ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม
ในเดือนมกราคม 2564 สถานการณ์โควิดโอไมครอน ได้พาประเทศไทยเข้าสู่การระบาดระลอกที่ 4 โดยประเทศไม่ได้มีมาตรการเข้มงวดเท่าในปี 2563 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินครั้งที่ 17 ไปจนถึง 31 พฤษภาคม 2565 เนื่องจากมีวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์ อาจทำให้เชื้อโควิด 19 แพร่กระจายอีกครั้ง ส่งผลประเทศไทยอยู่ภายใต้กฎหมายเฉพาะในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลากว่า 2 ปี เนื่องจากสถานการณ์โควิดไอไมครอนระบาดต่อเนื่อง ส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจต่อประชาชน ส่วนผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมกลับถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548
ในเดือนเมษายน 2565 การชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 35 ครั้ง และมีการทำกิจกรรมยืนหยุดขังอย่างน้อย 12 ครั้ง ที่บริเวณศาลอาญา และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง เนื่องจากจำนวนผู้ถูกคุมขังในเดือนเมษายนเพิ่มขึ้นถึง 7 ราย
ท่ามกลางการชุมนุมใหญ่ใน ปี 2563 เพื่อเรียกร้องภายใต้ 3 ข้อเรียกร้องคือ รัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาต้องลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่โดยรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กระแสการเรียกร้องสิทธิแรงงาน สิทธิชุมชน สิทธิชนเผ่าพื้นเมือง รวมไปถึงประเด็นสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นเติบโตและสร้างความเข้มแข็งให้กับเครือข่ายเดิมในการต่อสู้เรียกร้องให้มีอำนาจต่อรองกับรัฐ ใน ปี 2564 ภาคีเซฟบางกลอย และเครือข่ายออกมาเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ เนื่องจากชาวกะเหรี่ยงบางกลอยได้กลับไปยังบ้านเกิดตัวเองที่บางกลอยบน ในพื้นที่แก่งกระจานซึ่งเป็นพื้นที่ชุมชนของชาวบ้านเดิม และเจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาและดำเนินคดีกับชาวบ้าน ขณะเดียวกัน หลายกลุ่มได้ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นชุมชนและสิ่งแวดล้อมได้แก่ กลุ่มเครือข่ายนาบอนเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ชุมชน ที่อำเภอนาบอน จังหวัดนครศรีธรรมราช และเดินทางมากรุงเทพฯเพื่อยื่นหนังสือคัดค้านไปอย่างองค์กรที่เกี่ยวข้อง และสามารถบรรลุข้อตกลงกับรัฐบาลในการระงับการออกใบอุญาตการสร้างโรงไฟฟ้านาบอนได้ กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่ออกมาคัดค้านการดำเนินการโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะที่บริเวณทำเนียบรัฐบาล หลังจากรัฐบาลไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงที่ได้ลงนามไว้ถึงการศึกษาผลกระทบ จนนำมาสู่การสลายการชุมนุมชาวบ้านปลายเดือนเดือนธันวาคม 2565
ในปี 2565 แม้ว่ากระแสการชุมนุมขนาดใหญ่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด กระแสการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องการกระจายอำนาจ และประเด็นเรื่องสิทธิชุมชน และสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นมีความเข้มแข็งและเติบโตมากขึ้นในภูมิภาค ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มราษฎรโขง ชี มูน ซึ่งเป็นกลุ่มเครือข่ายเยาวชนภาคอีสาน ขับเคลื่อนประเด็นพื้นที่ควบคู่กับการเรียกร้องการเปลี่ยนแปลงการเมืองเชิงโครงสร้าง การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนและการกระจายอำนาจ ในภาคเหนือเองเริ่มมีการพูดถึงการกระจายอำนาจและขับเคลื่อนประเด็นท้องถิ่น โดยกลุ่มพรรควิฬาร์ ซึ่งสะท้อนการความเชื่อมโยงเรื่องประเด็นสิทธิชุมชน สิ่งแวดล้อม ปัญหาปากท้องชาวบ้านกับการเมืองเชิงโครงสร้าง ภายใต้การรวมกลุ่มกันของกลุ่มที่ขับเคลื่อนประเด็นท้องถิ่นหลายกลุ่มและกลุ่มคนรุ่นใหม่
