#รายงานการชุมนุมและสถานการณ์การคุกคามที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและการแสดงออก รายเดือนธันวาคม 2565
ในเดือนธันวาคมนี้ มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 40 ครั้ง โดยประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุด ได้แก่ ประเด็นเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอย่างน้อย 33 ครั้ง เป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง 32 ครั้ง แบ่งเป็นการจัดกิจกรรมโดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ บริเวณหน้าศาลฎีกา กรุงเทพฯ ทั้งหมด 27 ครั้ง ในต่างจังหวัด มีการจัดกิจกรรมยืนหยุดทรราชที่ลานท่าแพ จ.เชียงใหม่ ทั้งหมด 2 ครั้ง ยืนหยุดขังที่ จ.อยุธยา 2 ครั้ง และยืนหยุดขังที่ จ.นครปฐม 1 ครั้ง นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรม “ซานต้ามาตามเพื่อนกลับบ้าน” ของกลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้คนในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นการยืนหยุดขัง, เขียนป้ายผ้า, เขียนจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ และร่วมเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของประชาชนผ่านดนตรีฮิปฮอป
ประเด็นที่มีการเคลื่อนไหวรองลงมา คือการจัดกิจกรรมต่อต้านการประหารชีวิตนักศึกษาเมียนมา 7 คน ที่ จ.เชียงใหม่ อย่างน้อย 2 ครั้ง โดยสภานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสถานกงสุลสหรัฐอเมริกา และสถานกงสุลเมียนมา เพื่อเรียกร้องให้กดดันและแทรกแซงศาลเมียนมา ในวันเดียวกันนั้น กลุ่มก่อการล้านนา ได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ประกอบไปด้วย Art performance อ่านบทกวี และอ่านแถลงการณ์ เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตนักศึกษาทั้ง 7 คน โดยกิจกรรมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมชาวไทยและเมียนมากว่า 100 คน
@Faozee
ประเด็นสิ่งแวดล้อม มีการชุมนุมอย่างน้อย 1 ครั้ง เป็นการชุมนุมปักหลักค้างคืนของกลุ่ม Beach for life เเละเครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด บริเวณหน้ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม ตั้งแต่วันที่ 6-9 ธ.ค. 2565 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกมติ ครม. ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินโครงการป้องกันปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ,ให้โครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ต้องผ่านการทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมก่อน และให้เร่งฟื้นฟูชายหาดที่ได้รับความเสียหายจากโครงการกำแพงกันคลื่นในช่วงที่ผ่านมา ท้ายที่สุดหน่วยงานต่างๆ ก็รับหลักการและดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม โดยกำหนดกรอบเวลาการทำงาน 90-120 วัน ก่อนนำเสนอผลให้คณะรัฐมนตรี
@Wirocha
นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมในประเด็นปากท้องอย่างน้อย 1 ครั้ง โดยกลุ่มสมัชชาคนจน จัดกิจกรรมสัมมนาที่มีชีวิต : Life Symposium “มนต์รักรัฐธรรมนูญคนจน : เมื่อหิ่งห้อยจะพรายแสง” บริเวณหน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อให้พรรคการเมืองได้ทราบความต้องการของประชาชนคนจน นำไปสู่การออกแบบและผลักดันนโยบาย ตลอดจนการร่วมลงนามสัญญาประชาคมเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เพื่อแก้ไขปัญหาของคนจนและประชาชนอย่างเท่าเทียม #สถานการณ์การดำเนินคดี ประจำเดือนธันวาคม 2565 ในเดือนธันวาคมนี้ ยังไม่มีการดำเนินคดีใหม่มากนัก แต่มีคำพิพากษาคดีจากการชุมนุมและแสดงออกในช่วงปี 2563-2564 อย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาไม่น้อยกว่า 6 คดี ส่วนคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก็มีคำพิพากษาออกมาอีก 12 คดี ขณะที่สถานการณ์การร้องขอถอนประกันตัวและไต่สวนนักกิจกรรมหลายคนที่แสดงออกทางการเมืองจากกรณีเข้าร่วมการชุมนุมในช่วงประชุม APEC ก็ยังเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองต่อไป
ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,888 คน ในจำนวน 1,165 คดี มีจำนวน 292 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 873 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ ในจำนวนนี้ เป็นกลุ่มเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 283 ราย ใน 210 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 6 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดีมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีการถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 3,759 ครั้ง
