วันที่: 29/1/2567 ผู้เขียน: Faozee Lateh

ประมวลสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2566

description

ในช่วงเดือนตุลาคม มีการชุมนุมอย่างน้อย 9 ครั้งทั่วประเทศ และ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีการชุมนุมรวมอย่างน้อย 7 ครั้งทั่วประเทศ

ภาพรวมสถานการณ์การชุมนุมและการคุกคาม ประจำเดือนตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2566

เดือนตุลาคม

จากการสังเกตการณ์และบันทึกข้อมูลโดย Amnesty International Thailand และ iLaw ผ่านโครงการ Mob Data Thailand ในช่วงเดือนตุลาคม มีการชุมนุมอย่างน้อย 9 ครั้งทั่วประเทศ โดยลักษณะการชุมนุมส่วนใหญ่มีขนาดเล็ก (ต่ำกว่า 100 คน) และปานกลาง (อย่างน้อย 100 คน) แบ่งเป็นประเด็นเรียกร้องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองอย่างน้อย 3 ครั้ง ได้แก่ การเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง

asset

ประกอบด้วยปักหลัก แสดงออก เชิงสัญลักษณ์พร้อมผู้ชุมนุมที่หน้าศาลอาญารัชดาของบัสบาส นักกิจกรรมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 1 – 15 ตุลาคม 2566 การชุมนุมนำโดยกลุ่มทะลุวังทำกิจกรรมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์แต่งชุดนักโทษเดินเท้าจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ ไปศาลฎีกาในวันที่ 6 ตุลาคม 2566 กิจกรรมยืนหยุดทรราชนำโดยกลุ่ม We, The People ซึ่งจัดเป็นสัปดาห์ที่ 67 ด้วยการยืนเรียกร้องสิทธิการประกันตัว ที่ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ ในประเด็นเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม มีการชุมนุมเกิดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้ง ประกอบด้วย การชุมนุมของกลุ่ม สลัม 4 ภาค จัดกิจกรรม “เดินเพื่อบ้าน” เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ในลักษณะเคลื่อนขบวนเพื่อเรียกร้องในประเด็นที่อยู่อาศัยต่อหน่วยงานรัฐ ทั้งกรุงเทพมหานคร กระทรวงคมนาคม และทำเนียบรัฐบาล และองค์กรระหว่างประเทศอย่างองค์การสหประชาชาติ

asset

ภาพ Chanakarn

การชุมนุมของกลุ่มพีมูฟ ปักหลักชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมีข้อเรียกร้องเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมถึงข้อกังวลต่อนโยบายการสนับสนุนคาร์บอนเครดิตของรัฐบาล และการกระจายอำนาจ ตั้งแต่วันที่ 3 - 17 ตุลาคม ซึ่งพีมูฟยุติการชุมนุม หลังจากรัฐบาลรับข้อเสนอในการแก้ไขปัญหาเชิงนโยบาย และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา ที่เกี่ยวข้อง 7 คณะ เช่น การแก้ปัญหาที่ดินทั้งระบบ ผลกระทบจากการพัฒนาภาครัฐ สวัสดิการโดยรัฐ สิทธิที่อยู่อาศัย ฯลฯ

asset

ภาพ Chanakarn

กลุ่มสมัชชาคนจน ชุมนุมปักหลักที่ทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม เป็นเวลาหนึ่งเดือน หลังจากรัฐบาลตั้ง คณะกรรมการย่อยเพื่อแก้ปัญหา นอกจากนี้ ในประเด็นแรงงาน กลุ่มสหภาพแรงงานเดินขบวนเรียกร้องให้ รัฐบาลดำเนินการลงนามให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพ ในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง ในประเด็นที่เป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อสื่อสารความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันต่อประเด็นการละเมิดสิทธิในต่างประเทศเกิดขึ้น 2 ครั้งคือ กลุ่ม Bright Future แรงงานเมียนมาในไทย ชุมนุมหน้าองค์การสหประชาชาติประณามมิน อ่อง หล่าย และชุมนุมต่อต้านการกระทำสงครามของประเทศอิสราเอลซึ่งกระทำต่อชาวปาเลสไตน์ที่บริเวณหน้าสถานทูตอิสราเอล