ขณะที่ในเดือนเมษายน 2565 ประเด็นปัญหาเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหาสิทธิที่ดินและประเด็นเชิงพื้นที่อย่างน้อย 4 ครั้ง ได้แก่ กลุ่มกะเบอะดิน ซึ่งเป็นชาวบ้านกะเบอะดิน ร่วมกันจัดงาน “อมก๋อย แดนมหัศจรรย์: ลมหายใจบนไหล่เขา รอยยิ้มของผืนดิน เสียงหัวเราะของสายน้ำ” เพื่อทบทวนประวัติศาสตร์การต่อสู้คัดค้านเหมืองแร่ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ‘ชาวอมก๋อยไม่เอาเหมืองแร่ถ่านหิน’ โดยทำกิจกรรมเดินขบวนตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคม 2565 และนัดชุมนุมที่ศาลปกครอง จ.เชียงใหม่ วันที่ 4 เมษายน เพื่อเรียกร้องให้ระงับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งขาดการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อการทำโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน กลุ่มsaveหาดแม่รำพึง ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คัดค้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นหาดแม่รำพึง คณะอุบลปลดแอกและเครือข่าย จัดกิจกรรม “ยุติธรรมไม่เกื้อหนุน ผีบุญจึงกำเนิด”ในวันที่ 4 เมษายน ครบรอบ 121 ปี เหตุการณ์ปราบกบฎผู้มีบุญเมืองอุบล โดยรูปแบบกิจกรรมเป็นการแสดงผลงานทางศิลปะ และดนตรี (วงสามัญชน) ที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อต้องการรำลึกถึงประวัติศาสตร์การต่อสู้ของกลุ่มกบฏผู้มีบุญเมื่อครั้งต่อต้านอำนาจรวมศูนย์ของรัฐสยาม สะท้อนการต่อสู้เคลื่ิอนไหวในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มศิลปิน นักวิชาการ ทำกิจกรรมลงพื้นที่หมู่บ้านสะพือ จังหวัดอุบลราชธานี โดยเครือข่ายประชาชน
ชุมนุมวันที่ 6 เมษายน 2565 จัดโดยกลุ่มโมกข์หลวงริมน้ำ ที่บริเวณวงเวียนใหญ่ (opens new window)
ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันอย่างน้อย 4 ครั้ง โดย กลุ่มมังกรปฏิวัติทำกิจกรรม 2 ครั้ง โดยในวันที่ 15 เมษายน นัดหมายทำกิจกรรมรับเสด็จ ที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่อมาเปลี่ยนที่หมายจากกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ไปวัดพระแก้ว แต่ไม่ถึงที่หมายเนื่องจากถูกตำรวจตั้งแนวสกัดระหว่างทางส่งผลให้เกิดเหตุชุลมุน ประชาชนบาดเจ็บอย่างต่ำ 3 ราย ด้านตำรวจขอโทษ และขอรับผิดชอบการรักษา ครั้งที่ 2 คือ วันที่ 22 เมษายนกลุ่มมังกรปฏิวัตินัดหมายทำ “กิจกรรมทัวร์มูล่าผัว” ลักษณะเคลื่อนขบวนรอบเกาะรัตนโกสินทร์ เนื่องในวันครบรอบ 240 ปีเกาะรัตนโกสินทร์ ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนสกัดผู้ชุมนุมทุกเส้นทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศว่าจะใช้กำลังจับกุมผู้ชุมนุมหากเคลื่อนขบวนต่อ ซึ่งต่อมาประชาไทรายงานว่าประชาชนได้รับบาดเจ็บ 1 รายจากการปะทะกันระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม กลุ่มทะลุวัง ทำกิจกรรมสำรวจความคิดเห็น“เห็นด้วยหรือไม่ที่รัฐบาลอนุญาตให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอัธยาศัย”บริเวณจตุจักรและห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ลาดพร้าว กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จัดกิจกรรม “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ในวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดกั้นเส้นทางชุมนุม พร้อมทั้งประกาศว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ชุมนุมวันที่ 24 เมษายน 2565 เนื่องในวันรำลึก วัฒน์ วรรลยางกูร โดยกลุ่มเครือข่ายตุลา
