ภาพรวมการชุมนุมช่วงวันที่ 16 - 22 สิงหาคม 2564
กลุ่มผู้จัด สถานที่ เวลา ผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยประมาณ จำนวนเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุม
ช่วงระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2564 เป็นสัปดาห์ที่มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องมาจากสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้จัดการชุมนุมในช่วงสัปดาห์นี้มีกลุ่มหลักเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มทะลุฟ้า (หมู่บ้านทะลุฟ้า) ที่จัดกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจและจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผ่านการทำกิจกรรมที่ค่อนข้างหลากหลาย และเคลื่อนย้ายไปในหลายพื้นที่ เช่น ที่พักของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำเนียบรัฐบาล อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย สถานทูตอย่างน้อย 3 สถานทูต และสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาติ และอีกหนึ่งกลุ่มคือกลุ่มเยาวชนทะลุแก๊ซ ซึ่งเริ่มจากการมีมวลชนอิสระมารวมตัวบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม และภายหลังวันที่ 20 สิงหาคม 2564 จึงรวมตัวกันและใช้สัญลักษณ์เยาวชนทะลุแก๊ซบนธงสีขาว ซึ่งข้อเรียกร้องของเยาวชนกลุ่มนี้เป็นข้อเรียกร้องเดียวกันกับกลุ่มทะลุฟ้า แต่ภูมิหลัง อายุ สถานที่ในการชุมนุมและลักษณะการชุมนุม แตกต่างจากกลุ่มอื่น โดยสรุปคือเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุระหว่าง 11-20 ปี ที่รวมตัวกันและใช้รถจักรยานยนต์ในการวางแนวขบวน ซึ่งหากมีการปิดกั้นจากเจ้าหน้าที่รัฐ กลุ่มนี้จะใช้อุปกรณ์เช่น หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ประทัดยักษ์ และอื่นๆ ขว้างปาใส่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน บางครั้งพบการทำลายทรัพย์สินของราชการ เช่น ป้อมตำรวจบริเวณถนนดินแดง หรือพบการจุดไฟเผาบนถนนในบริเวณที่เยาวชนกลุ่มดังกล่าวรวมกลุ่มอยู่ แต่โดยรวมแล้วเยาวชนกลุ่มนี้จะรวมตัวกันทุกวัน ซึ่งพบการรวมตัวกันกว่า 20 ครั้งนับตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งกลุ่มเด็กและเยาวชนจากพื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุม ควบคุมตัว และดำเนินคดีในความผิดที่เกี่ยวกับการชุมนุมในภายหลัง
การชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม 2564 โดยกลุ่มทะลุฟ้า ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
การชุมนุมวันที่ 21 สิงหาคม 2564 โดยกลุ่มทะลุแก๊ส ณ แยกดินแดง กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
ลักษณะการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการยุติการชุมนุม จำนวนและตัวอย่างของผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุม รวมทั้ง เด็กและเยาวชน สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ (ถ้ามี)
แม้เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะทำการย้ายตู้คอนเทนเนอร์ออกจากบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเคยใช้ขวางการเดินเท้าและการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมที่จะเดินทางไปยังบ้านพักนายกรัฐมนตรี แต่แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทยพบว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกลับใช้ความรุนแรงในการจับกุมและควบคุมตัวผู้ชุมนุมมากขึ้น นอกเหนือจากการใช้อาวุธที่มีความรุนแรงน้อยกว่า เช่น เครื่องฉีดน้ำ รถน้ำแรงดันสูง อาวุธปืนยิงกระสุนยาง และอาวุธประจำของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนแต่ละคน ทำให้มีผู้บาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเริ่มมีการฉีดน้ำแรงดันสูงผสมแก๊สน้ำตายิงใส่ผู้ชุมนุมในระยะประชิด มีการใช้เคเบิ้ลไทร์เพื่อพันธนาการเด็กและเยาวชนที่ถูกจับกุมในระยะเวลาที่ยาวนานมากขึ้น และยังไม่จัดให้ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการถูกจับกุมเข้าถึงแพทย์และการรักษาที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ลักษณะการสลายการชุมนุมยังกำหนดให้เป็นวงแคบ มีการปิดล้อมเพื่อจับกุมผู้ชุมนุม ทำให้เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมจากการใช้วิธีการดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง มากถึง 42 คน เป็นเด็กและเยาวชน 19 คน จากการชุมนุมทั้งหมด 25 ครั้ง และมีผู้ถูกจับกุมสูงถึง 63 คนในระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2564 นอกจากนี้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย ยังพบว่า การทำงานของสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์มีความสำคัญและแปรผันโดยตรงกับการใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ หากมีสื่อมวลชนคอยรายงานข่าวและมีผู้สังเกตการณ์การชุมนุม เจ้าหน้าที่จะไม่ใช้กำลังเข้าจับกุมหรือควบคุมตัวอย่างเป็นวงกว้าง ในทางกลับกัน หากมีสื่อมวลชนหรือผู้สังเกตการณ์การชุมนุมอยู่ในพื้นที่ชุมนุมน้อยลง จะยิ่งเห็นการจับกุมและการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุมมากขึ้น ตลอดทั้งมีการระบุหรือแถลงการณ์ว่าผู้ชุมนุมใช้ความรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่ก่อนด้วย
การสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ณ แยกดินแดง กรุงเทพมหานคร ภาพโดย แนวหน้า
ลักษณะการสลายหรือยุติการชุมนุม
ลักษณะการวางกำลังของเจ้าหน้าที่ ระยะเวลาที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม ข้อกฎหมายที่อ้างว่าฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นเหตุให้ยุติการชุมนุม
ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า การปิดล้อม (Containment หรือ Kettling) อาจกระทำได้เมื่อมีความจำเป็นและได้สัดส่วนแก่การกระทำเท่านั้น เพื่อที่จะแก้ไขความรุนแรงที่เกิดขึ้นหรือภัยที่ใกล้จะถึงจากกลุ่มคนในบริเวณดังกล่าว ซึ่งการปิดล้อมนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษเท่าที่จะเป็นไปได้ การปิดล้อมที่กระทำโดยไม่แยกแยะหรือใช้เพื่อลงโทษ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และอาจละเมิดสิทธิอื่นด้วย เช่น เสรีภาพในการคุมขังโดยพลการ และเสรีภาพในการโยกย้าย
อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย พบว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนกลับใช้มาตรการปิดล้อมมากขึ้นหลังจากมีการรวมกลุ่มของเยาวชนทะลุแก๊ส โดยระบุว่าเป็นมาตรการกระชับพื้นที่และให้เจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าจับกุมผู้ชุมนุม ซึ่งสถานการณ์ที่เห็นได้ชัดสุดคือการชุมนุมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ทางแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย พบว่ามาตรการดังกล่าวถูกใช้เพื่อกวาดจับกลุ่มเยาวชนบริเวณนั้นโดยเฉพาะ ทำให้มีผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่เป็นผู้สัญจรหรือพักอาศัยอยู่บริเวณนั้นถูกจับกุมด้วยเช่นกัน ประกอบกับการใช้กำลังในการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ เช่น ถูกทำร้ายร่างกายบริเวณคอ ศรีษะ ท้ายทอย หน้าอก ถูกกระชากแขน ถูกกระชากคอเสื้อ ถูกล็อคตัวจากด้านหลัง ปล่อยกระแสไฟฟ้าอ่อนบริเวณลำตัว ถูกกดคอและหลัง บังคับให้นอนราบลงกับพื้น ถูกตีด้วยกระบอง มีบางรายว่าผู้ชุมนุมถูกเตะต่อยบริเวณใบหน้าจนสลบ ถูกล็อคมือด้วยกุญแจมือหรือเคเบิ้ลไทร์ ถูกยิงด้วยกระสุนยาง เป็นต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการปิดล้อมนั้นกระทำไปโดยไม่แยกแยะและใช้เพื่อลงโทษ ย่อมถือเป็นการละเมิดสิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบ และอาจละเมิดสิทธิอื่นด้วย เช่น เสรีภาพในการคุมขังโดยพลการ และเสรีภาพในการเคลื่อนย้ายหรือเดินทางของผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมด้วย
การสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ณ แยกดินแดง กรุงเทพมหานคร ภาพโดย เดลินิวส์ ออนไลน์
นอกจากนี้ ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนยังเน้นย้ำถึงเงื่อนไขในการสลายการชุมนุมว่า ต้องใช้เป็นมาตรการสุดท้าย เมื่อปรากฎพฤติการณ์แน่ชัดแล้วว่าการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ และเจ้าหน้าที่ไม่สามารถใช้มาตรการที่มีผลกระทบน้อยกว่าในการแก้ไขสถานการณ์ดังกล่าวได้ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ปรากฏไม่มีข้อบ่งชี้ใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่จะปฏิบัติตามลำดับหรือขั้นตอนข้างต้น มีเพียงแต่การประกาศต่อผู้ชุมนุมว่าการรวมกลุ่มนั้น ‘ผิดกฎหมาย’ หรือ ‘ฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน’ ก่อนจะสลายการชุมนุมโดยเริ่มจากการฉีดน้ำจากเครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง ซึ่งมีการผสมแก๊สน้ำตา ฉีดใส่ผู้ชุมนุม มีการยิงกระสุนยางในระยะประชิด และจับกุมผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือไม่สามารถหลบหนีได้ทันจากการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวทันที นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมแม้ไม่ปรากฏเหตุรุนแรง เช่น การเต้นของผู้ชุมนุมหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งนำมาสู่การจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 10 คนเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2564
การสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า ในวันที่ 17 สิงหาคม 2564 จาก แยกราชประสงค์ ไปยัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