เดือนพฤศจิกายน

ในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีการชุมนุมรวมอย่างน้อย 7 ครั้งทั่วประเทศ โดยการชุมนุมในเดือนนี้มีการชุมนุมในกรุงเทพฯ อย่างน้อย 5 ครั้ง เชียงใหม่อย่างน้อย 1 ครั้ง และบึงกาฬอย่างน้อย 1 ครั้ง แบ่งเป็นเรียกร้องสิทธิในประเด็นสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ประกอบด้วย

asset

ภาพ Chanakarn

ยื่นหนังสือให้รัฐบาลเรียกร้องกฏหมายนิรโทษกรรมให้แก่นักโทษการเมือง เพื่อทวงถามหาความยุติธรรม นำโดยกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยและกลุ่มครณะรณรงค์ยกเลิก 112 ประเด็นแรงงานประกอบด้วยการทวงถามค่ารอบการทำงานที่เป็นธรรม โดยกลุ่มไรเดอร์ ไดรเวอร์ ลาล่ามูฟ ประเด็นผู้หญิงและเด็กประกอบด้วย เรียกร้องต่อภาครัฐเพื่อรับทราบและจัดการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มแรงงานหญิงและเด็ก โดยกลุ่มคนงานหญิงเพื่อความยุติธรรม และเครือข่าย และประเด็นสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมและประเด็นสิ่งแวดล้อม ประกอบด้วยการเรียกร้องให้สั่งยุติการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนการอนุรักษ์และคุ้มครองพื้นที่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง พ.ศ.2566-2575 โดยชาวบ้านจาก 3 ตำบล อำเภอเมืองบึงกาฬยื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด การทวงถามคำสั่งแก้ไขปัญหา เนื่องจากรัฐบาลเศรษฐา มีแนวโน้มสูงที่จะบิดพลิ้วและไม่แก้ปัญหา โดยกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) และการชุมนุมปักหลักเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการช่วยเหลือและแก้ปัญหาของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ โดยได้ประกาศการยุติการชุมนุมเมื่อวันที่ 8 กันยายน 2566 หลังจากได้ข้อสรุปและข้อตกลงร่วมกันกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รวมแล้วปักหลักการชุมนุมทั้งหมด 31 วัน

สถานการณ์การดำเนินคดีกับประชาชน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,935 คน ในจำนวน 1,262 คดี ซึ่งในช่วงเดือนตุลาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นจำนวน 2 คน ใน 48 คดี และในช่วงเดือนพฤศจิกายน มีผู้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น 5 คน ใน 9 คดี ในจำนวนนี้มี 3 คน ที่โดนดำเนินคดีด้วยข้อหาตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ใน 4 คดี ได้แก่ ได้แก่ คดีของ “เจมส์ ณัฐกานต์” คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างฝั่งธนบุรีวัย 37 ปี ที่ถูกจับกุมไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองพัทลุง เนื่องจากมีแกนนำกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ไปกล่าวหาไว้ จากการโพสต์ข้อความจำนวน 3 โพสต์ คดีนี้ศาลจังหวัดพัทลุงไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำกลางพัทลุงจนถึงปัจจุบัน

นอกจากนั้น ยังมีคดีของ “บังเอิญ” ศิลปินอิสระจากขอนแก่น ที่เข้ารับทราบข้อหานี้เป็นคดีที่สอง ที่ สน.ชนะสงคราม โดยคดีมี อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำกลุ่ม ศปปส. กล่าวหาบังเอิญเป็นคดีที่สองเช่นกัน จากกรณีโพสต์รูปภาพใช้รองเท้าชี้ไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ และยังมี คดีของ “ทาม” ชาวจังหวัดชัยนาท ที่เดินทางเข้ารับทราบข้อหาที่ บก.ปอท. กรณีไปคอมเม้นท์ใต้โพสต์ในเพจเฟซบุ๊ก “KTUK – คนไทยยูเค” ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 2564 โดยทั้งสามคดีดังกล่าวนี้ ล้วนมีผู้กล่าวหาเป็นบุคคลที่เคลื่อนไหวสังกัดกับกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ

สถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 262 คน ในจำนวน 285 คดี 2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 135 คน ในจำนวน 43 คดี 3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 663 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง) 4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 91 คดี 5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 195 คน ในจำนวน 213 คดี 6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 42 คน ใน 24 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,262 คดีดังกล่าว มีจำนวน 463 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 800 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ

ในเดือนตุลาคม ศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาในคดีจากการใช้สิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ถึง ตุลาคม 2566 คดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษากว่า 100 คดี ในจำนวนนี้ศาลลงโทษว่ามีความผิด 79 คดี และศาลยกฟ้อง 21 คดี โดยคดีที่ศาลลงโทษจำคุกสูงที่สุดคือ คดีของบัสบาส ซึ่งศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เผยแพร่และส่งต่อข้อมูลที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง รวม 14 กระทง ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี รวมโทษจำคุก 28 ปี จากสถานการณ์ดังกล่าว องค์กรสิทธิฯ ได้แก่ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล, ,สมาคมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ออกแถลงการณ์พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลไทยแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ให้สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง

ในคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมในช่วงปี 2563-65 ในเดือนตุลาคม ศาลมีคำพิพากษา 9 คดี มีคดีที่ศาลยกฟ้อง 3 คดี โดยมีคดีของผู้ชุมนุมที่ดินแดงรายหนึ่ง ที่ถูกคุมขังระหว่างสอบสวน โดยไม่ได้รับการประกันตัว 48 วัน แต่ศาลได้พิพากษายกฟ้องทุกข้อกล่าวหา ขณะที่อีกจำนวน 6 คดี ศาลเห็นว่ามีความผิดและพิพากษาให้ลงโทษปรับ แต่มีคดีจากการชุมนุมซ้อมต้านรัฐประหาร ที่ห้าแยกลาดพร้าว เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 โดยคดีนี้มีจำเลย 16 คน แต่เฉพาะ อานนท์ นำภา, ไผ่ จตุภัทร์ และบุ๊ค ธนายุทธมีโทษจำคุกและไม่รอลงอาญา และคดีของเบนจา อะปัญ ที่ถูกกล่าวหาข้อหามาตรา 112 ร่วมด้วย จากการปราศรัยในกิจกรรม คาร์ม็อบใหญ่ไล่ล่าทรราช วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ศาลลงโทษจำคุกโดยให้รอลงอาญาไว้

ในคดีชั้นอัยการ มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมือง 4 คดี โดยเป็นคดีในภาคอีสานทั้งหมด ได้แก่ คดีคาร์ม็อบนครพนม 3 คดี และคดีคาร์ม็อบที่ขอนแก่นอีก 1 คดี

ในเดือนพฤศจิกายน นับเป็นเดือนที่ครบระยะเวลา 3 ปี ของการนำมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา กลับมาบังคับใช้ โดยศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา 4 คดี แยกเป็นคดีที่มีการต่อสู้ 2 คดีซึ่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องไป 1 คดี คือคดีของณัฐชนน ไพโรจน์ กรณีถูกกล่าวหาว่าจัดพิมพ์หนังสือ “ปรากฏการณ์สะท้านฟ้า” ถอดเทปคำปราศรัย 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และอีก 1 คดี ศาลลงโทษจำคุก 3 ปี ในคดีของ “โชติช่วง” กรณีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ใน อ.บางกรวย โดยศาลให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และจำเลยให้การรับสารภาพอีก 2 คดีซึ่งศาลลงโทษจำคุก 3 ปี โดยแบ่งเป็นรอลงอาญา 1 คดี และไม่รอลงอาญาอีก 1 คดี

นอกจากนั้น ยังมีคำพิพากษาในชั้นศาลอุทธรณ์ 2 คดี คือคดีเยาวชนฯ ของ “เพชร ธนกร” กรณีปราศรัยในการชุมนุมที่วงเวียนใหญ่ ที่ศาลอุทธรณ์ยังคงเห็นว่ามีความผิดตามมาตรา 112 แต่ให้แก้ไขโทษของศาลชั้นต้น จากเดิมที่กำหนดให้นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ให้แก้ไขเป็นว่าให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี และให้คุมประพฤติจำเลยไปตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษแทน และคดีของนครโดยมีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องคดี

จากการดำเนินคดีดังกล่าว ทำให้สถิติวันที่ 30 พฤศจิกายน มีผู้ต้องขังในคดีจากการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมในคดีตามมาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 14 ราย ในคดีที่อย฿ระหว่างการพิจารณาคดี โดยกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันตัวก่อนหน้านี้ ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งตลอดเดือนที่ผ่านมา รวมทั้งยังมีผู้ต้องขังข้อหานี้ที่คดีถึงที่สุดแล้วอีก 6 ราย

