ในเดือนมิถุนายนนี้ มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 54 ครั้ง เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤษภาคม อย่างน้อย 13 ครั้ง มีการชุมนุมในประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิในที่ดินทำกินมากขึ้น ในส่วนของการเลือกตั้ง ยังคงมีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งโดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุด ยังคงเป็นประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว โดยมีการชุมนุมในประเด็นดังกล่าว อย่างน้อย 29 ครั้ง เป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง บริเวณหน้าศาลฎีกา กรุงเทพฯ โดยกลุ่มพลเมืองโต้กลับ อย่างน้อย 26 ครั้ง และยืนหยุดทรราช บริเวณท่าแพ จ.เชียงใหม่ โดยกลุ่มพลเมืองเสมอกัน อย่างน้อย 3 ครั้ง
ประเด็นที่มีการชุมนุมรองลงมา คือประเด็นสิ่งแวดล้อมและสิทธิในที่ดินทำกิน อย่างน้อย 10 ครั้ง ได้แก่ ชาวบ้านขวัญคีรีนอก จ.ลำปาง พร้อมสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) เครือข่ายชาติพันธุ์ลำปาง เข้ายื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ณ ศาลากลาง จ.ลำปาง ปฏิเสธโครงการปลูกป่าทั้งหมดในพื้นที่ เนื่องจากอาจจะส่งผลกระทบต่อวิถีชาติพันธุ์ กลุ่มอนุรักษ์น้ำซับคำป่าหลาย ยื่นหนังสือค้านอนุญาตโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานลม ที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงหมูแปลง 2 ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร ประชาชนรอบบึงกุดทิง จ.บึงกาฬ รวมตัวกันคัดค้านผลการรับฟังความคิดเห็นร่างแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง เรียกร้องให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเพิกถอนเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิงออกไปจากที่สาธารณะ เครือข่ายประชาชนพิทักษ์เขาเตราะปลิง และพันธมิตร ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯปัตตานี ขอให้การรับรองเวทีรับฟังความเห็นชุมชนเรื่องขอประทานบัตรเหมืองแร่แกรนิต อ.สายบุรี เป็นโมฆะ เนื่องจากมีความไม่โปร่งใสหลายเรื่อง และเชิญแต่ชาวบ้านที่เห็นด้วยเท่านั้น สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ได้ยื่นหนังสือถึง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเวทีพรรคก้าวไกลพบภาคประชาสังคมกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง จ.เชียงใหม่ ยืนยันข้อเสนอจากเครือข่ายที่ดิน-ป่าไม้ชาติพันธุ์ 4 ข้อ และแสดงความกังวลเรื่องนโยบายชาติพันธุ์ 7 ด้านของพรรคก้าวไกลไม่ปรากฏใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งกลุ่ม สกน. ก็ได้จัดงานแถลงการณ์แสดงเจตจำนงเดินหน้าเคลื่อนไหวยืนหยัดสิทธิในที่ดินถิ่นที่อยู่อาศัย ณ พื้นที่ปฏิรูปที่ดินบ้านท่ากอม่วง จ.ลำพูน ประชาชนในพื้นที่ชุมชนวังหีบและเครือข่ายศิลปินปกป้องป่าวังหีบ ได้จัดกิจกรรมงานดนตรีกล่อมไพร "หัวใจรักษ์ป่า ครั้งที่ 2” มีการแสดงดนตรี อ่านบทกวี งานศิลปะ เสวนา อ่านแถลงการณ์ และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนในพื้นที่ กลุ่มผู้คัดค้านการทำเหมือง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้ประชุมหารือเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและร่วมกันคัดค้านการทำเหมืองในพื้นที่ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านต่อไป กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด รวมตัวกันชุมนุม “หยุดโปแตซดอนหนองโพธิ์ฟื้นฟูที่หนองไทร” เพื่อเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่โปแตซ พร้อมปักหลักชุมนุมหากไม่ได้คำตอบจากผู้ว่าฯ จังหวัดนครราชสีมา ภายหลังผู้ว่าฯ แจ้งจะระงับการดำเนินงานของโครงการก่อน เครือข่ายชาวเล อันดามัน ยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบการอนุญาตให้เอกชนทำโรงแรมทับพื้นที่เพื่อคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล และที่อนุรักษ์แหล่งเต่าทะเลวางไข่
@กันต์ แสงทอง
