#รายงานการชุมนุมและสถานการณ์การคุกคามที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการแสดงออก รายเดือนพฤศจิกายน 2565
@Faozee Lateh ในเดือนพฤศจิกายนนี้ มีการชุมนุมและการแสดงออกเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 65 ครั้ง มากกว่าเดือนตุลาคมอย่างน้อย 10 ครั้ง โดยประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุด ได้แก่ ประเด็นเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอย่างน้อย 36 ครั้ง เป็นกิจกรรมยืนหยุดขังทั้งหมด แบ่งเป็นการจัดกิจกรรมโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณหน้าศาลฎีกา กรุงเทพฯ ทั้งหมด 27 ครั้ง ในต่างจังหวัด มีการจัดกิจกรรมยืนหยุดทรราชที่ลานท่าแพ จ.เชียงใหม่ ซึ่งจัดขึ้นอาทิตย์ละครั้ง ทั้งหมด 5 ครั้ง ยืนหยุดขังที่ จ.อยุธยา อีก 4 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากวันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (APEC 2022) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ทำให้ช่วงการจัดประชุมดังกล่าว มีประชาชนออกมาชุมนุมเพื่อแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการประชุมนี้อย่างน้อย 24 ครั้ง โดยเป็นการชุมนุมในหลายๆภูมิภาค สามารถแบ่งช่วงเวลาการจัดกิจกรรมได้ดังนี้
การชุมนุมประท้วงก่อนการประชุม APEC 2022
ภาคเหนือ มีกลุ่มประชาชนสวมหน้ากาก 'กาย ฟอกส์' นำป้ายผ้าที่มีข้อความต่อต้านการประชุมเอเปคไปยืนถือและแขวนตามจุดต่างๆ ทั่วเชียงใหม่ ได้แก่ อ่างแก้ว มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สี่แยกเมญ่า, ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ และสะพานขัวเหล็กข้ามแม่น้ำปิง
ภาคกลาง นักกิจกรรมกรีนพีซประเทศไทย กางป้ายผ้าที่มีข้อความ “เอเปค หยุดฟอกเขียว” ถ่ายภาพเพื่อต้อนรับผู้นำที่จะมาประชุมAPEC เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง กลุ่มทะลุฟ้า จัดกิจกรรมขบวนแรลลี่รถตุ๊กตุ๊กไล่ประยุทธ์หยุดทุนผูกขาด โดยขบวนรถจะขับเริ่มต้นจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปจบที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ซึ่งด้านหลังและด้านข้างของตัวรถ มีการติดป้าย ปรากฏเป็นรูปภาพของนายกรัฐมนตรี พร้อมโลโก ‘เอเปค 2022’ แต่ละคันมีการระบุข้อความแตกต่างกัน เช่น PRAYUTH GET OUT STOP MONOPOLY, ไล่ประยุทธ์ หยุดทุนผูกขาด เป็นต้น ก่อนหน้านี้ กลุ่มทะลุฟ้าได้จัดกิจกรรม ‘อวาตาร์ค้านเผด็จการอำนาจนิยม ต่อต้านทุนผูกขาด’ แจกใบปลิว ‘ไล่ประยุทธ์หยุดAPEC2022 ทำไมเราต้อง STOP APEC2022’ บริเวณสยามสแควร์ เครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย และพรรคศรัทธาธรรม มหาวิทยาลัยรามคำแหง จัดกิจกรรมแถลงข่าว 3 ภาษา (ไทย อังกฤษ และมลายู) คัดค้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานการจัดประชุมเอเปค 2022 ในวันเดียวกัน กลุ่มนักกิจกรรมและนักศึกษาหลายกลุ่ม เช่น ทะลุวัง, We Volunteer, ทะลุแก๊ส, คณะราษฎรยกเลิก112 และอื่นๆ มีการเดินสายยื่นหนังสือถึงสถานทูต 5 ประเทศ ได้แก่ แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ และฝรั่งเศส ตามลำดับ โดยหนังสือที่ยื่นมีการระบุถึงปัญหาสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย อาทิ การใช้กฎหมายปิดปากประชาชน กระบวนการยุติธรรม สิทธิการประกันตัว การสลายการชุมนุมโดยสันติที่ผิดหลักสากล และอื่นๆ กลุ่มนักกิจกรรมจัดกิจกรรม “ไซอิ๋วตะลุย APEC” แต่งตัวเป็นตัวละครในเรื่องไซอิ๋ว เดินประท้วงการประชุมเอเปค 2022 ที่บริเวณเยาวราช
ภาคอีสาน เครือข่ายราษฎรโขงชีมูน แสดงจุดยืน 'ต้านการประชุม APEC2022' พร้อมรายงานการทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ โดยการชูป้ายที่ปรากฏข้อความว่า "มหกรรมขายชาติ" และ "Stop APEC" หลายจุดทั่วอำเภอเมืองนครราชสีมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก และหยุดการกอบโกยทรัพยากรของกลุ่มทุน ในวันเดียวกัน บริเวณอาคารสำนักงานบริษัทมิตรผล จ.ขอนแก่น เครือข่ายราษฎรโขงชีมูน ได้แขวนป้าย "เศรษฐกิจผูกขาด อุตสาหกรรมเป็นพิษ มลพิษฟอกเขียว" และแขวนป้ายผ้าแสดงสัญลักษณ์ที่หน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่ รวมถึงมีการอ่านแถลงการณ์แสดงจุดยืนบริเวณโรงงานน้ำตาลมิตรผลด้วย กลุ่มกอผือรื้อเผด็จการ จังหวัดอุดรธานี แขวนป้ายข้อความว่า "เศรษฐกิจผูกขาดอุตสาหกรรมเป็นพิษมลพิษฟอกเขียว" เพื่อคัดค้านการประชุมเอเปค และให้สอดรับกับแถลงการณ์คัดค้านการประชุมดังกล่าวโดยเครือข่ายราษฎรโขงชีมูน
การชุมนุมประท้วงระหว่างการประชุม APEC 2022
