รายงานการชุมนุมและสถานการณ์ การคุกคาม ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 78 ครั้ง แม้ว่าศาลจะมีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด 15 คนในเดือนนี้ แต่เนื่องจากยังมีผู้ถูกคุมขังอยู่ ได้แก่ คทาธร เขาถูกคุมขังจากการถูกกล่าวหาว่ามีวัตถุระเบิดในครอบครอง ตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 เป็นเวลามากกว่า 300 วัน และยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัว อีกทั้ง ศาลยังสั่งลงโทษจำคุก ถิรนัย และ ชัยพร ผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ซ ซึ่งถูกจับกุมที่ด่านตรวจก่อน ม็อบ 29 สิงหา 64 และตรวจพบระเบิดปิงปอง ทำให้ถูกดำเนินคดีข้อหามีวัตถุระเบิดในครอบครอง ทั้งคู่ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี ลดเหลือจำคุก 3 ปี ทั้งคู่จึงถูกนำตัวไปคุมขังตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565และยังไม่ได้รับการประกันตัว เมื่อศาลยังไม่คืนสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งหมด ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ(สงวนนามสกุล) จึงยืนยันที่จะอดน้ำอดอาหารต่อไป แต่เปลี่ยนสถานที่จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เป็นหน้าศาลฎีกา จึงทำให้การเคลื่อนไหวในประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้นโดยในเดือนนี้ มีการชุมนุมในประเด็นดังกล่าวอย่างน้อย 53 ครั้ง เป็นการจัดกิจกรรม ยืนหยุดขัง ที่จังหวัดกรุงเทพมหานครและปริมนฑล อย่างน้อย 37 ครั้ง จัดโดยกลุ่มกิจกรรมทางการเมืองต่างๆ ได้แก่ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ ที่จัดกิจกรรมยืนหยุดขังบริเวณหน้าศาลฎีกาทั้งวันจำนวน 29 ครั้ง ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐออกคำสั่งให้แก้ไขการชุมนุม มิฉะนั้นอาจจะถูกสลายการชุมนุมอย่างน้อย 2 ครั้ง กลุ่มทะลุฟ้า จำนวน 6 ครั้ง กลุ่มทะลุแก๊ส 1 ครั้ง และกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน 1 ครั้ง กิจกรรม ยืนหยุดทรราช จัดขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ อย่างน้อย 14 ครั้ง นอกจากกิจกรรมยืนหยุดขังแล้ว ยังมีกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวในรูปแบบอื่นอย่างน้อย 2 ครั้งได้แก่ เสวนาคำขานรับข้อเสนอตะวัน-แบม แนวทางการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมไทย จัดโดยองค์กรสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยหลายองค์กร เพื่อเรียกร้องให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คืนสิทธิประกันตัวแก่ผู้ต้องขัง และลดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มลานยิ้มการละคร ได้จัดกิจกรรม วาดหวัง เพื่อวาดรูปส่งกำลังใจให้ตะวัน-แบม และผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่นที่ถูกคุมขังอย่างไม่เป็นธรรม
ขณะที่ทานตะวันและแบมปักหลักอยู่บริเวณหน้าศาลฎีกา ปรากฏว่ามีกลุ่มคนเข้ามาคุกคามเพื่อหวังก่อความวุ่นวายในยามวิกาล รวมถึงการชุมนุมอยู่ใกล้เคียงกับประตูทางออก จึงอาจทำให้ประชาชนและเจ้าหน้าที่ศาลไม่ได้รับความสะดวกในการเข้า-ออกศาลฎีกา ทั้งคู่จึงส่งตัวแทนไปยื่นหนังสือต่อประธานศาลฎีกา เพื่อขอเข้าไปอดน้ำอดอาหารบริเวณด้านหน้าของพระรูปกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ หน้าอาคารศาลฎีกาด้านทิศเหนือและขอความอนุเคราะห์ในการใช้น้ำและไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ฉุกเฉินด้วย
@Faozee กิจกรรมที่มีการชุมนุมรองลงมาคือประเด็นต่อต้านคำสั่งโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมของ นายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ อย่างน้อย 13 ครั้ง แบ่งเป็นการจัดกิจกรรมโดยภาคีกลุ่มเพื่อนหมอสุภัทรจำนวน 10 ครั้ง ซึ่งมีการจัดกิจกรรมหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการปักหลักชุมนุมค้างคืนที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ตั้งแต่วันที่ 6-15 กุมภาพันธ์ 2566 ระหว่างปักหลักชุมนุม มีเจ้าหน้าที่รัฐมาแจ้งมวลชนให้ออกจากที่ชุมนุมอย่างน้อย 2 ครั้ง การยื่นหนังสือคัดค้านคำสั่งย้ายหมอสุภัทรที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรีด้วย แต่มีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ปิดประตูกระทรวงเพื่อไม่ให้ชาวบ้านเข้าไปยื่นหนังสือ รวมถึงยื่นหนังสือร้องเรียนต่อรัฐสภาและรัฐบาล นอกจากกิจกรรมดังกล่าว ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยการแขวนกล้วยหน้าเขตสุขภาพที่ 12 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดสงขลา แจกใบปลิวที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ กิจกรรมนี้ตำรวจได้แจ้งแก่ผู้ชุมนุมว่าขอให้อยู่เป็นจุดและประกาศว่าเป็นการชุมนุมที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตชุมนุม นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาและวางพวงหรีดหน้าสำนักงานพรรคภูมิใจไทยด้วย ซึ่งจัดร่วมกับเครือข่ายรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย ไม่เพียงเท่านั้น ในจังหวัดสงขลา นักศึกษาชมรมอนุรักษ์ ม.