วันที่: 8/8/2566 ผู้เขียน: Faozee Lateh

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนมีนาคม 2566

description

ในเดือนมีนาคมนี้ มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 42 ครั้ง ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์อย่างน้อย 36 ครั้ง โดยประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุด

รายงานการชุมนุมและสถานการณ์ การคุกคาม ประจำเดือนมีนาคม 2566


ภาพรวมสถานการณ์การชุม

ในเดือนมีนาคมนี้ มีการชุมนุมทั่วประเทศอย่างน้อย 42 ครั้ง ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์อย่างน้อย 36 ครั้ง โดยประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุด ยังคงเป็นการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างน้อย 32 ครั้ง เป็นการจัดกิจกรรมยืนหยุดขัง บริเวณศาลฎีกา จังหวัดกรุงเทพ อย่างน้อย 27 ครั้ง ยืนหยุดทรราช บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ อย่างน้อย 4 ครั้ง อีกหนึ่งกิจกรรม เป็นการจัดกิจกรรมเดินขบวนยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกข้อกล่าวหาและปล่อยตัวนักกิจกรรมทางการเมือง ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบอย่างน้อย 20 คน วางแนวและตั้งแผงสกัดกั้นไม่ให้เข้าไปยื่นหนังสือบริเวณทำเนียบรัฐบาลได้

ประเด็นเรียกร้องปัญหาปากท้องและสวัสดิการ มีการชุมนุมอย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่ ระหว่างนายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ อ.บ้านโป่ง จ.จันทบุรี วันทนา อายุ 61 ปี และเพื่อน ได้ชูสามนิ้วรอขบวนนายกรัฐมนตรี เพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาสภาพเศรษฐกิจ ปรากฏว่า วันทนาถูกเจ้าหน้าที่ลากตัวออกไป โดยเจ้าหน้าที่ได้ใช้ร่มมากางปิด เพื่อกันไม่ให้ถ่ายภาพเหตุการณ์ และใช้มือปิดปากจนได้รับบาดเจ็บตามร่างกาย เธอถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.บ้านโป่ง และถูกแจ้งข้อกล่าวหาไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงานฯ, ส่งเสียงดังอื้ออึงในที่สาธารณะ และต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานฯ ต่อมา ตำรวจให้ประกันชั้นสอบสวนด้วยหลักทรัพย์ 10,000 บาท

ม็อบสหพันธ์เกษตรกรฯ เดินขบวนจากหน้ากระทรวงเกษตรฯ มุ่งหน้าไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือให้กับนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรที่ประสบปัญหาในเรื่องต่างๆของกองทุนฟื้นฟู ภายหลัง คณะรัฐมนตรีมีมติปรับโครงสร้างหนี้เกษตรกร 50,000 คน และจะดำเนินการช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศต่อไป พนักงานบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC รวมตัวกันยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลชำระหนี้ที่ติดค้างบริษัทอยู่เป็นจำนวนกว่า 50,000 ล้านบาท

assetasset

@กันต์ แสงทอง เนื่องจากวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล จึงมีการชุมนุมประเด็นสิทธิสตรีในวันดังกล่าวอย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ เครือข่ายภาคประชาสังคมเพื่อความเสมอภาคทางเพศ จังหวัดเชียงใหม่ ได้จัดกิจกรรมลุกขึ้นเพื่อเสรีภาพและความเป็นธรรม โดยเดินขบวนจากพุทธสถานไปจนถึงประตูท่าแพ และมีเวทีเสวนาเพื่อสนับสนุนสิทธิเสรีภาพของสตรี เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้จัดกิจกรรมแรงงานรวมพล วันสตรีสากล 66 โดยเป็นการปราศรัยและอ่านแถลงการณ์สื่อสารนโยบายแรงงาน-สวัสดิการ ถึงทุกพรรคการเมืองก่อนเลือกตั้ง และมีกิจกรรมยืน หยุด ขัง 112 วินาทีด้วย ระหว่างการชุมนุม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลชุดกากี และตำรวจหญิงตั้งแถวล้อมรอบ ไม่ต่ำกว่า 20 คน

