ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม
เนื่องด้วยสถานการณ์โควิดโอไมครอน ในเดือนมกราคม 2565 พาประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 โดยประเทศไม่ได้มีมาตรการเข้มงวดเท่าในปี 2564 ในวันที่ 25 มกราคม 2565 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศขยายระยะเวลาประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร (ครั้งที่ 16) ไปจนถึง 31 มีนาคม 2565 ลงนามเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2565 ส่งผลประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลาเกือบ 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิดไอไมครอนระบาดต่อเนื่อง ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประชาชน ส่วนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมกลับถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เฉพาะปีพุทธศักราช 2564 ที่ผ่านมามีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินไม่ต่ำกว่า 1,244 คน เป็นคดีกว่า 542 คดี
ขณะที่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สถานการณ์ผู้ถูกคุมขังทางการเมือง มีผู้ถูกคุมขังขณะต่อสู้คดีอยู่ 4 ราย โดยบางรายถูกคุมขัง กว่า 6 เดือน แต่มีการปล่อยตัวผู้ต้องหาเพิ่ม 14 ราย เยาวชนอายุ 16 ปี ถูกปล่อยตัวในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ หลังจากถูกคุมขังที่บ้านเมตตา ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 64 รวมระยะเวลา 144 วัน ส่วนแกนนำราษฎรทั้ง 4 ราย ได้รับการประกันตัวทุกราย พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ได้รับการปล่อยตัววันที่ 24 ก.พ. 65 และมีกำหนดถึงวันที่ 24 พฤษภาคม 2565, จตุภัทร บุญภัทรรักษา ถูกคุมขังวันเดียวกับพริษฐ์ ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2565, ภาณุพงษ์ จาดนอก ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 23 กันยายน 2564 ได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2565 และอานนท์ นำภา ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีกำหนดถึงวันที่ 28 พ.ค. 2565
ส่วนการชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 104 ครั้ง แบ่งเป็นการชุมนุมที่สะท้อนปัญหาเศรษฐกิจและแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดระบาดต่อเนื่องและการบริหารงานของรัฐบาล รวมทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้พระราชกําหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ดำเนินคดีกับประชาชนที่ออกมาแสดงออกทางการเมือง ในประเด็นเรียกร้องสิทธิประกันตัวของผู้ขังขณะพิจารณาคดี ผ่านกิจกรรมยืนหยุดขัง ที่เกิดขึ้นทุกวันที่ ศาลฎีกา หน้าเรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ, บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี ไม่ต่ำกว่า 69 ครั้ง ประเด็นการแสดงออกและการชุมนุมเพื่อรณรงค์เข้าชื่อเพื่อยกเลิก ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ต่ำกว่า 7 ครั้ง ส่วนการชุมนุมของกลุ่มปกป้องสถาบันยังคงเกิดขึ้นคู่ขนานไปกับการรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 โดยเกิดขึ้นอย่างน้อย 2 ครั้งในเดือนกุมภาพันธ์ แบ่งเป็นการแสดงออกเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ ด้วยการยืนเคารพธรงชาติ (opens new window)และการแสดงออกผ่านการยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลขับไล่แอมเนสตี้ ประเทศไทยขณะเดียวกันอุณหภูมิการเมือง ระหว่างประเทศ จากการประกาศปฏิบัติการพิเศษทางทหารของประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิเมียร์ ปูติน ในยูเครนส่งผลให้การประท้วงเกิดขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย โดยมีผู้ชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ผ่านป้ายข้อความ เช่น No war in Ukraine ที่บริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตรัสเซีย ตั้งแต่วันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565
