วันที่: 16/9/2567 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมเดือนพฤศจิกายน 2564

description

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 106 ครั้ง รูปแบบการชุมนุมและข้อเรียกร้องหลักยังคงเป็นการเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ที่ถูกคุมขังคดีการเมืองและปฏิรูปสถาบัน แม้แนวโน้มการชุมนุมมีจำนวนลดลงแต่จำนวนผู้ถูกดำเนินคดียังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม 

ถึงแม้ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ประเทศไทยได้เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้าประเทศตามมาตรการเปิดประเทศ การประกาศขยายระยะเวลาของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินยังคงดำเนินการต่อเนื่องถึงสิ้นสุดเดือนมกราคม 2565 โดยเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ครั้งที่ 14) โดยเนื้อหาในประกาศระบุว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การกลับมาระบาดอีกครั้งจากไวรัสโคโรนา สายพันธุ์โอไมครอน ทั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทำให้ปัญหาการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่ชายแดนรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้จำเป็นต้องคงไว้ซึ่งมาตรการในการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคเพื่อความมั่นคงทางสาธารณสุขของชาติและชีวิตประชาชน นับว่า ประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี 9 เดือน   

ขณะเดียวกัน แนวโน้มการชุมนุมมีจำนวนลดลงแต่จำนวนผู้ถูกดำเนินคดียังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจาการชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง อย่างน้อย 1,684 คน ใน 957 คดี  ในจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด เป็นเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 267 ราย ซึ่งข้อกล่าวหาหลักคือ ข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีผู้ถูกดำเนินคดีมากถึง 1,367 คน ใน 594 คดี แบ่งเป็นคดีในระหว่างมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 24 คดี (ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงฯในช่วงวันที่ 16 ตุลาคม 2563 – 13 พฤศจิกายน 2563)  

ในเดือนพฤศจิกายน 2564 มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 106 ครั้ง รูปแบบการชุมนุมและข้อเรียกร้องหลักยังคงเป็นการเรียกร้องให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ที่ถูกคุมขังคดีการเมืองและปฏิรูปสถาบัน โดยเคลื่อนไหวควบคู่และสอดรับกับเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง ได้แก่ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีว่าการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ซึ่งผู้ปราศรัยได้แก่ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นการกระทำที่ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อในการชุมนุมดังกล่าวกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน และ กลุ่มองค์กรเครือข่าย ยุติการกระทำดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอีกด้วย ขณะที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นในวันเดียวกัน นำโดยกลุ่มทะลุฟ้าร่วมลุ้นผลคำวินิจฉัยที่บริเวณหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ต่อมา จึงมีการเคลื่อนไหวจากนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม เช่น แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, ทะลุฟ้าและเครือข่ายคัดค้านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ โดยมีการนัดหมายการชุมนุมเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปสนามหลวง และถูกปิดกั้นการชุมนุมในบริเวณดังกล่าวจึงเปลี่ยนสถานที่จากแยกปทุมวันไปสถานทูตเยอรมันแทน  

นอกจากนี้ กลุ่มมวลชนปกป้องสถาบันได้ออกมาเคลื่อนไหวใน 2 ประเด็นคือ คัดค้านการยกเลิกและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งลักษณะการเคลื่อนไหวมีการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อคัดค้านการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายหลังการชุมนุมของคณะราษฎรยกเลิกมาตรา 112 ที่ทำกิจกรรมราษฎรประสงค์ยกเลิก 112 ในวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ที่สี่แยกราชประสงค์ ล่ารายชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อยื่นเสนอต่อรัฐสภาให้ยกเลิกมาตรา 112  

asset

กลุ่มมวลชนปกป้องสถาบันฯ ชุมนุมคัดค้านการยกเลิกและแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 วันที่ 7 พฤศจิกายน 2564 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภาพโดย Mob Data Thailand