นอกจากประเด็นสถาบันกษัตริย์ที่เจ้าหน้าที่แนวสกัดเข้มข้นจนส่งผลให้มีประชาชนบาดเจ็บแล้ว ในเดือนเมษายนมีกิจกรรมรำลึกบุคคลและเหตุการณ์สำคัญทางการเมือง เช่น วันที่ 24 เมษายน ครอบครัววรรลยางกูรและเครือข่ายเดือนตุลาจัดงานรำลึก ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ กวีและนักเขียนชื่อดังเจ้าของรางวัลศรีบูรพา ซึ่งเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยกิจกรรมมีการเดินเวียนรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และทำกิจกรรมต่อเนื่องตลอดวันที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยดูแลความปลอดภัย วันที่ 10 เมษายน ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตแกนนำ น.ป.ช. จัดงานรำลึกครบรอบ 12 ปีเหตุการณ์ล้อมปราบการชุมนุมเสื้อแดงในปี 2553
ขณะเดียวกันกิจกรรมการแสดงออกที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยและการเมืองโลกเกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง เช่น ประเด็นเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้กับผู้ถูกคุมขังทางการเมืองที่สอดแทรกอยู่ในกิจกรรมหลัก ประเด็นยุติความรุนแรงทางเพศ การรื้อถอนสถาบันปรีดี พนมยงค์ซึ่งเป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนกิจกรรมทางสังคม ประเด็นเกณฑ์ทหาร รวมไปถึงรณรงค์การใช้กัญชา ส่วนการเมืองระหว่างประเทศก็ยังมีกิจกรรมการเรียกร้องให้รัสเซียยุติการรุกรานยูเครน ดังจะเห็นได้จากที่ กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ได้นัดหมายแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เต้นเพลง “สีดาลุยไฟ” ณ หน้าที่ทำการใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองยุติความรุนแรงทางเพศอย่างจริงจัง รวมไปถึงไม่ใช้อิทธิพลของพรรคการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมช่วยเหลือผู้กระทำความรุนแรง กิจกรรมที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2-11 เมษายน โดยกลุ่มทะลุฟ้า ซึ่งนัดชุมนุมเพื่อคัดค้านการรื้อถอนอาคารสถาบันปรีดี พนมยงค์ โดยปักหลักชุมนุมหน้าสถาบันปรีดี พนงยงค์ กลุ่มตีนไก่ปฏิวัติ จัดกิจกรรมทำโพล “เห็นด้วยหรือไม่กับการเกณฑ์ทหาร” เป็นจำนวน 3 ครั้งในเดือนนี้ เพื่อสำรวจความคิดเห็นประชาชนในประเด็นดังกล่าว และมีการเดินไปที่กระทรวงกลาโหม กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ได้นัดหมายแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เต้นเพลง “สีดาลุยไฟ” ณ หน้าที่ทำการใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้นักการเมืองยุติความรุนแรงทางเพศอย่างจริงจัง รวมไปถึงไม่ใช้อิทธิพลของพรรคการเมืองทั้งทางตรงและทางอ้อมช่วยเหลือผู้กระทำความรุนแรง กลุ่มDemHope จัดกิจกรรมโพลป้ายผ้า “คุณคิดว่ารัฐบาลเป็นภัยต่อความมั่นคงตัวจริงหรือไม่ หากเจ้าหน้าที่รัฐมีการทำร้ายร่างกายประชาชนที่ออกมาเรียกร้องทางการเมืองตามสิทธิในระบอบประชาธิปไตย” บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์และสกายวอล์ค กลุ่มเราพวกกัญ จัดกิจกรรม 'เราพวกกัญ' เฉลิมฉลองวันกัญชาโลก โดยทำกิจกรรมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยถึงตรอกข้าวสาร เพื่อให้รณรงค์สร้างความเข้าใจในการใช้กัญชามากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมไว้อาลัยเด็กที่เสียชีวิตในสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่บริเวณหน้าสถานทูตรัสเซีย โดยชาวยูเครนในประเทศไทย และพรรควิฬาร์ ได้จัดกิจกรรมเขียนจดหมายให้กำลังใจชาวยูเครน ที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วย
