วันที่: 17/7/2566 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนมีนาคม 2565

description

ในเดือนมีนาคมนี้ มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 32 ครั้ง ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนการชุมนุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นรูปแบบการชุมนุมขนาดเล็กและเน้นไปที่การแสดงออก โดยการชุมนุมในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและปัญหาปากท้อง ได้แก่ เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวและให้กำลังใจนักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงเพื่อไว้อาลัย มานะ หงส์ทอง ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของตำรวจในเดือนมีนาคม, เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ, เพื่อแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนประเทศยูเครน และกิจกรรมทำโพลแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันของกลุ่มทะลุวัง

asset

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม

ในเดือนมีนาคมนี้ มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 32 ครั้ง ลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนการชุมนุมในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งเป็นรูปแบบการชุมนุมขนาดเล็กและเน้นไปที่การแสดงออก โดยการชุมนุมในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและปัญหาปากท้อง ได้แก่ เรียกร้องสิทธิในการประกันตัวและให้กำลังใจนักกิจกรรมทางการเมือง รวมถึงเพื่อไว้อาลัย มานะ หงส์ทอง ผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมของตำรวจในเดือนมีนาคม, เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ, เพื่อแสดงจุดยืนว่าสนับสนุนประเทศยูเครน และกิจกรรมทำโพลแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันของกลุ่มทะลุวัง

จากข้อมูลของ Mob Data Thailand ระบุว่าในเดือนมีนาคม 2565 พบว่ามีการจับกุมระหว่างทำกิจกรรมการแสดงออกอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเป็นการแสดงออกขณะที่มีขบวนเสด็จ ซึ่งเกิดขึ้นในในวันที่ 5 มีนาคม 2565 ขณะที่ทานตะวัน นักกิจกรรมทำกิจกรรมโดยการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊คขณะที่มีขบวนเสด็จส่งผลให้มีการจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, มาตรา138 ว.2 ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน มาตรา 368 ฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานและความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ และวันที่ 18 มีนาคม 2565 เก็ท โมกหลวงริมน้ำ ถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบไม่น้อยกว่า 10 คน บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังจากไปรอรับเสด็จและถูกนำตัวไปควบคุมตัวยังกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) และไม่ได้รับอนุญาตให้ติดต่อเพื่อนหรือญาติ นอกจากนี้ในบันทึกจับกุมของเจ้าหน้าที่ระบุว่า เก็ท ซึ่งเป็นบุคคลที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองและมีความเห็นต่างต่อสถาบันทำกิจกรรมถือแผ่นกระดาษมีข้อความว่า “เราพร้อมจะอยู่ร่วมกับสถาบันกษัตริย์ ที่พูดถึงได้ ถามถึงได้ วิจารณ์ได้ ทรงพระเจริญ” โดยตำรวจชุดจับกุมอ้างว่า ข้อความดังกล่าวเป็นความเห็นต่างต่อสถาบัน และเพื่อไม่ให้มาก่อความวุ่นวายหรือก่อความไม่สงบเรียบร้อยในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตํารวจชุดจับกุมเห็นว่าการกระทําดังกล่าวเป็นการกระทําที่ไม่สมควรและอาจเกิดผลกระทบต่อการถวายความปลอดภัยและการถวายพระเกียรติ ต่อมาเก็ทถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 “ทราบคําสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอํานาจที่มีกฎหมายให้ไว้ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ ตัวอันสมควร”

asset

ภาพที่ 1 วันที่ 13 มีนาคม 2565 กลุ่มทะลุวัง นัดหมายทำกิจกรรมโพลสอบถามความคิดเห็นด้วยการติดสติกเกอร์ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

asset

ภาพที่ 2 วันที่ 13 มีนาคม 2565 กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ร่วมกับเครือข่าย นัดหมายทำกิจกรรมโพลสอบถามความคิดเห็นด้วยการติดสติกเกอร์ประเด็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

asset

การชุมนุมเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังแบ่งแนวผู้ชุมนุมสองกลุ่มเพื่อไม่ให้เกิดการปะทะกัน