อ.ปัตตานี ยังจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ และมีการอ่านแถลงการณ์กล่าวว่าการย้ายหมอสุภัทรที่เกิดจากกระบวนใช้อำนาจอันไม่ชอบธรรม นักวิชาการ ม.อ.ปัตตานีก็ได้ออกแถลงการณ์เพื่อสนับสนุนนายแพทย์สุภัทรเช่นกัน
ในส่วนประเด็นเรียกร้องให้มีการแก้ไขข้อกฎหมาย มีการชุมนุมอย่างน้อย 6 ครั้ง เป็นการชุมนุมโดย สหภาพลูกจ้างของรัฐแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมยื่นหนังสือที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี เพื่อขอให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสวัสดิการของลูกจ้างและพนักงานกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด 6 ข้อ
@Faozee หยก เด็กหญิงอายุ 14 ปี ซึ่งเป็นเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 ของประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์ถึงการใช้มาตรา 112 ในการลิดรอนเสรีภาพเด็กและเยาวชนจากรัฐไทย นอกจากนี้ หยกยังเป่าเค้กวันเกิด และฉีกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวในข้อหาดังกล่าวหน้าองค์การสหประชาชาติ เพื่อเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อประชาคมโลก นักเคลื่อนไหวไร้สัญชาติ จัดกิจกรรมทำโพลสำรวจว่า “คุณคิดว่าคนไร้สัญชาติควรมีสิทธิ์ในการเลือกตั้งหรือไม่” ที่ประตูท่าแพและอ่างแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อรับฟังความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าว
@Faozee ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. .... ที่ให้แก้ไขพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 ซึ่งจะมีผลบังคับในวันที่ 22 ก.พ. 2566 โดยให้เลื่อนการบังคับใช้ มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ซึ่งเป็นมาตราเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจขณะตรวจค้น จับกุม ควบคุมตัวและขัง เพื่อป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจโดยมิชอบ ออกไปก่อน ด้วยเหตุดังกล่าว องค์กรภาคประชาชนหลายองค์กร จึงได้รวมตัวกันยื่นหนังสือคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้ตรา พ.ร.ก. แก้ไข พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ที่ทำเนียบรัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ก็ได้ยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อกระทรวงยุติธรรม เพื่อผลักดันให้มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย ตามกำหนด
มีการจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ต่างๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ กลุ่ม Bright Future นัดรวมตัวกันทำกิจกรรมครบรอบ 2 ปี รัฐประหารในประเทศเมียนมา บริเวณสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย โดยมีการอ่านแถลงการณ์และจำลองเหตุการณ์ทหารเมียนมาทำร้ายประชาชน กลุ่มผู้ชุมนุมชาวยูเครน รวมถึงชาติอื่นๆ ได้รวมตัวกันแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เพื่อต่อต้านการรุกรานยูเครนของประเทศรัสเซีย พร้อมกับแสดงจุดยืนไม่เอาสงคราม ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตยูเครนประจำประเทศไทย
นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมในประเด็นสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 1 ครั้ง ได้แก่ ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จังหวัดอุดรธานี รวมตัวกันเดินรณรงค์คัดค้านสัมปทานเหมืองแร่โปแตชพร้อมกระจายข่าวหาแนวร่วมในการยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองในปลายเดือนมีนาคม และมีการชุมนุมในประเด็นอื่นๆ อย่างน้อย 1 ครั้ง ได้แก่ ศิษย์เก่าและศิษย์ปัจจุบัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย รวมตัวกันเพื่อแสดงจุดยืนในการคัดค้านในการย้ายสถานที่ตั้งของมหาวิทยาลัย ออกจากสถานที่ตั้งเดิมในที่ดินปัจจุบัน และยื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชมงคลตะวันออก
สถานการณ์การดำเนินคดีประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566
ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สถานการณ์การดำเนินคดีประชาชนยังเป็นไปอย่างเข้มข้น มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 6 คน ใน 5 คดี ขณะที่มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 4 คดี เป็นคำพิพากษายกฟ้อง 1 คดี ในส่วนของคดีตามข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ว่าจะมีการประกาศยกเลิกการบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2565 อย่างไรก็ตาม คดีต่างๆยังถูกดำเนินต่อไปตามกระบวนการในชั้นศาล ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้นักกิจกรรมอย่างมาก ในเดือนนี้ มีการออกหมายเรียกผู้ชุมนุม #ราษฎรหยุดAPEC2022 ไปดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก 5 ราย และมีคำพิพากษาออกมา 13 คดี ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,895 คน ในจำนวน 1,180 คดีในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 คน ใน 211 คดี แยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมกราคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 5 คน คดีเพิ่มขึ้น 11 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำมาเรียงต่อกัน จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,785 ครั้ง จากจำนวนคดี ดังกล่าว มีจำนวน 312 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 868 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 233 คน ในจำนวน 253 คดี
มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มอย่างน้อย 6 คน ใน 5 คดี เป็นการดำเนินคดีในชั้นสอบสวนอย่างน้อย 3 คน ใน 3 คดี ได้แก่ กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน ได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของตำรวจ กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กเผยแพร่ข้อความ รูปภาพ และวิดีโอ บิดเบือนให้ร้ายโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ในช่วงระหว่างวันที่ 8 ก.พ. ถึง 1 เม.ย. 2565 ดลพร (นามสมมติ) เดินทางไปพบตำรวจตามหมายเรียกพยาน แต่ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ต่อเขาโดยที่ไม่ได้เตรียมตัวมาก่อน อีกทั้งยังไม่มีการแจ้งสิทธิว่าสามารถติดต่อทนายมาร่วมกระบวนการดังกล่าวได้ ทั้งนี้ ดลพรถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊คโพสต์ตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของซุ้มเฉลิมพระเกียรติในกลุ่มตลาดหลวง นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ได้เข้าแจ้งความ เพชรนิล (สงวนนามสกุล) นิสิตชั้นปีที่ 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรณีถูกกล่าวหาว่าทำงานศิลปะหมิ่นตรา พระเกี้ยว ซึ่งพระราชทานจากรัชกาลที่ 5
มีผู้ถูกฟ้องคดีเพิ่มอย่างน้อย 3 คน ใน 2 คดี ได้แก่ อาร์ม (สงวนชื่อสกุลจริง) กรณีเผยแพร่คลิปวิดีโอกล่าวถ้อยคำหยอกล้อกับแมวในแอพ TikTok พริษฐ์ ชิวารักษ์ และปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล กรณีโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาเกี่ยวกับ The Land of Compromise และการประนีประนอมด้วยรถฉีดน้ำและการใช้กำลัง ในวันที่ตำรวจมีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม “ราษฎรสาส์น” วันที่ 8 พ.ย. 2563
ในเดือนกุมภาพันธ์ มีคำพิพากษาตามข้อหามาตรา 112 ออกมา 4 คดีเป็นคำพิพากษายกฟ้อง 1 คดี ได้แก่ สุรีมาศ (สงวนนามสกุล) กรณีแชร์ลิงก์คลิปผู้ทำพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ แต่ถูกกลุ่มปกป้องสถาบันไปกล่าวหาดำเนินคดีจากภาพปกของกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าวซึ่งเป็นภาพของรัชกาลที่ 10 คดีนี้ศาลพิพากษายกฟ้องเนื่องจากไม่ได้เป็นการหมิ่นสถาบัน เป็นคำพิพากษาว่ามีความผิด 3 คดี ได้แก่ อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล กรณีใช้บัญชีเฟซบุ๊กแชร์โพสต์ข่าวของเพจ Jonh New World เข้าไปยังกลุ่มรอยัลลิสต์ มาร์เก็ตเพลส เมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมของชาวต่างชาติเพื่อประท้วงพระมหากษัตริย์ไทยที่หน้าโรงแรมแห่งหนึ่งในประเทศเยอรมนี พร้อมข้อความประกอบการแชร์ว่า “อย่างนี้ต้องทรงพระเจริญเต็มที่เลยนะเนี่ย”ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษให้เหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่มีเหตุให้รอลงอาญา แต่ได้รับการประกันตัว สิริชัย นาถึง กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้พ่นสีข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก 112” ลงบนรูปของสมาชิกราชวงศ์รวม 6 จุดในบริเวณอำเภอคลองหลวง รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในช่วงเดือนมกราคม 2564ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 10 เดือน ปรับ 31,177 บาท ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 2 ปีศาลให้เหตุผลว่า การพ่นบนรูปภาพของสมาชิกราชวงศ์ ย่อมส่งผลกระทบต่อรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำที่ด้อยค่าและทำให้สถาบันเสื่อมเสีย รวมถึงพระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหาย **ธนพร (สงวนนามสกุล)**ผู้ถูกฟ้องจากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กส่วนตัวไปแสดงความคิดเห็นใต้โพสต์เฟซบุ๊กของเพจซึ่งเผยแพร่ภาพตัดต่อของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 8 เมื่อช่วงปี 2564 คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดจริง ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษให้คงจำคุก 2 ปี รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น ไม่รอการลงโทษจำคุกและไม่ต้องคุมประพฤติ เนื่องจากศาลเห็นว่าขณะกระทำผิด เธออายุ 21 ปี มีวุฒิภาวะมากพอแล้ว อย่างไรก็ตาม ธนพรได้รับการประกันตัวมาสู้คดีต่อในชั้นฎีกา
นอกจากการนำคดีมาตรา 112 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีรายงานว่ามีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเลย สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือแนวทางการตีความมาตรา 112 อย่างกว้างขวาง จนนำมาสู่คำพิพากษาที่ไม่สมเหตุสมผล เช่น คดีของสิริชัย และคดีของธนพร ที่ไม่ใช่การกระทำต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่กลับถูกตัดสินว่ามีความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากศาลตีความว่าย่อมมีผลกระทบถึงรัชกาลที่ 10 และสถาบันกษัตริย์ด้วย ทั้งนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ได้ให้การคุ้มครองบุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ข้อ 19 และสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบภายใต้ข้อ 21 อีกทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ระบุถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ทั่วโลก โดยกล่าวว่า บุคคลสาธารณะทุกคน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ล้วนเป็นผู้ที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างชอบธรรม และการต่อต้านคัดค้านทางการเมือง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของรัฐนั้นไม่ควรเป็นเรื่องต้องห้าม แม้ในกรณีที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นอาจถูกมองว่าเป็นโทษที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท คณะกรรมการฯ ได้ลงความเห็นว่า “โทษจำคุกไม่ใช่เป็นการลงโทษที่เหมาะสมในทุกกรณี”
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 128 คน ในจำนวน 40 คดี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,467 คน ในจำนวน 663 คดี
ในเดือนกุมภาพันธ์ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง 6 คดี ได้แก่ ชญานิน คงสง และ พนธกร พานทอง กรณีคดีคาร์ม็อบนครศรีธรรมราช ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 วิชพรรษ ศรีกสิพันธุ์ กรณีถูกกล่าวหากรณีเข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ7สิงหา64 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปจนถึงแยกดินแดง เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 นักกิจกรรม 4 คน กรณีเข้าร่วม #ม็อบ23กุมภา หรือ #ม็อบตำรวจล้มช้าง เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 ปิยรัฐ จงเทพ และ ชลธิชา แจ้งเร็ว กรณีเข้าร่วมชุมนุม21ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563 ซึ่งนับเป็นคดีที่ 10 ในเหตุการณ์เดียวกันที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ-พ.ร.บ.ชุมนุมฯ กรณีถูกกล่าวหาว่า ขึ้นปราศรัยและร่วมชุมนุมใน #ม็อบ6ธันวา จัดโดยกลุ่มราษฎรฝั่งธนฯ และกลุ่มฟันเฟืองธนบุรี บริเวณหัวถนนลาดหญ้าและวงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ศาลยกฟ้อง คือ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ และจำเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม
ยังมีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด เนื่องจากเห็นว่า ไม่ใช่สถานที่ปิด ไม่แออัด ผู้ชุมนุมสวมหน้ากาก ที่ผ่านมาไม่เคยปรากฏเกิดการแพร่เชื้อจากการชุมนุม แต่เกิดจากบ่อนพนัน สถานบันเทิง ตลาดสด ได้แก่ คดีของ ชาติชาย แกดำ กรณีร่วมปราศรัยในการชุมนุม #ปทุมธานีไม่ปรานีเผด็จการ บริเวณลานรถตู้ตรงข้ามฟิวเจอร์พาร์ครังสิต ตั้งแต่เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2563 อย่างไรก็ตาม ศาลพิพากษาว่ามีความผิด 6 คดี ลงโทษปรับเพียงอย่างเดียว 3 คดี ได้แก่ ประชาชน 8 คน กรณีเข้าร่วมชุมนุม #ทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต หรือ #ม็อบ18กรกฎา2564 ศาลลงโทษปรับคนละ 34,000 บาท อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 คน กรณีชุมนุมแฟลชม็อบ #เชียงใหม่จะไม่ทนtoo ซึ่งจัดขึ้นที่ลานประตูท่าแพ เมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2563 ศาลพิพากษาสั่งปรับคนละ 4,000 บาท เนื่องจากมีความเห็นว่าเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรค **ชิติพัทธ์ (สงวนนามสกุล)**กรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 ศาลพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบว่าจำเลยกระทำการตามฟ้อง โดยเห็นว่ามีความผิดเรื่องเดียวคือการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ5,000 บาท แต่เนื่องจากเขาเคยถูกคุมขังระหว่างสอบสวน 54 วัน จึงนำจำนวนวันที่ถูกคุมขังมาหักลบกับค่าปรับได้ และหากคดีถึงที่สุดแล้ว ชิติพัทธ์ก็สามารถทำเรื่องขอค่าทดแทนกรณีถูกคุมขังโดยไม่มีความผิดได้
ศาลพิพากษาลงโทษปรับและจำคุก 2 คดี ได้แก่ ปุณณเมธ อ้นอารี กรณีเป็นผู้จัดคาร์ม็อบพิษณุโลก “CARPARK Phitsanulok” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ศาลพิพากษาให้จำคุก 4 เดือน และปรับ 6,000 บาท ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ชาญชัย และ ธีรเมธ กรณีเข้าร่วมชุมนุมดินแดง เมื่อ 22 ก.ย. 2564 ศาลมีคำพิพากษาลงโทษ15 วัน ปรับคนละ 10,000 บาท ให้รอลงอาญาโทษจำคุกไว้ 1 ปี
นอกจากนี้ ยังมีคดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแก้-ไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษายกฟ้องของศาลชั้นต้น และย้อนสำนวนให้พิจารณาใหม่ คดีของ อภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบกำแพงเพชรจะไม่ทน เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 โดยมีการนัดฟังคำพิพากษาของศาลชั้นต้นอีกครั้งในวันที่ 20 มี.ค. 2566
ในส่วนของคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ทยอยออกมาเรื่อยๆ พบว่า ศาลมีคำพิพากษายกฟ้อง อย่างน้อย 61 คดี รองลงมาคืออัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี อย่างน้อย 39 คดี และคดีที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด อย่างน้อย 32 คดี แม้ว่าแนวโน้มคำพิพากษาส่วนใหญ่ของคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯคือการยกฟ้อง แต่การขั้นตอนการต่อสู้คดีในกระบวนการยุติธรรม ยังคงเป็นภาระให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีอย่างมาก เช่น กรณีของชิติพัทธ์ (สงวนนามสกุล) เขาถูกฝากขังระหว่างสอบสวน 54 วัน จนติดเชื้อโควิด 19 ในเรือนจำ ระหว่างที่เขาถูกคุมขัง มารดาของเขาก็มีความเป็นอยู่ที่ลำบากมากกว่าเดิม ก่อนที่ศาลจะสั่งปรับเพียงข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเท่านั้น
@Chanakarn 4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 132 คน ในจำนวน 77 คดี
ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สน.สำราญราษฎร์ได้ออกหมายเรียกผู้ชุมนุมราษฎรหยุดAPEC2022 ไปดำเนินคดีเพิ่มเติมอีก 5 ราย หลังจากดำเนินคดีผู้ถูกจับกุมระหว่างชุมนุมไป 25 รายแล้วก่อนหน้านี้ โดยคดีที่ถูกออกหมายเรียกได้ขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปก่อน
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 161 คน ในจำนวน 182 คดี
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 27 คน ใน 8 คดี