asset

@Faozee lateh ในเดือนนี้ มีการชุมนุมประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างน้อย 2 ครั้ง ได้แก่ กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ได้จัดกิจกรรม ยุบสภาล้างจังไร ไล่เผด็จการ โดยมีการนัดหมายประชาชนมาร่วมกันทำความสะอาดรัฐสภาจากการแปดเปื้อนของเผด็จการก่อนเลือกตั้ง ขณะที่ตัวแทนกำลังประกาศเหตุผลของการทำกิจกรรม มีตำรวจในเครื่องแบบจำนวน 6 นาย เข้ามาแทรกเข้ามาบริเวณป้ายอาคารรัฐสภาและห้ามไม่ให้ใช้อุปกรณ์ทำความสะอาดจนประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมตะโกนขับไล่ตำรวจออกไป นักกิจกรรมกลุ่มราษฎรและเครือข่าย จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์และอ่านแถลงการณ์ต่อการยุบสภาและการเลือกตั้ง และเปิดตัวแคมเปญโหวตเพื่อเปลี่ยน สำหรับการเลือกตั้ง 2566 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อแสดงจุดยืนและข้อเรียกร้องทางการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีการชุมนุมเรียกร้องให้มีการแก้ไขกฎหมาย อย่างน้อย 1 ครั้ง ได้แก่ ม็อบรถตู้โดยสาร จัดโดยสมาคมธุรกิจรถตู้โดยสารทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด ได้รวมตัวกันยื่นหนังสือที่กระทรวงคมนาคม และทำเนียบรัฐบาล เพื่อเรียกร้องให้แก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นปัญหาต่อการเดินรถตู้โดยสารที่สะสมเป็นเวลานาน เช่น การจำกัดอายุการใช้งานรถตู้ และมีการชุมนุมในประเด็นสิ่งแวดล้อม อย่างน้อย 1 ครั้ง ได้แก่ ชาวบ้านสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้จัดพิธีสืบชะตาแม่น้ำสาละวิน ในวันหยุดเขื่อนโลก โดยมีพิธีกรรมและวงเสวนา เพื่อแสดงถึงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยต่อนโยบายการสร้างเขื่อนของรัฐ


สถานการณ์การดำเนินคดีประจำเดือนมีนาคม 2566

ในเดือนมีนาคมนี้ มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มขึ้น ในส่วนของคดีตามข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แม้ว่าจะมีการประกาศยกเลิกการบังคับใช้ตั้งแต่เดือนตุลาคม ปี 2565 ก็ยังมีการสั่งฟ้องคดีเพิ่มอีกอย่างน้อย 1 คดี ซึ่งคดีในข้อหาดังกล่าวได้ถูกดำเนินการตามกระบวนการในชั้นศาล และมีคำพิพากษาออกมาอย่างต่อเนื่อง

ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างน้อย 1,898 คน ในจำนวน 1,187 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน

เมื่อเปรียบเทียบคดีกับในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 3 คน คดีเพิ่มขึ้น 7 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,794 ครั้ง จากจำนวนคดี คดีดังกล่าว มีจำนวน 326 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 861 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 237 คน ในจำนวน 256 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 4 คน ใน 3 คดี โดยมีการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 แก่ โชคดี ร่มพฤกษ์ เป็นคดีที่ 2 จากกรณีร้องเพลงและเล่นกีต้าร์เพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และเพลง “ใครฆ่า ร.8” ของวงไฟเย็น ระหว่างกิจกรรมชุมนุมขับไล่ประยุทธ์ ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565 เชน ชีวอบัญชา สื่ออิสระ และมานี เงินตา ถูกตำรวจจับกุมตามหมายจับ จากกรณีร่วมกิจกรรมหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ เรียกร้องสิทธิประกันตัวบุ้ง-ใบปอ และร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2565 โดยคดีนี้ ทั้งสองคนถูกคุมขังในวันที่ 9 มี.ค. 2566 ก่อนที่จะได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 15 มี.ค. 2566