ประเด็นที่สอง คือการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบการทำงานขององค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายกระทบต่อความมั่นคงของประเทศและสถาบันพระมหากษัตริย์หรือไม่ ซึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มพสกนิกรปกป้องสถาบันและเครือข่ายรวม 6 องค์กร ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีในการตรวจสอบที่กล่าวมาข้างต้น สืบเนื่องจากแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยได้ประกาศแคมเปญเขียนจดหมายล้านฉบับถึงทั่วโลก เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดดำเนินคดีกับ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง ซึ่งการกระทำดังกล่าวถือว่าเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 นั้น ระบุว่า “ให้ผู้ถูกร้อง รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่าย เลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49” การกระทำขององค์กรดังกล่าวอาจถือได้ว่า สนับสนุนบุคคลหรือกลุ่มบุคคลกระทำการจาบจ้วงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้หากพบข้อมูลหลักฐานอันเชื่อได้ว่าองค์กรดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายแทรกแซงกิจการความมั่นคงของประเทศ ขอให้มีมาตรการทางกฎหมายจัดการกับองค์กรนี้ให้พ้นออกไปจากประเทศไทย 

asset

กลุ่มปกป้องสถาบันชุมนุมเรียกร้องห้รัฐบาลดำเนินการตรวจสอบการทำงานขององค์กร แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย วันที่ 25 พฤศจิกายน 2564 ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ กรุงเทพมหานคร ภาพโดย Prachatai

ในเวลาไล่เลี่ยกัน นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวถึง ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. …. (ร่างกฎหมายควบคุมเอ็นจีโอ) ที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีให้คณะกรรมการกฤษฎีกายกร่าง พ.ร.บ. ก่อนจะพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เพิ่มเติมหลักการ การป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่ผู้ก่อการร้ายรวมถึงการเผยแพร่อาวุธที่มีอานุภาพทำงายล้างสูง รวมเข้ากับร่างพ.ร.บ.ควบคุมเอ็นจีโอ ยิ่งสะท้อนถึงความพยายามของรัฐที่จะควบคุมและจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก รวมไปถึงการรวมกลุ่มและสมาคมของภาคประชาสังคม ยิ่งไปกว่านั้นการใช้มาตรฐานเรื่องการป้องกันการฟอกเงินหรือเป็นแหล่งเงินสนับสนุนแก่ผู้ก่อการร้ายมีแนวโน้มถูกใช้เป็นเครื่องมือของรัฐในการควบคุมและจำกัดการทำงานของภาคประชาสังคม 

วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติพิจารณากรณีประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลางให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งระบุข้อสังเกต ว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการตรากฎหมายรับรองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป เมื่อกฎหมายยังไม่รับรองสิทธิของผู้ที่ความหลากหลายทางเพศ ภาคประชาชนภายใต้ชื่อกลุ่ม “ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม” เปิดแคมเปญให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอ “กฎหมายสมรสเท่าเทียม” หรือร่างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) โดยรวบรวมรายชื่ออย่างน้อย 10,000 รายชื่อ เสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไปว่า ป.พ.พ.ควรถูกแก้ไขเพื่อรับรองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายหรือไม่ ซึ่งกิจกรรมเปิดตัวแคมเปญตั้งโต๊ะให้เข้าชื่อในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ณ แยกราชประสงค์ รวมทั้งสามารถเข้าชื่อออนไลน์ทางเว็บไซต์อีกช่องทางด้วย อย่างไรก็ตามจากกิจกรรมตั้งโต๊ะเข้าชื่อในวันดังกล่าว นักกิจกรรมและประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และข้อหากีดขวางการจราจรตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 โดยร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคฯ และร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”  และร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร 

assetassetasset

ภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม เปิดแคมเปญให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 ณ แยกราชประสงค์ ภาพโดย Mob Data Thailand