แม้ว่า กกต. จะมีกำหนดเวลา 60 วัน ในการรับรองผลการเลือกตั้ง แต่การใช้เวลานาน ยิ่งส่งผลต่อความมั่นใจของประชาชน ทำให้เกิดความกังวลว่าจะมีการเตรียมการอื่นใดที่จะทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีผลเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ จึงทำให้มีการชุมนุมใน ประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง อย่างน้อย 5 ครั้ง ซึ่งเป็นการเรียกร้องให้ กกต. รับรองผลการเลือกตั้งโดยเร็วทั้งหมด ได้แก่ ประชาชนชาวเชียงใหม่ จัดกิจกรรม “ประชาธิปไตยต้องไปต่อ กกต.ต้องรับรองผลการเลือกตั้งทันที” เพื่อเรียกร้องในประเด็นดังกล่าว และเรียกร้องให้หยุดดำเนินการยุบพรรคการเมืองด้วย นักกิจกรรมกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ยื่นหนังสือถึง กกต. เพื่อเรียกร้องให้รับรองผลการเลือกตั้ง และต้องไม่รับคำร้องเรื่องหุ้นสื่อ iTV ของพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เนื่องจากไม่มีหลักฐานว่ายังประกอบกิจการสื่ออยู่ ประชาชน และเครือข่ายนักวิชาการ จ.เชียงใหม่ รวมตัวกันยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. หลังครบ 30 วัน นับจากวันเลือกตั้ง แต่ยังไม่รับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการกลุ่มประชาชน รวมตัวกันบริเวณหน้าหอศิลป์ เพื่อทวงผลการเลือกตั้งที่ กกต. ยังไม่รับรอง แม้ว่าการเลือกตั้งจะผ่านพ้นไป 33 วันแล้ว
ในประเด็นที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง คณะประชาชนรักในหลวง รวมตัวกันยื่นหนังสือที่รัฐสภา เพื่อให้กำลังใจ ส.ว. ไม่ให้สนับสนุนพรรคการเมืองที่มีนโยบายล้มล้างสถาบัน
วันที่ 24 มิถุนายน 2475 มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย นับจากวันดังนั้นก็เป็นเวลา 91 ปี แล้ว จึงมีการจัดงานรำลึกถึงวันดังกล่าว อย่างน้อย 4 ครั้ง ได้แก่ เครือข่ายประชาชนกลุ่มก่อการล้านนาใหม่ จัดกิจกรรม “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ” มีการนำไม้ค้ำพร้อมป้ายข้อความมาติดตั้งบริเวณกลางลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีการตีกลองสะบัดชัย, อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก่อนตัวแทนอ่านประกาศข้อเรียกร้องเพื่อให้เกิดการปกครองที่ดีขึ้น นอกจากกิจกรรมของกลุ่มก่อการล้านนาใหม่แล้ว ยังมีการจัดงานรำลึกในรูปแบบงานเสวนาจาก คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน หรือ ครช. และเครือข่าย จัดกิจกรรม "มุ่งหน้าธรรมศาสตร์ เฉลิมฉลองวันชาติราษฎร" ที่ลานประติมากรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ พรรคก้าวไกล จัดกิจกรรม "ยุคสมัยใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่ 24 มิถุนา รุ่งอรุณแห่งประชาธิปไตยและความหวัง" และกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ จัดกิจกรรม “Democuisine เสพความหวังกลืนความจริง” เพื่อร่วมรับประทานอาหารและฟังเสวนาเรื่องการต่อสู้ในเส้นทางประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม มีการคัดค้านการจัดงาน “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตย ปักหมุดหมายกระจายอำนาจ” อย่างน้อย 2 ครั้ง จาก กลุ่มเครือข่ายคนไทยรักชาติสถาบัน (ภาคเหนือ) ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการจัดกิจกรรมให้อธิบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ได้เดินขบวนมาแสดงเจตจำนงแสดงความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ บริเวณหน้าโรงแรม iBis Styles ระหว่างจัดเสวนางานดังกล่าว ในเดือนนี้ กลุ่มประชาชนผู้รักสถาบันได้จัดกิจกรรมอย่างน้อย 4 ครั้ง นอกจากกิจกรรมข้างต้น กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ยังรวมตัวยื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อให้ตรวจสอบงานเสวนาเปิดตัวขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ ที่อาจมีกิจกรรมเข้าข่ายความผิดแบ่งแยกดินแดน และฐานกบฏ และยังมีการยื่นหนังสือถึงกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เพื่อแสดงความกังวลว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดนทำกิจกรรมล้างสมองกระจายตัวตามภูมิภาคต่างๆ และต้องการทราบความชัดเจนว่าจะปกป้อง 3 สถาบันหลักของชาติอย่างไร
