วันที่: 17/9/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมเดือนตุลาคม 2564

description

ตลอดเดือนตุลาคม 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 110 ครั้ง ทั่วประเทศ โดยข้อเรียกร้องหลักยังคงเป็นการเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ที่ถูกคุมขังคดีการเมือง

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564

สืบเนื่องจากกำหนดเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่มาจากประเทศความเสี่ยงต่ำโดยไม่ต้องกักตัว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน  2564 โดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แถลงข่าวในวันที่ 11 ตุลาคม 2564 หลังจากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมามีการตั้งเป้าเปิดประเทศภายใน 120 วัน อย่างไรก็ตามในวันที่ 29 กันยายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศเรื่อง การขยายระยะเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นครั้งที่ 14 ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 นับว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน ต่อมา ในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 ก่อนการเปิดประเทศ ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศหัวหน้าความรับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง เรื่อง การห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ทำให้เกิดโรคระบาดโควิด-19 (ฉบับที่ 13) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน เป็นต้นไป ขณะที่ ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 คงมาตรการห้ามออกเคหสถาน (เคอร์ฟิว) ตั้งแต่เวลา 23.00 น. – 03.00 น.เฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดที่เหลือแค่ 7 จังหวัด ได้แก่ จันทบุรี ตาก นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี ยะลา และสงขลา  

ขณะที่ตลอดเดือนตุลาคม 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 110 ครั้ง ทั่วประเทศ โดยข้อเรียกร้องหลักยังคงเป็นการเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ที่ถูกคุมขังคดีการเมือง โดยกลุ่มทะลุแก๊ส กลุ่มพลเมืองโต้กลับที่ทำกิจกรรม ยืน หยุด ขัง ตั้งแต่วันที่ 16 สิงหาคม 2564 เป็นเวลา 76 วัน (นับถึงวันที่ 31 ตุลาคม) และยังคงทำกิจกรรมต่อเนื่องบริเวณลานอากง หรือบริเวณหน้าศาลฎีกา เช่นเดียวกับที่เชียงใหม่ ขณะที่ข้อเรียกร้องอื่นเช่น แก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังสอดแทรกอยู่ในการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กลุ่มอิสระที่รวมตัวบริเวณแยกดินแดงอย่างกลุ่มทะลุแก๊ส ยังคงรวมตัวตั้งแต่วันที่ 1-6 ตุลาคม 2564 จนกระทั่งเจ้าหน้าที่ปรับแผนการปฏิบัติการด้วยการเข้ายึดพื้นที่บริเวณแยกดินแดงด้วยเจ้าหน้าที่ชุดสีกากีทั้งหมดซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดสีกากีเป็นชุดปราบปรามกองบัญชาการตำรวจนครบาล พร้อมอาวุธปืนจริง จากการเข้าแสดงกำลังยึดพื้นที่ที่บริเวณแยกดินแดง ซอยต้นโพธิ์ ต่อเนื่องทุกวัน ส่งผลให้ไม่ปรากฏการรวมตัวของกลุ่มอิสระทะลุแก๊ส ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2564 เป็นต้นมา 

อนึ่งช่วงปลายเดือนตุลาคม 2564 ในวันที่ 24 ตุลาคม 2564 ก่อนการทำกิจกรรมยืน หยุด ขังที่ลานอากง หน้าศาลฎีกา กลุ่มราษฎรแถลงข่าว การชุมนุมในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 “ราษฎรประสงค์ยกเลิก 112” โดยใช้ชื่อการเคลื่อนไหวยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า “คณะรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 หรือ ครย.” โดยกลุ่มครย.จะทำกิจกรรมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือการลงลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ต่อสภา ซึ่งวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ถือเป็นวันแรกในการตั้งโต๊ะเข้าชื่อ โดยกิจกรรมเกิดขึ้นที่ แยกราชประสงค์  

ลักษณะการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการยุติการชุมนุม จำนวนและตัวอย่างของผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุมรวมทั้ง  เด็กและเยาวชน สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์ 

แม้ในความเห็นทั่วไป ฉบับที่ 37 ซึ่งออกตามความในข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จะกำหนดไว้อย่างชัดเจน การสลายการชุมนุมนั้นอาจทำได้ในกรณีพิเศษอันเป็นข้อยกเว้นเท่านั้น กล่าวคือ หากการชุมนุมนั้นไม่เป็นการชุมนุมโดยสงบอีกต่อไป หรือเมื่อมีพยานหลักฐานโดยชัดแจ้งเกี่ยวกับ การใช้ความรุนแรงอย่าง ร้ายแรง โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่อาจแก้ไขได้อย่างสมเหตุสมผล ด้วยมาตรการอื่นที่ได้สัดส่วน มากกว่าและ แม้ว่าจะเข้าเงื่อนไขให้ เจ้าหน้าที่รัฐสามารถสลายการชุมนุมได้ แต่เงื่อนไขและการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต้องเป็น การปฏิบัติเท่าที่ กำหนดไว้ใน กฎหมาย ที่สอดคล้องกับหลักการและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนตุลาคม ถึงแม้สถานการณ์การชุมนุมที่บริเวณสี่แยกดินแดงลดน้อยลง แต่จำนวนการดำเนินคดีภายหลังการชุมนุมกลับเพิ่มสูงขึ้น แม้การจำนวนการสลายการชุมนุมจะลดลงแต่การปราบปรามผู้ชุมนุม จากเจ้าหน้าที่ด้วยความรุนแรงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องรวมถึงการใช้วิธีการปิดล้อม ผู้ชุมนุม (kettling) อย่างในการสลายการชุมนุมวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ที่มีการปิดล้อมซอยต้นโพธิ์ข้างแฟลตินแดง และการชุมนุมวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่มีการปิดล้อมและจับกุมผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจดินแดง ซึ่งไม่สอดคล้องกับ ความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ซึ่งระบุไว้อย่างชัดเจน ว่าเจ้าหน้าที่ ผู้บังคับใช้กฎหมายจำเป็นต้องปฏิบัติการ เฉพาะเมื่อมีความจำเป็นและความได้สัดส่วนโดยมุ่งแก้ไขความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น และต้องกระทำด้วยความระมัดระวังเป็นพิเศษต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ความรุนแรงเท่านั้น  หากการปฏิบัติการปิดล้อมนั้นถูกใช้โดยไม่แยกแยะ หรือใช้เพื่อลงโทษ การกระทำดังกล่าวจะถือเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบและอาจละเมิดสิทธิอื่นๆ  

assetasset

การสลายการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ประชาไท Prachatai.com

assetasset

การชุมนุมวันที่ 29 ตุลาคม 2564 มีการปิดล้อมและจับกุมผู้ชุมนุมบริเวณหน้าสถานีตำรวจดินแดง ภาพโดย PPTV HD 36