#ภาพรวมสถานการณ์การดำเนินคดี
ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,808 คน ในจำนวน 1,065 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 280 ราย เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 13 คน คดีเพิ่มขึ้น 20 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) โดยมีเยาวชนรายใหม่ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 5 ราย คดีตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้น 10 คดี ในขณะที่การดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีหลายคดีที่ศาลสั่งยกฟ้องและอัยการสั่งไม่ฟ้องแล้วก็ตาม หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดีมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,589 ครั้ง
จากจำนวนคดี 1,065 คดีดังกล่าว มีจำนวน 183 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล เนื่องจากข้อกล่าวหามีอัตราโทษปรับ ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 9 คดี
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 190 คน ในจำนวน 204 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,451 คน ในจำนวน 630 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 129 คน ในจำนวน 148 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 25 คน ใน 6 คดี
ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง
ในเดือนเมษายน มีผู้ถูกคุมขังเพิ่มอีก 7 ราย ทำให้มีจำนวนผู้ต้องขังรวม 8 ราย ได้แก่
- เวหา แสนชนชนะศึก เขาไม่ได้รับการประกันตัวจากกรณีแชร์และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 โพสต์ ทำให้เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2565 รวมเป็นเวลาแล้ว 51 วัน มีการยื่นขอประกันแล้ว 4 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว วันที่ 21 เมษายน เวหาถูกสั่งถอนประกันในคดีม.112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” เล่าเรื่องชีวิตในคุกทวีวัฒนา
- คฑาธร และ คงเพชร ทั้งสองคนถูกจับกุมโดยใช้ความรุนแรงขณะกำลังเดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษา 2553 ในข้อหามีระเบิดในครอบครอง พวกเขาถูกฝากขังตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน รวมเป็นเวลา 19 วัน และไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลอ้างว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
- ปฎิมา แฟนสาวของ บุ๊ค ธนายุทร เธอถูกสน.บางซื่อแจ้งข้อหา “ทำให้เกิดระเบิด” ขณะเข้าให้ปากคำในฐานะพยานในคดีของธนายุทธ กรณีถูกโยงเหตุปาระเบิดบ้านพักประยุทธ์ ในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565 และถูกฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ในวันที่ 11 เมษายน ศาลไม่ให้ประกันตัว แม้ทนายจะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 2 อ้างว่า ไม่เหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม เธอถูกคุมขังแล้วเป็นเวลา 19 วัน