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 225 คน ในจำนวน 243 คดี
ในเดือนนี้ มีคำพิพากษาคดีมาตรา 112 เพิ่มอีก 6 คดี ยกฟ้อง 1 คดี ได้แก่ ชัยชนะ ผู้ป่วยจิตเวช กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ในเฟซบุ๊ก จำนวน 4 ข้อความ เมื่อต้นปี 2564 เหตุพิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยเป็นเจ้าของเฟซบุ๊ก-โพสต์ 4 ข้อความที่ถูกฟ้องพิพากษาว่ามีความผิด ลงโทษจำคุกแต่ให้รอลงอาญา 3 คดี ได้แก่ ธัญดล (สงวนนามสกุล) กรณีแชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUK” จำนวน 2 โพสต์เกี่ยวกับการอุ้มบริษัทการบินไทย เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ศาลพิพากษาจำคุกทั้ง 2 กรรม รวม 6 ปี ก่อนลดกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุก 2 ปี 12 เดือน และให้รอลงอาญา 3 ปี เนื่องจากไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน อีกทั้ง จำเลยน้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 10 จึงเห็นควรให้โอกาส พนิดา กรณีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์ใต้ฐานของรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 จำนวน 2 แห่ง ในเมืองพัทยา ศาลพิพากษาจำคุกรวม 6 ปี แต่ให้การรับสารภาพจึงลดโทษเหลือ 2 ปี 12 เดือน และให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี เนื่องจากจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และได้ขอขมาต่อหน้ารูปรัชกาลที่ 10 แล้ว นอกจากนี้ ยังมีคดีของ เพชร ธนกร (สงวนนามสกุล) กรณีขึ้นปราศรัยกล่าวถึงสถานะกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และการยืนยันเรื่องคนเท่ากัน ในการชุมนุมคนนนท์ท้าชนเผด็จการ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 ศาลเยาวชนและครอบครัวนนทบุรียกฟ้องมาตรา 116 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 112 จำคุก 1 ปี 6 เดือน ให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี และให้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติของจำเลย พิพากษาว่ามีความผิด ลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา 2 คดี ได้แก่ พรชัย วิมลศุภวงศ์ กรณีถูกกล่าวหาว่าโพสต์คลิปวิดีโอภาพตนเองพูดถึงการปฏิรูปกษัตริย์ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ออกกฎหมายขยายพระราชอำนาจ และการยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของสถาบันกษัตริย์ รวมทั้งโพสต์ข้อความและรูปภาพลงในเฟซบุ๊ก รวมทั้งหมด 3 โพสต์ ศาลพิพากษาว่ามีความผิดจากกรณีโพสต์คลิปวิดีโอจำนวน 1 โพสต์ ลงโทษจำคุก 3 ปี ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และอนุญาตให้ประกันตัว ระหว่างอุทธรณ์ อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล กรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “John New World” รวม 5 ข้อความ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ศาลพิพากษาว่ามีความผิด ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ทั้งหมด 5 กรรม ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ จึงมีเหตุลดโทษให้เหลือจำคุกกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมโทษจำคุก 5 ปี 30 เดือน (หรือประมาณ 7 ปี 6 เดือน) โดยไม่รอลงอาญา ระหว่างรอศาลอุทธรณ์พิจารณาคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราว เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ ตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2566 ต่อมา ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ชี้ข้อหาอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำส่งผลกระทบต่อความสงบสุขและความมั่นคงของรัฐ ทำให้อุกฤษฏ์ถูกคุมขังต่อไป
