ภาพรวมการชุมนุมเดือนกุมภาพันธ์ 2567
ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการชุมนุมเกิดขึ้นอยู่ทั่วไปภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง การบันทึกและสังเกตการณ์การชุมนุมของโครงการ Mob Data Thailand พบว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 มีการชุมนุมขนาดเล็กไม่ต่ำกว่า 50 ครั้งแต่หากนับการชุมนุมปักหลักแยกหนึ่งวันเป็นหนึ่งครั้งจะมีการชุมนุมในเดือนนี้ 100 ครั้ง โดยเป็นการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร 30 ครั้ง และมีการชุมนุมที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด 20 ครั้ง การชุมนุมที่ปรากฏดังกล่าวในเดือนกุมภาพันธ์นี้ครอบคลุมในหลายประเด็น
ภาพโดย Faozee Lateh
การชุมนุมที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมใน ประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว และผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนซึ่งมากถึง 23 ครั้ง เนื่องจากในเดือนนี้ เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนซึ่งประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาสังคมไม่น้อยกว่า 23 องค์กรและนักกิจกรรมทางการเมืองได้จัดแคมเปญ ในการล่ารายชื่อเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งรวมถึงกิจกรรมยืนหยุดทรราชที่บริเวณ ท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ที่จัดขึ้นในทุกสัปดาห์อยู่แล้วจึงทำให้ประเด็นดังกล่าว มีการชุมนุมและจัดกิจกรรมเยอะทีสุดในเดือนนี้
ภาพโดย Faozee Lateh
ประเด็นที่รองลงมาคือ ประเด็นในต่างประเทศ หรือ International solidarity จำนวน 6 ครั้ง เนื่องจากในเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ เป็นการครบรอบ 3 ปีในการรัฐประหารในประเทศเมียนมา จึงมีการจัดกิจกรรมในประเด็นดังกล่าวอย่างน้อย 4 ครั้ง จากกลุ่ม ภาคีเครือข่ายนักกิจกรรมเมียนมาและไทย กลุ่มพันธมิตรชานมหรือ Milk Tea Alliance และกลุ่มเสมสิกขาลัย นอกจากนี้ยังมีกิจกรรม ของกลุ่มเสรีปาเลสไตล์ซึ่งจัดชุมนุมหน้าสถานทูตสหรัฐอเมริกาซึ่งมีข้อเรียกร้องให้มีการหยุดโจมตีชาวปาเลสไตน์ทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไขใดๆ และรัฐบาลอิสราเอลและอเมริกาต้องเลิกการยึดครองปาเลสไตน์ สุดท้ายคือการชุมนุมของชุมชนชาวยูเครนในประเทศไทย กรุงเทพ พัทยา เดินขบวนเรียกร้องให้รัสเซียเลิกคุกคามยูเครน ประกาศให้สังคมโลกรู้ว่าเราต้องการสันติภาพ เราต้องการอยู่อย่างปลอดภัยในสังคมเสรี ในประเทศยูเครน
ภาพโดย Faozee Lateh
ประเด็นต่อมาคือ ประเด็นธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ที่ดินที่อยู่อาศรัยและปากท้องจำนวน 5 ครั้ง คือ การชุมนุมของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( ขปส.) หรือพีมูฟ ที่ปักหลักชุมนุม บริเวณทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 5 ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 25 วัน รวมถึงการไปพบรอยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ลงไปปฏิบัติราชการในจังหวัดชัยภูมิ โดยมีข้อเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งรัดกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยและเร่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหามา รวมถึงเร่งเดินหน้าเรื่องโฉนดชุมชน ต่อมาการชุมนุมของกลุ่มบางกลอยคืนถิ่น ซึ่งจัดกิจกรรมในรูปแบบ Car Mob รวมกับกลุ่มพีมูฟในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 เดินทางไปกระทรวงทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อยื่่นหนังสือขอให้เร่งรัดแก้ไขปัญหากรณีเร่งด่วนในพื้นที่ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมคัดค้านเวทีการประชุมรับฟังความเห็นโครงการทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดปูน ที่ศาลาประชาคม หมู่ที่ 10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งหวั่นกระทบวิถีชีวิตและระบบนิเวศ สุดท้ายคือการชุมนุมของกลุ่มไรเดอร์ไลน์แมน 3 ครั้งซึ่งเป็นการชุมนุมเพื่อคัดการนโยบายการลดค่ารอบไรเดอร์ที่บริษัทไลน์แมนประกาศนโยบายก่อนหน้านี้
ภาพโดย แมวส้ม ประชาไท
ถัดมาคือประเด็นสถาบันกษัตริย์ (ขบวนเสด็จฯ) เมื่อวันที่ 4 กุมพาพันธ์ 2567 ปรากฎวีดีโอเผยแพร่มีบุคคลโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจและบีบแตรจากการที่มีการนำรถไปขวางซึ่งต่อมาทราบว่าก่อนหน้านี้มีขบวนเสด็จของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เคลื่อนขบวนผ่านไปแล้ว ซึ่งจากนั้นสื่อหลายสำนักได้ลงข่าวว่าคนที่อยู่ในรถคันดังกล่าวคือตะวัน หรือ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์และเพื่อน ทำให้ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2567 ตะวันและเพื่อนได้จัดกิจกรรมทำโพลขบวนเสด็จในชื่อ "ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่" บริเวณลานน้ำพุ ศูนย์การค้าสยามพารากอน และอ่านแถลงการณ์ต่อเหตุการณ์ที่ปรากฎในวีดีโอก่อนที่จะมีกลุ่มปกป้องสถาบันเข้ามาคุกคามและทั้งสองฝ่ายมีการใช้กำลังปะทะกัน ซึ่งต่อมาในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า มีการออกหมายจับนักกิจกรรม 2 ราย คือ ตะวัน และแฟรงค์ ในข้อหา ร่วมกันกระทำให้ปรากฏต่อประชาชนด้วยวาจาฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) และร่วมกันด้วยประการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ จากเหตุการณ์ในวีดีโอดังกล่าว ต่อมาตำรวจได้นำทั้งสองไปขอฝากขังต่อศาลในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้วมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทำให้ ตะวัน ถูกส่งตัวเข้าทัณฑสถานหญิงกลาง และแฟรงค์ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที จากนั้นพวกเขาก็ประกาศอดอาหาร เพื่อประท้วงทันทีเช่นเดียวกัน โดยมี 3 ข้อเรียกร้อง คือ 1.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม 2.ต้องไม่มีใครติดคุกเพราะเห็นต่างอีก 3.ประเทศไทยไม่ควรได้เป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ภาครัฐและประชาชนบางส่วนออกมาแสดงเจตจำนงเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ โดยส่วนราชการต่างๆได้มีการประกาศให้ข้าราชการหลายหน่วยงานแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีม่วง โดยมีประชาชนบางส่วนพร้อมหน่วยงานภาครัฐ ได้รวมตัวกันแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีม่วงและสีเหลืองเกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ครั้งทั้งในและนอกกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี โดยกลุ่ม สีดาจะไม่ทน ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 กิจกรรมชาวเชียงใหม่ร่วมถวายกำลังใจกรมสมเด็จพระเทพฯ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ กิจกรรมร้องเพลงชาติไทย และเพลงสรรเสริญพระบารมี ของชาวอุทัยธานีนำโดยชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย บริเวณลานสุพรรณิการ์ หน้าศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี และบริเวณหน้าบ้าน 905 การชุมนุมและจัดพิธีถวายกำลังใจและความจงรักภักดีของชาวเชียงใหม่ ณ ลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ การจัดพิธีถวายความเคารพพระบรมฉายาลักษณ์และถวายพระพรนำโดยผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางและข้าราชการท้องถิ่น บริเวณสวนหย่อมภายในศาลากลางจังหวัดลำปาง ในวันเดียวกัน นอกจากนี้ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ยังมีการนัดรวมกลุ่มของ กลุ่มจุฬาฯ รักพระเทพฯ กว่า 800 คน บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สองรัชกาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน
ต่อมาคือการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท) และ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นการชุมนุมปักหลักบริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 แจ้งชุมนุมสาธารณะไว้กับ พ.ต.อ.วันชัย วงศ์วาณิชอนันต์ ผกก.สน.ดุสิต ว่า จะชุมนุมเป็นเวลา 1 เดือน ยุติในวันที่ 2 มีนาคม 2567 โดยมีข้อเรียกร้องของ คือ 1. ให้นำตัวนายทักษิณกลับเข้าเรือนจำ 2. ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษกรณีช่วยเหลือนายทักษิณ 3. เรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาชี้แจงกรณีที่ทางกรมราชทัณฑ์ บอกว่า ได้ขึ้นไปพบนายทักษิณชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ 4. เรียกร้องไปยังบุคลากรด้านกฎหมาย ให้แสดงจุดยืน กรณีของนายทักษิณ ว่าเป็นการทำลายระบบยุติธรรม หรือไม่ 5. เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อดำเนินการกับ ป.ป.ช.ที่ไม่ตรวจสอบผู้กระทำความผิด กรณีช่วยเหลือนายทักษิณ
ภาพโดย Faozee Lateh
นอกจากนี้ยังมีการชุมนุมในประเด็นอื่นๆ เช่น การชุมนุมของพี่สาววันเฉลิม นักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ถูกอุ้มหาย ทั้งนี้พี่สาววันเฉลิมได้พยามเรียกร้องทวงถามความยุติธรรมให้กับน้องชาย กรณีที่สมเด็จฮุนเซน อดีตนายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชาเข้าเยียม ทักษิณ ชินวัตร ณ บ้านจันทร์ส่องหล้า ก่อนถึง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสกัดรถ, มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกว่า 50 นาย เฝ้าสถานการณ์ขณะทำกิจกรรมได้แค่หน้าธนาคารใกล้บริเวณบ้านจันทร์ส่องหล้า ต่อมาคือการชุมนุมในประเด็นสมรสเท่าเทียม ประเด็นคนงานไทยเก็บเบอร์ลี่ป่าสวีเดน ฟินแลนด์ เดินขบวนที่มีข้อเรียกร้องหยุดค้ามนุษย์แรงงานไทย และประเด็นคัดค้านการย้ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นต้น
ความพยายามของตำรวจกับการขัดขวางการชุมนุมการชุมนุมของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ( ขปส.) หรือพีมูฟ ในช่วงวันที่ 5 ถึง 28 กุมภาพันธ์ 2567
ในเดือนนี้ มีการชุมนุมปักหลักค้างคืนจากหลายกลุ่ม หนึ่งในนั้นคือกลุ่ม พีมูฟ ซึ่งมีการออกมาแถลงตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 ประกาศปักหลักชุมนุมหน้าประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 โดยไม่มีกำหนด เพื่อเดินหน้าเปิดเจรจารัฐบาลเพื่อผลักดันนโยบายสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร ด้วยข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ
เดินหน้า ‘โฉนดชุมชน‘ หยุดบีบบังคับประชาชนรับ ‘โครงการ คทช.’ (ผู้รับผิดชอบ: ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี, สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, สำนักงานโฉนดชุมชน, สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ)
แก้ปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คดีไล่ที่ คุณภาพชีวิตประชาชนโดยทันที โดยต้องเปิดเจรจากับ ’พัชรวาท วงษ์สุวรรณ‘ เท่านั้น
เปิดประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทั้งระบบ ซึ่งมี ธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธาน
ภาพโดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move
วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงเวลานัดหมาย กลุ่มพีมูฟ ไม่ต่ำกว่า 150 คน รวมตัวกันที่บริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาล เวลาประมาณ 09.25 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีนครบาลดุสิต ได้เข้าพบบริเวณด้านหน้าสถานที่ชุมนุม และแจ้งให้ประชาชนแก้ไขการชุมนุมสาธารณะตามมาตรา 7 วรรคท้าย โดยมีเนื้อหาดังนี้
"ตามคำสั่งกองบังคับตำรวจนครบาล วันที่ 2 ก.พ. 2567 ขอให้ออกประกาศห้ามชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร โดยการจัดการชุมนุมของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม มีจำนวนผู้เข้าร่วมประมาณ 500 คน ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนและกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล"
ในช่วงท้ายของการประกาศ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งให้ย้ายไปจัดการชุมนุมบริเวณหน้าองค์การสหประชาชาติ (UN) ภายในเวลา 12.00 น. ของวันนี้ (5 ก.พ. 67) ซึ่งทางขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมยังคงยืนยันว่าจะปักหลักการชุมนุมบริเวณประตู 4 ทำเนียบรัฐบาลต่อไปอย่างไม่มีกำหนด จนกว่าจุดประสงค์ของการมาชุมนุมจะบรรลุตามเป้าหมายของการชุมนุมในครั้งนี้ ต่อมาเวลาประมาณ 16.30 น. กลุ่มประชาชนในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ได้ตั้งขบวนเพื่อเดินเท้าไปยื่นหนังสือถึงสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เนื่องจากทางหน่วยงานไม่ได้ส่งตัวแทนลงมาพบพีมูฟ ณ ที่ชุมนุมตามที่รับปากไว้โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจพร้อมโล่กำบัง ตั้งแนวกั้นไว้บริเวณประตูทางเข้าสำนักงานก.พ.ร. จำนวน 50 นายโดยประมาณ เวลาประมาณ 18.00 น. พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล ได้ลงพื้นที่มาพบพีมูฟ โดยได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรี นายภูมิธรรม เวชยชัย
ขณะเดียวกัน ใน วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ลงนามคำสั่ง บช.น. ที่ 60/2567 เรื่อง ประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาลตาม ม.7 วรรคท้าย แห่ง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 หลังกองบังคับการตำรวจนครบาล (บก.น.1) มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ 0015.(บก.น.1)/840 ลงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ขอให้ออกประกาศห้ามการชุมนุมรอบทำเนียบรัฐบาลในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร สืบเนื่องจาก มีกลุ่มผู้ชุมนุมแจ้งชุมนุมสาธารณะประมาณ 500 คน โดยจัดกิจกรรมชุมนุมและพักค้างแรมบริเวณข้างทำเนียบรัฐบาล เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ของวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 ถึงเวลา 19.00 น. ของวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 รวม 15 วัน คาดว่าจะมีมวลชนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก อาจก่อให้เกิดความไม่สะดวกต่อประชาชนผู้สัญจรบนท้องถนน และกีดขวางทางเข้าออกทำเนียบรัฐบาล ส่งผลกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์แห่งการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยของประชาชน รวมถึงเพื่อการบริหารการจัดการชุมนุมสาธารณะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความใน ม.7 วรรคท้าย แห่ง พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ประกอบกับคำสั่งตำรวจแห่งชาติที่ 424/2566 ลงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 จึงขยายประกาศห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมีไม่เกิน 50 เมตร รอบทำเนียบรัฐบาลออกไปอีก ทั้งนี้ทางกลุ่มพีมูฟยังยืนยันที่จะชุมนุมต่อไปจนกว่าจะบรรลุข้อตกลง ซึ่งทางกลุ่มได้ย้ายไปปักหลักภายในรั้ว สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. ซึ่งอยู่ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 หลังจากปักหลักชุมนุมกว่าหนึ่งสัปดาห์ เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณที่ปักหลักชุมนุม ไปยังถนนด้านหน้าทำเนียบรัฐบาล แต่หลายข้อเรียกร้องยังคงยืดเยื้อและไร้ความคืบหน้า จึงมีการเตรียมการยื่นหนังสือถึง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี โดยมีตำรวจควบคุมฝูงชนในชุดสีกากี พร้อมโล่ ยืนรักษาแนวอยู่รอบๆขบวนไม่ต่ำกว่า 100 นาย
ภาพโดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 08.00 น. กลุ่มพีมูฟ กว่า 300 คนเคลื่อนขบวนออกจากบริเวณที่ปักหลักชุมนุม ไปยังบริเวณถนนด้านข้างทำเนียบรัฐบาลหรือประตู 5 เพื่อยกระดับการชุมนุม และทวงถามความคืบหน้าของข้อเรียกร้อง ปักหลักปราศรัยนานกว่า 1 ชั่วโมง ก่อนจะเคลื่อนขบวนวกกลับมายังถนนพิษณุโลก จนเดินขบวนมาถึงบริเวณประตู 3 ทำเนียบรัฐบาล และปักหลักปราศรัย เพื่อรอพบตัวแทนรัฐบาล โดยทางพีมูฟได้เตรียมหนังสือสามฉบับ เพื่อยื่นถึง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี,ธรรมนัส พรหมเผา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ , ธนสาร ธรรมสอน ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ไม่มีตัวแทนรัฐบาลออกมาเจรจา และรับหนังสือแต่อย่างใด ในการเคลื่อนขบวนครั้งนี้ มีตำรวจควบคุมฝูงชนใชชุดกากีพร้อมชุดเกราะและโล่มากกว่า 200 นาย ยืนกันปิดแนวหน้าประตู 5 ทำเนียบรัฐบาล และยืนแนวพร้อมกั้นแผงเหล็กปิดถนน บริเวณก่อนถึงสะพานชมัยมรุเชฐ
ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 09.30 น. ทางพีมูฟได้จัดเตรียมการเคลื่อนขบวนไปประชิดทำเนียบรัฐบาล ประตู 3 เนื่องจากไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้ทางผู้ชุมนุมต้องการคำตอบที่ชัดเจนจากทางรัฐบาล การปักหลักปราศรัยบริเวณด้านหน้าประตู 3 อย่างต่อเนื่อง ต่อมาเวลา 12.30 น. ว่าที่พันตำรวจเอก ธนัชพงศ์ กิรัมย์ ผู้กำกับการสถานีนครบาลดุสิต พร้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจประมาณ 40 นาย ได้เข้ามาแจ้งให้แก้ไขการชุมนุม เนื่องจากทำผิดพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 และมาตรา 8 และคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ 74/2567 เรื่อง ประกาศห้ามชุมนุมในรัศมีไม่เกินห้าสิบเมตรรอบทำเนียบรัฐบาล จึงอาศัยอำนาจตามมาตรา 21 (2) ของพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ในการแจ้งให้แก้ไขการชุมนุม โดยต้องย้ายกลับไปชุมนุมบริเวณลานจอดรถสำนักงาน ก.พ.ร. ภายในเวลา 13.00 น. ของวันนี้ และไม่เคลื่อนย้ายมาบริเวณผิวการจราจรอีก อย่างไรก็ตาม ทางผู้ชุมนุมยังคงปักหลักรอความคืบหน้าจากสำนักปลัดนายกต่อไป โดยไม่ได้เคลื่อนย้ายกลับยังสำนักงานก.พ.ร. จนถึง 18.00 น.
ภาพโดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move
วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 พีมูฟประกาศเคลื่อนไหว อีกครั้งเนื่องจากเป็นวันที่มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งต่อมาทางเฟซบุ๊กเพจขวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move ซึ่งเป็นเฟซบุ๊กเพจหลักของกลุ่มพีมูฟที่ใช้ไลฟ์ขณะทำกิจกรรม ได้โพสต์แจ้งว่า เฟซบุ๊กเพจของทางกลุ่ม โดนปิดกั้นไม่สามารถไลฟ์ได้ ก่อนที่จะแก้ไขได้ในเวลาต่อมา เวลา 11.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนมากกว่าหนึ่งกองร้อย ได้ระดมกำลังพร้อมนำแผงเหล็กและรถยนต์ตำรวจ ตั้งแนว หน้าประตู ก.พ.ร. เพื่อปิดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมสามารถนำรถเครื่องเสียงออกมาได้ จากนั้นทางกลุ่มผู้ชุมนุม ได้เคลือนขบวนโดยไม่มีรถเครื่องเสียงไปยังฝั่งประตู5 ทำเนียบรัฐบาล ปรากฏว่ามีตำรวจควบคุมฝูงชนกว่า 30 นายพร้อมโล่ยืนตั้งแนวเพื่อปิดกั้นประตูทำเนียบรัฐบาล
ภาพโดย ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม P-move
วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 20.00 น. ผู้ชุมนุมนำภาพนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีพร้อมข้อความ Wanted ไปติดตามรั้วทำเนียบรัฐบาล ก่อนที่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจตามเก็บภาพดังกล่าวโดยทันที
ภาพโดย Faozee Lateh
วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มพีมูฟได้เคลื่อนไหวอีกครั้ง โดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า ปฏิบัติการตามหา ‘ภูมิธรรม’ เวลา 09.00 น. เนื่องจากวันดังกล่าวเป็นวันประชุมของคณะรัฐมนตรี ผู้ชุมนุมจึงขบวนขบวนเพื่อกดดันให้มีการตอบสนองข้อเรียกร้อง โดยในเวลาเดียวกันตำรวจควบคุมฝูงชนชุดสีกากีและตำรวจหญิงกองร้อยน้ำหวานได้มีการตั้งแนวสกัดกั้นหน้าประตู ก.พ.ร.เพื่อกันรถเครื่องเสียงของผู้ชุมนุมพร้อมทั้งนำรถยนต์ตรวจมาปิดอีกหนึ่งชั้น จากนั้นผู้ชุมนุมได้เคลื่อนขบวนออกไปตั้งแนวฝั่งธรรมเนียบรัฐบาลโดยที่ไม่มีรถเครื่องเสียง แต่ในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ นำแผงเหล็กมาปิดถนนขาเข้าถนนพิษนุโลกฝั่งสะพานชมัยมรุเชฐและนำรถบัสตำรวจปิดถนนขาเข้าถนนพิษนุโลกฝั่งแยกมิสกวัน เช่นเดียวกัน
วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) แถลงข่าวประกาศยุติการชุมนุมพีมูฟทวงสิทธิหลังจากผลการเจรจากับรัฐบาลเป็นที่น่าพอใจ ทั้งนี้รวมระยะเวลาการปักการชุมนุมของกลุ่ม พีมูฟแล้วเป็น จำนวน 24 วัน
การคุกคามจากฝ่ายตรงข้ามและการใช้กำลังตอบโต้กันจากกิจกรรม ทำโพลขบวนเสด็จในชื่อ "ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่"
วันที่ 10 กุมพาพันธ์ 2567 ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมทางการเมือง และเพื่อน ได้นัดทำกิจกรรมทำโพลขบวนเสด็จในชื่อ "ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่" บริเวณลานน้ำพุ ศูนย์การค้าสยามพารากอน แต่หลังจากมาถึงเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศูนย์การค้าขอให้ไปทำกิจกรรมที่ทางเชื่อมระหว่าง BTS สยาม ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ศูนย์การค้าสยามพารากอน ได้นำรั้วเหล็กมาปิดทางเข้าออกศูนย์การค้าฯ เพื่อแยกระหว่างนักกิจกรรมและกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเดินเข้ามาในพื้นที่ล่วงหน้า ก่อนนักกิจกรรมเดินทางมาถึง
ภาพโดย ประชาไท
หลังจากทานตะวัน เริ่มอ่านแถลงการณ์ได้ไม่นานนัก กลุ่มปกป้องสถาบันฯ ประกอบด้วย กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ และนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ ได้ปีนข้ามรั้วเหล็กของศูนย์การค้าฯ เข้ามาหากลุ่มนักกิจกรรมเพื่อใช้กำลังทำร้าย และก่อกวน จนทำให้ทานตะวัน ไม่สามารถทำกิจกรรมต่อไปได้ ภายหลังกลายเป็นเหตุการณ์กระทบกระทั่ง มีการใช้กระบองดิ้วทำร้ายร่ายกาย ขณะที่ตำรวจพยายามแยกทั้ง 2 ฝ่ายออกจากกัน เบื้องต้น มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งนี้ ระหว่างชุลมุนทั้ง 2 ฝ่าย ทางสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ได้ออกตะโกนซ้ำๆ ด้วยความไม่พอใจใส่นักกิจกรรมว่า "พวกกบฏ" และ "พวกหนักแผ่นดิน"
การกระทบกระทั่งยังดำเนินต่อ โดยตำรวจพยายามเข้าระงับสถานการณ์โดยนำตัวกลุ่มนักกิจกรรมเข้าไปในสถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม และนำตัวนักกิจกรรมขึ้นรถตู้หน้าศูนย์การค้าสยามพารากอน ไปที่ สน.ปทุมวัน โดยนักกิจกรรมได้มีการแจ้งความทางกลุ่ม ศปปส. ในกรณีที่เกิดขึ้นที่สถานีรถไฟฟ้า BTS สยาม
จากการรายงานของสำนักข่าวประชาไท ทราบความว่า ฝ่ายกลุ่มปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ มีผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 3 ราย โดย วสัน ทองมณโฑ ประธานกลุ่มนักรบเลือดสีน้ำเงินปกป้องราชบัลลังก์ ได้รับบาดเจ็บ คาดว่ามาจากการถูกนักกิจกรรมใช้กระบองดิ้วตีที่ศีรษะหลายครั้ง และมีอาการบาดเจ็บที่แขน เหตุเนื่องมาจากเจ้าตัวพยายามเข้าไปประชิดตัวทานตะวัน และถูกนักกิจกรรมใช้กระบองดิ้วตีกลับมา ด้านนักกิจกรรมมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 11 ราย ในจำนวนนี้รวมประชาชนที่ไม่ใช่นักกิจกรรมคือ นภัสสร บุญรีย์ นอกจากนี้ มีสื่ออิสระ 2 รายได้รับบาดเจ็บถูกกลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ทำร้ายร่างกาย คือ ลุงดร เกตุเผือก และ ขุนแผน แสนสะท้าน
การคุกคามสื่อมวลชน
การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ
ภาพโดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลาประมาณ 14.45 น. ได้รับรายงานจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ว่า ณัฐพล เมฆโสภณ หรือ นักข่าวประชาไท อายุ 34 ปี ถูกจับกุมที่บ้านตามหมายจับของศาลอาญาและถูกนำตัวไป สน.พระราชวัง ต่อมา เวลาประมาณ 15.16 ณัฐพล พันธ์พงษ์สานนท์ หรือ ช่างภาพอิสระ อายุ 34 ปี ถูกจับกุมขณะจอดแวะโทรศัพท์ที่บริเวณวัดสุทธิวราราม ระหว่างการทำข่าวกรณี ณัฐพลที่ถูกจับกุมก่อนหน้าทั้งสองถูกกล่าวหาในข้อหา “เป็นผู้สนับสนุนทำให้โบราณสถานเสียหาย ทำลาย หรือทำให้เสื่อมค่า และขีดเขียน พ่นสี ข้อความและภาพบนกำแพงที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ” จากกรณีลงพื้นที่รายงานและติดตามสถานการณ์การแสดงออกพ่นสีกำแพงวัดพระแก้ว ของ “บังเอิญ” เป็นสัญลักษณ์เลข 112 และมีเส้นขีดทับ รวมถึงเครื่องหมายสัญลักษณ์ “อนาคิสต์” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2566 ทั้งสองถูกควบคุมตัวมาถึง สน.พระราชวังในเวลาประมาณ 15.40 น. ระหว่างนั้นที่ด้านหน้าสถานีตำรวจ มีการวางแผงเหล็กกั้นทางเข้าออกและมีการตรึงกำลังโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนาย ทั้งสองถูกนำตัวเข้าไปในข้างในสน. โดยยังไม่มีทนายความหรือผู้ไว้วางใจอยู่ด้วย หลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมทำบันทึกจับกุม และพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้วที่ สน.พระราชวังทั้งสองถูกแยกคุมขังที่สถานีตำรวจคนละแห่งกันเป็นเวลา 1 คืน ต่อมาเช้าวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 พนักงานสอบสวนนำตัวทั้งสองมาขอฝากขังต่อศาลอาญา ก่อนศาลจะมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ด้วยหลักทรัพย์คนละ 35,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดในลักษณะเดียวกันนี้อีก1
การคุกคามจากฝ่ายที่เห็นต่าง
ภาพโดย แมวส้มประชาไท
จากกิจกรรมทำโพลขบวนเสด็จในชื่อ "ขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่" บริเวณลานน้ำพุ ศูนย์การค้าสยามพารากอน ผู้สื่อข่าวประชาไทได้สัมภาษณ์สื่ออิสระ 2 รายที่ได้รับผลกระทบจากเหตุชุลมุน คือ ภราดร เกตุเผือก และ เชน ชีวอบัญชา สื่ออิสระ 'ขุนแผน แสนสะท้าน'
ภราดร เกตุเผือก เปิดเผยว่า เหตุการณ์เกิดหลังจากทานตะวัน แยกตัวเข้าไปด้านใน BTS สยาม เขา และเชน ตามนักกิจกรรมเข้าไปด้านใน และเดินมาที่ทางออก BTS สยาม ฝั่งสยามสแควส์วัน และลานน้ำพุพารากอน เพื่อดูสถานการณ์ และเช็กว่านักกิจกรรมการเมืองยังอยู่ในพื้นที่หรือไม่ ภราดร กล่าวต่อว่า ตอนนั้นยังมีกลุ่มปกป้องสถาบันฯ อยู่ที่ทางออกด้านดังกล่าว ก่อนที่ อานนท์ กลิ่นแก้ว เขาหันมาเจอพวกเขา ก็มีการกว้างสิ่งของบางอย่างมาที่ ภราดร และเชน แต่ไม่ถูกทั้ง 2 คน ก่อนที่อานนท์ เขาจะกระโดดข้ามรั้วเข้ามาพยายามทำร้ายเชน
ขณะเดียวกัน ภราดร ถูกสมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบัน 2 คน เข้ามาทำร้าย คนแรกตบสมาร์ทโฟนที่ตนเองใช้ถ่ายทอดสดออนไลน์จนร่วงลงไปที่พื้น และถูกใช้มือตบเข้าไปที่ใบหน้า
"ขณะที่เขาเอาของถือเข้ามาเพื่อขว้างใส่ลุงดร (ภราดร เกตุเผือก) และขุนแผนฯ และพอลุงดร หลบ เขาวิ่งเข้าชาร์จใส่ขุนแผนฯ และลูกน้องเขาพุ่งเข้ามาหาลุงดร อีก 1 คน และตบมือถือลุงดร หลุดจากไม้ที่ใช้ถ่ายมือถือ พอเขาตบกล้องลุงดรร่วง เขาก็ตบลุงดรจนแว่นหัก" ภราดร กล่าว ภราดร กล่าวต่อว่า เขาจำไม่ได้ว่าคนที่ตบหน้าเขาเป็นใคร แต่หลังจากนั้น วสัน ทองมณโฑ เข้ามาชนจนเขาร่วงลงไปที่พื้น และเอาเข่ากดตัวเขาไว้กับรั้วตรงบ็อกซ์จุดขายตั๋วโดยสาร จนเขาต้องขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และตำรวจนำตัวเขาออกจากพื้นที่
“ความเห็นข้อผู้สังเกตการณ์ชุมนุม แม้ในเดือนกุมภาพันธ์ จะมีการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองในรูปแบบต่างๆหลายครั้ง แต่การชุมนุมยังคงเป็นเรื่องที่ยากในการที่จะจัดให้มีการชุมนุมแต่ละครั้ง โดยเฉพาะประเด็นในบางประเด็นและสถานที่ในการชุมนุม เนื่องจากยังมีการบังคับใช้พระราชบัญญัติ การชุมนุมสาธารณะอย่างเข้มงวด รวมถึงการใช้ความรุนแรงจากฝ่ายผู้เห็นต่างในการตอบโต้”