- พรพจน์ แจ้งกระจ่าง หรือ “เพชร” เข้ามอบตัว หลังจากทราบว่ามีหมายจับจากกรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 ในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565 ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว ทำให้เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน รวมแล้วเป็นเวลา 17 วัน
- เอกชัย หงส์กังวาน ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา จากกรณีโพสต์บอกเล่าเรื่องเพศของตัวเองในเรือนจำ ศาลเห็นว่าข้อความเป็นการโพสต์ลามกอนาจาร ทำให้เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2565 ต่อมา ศาลฎีกายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว33 ทำให้เขาถูกคุมขังรวมแล้ว 11 วัน
- ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถูกศาลอาญาสั่งเพิกถอนประกัน กรณีไลฟ์สดก่อนมีขบวนเสด็จ และโพสต์เฟสบุ๊ค โดยชี้ว่าการเข้าร่วมขบวนเสด็จมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความวุ่นวายในบ้านเมือง และการโพสต์เฟสบุ๊คถือว่าเป็นการกระทำในลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหา ศาลยังไต่สวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติมนอกคำร้องของตำรวจโดยที่ตะวันกับทนายไม่ทราบมาก่อนด้วย เธอถูกควบคุมตัวไปทัณฑสถานหญิงทันที ทั้งที่ทนายความยังไม่ได้ทำเรื่องยื่นประกัน ตะวันถูกคุมขังในวันที่ 20 เมษายน 2565 และเริ่มอดอาหารในวันเดียวกัน รวมเป็นเวลา 10 วัน
- สมบัติ ทองย้อย ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาว่าเขามีความผิดตาม ปอ. ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) จากกรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณทิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ให้ลงโทษทุกกระทงความผิด รวม 2 กระทง ให้จำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ภายหลัง ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวอีก ทำให้เขาถูกคุมขังรวมแล้ว 2 วัน
สถานการณ์การคุกคาม
แม้จะไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่การคุกคามประชาชนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการคุกคามประชาชน ในเดือนนี้ มีประชาชนอย่างน้อย 36 ราย ถูกคุกคามจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
การคุกคามในช่วงที่บุคคลสำคัญลงพื้นที่
นักกิจกรรมอย่างน้อย 15 ราย ถูกคุกคามด้วยสาเหตุนี้ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ถูกคนใส่เสื้อเหลืองที่มารอรับเสด็จเข้ามาต่อว่าและคุกคาม หลังตนเดินทางมารอรับเสด็จ แต่ถูกเจ้าหน้าที่สั่งห้ามเข้าเพราะเป็นบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง ประชาชนและนักกิจกรรมในจ.อุบลราชธานี และจ.ศรีสะเกษ ถูกเจ้าหน้าที่ไปติดตามถ่ายภาพเช็คพิกัดประชาชาชนและนักกิจกรรมในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อสอบถามและปรามการเคลื่อนไหว ก่อนรัชกาลที่ 10 จะเสด็จฯอุบล และมีรายงานว่า นักกิจกรรมกลุ่มอุบลปลดแอก 2 ราย ซึ่งเข้าไปถ่ายภาพบรรยากาศการรับเสด็จในฐานะนักข่าวพลเมือง ถูกจับกุม และคุมตัวขึ้นรถจากสี่แยกศาลเยาวชนฯ ขึ้นรถตำรวจไปที่ สภ.วารินฯ โดยไม่ทราบสาเหตุของการจับครั้งนี้ พวกเขาถูกควบคุมตัวเกือบ 3 ชั่วโมง ก่อนได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีการดำเนินคดี นักกิจกรรมสุรินทร์ เปิดเผยว่า ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ สภ.ศีขรภูมิ 2 นายคุกคามในวันหยุด โดยไปพบที่บ้านและถ่ายรูป อ้างขับรถผ่านจึงแวะตรวจเยี่ยมว่าสบายดีมั้ย ระบุตำรวจมาพบบ่อยมาก ทุกครั้งที่มีบุคคลสำคัญมา
