#ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม
นับตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม 2563 ที่รัฐบาลไทยประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินกว่า 2 ปี แม้รัฐบาลจะมีมาตรการที่ผ่อนคลายมากขึ้น เช่น คลายเกณฑ์การเดินทางเข้าประเทศโดยยกเลิกการกักตัว เตรียมปรับสถานะโควิด-19จากโรคระบาดเป็นโรคประจำถิ่น แต่รัฐบาลยังคงประกาศ ขยายระยะเวลาสถานการณ์ ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ ทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 โดยขยายพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2565 ด้วยสาเหตุว่าสถานการณ์การระบาดของโรคดังกล่าวทั่วโลกยังรุนแรง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลอ้างสถานการณ์โรคระบาดในการจำกัดการแสดงออกและการชุมนุม โดยอ้างว่า “การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนที่ต้องใช้มาตรการเข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง” ซึ่งมาตรการควบคุมโรคหลายมาตรการส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เช่น ประกาศห้ามชุมนุม ตามมาด้วยการที่รัฐได้ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีถูกดำเนินคดีจากชุมนุมและการแสดงออกด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากถึง 1,452 คน ในจำนวน 631 คดี โดยในหลายคดีเป็นการดำเนินคดีที่ไม่สอดคล้องกับมาตรการการป้องกันโรค เช่น หลายกรณีที่บางช่วงรัฐผ่อนคลายสถานการณ์ให้จัดกิจกรรมเทศกาลหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ แต่ยังคงควบคุมการชุมนุม รวมไปถึงกิจกรรมคาร์ม็อบ ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ผู้ชุมนุมอยู่ภายในพาหนะของตนเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ร่วมกัน แต่เจ้าหน้าที่กลับดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมที่เข้าร่วมคาร์ม็อบไม่น้อยกว่า 96 คดี ซึ่งสะท้อนการบังคับใช้กฎหมายที่ผิดวัตถุประสงค์ในการป้องกันสถานการณ์แพร่ระบาด
ในเดือนพฤษภาคม 2565 การชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 52 ครั้ง ซึ่งมากขึ้นเป็น 1 ใน 3 ของการชุมนุมเดือนเมษายน (จำนวนการชุมนุมเกิดขึ้น 35 ครั้ง) แบ่งเป็นกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องคืนสิทธิการประกันตัวของนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีเกิดขึ้นอย่างน้อย 34 ครั้ง โดย 25 ครั้ง เป็นกิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับทำกิจกรรมหยุดยืนขัง รอบที่ 3 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่หน้าศาลฎีกา และอีกหลายที่ในพื้นที่กรุงเทพ เช่น ที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ และ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย รวมทั้งในจังหวัดขอนแก่น และอุบลราชธานีก็ร่วมทำกิจกรรมดังกล่าวด้วย กิจกรรมดังกล่าวแปรผันตรงกับที่ในเดือนนี้มีนักกิจกรรมถูกคุมขังมากที่สุด 11 คน แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังในการสอบสวนจำนวน 9 คน และผู้ถูกคุมขังหลังจากคดีมีคำพิพากษาแล้วแต่คดียังไม่ถึงที่สุดจำนวน 2 คน โดยมีนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ 3 คนที่ถูกคุมขังในเดือนนี้ (จากเดิมเดือนเมษายน มีผู้ถูกคุมขังอยู่ 8 คน) ได้แก่ เก็ท-โสภณ นักกิจกรรมกลุ่มโมกข์หลวงริมน้ำ ถูกจับกุมตามหมายจับและคุมขังระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม ต่อมาได้รับการประกันตัวในวันที่ 31 พฤษภาคม แบบมีเงื่อนไชและถือว่าถูกควบคุมตัวอยู่ในเคหสถาน 24 ชั่วโมง ใบปอ และ เนติพร (สงวนนามสกุล) จากกลุ่มทะลุวัง ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม
ชาวเมียนมาร์ในประประเทศไทยร่วมชุมนุมวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เนื่องในวันแรงงาน ที่บริเวณแยกปทุมวัน
ชุมนุมวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 เนื่องในวันยุติความเกลียดกลัวต่อคนรักเพศเดียวกัน นอกจากนี้ หลากหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวสอดคล้องกับวันสำคัญทั้งทางการเมืองและวันที่ระลึกถึงการเรียกร้องสิทธิ เช่น ในวันแรงงาน มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องสิทธิแรงงานอย่างน้อย 2 ที่ โดยกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชนและเครือข่าย เช่น สหภาพคนทำงาน สหภาพไรเดอร์ และแรงงานข้ามชาติ ชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลซึ่งแต่ละกลุ่มก็มีข้อเรียกร้องของตัวเอง เช่น ประเด็นแรงงานข้ามชาติ ผู้ชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลไทย รับอนุสัญญา ILO 87 และ 98 เพื่อรับรองสิทธิแรงงานทั้งไทยและต่างชาติให้สามาถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้ และกลุ่มที่สองจัดกิจกรรมรวมพลคนทำงานโดยสหภาพคนทำงานที่ ราชประสงค์ เนื่องในวันยุติความเกลียดกลัวต่อคนรักเพศเดียวกันในวันที่ 17 พฤษภาคม 2565 กลุ่มเสรีเทยพลัสและเฟมินิสต์ปลดแอกก็ทำกิจกรรมอ่านถ้อยแถลงคำวินิจฉัยคณะตุลาการประชาชน ล้อไปกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งอนุญาตให้เฉพาะชายกับหญิงเท่านั้นสมรสกันได้ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
ในเดือนพฤษภาคมได้ครบรอบเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองไทย เช่นวันที่ 19 พฤษภาคม ครบรอบ 12 ปี สลายการชุมนุมของแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ในปี 2553 กิจกรรมรำลึกเหตุการณ์พฤษภาเลือด ปี 2535 จากกลุ่มทะลุวังด้วยการทำโพลสอบถามความคิดเห็นในลักษณะดาวกระจายในหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯและวันครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร ปี 2557 ซึ่งจัดขึ้นในหลายจังหวัด ทั้งในขอนแก่น และ ภูเก็ต
ส่วนการชุมนุมปักหลักได้กลับมาอีกครั้งในช่วงที่สภาเปิดประชุมสมัยสามัญ คือวันที่ 23 ถึง 30 พฤษภาคม 2565 โดยภาคประชาชนจากภูมิภาคต่างๆ มารวมกันปักหลักที่หน้าอาคารสหประชาชาติบนถนนราชดำเนินนอกเพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรียุติการพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างพระราชบัญญัติการดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร พ.