ถึงแม้ว่าความรุนแรงจากการชุมนุมมีแนวโน้มลดลงควบคู่ไปกับจำนวนการชุมนุม ความพยายามในการปิดกั้นการชุมนุมพื้นที่ต่างๆโดยเฉพาะพื้นที่หวงห้าม ยังคนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่การปิดกั้นพื้นที่การชุมนุมแต่ เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุม 60 ครั้ง  เป็นการสลายการชุมนุม ในพื้นที่หวงห้าม เช่น สนามหลวง, ทำเนียบรัฐบาล และกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ (ราบ 1) ถึง 42 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายน พื้นที่เช่นสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และ บริเวณราชประสงค์ ตามลำดับ 

ในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญประกาศคำสั่งกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อย โดยระบุว่า “ประกอบกับหน่วยงานทางความมั่นคง ได้แจ้งต่อสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญว่า จะมีสถานการณ์ที่มีสิ่งบอกเหตุ หรือข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า อาจจะมีเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยและความไม่สงบเรียบร้อยเกิดขึ้น” ก่อนที่วันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยคำร้องของนาย ณฐพร โตประยูร ที่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่าการเคลื่อนไหวทางการเมืองแกนนำกลุ่มราษฎร ได้แก่ นายอานนท์ นำภา, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ในการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง เป็นการใช้สิทธิ หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่  

จากประกาศดังกล่าวส่งผลให้ ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 รอบพื้นที่ใกล้กับสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เช่น อาคารราชบุรีดิเรกฤทธิ์ แผงเหล็กถูกติดตั้งบริเวณทางเข้า-ออกอาคาร พร้อมทั้งติดป้ายประกาศศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งระบุว่าอาคารใช้เป็นสถานที่รักษาความปลอดภัย ขณะที่บริเวณโดยรอบเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสีกากีวางกำลังกระจัดกระจาย นอกจากนี้ ผู้สังเกตการณ์ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่ศาลอ้างเหตุนี้ เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี รวมถึงเจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชนที่มาสังเกตการณ์คดีเข้าไปในอาคารดังกล่าวด้วยโดยจะบุคคลทั่วไปสามารถรับชมถ่ายทอดสดเหตุการณ์ในห้องพิจารณาคดีให้ผู้ชุมนุมจากภายนอกอาคาร

assetasset

#ม็อบ10พฤศจิกา64 : #ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง ภาพโดย Mob Data Thailand

ในวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม, กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย, ทะลุฟ้าและเครือข่ายนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเคลื่อนขบวนไปที่สนามหลวง ระบุว่า เป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ สืบเนื่องมาจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2564 จากการนัดหมายการชุมนุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่เข้าคุกคามและตรวจค้นบ้านของนักกิจกรรม ขณะที่ในวันนัดหมายการชุมนุม เจ้าหน้าที่มีการปิดกรจราจรด้วย ตู้คอนเทนเนอร์ยาวสองชั้น ตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน  และปิดการจราจรรอบบริเวณที่รวมตัว อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งแต่เวลา 12.50 น. ขณะที่เวลานัดหมายการทำกิจกรรมคือเวลา 15.00 น.  ตำรวจตั้งรั้วเพื่อตรวจค้นกระเป๋าบุคคลที่ต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบสีกากี และสวมชุดเกราะ พร้อมอาวุธปืนสั้นและปืนยาวในมือ ทั้งนี้พบทั้งกระป๋องแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ปืนช็อตไฟฟ้า และ ปืน FN303 ในพื้นที่ชุมนุม นอกจากนี้ แผงเหล็กปิดการจราจรและตรวจค้นบุคคลกับรถมอเตอร์ไซค์ที่จะไปทางอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย   

assetassetasset

#ม็อบ14พฤศจิกา64 : #ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภาพโดย Mob Data Thailand