มีการปิดกั้นการชุมนุมหรือไม่ หากมี ใช้วิธีการ/อุปกรณ์ใด ตัวอย่างเช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม มีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์ ถังน้ำมันเก่า และอื่นๆ
มีการตรวจค้น-ยึดอุปกรณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมกลุ่มใดเป็นการจำเพาะเจาะจงหรือไม่
แม้เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ออกจากบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2564 ซึ่งอาจเป็นมาตรการหนึ่งในการลดการขัดขวางการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน แต่กลับพบว่ามีการใช้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้ากระชับพื้นที่แทะ และมีการจับกุมผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงมากขึ้น และเนื่องจากกลุ่มเยาวชนดังกล่าวมักใช้รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะและเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการชุมนุม จึงมักถูกค้นและถูกยึดรถจักรยานยนต์กังกล่าว รวมทั้งโทรศัพท์มือถือ ระหว่างที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวเสมอ ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่ตรวจยึด มีทั้งเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ทำการจับกุมและพนักงานสอบสวนผู้อ่านบันทึกการจับกุมหรือข้อกล่าวหา นอกจากนี้ ยังมีการเรียกตรวจค้นบุคคลทั่วไปที่สัญจรไปมาผ่านบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง และปรากฎว่ามีการดำเนินคดีต่อชายอายุ 20 ปี หลังจากตรวจพบว่ามีหนังสติ๊กและลูกแก้วใต้เบาะรถ ซึ่งในช่วงระหว่างที่มีการจับกุม ควบคุมตัว และการแจ้งข้อกล่าวหานั้น ผู้ถูกจับกุมไม่มีทนายความอยู่ด้วย
การชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม 2564 โดยกลุ่มทะลุฟ้า ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
การชุมนุมวันที่ 21 สิงหาคม 2564 โดยกลุ่มทะลุแก๊ส ณ แยกดินแดง กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
มาตรการของเจ้าหน้าที่ในการใช้อาวุธและอุปกรณ์เพื่อสลาย-ยุติการชุมนุม เช่น รถน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง
แนวปฏิบัติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความรุนแรงน้อยกว่าในนการบังคับใช้กฎหมาย (Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement, 2020) ของ ICCPR ตามมาตรฐานสากลที่ออกโดย UN Human Rights Institution กำหนดโดยสรุปว่า
ปืนน้ำ
ปืนน้ำจะถูกนำมาใช้ได้ก็ต่อเมื่อมีความไม่สงบเรียบร้อยอย่างร้ายแรง "ในกรณีที่มีความเสี่ยงอันอาจให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิต การบาดเจ็บอย่างร้ายแรง หรือการทำลายทรัพย์สินอย่างแพร่หลาย" โดยต้องคำนึงถึงหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน จะต้องวางแผนการปฏิบัติการด้วยความระมัดระวัง และจะต้องควบคุมและสั่งการการใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูง
แก๊สน้ำตา
แก๊สน้ำตาสามารถใช้ได้จากระยะไกลต่อกลุ่มบุคคลที่มีการกระทำรุนแรงโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้กลุ่มบุคคลแยกจากกัน และไม่ให้กลุ่มบุคคลนี้ใช้ความรุนแรง ทั้งนี้ การใช้แก๊สน้ำตาควรยิงในมุมสูง ในการยิงแก๊สน้ำตาจะต้องไม่เล็งไปยังบุคคล และไม่ว่าในกรณีใด ๆ ไม่ควรยิงที่หัวหรือหน้าของบุคคล เนื่องจากจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อชีวิตหรือร่างกายอย่างรุนแรง
กระสุนยาง
อุปกรณ์ที่อาจสร้างความเสียหายจากการยิงหรือขว้างปา เช่น กระสุนยาง กระสุนพลาสติก กระสุนถุงตะกั่ว จะใช้ได้ต่อ "บุคคลที่สร้างความรุนแรง" โดยการใช้ดังกล่าวจะต้องเล็งไปยังช่วงล่างของร่างกายลงไปหรือขาของผู้ที่สร้างความรุนแรง และจะต้องเป็นการใช้ในกรณีที่เห็นว่า "มีภัยคุกคามต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลทั่วไปเท่านั้น ซึ่งภัยคุกคามดังกล่าวต้องเป็นภัยคุกคามที่กระชั้นและไม่สามารถหลบเลี่ยงได้" การเล็งไปยังใบหน้าหรือศีรษะของผู้คนอาจทำให้กระดูกหักหรืออาการบาดเจ็บทางสมอง ดวงตา หรืออาจถึงขั้นตาบอดและเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ การใช้อาวุธดังกล่าวจะต้องไม่เป็นการใช้แบบอัตโนมัติ รวมถึงไม่ใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้จะต้องคำนึงถึงหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วน ลูกกระสุนโลหะไม่ควรจะถูกนำมาใช้
ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม ลำดับการใช้อาวุธและอุปกรณ์ในการสลายการชุมนุม ลักษณะการใช้อาวุธและอุปกรณ์ดังกล่าวต่อผู้ชุมนุม ระยะและแนวการยิง เป้าหมายที่ยิง จำนวนผู้บาดเจ็บ ลักษณะ-อาการบาดเจ็บ (ถ้ามี)
