วันที่: 18/9/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมช่วงวันที่ 23-31 สิงหาคม 2564

description

ช่วงระหว่างวันที่ 23 – 31 สิงหาคม 2564 เป็นสัปดาห์ที่มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ดำเนินคู่ขนานไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาที่จะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 1 – 4 กันยายน 2564 โดยกลุ่มหลักที่จัดการชุมนุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทะลุฟ้า กลุ่มของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และ กลุ่มเยาวชนทะลุแก๊ซ

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมช่วงวันที่ 23 – 31 สิงหาคม 2564 

กลุ่มผู้จัด สถานที่ เวลา ผู้เข้าร่วมการชุมนุมโดยประมาณ จำนวนเจ้าหน้าที่ในการควบคุมการชุมนุม 

ช่วงระหว่างวันที่ 23 – 31 สิงหาคม 2564 เป็นสัปดาห์ที่มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ดำเนินคู่ขนานไปกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาที่จะเกิดขึ้นช่วงวันที่ 1 – 4 กันยายน 2564 โดยกลุ่มหลักที่จัดการชุมนุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มทะลุฟ้า ที่จัดกิจกรรมและเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยเรียกร้องพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจและจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยในสัปดาห์นี้ กลุ่มทะลุฟ้าจัดกิจกรรม “สภาประชาชน” ที่รัฐสภา ในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 และ กิจกรรมไล่ล่าทรราช “ความหวังและการต่อสู้ของประชาชน” ในรูปแบบกีฬาสี ครั้งที่ 2 ในวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อสะท้อนกิจกรรมการแสดงออกเชิงสร้างสรรค์โดยการนำกิจกรรมกีฬา เช่น กีฬามวย การเล่นสเก็ต มาเพื่อสนับสนุนข้อเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาลาออก กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มของณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายสมบัติ บุญงามอนงค์  ซึ่งนัดหมายจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ  "Car Mob - Call out" และมีแนวร่วม ในกรุงเทพมหานคร เช่น กลุ่มที่นำโดย ม่อน อาชีวะ ทั่วประเทศกว่า 30 จังหวัด ร่วมทั่วประเทศ  ในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา โดยรวมตัวที่ทางลงอุโมงค์เกษตร แยกบางเขน มุ่งหน้าวิภาวดี เวลา 14.00 น. และเคลื่อนขบวนเป็นระยะทาง 50 กิโลเมตรซึ่งปลายทางอยู่ที่สวนเทพปทุม และอีกหนึ่งกลุ่มคือกลุ่มเยาวชนทะลุแก๊ซ ซึ่งเริ่มจากการมีมวลชนอิสระมารวมตัวบริเวณแยกดินแดงตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคม และยังคงชุมนุมต่อเนื่อง ในช่วงเวลาประมาณ 17.30 น. โดยในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม กลุ่มทะลุแก๊สทำกิจกรรมทั้งสิ้น 4 ครั้ง 

อย่างไรก็ตามสถานการณ์จำเลยจากคดีการชุมนุมทางการเมืองถูกคุมขังตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2564  อย่างน้อย 11 คน ต่อมาศาลได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาไปแล้วอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ ปนัดดา  ศิริมาศกุล หรือ ต๋ง ทะลุฟ้า, นิว สิริชัย นาถึง, แซม สาแมท,ปูน ธนพัฒน์  กาเพ็ง ในขณะที่ผู้ต้องหาอีกอย่างน้อย 7 คน ยังอยู่ระหว่างการคุมขัง ได้แก่ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์, ไมค์ ภาณุพงศ์ จาดนอก, บอย ชาติชาย แกดำ, ฟ้า พรหมศร วีระธรรมจารี, ณัชนน ไพโรจน์, อานนท์ นำภา, ไผ่ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า มีผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอย่างน้อย 5 คน ที่ติดเชื้อโควิด ส่งผลให้ กิจกรรม  “ยืน หยุด ขัง” กลับมาอีกครั้งเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564  ที่ศาลอาญา กรุงเทพฯ และ ลานสามกษัตริย์ ที่เชียงใหม่จนถึงปัจจุบัน  

ลักษณะการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการยุติการชุมนุม จำนวนและตัวอย่างของผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุม รวมทั้ง เด็กและเยาวชน สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์  

แม้ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ซึ่งออกตามความในข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า การสลายการชุมนุมนั้นอาจทำได้ในกรณีพิเศษอันเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น กล่าวคือ หากการชุมนุมนั้นไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบอีกต่อไป หรือเมื่อมีพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับการใช้ความรุนแรงอย่างร้ายแรงโดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจแก้ไขได้อย่างสมเหตุสมผลด้วยมาตรการอื่นที่ได้สัดส่วนมากกว่า และแม้ว่าจะเข้าเงื่อนไขให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสลายการชุมนุมได้ แต่เงื่อนไขและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็นการปฏิบัติเท่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ  

