Cover Image แมวส้ม
ภาพรวมการชุมนุมเดือนเมษายน 2567
ในเดือนเมษายน 2567 ยังมีการชุมนุมขนาดเล็กเกิดขึ้นอยู่ต่อเนื่อง การบันทึกและสังเกตการณ์การชุมนุมของโครงการ Mob Data Thailand พบว่าในเมษายน 2567 มีการชุมนุมขนาดเล็กไม่ต่ำกว่า 40 ครั้งแต่หากนับการชุมนุมปักหลักแยกหนึ่งวันเป็นหนึ่งครั้งจะมีการชุมนุมในเดือนนี้ 68 ครั้ง โดยเป็นการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร 30 ครั้ง และมีการชุมนุมที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด 10 ครั้ง การชุมนุมที่ปรากฏดังกล่าวในเดือนกเมษายนครอบคลุมในประเด็น ดังนี้
1.ประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว
เนื่องจำนวนคนที่ถูกดำเนินคดีที่มีเหตุจูงใจทางการเมืองตั้งแต่ช่วง กรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน (เมษายน 2567) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า มีจำนวนมากถึง 1,954 คน 1,295 คดี ซึ่งในแต่ละเดือนยังมีการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเดือนเมษายน มีคดีเพิ่มขึ้น 2 คดี เป็นคดีจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กทั้งคู่ ถึงแม้ในเดือนนี้ไม่มีคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุมเกิดขึ้นใหม่ แต่คดีที่อยู่ในกระบวนการยังมีคำพิพากษาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 โดยในเดือนนี้มีคนถูกจำคุกในคดีนี้เพิ่มขึ้น 1 คนคือ พรชัย วิมลศุภวงศ์ ชาวปกาเกอะญอ ที่ถูกกล่าวหาที่จังหวัดเชียงใหม่ จากกรณีการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 4 โพสต์ ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 12 ปี
จากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ประเด็นในการเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวยังคงเป็นประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุดในเดือนเมษายนโดยมีจำนวนถึง 26 ครั้ง ดังนี้
ภาพ แมวส้ม
วันที่ 1 เมษายน กลุ่ม Thumb Rights เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ร่วมกับกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย และเครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี จัดกิจกรรม “นิรโทษกรรม มหาสงกรานต์” ที่หน้าเรือนจำกลางคลองเปรมโดยมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 70 คน จัดกิจกรรมยืนหยุดขังและสลับกันขึ้นปราศรัยเพื่อเรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมประชาชนและปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง
วันที่ 14 เมษายน มวลชนอิสระ จัดกิจกรรม “ส่งในถึงเพื่อนหน้าเรือนจำคลองปรม” โดยมีกิจกรรมเล่นน้ำสงกรานต์หน้าเรือนจำโดยแสดงออกว่ายังไม่ลืมผู้ต้องขังทางการเมืองและจะนำรูปที่จัดกิจกรรมเป็นให้ผู้ที่อยู่ในเรือนจำได้ดู และปิดท้ายกิจกิจโดยการติดริบบิ้น 3 สีที่ลวดหนามหน้าเรือนจำ
วันที่ 15 เมษายน ต๊ะ คทาธร นักกิจกรรมกลุ่มทะลุแก๊ส ได้ทำกิจกรรมใส่ชุด PPE ที่งานสงกรานต์บริเวณถนนข้าวสาร โดยในชุด PPE มีข้อความเขียนว่า คืนสิทธิในการประกันตัว ยกเลิก ม.112 และ Free our friends พร้อมให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับตนให้สาดน้ำปะแป้ง และให้กำลังใจก่อนที่จะยุติกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
นอกจากนี้แล้วยังมีกิจกรรมยืนหยุดขัง ที่จัดโดยมวลชนอิสระที่เกิดขึ้นตลอดเกือบทั้งเดือนเมษายนที่บริเวณหน้าศาลอาญารัชดา กรุงเทพ โดยกิจกรรมจะเป็นการยืนพ้อมถือป้ายเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้กับนักต่อสู้ทางการเมือง
2.ประเด็นที่ดิน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
ภาพ ประชาไท