ศ. … เพราะหาก ครม. ผลักดันเข้าสู่สภาและผ่านเป็นกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อการทำงานขององค์กรภาคประชาชนและภาคประชาสังคม ทั้งนี้ตลอดสัปดาห์มีการทำกิจกรรมอยู่ตลอด รวมทั้งเคลื่อนขบวนไปยื่นหนังสือที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ในระหว่างวันที่ 27-29 พฤษภาคม 2565 เจ้าหน้าที่แจ้งว่ามีการพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งตำรวจได้มีการพูดคุยถึงแนวทางความเป็นไปได้ในการจัดการพื้นที่ชุมนุมระหว่างมีขบวนเสด็จ ท้ายที่สุดตัวแทนยืนยันว่า ไม่ย้ายสถานที่การชุมนุม ขณะที่เจ้าหน้าที่นำกำลังตำรวจควบคุมฝูงชนยืนเรียงแถวประกบคุมพื้นที่หนาแน่น อย่างไรก็ตามในวันที่ 30 พฤษภาคม ธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาพบกับมวลชน พร้อมกับแจ้งผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่ามีการนำข้อเสนอของภาคประชาชนเข้าไปหารือเบื้องต้นและได้มอบหมายให้ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กลับไปรับฟังความคิดเห็นของประชาชน โดยทางแกนนำปฏิเสธที่จะเจรจากับรัฐบาล ก่อนประกาศชัยชนะการปักหลักชุมนุม 8 วันที่สามารถคัดค้านการนำร่าง พ.ร.บ.การดำเนินกิจกรรมขององค์กรไม่แสวงหากำไร เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้
ถึงแม้การชุมนุมขนาดใหญ่จะยังไม่มีแนวโน้มที่จะกลับมาอีกครั้ง แต่การชุมนุมขับเคลื่อนประเด็นสิทธิยังคงดำรงต่อเนื่อง รวมถึงการที่คนรุ่นใหม่สนใจประวัติศาสตร์การเมืองในอดีตและพร้อมที่จะเคลื่อนไหวและพูดถึงในประเด็นที่เกี่ยวข้องอย่างชัดเจน จะเห็นได้จากการทำกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์พฤษภาเลือด เหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 เป็นต้น อย่างไรก็ตามสถานการณ์คุมขังนักกิจกรรมกลุ่มที่ตั้งคำถามประเด็นสถาบันกษัตริย์ เช่นกลุ่มทะลุวัง ยิ่งสะท้อนการพยายามควบคุมและจำกัดเสรีภาพการแสดงออกของรัฐโดยเฉพาะประเด็นสถาบันกษัตริย์มากยิ่งขึ้น ส่วนการปิดกั้นและจำกัดพื้นที่การแสดงออกยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะบริเวณสถานที่สำคัญ ด้วยรั้วลวดหนาม และตู้คอนเทนเนอร์ เช่น บริเวณทำเนียบรัฐบาล ในการชุมนุมเรียกร้องสิทธิแรงงาน และการชุมนุมคัดค้านพ.ร.บ.ควบคุมการรวมกลุ่ม ขณะที่ในเดือนนี้ก่อนการเลือกตั้งผู้ว่ากรุงเทพมหานคร หลายหน่วยงานมีการจัดเวทีแสดงวิสัยทัศน์ผู้สมัคร ในเวทีเปิดวิสัยทัศน์ ผู้สมัคร ผู้ว่าฯกทม.กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน "กรุงเทพ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง" นั้นสำนักงานเขตปทุมวันไม่อนุญาตให้จัด แม้ว่าทางผู้จัดจะได้รับอนุญาตจากหอศิลป์ อันเป็นสถานที่จัดกิจกรรม และสน.ปทุมวันเพื่อใช้เครื่องขยายเสียงแล้วก็ตาม ทำให้ต้องย้ายไปจัดสถานที่ปิดแทน โดยทางเขตอ้างว่าห่วงการใช้เครื่องขยายเสียง และมาตรการป้องกันโควิดคนดูจากสถานี
#ภาพรวมสถานการณ์การดำเนินคดี
ในส่วนของการดำเนินคดีกับนักกิจกรรม ยังคงมีการนำคดีขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,813 คน ในจำนวน 1,074 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 280 ราย ในจำนวน 205 คดี สำหรับเดือนนี้ มีคดีทางการเมืองที่ถูกสั่งฟ้องต่อศาลรวมทั้งหมด 28 คดี เป็นคดีข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 10 คดี ส่วนของคดีทางการเมืองอื่น ๆ มีจำนวน 18 คดี เป็นคดีที่มีข้อกล่าวหาหลักคือฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุม ตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) 15 คดี และมีคดีที่จำเลยเป็นเยาวชนถึง 4 คดี
เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับเดือนเมษายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 5 คน คดีเพิ่มขึ้น 9 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,605 ครั้ง จากจำนวนคดีดังกล่าว มีจำนวน 190 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 11 คดี