ในประเด็นปัญหาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจ แรงงาน และสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง การชุมนุมยังคงดำเนินต่อเนื่องจากเดือนมกราคม 2565 อาทิ กลุ่มขบบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือพีมูฟ และ กลุ่มภาคีsaveบางกลอยและบางกลอยคืนถิ่น ได้ออกมาเคลื่อนไหวปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาลในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรับข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาประเด็นรัฐสวัสดิการ การจัดการที่ดินและทรัพยากร 15 ข้อ ต่อมาเดินทางกลับภูมิลำเนาเมื่อข้อเสนอได้รับการตอบรับจากรัฐบาล อย่างไรก็ตามภายหลังการชุมนุมสมาชิกกลุ่มพีมูฟและ กลุ่มภาคีsaveบางกลอยและบางกลอยคืนถิ่นกลับถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ส่งผลให้กลุ่มได้ออกมาเคลื่อนไหวในเดือนกุมภาพันธ์ต่อต้านการดำเนินคดี กลุ่มเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย (คนท.) ที่ปักหลักบริเวณกระทรวงการคลังเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยบรรเทาและแก้ไขปัญหาหนี้สินของสมาชิกกลุ่ม มีการเดินขบวนไปที่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร และทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามมาตรการช่วยเหลือชาวนา โดยล่าสุดวันที่ 1 มีนาคม 2565 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินฯ แก่กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร 2,000 ล้านบาท และจะนำปัญหาชาวนาเข้าประชุมครม. นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอื่นๆ เช่น กลุ่มสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิต และกลุ่มสหพันธ์การขนส่งประจำประเทศไทยก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นแรงงานและเศรษฐกิจอีกด้วย ขณะที่สหภาพคนทำงานได้เปิดตัวการจัดตั้งกลุ่มในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2565 ผ่านการจัดกิจกรรม Worker’s Fest ที่บริเวณหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจุดประสงค์ในการรวมกลุ่มเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสถานที่ทำงาน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดความยุติธรรมภายใต้ระบอบสังคมประชาธิปไตย
ส่วนประเด็นการรณรงค์เข้าชื่อเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังคงเกิดขึ้นทั่วประเทศ เช่นกิจกรรม #หมู่เฮาไม่เอา112 ที่จังหวัดเชียงใหม่ (opens new window)ขณะเดียวกันกิจกรรมการแสดงออกที่เกี่ยวข้องกับสถาบันผ่านการสอบถามความคิดเห็นในพื้นที่สาธารณะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการแสดงออกประเด็นการรับปริญญา โดยในเดือนกุมภาพันธ์มีกิจกรรมสอบถามความคิดเห็นผ่านการติดสติกเกอร์เช่น ขบวนเสด็จสร้างความเดือนร้อนหรือไม่ ในกรุงเทพฯ และ บริเวณกาดหน้ามอ จังหวัดเชียงใหม่ ส่วนในจังหวัดเชียงรายกลุ่มราษฎรเชียงรายจัดกิจกรรมแสดงออกสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวข้องกับสถาบัน เช่น อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของใคร และหากเลือกได้ คุณจะรับปริญญากับใคร?
