ็บหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการทำข่าวเสียหาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย มีข้อสังเกตว่า การชุมนุมในระหว่างวันที่ 7-15 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมิได้แยกแยะสื่อมวลชนหรือผู้สังเกตการณ์ออกจากผู้ชุมนุม เช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564 สื่อมวลชนพยายามแยกออกจากผู้ชุมนุมและปลีกตัวออกมายืนรายงานข่าวบริเวณทางเดินเท้าของแยกสามเหลี่ยมดินแดง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกลับยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางมายังสื่อมวลชน หรือเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 มีการยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ รวมถึงผู้ชุมนุมบางส่วนที่หลบฝนอยู่ใต้ตึกไทยวิวัฒน์ประกันภัย บริเวณถนนดินแดง ใกล้กับแยกดินแดง ตัดกับถนนวิภาวดีขาออก ทำให้บริเวณดังกล่าวคละคลุ้งไปด้วยแก๊สน้ำตา นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า นักข่าว Voice TV และช่างภาพหญิงของสำนักงานข่าวแห่งหนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนยางได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ขณะที่หลบอยู่ในบริเวณอาคารจอดรถ เป็นต้น ส่วนบริเวณชั้น 5 ของอาคารไทยวิวัฒน์ประกันภัย เจ้าหน้าที่ยังคงยิงกระสุนยางใส่ผู้ที่หลบอยู่ในอาคาร ซึ่งมีนักข่าวชูปลอกแขนว่าเป็นสื่อมวลชนแต่เจ้าหน้าที่กลับไม่หยุดยิง การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมิได้แยกแยะระหว่างสื่อมวลชน ทั้งที่มีปลอกแขนและไม่มีปลอกแขน ผู้สังเกตการณ์และผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่รัฐกลับการปฏิบัติไม่ต่างกัน คือไม่คุ้มครองเสรีภาพของบุคคลดังกล่าว ทั้งตามข้อบทที่ 21 และข้อที่ 19 คือเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร