วันที่: 19/2/2567 ผู้เขียน: mobdatthailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนมกราคม 2565

description
  • คำสำคัญ
  • คีย์เวิร์ด

ในเดือนมกราคม 2565 สถานการณ์โควิดโอไมครอนพาประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 แม้รัฐบาลจะออกมาตรการภายใต้สถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลายกว่าในปี 2564 แต่ในวันที่ 25 มกราคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ครั้งที่ 16) ไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 ลงนามเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ส่งผลประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลากว่า 2 ปี ขณะที่ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมกลับถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เฉพาะปีพุทธศักราช 2564 ที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ต่ำกว่า 1,244 คน เป็นคดีกว่า 542 คดี

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม

asset

@Thikamporn Tamtiang #ม็อบ18มกรา65 : ร้องแก้ปัญหาปากท้อง (opens new window)

ในเดือนมกราคม 2565 สถานการณ์โควิดโอไมครอนพาประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 แม้รัฐบาลจะออกมาตรการภายใต้สถานการณ์โควิดที่ผ่อนคลายกว่าในปี 2564 แต่ในวันที่ 25 มกราคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ครั้งที่ 16) ไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 ลงนามเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ส่งผลประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลากว่า 2 ปี ขณะที่ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมกลับถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เฉพาะปีพุทธศักราช 2564 ที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ต่ำกว่า 1,244 คน เป็นคดีกว่า 542 คดี

เนื่องจากสถานการณ์โควิดไอไมครอนระบาดต่อเนื่อง ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประชาชน และสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังทางการเมืองในระหว่างที่พิจารณาคดียังคงดำเนินต่อเนื่อง เป็นจำนวน 18 ราย ในจำนวนนี้มีเยาวชนอายุ 16 ปี 1 ราย โดยบางรายถูกคุมขัง กว่า 6 เดือน โดยข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รวมถึง แกนนำราษฎร อาทิ พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ จตุภัทร บุญภัทรรักษา ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 อานนท์ นำภา ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 และ ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564

การชุมนุมและการแสดงออกจึงเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 99 ครั้ง ซึ่งสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดระบาดต่อเนื่องและการบริหารงานของรัฐบาลรวมถึงประเด็นสิทธิประกันตัวของผู้ขังขณะพิจารณาคดี แบ่งเป็นประเด็นเรียกร้องให้คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ที่ถูกคุมขังคดีการเมืองในกิจกรรมยืนหยุดขัง ที่เกิดขึ้นทุกวันที่ ศาลฎีกา หน้าเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ, บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ต่ำกว่า 67 ครั้ง

asset

@gun_sangtong  การชุมนุมของกลุ่มพีมูฟ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ภายหลักปักหลักชุมนุมมาตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2565 โดยเรียกร้องเรื่องสิทธิที่ดิน รัฐสวัสดิการ และสิทธิของชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง

assetasset

การชุมนุมคาร์ม็อบของกลุ่มภาคีเซฟบางกลอย ในวันที่ 30 มกราคม 2565 จากทำเนียบรัฐบาลไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องตาม 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่ม

ประเด็นปัญหาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แรงงาน และสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองอย่างน้อย 20 ครั้ง อาทิ กลุ่มขบบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ ซึ่งปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2565 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาประเด็นรัฐสวัสดิการ การจัดการที่ดินและทรัพยากร 15 ข้อ กลุ่มภาคีsaveบางกลอยและบางกลอยคืนถิ่นที่ร่วมเคลื่อนไหวในกลุ่มพีมูฟด้วยโดย ยืนยัน 4 ข้อเรียกร้องเพื่อแก้ไขปัญหาของชาวบางกลอย หนึ่งในข้อเรียกร้องคือการตั้งคณะกรรมการอิสระชุดใหม่เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ที่ปักหลักบริเวณ กระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกกลุ่ม กลุ่มสมาพันธ์แรงงานแท็กซี่ไทย และกลุ่มสหภาพไรเดอร์ภาคใต้ที่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นแรงงานอีกด้วย

