วันที่: 8/8/2566 ผู้เขียน: Faozee Lateh

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนเมษายน 2566

description

ในเดือนเมษายนนี้ มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 33 ครั้ง โดยลดลงจากเดือนมีนาคม อย่างน้อย 10 ครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ จึงลงพื้นที่หาเสียงทั่วประเทศอย่างคึกคัก ทำให้ความเข้มข้นในการจัดกิจกรรมชุมนุมลดลง ประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุด ยังคงเป็นประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว โดยมีการชุมนุมในประเด็นดังกล่าว อย่างน้อย 29 ครั้ง เป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง บริเวณหน้าศาลฎีกา กรุงเทพฯ อย่างน้อย 16 ครั้ง

รายงานการชุมนุมและสถานการณ์ การคุกคาม ประจำเดือนเมษายน 2566


ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม

ในเดือนเมษายนนี้ มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 33 ครั้ง โดยลดลงจากเดือนมีนาคม อย่างน้อย 10 ครั้ง เนื่องจากเป็นช่วงใกล้เลือกตั้ง พรรคการเมืองต่างๆ จึงลงพื้นที่หาเสียงทั่วประเทศอย่างคึกคัก ทำให้ความเข้มข้นในการจัดกิจกรรมชุมนุมลดลง ประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุด ยังคงเป็นประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว โดยมีการชุมนุมในประเด็นดังกล่าว อย่างน้อย 29 ครั้ง เป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง บริเวณหน้าศาลฎีกา กรุงเทพฯ อย่างน้อย 16 ครั้ง

asset

@ไข่แมวชีส

จากกรณี หยก ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เด็กอายุ 15 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด ปัจจุบันเธอถูกควบคุมตัวที่บ้านปราณี จ.นครปฐม เป็นเวลา 32 วันแล้ว ทำให้หยกเสียโอกาสด้านการศึกษา และเธออาจจะหมดสิทธิเรียนต่อชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หากไม่ได้ไปรายงานตัวเข้าเรียนในวันเปิดภาคเรียน ด้วยเหตุนี้ ทำให้มีกลุ่มนักเคลื่อนไหวร่วมกันจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวหยกและผู้ต้องขังทางการเมืองอย่างน้อย 12 ครั้ง เป็นกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ อย่างน้อย 8 ครั้ง นำโดยกลุ่มเพื่อนหยก เช่น ทานตะวัน ตัวตุลานนท์, อรวรรณ ภู่พงษ์, โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง, สายน้ำ (สงวนชื่อนามสกุล) และอันนา (สงวนชื่อนามสกุล) ได้แก่ การชูป้าย “มีเยาวชน 15 ติดคุกเพราะมาตรา 112”ที่บริเวณอาคารกีฬาเวสน์ 2 สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ซึ่งเป็นสถานที่เปิดรับสมัคร ส.ส. กรุงเทพฯ ทั้ง 33 เขตซึ่งในงานมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด 1 ครั้ง กลุ่มนักกิจกรรมนำโดย อันนา ได้จัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ Performance Art และแจกใบปลิว "ปล่อยหยก" เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวหยกและอธิบายข้อมูลการดำเนินคดี ม.112บริเวณสยามสแควร์ ทั้งนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ Performance Art “ขอใฝ่ฝัน ในฝันอันวาดได้” และเชิญชวนให้ประชาชนร่วมวาดรูปให้กำลังใจหยก บริเวณสยามสแควร์เช่นกัน ทั้งสองกิจกรรมนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนเป็นจำนวนมาก ทานตะวัน และโสภณ ได้เดินทางไปแจกใบปลิวเกี่ยวกับหยก บริเวณย่านดิโอลด์สยาม ถนนตรีเพชร เขตพระนคร กรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถเดินทางเข้าไปในพื้นที่ได้เนื่องจากถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งแนวสกัด รวมถึงมีกลุ่มปกป้องสถาบัน อาทิ กลุ่ม ศปปส. อยู่ในพื้นที่ ทั้งสองกลุ่มมีปากเสียงกันเป็นระยะ จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องตั้งแนวเสริมกำลังเพื่อรักษาความปลอดภัย มีการทำโพลสำรวจความคิดเห็นประชาชน ในหัวข้อ "คุณคิดว่าเด็ก 15 ควรได้มางานหนังสือหรือ ติดคุก เพราะ ม.112" ที่งานหนังสือ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์ นักกิจกรรมหลายกลุ่ม นำโดยโสภณ ได้จัดกิจกรรมแจกใบปลิว และตะโกนตามหาความรับผิดชอบจากอัยการสูงสุดที่ปล่อยให้มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองจำนวนมากบริเวณ BTS อนุสาวรีย์ชัยฯ นอกจากนี้ ยังมีป้ายที่พูดถึงหยก และโปสเตอร์ ”สงกรานต์นี้มีคนไม่ได้กลับบ้าน” ที่สื่อถึงเพื่อนที่ยังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ ทานตะวัน และ อรวรรณ ได้จัดกิจกรรมแจกจดหมายของหยก ซึ่งเป็นจดหมายที่หยกเขียนเองจากสถานพินิจ และแถลงข่าวข้อเท็จจริงในคดี บริเวณศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กลุ่มราษฎร 888 ได้ร่วมกันไปผูกโบว์เขียวให้กำลังใจหยก ที่สถานพินิจบ้านปราณี จ.นครปฐมและยังมีการสอบถามพรรคการเมืองเกี่ยวกับการปล่อยตัวหยกอย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่ กลุ่มนักกิจกรรม นำโดย ทานตะวัน และ อรวรรณ ได้เดินทางไปทำกิจกรรมในงานปราศรัยใหญ่ของพรรคพลังประชารัฐ และขอพบรัฐมนตรีกระทรวงดิจิตอลฯ เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ทำให้เกิดเหตุปะทะกันระหว่างนักกิจกรรม เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของงาน และผู้มาฟังปราศรัย โดยนักกิจกรรมคนหนึ่งถูกกลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้าย นักกิจกรรมคนดังกล่าวถูกส่งตัวไปโรงพยาบาลศิริราชหลังเกิดเหตุ และเข้าแจ้งความที่ สน.บางยี่ขันในเวลาต่อมา หลังจบงานเสวนาเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักกิจกรรมได้สอบถามตัวแทนพรรคการเมืองในประเด็นของหยกและผู้ต้องขังทางการเมืองคนอื่นเรื่องสิทธิประกันตัว และยังมีการสอบถามตัวแทนนักการเมืองในประเด็นดังกล่าวอีก ที่เวทีดีเบตนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน ของแอมเนสตี้ ณ ลานคนเมือง กรุงเทพฯ

