#ภาพรวมสถานการณ์การชุม
ปลายเดือนกันยายน รัฐบาลได้ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากสถานการณ์โรคโควิด 19 ได้คลี่คลายลงอย่างมาก จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯอีก โดยให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 หากนับตั้งแต่ที่รัฐบาลประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครั้งแรกเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2563 และมีการขยายอายุการบังคับใช้ต่อเนื่องทุก 1-2 เดือน รวมทั้งหมด 19 ครั้ง รวมระยะเวลาที่ประเทศไทยอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินคิดเป็น 919 วัน หรือ 2 ปี 6 เดือน กับอีก 6 วัน อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังคงมีทั้งการสั่งฟ้องเพิ่ม พิพากษายกฟ้อง และมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในข้อหาดังกล่าว จึงเป็นที่น่าติดตามว่า การยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะทำให้ภาระการต่อสู้คดีของนักกิจกรรมลดลงหรือไม่
การชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 45 ครั้ง เป็นกิจกรรมในประเด็นเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองโดยมีกิจกรรมยืนหยุดขังทั้งหมด 27 ครั้ง แบ่งเป็นการจัดกิจกรรมโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณหน้าศาลฎีกา กรุงเทพฯ ทั้งหมด 23 ครั้ง และเป็นการจัดกิจกรรมยืนหยุดทรราชที่ลานท่าแพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นครั้งละอาทิตย์ โดยกลุ่ม We, the people ทั้งหมด 4 ครั้ง กลุ่มทะลุแก๊ส จัดกิจกรรม “ยืน เหยียบ ย่ำ คืนความยุติธรรมให้เพื่อนเรา” บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และกิจกรรม “ยุทธการส่งสารฝ่านรก” ที่จัดขึ้นหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ซึ่งเป็นกิจกรรมในประเด็นเดียวกันคือเรียกร้องสิทธิประกันตัว
ในเดือนกันยายนนี้ มีการจัดกิจกรรมเพื่อขอให้มีการแก้ไขกฎหมายอย่างน้อย 4 ครั้ง ได้แก่ สามกีบป๊อบคัลเจอร์โคฟเวอร์ม็อบ โดยมีประชาชนรวมตัวกันใส่ชุดไทยยื่นหนังสือถึง ‘คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ’ ผ่านสำนักงาน UN ในประเทศไทย เพื่อแสดงออกถึงจุดยืนกรณีการใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และเพื่อเรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคดี และมีกิจกรรมคาร์ม็อบ “ยื่นหนังสือทะลุโลก V.2” ของกลุ่มทะลุฟ้า โดยมีจุดประสงค์ในการยื่นหนังสือรายงานสถานการณ์การใช้กฎหมายดำเนินคดีทางการเมืองกับประชาชนต่อ 7 สถานทูต ได้แก่ เวียดนาม นิวซีแลนด์ อเมริกา ญี่ปุ่น เม็กซิโก สิงคโปร์ และออสเตรเลีย ก่อนที่กำหนดการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ณ ประเทศไทย จะเริ่มขึ้นในวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 เครือข่ายองค์กรภาคประชาชนภาคเหนือ จัดกิจกรรม “ลาบส.ว. โอกาสสุดท้าย ปิดสวิตช์ส.ว. ก่อนเลือกตั้ง” ที่จ.เชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกเลิกกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. แอมเนสตี้ ประเทศไทย พร้อมนักวิชาการ และนักกิจกรรม ร่วมเดินขบวนยื่นหนังสือเพื่อให้รัฐบาลยุติการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ก่อนจะมีการประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในวันเดียวกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ก็ได้รวมตัวกันเพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพิจารณาเรื่องการให้องค์กรแอมเนสตี้อยู่ไทยต่อเช่นกัน