ยิ่งไปกว่านั้นการปฏิบัติการในช่วงเดือนตุลาคมยังมีลักษณะต่อเนื่องจากเดือนกันยายนโดยการสลายการชุมนุมส่งผลกระทบเป็นวงกว้างแก่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมซึ่งสะท้อนการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่เกินความจำเป็นอย่างชัดเจน  นอกจากนี้การปฏิบัติการยังสะท้อนถึงการจับกุมตัวบุคคลจำนวนมากโดยไม่เลือก โดยเฉพาะระหว่างและภายหลังการชุมนุม ทั้งความพยายามในการจำแนกสื่อไร้สังกัดหรือสื่ออิสระออกจากพื้นที่การชุมนุม การจับกุมสื่อมวลชน การจับกุมผู้ที่ไม่ได้ เข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งถือเป็นการกระทำโดยพลการ ยิ่งไปกว่านั้นการจับกุมหลายครั้งส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บทางร่างกายจากผู้ถูกจับกุมโดยในเดือนตุลาคม 2564 มีเด็กถูกจับกุมจำนวน 45 คน โดยแบ่งเป็นจับกุมแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอย่างน้อย 39 คน 24 คดีและจับกุมโดยไม่ดำเนินคดี 3 คน ซึ่งแบ่งเป็นการจับโดยมิชอบด้วยกฎหมายจับโดยไม่มีหมายจับจำนวน 28 คน ออกหมายจับจำนวน 11 คนและออกหมายเรียกเพื่อดำเนินคดีจำนวน 3 คน อายุน้อยสุด 11 ปี    

จำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมและการจับกุม ในส่วนของเด็กและเยาวชนมีผู้ได้รับผลกระทบอย่างน้อย 6 คนแบ่งตามสถานการณ์การชุมนุม ได้แก่ การชุมนุมวันที่ 6 ตุลาคม 2564 มีเด็กได้รับบาดเจ็บไม่น้อยกว่า 3 คน  โดยมีรอยฟกช้ำตามร่างกายและหนึ่งรายคือเด็กอายุ 16 ปี โดนตำรวจควบคุมฝูงชนทุบกับสันปืนที่หัว มีบาดแผล 2 จุด มีการหักนิ้ว จนได้ยินเสียงลั่น จนมือบวม ขยับลำบาก มีการเอาบุหรี่จี้ที่หลังมือ มีแผลบาง ๆ การชุมนุมวันที่ 15 ตุลาคม 2564 เยาวชนได้รับบาดเจ็บจากการเข้าจับกุมตามหมายจับจากบ้านพัก หลังเด็กได้รับการปล่อยตัว พบว่าบริเวณต้นคอ หลังหูด้านซ้าย และแผ่นหลังมีรอยแดงและรอยขีดข่วนหลายจุด โดยไม่ทราบที่มาของอาการบาดเจ็บ  ในเดือนตุลาคมมีเด็กเสียชีวิต 1 ราย คือเยาวชนอายุ 15 ปี เสียชีวิตในวันที่ 28 ตุลาคม 2564 หลังรักษาตัวอยู่ห้อง ICU โรงพยาบาลราชวิถีประมาณ 2 เดือนครึ่ง จากเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 โดยเยาวชนถูกยิงที่หน้า สน.ดินแดงโดยถูกยิงกระสุนฝังเข้าก้านสมองขณะที่ผู้ต้องสงสัยว่าเป็นคนก่อเหตุยังอยู่ในกระบวนการสอบสวน  

asset

การสลายการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ประชาไท Prachatai.com

asset

ในเดือนตุลาคมมีเด็กเสียชีวิต 1 ราย คือเยาวชนอายุ 15 ปี เสียชีวิตในวันที่ 28 ตุลาคม 2564  ภาพโดย Mob Data Thailand

ลักษณะการใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ในการยุติการชุมนุมจำนวนและตัวอย่างของผู้ได้รับบาดเจ็บและถูกจับกุม รวมทั้ง เด็กและเยาวชน สื่อมวลชน ผู้สังเกตการณ์  

โดยหลักการที่เจ้าหน้าที่ต้องปฏิบัติเมื่อมีการสลายการชุมนุมหรือใช้กำลังในการยุติการชุมนุม ควรต้องสอดคล้องกับหลักความชอบด้วยกฎหมาย หลักความจำเป็น หลักความได้สัดส่วน หลักการใช้ความระมัดระวัง และหลักการไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งหมายความว่าเจ้าหน้าที่ไม่อาจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมโดยพลการได้ ดังนั้น มาตรา 21 ตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงวางหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือเจ้าพนักงานซึ่งดูแลการชุมนุมและอนุญาตให้ศาลเข้ามาทบทวนคำสั่งให้ยุติการชุมนุมได้ 

อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีกำหนดการเปิดประเทศในเดือนพฤศจิกายน การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯยังคงถูกประกาศใช้จนถึงปลายเดือนพฤศจิกายน นับว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี 8 เดือน และพ.ร.ก. ฉุกเฉินฯและข้อกำหนดฝ่าฝืนเคอร์ฟิวถูกกล่าวอ้างในทางปฏิบัติ โดยเจ้าหน้าที่มักระบุว่าการรวมกลุ่มหรือการชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย บางครั้งระบุว่าการรวมกลุ่มนั้นผิด พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และดำเนินการสลายการชุมนุมด้วยการใช้เครื่องฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งมีการผสมแก๊สน้ำตา มีการยิงกระสุนยางและยิงแก๊สน้ำตา เพื่อยุติการรวมกลุ่มของผู้ชุมนุมโดยทันที หรือทำการปิดล้อมและจับกุม โดยเฉพาะในบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง เข้ากระชับพื้นที่ และเปิดทางให้เจ้าหน้าที่ซึ่งถูกเรียกว่าหน่วยเคลื่อนที่เร็วเข้าจับกุมผู้ชุมนุมในการดำเนินการดังกล่าว แม้ผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของกฎหมาย ภายในประเทศเกี่ยวกับการชุมนุมบางประการ ซึ่งในที่นี่คือพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้ การกระทำดังกล่าวของผู้ชุมนุมไม่อาจทำให้ผู้ชุมนุมหลุดพ้นจากความคุ้มครองของข้อบทที่ 21 ตามกติการะหว่างประเทศได้ มีความเป็นไปได้ที่การชุมนุมโดยสงบดังกล่าวอาจถูกยั่วยุให้เกิดปฏิกิริยาเชิงต่อต้านหรือแม้แต่การใช้ความรุนแรงจากประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้เป็นเหตุผลในการห้ามหรือจำกัดการชุมนุมได้   

นอกจากนี้ เนื่องจากการเจ้าหน้าที่ตำรวจปรับแผนการปฏิบัติการด้วยการเข้ายึดพื้นที่บริเวณแยกดินแดง ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม ด้วยเจ้าหน้าที่ชุดสีกากีทั้งหมดซึ่งเจ้าหน้าที่ชุดสีกากีพร้อมอาวุธปืนจริง และยังคงแสดงกำลังต่อเนื่องทุกวัน เพื่อปิดล้อมพื้นที่ ซึ่งถือเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ  ในช่วงเวลาที่กลุ่มทะลุแก๊สมักจะชุมนุม ขณะที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่าในวันที่ 1-30 ตุลาคม 2564 มีผู้ถูกจับจากการชุมนุมรวมอย่างน้อยแล้ว 155 ราย แบ่งเป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี อย่างน้อย 34 ราย, เด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี อย่างน้อย 12 ราย และมีผู้บาดเจ็บไม่ต่ำกว่า 7 ราย ในกรณีการถูกจับกุมและได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมแบ่งเป็น   

  • การสลายการชุมนุมวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ของกลุ่มทะลุแก๊ส เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้เข้ากระชับพื้นที่ถนนมิตรไมตรีเวลาประมาณ 21.00 น. ต่อมาในเวลาประมาณ 00.00 น. สื่อได้รายงานว่าเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนและหน่วยปฏิบัติการพิเศษ SWAT ได้ขึ้นไปค้นหาผู้ชุมนุมที่หลบหนีเข้าไปบนอาคารแฟลตในยามวิกาล ส่งผลให้มีการจับกุมผู้ชุมนุม 26 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมกว่า 3 คน 

assetasset

การสลายการชุมนุมวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ของกลุ่มทะลุแก๊ส ภาพโดย ไข่แมวชีส

  • การสลายการชุมนุมวันที่ 6 ตุลาคม 2564 และการจับกุมต่อเนื่องถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2564 ของกลุ่มทะลุแก๊ส ที่แยกดินแดง โดยมีผู้ถูกจับกุมกว่า 70 คน และดำเนินคดีผู้ชุมนุม 68 คน โดยมีบางส่วนได้รับบาดเจ็บระหว่างถูกจับกุม นอกจากนี้ในช่วงดังกล่าว ศูนย์ทนายฯรายงานเพิ่มเติมว่า ตำรวจปฏิเสธไม่ให้ทนายเข้าพบผู้ถูกจับกุม 12 ชั่วโมง 

asset

การสลายการชุมนุมและการจับกุมผู้ชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ประชาไท Prachatai.com

  • การสลายการชุมนุมวันที่ 29 ตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ชุดสีกากีเข้ากระชับพื้นที่และจับกุมผู้ชุมนุมกว่า 8 คน ต่อมาปล่อยตัวเยาวชน 2 คนโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา ขณะที่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม 3 คน 

asset

การจับกุมผู้ชุมนุมในการชุมนุมวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ประชาไท

ถึงแม้สถานการณ์การชุมนุมที่บริเวณสี่แยกดินแดงลดน้อยลง แต่จำนวนการดำเนินคดีภายหลังการชุมนุมกลับเพิ่มสูงขึ้น ทั้งผู้ถูกจับกุมตามหมายจับและบางรายถูกจับกุมโดยไม่มีหมายจับ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุ เช่น การเผาทรัพย์ การทุบทำลายป้อมจราจร ขณะที่บางส่วนที่ถูกจับกุมที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ที่ดินแดงไม่ได้รับการประกันตัวหลังถูกเจ้าหน้าที่สอบสวนฝากขังต่อศาลไม่ต่ำกว่า 16 คน โดยมี 1 รายเป็นเยาวชนอายุ 18 ปี  

นอกจากนี้มีหมายเรียกผู้ชุมนุมที่ร่วมชุมนุมโดยสงบ หรือทำหน้าที่ในพื้นที่การชุมนุม ให้ไปรับทราบข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 อย่างต่อเนื่อง โดยบางรายถูกกล่าวหาหลายคดี เช่นกรณีของหน่วยแพทย์อาสา ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯมากถึง 12 คดี เนื่องจากปรากฏตัวในพื้นที่ชุมนุม ยิ่งไปกว่านั้นสถานการณ์การจับกุมมีความรุนแรงมากขึ้น จากเหตุการณ์การสลายการชุมนุมวันที่ 29 ตุลาคม 2564 มีสื่อพลเมืองถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายระหว่างที่ถูกควบคุมตัว

จากรายงานของศูนย์ทนายฯรายงานว่าจำนวนผู้ถูกจับกุมที่บริเวณแยกดินแดง และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งสิ้นประมาณ 498 คน ถูกดำเนินคดีไม่ต่ำกว่า 167 คดี    

ลักษณะการสลายหรือยุติการชุมนุม 

  • ลักษณะการวางกำลังของเจ้าหน้าที่ ระยะเวลาที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม ข้อกฎหมายที่อ้างว่าฝ่าฝืน กฎหมายและเป็นเหตุให้ยุติการชุมนุม 

ในเดือนตุลาคม 2564 เจ้าหน้าที่ได้เข้าสลายการชุมนุมไม่ต่ำกว่า 6 ครั้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นการสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ส ที่บริเวณแยกดินแดง โดยเกิดขึ้นในช่วง วันที่ 1- 6 ตุลาคม 2564 อย่างน้อย 4 ครั้ง ตามด้วย วันที่ 9 ตุลาคม 2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จัดโดยกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก โดยเกิดจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วน และ วันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่บริเวณสถานีตำรวจดินแดง ซึ่งกลุ่ม Free Youth จัดกิจกรรมรำลึกถึงเยาวชนที่เข้าร่วมการชุมนุมและถูกยิงวันที่ 16 สิงหาคม ที่บริเวณด้านหน้า สน.ดินแดง จนต่อมาเสียชีวิตลงในวันที่ 28 ตุลาคม 2564

assetasset

การสลายการชุมนุมและการจับกุมในวันที่ 9 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ประชาไท Prachatai.com

โดยลักษณะการสลายการชุมนุม 1-6 ตุลาคม 2564 มีลักษณะคล้ายที่ผ่านมาในเดือนกันยายน เนื่องจากผู้ชุมนุมเริ่มรวมตัวในเวลาดึก (ช่วงก่อนเวลาเวลาเคอร์ฟิว ประมาณ 22.00) ซึ่งพื้นที่การรวมกลุ่มส่วนใหญ่ของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ หรือทะลุแก๊ซที่เคลื่อนไหวต่อเนื่องคือบริเวณแยกดินแดงจนถึงหน้าแฟลตดินแดง 1 ถนนวิภาวดีขาออกบริเวณกรมดุริยางค์ทหารบกและบริเวณตรงข้ามโรงพยาบาลทหารผ่านศึก ซอยมิตรไมตรี 1 ตัดกับถนนวิภาวดีขาเข้า โดยเมื่อผู้ชุมนุมอิสระรวมตัวจะเริ่มปาสิ่งของ เช่น ปาปะทัดยักษ์ พลุไฟ ระเบิดประดิษฐ์ และยิงหนังสติก ไปบริเวณที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนแสดงกำลัง เช่น เจ้าหน้าที่จะตอบโต้ผู้ชุมนุม กระสุนยาง และแก๊สน้ำตา เพื่อสลายการชุมนุม เมื่อผู้ชุมนุมเริ่มรวมตัวและปาสิ่งของเข้าไปในกรมดุริยางค์ทหารบก เจ้าหน้าที่จึงตอบโต้ผู้ชุมนุมด้วยกระสุนยาง และ แก๊สน้ำตา และเมื่อถึงเวลาเคอร์ฟิว เจ้าหน้าที่มีการใช้หน่วยเคลื่อนที่เร็ว โดยเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนขึ้นบนรถกระบะ พร้อมปืนกระสุนยาง และ ปืน FN303 เข้ากระชับพื้นที่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการชุมนุมในเดือนกันยายน ซึ่งจากการปฏิบัติการดังกล่าว โดยเฉพาะการปิดล้อมและเข้าจับกุม มักส่งผลกระทบต่อผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน โดยเฉพาะกระสุนยางในแนวระนาบและระยะประชิด และการใช้แก๊สน้ำตาในพื้นที่ชุมนุม

asset

การสลายการชุมนุมคืนวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ประชาไท

asset

การสลายการชุมนุมคืนวันที่ 3 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ประชาไท