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 195 คน ในจำนวน 211 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,452 คน ในจำนวน 631 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 151 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 25 คน ใน 6 คดี
#ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง
มีผู้ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว 3 ราย ได้แก่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และปฏิมา** ผู้ถูกสน.บางซื่อแจ้งข้อหา “ทำให้เกิดระเบิด” ขณะเข้าให้ปากคำในฐานะพยานในคดีของธนายุทธ กรณีถูกโยงเหตุปาระเบิดบ้านพักประยุทธ์ ในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565 และถูกฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ในวันที่ 11 เมษายน เธอได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 27 พฤษภาคม รวมระยะเวลา 47 วันที่ถูกคุมขัง อย่างไรก็ตาม มีผู้ถูกถอนประกันในคดี ม.112 จากกรณีร่วมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ได้แก่ ใบปอและเนติพร ทั้งคู่ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม รวม 28 วันแล้ว และยังไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้ในเดือนพฤษภาคมนี้ ยังมีผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมืองทั้งหมด 8 ราย
- เวหา แสนชนชนะศึก เขาไม่ได้รับการประกันตัวจากกรณีแชร์และโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กจำนวน 2 โพสต์ ทำให้เขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2565 รวมเป็นเวลา 82 วัน มีการยื่นขอประกันแล้ว 4 ครั้ง แต่ยังไม่ได้รับการปล่อยตัว นอกจากนี้ เขายังถูกถอนประกันในคดีม.112 กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นเจ้าของบัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” เล่าเรื่องชีวิตในคุกทวีวัฒนา
- คฑาธร และ คงเพชร ทั้งสองคนถูกจับกุมโดยใช้ความรุนแรงขณะกำลังเดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษา 2553 ในข้อหามีระเบิดในครอบครอง พวกเขาถูกฝากขังตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน รวมเป็นเวลา 50 วัน และไม่ได้รับการปล่อยตัว แม้ทนายความจะยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 แล้วก็ตาม ทั้งนี้ คงเพชรมีอายุเพียง 18 ปี 2 เดือน
- พรพจน์ แจ้งกระจ่าง หรือ “เพชร” เข้ามอบตัว หลังจากทราบว่ามีหมายจับจากกรณีถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่มีกลุ่มบุคคลปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 ในคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565 เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 13 เมษายน รวมเป็นเวลา 48 วัน
- เอกชัย หงส์กังวาน ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา จากกรณีโพสต์บอกเล่าเรื่องเพศของตัวเองในเรือนจำ เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2565 ศาลฎีกายกคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 ทำให้เขาถูกคุมขังรวมแล้ว 42 วัน