วันที่ 21 กันยายน 2565 ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กลุ่มผู้เสียหายสปายแวร์เพกาซัส เข้ายื่นหนังสือกับศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้สปายแวร์เพกาซัสกับผู้เห็นต่างทางการเมือง และให้ กสม. ใช้อำนาจสั่งให้หน่วยงานที่อยู่เบื้องหลังหยุดใช้สปายแวร์ละเมิดสิทธิของประชาชนในทันที นอกจากนี้ ในประเด็นการถูกสอดส่องและสอดแนมโดยรัฐ กลุ่มประชาชนผู้เสียหายจากสปายแวร์ ยื่นหนังสือต่อกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่อาคารรัฐสภา สัปปายะสภาสถาน เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบการใช้สปายแวร์เพกาซัสกับผู้เห็นต่างทางการเมือง นักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน รวมถึงนักวิชาการในประเทศไทย ในวันที่ 15 กันยายน 2565 ต่อมากลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นหนังสือต่อกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้สปายแวร์เพกาซัสกับผู้เห็นต่างทางการเมือง
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อขับไล่บุคคลในคณะรัฐบาลลาออกอย่างน้อย 5 ครั้ง โดยกลุ่มหลอมรวมประชาชน นำโดยจตุพร พรหมพันธุ์ และ นิติธร ล้ำเหลือ โดยจุดยืนของกลุ่มคือการหยุดอำนาจของ “3 ป.” ประกอบด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นวันที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยในประเด็นที่ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งในฐานะนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี แล้วหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าครบ 8 ปี แล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จะต้องออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมถึงคณะรัฐมนตรีทั้งคณะด้วย ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า สถานะนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มนับตั้งแต่ปี 2560 ตามเวลาที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ จึงยังไม่ครบ 8 ปี สามารถกลับไปดำรงตำแหน่งต่อได้
กลุ่มราษฎรและแนวร่วมต่างๆ ได้นัดหมายประชาชนมาฟังคำวินิจฉัยร่วมกันที่สกายวอล์คปทุมวัน เมื่อคำวินิจฉัยออกมา ทำให้มีประชาชนหลายรายไม่พอใจ จึงมีการขอให้ประชาชนที่ไม่พอใจคำวินิจฉัยร่วมกันแต่งชุดดำ 1 อาทิตย์ นอกจากนี้ กลุ่มหลอมรวมประชาชน ได้มีการจัดกิจกรรมในประเด็นเดียวกัน ที่บริเวณแยกราชประสงค์
อีกทั้ง มีการจัดกิจกรรมในประเด็นที่เกี่ยวกับการศึกษาอย่างน้อย 2 กิจกรรม ได้แก่ กลุ่ม SAAP 24:7 จัดกิจกรรมสำรวจความคิดเห็นของนักศึกษาผ่านป้ายสำรวจความเห็น ว่านักศึกษาอยากให้มีพื้นที่แบบไหน ที่อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อสะท้อนเสียงของนักศึกษาไปยังผู้บริหารให้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่เรียนรู้ 24 ชั่วโมงในมหาวิทยาลัย และภาคีนักเรียนนิรนาม ลำปาง ได้จัดกิจกรรมทำโพลสำรวจความคิดเห็นว่า “คุณเห็นด้วยหรือไม่กับเสรีทรงผม” บริเวณตรงข้ามโรงเรียนกัลยานี เพื่อเรียกร้องเสรีทรงผม ในส่วนของประเด็นสิ่งแวดล้อมและที่ดินทำกิน มีการทำกิจกรรมในประเด็นดังกล่าวอย่างน้อย 2 กิจกรรม ได้แก่ กลุ่มพี่น้องเครือข่ายลุ่มน้ำลา กว่า 40 คน ยื่นหนังสือร้องเรียนกับผู้ตรวจราชการประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่อำเภอแม่ลาน้อย จ.แม่ฮ่องสอน คัดค้านการทำเหมืองแร่ฟลูออไรด์ และตัวแทนสมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย 30 คน จากภาคใต้และภาคตะวันตกเดินทางมารวมตัวกันที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อทวงสัญญาเดินหน้า ม.57 ห้ามจับสัตว์น้ำเล็กกว่ามาตรฐาน