ในความเห็นทั่วไปฉบับที่ 37 ยังระบุว่า อาวุธที่มีระดับความอันตรายต่ำที่มีผลกระทบเป็นบริเวณกว้าง เช่น แก๊สน้ำตาและหัวฉีดน้ำ มีความเป็นไปได้ว่าจะ ส่งผลกระทบโดยไม่แบ่งแยก เมื่ออาวุธดังกล่าวถูกนํามาใช้จะต้องมีความพยายามอย่างสมเหตุสมผลเพื่อที่จะจํากัดความเสี่ยงที่จะทําให้เกิดความสับสนอลหม่าน (stampede) หรืออันตรายต่อผู้ในระแวกใกล้เคียง นอกจากนี้แก๊สน้ำตายังไม่ควรถูกนํามาใช้ในบริเวณที่มีพื้นที่จํากัด ซึ่งแทบทุกครั้งในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ยังพบว่าผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมการชุมนุมมักได้รับผลกระทบเป็นวงกว้างและต่อเนื่อง ทั้งนี้ อุปกรณ์ เหล่านี้ควรนำมาใช้เป็นมาตรการสุดท้ายหลังจากที่มีการตักเตือนด้วยวาจาและให้โอกาสที่เหมาะสมแก่ผู้เข้าร่วม โดยในเดือนตุลาคม จากข้อมูลที่รับจากการสังเกตการณ์ในพื้นที่นั้น ไม่พบการเจรจากับผู้ชุมนุม มีเพียงแต่การแจ้งเตือนว่าการกระทำของผู้ชุมนุมนั้นคือการทำผิดกฎหมาย ทั้งนี้ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ยังมองผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้ก่อเหตุ ซึ่งการเจรจาไม่เคยเกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ก่อเหตุในช่วงที่ผ่านมา  

ยิ่งไปกว่านั้นการปิดล้อมที่กระทำโดยไม่แยกแยะหรือใช้เพื่อลงโทษ ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ และอาจละเมิดสิทธิอื่นด้วย เช่น เสรีภาพในการคุมขังโดยพลการ และเสรีภาพในการโยกย้าย  แต่จากผลกระทบจากการกวาดจับผู้ชุมนุมสะท้อนการปฏิบัติการที่ขาดความจำเป็นและความได้สัดส่วนอย่างชัดเจน โดยในรายละเอียดของแต่ละการสลายการชุมนุมซึ่งสะท้อนการปราบปรามด้วยความรุนแรงอย่างล้นเกินและขาดความจำเป็นและความได้สัดส่วนโดยมีลักษณะดังต่อไปนี้     

ในช่วงวันที่ 1 – 5 ตุลาคม 2564 มีเหตุการณ์สำคัญส่งผลให้สถานการณ์ที่ดินแดงเริ่มมีแนวโน้มตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ และเจ้าหน้าที่ใช้ความรุนแรงต่อเนื่อง ทั้งการใช้กระสุนยางในลักษณะที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง การขึ้นไปบนที่พักอาศัยในยามวิกาลเพื่อค้นหาผู้ชุมนุม ได้แก่ ขณะที่วันที่ 3 ตุลาคม 2564 มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้ แสงเลเซอร์ส่องมาที่ผู้ชุมนุม กระสุนยาง แก๊สน้ำตา และลูกแก้ว ยิงมาบริเวณที่ผู้ชุมนุมอยู่ รวมทั้งประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมได้รับผลกระทบจากกระสุนยาง และวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ในเวลาประมาณ 00.00 น. เมื่อมีผู้ชุมนุมอิสระกลับมาที่ซอยมิตรไมตรี 2 และยิงพลุไปทางแนวสะพานลอยสวนป่าวิภาวดี ต่อมามีขบวนรถตู้ไม่ติดตราราชการตามด้วยรถกระบะตำรวจเคลื่อนที่เร็วมุ่งหน้าไปที่แยกดินแดงและวางกำลังหน้าแฟลตดินแดงและเดินเข้าไปในแฟลตดินแดง ซึ่งเหตุการณ์การตรวจค้นผู้ชุมนุมในเคหสถาน เคยเกิดขึ้นถึง 2 ครั้งก่อนหน้าคือ เหตุการณ์ในเดือนสิงหาคมที่เจ้าหน้าที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงการยิงกระสุนยางเข้าไปในเคหสถาน จนในวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พลตำรวจสุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ชี้แจงว่าจะไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในเคหสถาน อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ยังคงเข้าไปในแฟลตใน วันที่ 29 กันยายน 2564 และวันที่ 4 ตุลาคม 2564  

assetasset

เจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังหน้าแฟลตดินแดงและเดินเข้าไปในแฟลตดินแดง วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ไข่แมวชีส

เหตุการณ์ไฟไหม้บนชั้นสามแฟลตดินแดง ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยสำนักข่าว  The Reporters สามารถบันทึกภาพได้ในเวลาประมาณเที่ยงคืนวันที่ 2 ตุลาคม 2564 ต่อมา ประชาชน หน่วยอาสากู้ภัย และ ดับเพลิงช่วยกันดับเพลิงไหม้ โดยช่วงก่อนหน้าเพลิงไหม้ มีเสียงคล้ายระเบิดดังขึ้นหลายครั้ง แล้วจึงเกิดไฟไหม้ขึ้นจากห้องหนึ่งของชั้น 3 แฟลตดินแดง และลุกลาม ก่อนจะควบคุมเพลิงได้ ส่วนประชาชนช่วยให้เจ้าของห้องและห้องใกล้เคียงออกมาเพื่อความปลอดภัย