สรุปภาพรวมสถานการณ์การดำเนินคดีมาตรา 112 ของปี 2565 พบว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องเพียง 5 คดี จากอย่างน้อย 32 คดีที่มีคำพิพากษา เกินครึ่งเป็นคำพิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ทั้งนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ได้ให้การคุ้มครองบุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ข้อ 19 และสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบภายใต้ข้อ 21 อีกทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ระบุถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ทั่วโลก โดยกล่าวว่า บุคคลสาธารณะทุกคน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ล้วนเป็นผู้ที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างชอบธรรม และการต่อต้านคัดค้านทางการเมือง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของรัฐนั้นไม่ควรเป็นเรื่องต้องห้าม แม้ในกรณีที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นอาจถูกมองว่าเป็นโทษที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท คณะกรรมการฯ ได้ลงความเห็นว่า “โทษจำคุกไม่ใช่เป็นการลงโทษที่เหมาะสมในทุกกรณี”
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี
ในเดือนนี้ มีคำพิพากษาคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งหมด 13 คดี เป็นคำพิพากษายกฟ้อง 9 คดี ได้แก่ ชลธิชา แจ้งเร็ว, ธัชพงศ์ แกดำ และ น.พ.ทศพร เสรีรักษ์ กรณีชุมนุมที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรม เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2563 ธีรยุทธ อุดทา และจิตรกร แจคโคบี กรณีชุมนุมม็อบ28กุมภา2564 บริเวณหน้า สน.ดินแดง ในส่วนของจิตรกร ศาลยังยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในกรณีถูกจับกุมหลังการชุมนุม “ประชาชน VS ทรราช” หรือ #ม็อบ22สิงหา2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจัดโดยกลุ่มทะลุฟ้า แต่ลงโทษปรับฐานมีวิทยุสื่อสารไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นเงิน 4,000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษปรับ 2,000 บาท กุลกานต์ จินตกานนท์ กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำคณะราษฎรนครนายก และจัดกิจกรรมคาร์ม็อบในจังหวัดนครนายก เมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2564 นักกิจกรรม 5 คน กรณีเข้าร่วมชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ” ที่สวนรัชดานุสรณ์ หน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 กรกช แสงเย็นพันธ์ กรณีร่วมชุมนุมม็อบ21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 สำหรับการชุมนุมดังกล่าว จำเลยในคดีเดียวกันถูกยกฟ้องไปแล้ว 8 คน นักกิจกรรม 9 คน จากคดีการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2564 เรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” หรือ 4 แกนนำราษฎรที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112 และคดีการชุมนุมวันที่ 1 มี.ค. 2564 ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น ประณามตำรวจที่ใช้ความรุนแรงเข้าสลายม็อบ28กุมภา ศาลพิพากษายกฟ้องทั้ง 2 คดี วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล กรณีร่วมกันชุมนุมจัดงานวันคล้ายวันเกิดให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณร้านแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2564 ศาลยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากผู้เข้าร่วมไม่เยอะ แต่สั่งปรับข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 200 บาท
คดีที่ถูกตัดสินว่ามีความผิด 3 คดี ได้แก่ ภาณุพงศ์ จาดนอก, ธนชัย เอื้อฤาชา และ ฉัตรมงคล วัลลีย์ กรณีร่วมกิจกรรม “ตามหานาย” เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 บริเวณหน้ากองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากผู้บังคับบัญชา ในการลงโทษพลทหารนอกเครื่องแบบจำนวน 3 นาย ที่เข้ามาล็อคแขนและคอผู้ชุมนุม ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกภานุพงศ์ 9 เดือน และปรับ 15,150 บาท จำคุกธนชัย 9 เดือน และปรับ 14,250 บาท จำคุกฉัตรมงคล 6 เดือน และปรับ 10,500 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ชาญชัย ปุสรังษี กรณีชุมนุมม็อบ8กุมภา หรือ StandWithMyanmar หน้าสถานเอกอัครทูตสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อต่อต้านการรัฐประหารของ พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2564 ศาลพิพากษาว่ามีความผิดทุกข้อกล่าวหา ทั้งฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ รวมโทษจำคุกทุกข้อหา 4 ปี 1 เดือน ปรับ 16,000 บาท ลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ เหลือโทษจำคุก 1 ปี 12 เดือน 15 วัน และลงโทษปรับ 8,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี และคุมประพฤติจำเลย 1 ปี ประชาชน 7 คน กรณีเข้าร่วมชุมนุมคาร์ม็อบ1สิงหา เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ศาลพิพากษาว่ามีความผิดข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 5,000 บาท และฐานส่งเสียงอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร ปรับคนละ 1,000 บาท รวมปรับคนละ 6,000 บาท เป็นเงิน 42,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีการพิพากษาคดีของ ภูมิ ศศลักษณ์ ซึ่งถูกฟ้องในหลายข้อหารวมถึงฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมกับคณะราษฎรอีสาน เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลเยาวชนฯ สั่งลงโทษจำคุกรวมกัน 2 ปี 5 วัน แต่ให้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นนำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยภูมิยังได้รับการประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา
อย่างไรก็ตาม เดือนนี้ยังมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีของ ชลธิชา แจ้งเร็ว, เอกชัย หงส์กังวาน, ภาณุพงศ์ จาดนอก และวีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล กรณีร่วมชุมนุมของคณะราษฎร ที่หน้ารัฐสภา เกียกกาย เพื่อติดตามการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่ยื่นต่อสภา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2563 เนื่องจากไม่ปรากฏว่าผู้ต้องหาทั้ง 4 คน อยู่บริเวณที่เกิดเหตุชุลมุนหรือไม่ จึงไม่มีหลักฐานว่าประทุษร้ายเจ้าพนักงาน และสถานที่ไม่แออัด
สรุปภาพรวมการดำเนินคดีตามข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในปี 2565 แม้ว่าจะมีการประกาศยุติการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว แต่ยังมีคดีที่อยู่ในชั้นพิจารณาคดีอยู่มาก อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคดีจะเข้าสู่ชั้นศาลแล้ว อัยการยังสามารถใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดว่าเมื่อพนักงานอัยการเห็นว่าการฟ้องคดีอาญาจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงของชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสําคัญของประเทศ อัยการสูงสุดมีอํานาจสั่งไม่ฟ้องได้ โดยอำนาจดังกล่าวนั้นรวมถึงการถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ หรือถอนฎีกาด้วย ในหลายๆคดี ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องหรือศาลมีคำพิพากษายกฟ้องนั้น เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่ากิจกรรมทางการเมืองนั้นนำไปสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 มากขึ้นอย่างไร
ที่ผ่านมา มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อดำเนินคดีผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งการแสดงออกดังกล่าว ได้รับการคุ้มครองภายใต้ ข้อ 21 ของ ICCPR เสรีภาพในการแสดงออกและในข้อมูล ภายใต้ข้อ 19 ของ ICCPR เสรีภาพในการเคลื่อนไหว ภายใต้ข้อ 12 ของ ICCPR และสิทธิในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจ ภายใต้ข้อ 25 ของ ICCPR อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีเหล่านั้นต่อประชาชนไม่ถือว่ามีความจำเป็นและได้สัดส่วน และข้อที่ 4 ของ ICCPR จะให้รัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณีของตนภายใต้ ICCPR ได้เท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนตามสถานการณ์ฉุกเฉินของสถานการณ์ โดยประเทศไทยได้แจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติได้รับรู้ มีผลบังคับใช้วันที่ 26 มี.ค. 2563 ถึง 30 มิ.ย. 2563 ซึ่งไม่ได้ทำการแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยจึงไม่ได้มีการใช้สิทธิในการเลี่ยงพันธกรณีภายใต้ ICCPR หลังจากวันที่ 30 มิถุนายน 2563
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 76 คดี
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 159 คน ในจำนวน 179 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี
ในเดือนนี้ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว จิรัชยา สกุลทอง ข้อหาดูหมิ่นศาล กรณีปราศรัยเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวของ “ไบรท์ ชินวัตร” ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 วางหลักทรัพย์ 14,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไข ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) และห้ามกระทำในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีก ทำให้จิรัชยาได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง วันที่ 14 ธ.ค. 2565 รวมถูกคุมขัง 19 วัน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมนี้ ยังมีกรณีนักกิจกรรมหลายคนถูกไต่สวนถอนประกันตัว จากการแสดงออกในช่วงการประชุมเอเปค เมื่อกลางเดือนพฤศจิกายน 2565 โจเซฟ ถูกร้องขอถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 กรณีปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” จากการเข้าร่วมการชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 แต่หลังการไต่สวน ศาลมีคำสั่งไม่เพิกถอนประกัน เห็นว่า ข้อเท็จจริงยังฟังไม่ขึ้นว่าการเข้าร่วมการชุมนุมของโจเซฟก่อให้เกิดความไม่สงบและวุ่นวายอย่างไร เก็ท โสภณ กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ใบปอ กรณีแชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “งบสถาบันกษัตริย์” จากเพจ “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 และ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ กรณีไลฟ์สดหน้า UN ก่อนเวลาที่ขบวนเสด็จจะผ่านถนนราชดำเนินนอก เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2565 ทั้ง 3 คนถูกเจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรมร้องขอถอนประกัน เนื่องจากเข้าร่วมการชุมนุมในช่วงการประชุม APEC โดยศาลได้นัดฟังคำสั่งของเก็ทและใบปอในวันที่ 9 ม.ค. 2566 นี้ พร้อมนัดไต่สวนตะวันในวันเดียวกัน
#ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี
ในเดือนธันวาคม มีการปล่อยตัว จิรัชยา สกุลทอง กรณีปราศรัยเรียกร้องให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวของ “ไบรท์ ชินวัตร” ที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 พร้อมกำหนดเงื่อนไข ทำให้เธอได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 14 ธ.ค. 2565 รวมถูกคุมขัง 19 วัน และมีการคุมขัง อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุล จากกรณีโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “John New World” เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิด ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ทั้งหมด 5 กรรม รวมโทษจำคุก 5 ปี 30 เดือน โดยที่ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เอก (นามสมมติ) ถูกสั่งฟ้องกรณีถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” มีเนื้อหาเชื่อมโยงรัชกาลที่ 10 กับคุกวังทวีวัฒนา ทำให้เดือนธันวาคม มีผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีเพิ่มเป็น 11 คน ดังนี้
สำหรับผู้ถูกคุมขังที่คดีถึงที่สุดแล้วมีทั้งหมด 6 คน ได้แก่ อัญชัญ (ม.112), ศุภากร (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ), มะ ณัฐชนน, พลทหารเมธิน (ม.112), กฤษณะและวรรณภา (คดีสหพันธรัฐไท ข้อหาอั้งยี่)
ทั้งนี้ สิทธิในการได้รับการประกันตัว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้หลักการที่จะต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งถูกรับรองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อที่ 11 (1) ระบุว่า ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิด ทางอาญา มีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อน ว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตาม กฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผย ซึ่งตนได้รับ หลักประกันที่จำเป็นทั้งปวงสำหรับการต่อสู้คดี และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อที่ 14(2) ระบุว่า บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทำผิดอาญา ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ซึ่งประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคี โดยการภาคยานุวัติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 และมีผลบังคับใช้กับไทยเมื่อวันที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2540
#สถานการณ์การคุกคามประชาชน ประจำเดือนธันวาคม 2565
ในเดือนธันวาคม 2565 พบว่า การคุกคามประชาชนลดลงจากเดือนพฤศจิกายนอย่างมาก เนื่องจากไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่ รวมถึงไม่มีการรวมตัวบุคคลสำคัญเช่น การประชุม APEC 2022 ทำให้การคุกคามนักกิจกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้มีการประท้วงลดลง มีประชาชนอย่างน้อย 11 ราย ถูกเจ้าหน้าที่รัฐคุกคามด้วยสาเหตุต่างๆ ดังนี้
การคุกคามเนื่องจากมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่
- สมาชิกราชวงศ์