สำนักข่าวประชาไทรายงานว่าวันที่ 1 เมษายน 2567 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ประมาณ 60 คน เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาคนใหม่ ที่ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา เพื่อทวงถามถึงข้อตกลงที่สยาม ศิริมงคล ผู้ว่าราชการจังหวัด คนก่อนให้ไว้กับกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ เมื่อ 20 มีนาคม 2567 ที่ระบุว่า จะหยุดบริษัท ไทยคาลิ จำกัด ดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงการเหมืองแร่โปแตชเอาไว้ก่อน และเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้น แต่ยังไม่มีการดำเนินการแก้ไข โดยต่อมานายอาทิตย์ ชามขุนทด ผู้อำนวยการศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดนครราชสีมา ได้มารับฟังกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ประมาณ
ประชาไทได้รายงานต่ออีกว่าวันที่ 4 เมษายน 2567 ที่อาคารหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ ต.บัวแดง จ.ร้อยเอ็ด เครือข่ายคนฮักทุ่งกุลา ได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความเห็นครั้งที่ 3 หรือเวที ค.3 เพื่อประกอบการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม EIA ของบริษัทโรงงานน้ำตาลและโรงผลิตไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ทันที่ที่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาได้เดินทางถึงอาคารหอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ที่เป็นเวทีจัดรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 3 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 100 นายตั้งขบวนพร้อมทั้งเอาแผงกั้นมากั้นและปิดแผงเหล็กห้องประชุมลงเพื่อไม่ให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาเดินทางเข้าไปในพื้นที่ห้องประชุม ตัวแทนกลุ่มเลยเริ่มปราศรัยเพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อต้องการให้เปิดพื้นที่ให้ชาวบ้านเข้าไปในเวทีรับฟังความคิดเห็น และมีเครือข่ายฯบางส่วนซึ่งเป็นผู้หญิงสูงอายุปูผ้าลงกับพื้นพร้อมทั้งก้มกราบเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อขอให้เปิดทางให้เข้าไปยังห้องประชุม ขณะที่กลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาพยายามจะเดินเข้าไปในห้องประชุมกลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ตั้งขบวนอยู่ผลักและดันกลุ่มนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและผู้สูงอายุล้มลงกับพื้น พร้อมทั้งเกิดความชุลมุนขึ้น หลังจากปราศรัยนานร่วมกว่าสามชั่วโมงในช่วงท้าย นักปกป้องสิทธิมนุษยชนเครือข่ายคนฮักทุ่งกุลาได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการร่วมกันเผาหุ่นฟางที่เปรียบเสมือนตัวแทนของบริษัทโรงงานน้ำตาลในพื้นที่ และบริษัทที่รับจ้างจัดทำเวทีรับฟังความคิดเห็นเผาเพื่อขับไล่ให้พ้นจากแผ่นดินทุ่งกุลา
วันที่ 4 เมษายน 2567 ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประชาชนชาวเชียงใหม่จำนวนหนึ่งรวมตัวกัน “ประกาศเขตเสี่ยงมะเร็งปอด” หลังคุณภาพอากาศของจังหวัดเชียงใหม่และหลายจังหวัดในภาคเหนืออยู่ในระดับที่ฝุ่น PM2.5 เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากต้องเจ็บป่วยและเสี่ยงด้วยโรคทางเดินหายใจ
วันที่ 9 เมษายน 2567 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจังหวัดแพร่ จำนวนกว่า 40 คน เดินทางไปยังศาลากลางจังหวัดแพร่ โดยมีจุดประสงค์เข้าพบ ‘ชุติเดช มีจันทร์’ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เพื่อหารือและทำความเข้าใจกรณีปัญหาที่ดินของประชาชนที่ทับซ้อนกับที่ราชพัสดุ (กรมธนารักษ์) ในรูปแบบโฉนดชุมชนกรณีชุมชนบ้านสันกลาง ตำบลป่าแดง อำเภอเมือง จังหวัดแพร่
เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ที่หมู่บ้านผาฮวกพัฒนาชาวประชาสามัคคี ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู กลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จัดงาน "ปิดเหมืองหินแล้วจ้า ฮอดเวลาม่วนชื่น ก้าวต่อไป…ดงมะไฟแห่งชัยชนะ" ซึ่งเมื่อ 10 เมษายน 2567 เป็นวันสุดท้ายที่ใบอนุญาตใช้พื้นที่ป่าเพื่อกิจการโรงโม่หมดอายุลง หลังก่อนหน้าประทานบัตรเหมืองหินหมดอายุลงเมื่อปี 2563 เท่ากับว่าเป็นการสิ้นสุดสัมปทานเหมืองหินทุกอย่างอย่างเป็นทางการ
วันที่ 16 เมษายน 2567 เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ณ ชุมชนโคกยาว อำเภอคอนสาร จังหวัดชัยภูมิ จัดงานครบรอบ 8 ปี การสูญหายของ “เด่น คำแหล้” แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน ชุมชนโคกยาว โดยภายในกิจกรรมมีการถือป้าย มีข้อความ เช่น “8 ปีการสูญหายของพ่อเด่น คำแหล้ สืบสานการต่อสู้สังคมธรรม” เป็นต้น และกิจกรรมจบด้วยการอ่านแถลงการณ์
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 เวลาประมาน 9.00 น. กลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟ จังหวัดอุบลราชธานี ได้รวมตัวกันเดินขบวนไปศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเพื่อยื่นหนังสือให้เร่งเดินหน้าโฉนดชุมชน และเรื่องการถูกคุกคาม ดำเนินคดีจากการชุมนุม โดยกิจกรรมเสร็จสิ้นในเวลาประมาน 10.30 น.
3.ประเด็นต่างประเทศ (International solidarity )
ภาพ PSC Thailand
วันนี้ 5 เมษายน 2567เวลา 14.00 น. กลุ่ม PSC Thailand และเครือข่าย รวมตัวกันที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตอิสราเอล ประจำประเทศไทย เรียกร้องสันติภาพโดยการหยุดยิง และช่วยเหลือทางมนุษยธรรมต่อเหยื่อความรุนแรงในฉนวนกาซ่า โดยมีแกนนำสลับกันขึ้นปราศรัย ก่อนจัดการแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ พร้อมทั้งชูป้ายข้อความและธงชาติปาเลสไตน์ ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนตั้งแนว ไม่ต่ำกว่า 100 นาย ก่อนจะยุติการชุมนุมในเวลา 16.00 น.
อีกทั้งเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2567 กลุ่ม THAI for Palestine หรือกลุ่ม 'คนไทยเพื่อสิทธิชาวปาเลสไตน์' และเครือข่าย นัดชุมนุมกันหน้าสถานทูตเยอรมนี เพื่อประณามรัฐบาลเยอรมันที่ปราบปรามอย่างโหดเหี้ยมต่อผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ และได้ออก แถลงการณ์ เรียกร้องต่อสถานทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย ระบุว่าในขณะที่เพื่อนมนุษย์ชาวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซากําลังถูกสังหารด้วยน้ำมือของกองทัพอิสราเอล รัฐบาลชาติต่าง ๆ มีพันธกิจทางมนุษยธรรมที่จะต้องยับยั้งการละเมิดชีวิตของประชาชนผู้เป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองโลก
นอกจาก 3 ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังมีประเด็นอื่นๆ เช่น
วันนี้ 5 เมษายน 2567 ที่เทศบาลตำบลบางปู จังหวัดสมุทรปราการ สถานที่ตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ากองประจำการประจำปี 2567 (เกณฑ์ทหาร) เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 4 เดินทางมาพร้อมกับเพื่อนรวม 3 คน ได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ จากนั้นได้อ่านแถลงการณ์ต่อต้านการเกณฑ์ทหาร
กิจกรรมของกลุ่มภาคประชาสังคมที่รวมตัวกันในชื่อเครือข่าย Call for All ได้มีการออกแคมเปญรณรงณ์และแจกแผนพับให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสมัครและเลือกสมาชิกวุฒิสภาหรือ สว.ชุดใหม่ โดยกิจกรรมจัดขึ้นในวันที่ 12 เมษายน ที่ผ่านมา บริเวณสถานีชนส่งผู้โดยสารหมอชิด 2