ในเดือนนี้ ศาลมีคำพิพากษาคดีในข้อหาละเมิดอำนาจศาลเพิ่ม 3 คดี ได้แก่ นักกิจกรรมหญิง 3 คนกรณีเข้าร่วมการชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของแกนนำราษฎรบริเวณหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 และถูกกล่าวหาว่าได้ทำการปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงเข้าไปในบริเวณศาล ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุกผู้ถูกกล่าวหาคนละ 1 เดือน ปรับคนละ 250 บาทให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี นักกิจกรรม 5 คน กรณีเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่ม REDEM โดยมีการสาดสี และปามะเขือเทศ ที่หน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนโทษกักขัง ชี้ไม่ใช่การใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญ และเป็นคนละคดีที่ถูกกล่าวหาจากเหตุเดียวกัน จึงไม่ใช่การดำเนินคดีซ้ำซ้อน นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 3 คน กรณีขีดเขียนฝาผนังขณะถูกควบคุมตัวเพื่อรอฟังคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ในห้องเวรชี้ศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2565ศาลอุทธรณ์คำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษกักขังทั้งสามคนแทนโทษจำคุก มีกำหนด 15 วัน อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คดี นักกิจกรรมได้รับสิทธิประกันตัวทั้งหมด
ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี
ในเดือนนี้ หลังจากมีการยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังระหว่างต่อสู้คดีอย่างต่อเนื่อง และจากการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองของ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และแบม อรวรรณ (สงวนนามสกุล), สิทธิโชค เศรษฐเศวต รวมถึง โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ที่ร่วมยกระดับการเคลื่อนไหวด้วยการฝืนตื่นประท้วง ประกอบกับกระแสการเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้เพื่อนนอกเรือนจำ ศาลจึงมีคำสั่งให้ประกันตัวผู้ถูกคุมขังรวมทั้งสิ้น 15 คน ได้แก่
1. เอก (นามสมมติ) เขาถูกกล่าวหาจากการแชร์ภาพและข้อความ จากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” 1 โพสต์ หลังจากถูกสั่งฟ้องคดี เอกก็ถูกฝากขังตั้งแต่วันที่ 22 ธ.ค. 2565 หลังยื่นขอประกันตัวอย่างน้อย 7 ครั้ง เขาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 3 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 43 วัน
2. อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล เขาถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “John New World” รวม 5 ข้อความ เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี อุกฤษฎ์ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. 2565 หลังยื่นขอประกันตัวอย่างน้อย 6 ครั้ง เขาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 4 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 45 วัน
3-4. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ (สงวนนามสกุล) หลังจากขอถอนประกันตนเอง และถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2566 ต่อมาได้ประกาศอดน้ำอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้เพื่อนผู้ต้องขังทุกคนตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2566 ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ได้ยื่นขอประกันตัวทั้งคู่เนื่องจากสุขภาพร่างกายย่ำแย่จากการอดน้ำและอดอาหาร ศาลจึงให้ประกันตัวทานตะวัน 1 เดือน และให้ประกันแบมโดยไม่กำหนดเงื่อนไขใด ในวันที่ 7 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 20 วัน ทั้งนี้ ทานตะวันและแบมยืนยันว่าไม่รับรู้เรื่องการยื่นขอประกันตัว และยืนยันจะอดน้ำและอาหารต่อไปจนกว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดจะสัมฤทธิ์ผล ปัจจุบัน (นับถึงวันที่ 28 ก.พ. 2566) ทั้งคู่อดน้ำและอาหารเป็นเวลา 41 วันแล้ว
5. ทัตพงศ์ เขียวขาว เขาถูกจับกุมหลังเดินทางผ่านด่านเช็กประวัติช่วงการประชุม APEC 2022 ที่สถานีรถไฟฟ้า BTS ราชเทวี ตามหมายจับและถูกกล่าวหาครอบครองวัตถุระเบิด ระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 โดยเขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย. 2565 มีการยื่นขอประกันตัวอย่างน้อย 10 ครั้ง ต่อมา ทัตพงศ์ได้รับการปล่อยตัวเนื่องจากอัยการสั่งฟ้องไม่ทันหลังฝากขังครบ 7 ผัด ในวันที่ 8 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 84 วัน