อย่างไรก็ตามจากการลงสังเกตการณ์การชุมนุมในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า ภายหลัง วันที่ 21 สิงหาคม 2564 ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติทำการย้ายตู้คอนเทนเนอร์ออกจากบริเวณถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเคยใช้ขวางการเดินเท้าและการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมที่จะเดินทางไปยังบ้านพักนายกรัฐมนตรี ผู้ชุมนุมอิสระยังคงชุมนุมต่อเนื่อง ถึงแม้เพจเยาวรุ่นทะลุแก๊ส ได้ประกาศว่าไม่มีการชุมนุม ผู้ชุมนุมยังคงรวมตัวบริเวณแยกดินแดง และอุปกรณ์ เช่น หนังสติ๊ก ลูกแก้ว ลูกกระทบ ประทัดยักษ์ และอื่นๆ ขว้างปาเข้าไปในบริเวณกรมดุริยางค์ทหารบก ขณะที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนยังคงใช้กระสุนยางเพื่อตอบโต้ผู้ชุมนุมอิสระ โดยหลายกรณีไม่มีการประกาศแจ้งเตือน ในกรณีการเข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมพร้อมด้วยการใช้แก๊สน้ำ รถฉีดน้ำทั้งน้ำสีม่วงและใสไม่มีสี และยิงกระสุนยาง หลังจากผู้ชุมนุมบางส่วนมีการปาประทัด ซึ่งสะท้อนการจำกัดการชุมนุมที่สงบและปราศจากอาวุธในภาพรวม อีกทั้งไม่ได้แยกกลุ่มบุคคลที่ใช้ความรุนแรง ไม่พบการดำเนินการตามสัดส่วนจากเบาไปหาหนัก ดังจะเห็นได้จากการตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยใช้การยิงแก๊สน้ำตา ฉีดนแรงดันสูงสีม่วงซึ่งทำให้เกิดการระคายเคืองและไม่มีสีสลับกัน รวมถึงการยิงกระสุนยาง ทั้งยังไม่พบการลดความตึงเครียดของสถานการณ์ไม่ให้นำไปสู่ความรุนแรงด้วยวิธีการอื่นซึ่งควรใช้การสลายการชุมนุมเป็นหลักการสุดท้าย 

นอกจากนี้โดยในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจบริเวณรอบพื้นที่การชุมนุม เช่น บริเวณซอยรางน้ำ บริเวณถนนเส้นราชปรารภ และบริเวณพระราม 9  ส่งผลให้ผู้ชุมนุมถูกจับกุมในพื้นที่ชุมนุมทั้งสิ้น 51 คน และถูกดำเนินคดีทั้งสิ้น 43 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บซึ่งเป็นเยาวชน อายุ  15 ปี ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางบริเวณกกกตาจากบริเวณกรมดุริยางค์ทหารบก ในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 และผู้สังเกตการณ์ของ Mob Data Thailand รายงานว่าในวันที่ 24 และ 25 สิงหาคม มีผู้ชุมนุมได้รับบาดเจ็บที่บริเวณศีรษะอย่างน้อย 1 คนต่อวัน บริเวณกรมดุริงยางค์ทหารบก และที่ซอยรางน้ำ ทั้งนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม – 29 สิงหาคม 2564 มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 115 ราย เป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 31 ราย 

ลักษณะการสลายหรือยุติการชุมนุม  

ในทางกฎหมายระหว่างประเทศและแนวคำวินิจฉัยของคณะกรรมการหรือศาลสิทธิมนุษยชน ปรากฏเป็นข้อเท็จจริงทั่วไปว่า เส้นแบ่งระหว่างการชุมนุมโดยสงบและไม่สงบอาจไม่ชัดเจนเสมอไป แต่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าการชุมนุมนั้นเป็นไปโดยสงบ และการกระทำรุนแรงเฉพาะตัวของผู้ชุมนุมบางคนไม่สมควรจะถูกนำไปเหมารวมเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมคนอื่นหรือของการชุมนุมโดยรวม และข้อเท็จจริงที่ว่าผู้ชุมนุมบางคนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมบางประการ ไม่ทำให้ผู้ชุมนุมนั้นหลุดพ้นจากการคุ้มครองตามข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศได้ ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นหน้าที่ของรัฐในการรับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ด้วยการเคารพและประกันการใช้สิทธิดังกล่าวโดยไม่เลือกปฏิบัติ รัฐต้องอนุญาตให้การชุมนุมโดยสงบเกิดขึ้นได้และต้องไม่แทรกแซงโดยมิชอบ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการห้ามแทรกแซงเนื้อหาของการชุมนุม รัฐต้องอำนวยความสะดวกและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับผู้ชุมนุมด้วย 

