วันที่: 17/7/2566 ผู้เขียน: mobdatathailand

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนมิถุนายน 2565

description

ในเดือนมิถุนายน 2565 การชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 86 ครั้ง แบ่งเป็นกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องคืนสิทธิการประกันตัวของนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีเกิดขึ้นอย่างน้อย 52 ครั้ง แบ่งเป็น กิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับทำกิจกรรมหยุดยืนขัง 29 ครั้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลับมาทำเป็นรอบที่ 3 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่หน้าศาลฎีกา กลุ่ม We, The People ที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 4 ครั้ง และพระนครศรีอยุธยา 3 ครั้ง กิจกรรมดังกล่าวแปรผันตรงกับที่ในเดือนนี้ สถานการณ์การคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองและสถานการณ์ในเรือนจำเข้มข้นมากขึ้น

#ภาพรวมสถานการณ์การชุม

ในเดือนมิถุนายน 2565 แม้รัฐบาลไทยจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการโควิด เช่น ราชกิจจานุเบกษาออกข้อกำหนดเรื่องการผ่อนคลายข้อปฏิบัติในการสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทั่วราชอาณาจักร โดยการสวมหน้ากากให้เป็นการปฏิบัติโดยความสมัครใจ อย่างไรก็ตามรัฐบาลยังคงประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เป็นครั้งที่ 18 ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน - 31 กรกฎาคม 2565 เช่นเดียวกับการบังคับใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีต่อเนื่องต่อการแสดงออกและการชุมนุม โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า แม้มาตรการควบคุมโควิดที่ท่าทีที่ผ่อยคลายลงในมิถุนายนแต่ผู้ที่ออกมาใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและชุมนุมถูกดำเนินคดีกว่า 21 คน ใน 9 คดี ถึงแม้ว่าแนวโน้มคดีพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศาลพิพากษายกฟ้องต่อเนื่อง แต่ภาระให้กับผู้ถูกดำเนินคดีในการต่อสู้คดี

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมารัฐบาลอ้างสถานการณ์โรคระบาดในการจำกัดการแสดงออกและการชุมนุม โดยอ้างว่า “การระบาดของโรคโควิด-19 เป็นสถานการณ์อันกระทบต่อความความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชนที่ต้องใช้มาตรการเข้มงวดและเร่งด่วนเพื่อควบคุมมิให้โรคแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง”ซึ่งมาตรการควบคุมโรคหลายมาตรการส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุม เช่น ประกาศห้ามชุมนุม ตามมาด้วยการที่รัฐได้ใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อดำเนินคดีกับผู้ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีถูกดำเนินคดีจากชุมนุมและการแสดงออกด้วยข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากขึ้นจากเดือนที่แล้ว 12 คน ในจำนวน 11 คดี โดยจำนวนทั้งสิ้นที่โดนคดี 1,464 คน ในจำนวน 642 คดี

asset

@Chana La

ในเดือนมิถุนายน 2565 การชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 86 ครั้ง แบ่งเป็นกิจกรรมการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องคืนสิทธิการประกันตัวของนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาคดีเกิดขึ้นอย่างน้อย 52 ครั้ง แบ่งเป็น กิจกรรมของกลุ่มพลเมืองโต้กลับทำกิจกรรมหยุดยืนขัง 29 ครั้ง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลับมาทำเป็นรอบที่ 3 เริ่มต้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 ที่หน้าศาลฎีกา กลุ่ม We, The People ที่ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ 4 ครั้ง และพระนครศรีอยุธยา 3 ครั้ง กิจกรรมดังกล่าวแปรผันตรงกับที่ในเดือนนี้ สถานการณ์การคุมขังนักกิจกรรมทางการเมืองและสถานการณ์ในเรือนจำเข้มข้นมากขึ้น ซึ่งมีผู้ถูกจับกุมและศาลไม่ให้ประกันตัวเพิ่มจากการออกมาชุมนุมช่วงวันที่ 11-20 มิถุนายน ที่บริเวณดินแดงกว่า 14 คน รวมทั้งผู้ถูกจับกุมจากการแสดงออกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่นกัน ส่งผลให้จำนวนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดีไม่น้อยกว่า 22 คน เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 5 คน นอกจากนี้ผู้ต้องขังยังพบกับปัญหาความเครียดและความกังวล และคิดทำร้ายตัวเอง เนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ขณะที่มีผู้ต้องขัง 2 คน กรีดแขนประท้วง และ 1 คนทานยาแก้ปวดเกินขนาด ต่อมากรมราชทัณฑ์ระบุถึงสาเหตุการกรีดแขนว่ามาจาก ความเครียดที่ทนายไม่เข้าเยี่ยม