ส่วนประเด็นการศึกษาและประเด็นอื่นๆในภูมิภาค มีไม่ต่ำกว่า 11 ครั้ง เช่น กลุ่มปฏิวัติการศึกษาไทย กลุ่มนักเรียนเลวและเครือข่ายฯ ยื่นหนังสือถึงนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. เพื่อตรวจสอบการทำงานของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ที่ดูแลระบบกลางคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อเรียกร้องให้มีมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 รวมถึงมาตรการการสอบท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่เหมาะสม ส่วนในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักกิจกรรมหลายกลุ่มเช่น กลุ่มนักเรียน KKC กลุ่มอุดรพอกันที กลุ่มดาวดิน กลุ่มอุบลปลดแอกรวมตัวกันทำกิจกรรมเคลื่อนไหว ภายใต้ชื่อ “เครือข่ายราษฎรโขงชีมูน” เพื่อรวมพลังการเคลื่อนไหวของภูมิภาคและเรียกร้องการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ซึ่งสนับสนุนข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อเรียกร้องของปี 2564 คือ ประยุทธ์ลาออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และปฏิรูปสถาบันฯ ยังคงอยู่ในประเด็นการเคลื่อนไหวแม้จะยังไม่ชัดเจนมากนัก

asset

วันที่ 14 มกราคม 2565 นักกิจกรรม 2 คนถูกคุมตัวก่อนปรับ 2 ข้อหา รวม 1,500 บาท หลังจากรณรงค์ไม่รับปริญญาด้วยการถือป้ายผ้า

ข้อมูลเพิ่มเติม : #ม็อบ14มกรา65 : #ไม่รับปริญญา (opens new window)

นอกจากนี้ การรณรงค์ไม่รับปริญญากลับมาอีกครั้ง หลังจากการรณรงค์ไม่รับปริญญาเคยเกิดเป็นกิจกรรมแสดงออกและข้อถกเถียงเป็นวงกว้างในช่วงงานรับปริญญาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่จัดในช่วงเดือนตุลาคม 2563 ซึ่งเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับกระแสข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในขณะนั้น โดยกำหนดการรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เกิดขึ้นในวันที่ 14 มกราคม 2565 ซึ่งก่อนหน้าในวันที่ 12 มกราคม 2565 เพจเฟซบุ๊ก งานนโยบาย สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โพสต์แสดงจุดยืนถึงเสรีภาพในการปฏิเสธพิธีกรรมศักดินาด้วยการไม่เข้ารับปริญญา รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมแสดงออกด้วยการติดสติกเกอร์สำรวมความคิดเห็น ต่อมาในวันที่ 14 มกราคม 2565 นักกิจกรรม 2 คน แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการถือป้ายผ้าที่มีข้อความ “ปริญญาศักดินา” เมื่อเริ่มเข้าเขตมหาวิทยาลัยที่มีพิธีรับปริญญาอยู่ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงห้าม พร้อมทั้งระบุว่าเป็นเขตหวงห้าม ก่อนเกิดเหตุการณ์ชุลมุน และนักกิจกรรมทั้งสองคนถูกคุมตัวก่อนปรับ 2 ข้อหา รวม 1,500 บาท จากกิจกรรมรณรงค์ไม่รับปริญญาดังกล่าว นักกิจกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิตได้ทำกิจกรรมแสดงออกด้วยการติดสติกเกอร์สำรวจความเห็นในลักษณะเดียวกัน ขณะที่นักกิจกรรมกลุ่มโกงกางถูกคุกคามและติดตามในช่วงพิธีรับปริญญาในวันที่ 19-20 มกราคม 2565

แม้แนวโน้มการชุมนุมไม่ได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมากนัก และตัวเลขการดำเนินคดีลดน้อยลงตามจำนวนการชุมนุมที่เกิดขึ้น หากแต่ดำเนินคดีต่อเนื่องกับการชุมนุมในแทบทุกประเด็นและหลากหลายรูปแบบ รวมทั้งการปิดกั้นพื้นที่การชุมนุมยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,767 คน ในจำนวน 1,009 คดี โดยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 273 ราย แบ่งเป็น

  • คดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กว่า 1,428 คน ในจำนวน 617 คดี

  • ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 169 คนใน 176 คดี

  • พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 117 คน ใน 133 คดี

  • ความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จำนวน 116 คน ใน 37 คดี

  • พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 จำนวน 107 คน ใน 75 คดี

  • ความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 จำนวน 31 คน ใน 17 คดี

ซึ่งในเดือนมกราคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 16 คนใน 24 คดี นอกจากนี้การคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐในหลายรูปแบบ เช่น การติดตามที่บ้านของนักกิจกรรม รวมทั้งสื่อ เกิดถี่ขึ้นในหลายจังหวัดที่เริ่มมีกิจกรรมการชุมนุมและแสดงออก