asset

นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมตัว หยก เด็กอายุ 15 ปี ซึ่งเป็นผู้ถูกดำเนินคดีด้วยข้อกล่าวหามาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด ขณะที่หยกตามไปไลฟ์สดกรณี บังเอิญ (นามสมมติ) ศิลปินอิสระถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุพ่นสีข้อความ 112 พร้อมขีดทับ และเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” ใส่กำแพงพระบรมมหาราชวัง ที่ สน.พระราชวัง โดยหยกถูกตำรวจกล่าวหาว่าเป็นผู้สมรู้ร่วมคิด ก่อนนำหมายจับของศาลเยาวชนและครอบครัวกลางฯ มาใช้ในการจับกุม ซึ่งในคดีดังกล่าว หยกได้แจ้งเจ้าหน้าที่ขอเลื่อนการนัดหมายไปแล้ว ระหว่างการจับกุม หยกแจ้งว่า เธอถูกคุกคามทางเพศจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยตำรวจซึ่งเป็นชายหลายรายได้นั่งทับตัวเธอ ล้วงจับขา และล้วงเข้าไปบริเวณหน้าอก เพื่อพยายามยึดเอาไอแพดที่เธอเหน็บไว้ในเสื้อด้านในออกไป ก่อนจะถูกลากตัวเข้าไปยังห้องสืบสวน ในวันต่อมา เธอถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงประมาณ 7 คน อุ้มขึ้นรถไปยังศาลเยาวชน หยกนั่งหันหลังให้ผู้พิพากษา ยืนยันที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะทางใดก็ตาม ศาลจึงมีคำสั่งอนุญาตให้ออกหมายควบคุมตัวหยกไว้ในความดูแลของสถานพินิจฯ (บ้านปรานี จ.นครปฐม) เป็นเวลา 30 วัน

อย่างไรก็ตาม การออกหมายจับครั้งนี้ไม่สอดคล้องตามหลักกฎหมายในมาตรา 66(2) ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาซึ่งระบุว่า พนักงานสอบสวนจะขอออกหมายจับได้ เมื่อมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลนั้นน่าจะกระทำความผิดอาญา และมีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน กรณีของหยก ทนายความและหยกได้ทำหนังสือขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาด้วยเหตุผลทางการศึกษา และพนักงานสอบสวนได้รับเอกสารดังกล่าวเเล้ว  อีกทั้งหยกยังเป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่มีอิทธิพลที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานใดๆ ของพนักงานสอบสวนได้ ตลอดจนพยานหลักฐานทั้งหมดในคดีนี้ก็ถูกรวบรวมอยู่ในความดูแลของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น

นอกจากนี้ มาตรา 69 ของพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 ยังระบุอีกว่า ในการจับกุมเด็กหรือเยาวชนซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด ให้เจ้าพนักงานผู้จับแจ้งแก่เด็กหรือเยาวชนนั้นว่าเขาต้องถูกจับ ทั้งยังให้พนักงานสอบสวนนำตัวเด็กหรือเยาวชนไปศาลเพื่อตรวจสอบการจับกุมทันที หากการจับเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ก็ให้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนไปตามมาตรา 72 และ 73 แต่ในระหว่างการจับกุมตัวหยก ตำรวจไม่ได้แสดงหมายจับ และไม่ได้แจ้งถึงเหตุผลของการจับกุม จึงถือว่าการจับหยก เป็นการจับกุมโดยพลการ

ทั้งนี้ ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (CRC) ซึ่งคุ้มครองให้เด็กสามารถเข้าร่วมในการชุมนุมโดยสงบได้ เฉพาะข้อบทที่ 21 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิทางการเมือง ยังคุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบของบุคคลทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติ และข้อบทที่ 15 ของอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ก็รับรองหลักการนี้ไว้เช่นเดียวกัน โดยยืนยันว่ารัฐภาคีต้องรับรองสิทธิของเด็กที่จะใช้เสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบ

ในเดือนนี้ อัยการสั่งฟ้องคดีเพิ่มอีก 6 คดี ได้แก่ พริษฐ์ ชิวารักษ์ กรณีโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เขาเป็นนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ถึง 23 คดี ถูกสั่งฟ้องถึงชั้นศาลไปแล้ว 18 คดี ซึ่งเป็นจำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง กรณีปราศรัยในการชุมนุมม็อบ1พฤษภา65 ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล ฟลุค กิตติพล (สงวนนามสกุล) กรณีชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 เวหา แสนชนชนะศึก กรณีโพสต์ภาพประกอบข้อความวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับคำพิพากษาสั่งจำคุก “นรินทร์” คดีซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์คำว่า “กูkult” ลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 เซ็นเตอร์ (นามสมมติ) กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวในช่วงที่มีการสลายการชุมนุมในกรุงเทพฯ ช่วงเดือนตุลาคม 2563 ทั้ง 5 คดี ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวทั้งหมด ในขณะที่คดีของ วุฒิ (นามสมมติ) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564 ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ชี้ว่าเป็นการกระทำหลายครั้งต่อเนื่องกัน และคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี ทำให้วุฒิถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี

มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 8 คดี เป็นคำพิพากษายกฟ้อง 3 คดี ได้แก่ ฉัตรมงคล วัลลีย์ กรณีถูกกล่าวหาว่าใช้เฟซบุ๊กไปคอมเมนต์ในโพสต์ข้อความของเพจศรีสุริโยไท เนื่องจากไม่มีพยานบุคคลและหลักฐานยืนยันว่าจำเลยกระทำผิด สมพล (นามสมติ) กรณีขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์หลายจุดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร วันที่ 13 ก.พ. 2565 ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 ทั้ง 2 สน. ชี้จำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น แต่ลงโทษข้อหาตามมาตรา 360 ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมโทษจำคุกทั้งหมด 24 เดือน โดยไม่รอลงอาญา แต่ได้รับสิทธิประกันตัว สายน้ำ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษ “CANCEL LAW 112” และใช้สีสเปรย์สีดำพ่นทับข้อความ “ทรงพระเจริญ” บนรูปรัชกาลที่ 10 ระหว่างการชุมนุมทวงคืนประเทศไทยขับไล่ปรสิต เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2564 เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ แต่พิพากษาว่ามีความผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากอยู่ในที่ชุมนุม ลงโทษปรับ 6,000 บาท ลดโทษปรับ เหลือ 4,000 บาท

คดีที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง5 คดี ได้แก่ เกด(นามสมมติ) และ ยุ้ย (นามสมมติ) กรณีชูป้ายข้อความในกิจกรรมคาร์ม็อบด่วนนครพิงค์เจียงใหม่ไล่ขึดประยุทธ์ ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญา ต้นไม้ (นามสมมติ) กรณีจัดจำหน่ายปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ดเหลือง ประจำปี 2564 ในเพจเฟซบุ๊ก “ราษฎร” ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีภาพและข้อความที่เข้าข่ายล้อเลียนและหมิ่นประมาทกษัตริย์ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว พรชัย วิมลศุภวงศ์ กรณีถูกฟ้องว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความ 4 ข้อความลงในเฟซบุ๊ก เมื่อช่วงวันที่ 18 ต.ค. ถึง 19 พ.ย. 2563 มีเนื้อหาสื่อถึงพระมหากษัตริย์ที่วางตนไม่เป็นกลาง ศาลลงโทษตามมาตรา 112 จำคุกกระทงละ 3 ปี รวม 4 กระทง รวมโทษจำคุก 12 ปี เขาถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ในวันที่ 13 มี.ค. 2566 และได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในวันที่ 18 มี.ค. 2566 ใจ (นามสมมติ)กรณีเขียนข้อความพร้อมติดแฮชแท็กเกี่ยวกับกษัตริย์ ใต้พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 ศาลพิพากษาว่ามีความผิด แม้รัชกาลที่ 9 จะสวรรคตไปแล้ว แต่ส่งผลกระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เนื่องจากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้บัญญัติไว้ว่า คุ้มครองกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว วัชระ (สงวนนามสกุล) และ วิรชัช (สงวนนามสกุล) กรณีแขวนป้าย “ผู้นำส้นตีน … ก็ส้นตีน” วิจารณ์รัฐบาลและกษัตริย์ที่หอระเบียงหอพัก เมื่อวันที่ 13 ก.ค. 2564 ศาลเห็นว่าทั้งสองคนมีความผิด แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 ลงโทษจำคุก คนละ 4 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกคนละ 2 ปี ให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 40 คดี

สาธร (นามสมมติ) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจแสดงหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีเข้าจับกุมตัว จากกรณีการชุมนุมธรรมศาสตร์จะไม่ทน เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ขณะเดินทางไปติดต่อราชการที่สถานีตำรวจภูธรประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ จ.ปทุมธานี เขาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ภายหลังศาลให้ประกันตัว