6. สมบัติ ทองย้อย เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 28 เม.ย. 2565 หลังมีคำพิพากษาให้จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ” และข้อความกล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น หลังยื่นขอประกันตัวอย่างน้อย 12 ครั้ง เขาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 9 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 288 วัน
7. คงเพชร เขาถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 11 เม.ย. 2565 ขณะที่กำลังเดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงาน #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม และพบวัตถุระเบิดในครอบครอง หลังยื่นขอประกันตัวอย่างน้อย 16 ครั้ง เขาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 10 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 306 วัน
8. สิทธิโชค เศรษฐเศวต เขาถูกกล่าวหาว่านำของเหลวคล้ายว่าเป็นน้ำมันไปฉีดพ่นใส่กองเพลิงที่ลุกไหม้อยู่บริเวณฐานพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ศาลตัดสินจำคุก 2 ปี 4 เดือน ทำให้เขาถูกนำตัวไปคุมขังตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2566 ซึ่งสิทธิโชคได้เริ่มอดอาหารตั้งแต่วันแรกที่เข้าเรือนจำ ก่อนจะยกระดับด้วยการอดน้ำด้วย เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ต้องขังทุกคนในเรือนจำ หลังยื่นขอประกันตัวอย่างน้อย 5 ครั้ง เขาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 10 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาที่ถูกคุมขัง 24 วัน
9-12. วัชรพล, จตุพล, พลพล, ณัฐพล พวกเขาถูกกล่าวหาว่าทุบและเผารถยนต์ตำรวจระหว่างการชุมนุมในกิจกรรมราษฎรเดินไล่ตู่ หรือม็อบ11มิถุนา65 บริเวณดินแดง วัชรพลถูกคุมขังในวันที่ 13 มิ.ย. 2565 จตุพลถูกคุมขังในวันที่ 16 มิ.ย. 2565 ส่วน พลพล และณัฐพล ถูกคุมขังในวันที่ 17 มิ.ย. 2565 หลังยื่นขอประกันตัวอย่างน้อย 18 ครั้ง ทั้งสี่คนก็ได้รับการปล่อยตัวพร้อมกันในวันที่ 17 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขังของวัชรพล 249 วัน, จตุพล 247 วัน, พลพล และณัฐพล 246 วัน
13. พรพจน์ แจ้งกระจ่าง เขาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ปาระเบิดปิงปองใส่สนามหญ้าด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 และถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2565 หลังยื่นขอประกันตัวอย่างน้อย 13 ครั้ง เขาก็ได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 20 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 313 วัน
14-15. โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ ใบปอ (สงวนชื่อนามสกุล) โสภณถูกถอนประกันกรณีปราศรัยในการชุมนุมทัวร์มูล่าผัว เมื่อวันที่ 22 เม.ย. 2565 ส่วนใบปอถูกถอนประกันกรณีแชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับ “งบสถาบันกษัตริย์” และ การโพสต์ข้อความเชิญชวนให้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นผ่านโพลเรื่องการใช้อำนาจของสถาบันกษัตริย์ จากเพจ “ทะลุวัง” เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565 เนื่องจากทั้งคู่ร่วมชุมนุมช่วงคัดค้านการประชุม #APEC2022 เมื่อวันที่ 17 และ 19 พ.ย. 2565 ทำให้ถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2566 โสภณได้ยกระดับการเคลื่อนไหวในเรือนจำด้วยการ “ฝืนตื่นประท้วง” ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2566 โดยมีณัฐพลและจตุพลร่วมฝืนตื่นด้วยในช่วง 2-3 วันแรก ก่อนที่ทั้งคู่จะยกเลิกเพื่อกลับมาดูแลโสภณที่มีอาการย่ำแย่ขึ้นเรื่อยๆ ต่อมา โสภณและใบปอได้รับการปล่อยตัวพร้อมกันในวันที่ 20 ก.พ. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 42 วัน
อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ ยังมีการคุมขัง ถิรนัย และ ชัยพร ผู้ชุมนุมกลุ่มทะลุแก๊ซ ซึ่งถูกจับกุมที่ด่านตรวจก่อนม็อบ29สิงหา64และตรวจพบระเบิดปิงปอง ทำให้ถูกดำเนินคดีข้อหามีวัตถุระเบิดในครอบครองทั้งคู่ให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี ลดเหลือจำคุก 3 ปี ก่อนส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ทั้งคู่จึงถูกนำตัวไปคุมขังตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2565 ต่อมาศาลอุทธรณ์ไม่ให้ประกันตัว สำหรับผู้ถูกคุมขังที่คดีถึงที่สุดแล้วมีทั้งหมด 6 คน ได้แก่ อัญชัญ (ม.112), ศุภากร (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ), มะ ณัฐชนน, พลทหารเมธิน (ม.112), กฤษณะและวรรณภา (คดีสหพันธรัฐไท ข้อหาอั้งยี่)