นอกจากนี้ หลายหน่วยงานยังร่วมกันจัดงาน Bangkok Pride 2023 เป็นการเดินขบวนเพื่อเรียกร้องให้ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อย่างเท่าเทียมกัน ในประเด็นสำคัญคือ การรับรองเพศสภาพ, สมรสเท่าเทียม, สิทธิของ Sex Workers และ สวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับ LGBTQ+ ในวันเดียวกันนั้น กลุ่มมวลชนอิสระ จัดกิจกรรม “3 ปี เราไม่ลืมวันเฉลิม” เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์การอุ้มหายผู้ลี้ภัยทางการเมือง วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ และทวงคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวของวันเฉลิม ควบคู่ไปกับการเดินขบวนในงาน Bangkok Pride 2023
สถานการณ์คดีและการคุกคามประชาชน ประจำเดือนมิถุนายน 2566
ในเดือนมิถุนายนนี้ ไม่พบการดำเนินคดีใหม่กับประชาชนมากนัก แต่มีคำพิพากษาคดีในมาตรา 112 ออกมาอย่างน้อย 12 คดี ซึ่งมีทั้งคำพิพากษายกฟ้อง มีความผิดตามฟ้อง และมีการลงโทษโดยไม่รอลงอาญา ขณะเดียวกัน หลังจากต่อสู้คดีมากกว่า 2 ปี ศาลก็มีคำพิพากษายกฟ้อง ในคดีขัดขวางขบวนเสด็จ ตามข้อหาหลักมาตรา 110 นอกจากนี้ ยังมีคำพิพากษาคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกมาอย่างน้อย 8 คดี
ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,916 คน ในจำนวน 1,226 คดี มีจำนวน 371 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 855 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 215 คดี เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน คดีเพิ่มขึ้น 8 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำมาเรียงต่อกัน จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,860 ครั้ง1
สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่
1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 252 คน ในจำนวน 271 คดี
ในเดือนนี้ มีการดำเนินคดีเพิ่มกับประชาชนเพิ่มอีกอย่างน้อย 3 คน ใน 3 คดี เป็นการสั่งฟ้องคดีโดยอัยการทั้งหมด ได้แก่ เวฟ กรณีแชร์และโพสต์ข้อความประกอบในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับเรื่องการผลิตวัคซีนจากภาษีประชาชน ตั้งแต่ช่วงเดือน พ.ค. 2564 สมพล (นามสมมติ) กรณีถูกกล่าวหาว่าปาสีน้ำสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในพื้นที่เขตดอนเมือง โดยนับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 6 ที่เขาถูกสั่งฟ้องแล้ว สถาพร (สงวนนามสกุล) กรณีแสดงออกระหว่างขบวนเสด็จของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีสุทิดา ผ่านบริเวณหน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2565
อย่างไรก็ตาม มีการนัดสืบพยานคดีมาตรา 112 ของ ชลธิชา แจ้งเร็ว กรณีโพสต์ข้อความถึงสถาบันกษัตริย์ในการเคลื่อนไหว “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 ซึ่งศาลอาญาได้ดำเนินการสืบพยานโดยที่ไม่มีทนายความเข้าร่วม หลังศาลได้เลื่อนนัดคดีให้เร็วขึ้น แม้ทนายความจะแจ้งศาลแล้วว่าติดนัดพิจารณาคดีอื่น ศาลก็ไม่อนุญาตให้เลื่อนวัน ชลธิชาจึงปฏิเสธกระบวนการดังกล่าว ภายหลัง ศาลให้เลื่อนคดีก่อนสืบพยานจำเลย และให้เรียกพยานโจทก์มาให้ทนายจำเลยถามซักค้าน
ในเดือนนี้ มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 12 คดี เป็นคำพิพากษายกฟ้อง 2 คดี ได้แก่ ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ กรณีถูกกล่าวหาว่าปลดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากป้อมยามหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี แล้วนำกรอบรูปไปทิ้งลงคลอง เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2564 ศาลชี้ว่า ศิระพัทธ์ต้องการขโมยของยามวิกาลเท่านั้น การที่ต้องลากกรอบรูปไปกับพื้น เนื่องจากกรอบรูปมีความหนัก ฟังไม่ได้ว่ามีเจตนาดูหมิ่นกษัตริย์ แต่มีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยลงโทษในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 40,000 บาท และลงโทษในข้อหาลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท ลดโทษในความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 20,000 บาท และความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลดโทษเหลือจำคุก 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท รวมโทษจำคุก 9 เดือน ปรับ 30,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษ 2 ปี ในส่วนของ กนกวรรณ (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกฟ้อง