แม้หลักการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะมิได้ระบุอย่างชัดเจนถึงระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ต้องอนุญาตให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุม ก่อนจะยุติหรือสลายการชุมนุม แต่ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุในส่วนของการใช้อาวุธที่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่า อุปกรณ์เหล่านี้ (แก๊สน้ำตา หัวฉีดน้ำซึ่งหมายรวมถึงรถฉีดน้ำ อาวุธปืนซึ่งหมายรวมถึงการใช้อาวุธปืนที่ยิงด้วยกระสุนยาง) ควรถูกนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้ายหลังจากที่มีการตักเตือนด้วยวาจาและ ‘ให้โอกาสที่เหมาะสมแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมในการสลายการชุมนุม’ และโดยหลักการที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติเมื่อมีการสลายการชุมนุมหรือใช้กำลังในการยุติการชุมนุม ควรต้องสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความจำเป็น หลักความได้สัดส่วน หลักการใช้ความระมัดระวัง และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยพลการได้ ดังนั้น มาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงวางหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานซึ่งดูแลการชุมนุมและอนุญาตให้ศาลเข้ามาทบทวนคำสั่งให้ยุติการชุมนุมได้
อย่างไรก็ตาม นับแต่มีการบังคับใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นเวลากว่า 1 ปี 5 เดือน พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ถูกงดการบังคับใช้ หลักเกณฑ์ต่างๆ จึงถูกระงับไม่บังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุม แต่ในทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ยังคงกล่าวอ้างและระบุว่าการรวมกลุ่มหรือการชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย บางครั้งระบุว่าการรวมกลุ่มนั้นผิดพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และดำเนินการสลายการชุมนุมด้วยการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งมีการผสมแก๊สน้ำตา มีการยิงกระสุนยางและยิงแก๊สน้ำตา เพื่อยุติการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมโดยทันที หรือทำการปิดล้อมและจับกุม โดยเฉพาะในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนทะลุแก๊สรวมตัวอยู่ มีการฉีดน้ำแรงดันสูงเข้าหาผู้ชุมนุมโดยตรง เข้ากระชับพื้นที่ และเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกเรียกว่าหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าจับกุมผู้ชุมนุม
การสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ณ แยกดินแดง กรุงเทพมหานคร ภาพโดย เดลินิวส์ ออนไลน์
ในการดำเนินการดังกล่าว แม้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกฎหมายภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ซึ่งในที่นี่คือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวของผู้ชุมนุมไม่อาจทำให้ผู้ชุมนุมหลุดพ้นจากความคุ้มครองของข้อบทที่ 21 ตามกติการะหว่างประเทศได้ มีความเป็นไปได้ที่การชุมนุมโดยสงบดังกล่าวอาจถูกยั่วยุให้เกิดปฏิกิริยาเชิงต่อต้านหรือแม้แต่การใช้ความรุนแรงจากประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุผลในการห้ามหรือจำกัดการชุมนุมได้
นอกจากนี้ ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ยังระบุชัดว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่สามารถปฏิบัติงานในการชุมนุมได้ ต้องผ่านการอบรมการควบคุมการชุมนุม รวมถึงมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเท่านั้น ซึ่งขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่อาสาสมัครโครงการม๊อบ ดาต้า ประเทศไทย (Mob Data Thailand) บันทึกไว้ ว่า ในวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ขณะที่มีการจับกุมผู้ชุมนุม 5 คนจากบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ผู้ชุมนุมคนนึงถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้ารุมทำร้ายร่างกาย หลังจากนั้นถูกรัดข้อมือด้วยเคเบิ้ลไทร์เพื่อขึ้นรถควบคุมตัวผู้ต้องหาคนดังกล่าวยังถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนคนหนึ่งใช้กระบองกระแทกเข้าที่ซี่โครงและพูดว่า ‘เมิงทำเพื่อนกู’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการปฏิบัติหน้าที่ที่ลุแก่อำนาจ ใช้อารมณ์และความคับแค้นส่วนตัวในการใช้กำลังต่อผู้ชุมนุม