นอกจากนี้ กลุ่มมวลชนอิสระ จัดกิจกรรม “คำสั่งจากกำแพงวัง เสียงดังที่โลกต้องได้ยิน” และยื่นหนังสือถึงผู้แทนองค์การสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย กรณีของหยก และ 'หิน' (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 19 ปี ซึ่งปัจจุบันทั้งคู่ถูกควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจ ในวันเดียวกัน ยังมีการเปิดเผยภาพการจับกุม ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมายของรัฐไทยที่ปฏิบัติกับเยาวชนทั้ง 2 คนด้วย

ประเด็นที่มีการจัดกิจกรรมรองลงมา ได้แก่ ประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง เครือข่ายกลุ่มราษฎร “โหวตเพื่อเปลี่ยน” ได้เดินทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนให้คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดการเลือกตั้งให้โปร่งใสและตรวจสอบได้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนฯ ได้จัดเวทีนำเสนอนโยบายยุติการดำเนินคดีทางการเมือง ซึ่งพรรคเพื่อไทย, ก้าวไกล, และสามัญชน ล้วนเห็นด้วยกับข้อเสนอว่าการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองต้องย้อนถึงปี 2549 เป็นอย่างน้อย

ในเดือนนี้ มีกิจกรรมรำลึกถึงบุคคลที่เสียชีวิตหรือสูญหายจากเหตุการณ์ทางการเมือง อย่างน้อย 2 ครั้ง คณะประชาชนทวงความยุติธรรม 2553 ได้จัดงานรำลึก “13 ปีเมษา พฤษภา 53” เนื่องในวาระครบรอบ 13 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ โดยมีพิธีสงฆ์ เพื่ออุทิศบุญส่วนกุศลให้กับวีรชนที่เสียชีวิต และมีการวางพวงหรีดจากองค์กร พรรคการเมือง กลุ่มนักกิจกรรมต่างๆ กลุ่มมวลชนอิสระ ใส่ชุดนักโทษขึ้น BTS แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เนื่องในโอกาสครบรอบ 9 ปี ที่บิลลี่ พอละจี หายตัวไป