สำหรับประเด็นอื่นๆ กลุ่มนักเคลื่อนไหวในประเด็นแรงงาน 5 ราย นำโดยสมยศ พฤกษาเกษมสุข ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุชุมนุมไล่ประยุทธ์ เมื่อ 23 ส.ค. 2565 พร้อมนักกิจกรรมที่มาให้กำลังใจ และมีการออกแถลงการณ์ในประเด็นแรงงานด้วย มีการจัดกิจกรรมรำลึกวันครบรอบ 16 ปี การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยกลุ่มทะลุฟ้า ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา โดยในงานจะมีการอ่านบทกวีและจุดเทียนไว้อาลัยให้แก่ผู้ที่อุทิศตนเพื่อต่อต้านเผด็จการ ในวันเดียวกันนั้น กลุ่มทะลุ มช. และ ชมรมประชาธิปไตยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการศิลปะภายใต้หัวข้อ "Top boots ใต้เงาเผด็จการ" ขึ้นที่ลานควายยิ้ม บริเวณอ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรำลึกถึงการรัฐประหารเมื่อ 16 ปีก่อน
#สถานการณ์การดำเนินคดีต่อประชาชน
ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงออกทางการเมืองแล้วอย่างน้อย 1,860 คน ในจำนวน 1,139 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชน (opens new window)ที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในเดือนสิงหาคม 2565 (opens new window)มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้น 7 คน ทำให้คดีเพิ่มขึ้น 19 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนำจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดีมาเรียงต่อกัน จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,704 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 215 คน ในจำนวน 234 คดี
สำหรับคดีที่เกิดขึ้นใหม่ในเดือนนี้ ได้แก่ คดีของ วรัณยา แซ่ง้อ เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมบริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ภายหลังจากเสร็จสิ้นกิจกรรมปล่อยเพื่อนเรา โดยเป็นการจับกุมหลังออกหมายจับ 1 วัน จากกรณีร่วมร้องเพลงของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 และถูกคุมตัวไว้ที่ บช.ปส. 1 คืน ก่อนศาลให้ประกันตัว คดีที่ถูกสั่งฟ้องเพิ่ม 4 คดี ได้แก่ ไบร์ท ชินวัตร จันทร์กระจ่าง กรณีปราศรัยเกี่ยวกับประเด็นการโอนย้ายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ มาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ ระหว่างกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ซึ่งไบร์ทถูกกล่าวหาด้วยข้อหา ม.112 รวมทั้งหมด 7 คดี ในจำนวนนี้ มีคดีที่ขึ้นสู่ชั้นศาลแล้ว 5 คดี และอยู่ในชั้นสอบสวน 2 คดี เกด และ ยุ้ย (นามสมมติ) กรณีชูป้ายข้อความในกิจกรรมคาร์ม็อบ #ด่วนนครพิงค์เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ต้น (สงวนชื่อสกุลจริง) กรณีชูป้ายข้อความในกิจกรรมคาร์ม็อบ #มินิด่วนนครพิงค์เชียงใหม่ไล่ประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 เพนกวิน พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ ไผ่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา กรณีชุมนุม “จัดม็อบไล่แม่งเลย” เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น และ “หมายที่ไหนม็อบที่นั่น” เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563