ส่วนเงื่อนไขในการสลายการชุมนุมตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่า เมื่อพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ไม่มีผลบังคับใช้ เงื่อนไขที่เจ้าหน้าที่มักอ้างถึงเพื่อสลายการชุมนุมจึงไม่ชัดเจน และระยะหลังไม่มีการกล่าวอ้างถึง ‘ความรุนแรง’ ที่เกิดขึ้นจากผู้ชุมนุม แต่อ้างว่าการรวมกลุ่มและชุมนุมกระทำผิดต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และทำการสลายการชุมนุมโดยทันที โดยไม่มีกำหนดระยะเวลาให้ผู้ชุมนุมยติการชุมนุมหรือใช้มาตการอื่นที่ได้สัดส่วนมากกว่า ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เห็นว่า กฎหมายภายในซึ่งกำหนดเงื่อนไขให้สลายการชุมนุมนั้ยยังไม่ได้ระบุไว้อย่างแน่ชัด อ้างอิงจากการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่สั่งให้สลายการชุมนุม ซึ่งมีการระบุเพียงว่าผู้ชุมนุมกระทำผิดตามพระราชกำหนดฯ การกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่ไม่อาจทำให้ผู้ชุมนุมหลุดพ้นจากการคุ้มครองของข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศได้ อีกทั้งการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูง กระสุนยาง แก๊สน้ำตา ที่ถึงแม้เป็นอาวุธที่มีระดับความอันตรายต่ำ แต่อุปกรณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง อีกทั้งกระสุนยางซึ่งถูกเน้นย้ำเสมอว่าไม่ควรนำมาใช้ในการควบคุมการชุมนุมกลับถูกใช้เป็นมาตรการแรก ไม่ใช่มาตรการสุดท้ายหลังกล่าวตักเตือนด้วยวาจาและ ‘ให้โอกาสที่เหมาะสมในการสลายการชุมนุม’ การยิงกระสุนยางถูกใช้โดยไม่จำกัดการใช้เฉพาะกับบุคคลที่เป็นเป้าหมายภายใต้สภาวการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างเคร่งครัด ‘เพื่อต่อต้านภัยต่อชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสอันใกล้จะถึง’ หากแต่เป็นการยิงอย่างต่อเนื่อง หรือยิงแบบอัตโนมัติ และยิงต่อผู้ที่สัญจรไปมาโดยยังไม่ปรากฏว่าบุคคลดังกล่าวจะมุ่งร้ายหรือก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตของบุคคลใด การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
การสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ณ แยกดินแดง กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
ส่วนการใช้กำลังเข้าจับกุมนั้น ตามความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่อาจใช้กำลังมากเกินสัดส่วนต่อสถานการณ์การสลายการชุมนุม หรือเพื่อจับกุมหรือสนับสนุนการจับกุมตัวผู้กระทำความผิดหรือผู้ต้องสงสัยโดยชอบด้วยกฎหมาย กฎหมายภายในประเทศต้องไม่ให้อำนาจหน้าที่โดยกว้างขวางต่อเจ้าหน้าที่ เช่น ให้อำนาจในการใช้กำลังโดยไม่ยึดหลักความจำเป็น หรือไม่กำหนดมาตรการป้องกันอย่างเพียงพอเมื่อต้องจับกุม เช่น การยิงบริเวณขาอย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เห็นว่าข้อมูลที่ผู้ถูกจับกุมให้มานั้น ระบุไปในแนวทางเดียวกันว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุมและผู้ที่มิได้เข้าร่วมการชุมนุมอย่างไม่คำนึงถึงหลักความจำเป็น หลักการใช้กำลังโดยได้สัดส่วน ส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก ส่วนหนึ่งเป็นเด็กและเยาวชน ขณะที่เจ้าหน้าที่ผู้จับกุมไม่ได้ปฏิบัติตามหลักการความชอบด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (Due Process of Law) ทั้งการไม่แสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการจับกุมหรือมีอำนาจช่วยในการจับกุม อีกทั้งไม่แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย มีการจับกุมผู้ที่มิได้ร่วมการชุมนุม เช่น พนักงานส่งอาหารเดลิเวอรี่ พนักงานส่งของ คนที่ออกมาซื้อกับข้าวก่อนเวลาห้ามออกจากเคหสถาน เจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังเข้าจับกุมโดยอ้างเพียงว่าผู้ที่ถูกจับกุมได้กระทำความผิดซึ่งหน้า และจากถ้อยแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมักให้เหตุผลว่าผู้ถูกจับกุมพยายามจะหลบหนี เจ้าหน้าที่จึงต้องใช้กำลังในการจับกุม ทั้งนี้ยังไม่มีข้อมูลรายงานหรือนำเสนอเพิ่มเติมถึงการต่อสู้ขัดขวางอันจะเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ที่มีจำนวนคนและอาวุธมากกว่าต้องใช้กำลังในการจับกุมตามที่กล่าวได้
การสลายการของกลุ่มทะลุฟ้าชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ณ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand
รายละเอียดการใช้กำลังในการจับกุมผู้ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่าเข้าร่วมการชุมนุม และปรากฎอาการบาดเจ็บจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ ดังนี้
ช่วงบนของร่างกาย มีบาดแผลรอบคอจากการถูกจับกุม มีบาดแผลฟกช้ำบริเวณหน้าอกและนิ้วมือ ถูกกระชากแขน ทำให้ข้อมือมีรอยขีดข่วนและมีบาดแผลขนาดเล็กที่ข้อศอกขวา ถูกล็อคแขนทั้งซ้ายขวา และถูกช็อตด้วยกระบองไฟฟ้าที่มีกระแสไฟฟ้าอ่อน ถูกตีด้วยกระบอง ถูกกดคอและหลังลงบนพื้นถนน ถูกจับนอนราบกับพื้นและเอามือไพล่หลัง ไหล่ช้ำ ถูกเตะบริเวณหน้าอก ถูกมัดมือด้วยเคเบิ้ลไทร์ ได้รับบาดเจ็บจากแผลถลอกและปวด ถูกกระทืบที่หลัง ถูกเตะที่บริเวณใบหน้าและลำคอจนหมดสติ ถูกเตะเข้าที่ชายโครง ถูกตีบริเวณท้ายทอย ผู้ถูกใช้ความรุนแรงดังกล่าว จึงมักพบบาดแผลบริเวณใบหน้า หลัง มือ รอบดวงตา เป็นต้น