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี

อัยการมีคำสั่งฟ้อง นักศึกษาและนักกิจกรรมราษฎรขอนแก่น 10 คน กรณีคาร์ม็อบขอนแก่น 3 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” ในวันที่ 22 ส.ค. 2564 นอกจากนี้ อัยการยังมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด 2 คดี ได้แก่ จำนงค์ หนูพันธ์ ในคดีการชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ช่วงปลายเดือน ม.ค. 2565 และพชร คำชำนาญ ในคดีภาคีเซฟบางกลอย จัดกิจกรรมตามหาประยุทธ์ ทวงถามความคืบหน้าตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาบางกลอย เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2565

มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 11 คดี เป็นคำพิพากษายกฟ้อง 5 คดี ได้แก่ ประชาชนจำนวน 20 คน ที่ถูกจับกุมบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและแยกสามเหลี่ยมดินแดงหลังการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 เนื่องจากพิสูจน์ไม่ได้ว่าทั้ง 20 เป็นผู้จัดกิจกรรม ประชาชน 15 คนกรณีเข้าร่วมชุมนุมวันที่ 18 ก.ค. 2563 ของกลุ่ม Free Youth หรือเยาวชนปลดแอก บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เนื่องจากสถานที่ชุมนุมเปิดโล่ง แต่สั่งปรับจำเลยทุกคนยกเว้นสิรินทร์ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต คนละ 200 บาทส่วนสิรินทร์ถูกปรับในข้อหาเรี่ยไรโดยไม่ได้รับอนุญาต 200 บาท นักกิจกรรมและนักวิชาการ 5 คน กรณีจัดและร่วมกิจกรรม “LightUp JUSTICE – เปิดไฟให้ดาว ส่องสว่างความยุติธรรม” ที่สกายวอล์ค แยกปทุมวัน เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 ศาลชี้เป็นการใช้เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และไม่พบการกระทำที่เสี่ยงแพร่โรค แต่ปรับคนละ 200 เหตุใช้เครื่องขยายเสียงฯ ชลธิชา แจ้งเร็ว ศาลแขวงดุสิตพิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 2 คดี กรณีจัดกิจกรรม “กวี ดนตรี ปลดแอกแหวกหาคนหาย” รำลึกถึงผู้สูญหายหน้าอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 ชี้สถานที่ไม่แออัด-ประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบฯ ออกโดยไม่มีอำนาจ-ข้อกำหนดฉบับที่ 5 ถูกยกเลิกแล้ว แต่ปรับข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 200 บาท และกรณีร่วมชุมนุมม็อบ18ตุลาไปอนุสาวรีย์ชัย เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2563 เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก รวมถึงเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นช่วงเวลาที่ มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง ศาลชี้เป็นการชุมนุมโดยสงบตามรัฐธรรมนูญไม่ปรากฏจำเลยยุยงหรือก่อความรุนแรง

ศาลพิพากษาว่ามีความผิด5 คดี ได้แก่ วัฒนะชัย สืบศิริบุษย์, วรพงศ์ โสมัจฉา, กฤติพงศ์ ปานสูงเนิน และบริพัตร กุมารบุญ จากกิจกรรมคาร์ม็อบโคราชที่จัดพร้อมกับหลายจังหวัดทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ศาลแขวงนครราชสีมายกฟ้องวรพงศ์และกฤติพงศ์ ส่วนวัฒนะชัยและบริพัตรที่ให้การรับสารภาพ ศาลลงโทษปรับคนละ 10,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงปรับคนละ 5,000 บาท แต่อัยการอุทธรณ์ต่อ ซึ่งศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นลงโทษวรพงศ์และกฤติพงศ์ฐานร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ปรับคนละ 2,000 บาท

asset

@กันต์ แสงทอง

วรวรรณ แซ่อั้ง กรณีเปลื้องผ้าต่อหน้าแนวเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชน ระหว่างการชุมนุมม็อบ28กันยา2564 ศาลพิพากษาว่ามีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับ 30,000 บาท และฐานเปลือยกายต่อหน้าธารกำนัล ตามมาตรา 388 ลงโทษปรับ 4,000 บาท รวมปรับเป็นจำนวนเงิน 34,000 บาท วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล และโชคดี ร่มพฤกษ์ กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 30,000 บาท และวีรวิชญ์มีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ มาตรา 133 ฐานนํารถเข้าขบวนแห่ไปตามทางโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย ลงโทษปรับ 500 บาท รวมปรับวีรวิชญ์ 30,500 บาท และปรับโชคดี 30,000 บาทอภิสิทธิ์ พรมฤทธิ์ กรณีร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบกำแพงเพชรจะไม่ทน เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ศาลชั้นต้นปรับคำพิพากษาว่ามีความผิดจริง ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 30,000 บาท บรรเทาโทษ 1 ใน 3 คงเหลือ โทษจำคุก 2 เดือน และปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี สุวิทย์ และณัฐพงษ์ จากเหตุม็อบ11กันยา64 ที่แยกดินแดง ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาร่วมกันต่อสู้เจ้าพนักงาน-ซ่องโจรฯ แต่ลงโทษ ตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 2 เดือน ปรับ 6,000 บาท ลดโทษเหลือจำคุก 1 เดือนปรับ 3,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญา 2 ปี