ถึงแม้ว่าการแสดงออกจะมีมวลชนเข้าร่วมจำนวนน้อย โดยการแสดงออกในช่วงนี้เน้นไปที่การแสดงออกถึงขบวนเสด็จและประเด็นสถาบันกษัตริย์โดยตรงส่งผลให้เจ้าหน้าที่มีมาตรการที่เข้มงวดในการสกัดกั้นการแสดงออกไม่ให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามนอกเสียจากความรุนแรงที่เกิดจากเจ้าหน้าที่ทั้งการใช้กำลังเพื่อสกัดกั้นผู้ที่ออกมาแสดงออกแล้ว ความรุนแรงที่อาจเกิดการปะทะกันระหว่างประชาชนที่มีความเห็นแตกต่างกันในประเด็นสถาบันกษัตริย์ก็ต้องเฝ้าระวังเช่นกัน เมื่อไม่นานมานี้กลุ่มคนที่ปกป้องสถาบันออกมาเคลื่อนไหวตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2565 ในนามกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ร่วมกับเครือข่ายนัดหมายทำกิจกรรมร้องเพลงชาติและเพลงสรรเสริญพระบารมี ที่ลานสกายวอล์ค แยกปทุมวันเป็นครั้งแรก เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบัน ภายหลังกิจกรรมทางกลุ่มนัดหมายทำกิจกรรมทุกวันที่ 13 ของเดือนโดยจะเปลี่ยนสถานที่ไปเรื่อยๆ ซึ่งต่อมา ในวันที่ 13 มีนาคม 2565 มีการนัดหมายที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งเป็นเวลาใกล้เคียงกับที่กลุ่มทะลุวังนัดหมายทำกิจกรรมเช่นกัน ซึ่งในวันดังกล่าว กลุ่มทะลุวังนัดทำกิจกรรมติดสติกเกอร์แสดงความคิดเห็นโดยมีคำถามว่า “คุณยินดียกบ้านให้ราชวงศ์หรือไม่” ขณะนั้นมีมวลชนเกิดการเผชิญหน้ากันและหวิดจะปะทะโดยมีมวลชนเข้าไปห้ามปรามและจากการตรวจสอบไม่มีบุคคลได้รับบาดเจ็บ

นอกจากนี้ในเดือนมีนาคม นายมานะ หงษ์ทอง เหยื่อกระสุนยางซึ่งถูกยิงเข้าบริเวณศีรษะ ขณะเดินทางกลับบ้านระหว่าง ที่มีการสลายการชุมนุมบริเวณแยกดินแดงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ได้เสียชีวิตลงในวันที่ 5 มีนาคม 2565 หลังจากกลายเป็น ผู้ป่วยติดเตียงมากว่าครึ่งปี ภายหลังจากการเสียชีวิตในวันที่ 31 มีนาคม 2565 มูลนิธิผสานวัฒนธรรมเผยว่า ญาติของนายมานะ หงษ์ทอง พร้อมด้วย ทนายความในนามภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเจ้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสน.ดินแดงเพื่อให้ดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลที่เกี่ยวข้อง

สถานการณ์การคุกคาม

แม้ตัวเลขการชุมนุมจะลดลง แต่การคุกคามประชาชนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง มีประชาชนอย่างน้อย 30 ราย ถูกคุกคามจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้