ช่วงล่างของร่างกาย ถูกเหยียบข้อเท้าขวาจนเคล็ดและมีรอยถลอกที่น่องซ้าย มีแผลบริเวณข้อเท้า
ได้รับบาดเจ็บจากการพยายามจับกุมของเจ้าหน้าที่ ทำให้รถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงอย่างน้อย 4 คน เป็นเด็กและเยาวชนทั้งหมด
ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่แก้ม หลัง รักแร้ และบริเวณไหล่ อย่างน้อย 8 คน
หากมีการใช้อาวุธอื่น เช่น กระสุนจริง (เพราะอาจมีผู้บาดเจ็บจากการใช้กระสุนจริง) ให้บันทึกไว้
เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ปรากฏว่านอกจากจะมีการจับกุมผู้ชุมนุมทั้งหมด 13 คน ซึ่งเป็นเยาวชน 5 คนแล้ว ยังมีรายงานข่าวและข้อเท็จจริงยืนยัน ตลอดทั้งเผยแพร่ภายหลังว่ามีเยาวชนอย่างน้อย 3 คน ที่ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กระสุนจริงในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงต่อเนื่องไปยัง สน.ดินแดง เยาวชนอายุ 15 ปี 1 คนถูกยิงด้วยกระสุนจริงและยังฝังอยู่ที่ก้านสมอง ปัจจุบันร่างกายยังไม่ตอบสนองต่อการรักษา เด็กอายุ 14 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงบริเวณไหล่จนทะลุ และเยาวชนอีกรายถูกยิงบริเวณเท้า ซึ่งได้เข้ารับการรักษาและเดินทางกลับบ้านแล้ว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติระบุว่าไม่มีการใช้กระสุนจริงต่อผู้ชุมนุม แม้จะมีภาพปรากฏอย่างแพร่หลายในสื่อออนไลน์ว่าพบบุคคลใช้อาวุธปืนยิงลงมาจากสน.ดินแดงในวันที่เกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบและรวบรวมพยานหลักฐานพร้อมทั้งชี้แจงข้อค้นพบเบื้องต้นว่า เป็นการทะเลาะกันระหว่างกลุ่มวัยรุ่น เหตุการณ์ยิงไม่ใช่ฝีมือของเจ้าหน้าที่รัฐ อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของผู้เสียหายทั้งคู่ยืนยันว่าทั้งสองคนไม่มีคู่กรณี เยาวชนอายุ 15 ปี เพิ่งเข้าร่วมการชุมนุมครั้งแรกและไม่มีเหตุโกรธเคืองกับผู้ใดมาก่อน ครอบครัวของทั้งสองคนยังได้แจ้งความกับพนักงานสอบสวน สน.ดินแดง เพื่อขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนหาผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีต่อไป
ประกาศผู้บาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ภาพโดย โรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์
นอกจากนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังรายงานอีกว่า มีความพยายามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและพนักงานสอบสวน ในการเข้าสอบคำให้การเด็กอายุ 14 ปี ซึ่งพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาล โดยไม่มีทนายความและสหวิชาชีพเข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม พยาบาลไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถกระทำการดังกล่าว
เด็กอายุ 14 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงบริเวณไหล่จนทะลุจากการสลายการชุมนุมวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ภาพโดย มติชนออนไลน์
แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม
มีการแยกหรือดูแลเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือไม่ หากไม่มี ระบุมาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม
หลักการทั่วไปในการปฏิบัติงานและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม คือ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วเท่านั้นที่จะสามารถปฏิบัติการควบคุมฝูงชนได้ และการฝึกอบรมดังกล่าวต้องกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงความต้องการที่ต่างกันไปของบุคคลหรือกลุ่มคนในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางต่างๆ ซึ่งบางกรณีรวมถึงผู้หญิง เด็ก และผู้พิการ ในขณะที่คนเหล่านี้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ
อย่างไรก็ตาม แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ไม่พบการใช้มาตรการพิเศษในการอำนวยความสะดวกและคุ้มครองให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชุมนุมสามารถชุมนุมโดยสงบได้แต่อย่างใด ในทางกลับกัน เด็กและเยาวชนถูกมองเป็นเป้าหมายของกลุ่มก่อความวุ่นวายในพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2564 จนกระทั่งวันที่ 22 สิงหาคม 2564 พบว่าเด็กและเยาวชนถูกจับกุมจากการเข้าร่วมการชุมนุมในบริเวณดังกล่าวเป็นจำนวนถึง 16 คน มี 1 คน อายุเพียง 13 ปี เจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่า ‘พลัดตกจากมอเตอร์ไซค์’ และถูกส่งตัวไปรักษา ณ โรงพยาบาลตำรวจ ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเด็กคนดังกล่าวถูกแจ้งข้อกล่าวหาในภายหลังด้วยหรือไม่ แสดงให้เห็นว่า ทั้งในทางปฏิบัติและหลักการ เจ้าหน้าที่รัฐยังไม่มีมาตรการพิเศษที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนกลุ่มนี้สามารถใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุมโดยสงบได้ แม้สิทธิในการชุมนุมและการแสดงออกจะเป็นสิทธิมนุษยชนที่ถูกรับรองไว้ให้เด็กและเยาวชน ซึ่งต้องได้รับการปกป้อง คุ้มครอง และส่งเสริม ทั้งตามกติการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กก็ตาม