สถานการณ์การจำกัดและการละเมิดสิทธิ และการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐจากการแสดงออกและการชุมนุม

ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน 2566 การคุกคามยังเกิดขึ้นอย่างเป็นระยะจากเจ้าหน้ารัฐและไม่ทราบผู้กระทำทั้ง การติดตาม คุกคาม หรือปิดกั้นกิจกรรมและการแสดงออกของประชาชน

การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ

การติดตามช่วงบุคคลสำคัญลงพื้นที่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ก่อนการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 6-7 ต.ค. 2566

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการติดตามสถานการณ์อุทกภัย  ที่ จ.อุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ตำรวจและบุคคลไม่ทราบสังกัด ติดตามคุกคามในลักษณะโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว ส่งเจ้าหน้าที่มาติดตามที่บ้านตลอดการลงพื้นที่ การขับรถติดตาม โดยมีนักกิจกรรมไม่ต่ำกว่า 5 รายถูกคุกคามในช่วงเวลาดังกล่าว

นอกจากนั้น ยังมีสถานการณ์การเสด็จพระราชดำเนินของในหลวงรัชกาลที่ 10 และพระราชินี ไปยังจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2566 โดยก่อนหน้า มีรายงานกรณีของพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักเขียน-นักแปลอิสระ และผู้ร่วมกิจกรรมยืนหยุดทรราชถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่สันกำแพงติดต่อขอไปพบถึงบ้านเพื่อสอบถามข้อมูลว่าจะมีกิจกรรมอะไรในช่วงที่มีเสด็จหรือไม่ และแจ้งขอไม่ให้มีการเคลื่อนไหวใด รวมทั้งมีการขอถ่ายภาพพิภพ และพื้นที่โดยรอบบ้านด้วย ช่วงปลายเดือนตุลาคม ยังมีรายงานกรณีนักกิจกรรมในจังหวัดบุรีรัมย์ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามหาตัว เนื่องจากมีกำหนดการเสด็จของเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และวันถัดมายังมีชายนอกเครื่องแบบมาติดตามถ่ายรูปบริเวณบ้าน รวมทั้งมีรายงานบ้านนักกิจกรรมในกรุงเทพฯ รายหนึ่ง ก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไปหาและติดตามในช่วงวันครบรอบการวันสวรรคตของในหลวงรัชกาลที่ 9 และจะมีการเสด็จของรัชกาลที่ 105

การติดตามกิจกรรมทางการเมืองในมหาวิทยาลัย

กรณีของกลุ่ม Thammasat Democratic Study Group (TUDS) ที่ได้จัดเสวนาในเรื่อง “การล้มลงของเผด็จการ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยและการทำให้ประชาธิปไตยตั้งมั่น” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน ก็พบกับปัญหาและอุปสรรค ทั้งกรณีมีตำรวจสันติบาลเข้ามาพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย จนมหาวิทยาลัยแจ้งยกเลิกการใช้ห้อง จนผู้จัดต้องปรับการจัดงาน และยังมีตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 7 นาย เข้ามาสังเกตการณ์ในวันจัดสัมมนาอีกด้วย

การติดตามจากการชุมนุมในประเด็นเรียกร้องสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม

ในเดือนตุลาคม กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมหรือ พีมูฟ (P-Move) และสมัชชาคนจน ชุมนุมเรียกร้องเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิในที่อยู่อาศัยและทรัพยากรธรรมชาติ แล้วพบว่าในระหว่างที่มีการชุมนุมปักหลัก เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามและคุกคามในพื้นที่การชุมนุม และติดตามบุคคลที่ร่วมชุมนุม อย่างกรณี เจ้าหน้าที่ไปที่สำนักงานของบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน ทั้งที่ทราบว่าตัวเขาอยู่ในพื้นที่ชุมนุมอยู่แล้ว แต่ไปหาที่สำนักงาน ขณะที่ในพื้นที่ชุมนุม พบว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่งที่เข้ามาติดตามการชุมนุม และคุกคามโดยใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพผู้ชุมนุมท์ราว 10 กว่าคน ที่กำลังอาบน้ำ ซึ่งมีผู้ชุมนุมหญิงอยู่ด้วย บริเวณจุดปักหลักชุมนุมของสมัชชาคนจน โดยไม่มีการแจ้งหรือขออนุญาต ต่อมาหลังทีมการ์ดเข้าพูดคุย เจ้าหน้าที่จึงได้ลบภาพดังกล่าวออก

