วันที่: 11/10/2566 ผู้เขียน: Faozee

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2566

description

ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน สถานการณ์ทางการเมืองยังคงเข้มข้นอย่างต่อเนื่องแต่มีจำนวนการชุมนุมลดลงจากเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีชุมนุมรวม อย่างน้อย 30 ครั้งทั่วประเทศ เกิดขึ้นในต่างจังหวัดจำนวน 15 ครั้ง กรุงเทพ 15 ครั้ง

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุม

จากการสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลโดย Amnesty International Thailand และ iLaw ผ่านโครงการ Mob Data Thailand ในช่วงเดือนสิงหาคมสถานการณ์ทางการเมืองยังคงเข้มข้นอย่างต่อเนื่องแต่มีจำนวนการชุมนุมลดลงจากเดือนกรกฎาคม ซึ่งมีชุมนุมรวม อย่างน้อย 15 ครั้งทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดจำนวน 10 ครั้ง เรียงลำดับตามประเด็นได้แก่ ประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับนักกิจกรรมทางการเมือง ประกอบด้วย กิจกรรมยืนหยุดทรราชจังหวัดเชียงใหม่ทุกวันเสาร์ของสัปดาห์อย่างน้อย 4 ครั้ง รองลงมาคือประเด็นที่ดินและสิ่งแวดล้อม 2 ครั้ง ประกอบด้วย การชุมนุมของชาวบ้านแม่เสียง หมู่ที่ 7 ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงามจังหวัดลำปางเพื่อคัดค้านเหมืองแร่แม่เสียง,การชุมนุมของกลุ่มประชาชนสันผีเสื้อ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคัดค้าน โครงการสร้าง ‘เล่งเน่ยยี่’ วัดจีนแบบเยาวราช และประเด็นอื่น ๆ อย่างน้อย 4 ครั้ง เช่น ประเด็นการตัดเบี้ยผู้สูงอายุ ประเด็นชาติพันธุ์และประเด็นเรียกร้องให้โหวตนายกรัฐมนตรีตามมติของประชาชน ทั้งนี้มีการชุมนุมเกิดขึ้นในกรุงเทพอย่างน้อย 5 ครั้ง จากการที่มีการพยายามโหวตเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีซึ่งมีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และมีกระแสในการจัดตั้งรัฐบาลข้ามขั้ว ทำให้มีการชุมนุมเกิดขึ้น ที่เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว อย่างน้อย 3 ครั้ง ประกอบด้วย CarMob แห่มาลัยวิวาร์คล้องใจ นำโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม การชุมนุมที่ใช้ชื่อกิจกรรมว่า ไล่หนูตีงูเห่า...เพื่อนวร๊ากกก จัดโดยกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ และกิจกรรมการชุมนุม ส่งไฟให้ทาง จัดโดยกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกอย่างน้อย 2 ครั้ง เช่น ประเด็นวันครบรอบการเสียชีวิตของเด็กชายวาฤทธิ์จากการถูกยิงด้วยกระสุนจริงในการชุมนุมหน้า สถานีตำรวจดินแดงช่วงปี 2564 และประเด็นต่างประเทศเช่น ประเด็นการจับกุมนักเคลื่อนไหวในประเทศเมียนมา เป็นต้น