ในข้อหารับของโจร คดีเดียวกับศิระพัทธ์ เพราะเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เก็บรักษากรอบรูปที่เขาขโมยมา ศาลพิพากษายกฟ้องเช่นกัน เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ ชูเกียรติ แสงวงค์ กรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษที่มีข้อความว่า “ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!” บนรูปกษัตริย์รัชกาลที่ 10 บริเวณหน้าศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุมม็อบ 20 มี.ค. 2564 ศาลยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112, มาตรา 116 และอีก 4 ข้อหา เนื่องจากหลักฐานยังไม่ชัดเจนว่าเขาเป็นผู้กระทำ แต่ให้จำคุก 1 เดือน และปรับเงิน 2,000 บาท ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 1 ปี
มีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้องอย่างน้อย 10 คดี มีโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา และศาลไม่ให้ประกันตัวอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ ทีปกร กรณีโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูบ ตั้งคำถามถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2563 ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ริบของกลาง โดยไม่รอลงอาญาวารุณี (สงวนนามสกุล) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัขด้วย ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ลดโทษเนื่องจากสารภาพเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
ศาลพิพากษาว่ามีความผิด แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาอย่างน้อย 5 คดี ได้แก่ ภูมิ หัวลำโพง นักกิจกรรมอายุ 18 ปี กรณีร่วมกับเพื่อนทำกิจกรรมชูป้ายเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง ที่บริเวณแยกลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อช่วงค่ำวันที่ 30 ธ.ค. 2564เนื่องจากขณะกระทำการ ภูมิอายุ 18 ปีเศษ ศาลจึงลดโทษให้เป็นจำคุกตามมาตรา 112 ทั้งหมด 2 ปี ปรับ 2,000 บาท ฐานไม่ฟังคำสั่งเจ้าพนักงาน รับสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1,000 บาท ธิดา (นามสมมติ) กรณีเผยแพร่คลิปวิดีโอในแอพพลิเคชัน TikTok ลิปซิงค์เพลง “พระราชาในนิทาน” ที่เป็นกระแสนิยมเล่นกันในช่วงเดือน ส.ค. 2564 ศาลพิพากษาจำคุกตามมาตรา 112 ทั้งหมด 3 ปี รับสารภาพลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน พลเมือง (นามสมมติ) จากการสนทนาในกลุ่มไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจร่วมกัน แต่ต่อมาเกิดการทะเลาะเบาะแว้งภายหลังจึงมีผู้นำข้อความในกลุ่มสนทนามากล่าวหา ศาลพิพากษาจำคุกตามมาตรา 112 ทั้งหมด 3 ปี รับสารภาพลดโทษเหลือ 1 ปี 6 เดือน พงษ์ (นามสมมติ)กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 6 ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างวันที่ 11 ต.ค. ถึง 14 พ.ย. 2564 ศาลพิพากษาลงโทษตามมาตรา 112 จำคุก 18 ปี ให้การรับสารภาพ ลดโทษเหลือจำคุก 6 ปี 36 เดือน7ธัญวดี (นามสมมติ) กรณีคอมเมนต์ใต้เพจเฟซบุ๊ก “การบินไทย” เกี่ยวกับการรับเงินภาษีและบริจาคบางส่วนกลับคืนใหประชาชน เมื่อช่วงปี 2563 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษเหลือ 2 ปี
ศาลพิพากษาว่ามีความผิด โทษจำคุกไม่รอลงอาญา แต่ได้รับสิทธิประกันตัว อย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ ประสงค์ โคตรสงครามกรณีโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กรวม 2 กระทง เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564 ศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี ก่อนลดโทษเหลือ 3 ปี ชูเกียรติ แสงวงค์ และ วรรณวลี ธรรมสัตยา จากการปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ยื่นคัดค้านคำสั่งการปิดกั้นการเข้าถึงคลิปวีดิโอเรื่อง “วัคซีนพระราชทาน ใครได้ใครเสีย?” ในช่องทางออนไลน์ต่างๆ ของคณะก้าวหน้า ซึ่งมีการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์การจัดหาวัคซีนโควิด-19 เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2564 ในเรื่องนี้ กระทรวงดิจิตัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้อ้างอำนาจตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 