หากมีเด็กหรือเยาวชนที่ถูกจับกุม ระบุมาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการจับกุม เด็กหรือเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการถูกจับกุมหรือไม่ ข้อหาโดยสังเขป สถานที่ในการควบคุมตัว สิทธิอื่นของเด็ก เช่น สิทธิในการพบผู้ปกครอง การปฐมพยาบาล และสิทธิที่จะได้พบ-ปรึกษากับทนายความ
จากที่ระบุข้างต้นว่า ช่วงระหว่างวันที่ 16-22 สิงหาคม 2564 มีเด็กและเยาวชนถูกจับกุมจำนวนมาก อีกทั้งยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่มิได้ถูกจับกุมหรือดำเนินคดี แต่ได้รับบาดเจ็บจากการเข้าร่วมการชุมนุม จำนวนที่ทราบยังไม่แน่นอน เนื่องจากหน่วยงานรัฐมิได้มีการจัดเก็บโดยแยกแยะจำนวนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม ซึ่งขัดกับแนวความเห็นทั่วไปของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ฉบับที่ 37 ที่ระบุว่า การใช้กำลังทั้งหลายของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายจะต้องได้รับการบันทึกและระบุรายละเอียดไว้อย่างเหมาะสมในรายงานที่มีความโปร่งใส และหากมีผู้บาดเจ็บหรือเสียหาย รายงานฉบับดังกล่าวต้องระบุข้อมูลอย่างเพียงพอถึงความจำเป็นและความได้สัดส่วนของการใช้กำลังดังกล่าวและต้องให้รายละเอียด โดยเฉพาะผลกระทบของการกระทำดังกล่าวด้วย
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน โครงการในม๊อบมีเด็ก (Child in Mob) และ ม๊อบ ดาต้า ประเทศไทย พบว่า มีเด็กและเยาวชนซึ่งถูกจับกุมถึง 48 คน ส่วนใหญ่มาจากการชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย พบว่า เด็กทั้งหมดถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ (เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ากระทำความผิดเฉพาะหน้า) ระหว่างถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ใช้กำลังในการจับกุมและบางส่วนถูกพันธนาการด้วยกุญแจมือและเคเบิ้ลไทร์ นอกจากนี้ หากได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม เจ้าหน้าที่ยังมิได้ส่งไปรักษาตัวโดยทันที หากแต่จะนำตัวไปควบคุมยังกองบัญชาการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เป็นส่วนใหญ่ เด็กและเยาวชนถูกยึดมือถือและบางรายที่มีรถจักรยานยนต์ก็ถูกยึดด้วยเช่นกัน ทั้งนี้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ทนายเข้าพบผู้ถูกจับกุม รวมทั้งเยาวชนภายหลังทำบันทึกการจับกุมแล้วเสร็จเท่านั้น ซึ่งปรากฏในภายหลังว่าบางกรณีมีการบันทึกข้อความว่าเด็กและเยาวชนให้การรับสารภาพระหว่างทำบันทึกการจับกุมอีกด้วย และเนื่องจากเหตุการณ์ถูกจับกุมเกิดขึ้นช่วงกลางคืน ทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถพบผู้ปกครองได้อย่างทันท่วงที ทนายความที่เดินทางเพื่อขอเข้าพบยังไม่ได้รับอนุญาตให้เจอเด็กจนกว่าจะมีการทำบันทึกการจับกุมเสร็จ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงดำเนินกระบวนการแจ้งข้อกล่าวหาในช่วงกลางคืน ก่อนจะนำตัวเด็กและเยาวชนเข้าตรวจสอบการจับกุมในช่วงเช้าของวันถัดไป ณ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง
รายละเอียดการจับกุม การควบคุม สิทธิในการรักษาพยาบาลและเข้าพบทนายความอย่างทันท่วงที มีดังนี้
วันที่ 16 สิงหาคม 2564 จากผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 16 คน มีเด็กและเยาวชน 5 คน มีเยาวชนถูกทำร้ายร่างกายขณะถูกจับกุมโดยการบีบคอ อีกคนมีบาดแผลฟกช้ำจากการถูกจับกุมที่บริเวณหน้าอกและนิ้วมือ บางส่วนถูกยึดรถจักรยานยนต์และมือถือ ซึ่งหากถูกจับกุม ทั้งหมดจะถูกยึดโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและพนักงานสอบสวน
วันที่ 20 สิงหาคม 2564 จากผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 26 คน มีเด็กและเยาวชน 19 คน มีข้อมูลว่าเด็กและเยาวชนถูกทำร้ายร่างกายขณะถูกจับกุมโดยการกดคอและหลังให้นอนราบลงกับพื้น จนได้รับบาดเจ็บเป็นแผลถลอกและบวม เยาวชน 1 คน ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่กระทืบบริเวณหลัง เยาวชนอีก 1 คนถูกยิงด้วยกระสุนยาง ส่วนที่เหลือถูกกระชากคอเสื้อ ล็อคแขน ข่มขู่ให้หวาดกลัว และใส่กุญแจมือเยาวชนสองคนไว้ด้วยกัน และยังมีเด็กอีก 2 คนที่ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าบริเวณแก้มและอีกรายถูกยิงเข้าที่ขา ต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำกระสุนยางออก แพทย์ไม่อนุญาตให้ทั้งสองคนกลับบ้านและให้ทำการพักฟื้นที่โรงพยาบาล ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานเพิ่มเติมว่า ทนายความและญาติของเด็กยังไม่สามารถเข้าเยี่ยมเด็กได้