แม้หน้าที่ดังกล่าวของรัฐจำเป็นต้องได้รับการปฏิบัติทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการชุมนุม เจ้าหน้าที่ปรับแผนยุทธวิธีด้วยลักษณะการปิดกั้นการเข้าพื้นที่การชุมนุมด้วยการตั้งด่านตรวจรอบพื้นที่การชุมนุมทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการชุมนุม  

ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า อํานาจในการ “สั่งให้หยุดเพื่อตรวจค้น” และ “สั่งให้หยุดเพื่อค้นตัว” ที่ถูกนําไปใช้กับบุคคลที่เข้าร่วมการชุมนุม หรือกําลังจะเข้าร่วมการชุมนุม ต้องถูกนําไปใช้โดยมีรากฐานมาจากความสงสัยอย่างสมเหตุสมผลว่าจะมีการก่อให้เกิด หรือมีความเสี่ยงว่าจะก่ออาชญากรรมร้ายแรง และจะต้องไม่ถูกนําไปใช้ในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติ ลําพังข้อเท็จจริงที่ว่าเจ้าหน้าที่พบว่าบุคคลใดมีความเชื่อมโยงกับการชุมนุมไม่ได้เป็นเหตุที่สมเหตุสมผลสําหรับการให้หยุด และตรวจค้น 

ในช่วงวันที่ 23 – 31 สิงหาคม 2564 ลักษณะการวางกำลังของเจ้าหน้าที่เปลี่ยนวิธีรับมือผู้ชุมนุมด้วยการตั้งด่านตรวจ บริเวณราชปรารภและบริเวณพระราม 9 ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน ขณะที่ตำรวจตระเวนชายแดนและชุดควบคุมฝูงชนวางกำลังบริเวณป้ายรถเมล์ก่อนถึงโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ใกล้กับกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ นอกจากนี้ ในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 หลังจากที่เพจเฟสบุ๊ค เยาวรุ่นทะลุแก๊ส นัดหมายการชุมนุมที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจที่แยกราชประสงค์ และ แยกเฉลิมเผ่า ขณะที่เจ้าหน้าที่สันติบาล รักษาการหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต่อมา เพจเยาวรุ่นทะลุแก๊สแจ้งข่าวสารว่าไม่มีการชุมนุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่มีการตรวจค้น รถจักรยานยนต์โดยพุ่งเป้าการตรวจค้นไปที่ กลุ่มบุคคลที่เป็นพนักงานส่งอาหาร โดยอ้างเหตุว่า หลังจากสืบสวนเชิงลึกพบว่า มีกลุ่มสนับสนุนให้ส่งอาวุธให้เด็กและเยาวชนให้ก่อความรุนแรงในพื้นที่ผ่านพนักงานส่งอาหาร ซึ่งไม่เป็นไปตามหลักการตามความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 เรื่องการหยุดเพื่อตรวจค้น เพราะ ข้อเท็จจริงที่ว่าเจ้าหน้าที่พบว่าบุคคลใดมีความเชื่อมโยงกับการชุมนุมไม่ได้เป็นเหตุที่สมเหตุสมผลสําหรับการให้หยุด และตรวจค้น   

นอกจากนี้ ในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 นอกจากมีการสลายการชุมนุมในพื้นที่ดินแดงแล้ว ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่ามีการการจับกุมโดยมิชอบ ที่ด่านตรวจนอกพื้นที่โดยอ้างว่าติดตามมาจากการชุมนุมทั้งก่อนและภายหลังการชุมนุม รวมถึงมีการจับกุมโดยใช้กำลังเกินกว่าเหตุ รวมทั้งไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในการจับกุมและแจ้งสิทธิของผู้ถูกจับกุม โดยพบกว่ามีผู้ถูกจับกุมที่สถานีตำรวจนางเลิ้ง 9 คน เป็นเยาวชน 4 คน นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้จับกุมประชาชน ริมถนนดินแดงขณะออกจากที่ทำงานหารถกลับบ้านไม่ได้จนถึงเวลาเคอร์ฟิว ซึ่งถือเป็นการจับกุมตัวบุคคลจำนวนมากโดยไม่เลือก ทั้งในช่วง ก่อน ระหว่างและหลังการชุมนุมถือเป็นการกระทำโดยพลการ จึงมิชอบด้วยกฎหมาย13         

การสลายการชุมนุม 

  • มีการปิดกั้นการชุมนุมหรือไม่ หากมี ใช้วิธีการ/อุปกรณ์ใด ตัวอย่างเช่น การชุมนุมเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม มีการใช้ตู้คอนเทนเนอร์  