ต่อมาในช่วงวันที่ 6 – 7 ตุลาคม 2564 หลังจากผู้ชุมนุมอิสระมีการรวมตัวกันตั้งแต่เวลาประมาณ 20.00 น. และขว้างปาประทัดยักษ์ จุดไฟเผายางบริเวณใต้ทางด่วนแยกดินแดง เวลาประมาณ 22.36 น. เจ้าหน้าที่ชุดเคลื่อนที่เร็วเข้าสลายการชุมนุมบริเวณหน้าแฟลตดินแดง โดยล้อมทางฝั่งถนนประชาสงเคราะห์ ถนนมิตรไมตรี และแยกดินแดง และปิดถนนซอยข้างแฟลตดินแดง ขณะที่ทำการจับกุมในซอยต้นโพธิ์ข้างแฟลตดินแดง เจ้าหน้าที่ส่องไฟมาทางผู้สื่อข่าวที่กำลังทำหน้าที่ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่ถืออุปกรณ์โล่กันผู้สื่อข่าวให้ถอยออกจากบริเวณหน้าแฟลตดินแดง ขณะเดียวกันในช่วงเวลาประมาณ 23.15 น. เจ้าหน้าที่ กองบังคับการหน่วยอารักขาและควบคุมฝูงชน (บก.อคฝ.) ถูกยิงด้วยอาวุธปืนและกระสุนจริงเข้าที่บริเวณศีรษะ ทะลุหมวกกันน็อก ขณะปฏิบัติหน้าที่บริเวณอะพาร์ตเมนต์ภายในซอยดินแดง 1 จากเหตุการณ์ดังกล่าวเจ้าหน้าที่จึงตรึงกำลังปิดล้อมแฟลตดินแดงตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 6 ตุลาคม ถึงช่วงเที่ยงของวันที่ 7 ตุลาคม ทั้งนี้จากการายงานสดของสำนักข่าว The Reporters ระบุว่าได้มีตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษเข้ามาพื้นที่บริเวณหน้าแฟลตดินแดง ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุมมากถึง 70 คน รวมทั้งสื่อพลเมืองจากเพจ Live Real ระหว่างที่ถ่ายทอดสดในซอยต้นโพธิ์ข้างแฟลตดินแดง ภายหลังจากวันที่ 7 ตุลาคม พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก โฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาลระบุแผนการดำเนินการว่าจะเป็นการดำเนินการเชิงรุก โดยเจ้าหน้าที่เข้ายึดและควบคุมพื้นที่โดยใช้เจ้าหน้าที่ชุดกองปราบปรามทั่วไป ที่พกอาวุธปืนสั้น เพื่อป้องกันการรวมตัว จากการปรับแผนยุทธวิธีดังกล่าวส่งผลให้มีเกิดการรวมตัวของกลุ่มอิสระอย่างกลุ่มทะลุแก๊ซ ตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคมเป็นต้นมา ขณะที่การดำเนินคดีและจับกุมผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ซย้อนหลังยังดำเนินอยู่ต่อเนื่อง ส่งผลให้มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมทะลุแก๊ซนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2564 อย่างน้อย 167 คดี และยอดผู้ถูกจับกุมสูงถึง 498 คน   

asset

เจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังปิดล้อมแฟลตดินแดงในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ภาพโดย Benar News

ก่อนสิ้นสุดเดือนตุลาคม เนื่องจากกลุ่มเยาวชนปลดแอกหรือกลุ่ม Free Youth นัดหมายทำกิจกรรมในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ที่สถานีตำรวจดินแดง เพื่อเป็นการรำลึกถึงเยาวชนที่ถูกยิงจากการชุมนุมต่อเนื่องในเดือนสิงหาคมและเสียชีวิตในวันที่ 28 ตุลาคม จากการชุมนุมดังกล่าวผู้ชุมนุมมีการจุดเทียนรำลึกบริเวณด้านหน้าและถนนจุดที่เยาวชนถูกยิง ต่อมาผู้ชุมนุมบางส่วนทำกิจกรรมเผากระดาษที่ศาลพระภูมิ สถานีตำรวจดินแดง เจ้าหน้าที่ตรวจจึงนำถังดับเพลิงมาดับไฟและมีการประกาศว่าผู้ชุมนุมกำลังทำผิดกฎหมายตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและกระทำความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ หลังจากนั้นประมาณ 5-10 นาที เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบชุดกากีพร้อมโล่และปืนยิงกระสุนยางประมาณ 1 กองร้อยเดินตั้งแนวมาจากฝั่งถนนมิตรไมตรี และวิ่งเข้าหาผู้ชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมอย่างน้อย 3 คน และเข้ากระชับพื้นที่บริเวณหน้าสน.ดินแดงอีกครั้งโดยรถตำรวจนครบาลสายตรวจปฏิบัติการพิเศษมากกว่า 7 คันเข้ามาในพื้นที่ ก่อนให้ผู้ชุมนุมแยกย้าย ภายหลังจากกระชับพื้นที่ ผู้ชุมนุมบางส่วนขับออกจากบริเวณด้านหน้าสน.ดินแดง และมีการปะทะกับเจ้าหน้าที่ตำรวจบริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 12  เจ้าหน้าที่ใช้แก๊สน้ำตา และ กระสุนยาง ส่งผลกระทบกับพื้นที่โดยรอบ มีผู้เสียหายรายหนึ่งขายลูกชิ้นปิ้ง กระสุนยางยิงเข้ามาจนกระจกแตก และมีชาวบ้านโดนกระสุนยาง 2 ราย  จนถึงเวลาประมาณ 22.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดกากีและหน่วย ปฏิบัติการพิเศษ หรือหน่วย SWAT เข้าพื้นที่บริเวณถนนประชาสงเคราะห์ ถึง บริเวณหน้าสน.ดินแดง นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดโทรศัพท์ของสื่อพลเมืองเพจกะเทยแม่ลูกอ่อน ซึ่งถือเป็นครั้งที่ 2 ที่สื่อพลเมืองเพจกะเทยแม่ลูกอ่อนถูกเจ้าหน้าที่มีท่าทีคุกคาม โดยครั้งแรกเกิดขึ้นในเดือนช่วงกลางเดือนกันยายนขณะทำหน้าที่รายงานสดที่บริเวณแยกดินแดง นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ได้เชิญนักข่าวหลายสำนักที่ทำข่าวบริเวณดังกล่าวเข้าไปพูดคุยในสน.ดินแดงโดยระหว่างพูดคุยไม่สามารถ ถ่ายทอดสดได้อีกด้วย

นอกจากนี้ ในวันที่มีการสลายการชุมนุมวันที่ 29 ตุลาคม 2564 สื่อพลเมืองถ่ายคลิปเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายระหว่างที่ถูกควบคุมตัว ซึ่งต่อมา นายปิยรัฐ จงเทพหรือ โตโต้ จากกลุ่ม We Volunteer พร้อมผู้เสียหายคนดังกล่าวเข้ายื่นหนังสือถึง คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร โดยผู้เสียหายกล่าวว่าวันดังกล่าวเขาเดินทางมาร่วมทำกิจกรรมรำลึก เมื่อมีการสลายการชุมนุมจึงวิ่งหนี และถูกจับกุม ขณะถูกจับกุมผู้เสียหายระบุว่าตัวเองโดนดันไปชนกับรถยนต์ที่จอดอยู่ เมื่อตนล้มลงเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายทั้งในและนอกเครื่องแบบก็เข้ามารวบ พร้อมทั้งกดแขน ขา และคอ ก่อนลากเข้าไปในรั้ว สน.ดินแดง เมื่อเข้าในห้องที่ปิดมิดชิดจึงถูกเจ้าหน้าที่สอบถามว่า “น้องมาอย่างไร มากับใครหรือไม่ มาคนเดียวหรือ เอ็งเก่งมากนักใช่ไหม” และกล่าวว่า  “โอเคดี จะทำให้เหมือนอุบัติเหตุตาย” ก่อนซ้อม โดย เจ้าหน้าที่เตะเข้าที่บริเวณลำตัว ใช้กระบองแทงเข้าบริเวณซี่โครงด้านขวา จับศีรษะโขกกับเก้าอี้ไม้หลายครั้ง รวมทั้งบีบคอบังคับเพื่อเอารหัสโทรศัพท์ ซึ่งผู้เสียหายจำไม่ได้เพราะใช้วิธีสแกนนิ้ว ซึ่งเมื่อใส่รหัสไม่ถูกต้องก็บีบคออีกจนสามารถใส่รหัสได้ จนตนเกือบหมดสติ     