ประชาชนและนักกิจกรรมภาคใต้อย่างน้อย 3 ราย ถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าไปติดตามคุกคามถึงที่บ้านและที่ทำงาน เพราะทางเจ้าหน้าที่ต้องการทราบว่ามีใครจะไปร่วมงานรับปริญญาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ที่มีสมเด็จฯเจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา เป็นผู้เสด็จไปพระราชทานปริญญาบัตรบ้างหรือไม่ วาฬ (นามสมมติ) เปิดเผยว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจำนวน 3 นาย มาหาที่บ้าน อ้างว่ามาเยี่ยมเยียนและพูดคุยสอบถาม โดยเจ้าหน้าที่พยายามชวนคุยเรื่องต่างๆ และพยายามขอถ่ายรูป กวาง (นามสมมติ) กล่าวว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย ไปตามหาตัวถึงที่ทำงาน แต่ไม่พบตัวจึงไปสอบถามกับเพื่อนร่วมงานว่ากวางจะไปงานรับปริญญาหรือไม่ นอกจากนี้ นักกิจกรรมในพื้นที่อีกรายยังถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคาม เพื่อสอบถามความเคลื่อนไหวในช่วงงานรับปริญญา โดยมีการไปติดตามหาตัวที่บ้าน และร้านกาแฟที่ไปกินบ่อยๆ เพื่อพยายามให้ยืนยันว่าจะไม่เดินทางไปที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีในช่วงอาทิตย์นี้
นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ถูกทหารเข้าแย่งป้ายข้อความมนุษย์ทุกคนเกิดมาเท่าเทียม และปริญญาศักดินา ที่นำไปยืนชูป้ายแสดงออกบริเวณที่ญาตินั่งรอบัณฑิต ขณะพระเทพฯเสด็จไปพระราชทานปริญญา ขณะกำลังเดินทางกลับ มีนิสิต 1 คน ถูกเจ้าหน้าที่แย่งป้ายแล้วผลักตกน้ำ หลังจากเหตุการณ์นั้น ตำรวจนอกเครื่องแบบยังพยายามพาตัวนิสิตกลุ่มดังกล่าวไปสถานีตำรวจ อ้างเพื่อไปพูดคุย แต่กลุ่มนิสิตปฏิเสธ และเมื่อเดินทางกลับ นอกจากมีเจ้าหน้าที่ขับรถตามแล้ว ตำรวจ ทหาร และพม. ยังตามมาวางกำลังเฝ้าบ้านพัก คาดว่าจะเฝ้าไม่ให้ไปแสดงออกอีกจนกว่าพระเทพฯจะเสด็จกลับ วันต่อมา ยังมีชายแต่งกายคล้ายนอกเครื่องแบบ ไปยืนเฝ้าบริเวณหอพักของนิสิตกลุ่มดังกล่าวด้วย
นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอกจำนวนหนึ่ง ถูกเจ้าหน้าที่ติดตามคุกคามระหว่างที่รัชกาลที่ 10 เสด็จไปที่อุบลราชธานี นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่า นักเรียนมัธยม 2 คน ถูกจับไปที่ สภ.เมืองอุบลฯ ระหว่างชูสามนิ้ว ขณะ ร.10 เสด็จ เมื่อถูกควบคุมตัวไปที่ สภ. แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่อนุญาตให้ทนายเข้าพบ มีรายงานว่ามีการเรียกผู้ปกครองและครูให้ไปทำบันทึกว่าจะไม่ทำพฤติกรรมลักษณะดังกล่าวอีกหลังถูกคุมตัวนานกว่า 6 ชม. นักเรียนทั้ง 2 คน จึงได้รับการปล่อยตัว เบื้องต้นที่ สภ.เมืองอุบลฯ ยังไม่มีการดำเนินคดี แต่ตำรวจก็ไม่อนุญาตให้ถ่ายภาพบันทึกประจำวัน
การคุกคามเพื่อขัดขวางการจัดกิจกรรม
กลุ่มนิติซ้าย – Law of Left นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประกาศจัดกิจกรรมเล่นบอร์ดเกมส์ Patani Colonial Territory แต่ก่อนกิจกรรมจะเริ่ม มีเจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบไม่ทราบสังกัด 1 ราย เข้ามาสอบถามข้อมูลการจัดกิจกรรม นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าทางเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบรายนั้นได้ขอดูข้อมูลกล้องวงจรปิดของคณะนิติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมดังกล่าว และได้บันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดภายในคณะไปด้วย ทำให้กลุ่มผู้จัดตัดสินใจยกเลิกกิจกรรม
แนวโน้มการคุกคามในเดือนมกราคม 2566
ในเดือนธันวาคมปี 2565 การคุกคามเนื่องจากมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ ยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการคุกคามประชาชนมากที่สุด เจ้าหน้าที่รัฐยังคงจับตามองการแสดงออกของประชาชนอย่างหนัก การทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วม หรือแม้แต่การถือป้ายกระดาษก็นำไปสู่การควบคุมตัวได้แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ลังเลเลยที่จะใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง
ดังนั้น จึงสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการคุกคามในปี 2566 ได้ว่า การคุกคามจะทวีความเข้มข้น และมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม การจัดกิจกรรมในประเด็นทางการเมืองทุกรูปแบบ โดยนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆหรือแม้แต่จะมีผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียวก็ตาม จะยังคงถูกเพ่งเล็งและขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่