20 ยื่นคำร้องต่อศาลอาญาเพื่อขอให้สั่งปิดกั้นคลิปดังกล่าว อ้างว่ามีเนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้เพิกถอนการปิดกั้น โดยเห็นว่าต้องให้โอกาสเจ้าของเว็บไซต์โต้แย้งแสดงพยานหลักฐานก่อน และคำว่า “อาจกระทบต่อความมั่นคง” ต้องตีความอย่างเคร่งครัด การที่ธนาธรพูดว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถือหุ้นบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ มิได้ทำให้พระองค์เสื่อมเสียหรือถูกดูหมิ่นหรือเกลียดชัง อย่างไรก็ตาม ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำสั่งของศาลชั้นต้น ชี้สามารถระงับการเผยแพร่ได้โดยไม่ต้องให้เจ้าของเว็บไซต์มาชี้แจง ต่อมา ศาลฎีกามีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ อ้างว่าการเผยแพร่คลิป อาจทำให้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นกระทบกระเทือนต่อสถาบันฯ ไม่จำเป็นต้องพิจารณาว่าไลฟ์ของธนาธรเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลหรือไม่
นอกจากการนำคดีมาตรา 112 เข้าสู่กระบวนการพิจารณาอย่างต่อเนื่อง สิ่งที่น่ากังวลอีกประการคือแนวทางการตีความมาตรา 112 อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี ได้ให้การคุ้มครองบุคคลใช้สิทธิและเสรีภาพการแสดงออกภายใต้ข้อ 19 และสิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบภายใต้ข้อ 21 อีกทั้ง คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้ระบุถึงข้อห่วงกังวลต่างๆ เกี่ยวกับกฎหมายว่าด้วยการหมิ่นพระมหากษัตริย์ทั่วโลก โดยกล่าวว่า บุคคลสาธารณะทุกคน รวมถึงผู้ที่มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง ล้วนเป็นผู้ที่ควรถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างชอบธรรม และการต่อต้านคัดค้านทางการเมือง รวมถึงการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันของรัฐนั้นไม่ควรเป็นเรื่องต้องห้าม แม้ในกรณีที่ข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนั้นอาจถูกมองว่าเป็นโทษที่เกี่ยวข้องกับการหมิ่นประมาท คณะกรรมการฯ ได้ลงความเห็นว่า “โทษจำคุกไม่ใช่เป็นการลงโทษที่เหมาะสมในทุกกรณี”
ในเดือนมิถุนายนนี้ มีการตัดสินคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ อีก 1 คดี ได้แก่ เอกชัย หงส์กังวาน, บุญเกื้อหนุน เป้าทอง, สุรนาถ แป้นประเสริฐ และ ประชาชนอีก 2 คนในข้อหาหลักประทุษร้ายต่อเสรีภาพพระราชินี ตามมาตรา 110 ซึ่งมีการระวางโทษจำคุก 16-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต จากกรณีถูกกล่าวหาว่าขัดขวางขบวนเสด็จที่แล่นผ่านบริเวณชุมนุม ในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ใช้เวลาการต่อสู้คดีมากกว่า 2 ปี เอกชัยถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพรวมระยะเวลา 18 วัน ขณะที่สุรนาถถูกคุมขังอยู่รวม 13 วัน เขาถูกนำตัวไปแยกขังเดี่ยวที่เรือนจำบางขวางด้วย อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา เนื่องจากผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ตำรวจมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนกัน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดเส้นทางขบวนเสด็จไม่เรียบร้อย ไม่มีการประกาศให้ประชาชนรับทราบก่อน และเป็นฝ่ายปิดกั้นทางจราจรเสียเอง
2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เข้าแจ้งความดำเนินคดีแก่ ชาติชาย ธรรมโม, วัชรภัทร ธรรมจักร, ธีราภรณ์ พุดทะสี, เบญจภัทร ธงนันตา รวมทั้งเพจเฟซบุ๊ก Lanner และเพจเฟซบุ๊ก NEO LANNAกรณีคณะก่อการล้านนาใหม่ จัดงาน แห่ไม้ค้ำประชาธิปไตย ปักหมุดกระจายอำนาจ ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 ในข้อหาหลักตามมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ
คดีของ นักกิจกรรมทางการเมือง 12 คน กรณีเข้าร่วมชุมนุมม็อบเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โดยถูกฟ้องในข้อหาหลักมาตรา 116 ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง มาตรา 116 ลงโทษจำคุก 2 เดือน, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และ พ.ร.บ.จราจรฯ ปรับ 2,000 บาท รวมจำคุก 2 เดือน ปรับ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด 2 ปี