การคุกคามในช่วงที่บุคคลสำคัญลงพื้นที่

ในเดือนนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพบพ่อแม่นักกิจกรรมกลุ่ม Korat Movement 5 คน อ้างว่าลูกทำกิจกรรมทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ทำให้ครอบครัววิตกกังวล ทั้งที่กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลแก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน และยกเลิก ม.112 เท่านั้น คาดว่าพวกเขาถูกคุกคามเนื่องจากพระเทพฯ จะเสด็จ จ.นครราชสีมา วันที่ 4 มีนาคมนี้ นักกิจกรรมกลุ่มเดียวกันอีก 5 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมขณะปรากฏตัวบริเวณมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน) ศูนย์การศึกษาหนองระเวียง ในระหว่างที่สมเด็จพระเทพฯเสด็จพระราชทานปริญญาบัตร ทั้งที่ยังไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆ พวกเขาถูกคุมตัวจาก มทร.อีสานไป สภ.เฉลิมพระเกียรติ ตำรวจพยายามยึดโทรศัพท์ และควบคุมตัวไว้ตั้งแต่ 11.00 น. ก่อนที่จะถูกเปรียบเทียบปรับข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน คนละ 2,000 บาท และได้รับการปล่อยตัวเวลา 19.00 น. นิว จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมทางการเมือง ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ จ.บุรีรัมย์ ว่าพระเทพฯจะเสด็จโคราช ก่อนสอบถามว่าเธออยู่ที่ไหน แต่นิวไม่ให้ข้อมูล ตำรวจนายนั้นจึงข่มขู่ว่า จะรายงานเบื้องบนว่า นิวไม่ให้ความร่วมมือ แล้วก็จะมีตำรวจไปที่บ้านนิวและแฟนอีก หนึ่ง ศุภากร สมาชิกราษฎรชัยภูมิ แจ้งว่ามี ตำรวจนอกเครื่องแบบไปหาที่บ้าน พร้อมเอกสารเกี่ยวข้องกับการติดตามบุคคลในลิสต์กว่า 30 คน มีรายงานอีกว่าเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีถูกคุกคามถึงบ้านด้วย ทั้งหมดคาดว่ามาจากมีขบวนเสด็จ ในละแวก จ.ชัยภูมิวิทยากร โสวัตร จากร้านหนังสือฟิลาเดเฟีย จ.อุบลราชธานี เปิดเผยว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปที่ร้าน แจ้งว่ามา 'ถ่ายภาพไปรายงานนาย' โดยเจ้าตัวคาดว่าจะมีบุคคลสำคัญเสด็จมาอุบลฯในช่วงเดือนนี้

นอกจากนี้ ยังมีการคุกคามเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี อย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ ต้นน้ำ (นามสมมติ) สมาชิกกลุ่มราษฎรชัยภูมิที่เป็นเยาวชนอายุ 17 ปี เขาถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐถึงบ้าน ขณะที่เขาไม่อยู่บ้าน แล้วให้แม่โทรศัพท์หาเขา เพื่อพูดคุยสอบถามข้อมูล และเตือนเขาว่าอย่าทำกิจกรรมในช่วงนี้ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่พระเทพฯ เสด็จ จ.นครราชสีมา โดยที่ไม่ยอมบอกว่ามาจากหน่วยงานใด เวฟ ธีรยุทธ เยาวชนอายุ 15 ปี ได้รับโทรศัพท์จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เตือนให้ลบข้อความที่เขาโพสต์ลงเฟสบุ๊คส่วนตัวว่า “ประเทศไทย จุดแข็ง : เป็นประเทศที่ปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข จุดอ่อน : โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” โดยแจ้งว่า มีหลายหน่วยงานจับตาดูอยู่ เด็กหญิง อายุ 13 ปี ถูกเจ้าหน้าที่รัฐกว่า 40 นาย ติดตาม ถ่ายรูป และเข้าประชิดตัวขณะที่เธอตั้งใจไปร่วมรอรับเสด็จฯ บริเวณวัดพระแก้ว เมื่อถามเจ้าหน้าที่ว่าเหตุใดจึงมาคุกคาม เจ้าหน้าที่ตอบว่า "ระวังตัวด้วย" และยังคงถูกคุกคามหลังจากนั้น ด้วยการขับมอเตอร์ไซค์ไปจอดดูหน้าบ้าน และมีตำรวจ 3-4 นายมาสอบถามถึงเธอที่บ้าน แม้ว่าเด็กหญิงรายนี้จะไม่มีคดีติดตัวก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่า เธอเป็นหนึ่งในรายชื่อเฝ้าระวัง (Watch List) ของทางการ เพราะเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2564 ได้ไปร่วมกิจกรรม #ม็อบ6มีนา “ทิ้งขยะหน้าศาลอาญา” พร้อมกับขู่อีกว่า “ไปทำอะไรในม็อบ ให้ระวังตัวไว้ด้วย” และกรณีของ ไอซ์ นักกิจกรรมเยาวชน อายุ 14 ปี ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 6 คน พร้อมรถกระบะมาหาที่บ้านพักเพื่อแนะนำตัวว่าเป็นผู้กำกับคนใหม่ พร้อมทำการถ่ายรูปบ้านพัก และเจรจาขอเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครอง ทำให้เพื่อนบ้านหลายคนเกิดความตกใจและมามุงดู แต่เนื่องจากไอซ์ไม่ได้อยู่บ้านเวลาดังกล่าว ตำรวจจึงได้แจ้งกับทางครอบครัวว่าจะมาหาอีกครั้งในช่วงบ่าย จากนั้น ไอซ์จึงตัดสินใจเดินไปดักรอที่หน้าปากซอยเพื่อพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าต้องการมาเพื่อสอบถามความเป็นอยู่ทั่วไป พร้อมกับพูดว่า “พรุ่งนี้ขอได้ไหม อย่าไปขบวนเสด็จ” ซึ่งไอซ์ตอบกลับไปว่า ตนไม่ได้มีแผนจะเดินทางไปอยู่แล้ว ก่อนที่ตำรวจจะกลับไป