อย่างไรก็ตามการชุมนุมจัดกิจกกรรมประกาศย้ายสถานที่การชุมนุมที่แยกปทุมวัน และประกาศเคลื่อนขบวนไปยื่นแถลงการณ์ที่สถานทูตเยอรมันเมื่อเคลื่อนขบวนเข้าถนนอังรีดูนังต์ได้ เวลาประมาณ 17.11 น. ระหว่างที่ขบวนเคลื่อนผ่านแยกเฉลิมเผ่าแล้ว หัวขบวนมาถึงบริเวณหน้าสถาบันนิติเวช ซึ่งยังมีแถวตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) พร้อมโล่สีดำในมืออยู่ ระหว่างที่ คฝ. ถอยกำลังเข้าไปในประตูของสถาบันนิติเวช คฝ.ยิงปืนยาวใส่ผู้ชุมนุม โดยผู้สังเกตการณ์ที่อยู่ในพื้นที่ยืนยันว่าเป็นการยิงใส่ในระยะประชิด ด้วยกระสุนไม่ทราบชนิด มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 2 คน คนหนึ่งล้มลงกับพื้นและมีเลือดออกบริเวณบาดเจ็บบริเวณหน้าอกช่วงลิ้นปี่ อีกคนถูกยิงที่หัวไหล่  

assetassetasset

#ม็อบ14พฤศจิกา64 : #ต่อต้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ภาพโดย Mob Data Thailand

ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 กลุ่มเสรีเทยพลัส, เฟมินิสต์ปลดแอก และเครือข่ายแนวร่วมภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม นัดหมายชุมนุมที่แยกราชประสงค์ ซึ่งกิจกรรมเป็นการปราศรัยและกิจกรรมล่ารายชื่อ 10,000 รายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายการสมรสเท่าเทียมผ่านสภา ซึ่งในเวลาก่อนนัดหมายการชุมนุม รอบพื้นที่การชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจ พร้อมทั้งค้นตัว และใช้กล้องถ่ายรูปรถมอเตอร์ไซต์ทุกคัน รอบบริเวณราชประสงค์ เช่นแยกเฉลิมเผ่า แยกประตูน้ำ และก่อนเริ่มกิจกรรม พ.ต.อ. จักรกริศน์ โฉสูงเนิน ผู้กำกับสถานีตำรวจลุมพินี อ่านประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ห้ามการชุมนุม นอกจากนี้ภายหลังการชุมนุม เจ้าหน้าที่จับกุมรถขนอุปกรณ์ไฟฟ้าของกลุ่มทะลุฟ้า และถูกจับกุมจับกุมอย่างน้อย 7 คน ได้แก่ รถเครื่องเสียง, ผู้ชุมนุมบริเวณดินแดง และ ผู้ชุมนุมถนนพระราม 9 ไม่เพียงแต่จับกุมภายหลังการชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายดำเนินคดีภายหลังจากการเข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 20 คน ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉิน  

ถึงแม้ว่าสถานการณ์การชุมนุมมีแนวโน้มลดลง แต่แนวโน้มการควบคุมการชุมนุมและการแสดงออกของรัฐยังคงมีท่าทีแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องและมีนัยยะสำคัญเพื่อไม่ให้การชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้น ทั้งก่อน ระหว่าง และภายหลังการชุมนุม ดังจะเห็นได้จากการปิดกั้นพื้นที่การชุมนุม การคุกคามนักกิจกรรมทั้งก่อนและหลังการชุมนุม และการใช้กฎหมาย เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินดำเนินคดีกับผู้ชุมนุมที่ออกมาจัดกิจกรรมชุมนุมและแสดงออก ส่งผลให้จำนวนผู้ถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะ พ.ร.ก. ฉุนเฉินพุ่งสูงขึ้นถึงกว่า 1,000 คน ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองคุ้มครองการชุมนุมโดยสงบอย่างชัดเจน ซึ่งระบุว่า การห้ามชุมนุมจะต้องถูกพิจารณาเป็นทางเลือกสุดท้าย รัฐควรพิจารณาให้มีการชุมนุมก่อน และค่อยพิจารณาในภายหลังว่ามีความจําเป็นต้อง ใช้มาตรการใด ๆ ต่อการทําความผิดที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการชุมนุมหรือไม่ แทนการกําหนดข้อจํากัดไว้เป็นการล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงทั้งหมดในการชุมนุม และแม้รัฐสามารถจำกัดสิทธิการชุมนุมโดยสงบได้ในบางกรณี แต่รัฐต้องสามารถแสดงให้เห็นว่าข้อจํากัดทั้งหลายนั้นถูกต้องตามหลัก ความชอบด้วยกฎหมาย และจะต้องมีความจําเป็นและได้สัดส่วนต่อเหตุแห่งการจํากัดสิทธิข้อใดข้อหนึ่งตามที่ได้ บัญญัติไว้ในมาตรา 21  