เนื่องจากการลงพื้นที่ในจังหวัดสงขลาและพัทลุงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้มีนักกิจกรรมในพื้นที่อย่างน้อย 7 ราย ถูกตำรวจไปหาที่บ้าน ศุภกร ได้ให้ข้อมูลว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบเกือบ 10 นาย ไปที่บ้านย่าของเขาในจังหวัดพัทลุง ซึ่งไม่ใช่บ้านที่เขาอยู่ในปัจจุบัน และสอบถามถึงตัวเขา 2 ครั้ง ทำให้ย่ากังวลและไม่สบายใจ เขายังบอกว่ามีเพื่อนๆ ทั้งที่สงขลา พัทลุง และตรัง อีกไม่ต่ำกว่า 10 คน ก็ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามเช่นกัน ‘เบล’ นักกิจกรรมวัย 18 ปี กล่าวว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบพูดคุยด้วยถึงที่พัก และถูกตำรวจควบคุมตัวไว้ในร้านกาแฟ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นเวลาเกือบ 2 ชั่วโมง เพื่อขัดขวางไม่ให้เขาไปยื่นหนังสือต่อนายก นอกจากนี้ ยังมีการข่มขู่คนในครอบครัวของนักกิจกรรมรายหนึ่งด้วยว่า “ดูแลลูกให้ดี ถ้าไม่อยากเดือดร้อน” เช่นเดียวกับช่วงพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ลงพื้นที่บึงสีไฟ จ.พิจิตร มีนักกิจกรรมและผู้มีบทบาทในทางการเมืองในจังหวัดพิจิตรถูกตำรวจคุกคามและไปพบที่บ้านไม่ต่ำกว่า 3 ราย หนึ่งในนักกิจกรรม แชมป์ ถูกตำรวจเฝ้าหน้าบ้านต่อเนื่อง 3 วันติดต่อกัน โดยมีการเข้ามาคุยกับแม่ของเขาเป็นระยะ พยายามแจ้งให้แม่บอกให้เขาออกมาพบเจ้าหน้าที่ เพื่อขอถ่ายรูปด้วย เขากล่าวว่าถูกทำเหมือนเป็น “อาชญากร”
การคุกคามขณะทำกิจกรรมทางการเมือง
วันที่ 15 เมษายน กลุ่มมังกรปฏิวัติได้ประกาศจัดกิจกรรมรอรับเสด็จในช่วงบ่าย ทำให้มีประชาชนอย่างน้อย 6 คน ได้รับบาดเจ็บจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่ พิงค์ (นามสมมติ) อายุ 13 ปี และเยาวชนอีก 2 ราย อายุ 16 และ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 20 – 30 นาย และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เข้าควบคุมตัวขณะกำลังนั่งทานอาหารอยู่ที่ร้านแมคโดนัลด์ สาขาอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จากนั้น ชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) หญิง ได้เข้าควบคุมตัวพิงค์ และอุ้มเธอขึ้นรถตู้ตำรวจ พาไปควบคุมไว้ที่กระทรวงพัฒนาสังคมและสวัสดิการของมนุษย์ (พม.) โดยมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ถูกควบคุมตัวจากร้านแมคโดนัลด์มาที่ พม. ตามหลังพิงค์มาอีก 2 คน จากนั้น ทั้ง 3 จึงถูกควบคุมตัวไปที่สโมสรตำรวจต่อ ตำรวจได้ลงบันทึกประจำวัน และได้ปล่อยตัวเยาวชนทั้งสาม โดยไม่มีการดำเนินคดีใด ๆ ทั้งนี้ เยาวชนอายุ 17 ปี ได้ให้ข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการควบคุมตัวที่เกิดขึ้น ซึ่งเธอยอมรับว่า ปฏิบัติการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้ได้สร้างบาดแผลไว้ในใจเธอ ซ้ำเติมปัญหาด้านจิตเวชที่เธอกำลังเผชิญอยู่
ในเหตุการณ์เดียวกัน เกิดเหตุผลักดันกันขณะตำรวจปิดกั้นขบวนไปรับเสด็จที่สะพานขาว ทำให้มีประชาชนอย่างน้อย 3 ราย ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ที่ใบหน้ามีรอยแดงช้ำ และมีสื่ออิสระรายหนึ่งถูกตำรวจหลายนายลากตัวไปกดลงกับพื้นจนโทรศัพท์พร้อมขาตั้งที่ใช้ไลฟ์สดฟาดลงกับพื้น ประชาชนชาย วัย 22 ปี เล่าว่า ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาขวาง จึงบอกว่าจะไปรับเสด็จ เจ้าหน้าที่ก็ถามย้อนกลับมาว่า “มึงจะไปรับเสด็จเหรอ?” จากนั้นก็ถูกลากตัวเข้าไปทำร้ายร่างกายที่หลังแนวกั้น บริเวณที่รถตำรวจจอดอยู่ และถูกเหยียบที่หัวลงกับพื้นจนแว่นแตกและหายไป โดยตามร่างกายมีร่องรอยการถูกทำร้ายชัดเจน ทั้งปากแตกและรอยแดงที่คอ หลังจากจบกิจกรรม ยังมีรายงานว่า ณัฐพล สื่ออิสระ ถูกชายไทยในชุดรัดกุม ใส่เสื้อกั๊ก 4 คน รุมตีด้วยดิ้ว หน้าร้านแม็คฯ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เวลา 21.35 น. ก่อนหน้านั้น ทั้ง 4 เดินเข้ามาขอดูภาพในมือถือ แต่ณัฐพลไม่ยินยอม จึงถูกรุมทำร้าย