สถานการณ์การดำเนินคดีและการคุกคามประชาชน ประจำเดือนเมษายน 2566

ในเดือนเมษายนนี้ แม้สถานการณ์การเมืองจะร้อนแรงขึ้น แต่คดีความจากการชุมนุมยังคงดำเนินต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพิ่มอีกอย่างน้อย 7 ราย แสดงให้เห็นว่าปัญหาการตีความกฎหมายยังเป็นประเด็นสำคัญ ขณะเดียวกัน มีการนำ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และมาตรา 116 มากล่าวหาต่อนักการเมืองฝ่ายค้านและนักกิจกรรมด้วย

ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,902 คน ในจำนวน 1,203 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 284 ราย ใน 211 คดี โดยแยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 41 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนมีนาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 4 คน คดีเพิ่มขึ้น 16 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดีมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,827 ครั้ง มีจำนวน 343 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับว่ายังมีคดีอีกกว่า 860 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 242 คน ในจำนวน 262 คดี

ในเดือนนี้ มีผู้ถูกกล่าวหาเพิ่มอีก 7 คน ใน 6 คดี ได้แก่ สถาพร (สงวนนามสกุล) เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวน 13 นาย เข้าจับกุมตามหมายจับ จากการแสดงออกระหว่างมีขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา ผ่านบริเวณหน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 สินธุ (นามสมมติ) ได้เดินทางจากจันทบุรีเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.พัทลุง ตามหมายเรียก กรณีคอมเม้นโพสต์เพจ The MalaengtaD ซึ่งได้เผยแพร่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พร้อมสมเด็จพระบรมราชินี พร้อมข้อความอักษรประกอบภาพ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 บังเอิญ ถูกตำรวจรวม 10 นาย จับกุมในปั๊มน้ำมันย่านบางบัวทอง กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นรูปภาพครอบครัวของพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ซึ่งบังเอิญยังไม่เคยได้รับหมายเรียกในคดีดังกล่าวมาก่อน ระหว่างสอบสวนตำรวจได้แสดงหมายของศาลอาญา เพื่อขอรหัสในการเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือด้วย สายน้ำ นภสินธุ์ และ ออย สิทธิชัย ได้เข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวนหลังถูกออกหมายจับ คาดมาจากเหตุโพสต์ภาพชูสามนิ้วบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าเมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566ภายหลังศาลให้ประกันตัว โดยผู้กล่าวหาซึ่งเป็นสมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน(ศปปส.) อ้างว่าการแสดงออกดังกล่าวเป็นใช้สถานที่เขตพระราชฐานแสดงออกเชิงสัญลักษณ์สื่อถึงสันติภาพ เสรีภาพ และภราดรภาพ ทำให้เป็นการดูหมิ่นหรือด้อยค่าต่อพระมหากษัตริย์1 อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ ทั้งคู่ยังถูกจับกุมที่ด่านตำรวจบริเวณสะพานหัวช้าง ถนนพญาไท และถูกนำตัวไป สน.พญาไท เบื้องต้นเป็นการถูกกล่าวหาจากกรณีแสดงออกด้วยการพ่นสีสเปรย์ที่เกี่ยวข้องกับเลข 112 และสัญลักษณ์อนาคิสต์ หลายจุดทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ ทั้งสองถูกควบคุมตัวที่ สน. พญาไท 3 ชั่วโมง ก่อนได้รับการปล่อยตัว โดยที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีใดๆ เพียงแต่ถูกตรวจยึดกระป๋องสีสเปรย์ 6 กระป๋อง วันต่อมา มีรายงานว่าทั้งสองถูกตำรวจสายสืบขับรถตามด้วย ทรงพล สนธิรักษ์ ได้รับหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.ขอนแก่น โดยมีผู้สมัคร ส.ส.พรรคไทยภักดีเป็นผู้กล่าวหา เบื้องต้นคดีอยู่ในระหว่างการเลื่อนรับทราบข้อกล่าวหาออกไป นอกจากนี้ เพจศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยังมีการเปิดเผยว่า ได้ไปแจ้งความ ตั้ม (สงวนชื่อนามสกุล) แอดมินเพจคนกลมคนเหลี่ยม ซึ่งเป็นเพจการ์ตูนเสียดสีการเมืองไทย ในข้อหามาตรา 112 เป็นคดีที่ 2