ภาคเหนือ คณะก่อการล้านนา จัดกิจกรรม “ราษฎรหยุด APEC 2022” ที่สถานีรถไฟเด่นชัย จ.แพร่ โดยการใส่หน้ากาก “กายฟอกส์” และชูป้ายคัดค้านการประชุมเอเปค ก่อนจะขึ้นรถไฟเพื่อเดินทางเข้าร่วมชุมนุมที่ลานคนเมือง จ.กรุงเทพฯ ในช่วงเย็นวันเดียวกัน โดยระหว่างทางมีกิจกรรมชูป้ายเป็นระยะ
ภาคกลาง วันที่ 16 พฤศจิกายน 2565 เป็นวันแรกที่มีการประชุม APEC 2022 ในช่วงเช้า แอมเนสตี้ ประเทศไทย ได้ยื่นคำร้องต่อรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้ยุติการปราบปรามนองเลือดในเมียนมาร์ ณ สำนักนายกรัฐมนตรี โดยระหว่างการยื่นหนังสือ พบว่ามีเจ้าหน้าที่ไม่ปรากฎชื่อและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบพยายามถ่ายภาพระยะใกล้ และรีบขับจักรยานยนต์หนีไปโดยไม่ระบุตัวตน นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจยังเดินทางไปสำนักงานองค์กรพันธมิตรของแอมเนสตี้ เพื่อสอบถามเกี่ยวกับการทำงานขององค์กรช่วงประชุมเอเปคด้วย ช่วงเย็น มีการจัดการชุมนุมของ เครือข่ายราษฎรหยุดAPEC2022 ที่บริเวณลานคนเมือง กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นการชุมนุมปักหลักค้างคืน ระหว่างการชุมนุม นอกจากจะมีการสกัดเรียกตรวจบัตรประชาชนและมีการตั้งจุดตรวจอาวุธแล้ว ยังมีผู้ถูกจับกุม 1 ราย ได้แก่ วรินทร์ทิพย์ วัชรวงษ์ทวี ซึ่งเป็นหมายจับตามมาตรา 112 เธอถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ประชาชื่น และได้รับการปล่อยตัวภายหลัง ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และสายน้ำ ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขอเก็บป้ายผ้าจนเกิดเหตุชุลมุนเล็กน้อย ขณะที่ทั้งสองคนสวมชุดคล้ายหมีพูห์เดินถือป้ายผ้าคัดค้านเอเปคและนโยบายจีนเดียวบริเวณโรงแรมสยาม เคมปินสกี้
@Chanala วันที่ 17 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 ยังคงมีการทำกิจกรรมที่ลานคนเมือง แต่มีการแยกไปทำกิจกรรมตามจุดต่างๆด้วย ได้แก่ บริษัทมิตรผล, Thai Union Group, Thai Beverage, SCG และ CP ซึ่งล้วนแต่เป็นกิจกรรมในประเด็นเรียกร้องให้หยุดการฟอกเขียวกลุ่มทุนผูกขาดผ่านเวที APEC โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนวางกำลังเป็นจุดๆบริเวณที่มีการชุมนุม กลุ่มกิจกรรมนำโดยทะลุวัง ได้เดินทางไปยื่นหนังสือ “What Happend in Thailand” เพื่อสื่อสารสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทยให้ผู้นำ APEC ได้รับรู้ บริเวณแยกอโศก โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมากกว่าสองกองร้อยตั้งแนวสกัด ในแนวนั้นยังปรากฎเจ้าหน้าที่แต่งกายในชุดทหารด้วย ในวันเดียวกัน เพจราษฎร รายงานว่า กลุ่มราษฎรที่ไปติดป้ายผ้าราษฎรหยุดAPEC2022, การค้าเสรีที่ไม่มีประชาชน ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนหลายนายดึงป้าย ยึดบันได และพยายามไล่จับกุมผู้ชุมุนมโดยมีการฉุดกระชากและกระแทกโล่ใส่หน้าผู้ชุมนุม ก่อนเข้าควบคุมพื้นที่
@Faozee Lateh วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มราษฎรหยุด APEC 2022 นัดหมายเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิตติ์ แต่ตำรวจวางกำลังปิดกั้นถนนดินสอไม่ให้ผู้ชุมนุมผ่านเส้นทางไปได้ ต่อมาเจ้าหน้าที่เข้าสลายการชุมนุม ส่งผลให้มีผู้ถูกจับกุม 25 คน จากการใช้สิทธิในเสรีภาพการชุมนุม รวมทั้งสื่ออิสระ พระภิกษุ และแกนนำองค์กรภาคประชาสังคม พวกเขาถูกดำเนินคดีในข้อหาตามพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งมาตรา 215 (มั่วสุมทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง) และมาตรา 216 (ไม่ยอมสลายการชุมนุม) ของประมวล กฎหมายอาญา
@Faozee Lateh
ระหว่างการใช้กำลังสลายการชุมนุม ตามข้อมูลของโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ระบุว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บระหว่าง การจับกุม และการปราบปรามการประท้วงอย่างน้อย 32 คน รวมทั้งเด็กหนึ่งคน และผู้สื่อข่าวสามคน โดยจำนวน 13 คนได้รับบาดเจ็บระหว่างการจับกุมของเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้นมีรายงานว่า ตำรวจได้ยิงกระสุนยางและใช้ไม้กระบองทุบตีผู้ประท้วง การสลายการชุมนุมที่รุนแรงส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย รวมทั้งพายุ บุญโสภณ จากกลุ่มดาวดิน ซึ่งสูญเสียดวงตาขวาไปหนึ่งข้าง และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม อายุ 17 ปี ซึ่งถูกทุบตี ถูกด่าด้วยถ้อยคำทางเพศ และได้รับผลกระทบทางจิตใจจนต้องเข้ารับการรักษาจากนักจิตบำบัด
นอกจากนี้ก่อนการชุมนุมประท้วงองค์กรภาคประชาสังคมตกเป็นเป้าการติดตามตัว การสอดแนม การข่มขู่ และการคุกคามทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ สำหรับการข่มขู่ และคุกคามทางออฟไลน์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่ามีบุคคลอย่างน้อย 58 คนที่ตกเป็น เป้าหมาย ซึ่งเชื่อว่าเป็นการกระทำของเจ้าหน้าที่ สำหรับการติดตามตัว และสอดแนมข้อมูลออนไลน์ ไอลอว์บันทึกข้อมูลว่ามีเจ้าหน้าที่องค์กรภาคประชาสังคมอย่างน้อย 44 คนซึ่งได้รับข้อความ แจ้งเตือนจากเฟซบุ๊กระบุว่า“แจ้งเตือนผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหรือใช้วิธีการที่ทันสมัย”