มาตรการของเจ้าหน้าที่ในการใช้อาวุธและอุปกรณ์เพื่อสลาย-ยุติการชุมนุม เช่น รถน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยาง 

  • ระยะเวลาที่เจ้าหน้าที่ประกาศให้ยุติการชุมนุม ลำดับการใช้อาวุธและอุปกรณ์ในการสลายการชุมนุม  ลักษณะการใช้อาวุธและอุปกรณ์ดังกล่าวต่อผู้ชุมนุม ระยะและแนวการยิง เป้าหมายที่ยิง จำนวนผู้บาดเจ็บ ลักษณะ-อาการบาดเจ็บ

asset

ภาพโดย iLaw

ในการชุมนุมต่อเนื่องของกลุ่มทะลุแก๊ซ เจ้าหน้าที่มักประกาศให้ยุติการชุมนุมและการกระทำดังกล่าว เช่น การปาประทัดยักษ์ การยิงหนังสติ๊ก การปาระเบิดปิงปอง มายังแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมักเรียกผู้ชุมนุมว่าเป็นผู้ก่อเหตุ และเข้าสลายการชุมนุมเมื่อถึงเวลาเคอร์ฟิว ขณะที่การใช้กระสุนยางยังถูกพบว่าเป็นการยิงในระยะประชิด นอกจากนี้ยังมีการพบการใช้ปืน FN303 ในเดือนกันยายน และยังถูกพบในพื้นที่ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ในทุกพื้นที่การชุมนุม โดยวันที่ 7 ตุลาคม 2564 พลตำรวจเอก กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์สื่อหลังจากสื่อสอบถามถึงการใช้ปืน FN303 ซึ่งผู้สื่อข่าวระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในเมืองบอสตัน สหรัฐอเมริกา ได้ยกเลิกการใช้ปืนดังกล่าวเนื่องจากมีเหตุยิงเข้าที่เบ้าตาของผู้ชุมนุมและทะลุสมองจนเสียชีวิต ซึ่ง พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตอบว่า  “อุปกรณ์ดังกล่าวเป็นอุปกรณ์ที่มีการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อใช้ในการรักษาความสงบเรียบร้อย ถ้าเป็นการชุมนุมโดยสงบในการควบคุมฝูงชน อุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้โดยหลักการแล้วจะเป็นอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ร่างกายน้อย "แต่ในส่วนที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้เป็นการก่อเหตุความไม่สงบ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า เราจะไปนำอาวุธปืนจริงมาใช้ มันก็ไม่ใช่ มันก็เป็นเพียงแค่อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ใช้ในการควบคุมฝูงชนเท่านั้นเอง ในการใช้มันมีวิธีการในการใช้เป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามหลักสากล เป็นไปตามสัดส่วน”

แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อเด็กและเยาวชนที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุม  

  • หากมีเด็กหรือเยาวชนถูกจับกุม ระบุมาตรการที่เจ้าหน้าที่ใช้ในการจับกุม เด็กหรือเยาวชน ได้รับบาดเจ็บจากการถูกจับกุมหรือไม่ ข้อหาโดยสังเขป สถานที่ในการควบคุมตัว สิทธิอื่นของเด็ก เช่น สิทธิในการพบผู้ปกครอง การปฐมพยาบาล และสิทธิที่จะได้พบ-ปรึกษากับทนายความ  

asset

การสลายการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ภาพโดย ประชาไท Prachatai.com

ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กซึ่งไทยเข้าร่วมเป็นภาคีระบุถึงการรับรองสิทธิเด็กหรือเยาวชนเมื่อถูกจับกุมไว้ว่า การจับกุมและดำเนินคดีต่อเด็กและเยาวชนจะต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ประโยชน์สูงสุดของเด็กและเยาวชนเป็นหลัก โดยจะต้องได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างจากผู้ใหญ่และให้เด็กและเยาวชนได้รับผลกระทบจากการต้องถูกดำเนินคดีและควบคุมตัวน้อยที่สุดรวมถึง จะต้องไม่มีเด็กคนใดถูกลิดรอนเสรีภาพโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือโดยพลการ การจับกุมกักขังหรือจำคุกเด็กจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และใช้เป็นมาตรการสุดท้ายเท่านั้น และให้มีระยะเวลาที่สั้นที่สุดอย่างเหมาะสม 

ขณะเดียวกัน กฎหมายในประเทศว่าด้วยสิทธิเด็ก ได้ระบุไว้ในพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวกำหนดหลักเกณฑ์ทั่วไปในการจับกุมเด็กและเยาวชน ได้แก่ 

1. ตามมาตรา 67 วางหลักไว้ว่า การออกหมายจับหรือการจับกุมเด็กและเยาวชนเป็นสิ่งที่ ควรหลีกเลี่ยงหรือควรทำเป็นทางเลือกสุดท้าย โดยจะต้องพิจารณาจากการคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ สำหรับขั้นตอนการจับกุมเด็ก และเยาวชน ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯได้วางข้อกำหนดไว้ในมาตรา 66 โดยมีสาระสำคัญคือ การจับกุมตัวเด็กที่มีอายุเกิน 10 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี จะทำได้โดยที่เด็กคนนั้นกระทำความผิดซึ่งหน้าหรือมีหมายจับเท่านั้น ส่วนกรณีของเยาวชนที่มีอายุเกิน 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 18 ปีบริบูรณ์ให้ปฏิบัติตามกฎหมายอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ กล่าวคือ จะต้องมีหมายจับ หากเป็นการจับกุมโดยไม่มีหมายจับ ต้องเป็นกรณีความผิดซึ่งหน้า หรือมีเหตุอันควรสงสัย ว่าบุคคลนั้นจะไปก่อภยันตราย หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือเป็นการจับกุมบุคคลที่หลบหนีหลังได้รับการประกันตัว  