สถานการณ์การจับกุม  

จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในเดือนนี้มีผู้ถูกจับกุมในที่ชุมนุมอย่างน้อย 10 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย 3 รายแรกมีอายุ 14 ปี, 14 ปี และ 13 ปี ตามลำดับ ถูกจับในวันที่ 19 พฤศจิกายน ขณะนำประทัดไปปาในวันลอยกระทง อีก 6 ราย ถูกจับกุมในวันที่ 28 พฤศจิกายน หลังม็อบภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียมยุติลง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ดักจับรถเครื่องเสียง ถูกจับกุมโดยตำรวจในเครื่องแบบกว่า 10 นายพร้อมโล่ อ้างว่าเขาเข้าร่วมการชุมนุมสมรสเท่าเทียม และไม่ยอมแสดงบัตรประชาชน ขณะถูกจับกุม ตำรวจได้ฉุดกระชากลากถูจนมีบาดแผลถลอกเห็นเลือดที่แขนด้านซ้าย เขาถูกตำรวจเอากระบองจี้เอวด้วย เพียงแต่ไม่ปรากฏรอยดังกล่าว ประสิทธิ์ถูกเปรียบเทียบปรับ 300 บาท ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานก่อนปล่อยตัวไป, สหรัฐ ถูกกล่าวหาว่าไปปาพลุ-ประทัด-ระเบิดบริเวณถนนพระรามเก้า หลังชุมนุม #ม็อบสมรสเท่าเทียม เขาถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เนื่องจากญาติไม่สามารถมาประกันตัวได้ และประชาชนอีกรายที่ถูกจับในเหตุการณ์เดียวกัน เขาถูกเปรียบเทียบปรับฐานขัดคำสั่งเจ้าพนักงานแล้วปล่อยตัวไป  

ผู้ได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุม  

ในเดือนนี้ มีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บขณะเข้าร่วมการชุมนุม แต่ไม่ถูกจับกุม อย่างน้อย 9 ราย ดังนี้  

ม็อบไม่เอาสมบูรณาญาสิทธิราชย์ วันที่ 14 พ.ย. ป๋อง (23 ปี) ถูกยิงด้วยกระสุนยางบริเวณลิ้นปี่ โดนตับและปอด เขาถูกยิงในระยะประชิด จนทำให้กระสุนฝังใน มีอัพเดตว่าวันที่ 16 พ.ย. ป๋องได้ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว แต่ยังอยู่ใน ICU, ชายไม่ทราบชื่อ อายุ 30 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าใต้ไหปลาร้า ยังไม่ทราบว่ามาจากฝ่ายใด หลังยิงแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจพูดว่า "ไปฟ้องเอาแล้วกัน" เขาได้รับการผ่าตัดที่ รพ.จุฬา อาการปลอดภัยแล้ว, ประชาชนชาย ถูกยิงบริเวณสีข้างและต้นแขน มีรอยถลอกและรอยฟกช้ำบริเวณบาดแผล แต่ไม่ได้เป็นอะไรมาก, ทวิตเตอร์ DNA แจ้งว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุอีก 1 คน และมีอาการหอบเกร็งอีก 1 คน และประชาชนในบริเวณนั้น เล่าว่ามีการปาวัตถุจากรถมอเตอร์ไซค์ บริเวณแยกวิทยุ ตรงตู้จราจรทุ่งมหาเมฆ 1 ครั้ง และตรงคำว่า 150 ปี 1 ครั้ง มีสะเก็ดกระเด็นตอนระเบิด มีผู้บาดเจ็บ 1 คน โดนสะเก็ดระเบิดขณะโบกรถ เขาได้รับการปฐมพยาบาลแล้ว  