จากการที่ตำรวจออกคำสั่งคัดค้านและทำการขัดขวางการชุมนุม ข้อ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ซึ่งไทยเป็นรัฐภาคีได้รับรองการชุมนุมโดยสงบในกรณีที่ทางผู้จัดการชุมนุมแจ้งต่อเจ้าหน้าที่และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้จัด การชุมนุมนั้นไม่เป็นไปตามความเห็นทั่วไปที่ 37 ย่อหน้าที่ 70 ซึ่งระบุว่า ระบบแจ้งการชุมนุม ที่กำหนดให้บุคคลผู้ประสงค์ที่จะจัดการชุมนุมโดยสงบต้องทำการบอกกล่าวแก่เจ้าหน้าที่ล่วงหน้าและให้ข้อมูลรายละเอียดสำคัญบางประการนั้นสามารถกระทำได้เท่าที่จำเป็นเพื่อที่จะให้เจ้าหน้าที่สามารถอำนวยความสะดวกให้สามารถจัดการชุมนุมโดยสงบได้อย่างราบรื่นและเพื่อป้องกันสิทธิของบุคคลอื่นโดยข้อกำหนดดังกล่าวนี้จะต้องไม่ถูกนำไปใช้โดยมิชอบเพื่อที่จะขัดขวางการชุมนุมโดยสงบ เช่นเดียวกับข้อกำหนดที่มี ลักษณะเป็นการการแทรกแซงสิทธิอื่นๆ การนำเอาระบบการแจ้งการชุมนุมมาใช้จะต้องสอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 21
อีกทั้งในกรณีที่ทางผู้ชุมนุมถูกขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่ตามความเห็นทั่วไปที่ 37 และรายงานของผู้รายงานพิเศษว่าด้วยการชุมนุมอย่างสงบ การชุมนุมคือการที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุม สามารถทำการชุมนุมในระยะที่ส่งข้อความไปสู่ผู้รับสารได้2ในกรณีนี้ รัฐบาลได้ประกาศใช้มาตรการ จำกัดสิทธิโดยอ้างมาตรา 8 (5) ของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ การปิดกั้นทางกฎหมาย และกายภาพสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลไม่ได้ ดำเนินการเพื่อประกัน และเพื่อให้บรรลุสิทธิที่จะได้รับการรับฟังของผู้ประท้วง และการใช้สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ
เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกีดขวางการชุมนุมตัวแทนของผู้ชุมนุมพยายามเจรจากับ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ระหว่างการชุมนุมประท้วงผู้นำการชุมนุมมีการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งแกนนำผู้ชุมนุมได้ขอให้ทางตำรวจนำแผงเหล็กและรถที่กีดขวางบนถนนออก และบอกให้ทางผู้เข้าร่วมการชุมนุมใช้อยู่ในความสงบ4
การจำกัดการใช้สิทธิในการชุมนุมโดยสงบจะกระทำมิได้นอกจากจะกำหนดโดยกฎหมายและเพียงเท่าที่จำเป็น ข้อความนี้เป็นการบัญญัติหลักความชอบด้วยกฎหมาย ไว้อย่างเป็นทางการ เช่นเดียวกับการระบุว่าการจำกัดสิทธิจะต้อง “ถูกระบุไว้ในกฎหมาย” ในมาตรา อื่น ๆ ของกติกา ฯ ฉบับนี้ดังนั้นการจำกัดสิทธิจึงต้องถูกกำหนดขึ้นตามกฎหมาย หรือผ่านการใช้อำนาจทางปกครองที่มีกฎหมายให้อำนาจไว้เท่านั้น กฎหมายดังกล่าวจะต้องมีความชัดเจน เพียงพอที่จะทำให้สมาชิกในสังคมตัดสินใจได้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรและจะต้องไม่มีข้อความที่ให้อำนาจดุลพินิจ แก่เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายโดยไร้ขีดจำกัดหรืออย่างกว้างขวาง
ดังนั้นการสลายการชุมนุมในระหว่างการประชุมสุดยอดเอเปกจึงไม่เป็นไปตามกฎหมายตั้งแต่ขั้นแรกจากการปฏิเสธสิทธิในการชุมนุมอย่างสันติและสิทธิในการได้รับการรับฟังวัตถุประสงค์สูงสุด หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในช่วงการชุมนุมประท้วงคือการยืนยันและรักษาความปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตาม จากการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่นั้น จำนวนตำรวจที่ไม่สมส่วน ท่าทางทางกายภาพ และการล่วงละเมิดทางวาจา สร้างความหวาดกลัวและการข่มขู่ให้กับผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุม
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และกลุ่มทะลุวัง ได้จัดกิจกรรมแฟลชม็อบทำโพลประนามเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุม บริเวณสยามพารากอน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามสกัดกั้นการจัดกิจกรรม
ภาคอีสาน จากการใช้ความรุนแรงในการสลายการชุมนุมวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ในวันเดียวกันนั้น กลุ่มนักกิจกรรมขอนแก่น จัดแฟลชม็อบบริเวณตลาดเปิดท้าย ม.ขอนแก่น เพื่อประณามรัฐบาลที่ปิดกั้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในเวที APEC2022 และตำรวจที่ใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุม โดยมี ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น นำตำรวจแจ้งผู้ชุมนุมให้อยู่ในกรอบกฎหมาย