asset

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 136 คน ในจำนวน 77 คดี

ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล, พายุ บุญโสภณ, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ และ กรชนก แสนประเสริฐ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก จากกรณีเข้าร่วมชุมนุมราษฎรหยุดAPEC2022 เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2565ซึ่งมีผู้ถูกแจ้งข้อกล่าวหาจากเหตุการณ์ดังกล่าวก่อนแล้ว 25 คน

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 163 คน ในจำนวน 183 คดี

มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวออกมา 2 คดี ได้แก่ ผู้ใช้ทวิตเตอร์นิรนาม_ (ไม่เปิดเผยชื่อสกุลจริง) กรณีทวีตข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์จำนวน 8 ข้อความ ในช่วงระหว่างวันที่ 29 ต.ค. 2562 ถึงวันที่ 3 ม.ค. 2563 ศาลพิพากษาจำคุก 48 เดือน ปรับ 80,000 บาท แต่ให้รอลงอาญาไว้ 3 ปี สิริชัย นาถึง กรณีปฏิเสธไม่ให้รหัสเข้าถึงอุปกรณ์สื่อสาร 2 ชิ้น กับเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) หลังได้รับการประกันตัวจากคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 ซึ่งคดีนี้ ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาปรับ 40,000 บาท แต่สิริชัยอุทธรณ์ต่อประเด็นที่ตำรวจออกคำสั่งบังคับให้ข้อมูลไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเหตุต้นเรื่องถูกกล่าวหาว่าพ่นสี ไม่ได้เกี่ยวข้องกับระบบคอมฯ อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์ยืนโทษปรับ 40,000 บาท ชี้ตำรวจมีอำนาจขอรหัสอุปกรณ์มือถือจำเลย หากได้รับความเสียหายก็สามารถดำเนินคดีกับตำรวจได้

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 28 คน ใน 9 คดี


ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ประจำเดือนมีนาคม 2566

ในเดือนนี้ มีผู้ถูกคุมขังเป็นระยะสั้นๆหลายคน จากการที่ศาลทยอยมีคำพิพากษาในคดีการชุมนุมออกมาเรื่อยๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็นคดีเกี่ยวกับการมีวัตถุระเบิดในครอบครอง ได้แก่ ทัตพงศ์ เขียวขาว กรณีที่ถูกกล่าวหาว่าครอบครองระเบิด และถูกจับที่ด่านตรวจ APEC 2022 เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 ก่อนหน้านี้เขาถูกฝากขังระหว่างสอบสวนมาแล้ว 84 วัน ชนะดล ลอยมั่นคง เขาถูกอัยการยื่นฟ้อง กรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 ทั้งคู่ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพ หลังอัยการสั่งฟ้องคดี เนื่องจากศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ขณะเดียวกัน จักรี (สงวนนามสกุล) ถูกดำเนินคดีจากการเข้าร่วมม็อบทะลุแก๊ส เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา จิตรกร (สงวนนามสกุล) ถูกจับกุมที่หน้าคอนโดบริเวณดินแดง ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุมม็อบ6ตุลา64 ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ข้อหาครอบครองระเบิด และยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ทั้งสองคนได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักการให้ประกันตัวของศาลว่าเหตุใดจึงไม่ให้ประกันคดีที่เพิ่งถูกสั่งฟ้อง นอกจากคดีในข้อหาดังกล่าวแล้ว ยังมีกรณีคดีมาตรา 112 ของ วุฒิ (นามสมมติ) ที่อัยการสั่งฟ้องแล้วศาลไม่ให้ประกันตัว