3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี
ในเดือนนี้ ไม่มีการดำเนินคดีกับประชาชนในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพิ่ม แต่มีคำพิพากษาออกมาอย่างน้อย 8 คดี เป็นคำพิพากษายกฟ้อง 3 คดี ได้แก่ นักกิจกรรม 12 คน กรณีเข้าร่วมชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563ศาลยกฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่สั่งลงโทษในข้อกล่าวหาอื่นนักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้าและประชาชน 18 คน กรณีพ่นสีและสาดสีใส่ป้าย สน.ทุ่งสองห้อง เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 ศาลยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาฯ เนื่องจากไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุม ในส่วนของมาตรา 360 นั้นศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับคนละ 6,000 บาท แก่ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ ทรงพล สนธิรักษ์ เพราะมีหลักฐานว่าเป็นผู้กระทำการสาดสีจริง และให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี1นักกิจกรรม 21 คน กรณีชุมนุมราษฎรออนทัวร์ หน้า สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 เรียกร้องให้ตำรวจขอโทษขอโทษเรื่องคุกคามครอบครัวนักเรียน2
นอกจากนั้น เป็นคำพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง 5 คดี ได้แก่ นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า 10 คน จากการทำกิจกรรมสาดสีหน้าที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อเรียกร้องให้ลาออกจากการเป็นพรรคร่วมรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2564 ศาลสั่งลงโทษ คนละ 1 ปี 10 เดือน ปรับคนละ 25,200 บาท ลดโทษเหลือจำคุกคนละ 11 เดือน ปรับคนละ 12,600 บาทยกเว้น นวพล ต้นงาม ซึ่งไม่ได้ถูกฟ้องข้อหาทำให้เสียทรัพย์ พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 20,200 บาท ลดโทษเหลือจำคุก 9 เดือน ปรับ 10,100 บาท และให้รอการลงโทษจำคุกทั้ง 10 คน เป็นเวลา 2 ปี3ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ ชินวัตร จันทร์กระจ่างกรณีการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2563 หน้ากองพันทหารม้าที่ 4 กองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ศาลสั่งปรับฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คนละ 20,000 บาท ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต ปรับคนละ 200 บาท และฐานทำให้ของโสโครกเปรอะเปื้อนทรัพย์ ปรับคนละ 5,000 บาท รวมปรับทั้งสิ้นคนละ 25,200 บาท พีรพงศ์ เพิ่มพูล กรณีเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม “ม็อบ 23 ตุลา งานเสวนา FREE OUR FRIENDS FREE OUR FUTURE คืนอิสรภาพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2564 ศาลลงโทษจำคุก 20 วัน ปรับ 10,000 บาท ส่วน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ปรับ 200 บาท ลดโทษลงเหลือจำคุก 15 วัน ปรับ 7,500 บาท ส่วน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ปรับ 150 บาท รอการลงโทษจำคุก 1 ปี5 นอกจากนี้ ยังมีคดีของเยาวชน 3 ราย ได้แก่ โมโม่ ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี, ต้นอ้อ ขณะเกิดเหตุอายุ 16 ปี และ ปิง (นามสมมติ) ขณะเกิดเหตุอายุ 15 ปี กรณีเข้าร่วมกิจกรรม Rainbow Carmob ขบวนกี v.1 แหกกีไปไล่คนจัญไร จัดโดยกลุ่มเฟมินิสต์ปลดแอก เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางพิพากษาว่า ทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษปรับคนละ 4,000 บาท ในความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรฯ ลงโทษปรับปิง 400 บาท ส่วนโม่โม่และต้นอ้อให้ยกฟ้องข้อหานี้
อย่างไรก็ตาม ยังมีกรณีที่ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นอีก 1 คดี ได้แก่ ประชาชน 4 คน จากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบโคราช เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลย 3 คน ที่รับสารภาพแล้วมีความผิดตามฟ้อง ปรับคนละ 5,000 บาท และยกฟ้องภัทรกาญจน์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษปรับภัทรกาญจน์ 10,000 บาท