asset

@Faozee ส่วนบุ้งและใบปอ ที่ถูกคุมขังจากการแสดงออกผ่านการทำโพลประเด็นขบวนเสด็จตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม และเริ่มอดอาหารเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 65 อาการล่าสุดเข้าขั้นวิกฤติ บุ้งมีภาวะโพแทสเซียมต่ำ น้ำหนักลดไปถึง 13 กิโลกรัม และถูกส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ ส่วนใบปอ น้ำหนักลงลง 6 กิโลกรัม ต่อมา 7 ก.ค. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ใบปอ ณัฐนิช และบุ้ง เนติพร แม้จะมีการเรียกไต่สวนพยานเพิ่มเติม โดยราชทัณฑ์มีความสามารถในการดูแลอาการป่วยของทั้งสองคนได้3 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ทั้งสองคนถูกคุมขังมาแล้ว 58 วัน และอดอาหารไปแล้ว 30 วัน

asset

@faozee

asset

@gun_sangtong เนื่องด้วยเดือนนี้เป็นเดือนเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ส่งผลให้มีการชุมนุมและแสดงออก

ประเด็นความหลากหลายทางเพศไม่ต่ำกว่า 7 ครั้งทั่วประเทศ เช่น วันที่ 5 มิถุนายน กรุงเทพฯจัดกิจกรรมเดินขบวนส่งเสริมความหลากหลายทางเพศ “กรุงเทพ นฤมิตไพร์ด”  (opens new window)จากซอยสีลม 22 ไปที่สถานีรถไฟฟ้าศาลาแดง ซึ่งมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมประมาณ 3,000 – 5,000 คน และนับเป็นการเดินขบวนไพร์ดครั้งแรกของกรุงเทพอีกด้วย4 ขณะที่ที่สงขลาจัดกิจกรรม สงขลานฤมิตไพร์ด ในวันที่ 26 มิถุนายน  (opens new window)เดินขบวนจากกำแพงเมืองเก่าไปที่หาดชลาทัศน์ มีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 200 คน บางจังหวัดมีกิจกรรมในพื้นที่มหาวิทยาลัย เช่น ที่ขอนแก่นก็มีกิจกรรมอีสานไพร์ดพาเหรดด้วยเช่นกัน โดยจัดที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นมีผู้เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 200 คน และจังหวัดอุบลราชธานี กิจกรรมรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศยังคงกระจายไปในหลายพื้นที่ ไปจนถึงต้นเดือนกรกฎาคม เช่น ที่เชียงใหม่ และที่ขอนแก่น

assetassetasset

@Chana La ไม่เพียงแต่การแสดงออกเพื่อรณรงค์เรื่องความหลากหลายบนท้องถนนแล้ว ในเดือนนี้ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณารับร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความเท่าเทียมกันทางเพศ 4 ฉบับซึ่งเป็นวาระแรกในวันที่ 15 มิถุนายน 2565 โดยทั้ง 4 ฉบับแบ่งเป็น ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 2 ร่างคือ ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม เสนอโดยพรรคก้าวไกลและร่างของคณะรัฐมนตรี ร่างพระราชบัญญัติคู่ชีวิต 2 ร่าง ที่เสนอโดยคณะรัฐมนตรี 1 ร่าง และเสนอโดยพรรคประชาธิปัตย์ 1 ร่าง โดยขั้นตอนต่อไป กรรมาธิการวิสามัญฯจะแปรญัตติและปรับแก้กฎหมายเพื่อ พิจารณาต่อไปในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีในการมีกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตามที่สังคมไทยต้องจับตามองต่อไปด้วยเช่นกันว่ากฎหมายที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