ในส่วนของคดีที่มีคำพิพากษา มีทั้งหมด 4 คดี แบ่งเป็นคดีที่จำเลยรับสารภาพ 2 คดี ได้แก่ บุญลือ(นามสมมติ) กรณีคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กโต้ตอบผู้อื่นเกี่ยวกับลักษณะที่ดีของกษัตริย์ และความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รวม 3 คอมเมนต์ ซึ่งโดนสั่งฟ้องข้อหาตาม ม.112 ของประมวลกฎหมายอาญาและ มาตรา 14(3) ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลพิพากษาลงโทษบทที่หนักที่สุดให้จำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 1 ปี 6 เดือน และให้รอการลงอาญา 2 ปี และคุมความประพฤติ 1 ปี อัปสร (นามสมมติ) กรณีแชร์โพสต์เฟซบุ๊กของปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การทำการประชาสัมพันธ์ของสมาชิกราชวงศ์ไทย ซึ่งโดนสั่งฟ้องข้อหาตาม ม.112 ของประมวลกฎหมายอาญาและ มาตรา 14(3) ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ศาลพิพากษาให้จำคุก 4 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงเหลือจำคุก 2 ปี และให้รอลงอาญาไว้ มีกำหนด 3 ปี คดีที่จำเลยไม่รับสารภาพ 3 คดี ได้แก่ นิว จตุพร แซ่อึง กรณีแต่งชุดไทยไปร่วมม็อบแฟชั่นโชว์ ในกิจกรรม “รันเวย์ประชาชน” ที่หน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี และมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ ลงโทษปรับ 1,500 บาท ระบุจำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี และปรับ 1,000 บาท โดยโทษจำคุกไม่รอลงอาญา ทำให้นิวถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงในวันที่ 12 ก.ย. 2565 ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว ในวันที่ 14 ก.ย. 2565 รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 3 วัน ทิวากร วิถีตน กรณีสวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก รวมถึงโพสต์เรียกร้องให้สถาบันกษัตริย์ยุติการใช้มาตรา 112 และปล่อย 4 แกนนำราษฎร ในช่วงเดือน ก.พ. 2564 ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยชี้ว่าข้อความที่จำเลยโพสต์กล่าวถึง "สถาบันกษัตริย์" ประกอบกับพยานโจทก์เบิกความว่าคำว่า "สถาบันกษัตริย์" หมายรวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ จึงฟังไม่ได้ว่า จำเลยหมิ่นประมาท ร.10 และสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตาม ม.112
อย่างไรก็ตาม จากคดีที่ได้พิพากษาไปแล้วจำนวน 12 คดี พบว่า มีคดีที่จำเลยรับสารภาพ 5 คดี มีคดีของปุญญพัฒน์ และคดีของพลทหารเมธินฯ ที่ศาลตัดสินให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา คดีที่จำเลยไม่รับสารภาพ มีทั้งหมด 11 คดี ศาลยกฟ้องทุกข้อกล่าวหา 2 คดี ได้แก่ คดีของอิศเรศ อุดานนท์ และ ทิวากร วิถีตน ยกฟ้องเฉพาะข้อหา ม.112 แต่ลงโทษด้วย พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ 2 คดี ได้แก่ คดีของจรัส และ วุฒิพัฒน์ ส่วนคดีที่เหลืออีก 7 คดี ศาลตัดสินว่ามีความผิดตาม ม.112 และให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด ทำให้มีการประเมินแนวโน้มการพิพากษาคดี ม.112 ว่าหากเป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ เมื่อศาลตัดสินว่ามีความผิดแล้ว จะมีคำสั่งให้รอลงอาญาในโทษจำคุก แต่หากเป็นคดีที่จำเลยไม่รับสารภาพ ศาลจะสั่งจำคุกโดยที่ไม่รอลงอาญา จึงมีกรณีกลับคำให้การภายหลัง เช่น สหรัฐ เจริญสิน ผู้ถูกฟ้องข้อหาตาม ม.112 ของประมวลกฎหมายอาญาและ มาตรา 14(3) ตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ จากการใช้บัญชีทวิตเตอร์ ทวิตข้อความ 3 ข้อความ เกี่ยวกับอาการประชวรของพระราชินีสุทิดา และเผยแพร่คลิป 1 โพสต์ ได้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ เนื่องจากมีความหวังว่าจะได้รอลงอาญาในโทษจำคุก
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 127 คน ในจำนวน 39 คดี