ที่ผ่านมา มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อดำเนินคดีผู้ใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งการแสดงออกดังกล่าว ได้รับการคุ้มครองภายใต้ ข้อ 21 ของ ICCPR เสรีภาพในการแสดงออกและในข้อมูล ภายใต้ข้อ 19 ของ ICCPR เสรีภาพในการเคลื่อนไหว ภายใต้ข้อ 12 ของ ICCPR และสิทธิในการที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารรัฐกิจ ภายใต้ข้อ 25 ของ ICCPR อย่างไรก็ตาม การดำเนินคดีเหล่านั้นต่อประชาชนไม่ถือว่ามีความจำเป็นและได้สัดส่วน และข้อที่ 4 ของ ICCPR จะให้รัฐภาคีสามารถเลี่ยงพันธกรณีของตนภายใต้ ICCPR ได้เท่าที่จำเป็นและได้สัดส่วนตามสถานการณ์ฉุกเฉินของสถานการณ์ โดยประเทศไทยได้แจ้งให้เลขาธิการสหประชาชาติได้รับรู้ มีผลบังคับใช้วันที่ 26 มี.ค. 2563 ถึง 30 มิ.ย. 2563 ซึ่งไม่ได้ทำการแจ้งเลขาธิการสหประชาชาติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศไทยจึงไม่ได้มีการใช้สิทธิในการเลี่ยงพันธกรณีภายใต้ ICCPR หลังจากวันที่ 30 มิ.ย. 2563
4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ อย่างน้อย 148 คน ในจำนวน 80 คดี
มีการแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ เพิ่มแก่ สมยศ พฤกษาเกษมสุข และ ธนพร วิจันทร์กรณีทำกิจกรรมวันแรงงานสากล "สาปส่งรัฐปีศาจ สร้างชาติด้วยรัฐใหม่" เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ หน้าทำเนียบรัฐบาล เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 พ.ค.2566
5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 178 คน ในจำนวน 196 คดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ยกฟ้อง ซี (นามสมมติ) กรณีมีผู้ใช้ทวิตเตอร์โพสต์ภาพชายคนหนึ่งขณะเที่ยวสถานบันเทิง พร้อมข้อความที่เชื่อมโยงศักดิ์สยาม เมื่อช่วงเดือนเมษายน 2564
6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษกักขัง นักกิจกรรม 6 คน เป็นเวลา 10 วัน กรณีถูกกล่าวหาว่าไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊ก เขียนข้อความที่ไม่เหมาะสมบริเวณผนังห้องควบคุมผู้ต้องขัง ศาลธัญบุรี ส่งเสียงดัง และมีการทำลายทรัพย์สินของราชการจนได้รับความเสียหาย
ผู้ถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดี ประจำเดือนมิถุนายน 2566
ในเดือนมิถุนายนนี้ ศาลไม่มีคำสั่งปล่อยตัวผู้ต้องขังคนใด และมีการคุมขังประชาชนเพิ่ม 2 คน ในข้อหาตามมาตรา 112 ได้แก่ ทีปกร (สงวนนามสกุล) กรณีโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูบ ตั้งคำถามถึงคุณค่าของสถาบันกษัตริย์ เมื่อช่วงเดือน ต.ค. 2563 ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้ทีปกรถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2566 วารุณี (สงวนนามสกุล) กรณีโพสต์เฟซบุ๊กเป็นภาพรัชกาลที่ 10 ขณะเปลี่ยนเครื่องทรง “พระแก้วมรกต” เป็นชุดกระโปรงยาวสีม่วงจากแบรนด์ Sirivannavari และใส่ภาพสุนัขด้วย ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ลดโทษเนื่องจากสารภาพเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ทำให้วารุณีถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 28 มิ.ย. 2566
นอกจากนี้ หลังศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, ธนายุทธ ณ อยุธยา และ ปฏิมา คนละ 1 ปี ปรับ 500 บาท จากเหตุถูกกล่าวหากรณีปาระเบิดปิงปองบริเวณบ้านพัก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วงคืนวันที่ 10 เม.ย. 2565 ทั้ง 3 คนถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำในวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ก่อนได้รับการประกันตัวในวันที่ 22 มิ.ย. 2566 ทำให้ในเดือนนี้ มีผู้ที่ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทั้งหมด 7 คน