- สมบัติ ทองย้อย หลังศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาว่ามีความผิดตาม ปอ. ม.112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (1) (3) จากกรณีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณทิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 พร้อมกับอีก 2 ข้อความ รวมจำคุก 6 ปี เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 28 เมษายน ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเป็นครั้งที่ 3 ทำให้เขาถูกคุมขังรวมแล้ว 33 วัน
#สถานการณ์การคุกคาม
แม้จะไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่การคุกคามประชาชนยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ในเดือนนี้ มีประชาชนอย่างน้อย 37 ราย ถูกคุกคามจากสาเหตุต่างๆ ดังนี้
การคุกคามในช่วงที่บุคคลสำคัญลงพื้นที่
ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม มีกำหนดการของรัชกาลที่ 10 ในการเสด็จที่ จ.หนองบัวลำภู ทำให้มีการติดตามคุกคามนักกิจกรรมหลายรายในที่ จ.อุดรธานี และ จ.หนองบัวลำภู ครั้งนี้ นักกิจกรรมกลุ่มดึงดิน และกลุ่มอุดรพอกันที เริ่มถูกติดตามตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แม้ว่านักกิจกรรมกลุ่มนั้นจะไม่ทรายถึงการเสด็จมาก่อน และไม่มีความคิดที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองระหว่างนั้นเลย เพชร (นามสมมติ) สมาชิกกลุ่มดึงดิน เล่าว่า ตำรวจมีความพยายามค้นหาข้อมูล ชื่อ-ที่อยู่ ของก้อย (นามสมมติ) โดยโทรไปหาแม่ของเธอ และกดดันอาจารย์สถานศึกษาให้โทรไปสอบถามพ่อของก้อยเรื่องที่อยู่ปัจจุบัน ซึ่งอาจารย์คนดังกล่าวได้ปิดบังข้อมูลของตำรวจที่โทรมาไว้ ทำให้ก้อยรู้สึกกังวลและไม่สบายใจ กูล (นามสมมติ) กล่าวว่า มีตำรวจมาติดตามเฟสบุ๊ค และโทรไปสอบถามสถาบันภาษาที่เขาเรียนอยู่เพื่อสอบถามข้อมูล โดยตำรวจได้บอกผู้อำนวยการสถาบันว่าเขาเป็นภัยความมั่นคงของชาติด้วย หลังจากนั้น ยังมีการไปติดตามกูลที่บ้านอีก
ในส่วนของกลุ่มอุดรพอกันที มีนักกิจกรรมอย่างน้อย 4 ราย ได้แก่ ศรี (นามสมมติ) นักเรียนอายุ 18 ปี ให้ข้อมูลว่าตำรวจได้เดินทางไปที่บ้านของเธอและแจ้งว่า ตำรวจไม่ได้มาทำอะไรหรอก แค่ยังตามอยู่ และจะรายงานกับผู้บังคับบัญชาว่าศรีไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรในช่วงนี้ อีกทั้งยังมีญาติที่รู้จักกับตำรวจโทรมาเตือนให้ศรีระวังเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง และบอกด้วยว่า ช่วงนี้ศรีกำลังถูกติดตาม แม้ว่าเธอจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่ในช่วงที่มีการเสด็จ ก็ยังมีเจ้าหน้าที่โทรสอบถามติดตามถึงพิกัดที่อยู่ กี้ (นามสมมติ) นักเรียนอายุ 18 ปี ถูกตำรวจโทรติดตามตั้งแต่ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2565 โดยตำรวจโทรหาย่า สอบถามว่ากี้อยู่ที่ไหน และจะทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ ก่อนจะหยุดโทรในช่วงหลังวันที่ 24 พ.ค. 2565 นอกจากนี้ ยังมีนะโม (นามสมมติ) และบุ๊ค (นามสมมติ) ที่ถูกเจ้าหน้าที่โทรติดตามถามถึงที่อยู่ระหว่างมีขบวนเสด็จอีกด้วย
รุต สมาชิกกลุ่มตีนไก่ปฏิวัติ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นร่างกาย และกระเป๋า บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และถูกนำตัวออกจากพื้นที่ โดยแจ้งว่าจะพารุตไป สน. เมื่อเคลียร์ว่ารุตมาทำธุระกับเพื่อนจริงๆ ก็ยังมีตำรวจขับรถตามมา เพราะได้รับคำสั่งมาจาก “นาย” ว่า ไม่อยากให้รุตคลาดสายตา ซึ่งเขาคาดว่า น่าจะเป็นเพราะมีขบวนเสด็จ และกิจกรรมพับหยุดขังของกลุ่มมังกรปฏิวัติในวันดังกล่าว