วันที่ 21 สิงหาคม 2564 จากผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 7 คน มีเยาวชน 2 คน ซึ่งทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังในระหว่างการจับกุม โดยทั้งคู่ถูกถีบเข้าที่ท้ายทอยและบริเวณแผ่นหลัง ถูกจับมัดมือด้วยเคเบิ้ลไทร์ด้วยท่าเอามือไพล่หลัง ทำให้มีอาการบาดเจ็บบริเวณเข่าและคอ ถูกเตะเข้าที่หน้าอกและไหล่ช้ำ
ภาพโดย Mob Data Thailand
วันที่ 22 สิงหาคม 2564 จากผู้ถูกจับกุมทั้งหมด 22 คน มีเด็กและเยาวชน 19 คน มีข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังในการจับกุม และได้ควบคุมตัวเด็กและเยาวชนจำนวน 16 คนไว้ที่ สน.พหลโยธิน นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มเด็กและเยาวชนดังกล่าวถูกมัดมือด้วยเคเบิ้ลไทร์เป็นระยะเวลานานกว่าจะได้รับการปล่อย ซึ่งเวลาล่วงไปถึงประมาณ 23.00 น. เด็กและเยาวชนอย่างน้อย 6 คน ได้รับบาดเจ็บจากการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ เช่น ข้อศอกบิด (ภายหลังส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจ ในเวลาประมาณ 03.30 น.) มีอาการบาดเจ็บจนเป็นแผลถลอกบริเวณแขน ขา ลำตัว และแผ่นหลัง มีภาพแสดงให้เห็นว่ามีเด็กและเยาวชนบาดเจ็บจากกระสุนยางอย่างน้อย 2 คน นอกจากนี้ ยังมีเยาวชนหญิง 1 คนถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีวัตถุคล้ายระเบิดไว้ในครอบครอง และมีเด็กหญิง อายุ 13 ปี ได้รับบาดเจ็บจากการพลัดตกจากรถจักรยานยนต์และถูกส่งตัวไปรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตำรวจ
ภาพโดย เดลินิวส์ ออนไลน์
ระบุมาตรการที่ศาลเยาวชนและครอบครัว (หากมี) จำนวนเงินที่ใช้ในการประกันตัว เป็นต้น
มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมทางอาญา ที่ประกันสิทธิของผู้ถูกจับกุมคือ การให้ผู้จับกุมนำตัวผู้ถูกจับไปยังศาลในโอกาสแรก ซึ่งตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 ระบุว่า หากมีเด็กหรือเยาวชนถูกจับกุมตัว ให้นำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลภายในระยะเวลา 24 ชั่วโมงหลังถูกจับ อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวไม่ส่งผลเป็นการคุ้มครองสิทธิเด็กที่ถูกจับกุมแต่อย่างใด เนื่องจากศาลจะนับระยะเวลาที่ถูกตรวจสอบการจับกุมเมื่อเด็กและเยาวชนได้พบกับพนักงานสอบสวนเท่านั้น แต่ระยะเวลาช่วงที่เด็กหรือเยาวชนถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนจากที่ชุมนุม ซึ่งปรากฏว่าเป็นช่วงที่เด็กและเยาวชนไม่ต่ำกว่า 5 คน ถูกทำร้ายร่างกาย หรือได้รับบาดเจ็บจากการกระสุนยางหรือแก๊สน้ำตา ศาลกลับมีคำสั่งในทุกกรณีว่าการจับกุมดังกล่าวชอบด้วยกฎหมาย ตามมาตรา 72 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ แม้ในการกระทำความผิดที่เกี่ยวกับพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ศาลมักมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวหรือประกันโดยไม่ต้องวางหลักทรัพย์ แต่ในกรณีของเยาวชนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่ามีวัตถุคล้ายระเบิดไว้ในครอบครอง เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ศาลมีคำสั่งให้วางหลักทรัพย์ 20,000 บาท เป็นหลักประกัน นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนควรใช้ดุลพินิจของตัวเองในการพิจารณาให้ปล่อยชั่วคราวในชั้นสอบสวน แต่ทั้งนี้พนักงานสอบสวนกลับไม่เคยใช้ดุลพินิจดังกล่าวเลย แม้ปรากฏข้อเท็จจริงในภายหลังว่าเยาวชนบางคนมิได้เข้าร่วมการชุมนุมแต่ถูกจับกุมมาก็ตาม พนักงานสอบสวนจะนำตัวทุกคนไปศาลเยาวชนและครอบครัวเพื่อขออำนาจศาลฝากขังทุกกรณี
แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ในการชุมนุม
นโยบาย-ถ้อยแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.บชน.) (ถ้ามี) ต่อกรณีการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน
เจ้าหน้าที่ตำรวจโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เน้นย้ำให้สื่อมวลชนใส่ปลอกแขนสื่อเพื่อแสดงสัญลักษณ์ระหว่างที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุนว่าเป็นสื่อมวลชนและกำลังปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน อีกทั้งยังกำหนดจุดหรือบริเวณที่สื่อควรอยู่เพื่อนำเสนอหรือรายงานข่าว เช่น กำหนดให้อยู่บริเวณด้านหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น โดยระบุว่าเพื่อความปลอดภัยของสื่อมวลชนเอง มีการตรวจค้นเพื่อหาบัตรของสื่อมวลชน หากพบว่าไม่มีบัตรประจำตัวก็มีความเสี่ยงที่จะถูกจับกุมได้เช่นเดียวกับผู้ชุมนุม