ไฟซ้อน สิทธินนท์ ทรงศิริ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังเข้าจับกุมตามหมายจับซึ่งออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรี วันที่ 14 ส.ค. 2563 ที่ทำงานบริเวณลาดพร้าว จากกรณีเป็นพิธีกรเวที #ธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ลานพญานาค ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นการชุมนุมที่ผ่านมากว่า 2 ปีแล้ว ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไข นอกจากนี้ ยังมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของ นายพล (นามสมมติ) สมาชิกกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจของกลุ่ม และได้โพสต์เชิญชวนประชาชนให้มาร่วมชุมนุม จนเป็นเหตุให้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบเรียบร้อย อัยการชี้ไม่มีหลักฐานว่ากระทำการดังกล่าวจริง
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,468 คน ในจำนวน 661 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563)
ในเดือนนี้ มีคำพิพากษาทั้งหมด 6 คดี เป็นคำสั่งยกฟ้อง 5 คดี ได้แก่ ธารา (สงวนนามสกุล) และเสรัฐ (สงวนนามสกุล) กรณีร่วมชุมนุม “คาร์ม็อบสัญจร ยื่นหนังสือทะลุโลก” ของกลุ่มทะลุฟ้า ในวันที่ 20 ส.ค. 2564 ศาลชี้พยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่น่าเชื่อถือ จึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยในประเด็นอื่น ณัชพล ไพรลิน และชัยพัทธ์ ศักดิ์ศรีเจริญยิ่ง กรณีชุมนุม #ม็อบ17ตุลา2563 บริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอสวงเวียนใหญ่ ศาลชี้เป็นการชุมนุมโดยสงบ และเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ คุณภัทร คะชะนา กรณีนำของไปวางขายในม็อบหน้าศาลอาญา วันที่ 2 พ.ค. 2564 ศาลชี้พยานโจทก์เบิกความขัดแย้งหลายประเด็น-ไม่ปรากฏว่าจำเลยเกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง และ กุลวดี ดีจันทร์ และ สุธิลา ลืนคำ กรณีเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ วันที่ 1 ส.ค. 2564 ศาลถือว่าเป็นการชุมนุมโดยใช้สิทธิและเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญ และคดีเยาวชน มีมี่ จากเหตุเข้าร่วมชุมนุม #ม็อบ25ตุลา63 ที่แยกราชประสงค์ โดยขณะเกิดเหตุ เธอมีอายุ 16 ปีเศษ ศาลเยาวชนฯพิพากษายกฟ้อง ระบุจำเลยเป็นเยาวชนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง การขึ้นปราศรัยเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพตามกฎหมาย
มีคำพิพากษาว่ามีความผิด 1 คดี ได้แก่ ทวี เที่ยงวิเศษ, ธนาดล จันทราช, ใบบุญ (สงวนนามสกุล) และณัชพล ไพลิน กรณีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าล้อมจับกุมรถขนเครื่องขยายเสียง บริเวณถนนหน้าโรงพยาบาลพญาไท 2 หลังการชุมนุม #ม็อบ3กันยา64 ที่แยกราชประสงค์ ศาลพิพากษาว่า ทวีและธนาดลมีความผิดตามฐาน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับคนละ 20,000 บาท แต่ให้การประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงปรับ 13,333.33 บาท ข้อกล่าวหาที่เหลือให้ยกฟ้อง ทั้งนี้ ทวีถูกคุมขังไปแล้ว 170 วันระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีความผิด จึงไม่ต้องชำระค่าปรับ แต่ต้องได้รับเงินชดเชยอีก 85,000 บาท