การชุมนุมประท้วงภายหลังการประชุม APEC 2022
แม้ว่าการประชุมจะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ยังมีการจัดกิจกรรมเพื่อประณามการใช้ความรุนแรงในเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทะลุฟ้า จัดกิจกรรม “ยื่นหนังสือทะลุโลก” เพื่อรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่รัฐแก่ผู้เข้าร่วมประชุม APEC โดยได้นัดหมายผู้ชุมนุมทำกิจกรรมตั้งแต่รถไฟฟ้า BTS สถานีเพลินจิต และเดินเท้าไปยังสถานทูตรวม 6 แห่ง ตลอดเส้นทางมีการตะโกนว่า ‘APEC เลือด ประยุทธ์ออกไป’ หลังจากยื่นหนังสือที่สถานทูตเสร็จ ก็ได้เดินทางต่อไปยื่นหนังสือถึงองค์การสหประชาชาติด้วย เครือข่ายราษฎรหยุด APEC 2022 เชียงใหม่ รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงทูตสหรัฐฯ ที่สถานกงสุลใหญ่สหรัฐอเมริกา ประจำจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องให้ตำรวจรับผิดชอบกรณีใช้ความรุนแรงสลายม็อบเอเปค
นอกจากการเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่รัฐรับผิดชอบเหตุการณ์สลายการชุมนุมแล้ว กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กลุ่มนักรบองค์ดำ และศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ยังได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ขอให้ตรวจสอบ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กรณีเปิดพื้นที่ลานคนเมืองให้ชุมนุมช่วงการประชุมเอเปค 2022
มีการชุมนุมในประเด็นสิทธิแรงงานอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ สมาคมไรเดอร์ไทย กว่า 500 คน รวมตัวกันที่ด้านหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิล์ด ก่อนเคลื่อนขบวนไปยังบริษัทต้นสังกัดอาคารธนภูมิ ถนนเพชรบุรี เพื่อเรียกร้องให้ทบทวนระบบจองงานที่ไม่มีความเป็นธรรม ทำให้รายได้ลดลง กลุ่มคนขับแท็กซี่ รวมตัวกันที่กระทรวงคมนาคม เพื่อเรียกร้องให้มีการปรับอัตราค่าโดยสารขึ้น
มีการจัดกิจกรรมในประเด็นสถาบันกษัตริย์อย่างน้อย 1 ครั้ง ได้แก่ นักกิจกรรมกลุ่ม koratmovement ถูกตำรวจคุมตัวระหว่างพยายามชูป้าย “ปล่อยเพื่อนเรา” และ “คน = คน คนเท่ากัน” ที่ขบวนเสด็จของพระเทพฯ บริเวณโรงเรียนบุญวัฒนา จังหวัดนครราชสีมา ก่อนปล่อยตัวกลับ และถูกตามประกบซ้ำขณะออกไปทำธุระ นักกิจกรรมแจ้งว่า โดนติดกล้องวงจรปิดรอบบ้านพร้อมมีตำรวจนอกเครื่องแบบเฝ้ามาตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ประเด็นขับไล่บุคคลฝั่งรัฐบาล กลุ่มราษฎรเชียงราย 5 คน ได้ไปยืนชูป้าย “วันนี้..หล่อจริง วันนี้..หล่อเกินไป” เพื่อต้อนรับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สนามบินเชียงราย พวกเขาถูกตำรวจแจ้งข้อหากระทำให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะ ลงโทษปรับคนละ 500 บาท นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมเพื่อให้กำลังใจอาจารย์และนักศึกษาที่เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ที่ สภ.ภูพิงค์ราชนิเวศน์ ในคดีตัดโซ่ทวงคืนหอศิลป์ มช. ปี 2564 โดยมีกลุ่มนักศึกษามาแสดง art performance ก่อนถูกตำรวจเข้ามาขัดขวางโดยเข้ามายึดป้ายผ้า และห้ามไม่ให้จัดกิจกรรมหน้าสถานที่ราชการ ทำให้เกิดเหตุชุลมุนขึ้น มีผู้ชุมนุมอย่างน้อย 1 คน ได้รับบาดเจ็บบริเวณเอว ในเดือนนี้ กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) กลุ่มนักรบองค์ดำ และศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) ได้เดินทางไปที่กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้พิจารณาเพิกถอนแอมเนสตี้ ประเทศไทย เนื่องจากเห็นว่าแทรกแซงกิจการภายในประเทศ
#สถานการณ์การดำเนินคดี ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565
ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์การชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,886 คน ในจำนวน 1,159 คดี ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีเดือนตุลาคม 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 22 คน คดีเพิ่มขึ้น 14 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดีมาเรียงต่อ จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,753 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 221 คน ในจำนวน 239 คดี
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 156 คน ในจำนวน 176 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี
การดำเนินคดีช่วงประชุม APEC
วันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (APEC 2022) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างการจัดประชุมนี้ กลุ่มราษฎรหยุดAPEC2022 ได้นัดหมายเคลื่อนขบวนจากลานคนเมืองไปยังศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เพื่อยื่นหนังสือคัดค้านการประชุม APEC 2022 ในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 ผู้ชุมนุมถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจวางกำลังและรถยนต์ปิดกั้นเส้นทางหลังเคลื่อนมาถึงบริเวณถนนดินสอ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะใช้กำลังเข้าจับกุมผู้ชุมนุม 2 ระลอก มีผู้ชุมนุมถูกจับกุมรวมทั้งสิ้น 26 คน เป็นหญิง 5 คน ชาย 21 คน รวมถึงพระสงฆ์ 1 รูป, นักศึกษา 6 คน, สื่อพลเมือง 1 คน และผู้พิการทางสายตา 1 คน ได้รับบาดเจ็บสาหัสจนต้องเข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล 1 คน ได้แก่ พายุ บุญโสภณ จากการถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ดวงตาข้างขวา จนดวงตาข้างขวาแตกละเอียด มีโอกาสกลับมามองเห็นได้ปกติเพียง 1% เท่านั้น
ผู้ต้องหาทั้ง 25 คน ถูกแจ้งข้อกล่าวหา 3 ข้อหาด้วยกัน ได้แก่
1. ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215)
2. ไม่เลิกมั่วสุมตามที่เจ้าพนักงานสั่ง (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216)
3. ร่วมกันฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ รวมทั้งไม่แก้ไขภายในระยะเวลาที่เจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะประกาศกำหนด (พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะฯ)
ผู้ต้องหาทั้ง 25 คน ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา บางคนได้ให้การเพิ่มเติมว่า ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากนี้ ทั้งหมดยังไม่ลงชื่อในบันทึกการจับกุม โดยเขียนว่า ผู้ต้องหาไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ เนื่องจากข้อเท็จจริงไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง วิทยา ไชยคำหล้า หนึ่งในผู้ถูกจับกุมยังถูกดำเนินข้อกล่าวหาเพิ่มเติมจากการทำกิจกรรมของกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC 2022” เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้นบริเวณหน้าประตูทางเข้าบริษัท SCG ย่านบางซื่อ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาแก่วิทยาทั้งหมด 4 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และพ.ร.บ.ความสะอาด โดยวิทยาได้ประกันตัวในชั้นสอบสวนโดยที่ไม่ต้องวางเงินประกัน ไม่เพียงแต่ผู้ถูกจับกุมเท่านั้น ยังมีผู้ชุมนุมอย่างน้อยสองคนสูญเสียทรัพย์สินมีค่าระหว่างสลายการชุมนุม โดยถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนดึงกระเป๋าสะพายหลังจนฉีกขาดและฉวยทรัพย์สินมีค่ามูลค่าหลายหมื่นบาทไป ระหว่างที่ตำรวจกำลังดึงตัวเขาเข้าไปที่แนวด้านหลัง กรณีนี้ผู้เสียหายทำการร้องทุกข์ที่ สน.สำราญราษฎร์แล้ว และอีกกรณีหนึ่ง ผู้ชุมนุมวางกระเป๋าไว้ที่ทางเท้าเป็นจังหวะเดียวกันที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนสลายการชุมนุม หลังสถานการณ์สงบทั้งสองไปติดตามทรัพย์สินแต่ยังไม่สามารถติดตามได้ นอกจากนี้จากรายงานข่าวยังพบว่า มีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนได้รับบาดเจ็บจากการสลายการชุมนุมเช่นเดียวกัน
หลังผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวอยู่ที่ สน.ทุ่งสองห้อง นานกว่า 12 ชั่วโมง วันที่ 19 พ.ย. 2565 พนักงานสอบสวนได้อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาทั้ง 25 ราย โดยให้วางเงินประกันเป็นเงินสดคนละ 20,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท กำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างชั้นสอบสวน 2 ข้อ ได้แก่ ห้ามเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองใดๆ ระหว่างได้ประกัน และห้ามประกาศเชิญชวนบุคคลอื่นเข้าร่วมมั่วสุมหรือกระทำการใดๆ ให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ในส่วนของพายุ ซึ่งยังเข้ารับการผ่าตัดดวงตาและศัลยกรรมส่วนอื่นของใบหน้าอยู่ที่โรงพยาบาลตำรวจนั้น พนักงานสอบสวนยังไม่มีการดำเนินการใดๆ
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้มีการออกแถลงการณ์ประณามการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุม วันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 จากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนหลายองค์กร ไม่ว่าจะเป็น สมาคมนักกฎหมายเพื่อสิทธิมนุษยชน, แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) นอกจากนี้ อานนท์ นำภา พร้อมทนายความ ยังได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกระดับชั้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องเหตุการณ์นี้ ที่ สน.สำราญราษฎร์ รวมถึงภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งเรียกตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มาไต่สวนกรณีดังกล่าว ซึ่งศาลอนุญาตให้เรียกสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาไต่สวน และให้ส่งเอกสารแผนกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ รวมถึงรายชื่อเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่ปฏิบัติหน้าโดยมิชอบ ในวันที่ 17 มกราคม 2566