นอกจากนี้ในภูมิภาค มีการทำกิจกรรมรณรงค์การเข้าชื่อกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่จังหวัดเชียงใหม่ สกลนคร และภูเก็ต ในส่วนของกลุ่ม koratmovement ก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตามแก้นโยบายปัญหาเศรษฐกิจ
สืบเนื่องจากการแสดงออกประเด็นสถาบันฯอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการคุกคามนักกิจกรรมที่มีเพิ่มมากขึ้น ทั้งก่อน ระหว่างและภายหลังการชุมนุม เช่นในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 กลุ่มทะลุวังนัดหมายทำกิจกรรมสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จที่ห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน ระหว่างทำกิจกรรมที่เกี่ยวกับมาตรา 112 ด้วย กลุ่มทะลุวัง ถูกปิดกั้นการแสดงออก โดยเจ้าหน้าที่ห้างสรรพสินค้าปิดกั้นทางเข้าออกพื้นที่ลานน้ำพุ, ข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องค่าเสียหายและดำเนินการตามกฎหมาย เพราะไม่ขออนุญาตใช้สถานที่, ขัดขวางไม่ให้คนมาแปะสติกเกอร์ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังพยายามเข้ายึดแผ่นป้าย และมีตำรวจชายพยายามเข้ารวบนักกิจกรรมที่เป็นผู้หญิง ก่อนจะปล่อยตัว และนำแผงรั้วเหล็กมากั้นหน้าวังสระปทุม นักกิจกรรมภูเก็ตปลดแอก 2 ราย ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาพูดคุยด้วย ขณะเตรียมจัดกิจกรรมชูป้ายความคิดเห็นที่ ถนนคนเดินหลาดใหญ่ จ.หาดใหญ่ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ขอให้พวกเขาลบคำว่าสถาบันออกไป หลังจากยุติกิจกรรมต่างๆแล้ว ยังมีรายงานว่าพบการคุกคามผู้ที่เข้าร่วมงานนั้นๆ เช่น นักกิจกรรมเยาวชนหญิง อายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ตามไปหา และเปิดรูปขณะร่วมกิจกรรมกับกลุ่มทะลุใต้ให้ดู พูดคุยเชิงข่มขู่กับครอบครัวว่า ให้เธอหยุดเคลื่อนไหว อาจผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้ นักกิจกรรมกลุ่มกระบี่จะไม่ทน เปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามไปที่ทำงาน คาดว่า เกี่ยวข้องกับการที่นักกิจกรรมรายนี้ไปแสดงออกเรื่อง #ปฏิรูปสถาบันฯ ที่ตลาดกรีนเวย์ใน #ม็อบ5กุมภา65 แบม (สงวนนามสกุล) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย ถือรูปเธอไล่สอบถามคนแถวบ้าน และมาตามหาตัวเธอถึงบ้าน ขณะที่เธอออกไปทำธุระข้างนอก หลังจากที่เธอไปดูกิจกรรมขบวนเสด็จของกลุ่มทะลุวัง
สถานการณ์การดำเนินคดี
แม้แนวโน้มการชุมนุมไม่ได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นมากนัก และตัวเลขการดำเนินคดีลดน้อยลงตามจำนวนการชุมนุมที่เกิดขึ้น แต่มีการจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายมาตรา 112 เช่น กลุ่มทะลุวัง ชวนติดสติ๊กเกอร์แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จ ทะลุใต้ยกเลิก 112 เป็นต้น การทำกิจกรรมเหล่านี้มักมีการคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจระหว่างจัดกิจกรรม รวมถึงคุกคามตัวผู้ชุมนุมภายหลังทำกิจกรรมด้วย ภาพรวมสถานการณ์ยังคงเป็นการออกหมายเรียกเพื่อแจ้งข้อกล่าวหาย้อนหลังต่อผู้ชุมนุม
จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า นับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,787 คน ในจำนวน 1,027 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชน (opens new window)ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 274 ราย
ในเดือนนี้ มีการแจ้งข้อหากับเยาวชนเพิ่มอย่างน้อย 4 ราย แต่ไม่มีการจับกุมเยาวชนเพิ่ม ได้แก่