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มคดีส่วนใหญ่ที่มีคำพิพากษาจะเป็นการยกฟ้อง แต่ในเดือนกันยายนนี้ มีการสั่งฟ้องคดีเพิ่มอีก 2 คดี ได้แก่ ศุภวิทษ์ ประสินทอง กรณีเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเพชรบูรณ์ครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ย. 2564 และ แม็ก สินบุรี แสนกล้า กรณีถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติและป้อมจราจร ที่บริเวณหน้าโรงเรียนราชวินิต มัธยม ในระหว่างการเข้าร่วมชุมนุมครบรอบ 15 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 และมีการดำเนินคดีกับนักกิจกรรมประเด็นแรงงาน 5 ราย จากกรณีทำกิจกรรมเรียกร้องการแก้ไขปัญหาคุณภาพชีวิตคนทำงาน และขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กรณีดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปี ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 และยังมีการแจ้งข้อหาดังกล่าวกับประชาชนและนักกิจกรรม 4 ราย จากการจัดกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาส #8ปีประยุทธ์ จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23-24 ส.ค. 2565
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 107 คน ในจำนวน 75 คดี
ศาลแขวงดอนเมืองมีคำพิพากษาคดีของ นักกิจกรรม 7 ราย กรณีชุมนุมหน้า สน.บางเขน คืนวันที่ 7 ส.ค. 2563 เพื่อให้กำลังใจ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และอานนท์ นำภา ซึ่งถูกจับกุมตามหมายจับในคดีการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” โดยศาลพิพากษาว่าพริษฐ์, ชาติชาย, ภัสราวลี และศุกรียา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ปรับ 11,300 บาท จำคุก 2 เดือน แต่รอลงอาญา 1 ปี ส่วนจำเลยที่เหลือ ลงโทษปรับ 4,500 บาท เฉพาะฐานไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน เนื่องจากให้การเป็นประโยชน์ จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คงเหลือโทษปรับคนละ 3,000 บาท
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 151 คน ในจำนวน 171 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 7 คดี
คดีละเมิดอำนาจศาล ของ อะดิศักดิ์ สมบัติคำ กรณีถูกกล่าวหาว่าลุกจากเก้าอี้ในห้องพิจารณาและใช้มือแตะที่ไหล่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ เนื่องจากเห็นว่าเจ้าหน้าที่คนดังกล่าวได้ยืนบังการพิจารณาคดี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 คดีนี้ศาลชั้นต้นลงโทษปรับ เห็นว่าเป็นการใช้กริยาก่อให้เกิดความไม่สงบฯ ในห้องพิจารณาคดี ทั้งนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษากลับ ชี้ว่าเป็นการปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานที่จะรับฟังกระบวนพิจารณาอย่างเปิดเผย ให้ยกคำสั่งลงโทษปรับ 500 บาท
จากจำนวนคดี 1,139 คดีดังกล่าว มีจำนวน 248 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว ในจำนวนนี้มีกรณีอัยการสั่งไม่ฟ้องจำนวน 30 คดี เท่ากับยังเหลือคดีอีกกว่า 891 คดี ที่ยังดำเนินอยู่
อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ ตำรวจประมาณ 10 นาย ได้เข้าไปแสดงหมายค้นและข่มขู่หญิงชาวหนองคาย อนุนาท (นามสมมติ) อายุ 53 ปี เพื่อเข้าไปตรวจค้นบ้านพักทั้งที่ยังไม่ถึงเวลาในหมายค้น และบอกให้อนุนาทขึ้นรถตู้ที่ไม่ได้ติดตราราชการตำรวจกับพวกตน มีการได้ฉุดกระชากลากถูเธอขึ้นรถ และยึดโทรศัพท์ด้วย ทำให้อนุนาทตกใจกลัวจนขัดขืนและด่าทอตำรวจ ก่อนที่จะมีการสนธิกำลังเข้าจับกุม โดยอ้างว่า อนุนาททำความผิดซึ่งหน้า ฐานต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานที่จะเข้าตรวจค้นตามหมายศาล เธอถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สภ.หนองคาย โดยไม่มีทนายเข้าร่วม และถูกปล่อยตัวโดยการวางเงินประกัน 20,000 บาท ตำรวจได้อ้างว่า จุดประสงค์ในการไปพบก็เพื่อจะป้องปรามไม่ให้ทำการโพสต์ที่เข้าข่ายเป็นความผิดอีก เนื่องจากนโยบายในช่วงนี้ให้เน้นการป้องปรามก่อน ทั้งนี้ โทรศัพท์ที่ยึดได้ 2 เครื่อง จะส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ ปอท.
#ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง
ในเดือนนี้ มีการปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทั้งหมด 19 คน ได้แก่ เงินตา คำแสน และจิรัชยา สกุลทอง ผู้ถูกคุมขังด้วยข้อหาหลักดูหมิ่นศาล จากกรณีปราศรัยวิจารณ์การทำงานของศาลระหว่างกิจกรรมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของ “บุ้ง-ใบปอ” ที่หน้าศาลแพ่งกรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 15 ก.ค. 2565 ในวันที่ 2 ก.ย. 2565 รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 7 วัน นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 7 ราย จากการทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ในวันที่ 12 ก.ย. 2565 รวมเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 56 วัน ส่วนจิตรินและชาติชาย ถูกปล่อยตัววันที่ 13 ก.ย. 2565 อัยการไม่สั่งฟ้องคดีของ ร็อค ธนรัตน์ กรณีถูกจับกุมจากม็อบ 19 มิถุนายน 2565 บริเวณแยกดินแดง ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 11 ก.ย. 2564 หลังถูกคุมขังเป็นเวลา 84 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มิ.ย. 2565 เป็นต้นมา เอกชัย หงส์กังวาน ศาลฎีกาให้ประกันตัวหลังจากมีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว 5 ครั้ง กรณีโพสต์เล่าเรื่องเพศในเรือนจำ เขาถูกปล่อยตัววันที่ 19 ก.ย. 2565 รวมระยะเวลาการถูกคุมขัง 154 วัน ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ประกันตัวนักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุแก๊ส 8 คน จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมที่แยกดินแดง พวกเขาได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 29 ก.ย. 2565 รวมระยะเวลาการถูกคุมขังทั้งหมด 105 วัน ยกเว้นใบบุญที่มีหมายขังจากคดีอื่น ทนายได้ยื่นขอประกันตัวในวันที่ 30 ก.ย. 2565 ทำให้ใบบุญได้รับการปล่อยตัวในวันนั้น
ทำให้เหลือผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทั้งหมด 10 คน ได้แก่
สถานการณ์การคุกคามประชาชน ประจำเดือนกันยายน 2565
ในเดือนกันยายนนี้ พบรายงานสถานการณ์การคุกคามประชาชนอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยเป็นการคุกคามขณะเข้าร่วมพิธีพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อาร์ม (นามสมมติ) เยาวชนนักวัย 18 ปี กูล (นามสมมติ) อายุ 22 ปี นักกิจกรรมจากกลุ่มดึงดิน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามประกบความเคลื่อนไหว และคอยถ่ายภาพอยู่แทบตลอดเวลาที่อยู่ในงาน พร้อมอ้างว่าอยู่ในรายชื่อบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง แม้นักกิจกรรม 2 ราย จะเปิดใจว่าอยากไปร่วมแสดงความยินดีกับบัณฑิต และไม่คิดเตรียมใจมาเพื่อเจอสถานการณ์ถูกคุกคาม55 นอกจากนี้ ยังพบการขัดขวางไม่ให้จัดกิจกรรม “คืนความยุติธรรม” ของกลุ่มโมกข์หลวงริมน้ำ มีรายงานว่า ตำรวจเรียกผู้ดูแลสถานที่จัดงานศิลปะเข้าพูดคุย รวมถึงสั่งห้ามชูสามนิ้ว ห้ามพูดเรื่อง ม.112 และสถาบันกษัตริย์ ทำให้ผู้ดูแลสถานที่รู้สึกกดดัน จึงขอให้เลื่อนกำหนดการจัดนิทรรศการนี้ออกไปก่อนอย่างไม่มีกำหนด โดยที่ทีมงานคนหนึ่งได้พลั้งปากพูดออกมาว่า “มีคนที่ใหญ่กว่าเจ้าของสถานที่ และใหญ่กว่าตำรวจ ห้ามไม่ให้จัดงาน”56
แม้จะพบการรายงานการคุกคามน้อยลงจากเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับนักกิจกรรม พบว่า ยังมีนักกิจกรรมหลายรายที่ถูกคุกคามโดยการติดตามไปที่บ้าน โทรสอบถาม หรือถ่ายรูป ในช่วงที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ ดังนั้น สำหรับแนวโน้มการคุกคามในเดือนตุลาคม การจัดกิจกรรมในประเด็นทางการเมืองทุกรูปแบบ จะยังคงถูกเพ่งเล็งและขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เช่น การจัดงาน “คืนความยุติธรรม” และประเด็นเกี่ยวกับสถาบันยังคงเป็นประเด็นอ่อนไหวที่ทำให้มีการคุกคามประชาชนทุกเพศทุกวัย รวมถึงขณะที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ด้วย ทั้งนี้ การคุกคามจะมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร ย่อมขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมในเดือนนั้นๆ