สถานการณ์การคุกคาม

แม้ว่ากระแสการชุมนุมจะชะลอตัว แต่ยังมีการคุกคามนักกิจกรรมผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่มีบุคคลสำคัญหรือราชวงศ์เข้ามาในพื้นที่ เหล่านักกิจกรรมในพื้นที่นั้นๆจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ ในเดือนมกราคม มีการคุกคามประชาชนอย่างน้อย 18 ครั้ง ดังนี้

คุกคามนักกิจกรรมและครอบครัว

มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 9 ราย ถูกคุกคามโดยการตามตัวถึงบ้าน หรือเฝ้าจับตามองในช่วงที่มีบุคคลสำคัญเข้ามาในพื้นที่ แม้จะยังไม่ได้มีแผนว่าจะจัดการชุมนุมใดๆ เช่น กรณีของฉัตรชัย ทนายความ-นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก ที่ถูกตำรวจ สภ.เดชอุดม 2 นายเข้าพบ อ้างนาย​ให้มาถ่ายรูป ซึ่งก่อนหน้าฉัตรชัยถูกติดตามหลายครั้งโดยเฉพาะช่วงที่มีบุคคลสำคัญเดินทางไปที่อุบลราชธานี นิว จตุพร โพสต์เล่าเหตุการณ์ที่มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 7-8 นายคุกคามไปถึงบ้านแฟน โดยเข้าไปถ่ายภาพบ้านและแม่ ขอเบอร์โทร ทั้งพูดคุยให้บอกแฟนนิวว่าอยู่ห่างๆ นิวไว้ เพราะมีคดีเกี่ยวกับสถาบันฯ ชลธิศ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 3-4 นาย มาที่บ้านของตน โดยอ้างว่า “เบื้องบน” ให้มาตรวจเยี่ยมว่าอยู่ในกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงหรือไม่ และระบุว่าในอนาคตอาจจะมาอีกด้วย และกรณีของ กันต์ นักกิจกรรมเยาวชน ถูกตำรวจ สภ.หนองกี่ จ.บุรีรัมย์ เรียกไปพบเพื่อยืนยันว่า จะไม่ทำกิจกรรมใดๆ ขณะขบวนเสด็จของพระเทพฯ ผ่าน เขาถูกเฝ้าติดตามมาแล้ว 2-3 วัน

ทั้งนี้ ช่วงที่เกิดการคุกคามนักกิจกรรมมากที่สุด คือช่วงรับปริญญา พบว่า นักกิจกรรมอย่างน้อย 13 ราย ถูกคุกคามจากสาเหตุนี้ เช่น วณัฐ โคสาสุ ทนายความและอดีตผู้สมัคร สท.คณะก้าวหน้า รวมถึงอดีตผู้ประสานงานพรรคอนาคตใหม่ ถูก ตร.สภ.เมืองมุกดาหาร ติดตามถึงบ้านสอบถามความเคลื่อนไหวในช่วง 2-3 วันนี้ คาดว่าเหตุจากพระเทพฯ เสด็จพระราชทานปริญญาที่ ม.กาฬสินธุ์ กลุ่มโกงกาง ซึ่งเป็นนักศึกษาและนักกิจกรรม มหาวิทยาลัยบูรพา รายงานว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ต่างๆ เข้าติดตามถึงบ้าน หรือถูกโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว ไม่ต่ำกว่า 9 ราย ในช่วง 1 อาทิตย์ ก่อนงานรับปริญญา และมีกรณีของ ยศสุนทรและพิมพ์ชนก นักกิจกรรมถูกจับกุมจากการถือป้ายข้อความในงานรับปริญญา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจตรงเข้ามากระชากป้ายและยื้อแย่งโทรศัพท์จนพิมพ์ชนกได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ก่อนที่ทั้งสองจะถูกปรับข้อหาส่งเสียงอื้ออึงรวม 1,500 บาท