เจ้าหน้าที่รัฐยังมีการห้าม จำกัด ขัดขวาง และรบกวนการชุมนุมของบุคคลหลายครั้งด้วยรูปแบบและ มาตรการที่แตกต่างกัน ที่พบเห็นได้บ่อยคือการใช้อุปกรณ์หรือวัตถุขนาดใหญ่ปิดกั้นพื้นที่เพื่อมิให้ผู้ชุมนุมใช้เส้นทางหรือเดินขบวนได้ เช่นตู้คอนเทนเนอร์ รั้วเหล็กสำหรับใช้กั้น ซึ่งเป็นการปิดกั้นการใช้สิทธิในการชุมนุมของผู้ชุมนุมอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันมิให้ผู้ชุมนุมก่อความวุ่นวายหรือรุกล้ำเข้าไปในสถานที่ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญของชาติ อันแสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่าการชุมนุมนั้นเป็นการชุมนุมโดยไม่สงบ จึงปิดกั้นและขัดขวางมิให้เกิดการชุมนุมขึ้น  

  • ลักษณะการวางกำลังของเจ้าหน้าที่ ระยะเวลาที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม ข้อกฎหมายที่อ้างว่าฝ่าฝืนกฎหมายและเป็นเหตุให้ยุติการชุมนุม  

  • มาตรการของเจ้าหน้าที่ในการใช้อาวุธและอุปกรณ์เพื่อสลาย-ยุติการชุมนุม เช่น รถน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง  

ในกรณีเจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่และเข้าสลายการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งคือ คือ วันที่ 23 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่ในเวลาเคอร์ฟิว ประมาณ 21.00 น. ด้วยรถกระบะเคลื่อนที่เร็วพร้อมชุดควบคุมฝูงชนเข้าปิดล้อมผู้ชุมนุม ตั้งแต่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยฯเข้าสู่แยกดินแดง และวันที่ 29 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่มีการปิดกั้นแนวด้วยตู้คอนเทนเนอร์เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถเข้าพื้นที่การชุมนุมที่ถนนวิภาวดี มุ่งหน้า กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ แนวคอนเทนเนอร์ถูกวางบนถนนวิภาวดีเสมอแนวร้าน Heap เป็นการตั้งปิดการจราจรเกือบทั้งหมด เปิดช่องทางขวาสุดให้รถสัญจรได้ และตั้งตู้คอนเทนเนอร์บริเวณช่องทางคู่ขนานหน้าสนามยิงปืน ราบ 1     

เมื่อผู้ชุมนุมไม่กี่คนเดินเข้าแนวคอนเทนเนอร์ที่ปิดกั้นผู้ชุมนุมและปาประทัด เจ้าหน้าที่เพียงแต่ประกาศแจ้งเตือนการกระทำที่ผิดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 โดยระบุว่าผู้ชุมนุมฝ่าฝืนกฎหมายข้างต้นต่อมาเจ้าหน้าที่จึงการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอย่างแก๊สน้ำตาโดยทันที ต่อด้วยการใช้กระสุนยาง ยิงใส่ผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง  ต่อมา ตำรวจใช้เครื่องส่งคลื่นความถี่สูง (LRAD) เจ้าหน้าที่มีลักษณะการสลายคือเดินหน้าฉีดน้ำและถอยหลังไปแนวทางลงทางด่วนดินแดงอยู่หลายครั้ง อย่างไรก็ตามไม่มีการแจ้งตามขั้นตอนว่าจะใช้อุปกรณ์อะไร เวลาใด อย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามในพื้นที่ชุมนุมมีผู้สังเกตการณ์พบบุคคลถือปืนไทยประดิษฐ์เข้ามาในพื้นที่ชุมนุม   

แม้หลักการระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนจะมิได้ระบุอย่างชัดเจนถึงระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ต้องอนุญาตให้ผู้ ชุมนุมเลิกการชุมนุม ก่อนจะยุติหรือสลายการชุมนุม แต่ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ระบุในส่วนของการใช้อาวุธที่มีระดับความรุนแรงน้อยกว่า อุปกรณ์เหล่านี้ (แก๊สน้ำตา หัวฉีดน้ำซึ่งหมายรวมถึงรถฉีดน้ำ อาวุธปืนซึ่งหมายรวมถึงการใช้อาวุธปืนที่ยิงด้วยกระสุนยาง) ควรถูกนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้ายหลังจากที่มีการตักเตือนด้วยวาจาและ ‘ให้โอกาสที่เหมาะสมแก่ผู้เข้าร่วมชุมนุมในการสลายการชุมนุม’ ซึ่งจากการชุมนุมในวันที่ 29 สิงหาคม เจ้าหน้าที่ไม่ได้พยายามใช้มาตรการอื่นในการระงับยับยั้งความรุนแรง และการสลายการชุมนุมควรถูกนำมาใช้เป็นกรณีสุดท้ายเมื่อการชุมนุมนั้นไม่สงบอีกต่อไปแล้ว แต่จากเหตุข้างต้น ผู้ชุมนุมที่มีการจุดระเบิดเพลิง พลุไฟ และการมีอาวุธปืนในครอบครอง และการก่อเหตุวิวาทจนผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ ถือเป็นการกระทำรุนแรงเฉพาะตัวบุคคล ไม่ถือว่าการชุมนุมโดยรวมเป็นการชุมนุมที่ไม่สงบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนจำเป็นต้องใช้ความพยายามในการแยกบุคคลที่ใช้ความรุนแรงออกจากผู้ชุมนุม เพื่อให้การชุมนุมยังสามารถดำเนินไปได้และโดยหลักการที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติเมื่อมีการสลายการชุมนุมหรือใช้กำลังในการยุติการชุมนุม ควรต้องสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความจำเป็น หลักความได้สัดส่วน หลักการใช้ความระมัดระวัง และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยพลการได้ ดังนั้น มาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงวางหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานซึ่งดูแลการชุมนุมและอนุญาตให้ศาลเข้ามาทบทวนคำสั่งให้ยุติการชุมนุมได้ อย่างไรก็ตามสืบเนื่องจากการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นเวลา 1 ปี 7 เดือน ส่งผลให้ พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ ถูกงดการบังคับใช้ หลักเกณฑ์ต่างๆ จึงถูกระงับไม่บังคับใช้โดยเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลการชุมนุม  