ในส่วนของคำพิพากษาคดีอื่นๆ ศักดิ์ดา (สงวนนามสกุล) และกรรภิรมย์ (สงวนนามสกุล) กรณีถูกกล่าวหาว่า วางเพลิงเผารถบรรทุกพ่วงลากจูงรถยกจราจร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดง ถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2564 ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ลดโทษคงจำคุกคนละ 2 ปี ทั้งคู่ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ วันที่ 15 มี.ค. 2566 และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 20 มี.ค. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 5 วัน อาทิตย์ (สงวนนามสกุล) และ น้ำเชี่ยว (สงวนนามสกุล) ก็ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการวางเพลิงเผารถควบคุมผู้ต้องขัง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2564 ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มีคำพิพากษาลงโทษตามมาตรา 217 ขณะเกิดเหตุน้ำเชี่ยวอายุยังไม่เกิน 20 ปี จึงลดมาตราส่วนโทษให้หนึ่งในสาม ศาลสั่งจำคุกอาทิตย์ 2 ปี จำคุกน้ำเชี่ยว 1 ปี 4 เดือน ซึ่งน้ำเชี่ยวเคยถูกศาลเยาวชนและครอบครัวตัดสินให้

จำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยรอลงอาญา ขณะเกิดเหตุคดีนี้ยังไม่พ้นกำหนดรอลงอาญา จึงต้องบวกโทษจำคุก รวมจำคุกทั้งหมด 2 ปี 10 เดือน ศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งคู่

พิชัย (สงวนนามสกุล) และนฤเบศร์ (สงวนนามสกุล) ทั้งสองถูกกล่าวหาว่า ขว้างปาวัตถุระเบิดใส่รถยนต์สายตรวจของสถานีตำรวจนครบาลลุมพินีที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 2564 ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง จำคุกพิชัย 3 ปี 4 เดือน 15 วัน ปรับ 2,800 บาท และจำคุกนฤเบศร์ 3 ปี 4 เดือน ปรับ 2,150 บาท โดยไม่รอลงอาญา พิชัยและนฤเบศร์จึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตั้งแต่ วันที่ 16 มี.ค. 2566 และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 3 วัน อานนท์ (สงวนนามสกุล) และ ยิม (นามสมมติ) กรณีเข้าร่วมชุมนุมม็อบ12กันยา64 บริเวณสามเหลี่ยมดินแดง ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ส่วนยิม ลงโทษจำคุก 1 เดือน 10 วัน ปรับ 3,000 บาท แต่ขณะกระทำผิด ยิมมีอายุเพียง 18 ปี จึงลดโทษเหลือโทษปรับ 3,000 บาท ส่วนข้อหาอื่นให้ยกฟ้องทั้งหมด อานนท์ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯในวันที่ 23 มี.ค. 2566 และได้รับการปล่อยตัวในวันที่ 28 มี.ค. 2566

นอกจาก หยก เด็กอายุ 15 ปี ที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 ที่สถานพินิจฯ (บ้านปรานี จ.นครปฐม) แล้ว ยังมี หิน (นามสมมติ) เขาถูกจับกุมช่วงคืนวันที่ 24 มี.ค. 2566 จากกรณีเข้าร่วมการชุมนุมในวันที่ 21 พ.ย. 2564 บริเวณถนนราชปรารภ ขณะเกิดเหตุ หินเป็นเยาวชนอายุ 17 ปี ต่อมาศาลเยาวชนฯ ได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั่วคราว ทำให้เขาถูกส่งตัวไปขังไว้ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนกรุงเทพมหานคร

ทำให้เดือนมีนาคมนี้ มีผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทั้งหมด 7 คน เป็นเยาวชน 2 คน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 8 คน ได้แก่

อัญชัญ (ม.112), ศุภกร (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ), ณัฐชนน (ครอบครองวัตถุระเบิด), พลทหารเมธิ (ม.112), กฤษณะ และวรรณภา (คดีสหพันธรัฐไท ข้อหาอั้งยี่), ปริทัศน์ (ม.112) และ คทาธร (ครอบครองวัตถุระเบิด)ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาหลังจากคทาธรและคงเพชรตัดสินใจรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ศาลสั่งจำคุกคทาธร 1 ปี 3 เดือน 15 วัน และปรับ 1,925 บาท ส่วนคงเพชรลงโทษจำคุก 10 เดือน 10 วัน และปรับ 450 บาท พร้อมริบวัตถุระเบิด อาวุธมีด และถุงผ้า คงเพชรเหลือโทษจำคุกอีก 4 วัน เขาแจ้งกับทนายว่า ต้องการกลับเข้าเรือนจำเพื่อรับโทษจนครบกำหนด ส่วนคทาธร ศาลยังไม่อนุญาตให้ประกันตัวชั่วคราว แม้จะถูกคุมขังมานานกว่า 11 เดือนแล้ว เขาจึงไม่อุทธรณ์ต่อ แต่จะรับโทษจนครบกำหนด