ทั้งนี้ในช่วงเดือนกันยายน แม้ว่าสถานการณ์ทางการเมืองได้มีการเปลี่ยนรัฐบาลจากมติในที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 22 สิงหาคม 2566 มีมติ 482 เสียง ต่อ 165 เสียง เห็นชอบให้นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ในจำนวนนี้ เป็นคะแนนจาก สมาชิกวุฒิสภา ถึง 152 เสียง สนันสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทยด้วย (พท.) และต่อมา ในวันที่ 2 กันยายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งรัฐมนตรี โดยมีการจัดตั้งคณะรัฐมนตรีแบบผสมขั้วทางการเมือง แต่ทั้งนี้การชุมนุมไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นจากเดือนสิงหาคม ซึ่งมีชุมนุมรวม อย่างน้อย 15 ครั้งทั่วประเทศ แบ่งเป็นกรุงเทพมหานครอย่างน้อย 10 ครั้ง ประกอบด้วย การชุมนุมเรียกร้องสิทธิการประกันตัวภายใต้ชื่อ กิจกรรมผู้พิพากษาความตาย ที่นัดชุมนุมโดย ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ การชุมนุมเรียกร้องให้สานต่อแนวทางการแก้ไขปัญหาชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ตามมติของคณะกรรมการอิสระเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหาขุมชนกะเหรี่ยงบางกลอย ของกลุ่มภาคี Save บางกลอย การชุมนุมเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีรับรองร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล โดยกลุ่มคณะภาคประชาชน การชุมนุมแรงงานเมียนมาในไทยต่อต้านเผด็จการมินอ่องหล่ายนัดหมายชุมนุมโดย Bright Future การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน จัดโดยกลุ่มเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิมนุษยชน การชุมนุมประเด็นร่างรัฐธรรมนูญของกลุ่มตัวแทนกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ การชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม ขอให้ส่งตัว ‘เอกชัย หงส์กังวาน’ ไปรักษาที่ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ของกลุ่มมวลชนอิสระ การชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือถึง 'พรรคเพื่อไทย' เพื่อช่วยเร่งดำเนินการลงทะเบียนไรเดอร์ให้สามารถทำงานได้ถูกกฎหมาย จัดโดยกลุ่มไรเดอร์ "Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน" และการชุมนุมของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สองครั้ง คือ ประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว

สถานการณ์การดำเนินคดีกับประชาชน

เดือนสิงหาคมมีคดีใหม่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทั้งคดีมาตรา 112 และคดีจากการชุมนุม ขณะที่คดีจากการชุมนุมในช่วงปี 2563-2565 ศาลก็ทยอยมีคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งคดีมาตรา 112 จำนวนไม่น้อยกว่า 10 คดี และคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อีกอย่างน้อย 11 คดี ขณะสถานการณ์ผู้ถูกคุมขังจากคดีต่างๆ ทยอยเพิ่มสูงขึ้น เช่นเดียวกับเดือนกันยายน สถานการณ์ผู้ต้องขังจากการแสดงออกทางการเมืองถูกคุมขังเพิ่มมากขึ้น จากคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 แม้คดียังไม่ถึงที่สุด โดยเดือนเดียวมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น 4 คดี และศาลอุทธรณ์อีก 2 คดี และมีจำเลย 3 รายไม่ได้รับการประกันตัวหลังคำพิพากษา ขณะที่ยังมีคดีใหม่จากการชุมนุมเพิ่มขึ้น 5 คดี และคดีตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เพิ่มอีก 1 คดี โดยทั้งหมดยังเป็นเหตุจากกิจกรรมในช่วงรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองไปแล้วอย่างน้อย 1,928 คน ในจำนวน 1,249 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 216 คดี

เมื่อเปรียบเทียบสถิติคดีกับในช่วงสิ้นเดือนสิงหาคม 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวน 3 คน คดีเพิ่มขึ้น 8 คดี (นับเฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน) หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,922 ครั้ง

เดือนกันยายน ยังมีคดีจากการชุมนุมทางการเมืองที่ถูกแจ้งข้อหาเป็นคดีใหม่ อีก 5 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีข้อหาหลักตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ จำนวน 4 คดี ได้แก่ คดีทำกิจกรรม #กระชากกวีซีไรต์ เรียกร้องให้ถอดถอน เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ออกจาก สว. ที่หน้ากระทรวงวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2566, คดีขี่รถจักรยานยนต์รณรงค์ให้ปล่อยผู้ต้องขังทางการเมืองบริเวณวัดพระแก้ว, คดีแต่งกายชุดนักโทษแสดงออกบริเวณสยามพารากอน-สยามสแควร์-หน้าโรงพยาบาลตำรวจนอกจากนั้น ยังมีคดีที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ย้อนออกหมายเรียกนักกิจกรรม 4 คน ในข้อหาไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะและข้อหาลหุโทษอื่น ๆ จากการร่วมกิจกรรม “WHAT HAPPENED IN THAILAND” เดินขบวนจากแยกอโศกไปงาน APEC2022 ในวันที่ วันที่ 17 พ.ย. 2565 เพื่อยื่นจดหมายต่อผู้นำประเทศที่เข้าร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชีย-แปซิฟิก (APEC 2022) ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย.นี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ คดีเริ่มดำเนินการหลังเกิดเหตุเกือบ 10 เดือนส่วนอีกคดี เป็นกรณีเกี่ยวกับจุดพลุไฟโดยไม่ได้รับอนุญาตระหว่างกิจกรรมชุมนุมประท้วงที่หน้าพรรคเพื่อไทย