#สถานการณ์การคุกคามประชาชน ประจำเดือนพฤศจิกายน 2565
ในเดือนพฤศจิกายนนี้ สถานการณ์การคุกคามประชาชนเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคมอย่างมาก เนื่องจากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (APEC 2022) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ในช่วงเวลานั้น มีการรายงานว่าพบการคุกคามประชาชนและนักกิจกรรมทั่วประเทศ อย่างน้อย 58 กรณี เพื่อขัดขวางการชุมนุมระหว่างการประชุมดังกล่าว ทำให้มีจำนวนผู้ถูกคุกคามอย่างน้อย 65 ราย โดยสามารถจำแนกรูปแบบการคุกคามได้ดังนี้
การคุกคามเนื่องจากมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่
1. สมาชิกราชวงศ์
นักกิจกรรม KoratMovement 4 ราย ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบหลายนายเข้าล้อม ขณะชูป้ายปล่อยเพื่อนเรา, คนเท่ากัน ที่หน้า ร.ร.บุญวัฒนา ซึ่งจะมีขบวนเสด็จพระเทพฯผ่าน นอกจากนี้ ตำรวจนอกเครื่องแบบยังพยายามควบคุมตัวหนึ่งในกลุ่มนักกิจกรรม โดยอ้างว่าให้ไปพบ ผกก.สภ.เมืองนครราชสีมา อีกทั้งยังมีการดึงและผลักนักกิจกรรมที่ชูป้ายจนล้มลงขณะขบวนเสด็จผ่าน หลังเสร็จกิจกรรม ระหว่างเดินทางกลับ นักกิจกรรมได้สังเกตว่ามีรถกระบะและมอเตอร์ไซค์ของตำรวจขับตาม โดยมีนักกิจกรรมแจ้งว่าถูกตำรวจยึดมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งไปที่สภ.เมืองนครราชสีมา อ้างว่านำไปตรวจสอบความเป็นเจ้าของ
2. นายกรัฐมนตรี
เอีย นักกิจกรรมเด็กวัย 14 ปี ถูกตำรวจควบคุมตัวไป สน.นางเลิ้ง จากเหตุไปยืนชูป้ายถึงนายกประยุทธ์ข้างทำเนียบรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ชูป้ายใดๆ ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าดึงคอเสื้อ ดันตัว ล็อคขา และกดท้อง แล้วนำตัวขึ้นรถตำรวจไป เอียเปิดเผยว่า เมื่อถูกนำตัวถึง สน.นางเลิ้งตำรวจไม่ได้มีการให้ลงบันทึกประจำวันใดๆ และปล่อยตัวออกมาแล้ว สภาพร่างกายได้รับบาดเจ็บบริเวณข้อมือจากการเข้าควบคุมตัวของเจ้าหน้าที่ และเจ็บที่ท้องเนื่องจากถูกแรงกด
3. บุคคลสำคัญอื่นๆ
เนื่องจากประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 29 (APEC 2022) ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ วันที่ 16-19 พฤศจิกายน 2565 ทำให้มีการปิดกั้นการชุมนุมคัดค้านของประชาชนผู้ไม่เห็นด้วยกับการประชุมเอเปคอย่างเข้มข้น เริ่มจากการติดตามคุกคามนักกิจกรรมทั่วประเทศ โดยจังหวัดที่มีรายงานการคุกคามมีไม่น้อยกว่า 22 จังหวัด สถานการณ์การคุกคามเริ่มต้นตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 อดีตสมาชิกกลุ่ม NU-movement อย่างน้อย 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการชุมนุมในช่วงการประชุมเอเปคหรือไม่ บางรายถูกขอความร่วมมือไม่ให้ไปร่วมเคลื่อนไหว นอกจากนี้ ยังมีผู้ถูกคุกคามรายหนึ่งเปิดเผยว่า เขาถูกเจ้าหน้าที่โทรไปสอบถามข้อมูลถึงที่ทำงาน อีกรายถูกโทรศัพท์ไปสอบถามข้อมูลจากบุคคลในครอบครัว และยังมีนักศึกษาที่เคยทำกิจกรรมในจังหวัดพิษณุโลกถูกตำรวจเข้าสอบถามข้อมูลส่วนตัวถึงหอพัก
ช่วงปลายเดือนตุลาคม ที่จังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่โทรศัพท์สอบถามชาติชาย ธรรมโม และเขายังถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าติดตามหาตัวถึงที่ทำงาน รวมทั้งสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) 2 ราย ในจังหวัดลำพูน ถูกตำรวจไปติดตามถึงที่บ้าน เพื่อสอบถามข้อมูลและถ่ายรูปรายงานการเคลื่อนไหว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนกลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ถูกตำรวจสันติบาลเรียกไปพูดคุยที่บ้านผู้ใหญ่บ้านในช่วงหัวค่ำ โดยมีการสอบถามเกี่ยวกับคดีความ และความเคลื่อนไหวของกลุ่มคัดค้านการทำเหมืองแร่โปรแตซในพื้นที่ ซึ่งได้คาดเดาว่าเกี่ยวข้องกับสถานการณ์การประชุมเอเปคด้วย