การคุกคามขณะทำกิจกรรมทางการเมือง

ในเดือนนี้ มีการคุกคามและจับกุมนักกิจกรรมขณะทำกิจกรรมอย่างน้อย 2 ราย ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในและนอกเครื่องแบบจำนวนมากเข้าล้อม พยายามขัดขวางไม่ให้เธอไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จบริเวณถนนราชดำเนินนอก ก่อนมีตำรวจหญิงเข้าควบคุมตัวเธอขึ้นรถตำรวจออกไป จากนั้นจึงมีการแจ้งข้อกล่าวหา 5 ข้อ โดยมี ม.112 เป็นข้อหาหลัก เจ้าหน้าที่อ้างว่า สิ่งที่เธอกล่าวไลฟ์สดขณะถูกจับกุม มีเนื้อหา “ด้อยค่า” พระมหากษัตริย์ เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธํารง สมาชิกกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ถูกตำรวจในและนอกเครื่องแบบประมาณ 10 คน จับกุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย หลังเดินทางไปรอรับเสด็จบริเวณดังกล่าว เขามีป้าย “เราพร้อมจะอยู่ร่วมกับสถาบันกษัตริย์ ที่พูดถึงได้ ถามถึงได้ วิจารณ์ได้ ทรงพระเจริญ”อยู่ในกระเป๋า เขาถูกแจ้งข้อหาขัดคำสั่งเจ้าพนักงาน เขาถูกริบป้ายที่นำมาทำกิจกรรม นอกจากนั้นยังถูกตำรวจแจ้งว่าจะตรวจปัสสาวะ เนื่องจากตำรวจอ้างว่า “คนปกติไม่น่าจะคิดทำอะไรแบบนี้ได้”

แม้จะไม่ใช้กิจกรรมที่มีประเด็นเกี่ยวข้องกับสถาบัน แต่เป็นการชุมนุมของม็อบชาวนา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกร ก็ถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่เช่นกัน ทราย เจ้าของทวิตเตอร์แอคเคาท์ @Thamboon888 ที่ช่วยดูแลผู้สูงอายุในม็อบด้วยการบริจาคอาหารเป็นประจำ ได้เปิดเผยว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถไปเฝ้าหน้าร้านอาหารของเธอ และไปถามชื่อ-นามสกุลของเธอจากแกนนำกลุ่มชาวนา อ้างว่าขอข้อมูลเนื่องจากเห็นว่าเอาของมาให้เยอะ นอกจากนี้ นักกิจกรรมกลุ่มเยาวชนอาสา ที่เข้ามาช่วยเหลือและทำกิจกรรมทำโพลสำรวจว่าจะจ้างรัฐบาลนี้ต่อไปหรือไม่ในม็อบชาวนา ก็ถูกเจ้าหน้าที่สืบเเอบถ่ายภาพ โดยอ้างว่าสนใจ

การคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ

มีนักกิจกรรมหลายรายถูกคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ ส่วนมากเป็นนักกิจกรรมที่ทำเรื่องสถาบัน ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายสิบนาย คอยติดตามจากบ้าน ไปยังที่ต่างๆ เมื่อเธอและเพื่อนเข้าไปสอบถาม เจ้าหน้าที่ก็ไม่ยอมแสดงตัวและลงจากรถ ก่อนหลบเข้าไปที่ศาลแขวงดุสิต บุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง มีตำรวจนอกเครื่องแบบจำนวน 2 คนมาหาที่หน้าบ้าน โดยอ้างว่าจะมาส่งหมายเรียก ซึ่งเป็นคดีที่เธอไปรายงานตัวและได้รับการประกันตัวแล้ว พร้อมพูดจาหว่านล้อมให้สมาชิกในบ้านออกมาเซ็นเอกสาร พยายามที่จะขอเบอร์โทรศัพท์ของผู้ปกครอง โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจขู่ว่า หากไม่ยอมเซ็นจะทำการ "ออกหมายจับ" และได้ยืนเฝ้าที่หน้าบ้านของเธอเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมงก่อนจะยอมถอนกำลังกลับไป ใบปอ ทะลุวัง ก็ถูกถูกตำรวจนอกเครื่องแบบติดตาม ไม่เว้นตอนเข้าห้องน้ำ เจ้าหน้าที่อ้างว่าติดตามไอจีอยู่ และมีพฤติการณ์คุกคามทางเพศด้วยการบอกว่า “เดี๋ยวตามไปส่งให้ถึงห้องเลย”

เอิญ ศิลปินและนักเคลื่อนไหวประเด็นสถาบันกษัตริย์ผ่านผลงานศิลปะ จ.ขอนแก่น ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดบุกถึงที่พัก และเข้าควบคุมตัวเบื้องต้น โดยไม่มีการแจ้งว่ามาจากหน่วยงานใด แต่ทางผู้กำกับสภ.เมืองขอนแก่นแจ้งว่า เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจจากหน่วยงานแห่งจากกรุงเทพ โดยมีการเชิญตัวไปปรับทัศนคติ และสอบถามเกี่ยวกับแนวคิดและทัศนคติทางการเคลื่อนไหวและแสดงออก เข้าถึงข้อมูลโทรศัพท์มือถือ และดูดข้อมูลเกี่ยวกับการจราจรทางออนไลน์ไปด้วย ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใดๆ แต่มีการทำ "บันทึกเหตุอันควรเชื่อ" ว่าได้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 นรินทร์ ได้ออกมาเปิดเผยว่าหลังมีคำพิพากษาคดี ม.112 ตนก็ถูกติดตามคุกคามมากขึ้น พบบุคคลนิรนามขับรถวนแถวบ้านหลายครั้ง ถามเพื่อนบ้านว่ารู้จักเขาไหม ล่าสุด ตำรวจฝากเพื่อนบ้านบอกแม่นรินทร์ว่า ขอให้เป็นเรื่องของตำรวจ พร้อมมอบซุปไก่ สกัดให้ 1 แพ็ค

แซม สาแมท ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 20 นาย พร้อมรถห้องขัง นำกำลังบุกที่พักของเขา ขณะที่ไม่ได้พักอยู่บ้าน โดยไม่ทราบจุดประสงค์ และเป้าหมายที่ชัดเจน อีกทั้งยังไม่มีการแสดงหมายใดๆ24 นักกิจกรรมชื่อ ดิว ไม่ทราบกลุ่ม ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามไปพูดคุยถึงบ้าน เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ถูกชายแต่งกายคล้ายตำรวจนอกเครื่องเเบบ 4 ราย แจ้งว่าเป็นตำรวจแต่ไม่บอกสังกัด บุกเข้าไปสอบถาม รปภ. ของอาคารที่พักของเขา สอบถามว่า เขาอยู่หรือไม่ แม้ รปภ.จะปฏิเสธว่าไม่อยู่ เเต่ชายกลุ่มนั้นยังคงขอให้พาขึ้นลิฟต์ไปหน้าห้องพัก พร้อมถ่ายภาพหน้า และให้เหตุผลว่า มาติดตามความเคลื่อนไหวของ ชาญวิทย์ ในฐานะที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง “ณรงค์” (นามสมมติ) ผู้เคยแสดงออกทางการเมือง และดำเนินคดีจากเหตุชุมนุมในช่วงปี 2564 ถูกเจ้าหน้าที่เข้าสอดแนมและติดตามโดยอ้างหมายจับจากคดีเก่า ขณะกลับภูมิลำเนาเพื่อทำธุระ ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านในหมู่บ้านของเขาได้เข้ามาขอเบอร์โทรศัพท์ โดยบอกว่าได้รับการไหว้วานจากตำรวจที่ต้องการได้เบอร์โทรศัพท์ของเขาเพื่อติดต่อเรื่องคดีความ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาขับรถกระบะมาวนเวียนละแวกบ้านเขาอยู่ 7–8 รอบ แม้แต่ตอนออกไปจับปลากับเพื่อนๆ ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ขับรถติดตามไปถ่ายรูปด้วย