มีการสั่งฟ้องประชาชนเพิ่มอีก 9 คน ใน 5 คดี ได้แก่ โชคดี ร่มพฤกษ์ กรณีถ่ายทอดสดขณะเล่นกีต้าร์ร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ในกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังทำเนียบรัฐบาล ในวันที่ 23 ส.ค. 2565 ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นิราภร อ่อนขาว และ เบนจา อะปัญ กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นแอดมินเพจ “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของรัชกาลที่ 10 ต่อสถาบันตุลาการในการถอนประกันแกนนำราษฎร เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ณรงค์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล), อธิคุณ (สงวนนามสกุล) และ ณัฐพล เหล็กแย้ม กรณีมีกลุ่มคนวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้ากระทรวงแรงงานจนได้รับความเสียหาย เมื่อคืนวันที่ 14 ก.ย. 2564 ภูเขา (นามสมมติ) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์สถาบันกษัตริย์ และสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มสหพันธรัฐไท ตั้งแต่ช่วงเดือน มี.ค. ปี 2562 บีม อรรฆพล (สงวนนามสกุล) กรณีโพสต์ในเฟซบุ๊กช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 – มกราคม 2564 รวม 8 ข้อความ

มีคำพิพากษาออกมา 2 คดี โดยเป็นคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 1 คดี ได้แก่ ณวรรษ เลี้ยงวัฒนากรณีปราศรัยในการชุมนุม นับ 1 ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน ซึ่งจัดบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 หลังณวรรษรับสารภาพ ศาลพิพากษาจำคุกตามมาตรา 112 ทั้งหมด 3 ปี จำคุกข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 เดือน ก่อนลดเหลือรวมจำคุก 1 ปี 7 เดือน ไม่รอการลงโทษ ต่อมา ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว คำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ 1 คดี ได้แก่ วุฒิภัทร (นามสมมติ) กรณีโพสต์แสดงความคิดเห็นในกลุ่มเฟซบุ๊ก “รอยัลลิสต์มาร์เกตเพลส” เมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 มีเนื้อหาข้อความเกี่ยวกับกรณีการสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 8 และการตั้งคำถามต่อเหตุการณ์ที่ 3 จำเลยในคดีประทุษร้ายรัชกาลที่ 8 ถูกประหารชีวิตไปโดยไม่มีความผิด ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ เห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 ระบุหมิ่นประมาทอดีตกษัตริย์ย่อมกระทบถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพราะมาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าพระมหากษัตริย์ต้องเป็นพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ ตัดสินลงโทษจำคุก 5 ปี ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุก 3 ปี 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ก่อนได้ประกันชั้นฎีกา

นอกจากการนำคดีมาตรา 112 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีรายงานว่ามีคดีที่อัยการสั่งไม่ฟ้องเลย สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือแนวทางการตีความมาตรา 112 อย่างกว้างขวาง จนนำมาสู่คำพิพากษาที่มีความย้อนแย้งในตัว เช่น คดีของวุฒิภัทร

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี

ในเดือนเมษายน ไม่พบว่ามีการดำเนินคดีในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อประชาชนเพิ่ม แต่ศาลมีคำพิพากษาออกมา 3 คดี เป็นคำพิพากษายกฟ้องข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่ลงโทษในข้อหาอื่น 2 คดี ได้แก่ นักศึกษาและประชาชน 11 ราย กรณีจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “หาดใหญ่เบอะสุด เขรถยิกลุง เหยดแม่ม” วันที่ 14 ส.ค. 2564 ศาลมีคำพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 3 ราย คนละ 200 บาท ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง และปรับจำเลยอีก 1 ราย 500 บาท ข้อหาปิดบังแผ่นป้ายทะเบียนรถ ศุภวิทษ์ ประสินทอง กรณีร่วมคาร์ม็อบเพชรบูรณ์ “ลบรอยรถถังเผด็จการ ด้วยขบวนรถประชาชน” เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2564 ศาลสั่งลงโทษปรับในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน 15,000 บาท และปรับข้อหาใช้เครื่องขยายเสียง 200 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้ครึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษปรับข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน 7,500 บาท และใช้เครื่องขยายเสียง 100 บาท รวมโทษปรับ 7,600 บาท เป็นคำพิพากษาว่ามีความผิดในข้อหาดังกล่าว ได้แก่ ธีรวิช สุขประเสริฐกุล, นิรุฒน์ ละมูล และ ลำไย จันทร์งาม กรณีร่วมชุมนุมม็อบ7สิงหา2564 ซึ่งจัดโดยกลุ่มเยาวชนปลดแอก (Free Youth) ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดจริง จำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พิพากษาปรับข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำนวน 2,000 บาท และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 100 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และ 3 มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พิพากษาปรับคนละ 2,000 บาท รวมค่าปรับทั้งสามคนเป็นเงิน 6,100 บาท