นอกจากนี้ ยังมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 10 คน ได้แก่ อัญชัญ (ม.112), ศุภากร (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ), ณัฐชนน (ครอบครองวัตถุระเบิด), พลทหารเมธิน (ม.112), กฤษณะ และวรรณภา (คดีสหพันธรัฐไท ข้อหาอั้งยี่), ปริทัศน์ (ม.112), คทาธร (ครอบครองวัตถุระเบิด)ซึ่งคทาธรจะรับโทษจนครบกำหนดในวันที่ 24 ก.ค. 2566 ทัตพงศ์ เขียวขาวถูกกล่าวหาครอบครองวัตถุระเบิด หลังอัยการมีคำสั่งฟ้องวันที่ 1 มี.ค. 2566 กรณีถูกกล่าวหาว่าครอบครองวัตถุระเบิดระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊ซ ที่ถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 เขาไม่ได้รับการประกันตัว และวันที่ 31 พ.ค. 2566 ศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี ลดเหลือ 3 ปี โดยไม่รอลงอาญาและสุวิทย์ ในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง กรณีม็อบ 10 ส.ค. 2564 หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 1 ปี 2 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ทั้งสองคนตัดสินใจไม่อุทธรณ์คดีต่อ
สถานการณ์คุกคามประชาชน ประจำเดือนมิถุนายน 2566
ในเดือนมิถุนายนนี้ ไม่มีรายงานกรณีคุกคามประชาชนมากนัก ผู้ที่ถูกคุกคาม ยังคงเป็นนักกิจกรรมที่มีบทบาทการเคลื่อนไหวอยู่ ประเด็นที่ยังพบการคุกคามอยู่ ก็คือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ได้แก่ สิทธิชัย แจ้งว่ามีชายฉกรรจ์ไม่ทราบชื่อ ไม่ทราบสังกัดตามตัวเขาตั้งแต่ศาลอาญา โดยไม่แสดงตัวตนว่าตามมาเพื่อจุดประสงค์ใด ส่วน มานี ก็ให้ข้อมูลว่ามีตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามเช่นกัน คาดว่าเกี่ยวกับการป้องกันการกิจกรรมช่วงวันเกิดราชินี
แม้ว่า หยก นักกิจกรรมเด็กอายุ 15 ปี ได้รับการปล่อยตัวจากบ้านปราณี จ.นครปฐมแล้ว แต่หยกยังคงมีปัญหากับการเข้าเรียนในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ เนื่องจากทางโรงเรียนอ้างว่า หยกไม่มีผู้ปกครองมามอบตัวในวันเปิดการศึกษา จึงถือว่าหยกไม่ใช่นักเรียนของโรงเรียนตั้งแต่แรก ไม่เกี่ยวกับการที่หยกแต่งกายด้วยชุดไปรเวท ย้อมผมมาเรียน และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบบางข้อของโรงเรียนแต่อย่างใด ทำให้หยกต้องปีนรั้วเข้าโรงเรียนอยู่หลายวัน เมื่อเข้าเรียนได้แล้ว ครูบางคนก็ไม่ยอมตรวจการบ้านให้ รวมถึงไม่มีสิทธิสอบและไม่มีสิทธิรับวุฒิการศึกษาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จึงได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลถึงเรื่องดังกล่าว ขณะเดียวกัน หยกยังถูก นพดล พรหมภาษิต แกนนำศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ โพสต์ภาพบนเฟซบุ๊ก อ้างว่าเป็น "สภาพบ้านของหยก พร้อมกันนี้ภายในภาพมีการแสดงข้อมูลบนเว็บกูเกิลแมป และยังได้เปิดเผยชื่อของบิดามารดาของหยกอีกด้วย
ทั้งนี้ ยังมีการรายงานว่า กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน นำโดยอานนท์ กลิ่นแก้ว นำหลักฐานมายื่นให้กับ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ขอให้ตรวจสอบนักเรียนคนหนึ่ง กรณีโพสต์หมิ่นสถาบันฯ โดยยืนยันว่าไม่ได้มาแจ้งความ แค่มาขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยปรับทัศนคติเท่านั้น1
นอกจากประเด็นเรื่องสถาบัน ยังพบการคุกคาม คณะทำงาน สำนักพิมพ์โกปี KOPI ระหว่างเข้าร่วมค่ายถอดบทเรียน ณ โรงแรมแห่งหนึ่งในจังหวัดนครราชสีมา โดยคณะทำงานฯแจ้งว่าถูกติดตามจากบุคคลที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง มีการเข้ามาสอบถาม แอบถ่ายรูป และขอข้อมูลจากพนักงานโรงแรมโดยไม่ได้แจ้งว่าเป็นใคร ทำให้พวกเขารู้สึกไม่ปลอดภัย กลุ่มคณะทำงานฯจึงได้เข้าพบ กสม. ประจำจังหวัดสงขลา เพื่อรายงานสถานการณ์และข้อกังวลจากเหตุการณ์ดังกล่าว
แนวโน้มการคุกคาม ประจำเดือนกรกฎาคม 2566
ในเดือนมิถุนายน พบรายงานการคุกคามน้อย แต่เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการคุกคามมากที่สุด ยังคงเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐและกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน ทำให้เกิดการคุกคามหลายรูปแบบ เพื่อป้องกันการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ รวมถึงการแจ้งความดำเนินคดีแก่ผู้แสดงความคิดเห็นออนไลน์ ไม่เว้นแม้แต่เด็กอายุต่ำกว่า 18 ด้วย ทั้งนี้ ในเดือนกรกฎาคม มีเหตุการณ์สำคัญ คือการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งคาดว่าจะมีการจัดกิจกรรมจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม เพื่อเรียกร้องให้การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเป็นไปตามเสียงข้างมากของประชาชน จึงคาดการณ์ได้ว่า จะมีการคุกคามประชาชนเพื่อป้องกันไม่ให้มีการจัดกิจกรรมในประเด็นดังกล่าวเพิ่มขึ้น