asset

@Chana La ส่วนการเฉลิมฉลองครบรอบ 90 ปีวันชาติ ในวันที่ 24 มิถุนายน มีการจัดกิจกรรมเฉลิมฉลองอย่างน้อย 6 ครั้ง ได้แก่ กลุ่มราษฎรจัดกิจกรรมเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปลานคนเมือง ขณะที่กลุ่มทะลุวังทำกิจกรรมโพลว่า “ได้ประชาธิปไตยมา 90 ปี ประชาชนมีสิทธิและเสรีภาพจริงหรือไม่” ที่เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อุบลราชธานี และขอนแก่น เองก็ทำกิจกรรมเฉลิมฉลองวันชาติเช่นกัน ซึ่งที่ขอนแก่นมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับป้ายที่มีข้อความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และมีการถ่ายเจาะอัตลักษณ์นักข่าวอีกด้วย

asset

@Chana La

assetasset

@Ginger Cat การชุมนุมในวันที่ 11 มิถุนายน ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระเคลื่อนตัวจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปบ้านพักนายกรัฐมนตรี ที่กรมทหารราบที่ 1 ผู้ชุมนุมอิสระอย่างน้อย 10-20 คน รวมตัวปาประทัดไปยังแนวของเจ้าหน้าที่ ส่งผลให้มีการสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาและกระสุนยาง

assetassetasset

การชุมนุมช่วงวันที่ 18-19 มิถุนายน 2565 ในระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมอิสระทำกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ บริเวณแยกดินแดง เจ้าหน้าที่มีการใช้ป้ายข้อความระบุว่าให้ผู้ชุมนุมเลิกกิจกรรมเนื่องจากผิดกฎหมายตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

นอกจากนี้แม้ว่าจำนวนการชุมนุมที่มีขนาดเล็กลง ผู้เข้าร่วมน้อยลง แต่ความคับข้องใจจากสถานการณ์การเมืองส่งผลให้มีผู้ชุมนุมรวมตัวที่บริเวณดินแดงอีกครั้งในช่วงวันที่ 11- 19 มิถุนายน เจ้าหน้าที่จึงเข้าสลายการชุมนุมในวันที่ 11 มิถุนายน ด้วยกระสุนยางและแก๊สน้ำตา ส่งผลให้มีการกวาดจับจับประชาชนจากการร่วมชุมนุมช่วงนั้นทั้งในพื้นที่และออกหมายจับอย่างน้อย 17 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย และมีผู้ถูกคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากคดีนั้นอีก 11 ราย สะท้อนการรับมือของรัฐที่มีต่อกลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณที่ดินแดงที่แข็งกร้าวมากขึ้น นอกจากนี้การชุมนุมบริเวณดังกล่าวยังพบว่าเจ้าหน้าที่มีการปิดล้อมพื้นที่บริเวณดินแดงที่มีความกว้างขึ้น และมีการอ้างกฎหมายหลายฉบับ เพื่อสกัดไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าพื้นที่ เช่น พระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะ 2558 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ข้อสังเกตต่อการชุมนุมในช่วงนี้คือ การเคลื่อนไหวชุมนุมการแสดงออกนั้นมีท่าทีอ่อนกำลังลง และเจ้าหน้าที่ยังคงใช้อำนาจตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินเพื่อปราบปรามผู้ที่ออกมาแสดงออกอย่างเข้มงวด เห็นได้จากการไม่ให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ส่งผลให้จำนวนผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีในคดีการเมืองนั้นพุ่งสูงขึ้นสะท้อนการใช้นิติสงครามต่อผู้ออกมาแสดงออกและชุมนุมซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มคดีความที่มากขึ้นแม้การชุมนุมมีจำนวนลดลงก็ตาม