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 144 คน ในจำนวน 79 คดี

มีการดำเนินคดี นักกิจกรรม 8 ราย กรณีใส่ชุดนักโทษขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส เพื่อแสดงสัญลักษณ์ครบรอบ 9 ปี การหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบ้านโป่งลึก-บางกลอย รวมทั้งเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ทำให้เกิดคำถามว่ากิจกรรมดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการชุมนุมสาธารณะหรือไม่ ในเมื่อไม่ได้มีการประกาศให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 167 คน ในจำนวน 186 คดี

ในเดือนนี้ มีคำพิพากษาออกมา 2 คดี เป็นคำพิพากษายกฟ้องในชั้นศาลฎีกา 1 คดี ได้แก่ สุชานันท์ (สงวนนามสกุล) กรณีโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า รอง ผบ.ตร. และเจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบฯ อยู่เบื้องหลังการทำร้ายนักกิจกรรม จ่านิว ฟอร์ด และเอกชัย เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2562 ศาลชี้ว่าจากข้อเท็จจริงไม่ปรากฎว่าการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของจำเลยทำให้เกิดความวุ่นวาย ทำให้เกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชนตามฟ้อง ศาลพิพากษาว่ามีความผิดจริง ได้แก่ วัชรากร (สงวนนามสกุล) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถพุ่งเข้าชนหนึ่งในผู้ชุมนุมม็อบ8กันยา2564 ที่รวมตัวกันที่บริเวณแยกสามเหลี่ยมดินแดง ตัดสินลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 40,000 บาท เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท รอการลงโทษจำคุก 2 ปี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 28 คน ใน 9 คดี

นอกจากนี้ ยังพบการดำเนินคดีที่มีแนวโน้มว่าจะกระทบต่อเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนในช่วงเลือกตั้ง ได้แก่ กรณีพรรคภูมิใจไทยยื่นฟ้อง ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ต่อศาลแพ่ง ฐานกระทำละเมิดต่อพรรคในการแพร่ข่าวทำให้พรรคเสียหาย พร้อมทั้งยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวและไต่สวนฉุกเฉิน กรณีชูวิทย์พยายามเคลื่อนไหวแสดงออกในทางคัดค้านนโยบายของพรรค โดยเฉพาะในเรื่องกัญชา ต่อมา ศาลแพ่งได้มีคําสั่งห้ามจําเลยกล่าวหรือแสดงการกระทําด้วยวิธีใดๆ เฉพาะเรื่องกัญชาที่เกี่ยวข้องกับโจทก์ แต่เห็นว่าไม่จำต้องคุ้มครองกรณีเรื่องการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แต่หลังจากนั้น ชูวิทย์ไปยื่นคำร้องขอให้ศาลแพ่งเพิกถอนคำสั่งดังกล่าว และศาลได้มีคำสั่งให้ยกเลิกคำสั่งห้าม เห็นว่าจำเลยไม่ได้แสดงความคิดเห็นถึงโจทก์เป็นการเฉพาะ และเป็นการทำให้ประชาชนได้รับทราบถึงประโยชน์และโทษของกัญชา

ผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี ประจำเดือนเมษายน 2566

ในเดือนเมษายนนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีคำสั่งให้ปล่อยตัว หิน (นามสมมติ) เยาวชนวัย 19 ปี เหตุถูกกล่าวหาว่าร่วมกันปา “ลูกกระทบ” จำนวน 9 ครั้ง ในการชุมนุมวันที่ 21 พ.ย. 2564 บริเวณถนนราชปรารภ หินถูกคุมขังที่บ้านเมตตา มาตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 2566 และได้รับการปล่อยตัว วันที่ 25 เม.ย. 2566 รวมระยะเวลาถูกคุมขัง 32 วัน แต่ก็มีการสั่งคุมขัง สุวิทย์ เนื่องจากศาลฎีกาไม่ให้ประกันตัว ภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 1 ปี 2 เดือน ไม่รอลงอาญา ในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง กรณีม็อบ10สิงหา2564 ในวันที่ 24 เม.ย. 2566 ทำให้มีผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทั้งหมด 7 คน เป็นเยาวชน 1 คน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 8 คน ได้แก่ อัญชัญ (ม.112), ศุภากร (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ), ณัฐชนน (ครอบครองวัตถุระเบิด), พลทหารเมธิน (ม.112), กฤษณะ และวรรณภา (คดีสหพันธรัฐไท ข้อหาอั้งยี่), ปริทัศน์ (ม.112) และ คทาธร (ครอบครองวัตถุระเบิด)ซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาหลังจากคทาธรและคงเพชรตัดสินใจรับสารภาพทุกข้อกล่าวหา ศาลสั่งจำคุกคทาธร 1 ปี 3 เดือน 15 วัน และปรับ 1,925 บาท ส่วนคงเพชรลงโทษจำคุก 10 เดือน 10 วัน และปรับ 450 บาท พร้อมริบวัตถุระเบิด อาวุธมีด และถุงผ้า ทั้งสองตัดสินใจว่าจะรับโทษจนครบกำหนด

สถานการณ์คุกคามประชาชน ประจำเดือนเมษายน 2566

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเข้าใกล้วันเลือกตั้ง จึงทำให้ในเดือนนี้ มีการคุกคามประชาชนและผู้สมัคร ส.ส. ขณะหาเสียง หรือเพื่อป้องกันการจัดกิจกรรมขณะที่บุคคลสำคัญลงพื้นที่หาเสียงเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม ดังนี้

การคุกคามประชาชนในช่วงเลือกตั้ง

สายธาร (นามสมมติ) และกัมปนาท (สงวนนามสกุล) ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจคุกคามถึงบ้าน ในจังหวัดอุตรดิตถ์ เพื่อขอไม่ให้ออกมาชุมนุมเคลื่อนไหว ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีกำหนดการจะลงพื้นที่หาเสียง นอกจากนี้ ยังมีนักกิจกรรม และคนทำงานภาคประชาสังคม อย่างน้อย 4 ราย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบไม่ระบุสังกัดไปหาที่บ้าน เพื่อติดตามสอบถามข้อมูลว่าจะมีการทำกิจกรรมหรือการแสดงใด ๆ ในระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงหรือไม่ หลายคนเคยออกมาร่วมชุมนุมในช่วงปี 2563 และไม่ได้เคลื่อนไหวแล้ว แต่กลับยังอยู่ในรายชื่อที่เจ้าหน้าที่ติดตาม1

ส่วนในพื้นที่ภาคใต้ มีรายงานกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามนักกิจกรรมในพื้นที่ จ.ตรัง อย่างน้อย 3 ราย ช่วงก่อนการลงพื้นที่หาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2566 โดยประชาชนรายหนึ่งเป็นอดีตนักกิจกรรมซึ่งปัจจุบันพำนักอยู่ต่างประเทศ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไปหาพ่อและแม่ที่บ้านในจังหวัดตรัง  เพราะต้องการทราบข้อมูลว่าลูกจะทำกิจกรรมหรือมีการเคลื่อนไหวหรือไม่ และอย่างไร

การคุกคามพรรคฝ่ายค้าน

กรุณพล เทียนสุวรรณ รองโฆษกพรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่ จ.น่าน เพื่อช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครของพรรคทั้ง 3 เขต และได้ถูกเจ้าหน้าที่สายสืบติดตามถ่ายภาพโดยตลอด โดยสำนักข่าวไทยพีบีเอสรายงานว่าการติดตามนี้เนื่องมาจากฝ่ายเจ้าหน้าที่อ้างเรื่องเกรงว่าการหาเสียงของพรรคก้าวไกลจะกล่าวถึงมาตรา 112 ภายนอกสภา ซึ่งอาจทำให้ฝ่ายเห็นต่างเกิดความไม่พอใจ จึงมาติดตามเพื่อดูแลความปลอดภัย เช่นเดียวกับกรณีของ อมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล ได้ลงพื้นที่ อ.ภูซาง จ.พะเยา เพื่อช่วยผู้สมัครหาเสียงที่ตลาดสบปง แต่ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 7- 8 นาย ติดตามถ่ายภาพอย่างเปิดเผยอยู่ตลอดระยะเวลาที่ทำการหาเสียง ลักษณะเป็นการคุกคามการหาเสียง มากกว่าการติดตามดูแลความปลอดภัย