ชุมนุมให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี วันที่ 22 พ.ย. บริเวณนอกรั้วศาลธัญบุรี มีหญิงวัยกลางคน 2 ราย ถูกไม้เบสบอลตีเข้าหลายครั้ง จนได้รับบาดเจ็บตรงข้อศอกซ้ายและมีอาการบวมแดง โดยชายนิรนามสวมเสื้อคลุมลายพรางเป็นผู้กระทำ เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้ควบคุมผู้ก่อเหตุ และพาผู้เสียหายทั้งสองเดินทางไปแจ้งความ และรักษาอาการบาดเจ็บที่โรงพยาบาล  

ม็อบภาคีสีรุ้งเพื่อสมรสเท่าเทียม วันที่ 28 พ.ย. มีเจ้าหน้าที่สายสืบได้รับบาดเจ็บบริเวณขมับและปาก ทีม DNA ปฐมพยาบาลและพาไปส่งที่ สน. ปทุมวันเรียบร้อยแล้ว  

สถานการณ์การคุกคามนักกิจกรรม  

ตามรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในเดือนนี้ มีการคุกคามนักกิจกรรมและครอบครัวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบหลายครั้ง แม้ว่าจะไม่เจอตัวนักกิจกรรมที่บ้านก็ตาม อีกทั้งยังมีการข่มขู่ครอบครัวนักกิจกรรมด้วย เช่น จิ (นามสมมติ) ที่ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด ราว 3 นาย ไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านในอำเภอเมืองสุรินทร์ โดยไม่มีเอกสารหรือหมายใดๆ มีเพียงหลักฐานเป็นภาพที่บันทึกด้วยมือถือจากโพสต์จากเพจ ‘KTUK – คนไทยยูเค’ที่แชร์บนเฟซบุ๊ก เมื่อไม่ได้ข้อมูล ยังได้ทิ้งทายเชิงข่มขู่ว่า "ยังไงก็จะให้คนของทางการหาตัวให้เจอ", ป่าน ทะลุฟ้า ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลมาหาครอบครัวที่บ้านพักในจังหวัดน่าน ตำรวจมีการพูดจาเชิงข่มขู่คุกคามแม่ของป่านที่อยู่บ้านเพียงลำพัง พร้อมทั้งแสดงรายชื่อ “บัญชีดำ” (Blacklist) นักกิจกรรมที่ปรากฏว่ามีชื่อป่านและหมายเรียกที่ไม่เคยเห็นอยู่ในนั้นด้วย และ เต (นามสมมติ) มีชายแต่งชุดยีนส์ อ้างว่ามาจากหน่วยงานความมั่นคง บุกไปตามหาตัวที่บ้าน จ.นครราชสีมา ระบุว่า เขาแชร์โพสต์ที่เข้าข่าย ม.112 ทำให้ครอบครัวรู้สึกไม่ปลอดภัย 

asset

เจ้าหน้าที่ตำรวจนำหมายค้นขอค้นบ้านของสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้า โดยหมายค้นระบุถึงความผิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 ภาพโดย Mob Data Thailand

ไม่เพียงแต่บ้านของนักกิจกรรมเท่านั้น ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปตามหาตัวจากบุคคลอื่น เช่น เอ (นามสมมุติ) มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปตามหาตัว โดยไปพบผู้ใหญ่บ้านที่จ.สุรินทร์ พร้อมข้อมูลของเขา วัตถุประสงค์คือต้องการให้เอลบโพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ที่เขาแชร์จากเพจ ‘KTUK – คนไทยยูเค’ และเปิดการมองเห็นเป็นโพสต์สาธารณะรวม 2 โพสต์ และ “แนน” สาวิตรี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางไปสอบถามข้อมูลส่วนตัวถึงที่ทำงาน 2 วันติดกัน ทั้งที่กรุงเทพฯ และนครสวรรค์ อ้างว่าเพื่อสืบหาว่าเธอเป็นเจ้าของแอคเคาท์ทวิตเตอร์ที่มีเนื้อหาเข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่,   