#อัพเดทสถานการณ์คุกคามประชาชน เดือนมิถุนายน 2565

ในเดือนมิถุนายนนี้ พบการรายงานการคุกคามประชาชนลดน้อยลงจากเดือนพฤษภาคม อาจเป็นสาเหตุมาจากการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง ระหว่างวันที่ 11-15 มิถุนายน ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสลายการชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง อีกทั้งยังมีการจับกุมประชาชนจากการร่วมชุมนุมช่วงนั้นอย่างน้อย 17 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย และมีผู้ถูกคุมขังเนื่องจากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากคดีนั้นอีก 11 ราย ซึ่งผู้ถูกคุมขังทุกคนล้วนมีอาการเครียด มีผู้ที่อดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว 1 ราย และมีผู้ต้องขังพยายามฆ่าตัวตาย 3 ราย ทำให้สังคมต้องจับตามองความเคลื่อนไหวดังกล่าวอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม มีการเปิดเผยว่า ประชาชนอย่างน้อย 8 ราย เป็นเยาวชน 1 ราย ถูกคุกคามด้วยสาเหตุต่างๆ ดังนี้

#การคุกคามขณะทำกิจกรรมทางการเมือง

ในวันที่ 24 มิถุนายน ซึ่งเป็นวันที่มีความสำคัญทางการเมืองวันหนึ่ง มีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงวันอภิวัฒน์สยามในหลายจังหวัด ซึ่งผู้จัดกิจกรรมก็ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่ กรณีมีผู้ขึ้นป้ายข้อความประเทศนี้เป็นของประชาชน ที่ตึกเก่าแยกเหมืองหิต จ. แพร่ ในช่วงเช้าวันนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าพูดคุยกับผู้ดูแลตึกขอให้นำป้ายลง ที่บึงสีฐาน ม.ขอนแก่น นักกิจกรรมขอนแก่น จัดกิจกรรมฉลอง 90 ปีประชาธิปไตย มีดนตรี การปราศรัยถึงหลัก 6 ประการ ของคณะราษฎรในบริบทปัจจุบัน และมีการตั้งโต๊ะให้ประชาชนร่วมลงชื่อยกเลิก112 และปลดล็อคท้องถิ่น ก่อนเริ่มงาน ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น ได้นำตำรวจเข้ากำชับไม่ให้ป้ายและการปราศรัยมีข้อความผิดกฎหมาย

#การคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมิถุนายน หนึ่ง ศุภากร สมาชิกกลุ่มราษฎรชัยภูมิ โพสต์ว่าตำรวจอยากพบตัวในวันที่ 3 มิถุนายน โดยชวนไปทานกาแฟ ส่วนแท็ค จาก จ.ศรีสะเกษ แจ้งว่ายังมี ตำรวจไปพบที่บ้านเรื่อยๆ อ้างเพราะนิยมพรรคก้าวไกล ที่จะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ตำรวจจึงต้องส่งคนมาตามดู ในวันที่ 6 มิถุนายน พบว่า นักกิจกรรมจากพรรคสามัญชน ที่ จ.แพร่ ถูกตำรวจสันติบาลมาตามหาถึงบ้าน โดยไม่ทราบสาเหตุในการติดตามครั้งนี้ เก็ท โมกหลวง รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่ติดตามไปเฝ้าถึงหน้าบ้าน หลังตนได้ประกันตัวโดยมีเงื่อนไขห้ามออกจากบ้าน 24 ชั่วโมง เว้นแต่ธุระทางการศึกษาและการประกอบอาชีพ นักกิจกรรมจากกลุ่มคนคอนจะไม่ทน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าประกบและติดตาม หลังมีรายงานว่า #ประวิตร จะเดินทางไปภาคใต้ โดยได้รับแจ้งในการคุกคามครั้งนี้เพียงแค่ว่า "นายสั่งมา"