สถานการณ์การคุกคามประชาชน ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2566
จากการเก็บข้อมูลการคุกคามประจำเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า มีรายงานผู้ถูกละเมิดสิทธิ-คุกคามอย่างน้อย 30 ราย ในจำนวนดังกล่าวเป็นเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 3 ราย เมื่อพิจารณาตามภูมิภาคแล้วพบว่ามีผู้ถูกละเมิดสิทธิ-คุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ภาคกลางจำนวน 18 ราย, ภาคเหนือ 9 ราย, ภาคใต้ 2 ราย และภาคอีสาน 1 ราย
ในเดือนกุมภาพันธ์ ไม่พบรายงานการคุกคามมากนัก ขณะที่มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศอย่างน้อย 78 ครั้ง เท่ากับเดือนมกราคม โดยประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุด ยังคงเป็นประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งจะพบรายงานการคุกคามเนื่องจากการชุมนุมทางการเมืองด้วยสาเหตุดังกล่าวมากตามไปด้วย โดยสามารถแบ่งรูปแบบการคุกคามได้ ดังนี้
การคุกคามเนื่องจากมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่
- สมาชิกราชวงศ์
แยม เยาวชน อายุ 14 ปี ที่เคยถูกคุกคามในงานวันเด็กปี 2566 ในจังหวัดเชียงใหม่ ได้เปิดเผยว่า ตนถูกตำรวจตามไปหาที่บ้านและโรงเรียน เนื่องจากมีสมาชิกราชวงศ์เสด็จช่วงเดือนกุมภาพันธ์
การคุกคามเพื่อขัดขวางการจัดกิจกรรม
แม้ว่าจะไม่ใช่ผู้จัดกิจกรรมโดยตรง แต่มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบและสันติบาล สภ. ท้องที่ เข้ามาคุกคามเดินตาม ครอบครัวของทานตะวัน ตัวตุลานนท์ และ แบม อรวรรณ (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการอดน้ำอดอาหารในขณะนี้ เพื่อสอบถามว่า พ่อของแบม อรรวรรณ ว่าลูกสาวแอบทานอาหารหรือไม่ จะย้ายที่รึเปล่า และมีการพยายามเข้าห้องพักในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ที่ทั้งสองคนรักษาตัวอยู่ นอกจากนี้ เพื่อนนักกิจกรรมของทั้งคู่ยังตั้งข้อสังเกตว่าในวันดังกล่าวมีตำรวจเข้ามาเยอะกว่าปกติ คาดว่าสาเหตุน่าจะมาจากการที่ตำรวจมีความกังวลว่าทานตะวันและแบม อรวรรณ จะไปทำกิจกรรมที่หน้าศาลอาญา รัชดาฯ
อย่างไรก็ตาม เมื่อทานตะวัน และแบม อรวรรณ ได้ตัดสินใจออกจากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ไปอดน้ำอดอาหารต่อที่บริเวณหน้าศาลฎีกา เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองที่เหลือ ระหว่างนั้น ก็มีการเปิดเผยว่าตำรวจพยายามจะเข้ามาขอคืนพื้นที่ โดยการประกาศว่าจะสลายการชุมนุมหากมวลชนไม่นำป้ายผ้าที่เขียนโจมตีศาลออก ต่อมา ตำรวจได้ประกาศว่าจะไม่มีการสลายการชุมนุมแต่อย่างใด
การคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ
พริษฐ์ ชิวารักษ์ เปิดเผยว่าถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถวนและสอบถามถึงเจ้าตัวอยู่บริเวณหมู่บ้านที่พักอาศัย มีการเช็คสัญญาณโทรศัพท์มือถือ และยังมีประชาชนจิตอาสาขับรถมาที่หน้าบ้านด้วย กระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้ปิดเพจ ชมรมแพทย์ชนบท โดยอ้างว่าเป็นเพจปลุกปั่นสังคม สร้างความเข้าใจผิดให้กับประชาชน และส่งผลกระทบกับการให้บริการด้านสาธารณสุข แต่ยังไม่มีรายงานการปิดเพจดังกล่าวในปัจจุบัน ทั้งนี้ ทางกระทรวงยังได้การแจ้งความให้ดำเนินคดีกับนายแพทย์สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้วิจารณ์นโยบายของกระทรวงฯ อย่างสม่ำเสมอ อาทิ นโยบายกัญชาเสรี การจัดหาวัคซีน ตลอดจนการโยกย้ายข้าราชการอย่างไม่เป็นธรรมด้วย
ฟ้า นักศึกษามหาวิทยาลัยในจังหวัดมหาสารคามแจ้งว่า เธอถูกเจ้าหน้าที่ติดตามถึงคณะและที่พัก ทำให้รู้สึกรำคาญใจ
แนวโน้มการคุกคามในเดือนมีนาคม 2566
เจ้าหน้าที่รัฐยังคงจับตามองการแสดงออกของประชาชนอย่างหนัก การทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วม หรือแม้แต่การที่เยาวชนเขียนป้ายผ้าก็นำไปสู่การควบคุมตัวได้แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง ดังนั้น จึงสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการคุกคามในเดือนมีนาคมได้ว่า การคุกคามจะทวีความเข้มข้น และมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม การจัดกิจกรรมในประเด็นทางการเมืองทุกรูปแบบ โดยนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆหรือแม้แต่จะมีผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียวก็ตาม จะยังคงถูกเพ่งเล็งและขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