สถิติการดำเนินคดี

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 258 คน ในจำนวน 280 คดี

2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 130 คน ในจำนวน 41 คดี

3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)

4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 177 คน ในจำนวน 88 คดี

5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 186 คน ในจำนวน 205 คดี

6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 36 คน ใน 20 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,249 คดีดังกล่าว มีจำนวน 429 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 820 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่างๆ ทำให้จนถึงปัจจุบัน (1 ต.ค. 2566) มีผู้ต้องขังคดีการเมืองถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ อย่างน้อย 35 ราย แบ่งเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี 25 ราย และเป็นผู้ต้องขังในคดีที่สิ้นสุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) 10 ราย ในเดือน กันยายน ที่ผ่านมา มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาเพิ่มอีก 6 ราย แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มตามลักษณะข้อกล่าวหา ได้แก่ คดีมาตรา 112 จำนวน 3 คน และคดีจากการถูกกล่าวหาจากการชุมนุม เผารถตำรวจ ครอบครองวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) และปาระเบิด (ระเบิดปิงปอง) จำนวน 3 คน ส่วนคดีสิ้นสุดแล้วมีจำนวนผู้ถูกคุมขังเท่าเดิมอยู่ที่ 10 ราย มาตั้งแต่เดือน ก.ค. 2566

อ้างอิง (TLHR)

สถานการณ์การจำกัดและการละเมิดสิทธิและการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐจากการแสดงออก และการชุมนุม

ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน 2566 การคุกคามยังเกิดขึ้นอย่างเป็นระยะจากเจ้าหน้ารัฐและไม่ทราบผู้กระทำทั้ง การติดตาม คุกคาม หรือปิดกั้นกิจกรรมและการแสดงออกของประชาชน

การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

วันที่ 16 กันยายน 2566 แอมเนสตี้คลับ LLB จัดห้องเรียนสิทธิที่มอ.หาดใหญ่ เวลาประมาณ 13.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 4 คน จากสภ.คอหงส์ มาที่หน้าห้องจัดกิจกรรมเปิดไลน์ให้ดูว่ามาตามโปสเตอร์กิจกรรม ตำรวจบอกว่านายให้มาเช็ค เพราะจะเกี่ยวข้องกับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่สนับสนุนแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ BRN ทีมผู้จัดกิจกรรมเจรจากับเจ้าหน้าที่ว่ากิจกรรมนี้เป็นกิจกรรมที่นักศึกษาจัดกันเอง ในระหว่างการพูดคุย เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายรูปหน้าห้องบริเวณโต๊ะลงทะเบียนซึ่งถ่ายติดใบหน้า 2 คน ทีมงานจึงขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลบรูป เจ้าหน้าที่ตำรวจตอบว่าเดี๋ยวลบให้ แต่ก็ไม่ได้ลบให้ทีมงานเห็น

วันที่ 26 สิงหาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกกรมเสวนาเกี่ยวกับประเด็นเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมที่ร้านหนังสือ ฟิลาเดลเฟีย จังหวัดอุบลราชธานี เวลา 17.00 นาฬิกาโดยประมาน มีชายลักษณะตัดผมเกรียน เข้ามาบริเวณสถานที่จัดงาน ก่อนงานจะเริ่ม ทีมงานได้เข้าไปสอบถามทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้แจ้งว่า เพื่อนจ้างให้มาฟังและบันทึกสนทนาในกิจกรรมและถ่ายภาพ

การคุกคามที่ไม่ทราบผู้กระทำ

เมื่อวันที่ 14 ส.ค. 2566 เวลา 3.50 น. โดยประมาณ ได้ถูกบุคคล 2 ราย ขับขี่รถจักรยานยนต์ซึ่งนำแผ่นป้ายทะเบียนออก และยังสวมหมวกกันน็อคปกปิดใบหน้า มาหยุดที่บริเวณรั้วกำแพงข้างบ้านพัก จากนั้น บุคคลดังกล่าวได้ใช้ก้อนหินขนาดใหญ่โยนทุ่มเข้ามาใส่รถที่จอดอยู่บริเวณรั้วภายในบ้าน ทำให้กระจกแตกได้รับความเสียหาย แม้จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามสถานการณ์แล้ว แต่จนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการติดตามตัวผู้ก่อเหตุได้