นักกิจกรรมขอนแก่น จัดกิจกรรมปีใหม่ไทประชาธิปไตยเบ่งบาน มีการรดน้ำอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาธิปไตยไทยเบ่งบาน,เล่นเวฟ 3 นิ้ว และ สาดน้ำไล่เผด็จการ มีรถเครื่องเสียง ระหว่างดำเนินกิจกรรม ตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่นจอดเฝ้าสังเกตการณ์ หลายนายพกปืนช็อตไฟฟ้าเข้าเตือนไม่ให้สาดน้ำใส่คนอื่นก่อนกลับออกไป
บุรินทร์ อินติน เพิ่งพ้นโทษคดี ม.112 ถูกชายไม่ทราบชื่อทำร้ายโดยการตบหน้า ที่บริเวณ ถ.ข้าวสาร ขณะแสดงสัญลักษณ์ ชู 3 นิ้ว พร้อมพูดว่า “มึงจะอะไรกันนักกันหนา” ซึ่งไม่ใช่การคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่ามีนักกิจกรรมเยาวชนถูกคุกคาม แม้ว่าจะยังไม่ได้ทำกิจกรรมใดๆเลย แทนฤทัย อายุ 16 ปี กลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก ถูกควบคุมตัวจากข้างศาลฎีกาไปที่ สน.พระราชวัง เหตุพกป้าย "ทรงพระเจริญ" ไว้ในกระเป๋า แต่ยังไม่ได้เอาออกมาใช้ ตำรวจอ้างว่าจะนำตัวไปทำประวัติไว้แล้วปล่อย โดยไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา เธอปฏิเสธไม่เข้าร่วมกระบวนการและออกจากสน. นอกจากนี้ ช่วงวันจักรี ยังมีรายงานว่าประชาชนหลายรายถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกกรุงเทพฯ บางรายไปสอบถามถึงที่ทำงานว่ามีชื่อนี้หรือไม่ บางรายไปสอบถามครอบครัวว่านักกิจกรรมนั้นอยู่ที่ไหนและกำชับผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานตัวเองไม่ให้เข้าร่วมกิจกรรมใดในวันนี้
การคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ
อาย กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ถูกกลุ่มชายอ้างตัวเป็นตำรวจสันติบาลจำนวน 8 นาย ล่อลงออกมาจากห้องพัก อ้างว่ากันต์ฤทัยโพสต์เฟซบุ๊กเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ต้องการเจรจาตกลงไม่ให้โพสต์ลักษณะเช่นนี้อีกและให้ปิดบัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัว ก่อนตำรวจจะพาตัวเธอไป สน.ลาดพร้าว โดยข่มขู่ว่า “ถ้าไม่ยอมไป จะอุ้มไป” แต่สุดท้ายหลังถึง สน. ชายกลุ่มนั้นพบว่ามีมวลชนและผู้สื่อข่าวเดินทางมารออยู่ก่อนหน้าแล้วประมาณ 10 คน และกำลังมีมาสมทบอีกเรื่อยๆ พวกเขาจึงทิ้งเธอไว้และขับรถหนีออกไป เมื่อเธอเข้าไปสอบถามตำรวจใน สน. ก็ไม่มีใครรู้เรื่องเลย อายจึงลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ทั้งหมดนี้ไว้ที่ สน.ลาดพร้าว
พิมชนก ใจหงษ์ ได้รับข้อความทางมือถือจากเฟสบุ๊คหลายครั้ง เพื่อให้รีเซ็ตรหัสผ่าน ทำให้สงสัยว่า มีผู้พยายามจะเข้าถึงเฟสบุ๊คส่วนตัวของเธอหรือไม่ แซน สุปรียา ใจแก้ว อดีตนักกิจกรรมกลุ่มเชียงรายปลดแอก เปิดเผยว่า ช่วงกลางเดือนเมษายน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในเครื่องแบบ-นอกเครื่องแบบ ประมาณ 4-5 นาย เดินทางมาด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล 2 คัน เข้าไปจอดและตรวจค้นบ้านตามภูมิลำเนาของเธอในจังหวัดเชียงราย พร้อมถ่ายภาพบ้านของเธอ โดยไม่มีการแสดงหมายค้นหรือหมายจับ หรือแจ้งสาเหตุใดๆ ในการเข้าไปตรวจดูในบริเวณบ้าน สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาววันเฉลิม มีรายชื่อเป็น “บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง)” ทนายความส่งหนังสือขอให้ สตช.ตรวจสอบที่มาของรายชื่อ และยุติการดำเนินคดีกลั่นแกล้งจากการแสดงออกทางความคิดเห็นและร่วมกิจกรรมสาธารณะ