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเพื่อรำลึกในวาระครบรอบ 14 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงเมือปี 2553 และเรียกร้องความยุติธรรมให้กับคนเสื้อแดง โดยกิจกรรมถูกจัดขึ้นในวันที่ 10 เมษายน ในสองจังหวัด คือจังหวัดกรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดขึ้นบริเวณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจัดกิจกรรม ณ บริเวณศูนย์อาหารกลาง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ทั้งนี้ยังมีการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท) และ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)ที่มีการชุมนุมปักหลัก บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแจ้งชุมนุมสาธารณะไว้กับ พ.ต.อ.วันชัย วงศ์วาณิชอนันต์ ผกก.สน.ดุสิต ว่า จะชุมนุมเป็นเวลา 1 เดือน ยุติในวันที่ 2 มีนาคม 2567 แต่ยังมีการปักหลักต่อเนื่อง จนถึง 30 เมษายน 2567 และยังไม่มีการยุติ โดยมีข้อเรียกร้องของ คือ 1. ให้นำตัวนายทักษิณกลับเข้าเรือนจำ 2. ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษกรณีช่วยเหลือนายทักษิณ 3. เรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาชี้แจงกรณีที่ทางกรมราชทัณฑ์ บอกว่า ได้ขึ้นไปพบนายทักษิณชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ 4. เรียกร้องไปยังบุคลากรด้านกฎหมาย ให้แสดงจุดยืน กรณีของนายทักษิณ ว่าเป็นการทำลายระบบยุติธรรม หรือไม่ 5. เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อดำเนินการกับ ป.ป.ช.ที่ไม่ตรวจสอบผู้กระทำความผิด กรณีช่วยเหลือนายทักษิณ
จะเห็นได้ว่าแม้การชุมนุมจะลดลงในเดือนนี้ แต่ประเด็นในการชุมนุมที่มีตลอดในทุกๆ เดือนคือการชุมนุมในประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ให้กับนักกิจกรรมทางการเมืองหรือผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุจูงใจทางการเมือง ซึ่งปัจจุบัน กระบวนการของภาคประชาชนได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน พ.ศ. ... เข้าสู่สภาและผ่านการตรวจสอบจากสภาเรียบร้อย พร้อมกับรายชื่อสนับสนุนเข้าชื่อเสนอกฎหมายกว่า 40,000 รายชื่อ ทั้งนี้การต่อสู้บนท้องถนนก็ยั้งเกิดขึ้นควบคู่กันไปตลอดทั้ง เดือน คือกิจกรรมยืนหยุดขัง ของทุกเย็น หน้าศาลอาญารัชดา
อีกหนึ่งประเด็นคือ ประเด็นที่ดิน ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีข้อสังเกตว่าการชุมนุมส่วนใหญ่ที่เกิดมักจะเป็นการติดตามข้อร้องเรียนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจจะสะท้อนและอนุมานได้ว่า บางปัญหาที่ประชาชนร้องเรียน มีการดำเนินการที่ล่าช้า และไม่ถูกแก้ไข
การคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ
เมื่อวันที่ 30 เมษายน ศูนทย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ออกรายงานการคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2567 โดยมีรายงานข้อมูลคุกคามไม่น้อยกว่า 24 กรณี และ พบกรณีที่มีลักษณะเป็นการขัดขวาง-แทรกแซงการทำกิจกรรม-การแสดงออกสาธารณะต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 7 กรณี โดยรูปแบบการคุกคามที่พบมากที่สุด คือการไปพบหรือเข้าสอบถามข้อมูลถึงบ้านหรือพื้นที่ส่วนตัว พบไม่น้อยกว่า 14 กรณี นอกจากนั้นยังมีการติดตามสอดแนม พบไม่น้อยกว่า 7 กรณี และการติดต่อเพื่อหาข้อมูลทางโทรศัพท์ หรือกรณีเรียกมาพูดคุยด้วย รวมกันอีก 3 กรณี และติดตามนักกิจกรรมและประชาชนที่เคยจัดหรือร่วมชุมนุมทางการเมือง อันเนื่องมาจากมีสมาชิกราชวงศ์เสด็จไปในพื้นที่ ยังคงพบไม่น้อยกว่า 9 กรณี และยังมีการติดตามเพราะการลงพื้นที่ของบุคคลสำคัญอื่น ๆ อีกอย่างน้อย 3 กรณี
ดูรายละเอียดเพิ่มเติม ในรายงานฉบับเต็ม – Harassment Report (TLHR)