2. เมื่อเด็กและเยาวชนถูกจับกุมแล้ว เจ้าหน้าที่ต้องแจ้งกับเด็กหรือเยาวชนว่าถูกจับ  แจ้งฐานความผิดและสิทธิทางกฎหมาย ต่อเด็กหรือเยาวชนที่ถูกจับด้วย หากมีหมายจับจากศาล ต้องแสดงต่อผู้ถูกจับกุม พร้อมทั้งนำตัวผู้ถูกจับไปยังสถานีตำรวจผู้รับผิดชอบท้องที่ทันที พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ ได้วางหลักเพิ่มเติมในมาตรา 69 วรรค 3 และกำหนดเเนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ว่าการจับกุมและการควบคุมตัวต้องทำโดยไม่ใช้ความรุนแรงและไม่มีลักษณะเป็นการประจาน รวมไปถึงไม่ใช้เครื่องพันธนาการด้วย นอกจากนั้นมาตรา 76 ยังกำหนดห้ามไม่ให้ผู้จับกุมหรือพนักงานสอบสวน อนุญาต หรือยินยอมให้มีการบันทึกภาพของเด็กหรือเยาวชน ที่ถูกจับกุมด้วย เพื่อรักษาสิทธิ ในความเป็นส่วนตัวของ เด็กและเยาวชน ยกเว้นการบันทึกภาพเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน สำหรับการจับกุมเด็กและเยาวชนของเจ้าหน้าที่ ในเดือนนี้มีการจับกุม ด้วยความผิดซึ่งหน้าจากการเข้าร่วมชุมนุมที่ดินแดง  ซึ่งมีการรายงานว่าเจ้าหน้าที่มีการใช้ความรุนแรง ในการจับกุม โดยที่ไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำของเด็กและเยาวชน เช่น การใช้กระสุนยาง ใช้สันปืนทุบหัว หรือใช้บุหรี่จี้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังไม่มีการแจ้งว่าถูกจับกุมด้วยข้อหาใด และไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ต้องหาให้ทราบ บางครั้งเจ้าหน้าที่ยึดโทรศัพท์ ตั้งแต่ตอนจับกุมทำให้เด็กและเยาวชนไม่สามารถติดต่อทนายหรือผู้ไว้วางใจได้ อีกทั้งยังมีการพาเด็กหรือเยาวชน ที่ได้รับบาดเจ็บไปที่สถานีตำรวจทันที แทนที่จะพาไปโรงพยาบาลก่อน นอกจากนี้ หลังจากจับกุมแล้ว  ยังพาไปควบคุมตัว ที่อื่นที่ไม่ใช่ สถานีตำรวจท้องที่เกิดเหตุ หรือ สน.เจ้าของคดี แต่พาไปสถานที่อื่น เช่น กองบัญชาการตำรวจ ปราบปรามยาเสพติดทั้งที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ให้ทำเช่นนั้น และยังมีการเปลี่ยนสถานที่ ควบคุมตัวโดยที่ทนาย ไม่ทราบด้วย  

3. ห้ามใช้ตรวนในการควบคุมตัว และการกักตัวก็ต้องแยกกับผู้ใหญ่ แต่ตามหลักการแล้วก็ไม่ควรกักตัวเลย  และในการดำเนินกระบวนการเหล่านี้ต้องมีสหวิชาชีพเข้ามามีส่วนร่วมด้วยตั้งแต่ต้น กล่าวคือ เมื่อเด็กหรือเยาวชนถูกนำตัว มาส่งให้พนักงานสอบสวนแล้ว จะต้องมีผู้ปกครองอยู่ในกระบวนการด้วย การสอบสวนเด็กก็จะต้องทำในสถานที่ที่เหมาะสม ไม่ปะปนกับผู้ต้องหาคนอื่น และต้องไม่มีบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ด้วย หลังการสอบปากคำ เจ้าหน้าที่จะ ต้องนำตัวเด็ก หรือเยาวชนไปศาลภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจสอบการจับกุม โดยนับตั้งแต่เวลาที่เด็กถูกจับ แต่หากพนักงาน สอบสวนพิจารณาแล้วว่าผู้ปกครองทางกฎหมายของเด็กหรือเยาวชนสามารถปกครองดูแลเด็กหรือเยาวชนนั้นได้ อาจมอบให้บุคคลดังกล่าวเป็นผู้นำตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังศาลภายใน 24 ชั่วโมง 

ซึ่งจากข้อเท็จจริงในเดือนตุลาคมพบว่า การสลายการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม ซึ่งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุในรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธไม่ให้ทนายเข้าพบผู้ถูกจับกุม รวมถึงเยาวชน ถึง 12 ชั่วโมง แสดงถึงการละเมิดสิทธิของผู้ถูกจับกุมในการพบทนายเป็นการส่วนตัว     

  • ระบุมาตรการของศาลเยาวชนและครอบครัว (หากมี) จำนวนเงินที่ใช้ในการประกันตัว เป็นต้น 

เมื่อเด็กหรือเยาวชนมาอยู่ต่อหน้าศาล ศาลจะตรวจสอบว่าเป็นเด็กหรือเยาวชนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ กระทำความผิด หรือไม่ รวมทั้งการจับกุมและการปฏิบัติต่อ เด็กหรือเยาวชนเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ หากการจับเป็นไป โดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไป แต่ทั้งนี้ พ.ร.บ.เด็กฯ ไม่ได้ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่หรือ ผู้ปกครอง ไม่สามารถ ส่งตัวเด็กหรือเยาวชนได้ ภายใน 24 ชั่วโมง จะต้องดำเนินการเช่นใด 

ซึ่งในเดือนนี้มีกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมตัวเด็กและเยาวชนเกิน 24 ชั่วโมง ทำให้ศาลไม่รับตรวจสอบการจับ แต่ศาลก็นัดมาตรวจสอบการจับอีกครั้งหนึ่งและก็ลงความเห็นว่าเป็นการจับโดยชอบอยู่ดีหลักเกณฑ์สำคัญในการประกันตัว เด็กและเยาวชน ที่ถูกจับกุม คือ นายประกันต้องเป็นบิดา มารดา ผู้ปกครอง ญาติพี่น้องโดยสายเลือด หรือบุคคลอื่นที่บิดามารดาหรือ ผู้ปกครองยินยอมให้เป็นนายประกันจึงเกิดปัญหาในกรณีที่เด็กและเยาวชนถูกจับกุม แต่ไม่มีผู้ปกครองมาเป็นนายประกัน ทำให้ถูกควบคุมตัวที่สถานพินิจ กล่าวคือ ในการชุมนุมที่ดินแดง วันที่ 8 ตุลาคม 2564 มีเยาวชน 3 ราย ที่ไม่ได้รับการประกันตัว โดย 2 ราย ไม่มีผู้ปกครองมาศาล ส่วนอีกรายหนึ่งคือเยาวชนสัญชาติพม่า ที่พิการทางหูด้วย ต้องจัดเตรียมเอกสารรับรองต่างๆ มาใหม่ ทำให้ทั้ง 3 คนต้องถูกส่งตัวไปสถานีพินิจและคุ้มครองเด็ก แต่ปัจจุบัน ทั้ง 3 คนได้รับการประกันตัวแล้ว

แนวปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ต่อสื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ในการชุมนุม 