- เยาวชนชาย ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กรณีถูกกล่าวหาว่ามาร่วมชุมนุมม็อบ 4 กันยายน 2564 กลุ่มทะลุแก๊ส และกรณีม็อบ 10 กันยายน 2564 ถูกกล่าวหาว่ามาร่วมชุมนุม ผิด ปอ. ม. 215 และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
- เยาวชน 3 คน อายุ 17 ปี 2 คน ไม่ทราบอายุ 1 คน ถูกกล่าวหาว่าทำผิดพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ประมวลกฎหมายอาญา ม.385, พ.ร.บ. เครื่องขยายเสียง, พ.ร.บ.จราจรฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อ จากการไปร่วมกิจกรรม “อยู่เป็นเพื่อน ย้ำเตือนความยุติธรรม” เคาท์ดาวน์ปีใหม่ หน้าเรือนจำพิเศษ กรุงเทพ
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 20 คน ใน 18 คดี โดยนักกิจกรรมหลายคนถูกดำเนินคดีใหม่เพิ่มอีก ทำให้บางคนมีคดีสะสมจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากกว่า 30 คดี เช่น เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ เขาถูกดำเนินคดีรวม 54 คดี (รวมคดีที่สิ้นสุดแล้ว) เป็นข้อหา ม.112 จำนวน 23 คดี
สถานการณ์การคุกคาม
แม้ว่ากระแสการชุมนุมจะชะลอตัว แต่ยังมีการคุกคามนักกิจกรรมผู้เคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงที่มีบุคคลสำคัญหรือราชวงศ์เข้ามาในพื้นที่ เหล่านักกิจกรรมในพื้นที่นั้นๆจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ยังมีนักกิจกรรมหลายคนถูกคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุด้วย
ในเดือนกุมภาพันธ์ มีประชาชนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามอย่างน้อย 35 ราย แบ่งเป็นการคุกคามตามเหตุต่างๆ ดังนี้
การคุกคามในช่วงที่บุคคลสำคัญลงพื้นที่
ช่วงวันที่ 2-7 กุมภาพันธ์ นักกิจกรรมอย่างน้อย 9 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามจากกรณีสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จไปที่ จ.นครสวรรค์ ในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ สมาชิกกลุ่มแนวร่วมฟันเฟืองอาชีวะนครสวรรค์ และแนวร่วมนิสิตนครสวรรค์เพื่อประชาธิปไตยได้เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ได้เข้าติดตาม และคุกคามข่มขู่ ทั้งต่อตนเองและคนใกล้ตัว โดยเฉพาะผู้ปกครอง โดยมีนักกิจกรรมที่ถูกคุกคามไม่น้อยกว่า 8 คน หนึ่งในนั้นยังเป็นเยาวชนอายุ 17 ปีด้วย24 บอส นักกิจกรรมกอผือรื้อเผด็จการ จ.อุดรธานี เขาแจ้งว่าถูกตามถึงบ้าน และเตือนไม่ให้ยุ่งกับการเมือง ก่อนหน้านั้น เจ้าหน้าที่ก็ได้มาถามหาบอสแถวละแวกบ้าน เพชร กลุ่มดึงดิน ก็ถูกตำรวจตามมาถ่ายภาพที่บ้าน
พิมพ์ชนก ใจหงษ์ เปิดเผยว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบ 7-8 นาย และมีการเสริมกำลังอีกเป็น 14-15 นาย ได้มายืนอยู่เต็มซอยบ้านของเธอใน จ.นครสวรรค์ สอบถามว่าเป็นแอดมินเพจ ‘มังกรปฏิวัติ’ หรือไม่ และขอเชิญตัวไปพูดคุยที่โรงพัก แต่แจ้งว่าไม่ใช่การจับ แม้เธอจะปฏิเสธไม่ไปจนกว่าจะมีหมายจับ แต่ตำรวจก็ยืนล้อม เปิดรถตู้ พยายามให้เธอขึ้นไปให้ได้26 ในวันเดียวกัน โบเซ่ นักศึกษาชายอายุ 18 ปี ถูกตำรวจที่เฝ้าดูขบวนเสด็จตบหน้า เนื่องจากเขาไม่ยอมลงจากรถ และนั่งกับพื้น อีกทั้งยังพูดจาข่มขู่ว่า บุคลิกเช่นนี้ต้องเล่นยาแน่นอน ถ้าหากไม่พอใจที่ถูกกระทำเช่นนี้ก็ให้ไปแจ้งความ27