ในส่วนของการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน การใช้อุปกรณ์ทั้ง แก๊สน้ำตา กระสุนยางและรถฉีดน้ำแรงดันสูง เจ้าหน้าที่มีการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวซึ่งขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน ดังจะเห็นได้จาก การใช้และยิงแก๊สน้ำตาพบว่า ส่วนใหญ่จึงไม่ใช่การยิงระยะไกลต่อกลุ่มบุคคลที่กระทำรุนแรง แต่เป็นการยิงระยะใกล้แม้จะเป็นการยิงต่อผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าใช้ความรุนแรงก็ตาม แต่การกระทำของเจ้าหน้าที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ถูกยิงจนเกินสมควรแก่เหตุ ยิ่งไปกว่านั้น การยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางโดยไม่เลือกเป้าหมายและกดหัวอุปกรณ์ให้ต่ำลงนั้น เจ้าหน้าที่ย่อมเล็งเห็นผลว่าจะทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและร่างกายของผู้ชุมนุมอื่นๆ นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังใช้มาตรการกระชับพื้นที่หรือปิดล้อม (Containment หรือ Ketting) กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและระดมยิงแก๊สน้ำตารวมทั้งกระสุนยางอย่างต่อเนื่อง ขัดต่อหลักการเบื้องต้นในเรื่องความจำเป็นและความได้สัดส่วนของการใช้อุปกรณ์ดังกล่าวและความเห็นที่ว่าแก๊สน้ำตาไม่ควรยิงในพื้นที่ที่จำกัด  

ส่วนการใช้กระสุนยางนั้น มีหลักการใช้เช่นเดียวกันเพราะมุ่งยุติบุคคลที่สร้างความรุนแรงและแยกบุคคลนั้นออกจากกลุ่มผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม การยิงกระสุนยางในลักษณะกราดยิงอย่างไม่เลือกเป้าหมาย หรือยิงเพื่อเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเข้าจับกุมผู้ชุมนุม เป็นการใช้กระสุนยางที่ไม่สอดคล้องกับหลักการใช้เมื่อมีภัยคุกคามที่กระชั้นที่จะเกิดขึ้นกับเจ้าหน้าที่หรือบุคคลทั่วไป ยิ่งไปกว่านั้น การยิงกระสุนยางเข้าไปในเคหสถานไม่ว่าด้วยเหตุผลที่เชื่อว่ามีผู้ชุมนุมหลบซ่อนอยู่หรือไม่ก็ตาม เป็นการใช้กระสุนยางที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างแน่นอน นอกจากนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังเน้นย้ำเพิ่มเติมว่าอาวุธปืนดังกล่าวไม่ใช่อาวุธที่เหมาะสมในการควบคุมฝูงชนและจะต้องไม่ถูกใช้เพื่อสลายการชุมนุม ข้อเท็จจริงจากการใช้กระสุนยางข้างต้นจึงไม่สอดคล้องกับข้อยกเว้นที่กำหนดไว้ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ที่ระบุไว้ว่า กระสุนยาง ‘จะต้องถูกใช้อย่างจำกัดกับบุคคลที่เป็นเป้าหมายภายใต้สภาวการณ์ที่มีความจำเป็นอย่างเคร่งครัดเพื่อต่อต้านภัยต่อชีวิตหรือการบาดเจ็บสาหัสอันใกล้จะถึง’ ซึ่งประทัดยักษ์ สี และข้าวของ ยังไม่อยู่ในนิยามและความคาดหมายของภัยต่อชีวิตหรืออาจทำให้บุคคลบาดเจ็บสาหัสแต่อย่างใด   