นอกจากกรณีคุกคามนักกิจกรรมโดยตรง ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย มาที่บูธของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ในงานหนังสือ สถานีบางซื่อ เพื่อแจ้งให้ทางสำนักพิมพ์ปลดป้ายผ้ารวมแฮชแท็ก การณรงค์ทางการเมืองในทวิตเตอร์ในช่วงการเคลื่อนไหวของเยาวชนคนรุ่นใหม่ช่วงปี 2563-2564 ลง เนื่องจากมีถ้อยคำที่เจ้าหน้าที่มองว่า “หมิ่นเหม่” อยู่ โดยมีการยกตัวอย่างขึ้นมาหลายคำ แต่คำที่ถูกเน้นย้ำมากที่สุดคือคำว่า “รัฐบาลเผด็จการ” และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวน 2 นาย ระบุว่ามาจาก สภ.กระทุ่มแบน แต่ไม่ได้แจ้งชื่อ-สกุลให้ทราบ ได้เดินทางมาที่บ้านของกัญญา ธีรวุฒิ(แม่) สอบถามเธอว่าที่นี่คือบ้านของ “สยาม ธีรวุฒิ” หรือไม่ ทั้งที่สยามถูกอุ้มหายไปเกือบ 3 ปีแล้ว พวกเขาขอถ่ายรูปเธอไว้ ก่อนเดินทางกลับไป การมาติดตามครั้งนี้ อาจมีเหตุมาจากใกล้วันครบรอบ 3 ปี ที่สยามกับเพื่อนผู้ลี้ภัยทางการเมืองอีกสองคนถูกบังคับสูญหายไปที่ประเทศเวียดนาม เมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2562 อีกทั้งในช่วงวันเกิดของสยามในช่วงวันที่ 31 ตุลาคม ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ก็พบว่ามักมีเจ้าหน้าที่มาสอดส่องที่บ้านอยู่ตลอดด้วย

แนวโน้มการคุกคามในเดือนเมษายน

ในเดือนมีนาคม มีการคุกคามเด็กหญิงอายุ 13 ปี ด้วยเหตุจากขบวนเสด็จ แม้ว่าเธอจะไม่ได้ไปทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆก็ตาม ซึ่งนับเป็นการคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐต่อประชาชนที่อายุน้อยที่สุดรายแรกของปีนี้ จะเห็นได้ว่า สถานการณ์การคุกคามคุกคามเด็กและเยาวชนยังเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด เพราะจากการเก็บข้อมูลการคุกคามประชาชนในปีนี้ พบว่า มีการคุกคามเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นทุกเดือน และนักกิจกรรมหรือผู้ร่วมชุมนุมทุกคน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ มีบทบาทในขบวนการเคลื่อนไหวหรือไม่ ล้วนมีโอกาสถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประเด็นเกี่ยวกับสถาบัน ยังคงเป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดการคุกคามประชาชน แม้ในช่วงที่ไม่มีขบวนเสด็จ นักกิจกรรมที่ทำกิจกรรมเกี่ยวกับสถาบัน มักจะตกเป็นเป้าในการคุกคามของเจ้าหน้าที่เสมอ

ดังนั้น จึงสามารถประเมินแนวโน้มการคุกคามในเดือนเมษายนได้ว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น สวนทางกับการชุมนุมที่ลดลง การจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆหรือแม้แต่จะมีผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียวก็ตาม จะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรา 112 คาดว่าการคุกคามที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการชุมนุมที่ลดลง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังพลมาใช้ในการคุกคามนักกิจกรรม เพื่อป้องกันการจัดกิจกรรมทางการเมืองในอนาคต