นอกจากนี้ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และพะเยา ประชาชนอย่างน้อย 3 ราย ถูกคุกคามในช่วงที่สมาชิกพระบรมวงศานุวงศ์ไปพระราชทานปริญญาบัตร โดยการคุกคามจะมีทั้งการเข้าติดตามตัว ไปจนกระทั่งกดดันคุกคามนักกิจกรรมในจังหวัดที่จะมีการเสด็จ ทั้งแบบที่แสดงตัวชัดเจนและติดตามห่างๆ แม้ว่าหลายกรณีนักกิจกรรมเหล่านั้นจะไม่ได้มีการจัดกิจกรรมใดๆ บางคนถูกติดตามขณะเดินทางท่องเที่ยว บางคนก็ถูกติดตามทั้งที่เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้ารับปริญญาในฐานะบัณฑิต ยิ่งไปกว่านั้น บางคนยังได้รับผลกระทบจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จนถูกขอให้ย้ายหอพัก28
การคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ
ในเดือนนี้ มีนักกิจกรรมหลายรายถูกคุกคามโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ เช่น นักกิจกรรมทะลุวัง ถูกเพจ Dr.X นำชื่อและข้อมูลส่วนตัวไปโพสต์โดยไม่ได้รับอนุญาต29 และเป็นครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไปตามหา ใบปอ ทะลุวัง ที่บ้านอย่างชัดแจ้ง สายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 30 นาย นำหมายค้นและยึดสิ่งของมาแสดงหน้าบ้านแต่เช้าตรู่ เพื่อขอตรวจและยึดอุปกรณ์อิเล็คทรอนิค พร้อมนำคำสั่งจากศาลอาญา อนุญาตให้เข้าถึงและทำสำเนาได้ ก่อนเจ้าหน้าที่จะเดินทางกลับโดยไม่มีการแจ้งข้อหาใด อ้างเพียงว่ามีประชาชนมาแจ้งความว่าเขาเป็นแอดมินเพจทะลุวัง ซึ่งทำให้ผู้ปกครองของสายน้ำรู้สึกตกใจมาก
อดีตนักกิจกรรมหญิง ในพื้นที่จังหวัดทางภาคตะวันออก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 5–6 นาย เข้าติดตามคุกคามถึงที่บ้าน ณัฐกร ชูเสนาะ หรือ “บีม” (opens new window)นักกิจกรรมเยาวชน ถูกชายแต่งกายด้วยเสื้อยืด กางเกงกีฬาขาสั้น ตัดผมสั้นเกรียนมาที่คอนโดที่บีมและครอบครัวพักอาศัยอยู่ โดยได้มายืนเฝ้าที่ประตูหน้าห้องพักของเขาอยู่พักใหญ่ โดยอ้างว่าเป้นตำรวจสายสืบจาก สน.ทองหล่อ มาเพื่อดูแลความปลอดภัยให้เขาและครอบครัวและมีกรณี เยาวชนหญิง เข้าลงบันทึกประจำวันที่ สน.โชคชัย เหตุถูกตำรวจกว่า 20 นาย แจ้งว่ามาจาก “สันติบาล” เข้าสนทนากับครอบครัวที่บ้านพักในเวลาค่ำ อ้างว่า “มาเยี่ยม” โดยเนื้อหาการสนทนามีลักษณะสอบถามข้อมูลส่วนตัว ความเห็นทางการเมือง ที่มาของรายได้ฯลฯ
นอกจากนักกิจกรรม ยังมีประชาชนถูกคุกคามด้วย สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟสบุ๊คว่า มีรถโตโยต้า วีออสสีดำทะเบียนอุตรดิตถ์มาจอดตรงข้ามบ้านพักเป็นเวลานานกว่า 2 อาทิตย์แล้ว ภายหลังตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดพบว่าคนขับเป็นชายผมเกรียน
แนวโน้มการคุมคามในเดือนมีนาคม
เมื่อเทียบกับข้อมูลการคุกคามเดือนมกราคม พบว่า ทั้ง 2 เดือนรวมกัน มียอดผู้ถูกคุกคามไม่น้อยกว่า 83 ราย และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง ในเดือนกุมภาพันธ์ ยังมีการคุกคามนักกิจกรรมหลายรายในช่วงที่มีขบวนเสด็จหรือช่วงรับปริญญา ที่พระบรมวงศานุวงศ์มาพระราชทานปริญญาบัตร ตามมาด้วยการคุกคามนักกิจกรรมขณะจัดกิจกรรมที่เกี่ยวกับการยกเลิก ม.112 ลามไปถึงการคุกคามประชาชนที่ไปร่วมกิจกรรมนั้นด้วย ขณะเดียวกัน การคุกคามโดยที่ไม่ทราบสาเหตุ และการคุกคามนักกิจกรรมเยาวชนก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงสามารถประเมินแนวโน้มการคุกคามในเดือนมีนาคมได้ว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับการชุมนุมที่แนวโน้มลดลง การจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆหรือแม้แต่จะมีผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียวก็ตาม จะถูกจับตามองจากเจ้าหน้าที่รัฐเสมอ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่ยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับรัฐบาล คาดว่าการคุกคามที่เพิ่มขึ้นนี้ เพื่อป้องกันการจัดกิจกรรมทางการเมืองในอนาคตอย่างเข้มข้น