กลุ่มราษฎรเชียงรายรายงานว่า ถูกตำรวจกดดันให้ออกจากร้านอาหาร ซึ่งเป็นร้านเดียวกันกับที่พลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณจะเข้ามารับประทานอาหารในร้านเดียวกัน โดยอ้างว่าการรวมกลุ่มทานอาหารเป็นการชุมนุม ซึ่งไม่มีการขออนุญาตชุมนุมตามกฎหมาย ทำให้กลุ่มราษฎรเชียงรายต้องย้ายไปร้านอื่น นอกจากนั้น สมาชิกหลายรายได้พบเห็นว่าหลังกลับไปยังบ้านพักแล้วมีรถของเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ มาจอดอยู่บริเวณหน้าบ้านพักของพวกเขาจนกระทั่งช่วงเย็นของวันดังกล่าว
#การคุกคามขณะทำกิจกรรมทางการเมือง
นักกิจกรรมและคนเสื้อแดงขอนแก่น นัดหมายทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้เสียชีวิตจากเหตุสลายชุมนุม 19 พฤษภาคม 2553 ที่วัดอดุลยาราม แต่กลับมีตำรวจ 2 นายพร้อมเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัดมาเฝ้าสังเกตการณ์ตั้งแต่ก่อนเริ่ม ในส่วนของการจัดกิจกรรมของกลุ่มอื่น ไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มมังกรปฏิวัติ นัดชุมนุมพับนกเพื่อเรียกร้องอิสรภาพให้ผู้ต้องขังทางการเมือง และกลุ่มราษฎรขอนแก่น ที่จัดกิจกรรมเดินต้านรัฐประหาร เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี รัฐประหารในประเทศไทย ล้วนมีการขัดขวางจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการปิดกั้นบริเวณชุมนุม หรือให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเข้าสังเกตการณ์
นอกจากการจัดกิจกรรม ยังมีกรณีที่ประชาชนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่อย่างน้อย 10 ราย หนึ่งในนั้นมีนักเรียนหญิง 1 ราย เธอถูกครูชายคนหนึ่งดึงตัวออกมา ระหว่างเข้าไปหารัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแสดงข้อเรียกร้องเรื่องเสรีทรงผม วารียา โรจนมุกดา ถูกชายหัวเกรียน 3 คน ปีนรั้วเข้าบ้านยามวิกาล อ้างเป็นตํารวจแวะมาทักทาย วันถัดมา มีชายหัวเกรียน 2 คน นั่งประชิดตัวเธอในรถตู้สาธารณะ สอบถามว่า เธอจะจัดชุมนุมที่นครพนมเหรอ จัดที่ไหน เมื่อไหร่ และเธอจะไปทำอะไรที่มุกดาหาร ก่อนลงรถโดยมีทหารมารับไป ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอรู้สึกกังวลใจ จึงได้เข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไว้ ทราย เจ้าของทวิตเตอร์แอคเคาท์ Thumboon888 เปิดเผยว่า ถูกตำรวจห้ามไม่ให้แจกข้าวให้คนไร้บ้านเพราะมีขบวนเสด็จอีกฝั่ง แล้วสั่งให้ถ่ายป้ายทะเบียนรถเธอ บอกว่าคนไร้บ้านก่อความเดือดร้อน และเธอทำไม่เป็นระเบียบ
ในงานรับปริญญามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีรายงานว่ามีผู้ถูกคุกคามจากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างน้อย 5 ราย บัณฑิตคนหนึ่งได้พยายามแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นยกเลิกกฎหมายมาตรา 112 โดยจัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นภายใต้หัวข้อ “ประเทศไทยมีเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่” ที่บริเวณใกล้ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่เข้ามาพูดคุยด้วย แต่ไม่มีการควบคุมตัว มีผู้เดินทางมาร่วมงานรับปริญญาโดยสวมเสื้อยืดมีข้อความ “ยกเลิก 112 ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ซึ่งเมื่อมาถึงที่ทางเข้ามหาวิทยาลัย