นายพงศ์ภัค สามงามยา เปิดเผยว่า เมื่อประมาณต้นเดือน มีเจ้าหน้าที่รัฐมาหาเขาตามที่อยู่ในทะเบียนบ้าน จ.สุพรรณบุรี อยู่ 3 ครั้ง โดยพยายามถามหาตัวเขา ถ่ายรูปหน้าบ้าน และครั้งสุดท้าย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่งตัวเต็มยศชวนไปรับขบวนเสด็จในวันที่ 3 เมษายน 2565 ปริญญา เทวนฤมิตรกุล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเขามาสอบถามกรณีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อนุญาตให้พรรคก้าวไกลใช้พื้นที่จัดประชุมสามัญประจำปี
สน.พญาไท มีหนังสือ ขอให้เพิกถอนหนังสือเดินทางของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ปิยบุตร แสงกนกกุล และ พรรณิการ์ วานิช โดยระบุว่าทั้งสามเป็นผู้ต้องหาคดีอาญาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จึงขอให้เพิกถอนหนังสือเดินทาง ทั้งที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ และยังไม่มีคำสั่งศาลห้ามเดินทางออกนอกประเทศ
แนวโน้มการคุกคามในเดือนพฤษภาคม
จากการติดตามข้อมูลการคุกคามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า ในช่วงระหว่าง มี.ค. – เม.ย. 2565 มีรายงานผู้ถูกคุกคามแล้วอย่างน้อย 66 ราย เป็นเยาวชน 8 ราย หนึ่งในนั้นเป็นเด็กหญิงที่อายุเพียง 13 ปี ทำให้ยอดรวมประชาชนผู้ถูกคุกคามติดตามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 149 ราย นับเป็นเยาวชนจำนวน 15 ราย บางรายยังถูกติดตามคุกคามหลายรอบ ในเดือนเมษายนเดือนเดียว พบการคุกคามเยาวชนอย่างน้อย 4 ราย ส่วนใหญ่เป็นการคุกคามจากการเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง และมีการคุกคามเยาวชนที่เพียงแค่มีป้าย “ทรงพระเจริญ” ในกระเป๋าเท่านั้น
นอกจากตำรวจแล้ว ยังมีกรณีที่นักกิจกรรมถูกคุกคามจากประชาชนทั่วไป ที่ไม่พอใจกับการแสดงออกของพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นการต่อว่า ด่าทอ หรือทำร้ายร่างกายผู้เห็นต่าง รวมถึงเจ้าหน้าที่กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ทำให้เกิดการตั้งคำถามว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นไปตามหลักการทางกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิของเด็กและเยาวชนหรือไม่ และพบรายงานการจำกัดสิทธิของประชาชนในด้านอื่นๆ เช่น การเพิกถอนหนังสือเดินทาง การถูกรัฐจัดเป็น “บุคคลเฝ้าระวัง” แม้แต่มหาวิทยาลัยยังถูกตรวจสอบ หากให้พื้นที่พรรคการเมืองฝ่ายค้านจัดกิจกรรม
การคุกคามประชาชนยังคงดำเนินอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นสถาบันกษัตริย์ และแนวโน้มการคุกคามในเดือนพฤษภาคมได้ว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น โดยการจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆหรือแม้แต่จะมีผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียวโดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ จะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งสอดคล้องกับผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองด้วยข้อหาหมิ่นสถาบันกษัตริย์ที่เพิ่มมากขึ้นถึงเกือบ 200 คน การคุกคามที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการชุมนุมที่ลดลง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังพลมาใช้ในการคุกคามนักกิจกรรม เพื่อป้องกันการจัดกิจกรรมทางการเมืองในอนาคต