ส่วนเครื่องฉีดน้ำหรือรถฉีดน้ำแรงดันสูงยังถูกระบุให้เป็นมาตรการสุดท้ายที่เจ้าหน้าที่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ใช้เพื่อสลายการชุมนุมในพื้นที่แคบและอยู่พื้นที่ชุมชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างไม่แบ่งแยก และรวมถึงผู้สังเกตการณ์ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ที่ผสมสีเข้าไปด้วย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าเพื่อต้องการแยกกลุ่มผู้ก่อเหตุออกจากคนปกติ โดยครั้งต่อไปหากพบว่าใครมีสีติดอยู่ก็จะถูกจับกุม เป็นเครื่องมือควบคุมฝูงชนที่ได้รับอนุมัติตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยืนยันว่า สารเคมีที่ใช้ผสมน้ำไม่เกิดอันตรายต่อร่างกาย อย่างไรก็ตามผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ในพื้นที่มีอาการแสบคันที่ผิวหนัง หลังจากสัมผัสกับสารเคมีดังกล่าว นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังแถลงเพิ่มเติมถึงการนำตู้คอนเทนเนอร์มาใช้เนื่องจากมีการชุมนุมหลายพื้นที่จึงวางไว้เป็นแนวป้องกัน รวมถึงการข่าวพบว่านำอาวุธไปก่อเหตุรุนแรงที่แยกสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งถือว่าเป็นการสันนิษฐานไว้ก่อนแล้วว่าการชุมนุมนั้นๆไม่สงบและถือเป็นการปิดกั้นการแสดงออก    

ยังมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูง ฉีดใส่ผู้ชุมนุมเพื่อเปิดพื้นที่ให้เจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่หรือทวงคืนพื้นที่ถนนจากผู้ชุมนุมที่พยายามรวมกลุ่มอยู่ ซึ่งยังไม่พบว่าเป็นกรณีที่มีความเสี่ยงอันอาจให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตหรือการบาดเจ็บร้ายแรง  ดังนั้นการใช้รถฉีดน้ำแรงดันสูงอย่างต่อเนื่องเพื่อเปิดทางจึงขัดต่อหลักความจำเป็นและความได้สัดส่วนของการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว  

  • มีการใช้อาวุธอื่น เช่น อาวุธปืนและกระสุนจริง หรือไม่ 

ในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ผู้สังเกตการณ์โครงการ Mob Data Thailand รายงานว่าพบผู้ชุมนุมถือปืนลักษณะเป็นปืนไทยประดิษฐ์   

ปรากฎ ต่อมาวันที่ 31 สิงหาคม 2564 บุคคลที่ถือปืนไทยประดิษฐ์ในพื้นที่การชุมนุม  ที่สภ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ผู้ปกครองพา นายเอ (นามสมมติ) อายุ 16 ปี ลูกชาย เข้ามอบตัว ยอมรับเป็นชายในรูปที่จากการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง กทม. เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่าจะดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป    

  • มีการใช้ความรุนแรงจากกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่ หากมีโปรดระบุว่ามีการใช้อาวุธหรืออุปกรณ์ใดในการก่อความรุนแรง เจ้าหน้าที่ได้เข้าไปแยกหรือใช้อุปกรณ์ดังกล่าวข้างต้นเจาะจงกับกลุ่มผู้อาจจะใช้ความรุนแรงหรือไม่ 

ในวันที่ 29 สิงหาคม 2564  ในระว่างที่เจ้าหน้าที่มีการสลายการชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดง มีมวลชนบางส่วนทะเลาะวิวาทและทำร้ายบุคคลคล้ายเจ้าหน้าที่ต่อมามีบุคคลากรทางการแพทย์เข้ารักษาและนำส่งโรงพยาบาล ต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ในเวลาต่อมาเจ้าหน้าที่สามารถจับกุมผู้ที่ทำร้ายบุคคลดังกล่าวได้ 2 ราย   

แม้โดยหลักการทั่วไป กรอบกฎหมายทั้งระหว่างประเทศและภายในประเทศจะมุ่งคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบเท่านั้น แต่หลักการพิจารณาว่าการชุมนุมใดเป็นการชุมนุมโดยสงบหรือไม่ ‘ต้องอ้างอิงถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากผู้ชุมนุม ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่รัฐกระทำกับผู้ชุมนุมที่ชุมนุมโดยสงบไม่ทำให้การชุมนุมนั้นกลายเป็นการชุมนุมที่ใช้ความรุนแรง’ 

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่ลแนล ประเทศไทย พบว่า ข้อเท็จจริงที่ปรากฎในช่วงระหว่างวันที่ 23-31 สิงหาคม 2564 ความรุนแรงที่เกิดจากผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นความพยายามฝ่าแนวกั้นของเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน การรื้อรั้วกั้นหรือการเคลื่อนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ การขว้างปาสิ่งของ การขว้างปาประทัดยักษ์ และการจุดพลุไฟ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการตอบโต้ต่อการปิดกั้นมิให้ใช้พื้นที่หรือเคลื่อนย้ายผ่านถนนหรือบริเวณที่ผู้ชุมนุมประสงค์จะชุมนุม ยิ่งไปกว่านั้น หากเจ้าหน้าที่พบว่ามีการใช้ความรุนแรงจากผู้ชุมนุมบางคน จึงจำเป็นต้องยุติด้วยมาตรการที่เหมาะสมกับความจำเป็นและความได้สัดส่วน แต่ไม่สมควรถูกนำไปเหมารวมว่าเป็นการกระทำของผู้ชุมนุมคนอื่นๆ เช่น ผู้จัดการชุมนุม หรือการชุมนุมโดยรวม ผู้ชุมนุมที่เหลือจึงยังต้องได้รับการคุ้มครองตามข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ปรากฏเบื้องต้นพบว่า การระบุตัวตนของบุคคลที่อาจก่อเหตุอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินส่วนรวมและเป็นวงกว้าง ยังไม่ได้รับการปฏิบัติโดยเจ้าหน้าที่ การใช้อาวุธที่มีความรุนแรงน้อยกว่า เช่น หัวฉีดน้ำแรงดันสูง แก๊สน้ำตา การยิงกระสุนยาง รวมถึงการใช้กำลังในการจับกุม แม้จะถูกระบุให้เป็นหนึ่งในมาตรการที่ใช้สลายการชุมนุม หากเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณ์การใช้อย่างเคร่งครัด อาจส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายในวงกว้าง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักความได้สัดส่วนและสมควรแก่เหตุเสมอ    

แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม  

  • มีการแยกหรือดูแลเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมหรือไม่ หากไม่มี ระบุมาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม  

  • หลักการทั่วไปในการปฏิบัติงานและการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ชุมนุม คือ เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการฝึกอบรมแล้วเท่านั้นที่จะสามารถปฏิบัติการควบคุมฝูงชนได้ และการฝึกอบรมดังกล่าวต้องกระตุ้นให้เจ้าหน้าที่ตระหนักถึงความต้องการที่ต่างกันไปของบุคคลหรือกลุ่มคนในสถานการณ์ที่มีความเปราะบางต่างๆ ซึ่งบางกรณีรวมถึงผู้หญิง เด็ก และผู้พิการ ในขณะที่คนเหล่านี้เข้าร่วมการชุมนุมโดยสงบ  

  • หากมีเด็กหรือเยาวชนถูกจับกุม ระบุมาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการจับกุม เด็กหรือเยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการถูกจับกุมหรือไม่ ข้อหาโดยสังเขป สถานที่ในการควบคุมตัว สิทธิอื่นของเด็ก เช่น สิทธิในการพบผู้ปกครอง การปฐมพยาบาล และสิทธิที่จะได้พบ-ปรึกษากับทนายความ  

รายละเอียดการจับกุม การควบคุมตัว สิทธิในการรักษาพยาบาลและเข้าพบทนายความอย่างทันท่วงที มีดังนี้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า  ในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ได้ใช้รถกระบะเคลื่อนที่เร็ว เข้ากระชับพื้นที่และจับกุมผู้ชุมนุมอย่างน้อย 5 คน เป็นเยาวชน อายุ 13 ปี 1 คน ซึ่ง 3 คนถูกจับกุมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง โดยทั้งหมดถูกควบคุมตัวมาจัดทำบันทึกจับกุมที่ กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อหา ได้แก่ ร่วมกันจัดกิจกรรมและชุมนุมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 วรรคสอง, มาตรา 216 และฝ่าเคอร์ฟิว นอกจากนี้ เมื่อเวลา 01.30 น. ของวันที่ 24 ส.ค. 64 ยังได้รับรายงานกรณีจับกุมวัยรุ่นอายุ 19 ปี อีก 2 ราย ในฐานความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากพื้นที่การชุมนุมบริเวณแยกดินแดง  

ในวันที่ 28 สิงหาคม 2564 ทีมแพทย์อาสาในนามกลุ่ม People for people จำนวน 8 คน และประชาชน 1 คน ถูกจับกุมบริเวณแยกดินแดง โดยแจ้งข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โดยทางกลุ่มแพทย์พยาบาลระบุว่าได้รับแจ้งข้อมูลมาว่ามีผู้ชุมนุมตีกล้องวงจรปิดที่ป้อมบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ทีมแพทย์จึงเข้ามาตรวจสอบสถานการณ์ในกรณีที่มีเหตุปะทะแต่ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมตั้งแต่เวลาประมาณ 21.30 น. ที่บริเวณแยกดินแดงและนำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สน.ดินแดง และพาไป กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จนเวลาประมาณ 2.30 น. ซึ่งในช่วงเวลา 21.30 – 02.30 น. เป็นเวลากว่า 5 ชั่วโมงที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุญาตให้ผู้ถูกจับกุมติดต่อทนาย 