ก็ได้ถูกกักตัวไว้ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยมาบอกให้เปลี่ยนเสื้อก่อน และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายนายเข้ามาถ่ายรูป สอบถามข้อมูลส่วนตัว รวมถึงได้มีการขอตรวจค้นกระเป๋าด้วย อย่างไรก็ตาม เขาปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ จึงไม่ได้รับอนุญาตให้เข้ามหาวิทยาลัย เมื่อเขาออกจากบริเวณนั้นแล้วยังมีกลุ่มชายสวมเสื้อสีเหลืองหลายคนที่พกวิทยุสื่อสาร คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร ได้ขับรถจักรยานยนต์ติดตามมาด้วย
ในวันที่ 28 พฤษภาคม มีประชาชนรายหนี่งถูกห้ามไม่เข้าไปยังภายในพื้นที่มหาวิทยาลัย เนื่องจากสวมใส่เสื้อยืดที่มีข้อความว่า “ทะลุฟ้า” และมีการแจ้งจากนักกิจกรรมเด็ก อายุ 13 ปี ว่าในวันที่ 27 พฤษภาคม ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามไปเฝ้าเธอถึงที่หน้าโรงเรียนด้วยโดยไม่ทราบสาเหตุ ในวันที่ 28 พฤษภาคม พบว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวนหนึ่งไปติดตามและเฝ้าถึงที่พัก ระหว่างเดินทาง เธอสังเกตได้ว่ามีรถกระบะ 4 ประตูสีดำขับติดตามอยู่ตลอด เมื่อเดินทางมาถึงหน้าประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ติดตามมาก็ตะโกนให้ตำรวจที่บริเวณจุดคัดกรองทำการตรวจบัตรประชาชนของเธอ ทำให้เธอถูกเจ้าหน้าที่หญิงล็อคตัวไว้ จากนั้นได้มีบุคคลที่ระบุว่าเป็นกรรมการบัณฑิตเข้ามาพูดคุยกับนักกิจกรรมเด็ก โดยในการพูดคุยได้มีทางเลือกให้คือ การเปลี่ยนเสื้อผ้าที่มีข้อความ “ยกเลิก 112” ออก แล้วจึงเข้าไปภายในงานได้ หรือหากไม่เปลี่ยนเสื้อผ้าก็ต้องกลับออกไป แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ วันที่ 29 พฤษภาคม เธอได้ไปร่วมงานรับปริญญาอีกครั้ง โดยในครั้งนี้เธอได้ชูป้ายที่มีข้อความว่า “ปริญญาศักดินา” และ “หยุดผลิตซ้ำพิธีกรรมศักดินา #ปริญญาศักดินา” ก่อนจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามายึดป้ายไป และพยายามเจรจาให้เธออยู่ห่างจากหอประชุม ต่อมา ในช่วงเวลาบ่ายของวันที่ 29 พ.ค. คณะกรรมการบัณฑิตของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เข้าห้ามชลธิศ โชตสวัสดิ์ และกลุ่มเพื่อนซึ่งได้แก่ รุ้ง ปนัสยา และเบนจา อะปัญ ไม่ให้ถ่ายรูปกับป้ายกระดาษที่มีข้อความที่แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า สุขภาพ (สวัสดิการ ความดี ความรอด ความสุข) ของประชาชนควรเป็นกฎหมายสูงสุด
#การคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ
มีประชาชนอย่างน้อย 8 ราย รวมถึงสื่อที่ถูกคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ ในจำนวนนี้มีนักกิจกรรมเยาวชนและสื่ออิสระที่ทำข่าวการชุมนุมรวมอยู่ด้วย
อันนา สมาชิกกลุ่มนักเรียนเลว อายุ 16 ปี ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบคุกคามและติดตามสอดส่อง ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน-15 พฤษภาคม โดยการกระทำของเจ้าหน้าที่มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งการจับกุมแบบกะทันหันโดยไม่มีหมายใดๆ ตามกฎหมาย, การสอดส่องเพื่อถามไถ่ถึงการเคลื่อนไหวในแต่ละวัน ตลอดจนการเลี้ยงอาหารและไปรับไปส่งตามสถานที่ต่างๆ พอช นักกิจกรรมอายุ 17 ปี ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามคุกคามต่อเนื่องถึงบ้านมากกว่า 8 ครั้ง หลังเข้าร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะมวลชน เมื่อปี 2563 – 2564 โดยการตามคุกคามครั้งนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นการติดตามถ่ายรูปและคลิปวิดีโอ ตลอดจนการสอดส่องและเฝ้าบ้านที่ตนอยู่กับครอบครัว โดยพอชกล่าวว่า พฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่สร้างความกังวลและหวาดกลัวให้กับตนและครอบครัวเป็นอย่างมาก
ทองแสง ไชยแก้ว สมาชิกกลุ่มอุตรดิตถ์ปลดแอก ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าเป็นสายตรวจ เข้ามาติดตามถ่ายรูปถึงที่บ้าน และยังมีการถ่ายป้ายทะเบียนรถ จึงขอให้ลบรูปออกทั้งหมด เจ้าตัวเผยการกระทำลับๆล่อๆ ทำให้เขารู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐ ‘ไอซ์’ ธนกฤต (สงวนนามสกุล) ‘เหลา’ ปิยมิตร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมในจังหวัดนครสวรรค์ ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ควบคุมตัวไปยังสถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ โดยไม่มีการแสดงหมายเรียก หรือหมายจับ แต่แจ้งว่า ‘เชิญไปพูดคุยกัน’ โดยมีเป้าประสงค์เพื่อตามหาแอดมินเพจเฟซบุ๊ก “มังกรปฏิวัติ” ทั้งสองคนถูกนำตัวไปที่ สภ. โดยที่ไม่มีทนาย และถูกยึดโทรศัพท์ไปตรวจสอบ เจ้าหน้าที่อ้างว่า "นี่ไม่ใช่การคุกคาม"
นอกจากนี้ ยังมีกรณีสื่อมวลชนถูกคุกคาม ได้แก่ เพจ Live Real สื่ออิสระที่รายงานสถานการณ์เคลื่อนไหวทางการเมือง โพสต์ระบุว่ายังมีบุคคลคล้ายจนท.รัฐนอกเครื่องแบบ คอยมาติดตามถ่ายรูปที่อยู่และยานพาหนะที่บ้านตามทะเบียนอยู่เป็นระยะ แม้แอดมินยืนยันว่าไม่ได้อยู่ที่ดังกล่าวแล้ว และยังมีสื่อมวลชนหลายคนที่ถูกเฝ้าระวังและจับตามอง ไม่ว่าจะเป็น กุ้ย ประชาไท หรือสื่ออิสระอย่างช่องลุงดร เกตุเผือก, สาวน้อยช่องกระเทยแม่ลูกอ่อนและศักดินาเสื้อแดง, โบ๊ท ช่อง Friendstalk และโอปอ ช่องสำนักข่าวราษฎร
#แนวโน้มการคุกคามในเดือนมิถุนายน
จากข้อมูลเดือนพฤษภาคม พบว่า การคุกคามเกิดขึ้นมากที่สุดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงพระราชทานปริญญาบัตร โดยไม่ได้คุกคามแค่บัณฑิตที่ทำโพลในงาน เพื่อนแกนนำที่นำป้ายมาถือ แต่คุกคามประชาชนทั่วไปที่มาเข้าร่วมงานด้วย เพียงแค่สวมเสื้อ ‘ยกเลิก 112’ ทำให้เห็นว่าประเด็นเรื่องสถาบันยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวของเจ้าหน้าที่รัฐ
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการคุกคามเด็กและเยาวชน พบว่า ในเดือนนี้ มีการคุกคามนักกิจกรรมเด็กอายุ 13 ปี และมีการคุกคามนักกิจกรรมเยาวชนอย่างต่อเนื่อง เช่นกรณีของอันนา ที่ถูกคุกคามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 1 เดือน ในขณะที่สื่อมวลชนหลายคนก็ถูกจับตามอง ดังนั้น จึงสามารถประเมินแนวโน้มการคุกคามในเดือนมิถุนายนได้ว่าจะยังคงเพิ่มสูงขึ้น การจัดกิจกรรมทางการเมืองโดยนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆหรือแม้แต่จะมีผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียวก็ตาม จะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าผู้จัดกิจกรรมคนนั้นจะอายุเท่าไหร่ก็ตาม โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรา 112 คาดว่าการคุกคามที่เพิ่มขึ้นนี้ อาจมีสาเหตุมาจากการชุมนุมที่ลดลง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนำกำลังพลมาใช้ในการคุกคามนักกิจกรรม เพื่อป้องกันการจัดกิจกรรมทางการเมืองในอนาคต