ยิ่งใกล้ประชุมเอเปค ยิ่งพบรายงานการคุกคามประชาชนในหลายพื้นที่ ในพื้นที่ภาคเหนือ เครือข่ายของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ และเครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ รายงานว่าถูกตำรวจโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว สอบถามที่อยู่ หรือติดตามไปสอบถามข้อมูลถึงบ้าน แทบทุกจังหวัด พชร คำชำนาญ ระบุว่ามีตำรวจทั้งโทรศัพท์มาหา และไปตามหาตัวเขาที่สำนักงานในจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าหน้าที่มีข้อมูลการบินของเขาทั้งหมด และสอบถามทำนองว่าทำไมเขาถึงเดินทางบ่อย ขณะที่สมาชิกกลุ่มรักษ์บ้านแหง จ.ลำปาง ได้ถูกตำรวจติดตามเข้าแจ้งว่าผู้บังคับบัญชาอยากพูดคุยด้วย ทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองท้องถิ่นมากดดันประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ไปร่วมชุมนุม หากไปจะดำเนินการจับกุมอีกด้วย พินิจ ทองคำ ถูกตำรวจในจังหวัดลำปางติดตามความเคลื่อนไหวโดยตลอด แม้แต่ช่วงที่เขาเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อทำภารกิจในช่วงนั้นก็ได้ถูกตำรวจขอมานั่งรถไปด้วย และขอถ่ายรูปก่อนเดินทาง นักกิจกรรมหลายคน รวมทั้งคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงใหม่ ถูกตำรวจติดตามให้ไปแสดงตัวหรือขอพูดคุยด้วยที่ร้านกาแฟในช่วงก่อนการประชุมเอเปค โดยมีการสอบถามการไปชุมนุมในช่วงเอเปค และขอถ่ายรูปเพื่อนำไปจัดทำรายงาน นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าตำรวจเข้ามาดูร้าน Crew bar ของกลุ่มนักกิจกรรมที่เชียงใหม่ อ้างว่า มีผู้แจ้งรถจักรยานยนต์หายจึงมาขอดูป้ายทะเบียนรถที่ปิดป้ายอยู่
ขณะเดียวกัน แกนนำชาวบ้านในเครือข่ายสมัชชาคนจนหลายจังหวัดก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตาม ทั้งชาวบ้านที่เขื่อนปากมูน, ชาวบ้านในจังหวัดพัทลุง ลพบุรี และแพร่ โดยเฉพาะในช่วงก่อนการประชุมไม่กี่วัน พบความพยายามเข้าสอบถามความเคลื่อนไหวในการไปชุมนุมในช่วงเอเปค รวมทั้งสอบถามข้อมูลการเดินทาง ทั้งของชาวบ้านที่นครสวรรค์ ชุมพร ตรัง แกนนำชาวบ้านบางรายถูกติดต่อโทรหาหลายครั้ง
ในพื้นที่ภาคใต้ ประสิทธิ์ หนูนวล ระบุว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่หน่วยต่างๆ โทรศัพท์สอบถาม และมาหาที่บ้านอย่างต่อเนื่อง ทั้งที่เขามีอาการป่วยอยู่ที่บ้าน โดยพบว่าไม่มีการประสานข้อมูลกันระหว่างหน่วยงานอีกด้วย ทำให้เกิดการติดตามซ้ำๆ จากหลายหน่วย รอมลี กูโน ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวไปที่โรงพยาบาลเพื่อตรวจดีเอ็นเอ จากนั้นพาไปที่ ฉก.46 เขาตันหยง อ.เมือง จ.นราธิวาส เนื่องจากมีความสงสัยว่า เขาอาจจะมีส่วนข้องกับการเตรียมการวางแผนเพื่อก่อเหตุรุนแรงสร้างสถานการณ์ที่เป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐในช่วงที่จะมีการประชุมเอเปค ฮาฟิส ยะโกะ ก็ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาสอบถามข้อมูลและถ่ายรูปที่บ้านในจังหวัดนราธิวาส เพื่อรายงานความเคลื่อนไหวแทบทุกวันในช่วงการประชุมเอเปค สมาชิกเครือข่ายเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดพัทลุงรายหนึ่ง ถูกตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 นาย ไปสอบถามความเคลื่อนไหวในช่วงเวลาดังกล่าวถึงบ้าน
เจ้าหน้าที่ยังจับตาการเคลื่อนไหวของกลุ่มกิจกรรมทางการเมือง โดยพยายามเข้าตรวจดูการจัดทำป้ายหรือเตรียมการแสดงออก นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า ถูกตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบประมาณ 10 นาย เข้าขอตรวจค้นพื้นที่ที่มีกลุ่มนักกิจกรรมเขียนป้ายรณรงค์ทางสังคมอยู่โดยไม่มีหมายค้นใดๆ แต่อ้างว่าติดตามคนร้ายหลบหนีมา แก๊ป นักกิจกรรมกลุ่ม 14 ขุนพลคนของราษฎร ถูกเจ้าหน้าที่ไปตั้งด่านที่หน้าบ้านในช่วงก่อนการประชุม และมีตำรวจไปตรวจค้นถึงบ้านและยึดป้ายผ้าที่เขาเขียนข้อความ “Anti Chinazi” โดยอ้างว่าข้อความกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ พร้อมข่มขู่ว่าถ้าไม่ให้ยึดป้าย จะทำการเช็คกล้องวงจรปิดว่าเขาเคยไปทำกิจกรรมที่ไหนบ้าง นอกจากนี้ ทางตำรวจยังให้แก๊ปไปลงบันทึกประจำวันเอาไว้ด้วย
นักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 3 คน ถูกเจ้าหน้าที่เข้าตรวจค้นห้องพักและควบคุมตัวในช่วงเช้าวันที่ 16 พ.ย. 2565 แม้จะมีหมายค้น แต่ก็ไม่ได้ตรวจค้นพบสิ่งผิดกฎหมาย และไม่มีหมายจับ ทั้งสามคนถูกนำตัวไปสอบสวนที่ สน.หัวหมาก โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่ามีข้อมูลเกี่ยวข้องกับการก่อเหตุความไม่สงบในช่วงการประชุมเอเปค นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังยึดอุปกรณ์สื่อสารและคอมพิวเตอร์ของทั้งสามไปตรวจสอบด้วยโดยไม่ได้มีหมายศาลที่ชัดเจน ก่อนจะปล่อยตัวทั้งสามโดยไม่มีการแจ้งข้อหา
ในส่วนนักกิจกรรมหรือประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรคัดค้านAPEC2022 ยังถูกเจ้าหน้าที่พยายามสกัดกั้น และติดตามระหว่างการเดินทาง เช่น ขบวนของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือ ที่เดินทางโดยรถไฟเข้าสู่กรุงเทพฯ ได้ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามใกล้ชิด และมีการเข้าตรวจดู รวมทั้งไล่ถ่ายรูปรายบุคคลในระหว่างการเดินทางด้วย ขบวนนักกิจกรรมกลุ่มราษฎรโขงชีมูน จากภาคอีสาน ก็ได้ถูกตำรวจเข้าสกัดรถเช่าที่เดินทางจากจังหวัดขอนแก่นเข้ากรุงเทพตลอดทาง มีการขอตรวจบัตรประชาชนตามด่านตรวจต่างๆ และถ่ายภาพผู้ร่วมเดินทางอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังมีการขอตรวจค้นสัมภาระผู้เดินทางด้วย โดยอ้างว่าเป็นการตรวจยาเสพติดและอาวุธ
ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่าคนขับรถตุ๊กตุ๊กในกรุงเทพที่ให้นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าใช้ทำกิจกรรม #ไล่ประยุทธ์หยุดทุนผูกขาด ได้ถูกตำรวจเรียกตัวไปสอบถามข้อมูลที่สถานีตำรวจ โดยไม่มีหมายเรียกใดๆ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าหนึ่งในผู้ถูกจับกุมจากเหตุการณ์ชุมนุมวันที่ 18 พ.ย. 2565 ถูกบุคคลต้องสงสัยพยายามติดตามระหว่างการเดินทางกลับบ้านหลังได้รับการประกันตัวด้วย
ไม่เพียงแต่กลุ่มนักกิจกรรมทางการเมืองเท่านั้น ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้รับโทรศัพท์ติดต่อกัน 2-3 สัปดาห์ก่อนการประชุมโดยอ้างถึงเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับแผนกิจกรรมระหว่างการประชุมเอเปค และมีการข่มขู่ครอบครัว เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เข้าเยี่ยมผู้อำนวยการเพื่อสอบถามถึงแผนงานในช่วงการประชุมเอเปคอีกครั้ง
ในส่วนของการติดตามออนไลน์ จากข้อมูลของไอลอว์พบว่า ระหว่างวันที่ 16-17 พฤศจิกายน 2565 นักกิจกรรม, นักกฎหมาย, ภาคประชาสังคม, ผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงผู้ลี้ภัยชาวไทย 44 คน ได้รับคำแจ้งเตือนผ่านเฟสบุ๊ค ระบุว่า “การแจ้งเตือนเกี่ยวกับผู้โจมตีที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือผู้โจมตีที่เชี่ยวชาญ” โดยมีข้อสังเกตว่า องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมระดับชาติและระดับประเทศหลายคน ได้รับคำแจ้งเตือนดังกล่าว ในจำนวนนี้ มีทนายความด้านสิทธิมนุษยชน 5 ราย
#แนวโน้มการคุกคามในเดือนธันวาคม
สาเหตุหลักที่ทำให้ประชาชนถูกคุกคาม ยังคงเป็นการที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ ไม่เฉพาะเพียงแค่สมาชิกราชวงศ์เท่านั้น สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงสิทธิเสรีภาพที่ถูกจำกัดในประเทศไทย การทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วม หรือแม้แต่การถือป้ายกระดาษก็นำไปสู่การควบคุมตัวได้แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ลังเลเลยที่จะใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง
ดังนั้น จึงสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการคุกคามในเดือนธันวาคมได้ว่า การคุกคามจะทวีความเข้มข้น และมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม การจัดกิจกรรมในประเด็นทางการเมืองทุกรูปแบบ โดยนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆหรือแม้แต่จะมีผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียวก็ตาม จะยังคงถูกเพ่งเล็งและขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่
ตามปฏิญญาว่าด้วยสิทธิและความรับผิดชอบของปัจเจกกลุ่มคนและองค์กรทางสังคมในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ขั้นพื้นฐานอันเป็นที่ยอมรับในทางสากล (“ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”) บทบาทที่สำคัญของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนได้รับ การยอมรับและยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานและพันธกรณีของรัฐที่จะต้องคุ้มครองพวกเขา ตามข้อ 1 ของปฏิญญานี้ อีกทั้งยังยอมรับว่า บุคคลหรือกลุ่ม มีสิทธิดาเนินกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสงบ โดยไม่ต้องหวาดกลัวหรือไม่ต้องถูกตอบโต้ตามข้อ 5 และตามข้อ 4 นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ได้รับ หลัก ประกันคุ้มครองสิทธิทางพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตามกติกา ICCPR โดยรัฐจะใช้ มาตรการทั้งปวงที่จำเป็นเพื่อคุ้มครองบุคคล ที่ถูกละเมิดสิทธิ เพราะการดำเนินงานตามข้อ 2 และ 15 ของปฏิญญานี้เนื่องด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กับองค์กรภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมทางการไทย ไม่ได้ประกันให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเกื้อหนุนต่อการดาเนินงานเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ดีเครือข่ายภาคประชาสังคมรายงานว่าทางการ ได้ติดตามตัว สอดแนมข้อมูล ข่มขู่ คุกคามต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ชุมนุมประท้วงอย่างต่อเนื่อง