  • นโยบาย-ถ้อยแถลงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ตลอดการชุมนุมในปี 2564 สถานการณ์ชุมนุมเกิดขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,361 ครั้ง ( ข้อมูลถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2564) และเจ้าหน้าที่ยังคงใช้มาตรการสลายการชุมนุม โดยเฉพาะสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดินแดง ช่วงสิงหาคมที่ผ่านมา ส่งผลให้การใช้สถานการณ์ความรุนแรงมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งจากเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในพื้นที่ จึงมีแนวโน้มถูกจำกัดพื้นที่ในการปฏิบัติหน้าที่ในหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น เช่น การสร้างเงื่อนไขในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ชุมนุม โดยการออกปลอกแขนสื่อจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บัตรประจำตัวสื่อ และใบอนุญาตการทำงานหลังเวลาเคอร์ฟิว รวมไปถึงระหว่างปฏิบัติหน้าที่ โดยหลายครั้งสื่อถูกกดดันให้ออกจากพื้นที่การชุมนุม หรือจำกัดพื้นที่ในการปฏิบัติงานโดยอ้างถึงเรื่องความปลอดภัย   

ทั้งที่สื่อมวลชนและผู้สังเกตการณ์การชุมนุมต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามพันธกรณีในกติการะหว่างประเทศ นอกจากนี้ตามการตีความของของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ฉบับที่ 37 ระบุว่าการสังเกตการณ์ไม่ถูกตอบโต้หรือคุกคาม อุปกรณ์ต้องไม่ถูกยึดหรือทำให้เสียหาย แม้ว่าการชุมนุมนั้นๆจะถูกประกาศว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือที่ต้องถูกสลายก็ไม่เป็นการตัดสิทธิในการสังเกตการณ์

ภายหลังจากเดือนสิงหาคม ที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลหารือร่วมกับองค์กรสื่อเรื่องสัญลักษณ์ของสื่อ และองค์กรอื่นที่อยู่ในพื้นที่การชุมนุมให้มีการกำหนดสัญลักษณ์ สื่อยังคงถูกคุกคามในการปฏิบัติหน้าที่โดยเฉพาะช่วงช่วงเวลาเคอร์ฟิว ส่งผลให้ในวันที่ 12 กันยายน 2564 หกองค์กรสื่อประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์และสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย ได้ประสานงานกับตำรวจ และได้รับแจ้งจากพลตำรวจตรี ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลว่า สื่อที่อยู่ในพื้นที่หลังประกาศเคอร์ฟิวเพื่อรายงานข่าว หรือไลฟ์สดนั้นจะต้องมีองค์ประกอบตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อและสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ตกลงร่วมกัน นั่นคือจะต้องมีบัตรประจำตัวแสดงต้นสังกัดที่ชัดเจน มีปลอกแขนที่ออกโดยสมาคมสื่อ 6 องค์กร และหากมีจดหมายเอกสารจากต้นสังกัดเพื่อรับรองการทำงานและการเดินทางในช่วงเวลาเคอร์ฟิวประกอบด้วยก็จะถือว่าครบถ้วน 

ขณะเดียวกันการกำหนดปลอกแขนและข้อจำกัดของการเป็นสื่อที่ต้องมีสังกัดรับรอง รวมทั้งท่าทีของกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่มักกล่าวถึงการมีผู้ชุมนุมหรือผู้แอบแฝงปลอมตัวมาเป็นสื่อเป็นจำนวนมากในพื้นที่การชุมนุม โดยตอนหนึ่ง พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการและโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล ให้สัมภาษณ์ว่า  สื่อมวลชนยังทำหน้าที่ในระหว่างการเคอร์ฟิวได้แต่ผู้ที่ถูกเจ้าหน้าที่ให้ออกจากพื้นที่คือสื่อไม่มีสังกัด นอกจากนี้ทัศนคติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มีต่อสื่อพลเมืองนั้นสะท้อนว่าเหมารวมสื่อพลเมืองหรือสื่อออนไลน์อิสระเหล่านี้ว่าเป็นผู้ชุมนุม ส่งผลให้สื่อพลเมืองหรือสื่ออิสระกลายเป็นเป้าและถูกจับกุมและดำเนินคดีถึง 2 ครั้งในเดือนกันยายน ขณะที่ในเดือนตุลาคม สื่อยังคงถูกให้หยุดปฏิบัติหน้าที่และสื่อพลเมืองยังคงถูกคุกคามต่อเนื่อง เช่นในวันที่ 6 ตุลาคม 2564  ตำรวจจับกุมแอดมินนินจา จากเพจ Live Real ระหว่างการรายงานสดสถานการณ์ที่ซอยต้นโพธิ์ข้างแฟลตดินแดง โดยเขาถูกกล่าวหาว่า ฝ่าเคอร์ฟิว ขณะที่ในวันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวของ The Reporters ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ และถูกกล่าวหาว่าเป็นสื่อที่รายงานเพื่อชี้จุดของตำรวจให้ผู้ชุมนุมทราบความเคลื่อนไหว แต่ผู้สื่อข่าวปฏิเสธพร้อมกล่าวว่าตัวเองเพิ่งขึ้นรายงานสดเมื่อเจ้าหน้าที่เข้ากระชับพื้นที่บริเวณหน้าแฟลตดินแดงแล้ว นอกจากนี้ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 หลังจากสลายการชุมนุมช่วงเวลาประมาณ 23.00 น. สื่อพลเมืองอย่างเพจกะเทยแม่ลูกอ่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจยึดโทรศัพท์ และในเวลาประมาณ 00.00 น. สื่ออื่นๆ ถูกเจ้าหน้าที่เชิญไปพูดคุยเกี่ยวกับการทำงานร่วมกัน ในสน.ดินแดง และไม่สามารถถ่ายทอดสดได้ขณะพูดคุย  

asset

แอดมินนนินจาในขณะที่กำลังไลฟ์สดในเหตุการณ์การชุมนุมวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ก่อนจะถูกจับกุมตัว ภาพโดย ประชาไท

  • มีการใช้อาวุธหรืออุปกรณ์เช่น กระสุนยาง แก๊สน้ำตา รถน้ำและอื่นๆ ต่อสื่อมวลชน หรือผู้สังเกตการณ์ หรือไม่ 

ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ขณะที่เจ้าหน้าที่ชุดปราบปรามเข้ากระชับพื้นที่บริเวณหน้าสน.ดินแดง ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจถือปืนลูกซองชี้ไปทางที่สื่อมวลชนอยู่ในระยะประชิด  ขณะที่ช่วงดึกบริเวณแยกประชาสงเคราะห์ สื่ออิสระถูกยิงด้วยกระสุนยางแม้ว่าจะแสดงตัวเป็นสื่อมวลชนแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามไม่ได้ระบุจำนวนสื่ออิสระที่ได้รับผลกระทบจากการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนอย่างแน่ชัด

asset

จ้าหน้าที่ชุดปราบปรามเข้ากระชับพื้นที่บริเวณหน้าสน.ดินแดง ในวันที่ 29 ตุลาคม 2564 ภาพโดย Voice TV