ทั้งนี้ ยังพบกรณีเว็บไซต์ กอ.รมน. จ.สงขลา นำภาพการลงพื้นที่หาเสียงของพรรคก้าวไกล ในพื้นที่เทศบาลนครหาดใหญ่ โดยมีไม่เนื้อความหรือคำอธิบายใดๆ หากแต่ว่าปรากฏข้อมูลเผยแพร่จากแหล่งอื่นๆ ซึ่งระบุว่ารอง ผอ.รมน. จังหวัดสงขลาได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ติดตามกลุ่มพรรคก้าวไกล ขณะทำกิจกรรมลงพื้นที่แนะนำตัวกับประชาชนที่ตลาดศรีตรังและมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ แต่กลับมีหน่วยงานรัฐสนับสนุนการหาเสียงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เฟซบุ๊กเพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพัทลุง ได้โพสต์ภาพลงพื้นที่หาเสียงของประยุทธ์และเอ่ยถึงชื่อพรรครวมไทยสร้างชาติบนเพจเฟซบุ๊กของสำนักงานฯ ซึ่งปัจจุบันได้ลบโพสต์ดังกล่าวไปแล้ว

ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการห้ามหรือขัดขวางผู้สมัคร ส.ส. ระหว่างลงพื้นที่ทำกิจกรรมหาเสียง โดยเฉพาะกรณีหาเสียงในช่วงการคัดเลือกการเกณฑ์ทหารในช่วงต้นเดือนเมษายน โดยจะเป็นการพยายามไม่ให้ผู้สมัคร ส.ส. หรือทีมงานพรรคหาเสียงในนโยบายยกเลิกการเกณฑ์ทหารของพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะเป็นการกันออกจากพื้นที่ ขัดขวางการจัดกิจกรรม ขอทราบชื่อและถ่ายรูปผู้ทำกิจกรรม บางกรณีมีการข่มขู่จะทำร้ายร่างกายด้วย นอกจากนี้ ยังมีกรณีของผู้สมัคร ส.ส.พรรคก้าวไกล ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้ชูสามนิ้วขณะทำการหาเสียง ทั้งที่เป็นหมายเลขประจำตัวของผู้สมัครคนดังกล่าว โดยตำรวจอ้างว่าเป็นเขตทหารและเขตพระราชฐาน

สำหรับการกระทำต่อป้ายหาเสียง พบว่ามีอย่างน้อย 2 กรณี ได้แก่ กรณีเจ้าหน้าที่เทศบาล จ.ระยอง ดำเนินการถอดป้ายหาเสียงผู้สมัคร ส.ส. ในพื้นที่เขต 2 ออกจากบริเวณที่ติดตั้งไว้ ซึ่งทราบในเวลาต่อมาว่าเป็นการถอดเก็บป้ายของผู้สมัคร ส.ส. ของทุกพรรคการเมือง และเมื่อทางผู้สมัครของพรรคก้าวไกลติดต่อไปสอบถามสาเหตุ ทางเจ้าหน้าที่ได้อ้างเรื่องขบวนเสด็จของกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่จะไป จ.ระยอง และกรณี กกต. จ.นราธิวาส สั่งให้มีการแก้ไขป้ายหาเสียงของ ผู้สมัคร ส.ส. จากพรรคเป็นธรรม เนื่องจากมีข้อความ “ปาตานีจัดการตนเอง” ซึ่ง กกต.มองว่าเป็นข้อความที่หมิ่นเหม่ต่อหน่วยงานความมั่นคง หากแต่ทางฝ่ายผู้สมัครก็ได้ชี้แจงโดยยืนยันว่า เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นการกระจายอำนาจตามรัฐธรรมนูญ