การติดตามจากการชุมนุมในประเด็นเรียกร้องสิทธิพลเมืองสิทธิทางการเมือง

กรณี กลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมจัดกิจกรรม 6 ตุลา ที่อาคารสิรินธรารัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เจ้าหน้าตำรวจสภ.ห้างฉัตรอย่างน้อย 4 นาย และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอย่างน้อย 4 ราย เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบเข้ามาสอบถามกิจกรรม รายชื่อวิทยากรที่ขึ้นพูด และอ้างว่ามีคนนอกเข้ามา จึงเข้ามาสังเกตการณ์ พร้อมทั้งทีท่าว่าจะเข้ามาถ่ายรูป แต่นักศึกษาเจรจาไม่ให้ถ่ายภาพ ขณะที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสังเกตการณ์บริเวณงาน

เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรม “Walk with Amnesty : ครบรอบ 47 ปี ชวนมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์เหตุการณ์ 6 ตุลา 19” พร้อมจัดวงคุย ‘6 ตุลา 19 : ทบทวนความทรงจำที่ยังไม่ลางเลือน’ มีเป้าหมายให้สมาชิก ประชาชน ย้อนรอยความทรงจำ ฟังเรื่องเล่าจากอดีตนักโทษทางความคิด ผู้ถูกทำร้ายและรอดชีวิตจากเหตุการณ์ และสมาชิกกลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม ขณะที่พบว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาสังเกตการณ์และถ่ายรูปขณะทำกิจกรรม walk with amnesty

เมื่อช่วงปลายเดือนตุลาคมถึงต้นพฤศจิกายน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จัดกิจกรรมห้องเรียนสิทธิสัญจร ในวันจันทร์ที่ 30 ตุลาคม 2566 ที่ ลานกิจกรรมชั้น 1ราชภัฎเชียงราย เจ้าหน้าที่แอมเนสตี้ ประเทศไทย รายงานว่ามีเจ้าหน้าที่หน่วยความมั่นคง ตำรวจ และนักข่าวท้องถิ่น มาสอบถามเรื่องกิจกรรมที่จัด นักข่าวบอกอาจารย์ว่าเหตุผลสำคัญที่มาคือ มีการแจ้งว่าแอมเนสตี้มาจะมีการระดมมวลชนเคลื่อนไหวเลยต้องมาติดตาม

การคุกคามที่ไม่ทราบผู้กระทำ

ในกรณีที่บัสบาสปักหลักทำกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัว ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก สำนักข่าวประชาไทและ Mob Data Thailand รายงานว่าในวันที่ 15 ตุลาคม ช่วงเวลาประมาณ 17.00 น. ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก บัสบาส ปีนขึ้นไปบนป้ายของสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญา พร้อมกับไลฟ์ลงเพจของตนโดยระบุว่าเหตุที่เขาปีนขึ้นไปเพราะของส่วนตัวถูกขโมยซึ่งเขาทราบภายหลังว่าถูกเทศกิจยึดไปและมีการไปแจ้งความกับตำรวจว่าเขาเป็นคนไร้บ้าน

asset

ต่อมา อานนท์ กลิ่นแก้ว ประธานกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) พร้อมชายฉกรรจ์ 3 คนในจำนวนนี้มีคนถือแท่งเหล็ก และขว้างปาขวดน้ำใส่บัสบาสและแสดงท่าทีก้าวร้าวตะโกนโวยวายด่าทอ รวมทั้งมีรายงานผู้ร่วมทำกิจกรรมถูกทำร้ายจากการชกที่ใบหน้าจากกลุ่มบุคคลดังกล่าว หลังจากเหตุการณ์ช่วงแรกสงบไปในเวลา 18.30 น. กลุ่ม ศปปส. ได้เดินทางไปที่ สน.พหลโยธิน และดำเนินการลงบันทึกประจำวันถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยมีการกล่าวว่าที่ออกมาขับไล่บัสบาสครั้งนี้เนื่องจากเห็นเหตุการณ์ตั้งแต่บ่ายแล้วแต่ตำรวจไม่สามารถจัดการบัสบาสลงมาจากป้ายศาลอาญาได้ พวกตนจึงต้องออกมาจัดการกันเอง