การจัดกิจกรรมเข้าชื่อเพื่อแก้กฎหมายก็ถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน ก่อนหน้าวันที่กลุ่มนครพนมสิบ่ทน จะไปสวัสดีปีใหม่ประชาชนบริเวณหน้าตลาดอินโดจีน และตั้งโต๊ะเพื่อให้ประชาชนได้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ต้นน้ำ วารียา และเพื่อนสมาชิกกลุ่มอย่างน้อย 2 ราย เห็นว่ามีรถกระบะทะเบียนมุกดาหาร จอดอยู่ปากทางเข้าซอยซึ่งมีเครื่องหมายห้ามจอด พร้อมกับเปิดไฟหน้ารถสาดเข้าไปที่บ้านของวารียา มีชายหัวเกรียน 3 คน ใส่เสื้อยืดลักษณะเหมือนตำรวจสายสืบนั่งอยู่ในรถ อีกพักใหญ่จึงเคลื่อนรถออกไป กลุ่มแนวร่วมฟันเฟืองอาชีวะนครสวรรค์ ก็ได้เปิดเผยว่า ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามคุกคาม 2 ครั้ง โดยเจ้าหน้าที่พยายามสอบถามข้อมูลการลงชื่อ, สาเหตุที่ต้องยกเลิกมาตรา 112, ขอเอกสารการลงชื่อต่างๆ และติดตามถ่ายภาพอยู่ตลอดเวลา เช่นเดียวกับ ครือข่ายกิจกรรมราษฎรโขงชีมูน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามสอบถามและถ่ายรูปผู้เข้าร่วมงานเปิดตัวเครือข่ายนักเคลื่อนไหวภาคอีสาน พลพัทร และพิมชนก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมที่เยาวราช จากการไปเดินชูป้ายรณรงค์ ‘ยกเลิก 112’ พวกเขาถูกกระชากป้ายจนขาด และยื้อฉุดป้ายที่เหลือ จากนั้นตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบพร้อมรถควบคุมผู้ต้องขังเข้ามาสมทบอีกประมาณ 6-7 นาย ควบคุมตัวทั้งสองไปยัง สน.พลับพลาไชย โดยได้แจ้งข้อหา ‘ไม่พกบัตรประชาชน’ และเปรียบเทียบปรับคนละ 100 บาท แต่มีการสอบประวัติอย่างละเอียดเกือบ 3 ชั่วโมง ก่อนปล่อยตัวกลับไป

นอกจากการคุกคามตามสถานการณ์ต่างๆที่กล่าวไว้ข้างต้น ในเดือนนี้ ยังมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เดินทางไปที่ร้าน The ordinary bar เพื่อขอให้ลบโพสต์ภาพและข้อความในเพจเฟซบุ๊กของร้าน ที่เกี่ยวข้องกับโปรโมชั่นเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งมีการระบุส่วนลดสำหรับลูกค้าผู้แสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆ โดยอ้างว่าผู้กำกับไม่พอใจ ห้องสมุด 1932 people space library ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 นาย เดินทางมาดูเพื่อนำไปรายงานนาย แต่กลับนำหนังสือนิทานชุดวาดหวัง ธงสังคมนิยม และสติ๊กเกอร์คัดค้าน 112 ออกไป โดยบอกว่า “ใช้เป็นหลักฐานยืนยันได้” ก่อนที่จะเอาหนังสือมาคืนและอ้างว่าเอาไปให้ลูกอ่าน

คุกคามสื่อ

มีสื่อมวลชนอย่างน้อย 3 ราย ออกมาเปิดเผยว่าถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่ แอดมินเพจ Friends Talk เผยว่ามีบุคคลนอกเครื่องแบบ อ้างเป็นตร.สืบสวนของ สน.ทุ่งสองห้อง ไปติดตามหาตัวที่บ้านครอบครัว อ้างว่าตนมีส่วนเกี่ยวข้องกับทะลุแก๊ซ โดยไม่มีการแสดงเอกสารใดๆ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ ก็เผยว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปติดตามตัวถึงบ้าน โดยมาเป็นเดือนที่สองแล้ว และระบุว่าจะมาทุกเดือน เจ้าหน้าที่ยังมีรายชื่อบุคคลในเขตดุสิตเกือบ 20 คนที่ติดตามตัว และ ธนาพล อิ๋วสกุล บก.สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 30 นาย เข้าทำการตรวจค้นสำนักงาน ที่จ.นนทบุรี อ้างว่าเพื่อตรวจยึดหนังสือ “สถาบันพระมหากษัตริย์กับสังคมไทย”, อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือของบรรณาธิการบริหารและผู้ร่วมก่อตั้งฟ้าเดียวกัน โดยทางเจ้าหน้าที่ได้แสดงหมายค้นและคำสั่งอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรี

นอกจากข่าวการคุกคามที่เปิดเผยตามสื่อต่างๆแล้ว ยังมีข่าวการคุกคามเด็กกลุ่มทะลุแก๊ส จากเฟซบุ๊คของนกแดง เสรีภาพ หลายครั้ง โดยเป็นการขับรถจักรยานยนต์ตามตัวเด็ก ทั้งที่ช่วงนี้กลุ่มเด็กทะลุแก๊สไม่ได้จัดการชุมนุมที่มีความรุนแรงเลย

แนวโน้มการคุกคามในเดือนกุมภาพันธ์

จากการเก็บข้อมูลเดือนมกราคม เทียบกับเดือนธันวาคม ทำให้พบว่าแม้การชุมนุมจะลดลง การดำเนินคดีก็ลดลงไปด้วย แต่การคุกคามกลับเพิ่มขึ้นทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคุกคามนักกิจกรรมหรือคุกคามสื่อเองก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ คาดว่าการคุกคามจะยังคงเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีสาเหตุจากการชุมนุมที่ลดลง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังพลมาใช้ในการคุกคามนักกิจกรรมมากกว่า เพื่อป้องกันการจัดกิจกรรมทางการเมืองต่อไป

สถานการณ์คดีเด็ก

การจับกุม/ดำเนินคดี

ในเดือนมกราคม 2565 มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 99 ครั้ง ภาพรวมสถานการณ์ยังคงเป็นการออกหมายเรียกเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาย้อนหลังต่อผู้ชุมนุม ทำให้ในเดือนนี้ มีเด็กถูกดำเนินคดีเพิ่มจากเดือนธันวาคม อย่างน้อย 1 ราย (นับเฉพาะเด็กที่ไม่เคยโดนคดีมาก่อน)

ไม่ได้รับการประกันตัว/ประกันตัวภายหลัง

ในเดือนนี้มีเด็กที่ไม่ได้รับการประกันตัว 1 ราย ได้แก่ เด็กชายอายุ 16 ปี ยังไม่ได้รับการประกันตัวจากการถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2564 รวม 130 วัน (นับถึงวันที่ 31 มกราคม 2565) เป็นการคุมขังระหว่างพิจารณาคดี

การละเมิดสิทธิเด็กระหว่างการจับกุมและหลังการจับกุม

วันที่ 3 ม.ค. 2565 เยาวชน 1 ราย อายุ 15 ปี ถูกจับกุมตามหมายจับที่บ้านพัก และถูกพาตัวไปที่สถานีตำรวจพญาไท โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจกีดกันไม่ให้ทนายกับมารดาเข้าร่วมการสอบสวนด้วย อ้างว่ากำลังทำบันทึกจับกุม ทนายได้ยื่นคำร้องคัดค้านการตรวจจับมิชอบในชั้นตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชน โดยศาลได้รับไว้ในสำนวน และอนุญาตประกันตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

ภาพรวมสถานการณ์ตั้งแต่ช่วงการเริ่มดำเนินคดีเด็ก ในปี 2563 ถึง ปัจจุบัน

ตั้งแต่เริ่มมีการดำเนินคดีเด็กและเยาวชนในช่วงปี 2563 ถึงมกราคม 2565 เด็กถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 273 คน ใน 191 คดี

  • ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำนวน 291 คดี

  • ข้อกล่าวหาหมิ่นกษัตริย์ 14 คน จำนวน 24 คดี แบ่งเป็น ประชาชนทั่วไปกล่าวหา 8 คดีและเจ้าหน้าที่รัฐ 16 คดี

  • ข้อกล่าวหา ต่อสู้ขัดขวางฯ โดยมีอาวุธ /ร่วมกัน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 140 จำนวน 61 คดี

  • ข้อกล่าวหามั่วสุมตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 จำนวน 158 คดี

  • ข้อกล่าวหาไม่เลิกตามคำสั่งเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 216 จำนวน 91 คดี

  • ข้อกล่าวหาทำร้ายร่างกายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 296 ประกอบมาตรา 289 จำนวน 18 คดี

  • ข้อกล่าวหา ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 จำนวน 32 คดี

  • ข้อกล่าวหากีดขวางทางสาธารณะตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385 จำนวน 15 คดี

  • ข้อกล่าวหากระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อ จำนวน 36 คดี

  • เด็กอย่างน้อย 10 คนถูกตั้งข้อกล่าวหาวางเพลิงเผาทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 217

  • เด็กอย่างน้อย 21 คนถูกตั้งข้อกล่าวหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง

  • เด็กอย่างน้อย 2 คนถูกตั้งข้อหาพกพาอาวุธมีดไปในที่สาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร