วันที่: 1/3/2567 ผู้เขียน: Faozee

รายงานสถานการณ์การชุมนุมเดือนมกราคม 2567

description

จากการบันทึกข้อมูลของอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมโครงการ Mob Data Thailand พบว่ามีการชุมนุมขนาดเล็กเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 27 ครั้ง โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดจำนวน 18 ครั้ง และในกรุงเทพมหานคร 9 ครั้งโดยมีการชุมนุมในหลากหลายประเด็น

ภาพรวมการชุมนุมเดือนมกราคม 2567

เริ่มต้นปีในเดือนมกราคม 2567 ยังคงมีการชุมนุมเกิดขึ้นในทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง แม้จะไม่มีการชุมนุมขนาดใหญ่เกินขึ้นก็ตาม จากการบันทึกข้อมูลของอาสาสมัครสังเกตการณ์การชุมนุมโครงการ Mob Data Thailand พบว่ามีการชุมนุมขนาดเล็กเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ต่ำกว่า 27 ครั้งโดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดจำนวน 18 ครั้ง และในกรุงเทพมหานคร 9 ครั้ง โดยมีการชุมนุมในหลากหลายประเด็น

asset

ภาพ Lanner

ประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุดในเดือนนี้คือยังคงเป็นประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวจำนวน 11 ครั้ง โดยเป็นการชุมนุมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์จากกิจกรรมยืนหยุดทรราชครั้งที่ 3 สัปดาห์ที่ 79 ถึง สัปดาห์ที่ 83 ที่จัดโดยกลุ่ม We The people นอกจากนี้กลุ่มพลเมืองเสมอกันยังมีการนัดทำกิจกรรมยืนหยุดทรราชนัดพิเศษในเดือนนี้สองครั้งโดยกิจกรรมจัดบริเวณลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และมีกิจกรรมPerformance Art ศิลปะแสดงสด และการชูป้าย จากนักกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดเชียงใหม่ที่มุ่งสื่อสารว่าควรปล่อยประชาชนที่ถูกคุมขังให้ออกมาโดยไม่มีเงื่อนไขควบคู่กันกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นหนึ่งในวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมคือให้กำลังใจ อานนท์ นำภา

asset

ภาพ Lanner

เนื่องจากวันที่ 8 และ 9 มกราคม 2567 ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดสืบพยานคดี มาตรา 112 ของ อานนท์ นำภา ทนายความและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน กรณีปราศรัยในการชุมนุม “ปาร์ตี้ริมเขา เป่าเค้กวันเกิด พลเรือเอกก๊าบๆ” ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2563 ขณะเดียวกันบริเวณรอบๆศาลจังหวัดเชียงใหม่ มีประชาชนราว 40 คน เดินทางมาติดตามการพิจารณาคดีและให้กำลังใจอานนท์ ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกระจายกำลังรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณรอบๆ ศาลจังหวัดเชียงใหม่ กว่า 100 นาย ซึ่งบริเวณหน้าห้องพิจารณาคดีมีการนำแผงเหล็กมาปิดทางเข้า-ออก มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและตำรวจศาลเฝ้าอยู่หน้าห้องพิจารณาคดีกว่า 10-15 นาย และอนุญาตให้ผู้ที่เข้าไปรับฟังการพิจารณาคดีเพียง 5 คนเท่านั้น

asset

ภาพ Chanakarn Laosarakham

ในเดือนแรกของ ปี 2567 ประเด็นทีถูกพูดถึงอีกครั้งภายใต้การเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว คือ การผลักดัน กฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน โดยวันที่ 22 มกราคม เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้รวมตัวหน้าองค์การสหประชาชาติ เพื่อเรียกร้องให้ ข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาชาติ หรือ OHCHR ผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ในกิจกรรมดังกล่าวมีเจ้าหนาที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมากกว่า 10 นาย โดยมีตำรวจที่แต่งเครื่องแบบเพียง 2 นายเท่านั้น โดยมีการบันทึกภาพผู้ชุมนุมที่กำลังทำกิจกรรมดังกล่าวอีกด้วย

asset

ภาพ กันต์ แสงทอง

นอกจากนี้ในวันที่ 29 มกราคม 2567 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย(DRG) คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน(ครช.) กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ (Freedom of Kasetsart Group) กลุ่มทะลุวัง กลุ่มทะลุแก๊ซ และเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ได้จัดกิจกรรมเดินรณรงค์บริเวณ แยกราชประสงค์ โรงพยาบาลตำรวจ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สยามสแควร์ เพื่อผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมคดีการเมืองฉบับประชาชน ในกิจกรรมมีผู้ร่วมชุมนุมไม่น้อยกว่า 10 คน ทั้งนี้เมือขบวนรณรงค์ไปถึงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบมากกว่า 10 นายยืนตั้งแนวพร้อมกั้นแผงเหล็กบริเวณประตูทางเข้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จากนั้นเมื่อขบวนเดินไปถึงบริเวณสยามสแควร์ พนตำรวจเอกอาคม ขุมพรัตน์ ผู้กับการสถานีตำรวจปทุมวัน ได้อ่านประกาศเรื่องให้เลิกการชุมนุมสาธารณะ ลงวันที่ 29 มกราคม 2567 ความว่า

“ ด้วยเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567 เวลาประมาน 15:00 นาฬิกา ท่านซึ่งเป็นแกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) ได้นำประชาชนมาจัดการชุมนุมสาธารณะ บริเวณสถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม ถนนพระราม 1 แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะนั้น ปรากฏว่าการชุมนุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ เป็นการชุมนุมที่มิได้มีการแจ้งการชุมนุมต่อเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ ตามมาตรา 10 อันถือว่าเป็นการชุมนุมสารธารณะที่มิชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสารธารณะ พ.ศ.2558 ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองความสะดวกของประชาชน การดูแลการชุมนุมสาธารณะและการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน อาศัยอำนาจตามมาตรา 21(1) แห่งพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 จึงขอให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยาเวลา 30 นาที ”

asset

ภาพ ไข่แมวชีส

นอกจากนี้ยังมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ วันที่ 27 มกราคม 2567 ตั้งแต่ช่วงเวลา 17.00 น. กลุ่มมวลชนอิสระ นำโดย นายนภสินธุ์ ตรีรยาภิวัฒน์ หรือ สายน้ำ , นายสิทธิชัย ปราศรัย หรือ ออย นางสาวธนลภย์ (สงวนนามสกุล) หรือ หยก , นายฃคทาธร ดาป้อม หรือ ต๊ะ เดินทางมาจัดกิจกรรมเล่นว่าวที่ท้องสนามหลวง เพื่อเรียกร้องสิทธิ์ประกันตัวให้ผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองทุกคน โดยกลุ่มนักกิจกรรมได้นำเสื่อมาปูที่ท้องสนามหลวง และนำว่าวมาเล่น โดยว่าวนั้นมีชื่อของผู้ต้องขังทางการเมือง 26 ราย อาทิ นายอานนท์ นำภา นายโสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นายเอกชัย หงส์กังวาน นายมงคล ถิระโคตร นางสาวเนติพร เสน่ห์สังคม ฯลฯ ติดอยู่เป็นหางว่าว ทั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในเครื่องแบบ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกระจายตัวรอบพื้นที่ในสนามหลวง โดยกิจกรรมดังกล่าวมีกำหนดจะยุติในเวลา 19.30 นาฬิกา

ประเด็นต่อมาที่มีการชุมนุมคือ ประเด็นสวัสดิการและปากท้อง ซึ่งมีการชุมนุมในประเด็นดังกล่าวไปอย่าง น้อย 8 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมประท้วงของกลุ่มไรเดอร์ ไป 5 ครั้ง ในหลายจังหวัด เช่น กรุงเทพมหานคร กระบี ระยอง สมุทรสงคราม สระบุรี โดยมีการนัดหยุดงาน และยื่นหนังสือ เพื่อประท้วงคัดค้านนโยบายการลดค่ารอบไรเดอร์ ของบริษัทหนึ่ง นอกจากนี้ มีการชุมนุมของพนักงานโรงงานรถยนต์ นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ เนื่องจากไม่เป็นไปตามข้อตกลง และประกาศไม่ทำโอทีจนกว่าจะได้รับการชี้แจง สุดท้ายคือการชุมนุมของชาวบ้านวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร และตำบลใกล้เคียงทั้ง วังทรายพูน, หนองปลาไหล, หนองพระ และ หนองปล้อง ได้เข้าเรียกร้องการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาจากสหกรณ์การเกษตร จากกรณีการขายข้าวของชาวนาแต่กลับไม่ได้เงินจากการขายข้าว ชาวนาส่วนใหญ่มีอาชีพทำนาปลูกข้าวหอมมะลิ โดยเมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ชาวนาเริ่มทยอยเกี่ยวข้าวและนำข้าวเปลือกไปขายให้กับสหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน และมีการนัดรับเงินรอบแรกในวันที่ 7 ธันวาคม 2566 แต่เมื่อถึงวันนัดรับเงินให้กับชาวนาแต่ไม่มีการจ่ายเงินให้กับชาวนา ทำให้มีชาวนาผู้เสียหายจำนวน 101 ราย รวมเป็นเงินจำนวนทั้งสิ้นกว่า 23 ล้านบาท

ทางสหกรณ์ได้มีการนัดเจรจามาเป็นจำนวน 2 ครั้ง เพื่อหาทางออกร่วมกัน แต่ทางสหกรณ์การเกษตรวังทรายพูนก็ยังไม่มีเงินนำมาให้ชาวนาทั้งหมด และมีการนัดพูดคุยในการจ่ายเงินและเจรจาต่อในวันที่ 23 มกราคม 2567 ซึ่งเป็นการพูดคุยครั้งที่ 3 เพื่อหาออกร่วมกันระหว่างระหว่างชาวนากับสหกรณ์การเกษตรตำบลวังทรายพูน โดยในครั้งนี้มีอัยการคุ้มครองสิทธิ ประเสริฐ ใจสนธิ์ เป็นประธานในการเจรจาไกล่เกลี่ย รวมไปถึงสหกรณ์จังหวัด รองผู้กำกับ สภ.วังทรายพูน, ประธานสหกรณ์วังทรายพูน, นายอำเภอวังทรายพูน และสรรพากรจังหวัดชมรมทนายอาสาจังหวัดพิจิตร ซึ่งการเจรจาในครั้งนี้มีข้อตกลงกับชาวนาจะจ่ายเงินค่าข้าวให้ก่อน 30 เปอร์เซ็นต์ ของจำนวนชาวนานทั้งหมด และจะมีการจ่ายอีกครั้งในเดือนมีนาคม 2567 อีกทั้งจะมีการดำเนินคดีกับสหกรณ์การเกษตรวังทรายพูน และเจ้าของโรงสีที่มารับซื้อข้าวของชาวนา โดยเบื้องต้นมีชาวนาเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ สภ.วังทรายพูนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ประเด็นที่มีการชุมนุมรองลงมาคือประเด็นสิ่งแวดล้อมที่ดินและที่อยู่อาศัย ซึ่งมีการชุมนุมในประเด็นดังกล่าวไป 7 ครั้ง คือ

  1. การรวมตัวของชาวบ้านปากน้ำท่าเคย จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่เดือดร้อนจากแผนปฏิบัติการทวงคืนพลิกฟื้นผืนป่าชายเลน ซึ่งได้นัดรวมตัวกันที่ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2567 เพื่อทวงถามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ภายหลังจากที่ที่ประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจนมีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเดือดร้อนแต่ยังไม่มีความคืบหน้าว่าจะดำเนินการช่วยเหลืออย่างไร

  2. การรวมตัวของกลุุ่มเกษตรสรรค์สร้างสังคมใหม่ประมาน 100 คน ณ ศาลากลางจังหวัดกระบี่ เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 นำโดยนายโยคินธ์ คำวงค์ ประธานกลุ่มฯได้นำมวลชนเดินทางมายังศาลากลางจังหวัดกระบี่ เพื่อเรียกร้องให้ ผู้ว่าฯกระบี่ เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่ปฏิรูปที่ดินจังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่นิคมสหกรณ์อ่าวลึก และหน่วยงานความมั่นคง เข้าไปแก้ปัญหาให้กับกลุ่มฯ โดยอ้างว่าได้มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลนำมวลชนเข้าไปจับจองที่ดินที่หมดอายุ สัมปทานป่าสงวนป่าย่านยาว-เขาวงในพื้นที่ หมู่ 9 และหมู่ 10 ต.ปลายพระยา อ.ปลายพระยา ฯ ซึ่งกลุ่มเกษตรสรรค์สร้างสังคมใหม่ ได้สร้างที่พักอาศัยแบบชั่วคราวเพื่อเรียกร้องที่ดินทำกินตามนโยบายของรัฐบาล ให้นำที่ดินดังกล่าวมาจัดสรรให้แก่ประชาชนที่ไร้ที่ดินทำกิน โดยทางผู้ว่าฯกระบี่ได้มอบหมายให้นายภูเมศ ไกรทอง ป้องกันจังหวัดกระบี่ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ อส. ได้อำนวยความสะดวกและจัดพื้นที่ให้ผู้ชุมนุม อยู่บริเวณด้านหน้าศาลากลางจังหวัดกระบี่หลังเก่า พร้อมนำน้ำดื่มไปบริการให้กับผู้ชุมชุม และนายโยคินธ์ คำวงค์ ประธานกลุ่มฯได้นำตัวแทน จำนวน 20 คน เข้ายื่นหนังสือโดยมีนายสมปอง รัตนะ ผอ.ศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดกระบี่ เข้ารับหนังสือแทน และร่วมพูดคุยกับตัวแทนผู้ชุมนุมจนเป็นที่พอใจและแยกย้ายกันกลับบ้าน

  3. การรวมตัวของเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ที่สำนักงานทรัพยากรธรรมราชและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 เพื่อติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหลังมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตัดโค่นไม้ยางพาราเพื่อปลูกใหม่ทดแทนในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีตัวแทนสำนักงานทรัพยากรธรรมราชและสิ่งแวดล้อมจังหวัดนครศรีธรรมราชในฐานะฝ่ายเลขานุการเป็นตัวแทนเข้าหารือกับสมาชิกโดยผลการหารือได้ข้อสรุปว่า ทางฝ่ายเลขาฯจะทำหนังสือเสนอนัดหมายวันประชุมกับรองผู้ว่าราชการในฐานะประธานคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาการตัดโค่นไม้ยางพาราเพื่อปลูกใหม่ทดแทนในท้องที่จังหวัดนครศรีธรรมราชภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์ และนัดหมายฝ่ายเลขาร่วมกันกำหนดระเบียบวาระในการประชุมวันที่ 24 มกราคม 2567 นี้ ภายหลังการหารือเป็นไปด้วยความเรียบร้อยจึงได้เดินทางกลับ

  4. การรวมตัวกันของชาวบ้านชุมชนหนองมะจับ หมู่ 1 ตำบลแม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ไม่น้อยกว่า 60 คน เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ซึ่งได้เดินขบวนยื่นหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเชียงใหม่ คัดค้านการก่อสร้างโรงงานคอนกรีตผสมเสร็จ หลังพบความไม่ชอบธรรมในกระบวนการก่อสร้างและไม่มีการประชุมเพื่อลงประชามติของคนในชุมชน หวั่นผลกระทบด้านน้ำและฝุ่นควันจากโรงงานคอนกรีต ซึ่งในเวลาต่อมา คุณศิริพร รือเรือง ผู้อำนวยการกลุ่มงานศูนย์ดำรงธรรมเชียงใหม่ ได้มีการรับเรื่องส่งต่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เพื่อให้แจ้งไปยังอำเภอและท้องถิ่นต่อไป

  5. เมื่อวันที่ 22-23 มกราคม 2567 ชาวบ้านในนามเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ ร่วมกับ ชาวห้อยปลิง ต.ราชกรูด จ.ระนอง และ อ.หลังสวน จ.ชุมพร ร่วม 200 คน รวมตัวกันเดินทางมาพบนายกรัฐมนตรีที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ศูนย์การศึกษาจังหวัดระนอง โดยมีการโพกผ้า ถือป้าย และใช้ธงที่มีข้อความว่า “No Land bridge” และ “Land bridge will take people lives” รวมถึงอีกหลายข้อความ เพื่อเป็นการคัดค้านโครงการ“เส้นทางแลนด์บริดจ์ที่ผ่านพื้นที่ อ.พะโต๊ะ จะกระทบเที่อยู่อาศัย และอาชีพเกษตร โดยเฉพาะการทำสวนทุเรียน และสวนผลไม้ที่มีรายได้มั่นคงอยู่แล้ว อยากให้รัฐบาลทบทวนการดำเนินโครงการ” นางอุไร กล่าวเครือข่ายได้มีข้อเสนอโดยสรุป ดังนี้ 1. รัฐบาลควรให้สำคัญเรื่องการศึกษาโครงการ เนื่องจากที่ผ่านมาการศึกษาในอดีตด้อยมาตรฐานทางวิชาการ และไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วม 2. รัฐบาลควรศึกษาโครงการแบบองค์รวม และรอบด้านทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และสุขภาพ เพราะที่ผ่านมามีการแยกศึกษาเป็นโครงการย่อยที่อยู่ภายใต้โครงการใหญ่คือ แลนด์บริดจ์ 3. นายกรัฐมนตรีควรหาแนวทางพัฒนาระนอง ชุมพร และภาคใต้ ในมิติอื่น ๆ ในกรณีที่โครงการแลนด์บริดจ์ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง และ 4. นายกรัฐมนตรี ควรจัดตั้งคณะทำงานร่วม ที่ประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการ ท้องถิ่น ท้องที่ นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และประชาชนในพื้นที่ เพื่อให้เกิดข้อเสนอ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง โดยนายเศรษฐา กล่าวกับประชาชนที่มาคัดค้านโครงการว่า รัฐบาลจะนำทุกเสียงของประชาชนไปพิจารณา“รับปากครับว่า จะนำ (ข้อเสนอของประชาชน) ไปเป็นข้อประกอบ การทำเอกสารศึกษา เพื่อให้ทุกฝ่ายมีความกระจ่างในจุดประสงค์ของการทำแลนด์บริดจ์ จะมีการพูดคุยการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาคใต้ซึ่งต้องเกิดจากแลนด์บริดจ์ ซึ่งผมมั่นใจว่า รัฐบาลนี้จะส่งเสริมอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการการท่องเที่ยว มาตรการที่เราจะสร้างสนามบิน รัฐบาลจะฟังทุกสิทธิ์ ทุกเสียงของประชาชน”

  6. เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2567 ณ ลานประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่มีการจัดกิจกรรม Performance Art เป็นกิจกรรมภายใต้งาน “Breath Dust In The Air” ที่ร่วมจัดโดย KNACK กลุ่มสนับสนุนสังคมประชาธิปไตยที่เป็นธรรมและเท่าเทียม และ สภาลมหายใจเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการตระหนักถึง “แขกที่ไม่ได้รับเชิญ” และร่วมกันหาทาง “เชื้อเชิญ” อากาศสะอาดให้กลับมาเป็นเจ้าบ้านที่อยู่คู่กับเมืองเชียงใหม่ตลอดไปอีกครั้ง โดยมีการติดตั้งนิทรรศการศิลปะ และวงเสวนาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นฝุ่น PM2.5 อีกด้วย

  7. ต่อมาคือการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท) และ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เมื่อวันที่ 12-14 มกราคม 2567 บริเวณเชิงสะพานชมัยฯ หน้าทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีมวลชนไม่ต่ำกว่า 30 คน เข้าร่วม โดยนายพิชิต ไชยมงคล นายนัสเซอร์ ยีหมะ แกนนำกลุ่ม รวมทั้ง นายแพทย์ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อหลากสี ได้ร่วมกันแถลงการณ์ถึงจุดยืนการทำกิจกรรมชุมนุม บอกว่าเป็นการส่งเสียงไปถึงรัฐบาล ไม่เห็นด้วนกรณีนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รักษาตัวนอกเรือนจำเกิน 120 วัน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีคำตอบให้กับสังคมอย่างชัดเจน ถึงอาการป่วยของนายทักษิณที่เป็นเหตุให้ต้องรักษาตัวนานเกินเวลาที่กำหนด ต่อมา พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้รับผิดชอบดูแลงานความมั่นคง เดินทางไปตรวจสอบพื้นที่ และพูดคุยกับกลุ่มผู้ชุมนุม โดยให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ระบุว่า “การชุมนุมของกลุ่ม คปท. มีการประสานงานขออนุญาตใช้พื้นที่ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย”ซึ่งได้พูดคุยกับแกนนำแล้วว่าจะไม่กีดขวางการจราจร ประเมินว่า ผู้ร่วมชุมนุมจะมีเข้ามาเพิ่มเติมในวันเสาร์และอาทิตย์ โดยจะให้ใช้พื้นที่บริเวณทางเท้าเท่านั้น ไม่ให้ลงมากีดขวางทางจราจร

นอกจากการชุมนุมที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีการชุมนุมในประเด็น อื่น ๆ อีกอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ

asset

ภาพ PSC Thailand

  1. การชุมนุมของกลุ่มองค์กรรณรงค์เพื่อความเป็นหนึ่งเดียวกับปาเลสไตน์ประจำประเทศไทย PSCT , องค์กรสังคมนิยมแรงงาน SWT เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2567 ณ สถานทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เพื่อเรียกร้องให้สหรัฐฯ หยุดสนับสนุนรัฐอิสราเอลทางการทหาร และให้มีการหยุดยิงทันที ยุติปฏิบัติการทางทหารทั้งหมดในฉนวนกาซ่า เพื่อเปิดทางให้ภารกิจด้านมนุษยธรรม โดยมีประชนเข้าร่วมการชุมนุมไม่ต่ำกว่าร้อยคน ทั้งนี้มีตำรวจในเครื่องแบบวางแนวอยู่ในรั้วของสถานทูตอย่างน้อย 20 นาย

  2. การชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือ ติดตามร่างกฎหมายคุ้มครองการค้าบริการทางเพศ ที่จัดโดย มูลนิธิเอ็มเพาเวอร์ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 และให้พรรคการเมืองช่วยติดตามร่างกฎหมายคุ้มครองการค้าบริการทางเพศ ที่กำลังถูกแช่แข็งในกระบวนการของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

  3. 22 มกราคม 2567 ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 จังหวัดเชียงใหม่ มีนัดสอบปากคำให้การครูฝึกทหารเกณฑ์ ในความผิด ข้อหาร่วมกันกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ตามมาตรา 6 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 กรณีพลทหารกิตติธร เวียงบรรพต เสียชีวิตหลังเข้ารับการฝึกทหารเกณฑ์ พลัด 1 /66 ที่ค่ายเม็งรายมหาราชเมื่อ 4 สิงหาคม 66 บริเวณหน้าป้ายศาลอาญาคดีทุจริตฯ ปรากฏมีประชาชนประมาณ 15 คน ร่วมชูป้ายแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ โดยมีข้อความเช่นว่า "ทหารมีไว้ทำไม ?" "หยุดอุ้มหายหยุดซ้อมทรมาน" เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมและให้กำลังใจครอบครัวพลทหารกิตติธร

สถานการณ์การดำเนินคดีต่อนักกิจกรรมทางการเมือง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่าเดือนมกราคมมีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเพิ่มขึ้นเล็กน้อย รวมอย่างน้อย 4 คดี โดยเป็นคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นใหม่ 1 คดี แต่ตลอดเดือน ศาลมีคำพิพากษาในคดีจากเหตุช่วงปี 2563-65 ออกมาอย่างต่อเนื่อง ในคดีมาตรา 112 มีคำพิพากษาเดือนเดียว 11 คดี ทั้งมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ลงโทษจำคุกรวมกันในข้อหานี้มากเป็นประวัติการณ์ คือจำคุกถึง 50 ปีในคดีของบัสบาส จากการโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว ส่วนคดีจากการชุมนุมอื่น ๆ ก็มีคำพิพากษาออกมาอีกไม่ต่ำกว่า 8 คดี โดยมีทั้งคดีที่ศาลยกฟ้องข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเห็นว่ามีความผิด จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,947 คน ในจำนวน 1,268 คดี ในจำนวนนี้ เป็นเด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 286 ราย ใน 217 คดี

หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก แต่นำจำนวนมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปอย่างน้อย 3,962 ครั้ง

สำหรับสถิติการดำเนินคดี แยกตามข้อกล่าวหาสำคัญ ได้แก่

  1. ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 263 คน ในจำนวน 288 คดี

  2. ข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 147 คน ในจำนวน 45 คดี

  3. ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 1,469 คน ในจำนวน 664 คดี (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 ที่เริ่มมีการดำเนินคดีข้อหานี้ต่อผู้ชุมนุมและทำกิจกรรมทางการเมือง)

  4. ข้อหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 179 คน ในจำนวน 91 คดี

  5. ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 197 คน ในจำนวน 215 คดี

  6. ข้อหาละเมิดอำนาจศาล อย่างน้อย 43 คน ใน 25 คดี และคดีดูหมิ่นศาล อย่างน้อย 34 คน ใน 10 คดี

จากจำนวนคดี 1,268 คดีดังกล่าว มีจำนวน 494 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว เท่ากับยังมีคดีอีกกว่า 774 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในกระบวนการชั้นต่าง ๆ

นอกจากนี้ในเดือนมกราคม ยังมีสถานการณ์การดำเนินคดี “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามมาตรา 116 คดีใหม่เกิดขึ้น ได้แก่ กรณีของ 9 ประชาชนและภาคประชาสังคมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ถูกแม่ทัพภาค 4 มอบอำนาจไปกล่าวหาที่ สภ.สายบุรี จากกรณีของกิจกรรมมลายูรายาที่หาดวาสุกรี เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2565 โดยข้อกล่าวหาเกี่ยวข้องกับการมีผู้แสดงธง BRN ในกิจกรรม และมีการร้องเพลงในภาษามลายู ซึ่งทางกองทัพเห็นว่ามีเนื้อหาเกี่ยวกับการกอบกู้เอกราช คดีนี้ผู้ถูกออกหมายเรียกทั้ง 9 คนได้เข้ารับทราบข้อหาไปเมื่อวันที่ 9 มกราคม 2567 และยังต้องจับตารายละเอียดการต่อสู้คดีต่อไป