การคุกคามโดยไม่ทราบสาเหตุ

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรงกุล นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ สวมชุดครุยเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังหน้าศาลฎีกา และถ่ายรูปร่วมกับกลุ่มเพื่อนเนื่องในโอกาสเรียนจบ บริเวณสนามหลวง แต่ระหว่างนั้น กลุ่มนักกิจกรรมได้มีปากเสียงด่าทอกับกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ที่อาสามาเฝ้าวังเป็นระยะ ส่วนตำรวจก็ตรึงกำลังดูแลสถานการณ์1 นอกจากนี้ เขาและทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ยังโดน กลุ่ม ศปปส. ล้อมและขว้างหินใส่บริเวณ The Old Siam จนได้รับบาดเจ็บ ทำให้ตำรวจต้องมาช่วยกันออก ไม่เพียงเท่านั้น ใบปอ และ บุ้ง เนติพร เปิดเผยว่า ถูกชายเสื้อเหลืองเฝ้าอยู่ใต้คอนโดตั้งแต่ช่วงบ่าย แม้ออกมาทำธุระข้างนอกก็ถูกขับรถตาม

พบการคุกคามสื่อ ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ ช่างภาพข่าวจากแพลตฟอร์มออนไลน์ 'Space Bar'ถูกบุคคลที่คาดว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบจากฝ่ายสืบสวนตำรวจนครบาล 5 (สส.บก.น.5) มาเฝ้าติดตามระหว่าง 1-13 เม.ย.ที่ผ่านมา และมีการขอข้อมูลจากนิติคอนโดฯ ที่เขาอาศัยอยู่ อาทิ ข้อมูลห้องพัก ข้อมูลยานพาหนะและพัสดุเข้า-ออก ตลอดจนข้อมูลกล้องวงจรปิดเวลาที่เขาเข้า-ออกอาคาร โดยอ้างว่า เขาเป็นบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ ทั้งนี้ ณัฐพลได้เข้าร้องเรียนกับอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรื่องการคุกคามดังกล่าวแล้ว

ยังมีกรณีนักกิจกรรมถูกทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ ได้แก่ เวหา แสนชนชนะศึก ถูกชายสวมหมวกกันน็อคใช้ไม้เบสบอลเหล็กตีจนแขนหักใกล้ที่พักยามวิกาล เขาได้รับบาดเจ็บบริเวณหน้าแข้งด้านซ้าย และพบรอยฟกช้ำหลายจุด บริเวณต้นแขน ขา หน้าท้อง และหลังซึ่งสายตรวจได้แจ้งกับเวหาว่า ชายคนดังกล่าวมาจากกลุ่มศรีสุริโยไท ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มปกป้องสถาบัน เวหาได้เข้าแจ้งความกับตำรวจเรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่า อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ค กล่าวถึงการดำเนินคดีเพิ่มต่อ หยก ธนลภย์ (สงวนนามสกุล) เด็กอายุ 15 ปี ที่ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 โดยเขากล่าวในไลฟ์สดว่า จะไม่หยุดแจ้งความมาตรา 112 ต่อผู้ที่ทำผิด และแจ้งความหยกเพิ่ม หากตรวจสอบพบว่าเป็นคนเดียวกับสหายนอนน้อย อีกทั้งยังมีการใช้ถ้อยคำหยาบคายและขู่ฆ่าหยกด้วย แม้ว่าหยกจะถูกคุมขังอยู่ก็ตาม

แนวโน้มการคุกคามประชาชน ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

ในเดือนเมษายน จะเห็นว่ามีการคุกคามเพิ่มขึ้นจากกรณีเลือกตั้งทั่วประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่ผู้สมัคร ส.ส. และผู้ช่วยหาเสียง จากพรรคฝ่ายค้าน ลงพื้นที่หาเสียงตามจังหวัดต่างๆ ทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นเดือนที่มีการเลือกตั้ง และเป็นช่วงที่พรรคการเมืองต่างๆ เร่งหาคะแนนเสียงกันอย่างเข้มข้น ย่อมมีการคุกคามผู้สมัคร ส.ส. โดยเฉพาะพรรคฝ่ายค้านมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้ พบว่ามีการคุกคามประชาชนโดยไม่ทราบสาเหตุมาก ซึ่งมักจะเกิดขึ้นกับนักกิจกรรมที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหว บางกรณีมีความรุนแรงมากขึ้นจนถึงขนาดทำร้ายร่างกาย สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนกลุ่มปกป้องสถาบันยังคงจับตามองการแสดงออกของประชาชนอย่างหนัก การทำกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมที่มีผู้เข้าร่วม หรือแม้แต่การปรากฏตัวของนักกิจกรรมฝั่งประชาธิปไตย ก็สามารถเป็นเป้าคุกคามจากกลุ่มที่เห็นต่างได้