สถานการณ์คุกคามประชาชน ประจำเดือนมีนาคม 2566

ในเดือนมีนาคมนี้ ไม่พบรายงานการคุกคามมากนัก เนื่องจากไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่ที่มีคนเข้าร่วมจำนวนมาก และจำนวนการชุมนุมก็ลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์ จึงทำให้การคุกคามประชาชนเพื่อป้องกันการจัดกิจกรรมลดลงตามไปด้วย โดยสามารถแบ่งรูปแบบการคุกคามได้ ดังนี้

การคุกคามเนื่องจากมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่

บอส (นามสมมติ) นักข่าวอิสระ และ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ที่เดินทางมาราว 30-50 คน เพื่อยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คัดค้านเหมืองแร่โปแตซ บอสถูกตำรวจสกัดและขอตรวจบัตรประชาชน ส่วนชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ก็ไม่สามารถเดินทางเข้ามาในมหาวิทยาลัยได้ เพราะถูกตำรวจสกัดกั้น และยื้อเวลาจนกลุ่มอนุรักษ์ฯ ไม่สามารถเข้าพบเพื่อยื่นหนังสือให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ ส่วนบอสเองก็ถูกตำรวจถ่ายภาพและถ่ายคลิปวีดีโอไว้ด้วย จากนั้น เขายังถูกคุมตัวขึ้นรถไปร้านกาแฟที่อยู่ห่างไปราว 5 กิโลเมตร

นักกิจกรรมกลุ่ม Crew bar Multitude จ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย ขับรถมอเตอร์ไซค์ พร้อมหยิบกล้องมือถือขึ้นมาบันทึกภาพบริเวณหน้าบ้านของนักกิจกรรมก่อนวนรถออกไป คาดมาติดตามและปรามการเคลื่อนไหวระหว่างพล.อ.ประยุทธ์ ไปราชการที่ จ.เชียงใหม่ นักกิจกรรมจังหวัดเชียงใหม่ ถือป้ายข้อความขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่มาลงพื้นที่ บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตำรวจได้นำกำลังเรียงแถวเข้าปิดล้อมผู้ถือป้าย นำแผ่นป้ายขาวมาปิดบังป้าย และนำรถตำรวจมาจอดบังระหว่างขบวน พล.อ.ประยุทธ์ ผ่าน และมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยถือร่มบังผู้ที่ถ่ายภาพหรือวิดีโอเหตุการณ์ด้วย

การคุกคามเพื่อขัดขวางการจัดกิจกรรม

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้าตรวจสอบบูธของ สำนักพิมพ์สามัญชน ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ โดยบูธดังกล่าวตกแต่งบูธด้วยเลข 112 พร้อมขีดทับ ก่อนเจ้าหน้าที่จะปลดภาพออกทั้งหมด อ้างเจ้าของสถานที่มีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจตามมา4

แนวโน้มการคุกคามในเดือนเมษายน 2566

เจ้าหน้าที่รัฐยังคงจับตามองการแสดงออกของประชาชนอย่างหนัก การทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วม หรือแม้แต่การที่เยาวชนเขียนป้ายผ้าก็นำไปสู่การควบคุมตัวได้แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่รัฐไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจในการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อควบคุมความสงบเรียบร้อยและความมั่นคง ดังนั้น จึงสามารถวิเคราะห์แนวโน้มการคุกคามในเดือนมีนาคมได้ว่า การคุกคามจะทวีความเข้มข้น และมีแนวโน้มว่าจะมีการใช้ความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม การจัดกิจกรรมในประเด็นทางการเมืองทุกรูปแบบ โดยนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆหรือแม้แต่จะมีผู้จัดกิจกรรมเพียงคนเดียวก็ตาม จะยังคงถูกเพ่งเล็งและขัดขวางโดยเจ้าหน้าที่รัฐ