นอกจากจะมีการคุกคามนักกิจกรรมทางการเมืองแล้ว ยังมีการคุกคามครอบครัวผู้ต้องหาที่ถูกคุมขังอยู่ด้วย ในกรณีของ ครอบครัวขจรศักดิ์ ที่มีรถตำรวจราว 5 คัน มาจอดที่หน้าบ้านยามวิกาล บีบแตรและประกาศว่า "ผู้ต้องหาครอบครองวัตถุระเบิด นายขจรศักดิ์อยู่บ้านหลังนี้นะ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะเฝ้าระวังเป็นพิเศษสำหรับผู้ต้องหารายนี้นะ นายขจรศักดิ์ ครอบครองวัตถุระเบิด ครอบครองวัตถุระเบิด มีการประดิษฐ์วัตถุระเบิด อยู่บ้านหลังนี้นะ บ้านหลังสีขาว…" ก่อนขับรถออกไป ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 แล้ว ทำให้ครอบครัวรู้สึกหวาดกลัว  

ก่อนที่จะมีการจัดการชุมนุมทางการเมือง พบว่า มีการคุกคามบ้านกลุ่มนักกิจกรรม 2 กลุ่ม ได้แก่ บ้านของสมาชิก wevo ที่ถูกตำรวจนครปฐมจำนวนมากสนธิกำลังกันเพื่อเข้าล้อม ตั้งแต่เวลา 22.00 น. คืนก่อนการชุมนุมวันที่ 14 พ.ย. ซึ่งโตโต้ได้เปิดเผยว่า ตำรวจมาเพื่อตามหากิโยตินจำลอง และวันที่ 14 พ.ย. บ้านของทีมทะลุฟ้า ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 10 นาย แสดงหมายขอตรวจค้น ทีมทะลุฟ้าจึงยอมให้ตำรวจ 1 คนที่มีชื่อในหมายค้นเข้าไปค้นเพียงผู้เดียว โดยไม่ให้ตำรวจคนอื่นเข้าไปด้วย จากนั้น 12.40 น. ตรวจค้นเสร็จ ไม่มีการยึดอะไรไป นอกจากนี้ ตำรวจยังมีการจอดรถปิดถนนทางเข้าไปบ้านทะลุฟ้าด้วย  

ไม่เพียงแต่จะพบการคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่านั้น มีรายงานกรณี นักศึกษา/นักกิจกรรม 3 ราย ที่ไปติดป้ายประท้วงผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ถูก รปภ. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถีบรถจักรยานจนล้ม ได้รับบาดเจ็บ ก่อนเรียกตำรวจมาควบคุมตัวไป มีการใส่กุญแจมือรายที่บาดเจ็บด้วย อีกทั้งยังมีการใช้คำพูดข่มขู่ว่า "ถ้าไม่หยุดจะเอาให้ถึงตาย" "จะจับไปขังไว้สักคืน" เมื่อถึง สภ.บ.ย่อย มข. ตำรวจปฏิเสธว่าไม่ใช่การจับกุม แค่นำตัวมาสอบถามถึงเหตุการณ์พ่นสีในมหาลัย ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการจับกุมตัวผู้กระทำร้ายนักศึกษาแต่อย่างใด  

วันที่ 18 พ.ย. ตำรวจประมาณ 20 คน เข้าไปในงาน Live Painting ที่ WTF CAFÉ ซึ่งเป็นงานประกอบเรื่องเล่าจากผู้ชุมนุมทางการเมืองที่ถูกใช้กำลังจับกุมที่แยกดินแดงที่จัดแสดงบนกำแพงอาคารเอกชนหน้าร้าน WTF และสั่งให้ลบ 'Fuck The King Kong' และอื่นๆ โดยอ้างว่าเป็นข้อความที่ "ดูหมิ่น"