#การคุกคามในพื้นที่การศึกษา

การคุกคามในสถานศึกษามีรายงานว่า ที่โรงเรียนกัลยานีศรีธรรมราช มีนักเรียนโดนครูเรียกพบเข้าห้องปกครอง ปรับทัศนคติเนื่องจากไม่ทำความเคารพ ไม่ร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี และยังมีการข่มขู่ให้เด็กย้ายโรงเรียนเพราะปฏิบัติไม่เหมือนคนอื่นด้วย

#แนวโน้มการคุกคามในเดือนกรกฎาคม 2565

ขณะที่การชุมนุมทวีความเข้มข้นขึ้น ช่วงนั้นจะมีรายงานผู้ที่ถูกคุกคามรายใหม่ลดลง ส่วนผู้ที่ถูกคุกคามอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นนักกิจกรรมหน้าเดิมที่ถูกจับตามองอยู่แล้ว รูปแบบการคุกคามที่พบมากที่สุด คือการตามไปสอดส่องถึงบ้าน รุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว นอกจากนี้ ยังมีรายงานเด็กและเยาวชนถูกคุกคามในทุกๆเดือน ดังนั้น การคุกคามในเดือนกรกฎาคมจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญเช่นการชุมนุมด้วยเช่นกัน

#สถานการณ์คดีประจำเดือนมิถุนายน 2565

สถานการณ์การดำเนินคดีทางการเมืองยังคงเข้มข้น โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เพิ่มขึ้นไปเป็นไม่น้อยกว่า 203 ราย แม้จะไม่มีการสั่งฟ้องเยาวชนเพิ่ม แต่มีการจับกุมเด็กและเยาวชนที่ออกไปชุมนุมช่วง 11-15 มิถุนายน อย่างน้อย 4 ราย ขณะเดียวกัน มีการคุมขังผู้ถูกดำเนินคดีระหว่างพิจารณาจากคดีทางการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นไม่น้อยกว่า 22 ราย

ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,832 คน ในจำนวน 1,095 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 282 ราย เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 19 คน คดีเพิ่มขึ้น 21 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,641 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 203 คน ในจำนวน 218 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 125 คน ในจำนวน 39 คดี

ในเดือนนี้ มีการสั่งฟ้อง อรรถพล บัวพัฒน์ และชูเกียรติ แสงวงค์ กรณีปราศรัยในกิจกรรม “กฐินราษฎร์ตลาดหลวง” ในตัวเมืองอุดรฯ เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2563

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,464 คน ในจำนวน 642 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563)

แม้การจัดกิจกรรมต่างๆ ในประเทศจะทำได้มากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายมาตรการเกี่ยวกับโควิด-19 แล้ว แต่ก็ยังมีการดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯกับผู้ชุมนุมอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีในเดือนมิถุนายนอย่างน้อย 21 คน ใน 9 คดี (บางรายเคยถูกกล่าวหามาก่อนแล้ว)32 ช่วงวันที่ 11-15 มิถุนายน มีการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สบริเวณแยกดินแดง ทำให้มีการสลายการชุมนุมโดยการใช้กระสุนยางและแก๊สน้ำตา รวมถึงมีการจับกุมผู้ชุมนุมหลายรายโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สรุปได้ว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว มีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 17 ราย เป็นเยาวชน 4 ราย ได้แก่