ในวันที่ 29 สิงหาคม 2564 ภายหลังการชุมนุมใหญ่ในกิจกรรม Car Mob Call Out นำโดยณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และสมบัติ บุญงามอนงค์ มีผู้ชุมนุมบางส่วนไปรวมตัวที่บริเวณแยกดินแดง ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุม รวมทั้งประชาชนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุม 37 ราย ปล่อยตัวไม่ดำเนินคดี 8 รายซึ่งหนึ่งในนั้นมีช่างภาพอิสระ 1 รายที่ถูกควบคุมตัว และดำเนินคดีกว่า 29 ราย โดยเป็นเยาวชนกว่าครึ่ง โดยอายุต่ำสุดที่โดนคดีคือ อายุ 14 ปี นอกจากนี้ ผู้ถูกจับกุมถูกทำร้ายในระหว่างการจับกุมรวม 6 ราย เป็นเยาวชน 2 ราย โดยทั้งหมดถูกจับที่ถนนราชปรารภและดินแดง ขณะที่มีเยาวชน 1 ราย ถูกตั้งข้อหา ทำร้ายร่างกายผู้อื่น จากเหตุการณ์ที่บุคคลลักษณะคล้ายเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบถูกทำร้ายขณะแอบถ่ายรูปผู้ชุมนุมบริเวณอาคารไทยวิวัฒน์ ซึ่งต่อมากองบัญชาการตำรวจนครบาลชี้แจงว่าบุคคลดังกล่าวคือเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง โดยจับกุมผู้ก่อเหตุกับบุคคลดังกล่าวได้ 2 ราย 1 รายเป็นเยาวชน  

แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ในการชุมนุม  

  • นโยบาย-ถ้อยแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บก.บชน.) (ถ้ามี) ต่อกรณีการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน  

ตามความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า บทบาทของสื่อมวลชน นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ผู้ สังเกตการณ์การเลือกตั้ง และบุคคลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการ ทําหน้าที่ในการสังเกตการณ์หรือการรายงานเกี่ยวกับการชุมนุมมีความสําคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการการใช้สิทธิใน การชุมนุมโดยสงบได้อย่างบริบูรณ์ พวกเขาเหล่านั้นย่อม ต้องได้รับความคุ้มครองภายใต้กติกา ฯ ฉบับนี้ รัฐไม่ควร ห้ามมิให้เขาเหล่านั้นทําหน้าที่หรือจํากัดการทําหน้าที่ของพวกเขาโดยมิชอบ ซึ่งหมายรวมถึงการสังเกตการณ์การทําหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย พวกเขาต้องไม่ถูกตอบโต้หรือคุกคาม และอุปกรณ์ของพวกเขาต้องไม่ถูกริบ หรือทําให้เสียหาย แม้ว่าการชุมนุมใดๆจะถูกประกาศให้เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือถูกสลายก็ไม่ การสังเกตการณ์การชุมนุมโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับชาติที่เป็นอิสระและ องค์กรพัฒนาเอกชนถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดี  อย่างไรก็ตาม วันที่ 25 สิงหาคม 2564  ผู้แทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน นำโดยนายชวรงค์  ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ  นายมงคล  บางประภา นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย  นายระวี  ตะวันธรงค์  นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์  เข้าพบ พล.ต.ต.ยิ่งยศ  เทพจำนงค์ โฆษกสํานักงานตํารวจแห่งชาติ  พล.ต.ต.ปิยะ  ต๊ะวิชัย  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล  เพื่อหารือสถานการณ์การทำข่าว ของสื่อมวลชนในการชุมนุม แสดงออกทางการเมือง  และร่วมกันหาวิธีให้สื่อมวลชนสามารถปฏิบัติหน้าที่ และลดความเสี่ยงจากการปะทะระหว่างมวลชนกับตำรวจ และได้ข้อสรุปว่าสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยจะออกปลอกแขน ซึ่งจำแนกผู้ได้รับปลอกแขนเฉพาะสื่อมวลชนที่มีสังกัดสติงเกอร์  หรือฟรีแลนซ์ที่มีองค์กรสื่อรับรอง พร้อมทั้งกำหนดสีเขียวสะท้อนแสงสำหรับการจัดทำสัญลักษณ์ของสื่อมวลชน เพื่อไม่ให้มีสีซ้ำกับกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มแพทย์ 

ขณะเดียวกันในวันที่ 25 สิงหาคม 2564 หลังจาก “เพจ เยาวรุ่นทะลุแก๊ส” ได้นัดหมายการชุมนุมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เจ้าหน้าที่จึงมีการตั้งด่านสองด่านบริเวณแยกที่เฉลิมเผ่าและแยกราชประสงค์ ขณะที่มีการจัดเตรียมพื้นที่สำหรับสื่อโดยเฉพาะที่บริเวณเกาะกลางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พร้อมป้ายระบุพื้นที่สื่อ ซึ่งสะท้อนความพยายามของรัฐในการควบคุพื้นที่การทำงานของสื่อ โดยแนวโน้มในการจำกัดพื้นที่การทำงานของสื่อเพิ่มสูงมากขึ้น