เหตุการณ์#ม็อบ11มิถุนา65 หรือ #ราษฎรเดินไล่ตู่ ในวันนั้น มีผู้ถูกจับกุมไปที่ บช.ปส. 2 ราย ได้แก่ อเล็กซ์ สมพร (สงวนนามสกุล) วัย 55 ปี เขาถูกยื่นฝากขัง ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว และเยาวชน 1 ราย ที่ถูกจับกุมตัวไปและปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อกล่าวหา มีผู้ถูกกล่าวหาว่าทุบและเผารถตำรวจอยู่ 6 ราย จึงถูกแจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร่วมกับ ปอ. ม.215-216 มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และไม่ยอมเลิกเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิก, ปอ. ม.217 ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และปอ. ม.358 ร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ได้แก่ สว่าง (นามสมมติ) และมั่นคง (นามสมมติ) อายุ 17 ปี และ 16 ปีตามลำดับ ในวันเดียวกัน วัชรพล ได้เข้ามอบตัวตามหมายจับ และถูกฝากขัง ส่วนเยาวชน 2 รายนั้น ได้รับการประกันตัวต่อมา จตุพล (สงวนนามสกุล) อายุ 18 ปี ได้ถูกจับกุมตัวในกรณีเดียวกัน และถูกฝากขังตั้งแต่วันที่ 16 มิถุนายน ณัฐพล อายุ 19 ปี ถูกออกหมายจับในคดีนี้ และเข้ามอบตัวอีก 1 ราย พลพล อายุ 20 ปี ทราบว่ายังไม่ได้มีหมายจับ แต่ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาในคดีเดียวกันนี้ด้วย ในส่วนของการเข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 11 มิถุนายนนั้น มีผู้ชุมนุมถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติมอีก 3 ราย โดยถูกแจ้งข้อหา ปอ. ม.215-216 ร่วมด้วย

เหตุการณ์ 14 มิถุนายน มีผู้ถูกแจ้งข้อหาจากการเข้าร่วมชุมนุมบริเวณแยกดินแดง 9 ราย มีจำนวน 8 ราย ได้แก่ ศศลักษณ์,

พิชัย ,ใบบุญ สมชาย, อัครพล, ธีรวิชญ์, หนึ่ง และ วรวุฒิ ที่ถูกศาลอาญาออกหมายจับ “ไอซ์” เยาวชนอายุ 15 ปี ที่ไม่ได้ถูกออกหมายจับ แต่อยู่ในรายชื่อที่ตำรวจจะดำเนินคดี เขาเข้าแสดงตัวเองและถูกแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งนี้ มีผู้ชุมนุมจำนวน 2 ราย ที่ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุม #ม็อบ11มิถุนา ซึ่งตำรวจได้เรียกกลุ่มผู้ชุมนุมว่าเป็นกลุ่มผู้ก่อความวุ่นวายตลอดด้วย คดีสุดท้าย เกี่ยวกับการเผายางรถยนต์ในการชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 โดยมีผู้ถูกกล่าวหาที่ถูกออกหมายจับ และเดินทางเข้ามอบตัว ได้แก่ พุฒิพงศ์ อายุ 25 ปี

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาทั้ง 11 คน ได้แก่ ณัฐพล, พลพล, ศศลักษณ์, พิชัย ,ใบบุญ สมชาย, อัครพล, ธีรวิชญ์, หนึ่ง, วรวุฒิ และพุฒิพงศ์ ทำให้ทั้งหมดถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ผู้ต้องขังทุกคนมีอาการเครียด หลายคนมีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ธีรวิชญ์เริ่มอดอาหาร เขาอ่อนแรงมากจนต้องใช้การคลานแทนการเดิน อีกทั้งยังติดโควิดในเรือนจำ พลพล พยายามฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพารา 64 เม็ด ส่วนพุฒิพงษ์และใบบุญก็พยายามฆ่าตัวตายโดยการใช้ฝาปลากระป๋องกรีดข้อมือเช่นกัน

ในส่วนของคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อื่นๆ ศาลยังมีคำสั่งยกฟ้อง 4 คดี ได้แก่ คดีของ “ศักดิ์” หรือ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล วัย 62 ปี สืบเนื่องจากการเข้าร่วมการชุมนุมเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ศาลระบุชุมนุมโดยสงบ ไม่มีอาวุธ เป็นสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองไว้ตามรัฐธรรมนูญ41 คดีคาร์ม็อบ จ.นครราชสีมา วันที่ 1 สิงหาคม 2564 มีจำเลยทั้งหมด 4 คน วรพงศ์ โสมัจฉา และ กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน ไม่ยอมรับสารภาพและยืนยันต่อสู้คดีต่อ ศาล ระบุพยานโจทก์ไม่พอฟังว่าจำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่ต้องขออนุญาต และไม่มีหลักฐานว่ามีผู้ติดเชื้อจากการชุมนุม42 “เตอร์” มกรพงษ์ ทรัพย์ประเสริฐ และ “บุ๊ค” วรัญญู คงสถิตธรรม กรณีชุมนุมของกลุ่ม Korat Movement หน้าตำรวจภูธรภาค 3 เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 โดยศาลเห็นว่า โจทก์สืบได้ไม่ถึงว่าจำเลยเป็นผู้จัดชุมนุม ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ อดีตผู้สมัคร นายก อบจ. กำแพงเพชร ของคณะก้าวหน้า วัย 45 ปี กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบ#กำแพงเพชรจะไม่ทน ศาลยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า การชุมนุมที่จะเป็นความผิดตาม จะต้องเป็นการชุมนุมที่กระทบต่อความมั่นคงต่อรัฐ นอกจากนี้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ มาตรา 3 (6) บัญญัติไม่ให้ใช้ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ระหว่างที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประกาศใช้

นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของชาญชัย ปุสรังษี และเอกชัย หงส์กังวาน กรณีถูกกล่าวหาจากการเดินทางไปสังเกตการณ์ในการชุมนุมของ #ม็อบทะลุแก๊ส ที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 เนื่องจากไม่มีพยานหลักฐานยืนยันได้ว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเจ้าของหรือเกี่ยวข้องกับเพจเฟซบุ๊กชื่อ “เยาวชนทะลุแก๊ส” และไม่มีพยานยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาทั้งสองเป็นแกนนำการชุมนุมในครั้งนี้ ทั้งจุดประสงค์ของการชุมนุมมุ่งเน้นในทางการเมืองไม่ใช่การแพร่โรค สถานที่จัดชุมนุมไม่แออัด

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 136 คน ในจำนวน 155 คดี

ศาลจ.บุรีรัมย์มีคำสั่งยกฟ้อง พนักงานบริษัท กรณีทวิตข้อความคนหน้าคล้ายศักดิ์สยาม ชิดชอบ ช่วงโควิดสถานบันเทิง ศาลพิเคราะห์ว่า ศักดิ์สยามไม่ได้แจ้งไทม์ไลน์บางส่วนในช่วงติดโควิด จำเลยตั้งข้อสงสัยตามกระแสข่าวไม่ได้ยืนยันว่าภาพดังกล่าวเป็นศักดิ์สยาม

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 18 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 25 คน ใน 6 คดี

อัยการสั่งไม่ฟ้องคดี เพนกวิน ชิวารักษ์ กรณีโพสต์วิพากษ์วิจารณ์คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เรื่องการพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วินิจฉัยว่าคดีพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอยืนยันได้ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้โพสต์ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา

จากจำนวนคดี 1,095 คดีดังกล่าว มีจำนวน 197 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ผู้ถูกกล่าวหายินยอมให้เปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ หรือในชั้นศาล ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 14 คดี

#สรุปแนวโน้มการดำเนินคดีช่วงครึ่งแรกของปี 2565

ตั้งแต่เดือนมกราคมจนถึงเดือนมิถุนายน 2565 ไม่ว่าการชุมนุมจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร สถานการณ์ทางคดีของนักกิจกรรมยังคงเป็นสิ่งที่จับตามองทุกเดือน แม้จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่จะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่นักกิจกรรมหรือผู้ที่ตกเป็น “เป้าหมาย” ของเจ้าหน้าที่ ก็ยังคงได้รับหมายเรียกในคดีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ช่วงครึ่งปีแรกนี้ ยังไม่มีการชุมนุมใหญ่ๆที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก แต่การจัดกิจกรรมทุกรูปแบบ แม้ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ที่มีผู้เข้าร่วมไม่กี่คน ก็จะถูกเจ้าหน้าที่รัฐเพ่งเล็งเสมอ

ข้อหาที่เจ้าหน้าที่นำมาใช้ในการฟ้องร้องประชาชนที่ออกมาชุมนุมมากที่สุด คือ ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งปัจจุบัน มีการขยายระยะเวลาการประกาศใช้ครั้งที่ 18 ไปจนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ทำให้กฎหมายฉบับนี้ยังคงถูกนำมาใช้เพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และยังต้องจับตามองว่าจะมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯในเดือนกรกฎาคมอีกหรือไม่

คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่จำเลยเลือกต่อสู้คดีจนมีคำตัดสิน โดยมากจะพบว่าศาลพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้อง เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุมจริงๆ และสถานที่จัดการชุมนุมเป็นสถานที่กลางแจ้ง ไม่แออัด ไม่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และเป็นการชุมนุมตามสิทธิเสรีภาพที่ถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ หรือหากมีการตัดสินว่ามีความผิด ก็จะลงโทษปรับในข้อหาลหุโทษ เช่น คดีชุมนุม #ม็อบ2พฤศจิกา63 ที่ MRT ท่าพระ (ถูกฟ้องทั้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ) และ คดีชุมนุม #ม็อบ15เมษา #รดน้ำกดหัวประยุทธ์ กลุ่มทะลุฟ้า หน้าทำเนียบรัฐบาล แต่การต่อสู้ในแต่ละคดีก็ใช้ระยะเวลานับปี จึงเกิดภาระทางคดีต่อฝ่ายนักกิจกรรมอย่างหนัก หลายคนถูกกล่าวหากว่า 10 คดี ตามรายงานที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รวบรวมไว้ ในช่วงครึ่งปีแรก มีจำนวนคดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง หรืออัยการสั่งไม่ฟ้องอยู่ 18 คดี แม้จะเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมดที่อยู่ในชั้นศาล แต่ก็ถือเป็นแนวโน้มคำพิพากษาที่น่าสนใจ ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า คดีที่มีการตัดสินเช่นนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นคดีการชุมนุมที่จัดขึ้นในพื้นที่ต่างจังหวัด หรือเป็นคดีที่จำเลยไม่ใช่แกนนำการชุมนุมที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวมาก48 ในเดือนกรกฎาคม จะมีการพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของเพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และอั๋ว จุฑาทิพย์ สิริขันธ์ กรณีจัดกิจกรรม #Saveวันเฉลิม ทวงความเป็นธรรมให้กับการบังคับสูญหายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ บริเวณหน้าหอศิลป์กรุงเทพ เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2563 จึงต้องจับตามองว่า การตัดสินคดีของแกนนำกลุ่มราษฎร จะมีคำพากษายกฟ้องเหมือนคดีอื่นหรือไม่

ข้อหาที่ยังมีการนำคดีขึ้นสู่ชั้นพิจารณาคดีในศาลเรื่อยๆ โดยไม่เคยมีคำสั่งไม่ฟ้องจากอัยการเลย คือ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยมีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 203 คน ในจำนวน 218 คดี ในจำนวนนี้ เป็นการแสดงออกในโลกออนไลน์ 111 คดี และเป็นคดีที่เกิดจากประชาชนทั่วไปเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 101 คดี มีเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี ถูกดำเนินคดี จำนวน 17 ราย ใน 20 คดี ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มมีนำ ม.112 มาใช้ดำเนินคดีกับประชาชน ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 พบว่า มีคดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว 129 คดี ในขณะที่นักกิจกรรมหลายคนก็ถูกดำเนินคดีซ้ำแล้วซ้ำอีก นักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 เยอะที่สุดในตอนนี้ ได้แก่ เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ โดยเขาถูกดำเนินคดีทั้งหมด 23 คดี

นอกจากจะเป็นคดีที่ถูกนำขึ้นชั้นศาลอย่างต่อเนื่องแล้ว ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 ถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำทุกเดือน บางคนก็ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น กรณีทานตะวัน ตัวตุลานนนท์ และเก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง แต่ก็มีเงื่อนไขที่ลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานบางประการ เช่น การติดกำไล EM และการที่ต้องกักตัวอยู่บ้านตลอด 24 ชั่วโมง เว้นแต่จะมีเหตุจำเป็นหรือได้รับการอนุญาตจากศาล