Cover Image ไข่แมวชีส
ภาพรวมการชุมนุม
ในเดือนมิถุนายน 2567 จำนวนการชุมนุมลดลงจากเดือนพฤษภาคมและยังถือได้ว่าในระยะเวลาครึ่งปีแรกในเดือนนี้มีการชุมนุมเกิดขึ้นน้อยที่สุด โดยการบันทึกและสังเกตการณ์การชุมนุมของโครงการ Mob Data Thailand พบในเดือนมิถุนายน 2567 มีการชุมนุมขนาดเล็กอย่างน้อย 24 ครั้ง แต่หากนับการชุมนุมปักหลักแยกหนึ่งวันเป็นหนึ่งครั้งจะมีการชุมนุมในเดือนนี้ 53 ครั้ง โดยเป็นการชุมนุมในกรุงเทพมหานคร 10 ครั้ง และมีการชุมนุมที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด 14 ครั้ง การชุมนุมที่ปรากฏดังกล่าวในเดือนมิถุนายนครอบคลุมในประเด็นดังหลักต่อไปนี้คือ 1.ประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวอันเนื่องจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 2.ประเด็นความหลากหลายทางเพศ 3.ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 4.ประเด็นเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรม เป็นต้น
รายละเอียดประเด็นในการชุมนุม
1.ประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัว
เนื่องจากว่าตั้งแต่มีการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2567 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ไปแล้วอย่างน้อย 1,954 คน ในจำนวน 1,297 คดี และยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมจำนวนอย่างน้อย 43 คน (เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 25 คน) แยกเป็น ผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 22 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 15 คน) เยาวชน 2 คน ถูกคุมขังในสถานพินิจฯ ตามคำสั่งมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษาของศาล (1 คน ในคดีมาตรา 112) ผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วถูกคุมขังในเรือนจำ จำนวนอย่างน้อย 19 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 9 คน จึงทำให้ประเด็นเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวถือเป็นประเด็นที่มีการชุมนุมอย่างต่อและยังคงเป็นประเด็นที่มีการชุมนุมมากที่สุดในแต่ละเดือน รวมถึงเดือนมิถุนายนเช่นเดียวกัน โดยมีการชุมนุมในประเด็นดังกล่าวถึง 8 ครั้ง ดังนี้
กลุ่ม ‘We, The People’ จัดกิจกรรม "ยืนหยุดทรราช" เชียงใหม่ ทุกวันเสาร์ของแต่ละสัปดาห์ เวลา 17.00 - 18.12 น. ที่บริเวณลานท่าแพ โดยเดือนมิถุนายน จัดกิจกรรมไป 4 ครั้ง ซึ่งเป็นการจัดกิจกรรมยืนหยุดทรราชเป็นสัปดาห์ที่ 94 (29 มิถุนายน 2567) เพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้แก่นักโทษทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยลักษณะกิจกรรมจะเป็นการยืนสงบนิ่ง 1.12 นาที พร้อมแสดงป้ายสัญลักษณ์ข้อความต่างๆเช่น คืนสิทธิการประกันตัว เป็นต้น
วันที่ 13 มิถุนายน 2567 มติชนออนไลน์ รายงานว่าที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม (สี่แยกคอกวัว) เขตพระนคร กรุงเทพฯ ‘Thumb rights’ (ทำไรท์), สหภาพคนทำงาน, มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (CrCF), กลุ่มโมกหลวงริมน้ำ, 24 มิถุนาประชาธิปไตย, เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน, กลุ่มสังคมนิยมแรงงาน ฝ่ายส่งเสริมมนุษยธรรมสากลและประชาธิปไตย องค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (อบจ.), องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และทะลุแก๊ส ร่วมจัดงานเสวนา ‘สิทธิประกันตัวสู่ปฏิรูปยุติธรรม’ต่อมา เมื่อเวลา 15.00 น. ประชาชนตั้งขบวนจากอนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ก่อนเดินไปยังสำนักประธานศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เรียกร้องสิทธิการประกันตัวและประกอบพิธีพิธีสงฆ์ ทำบุญระลึกถึงเนติพร พร้อมแถลงข่าวความคืบหน้าสอบสวนการเสียชีวิตา ระหว่างเดินขบวนมีการแจกใบปลิว “แถลงการณ์เพื่อสิทธิเสรีภาพและความยุติธรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน” ให้กับประชาชนที่เดินผ่าน ต่อมา เวลา 15.40 น. ขบวนถึงหน้า สำนักงานประธานศาลฎีกา เพื่อยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา จนถึงบรรยากาศเวลา 16.03 น. ผู้ร่วมกิจกรรม ร่วมวางดอกไม้ แสดงความอาลัยการจากไปของเนติพร ที่หน้าสำนักประธานศาลฎีกา และร่วมร้องเพลง ‘นักสู้ธุลีดิน’
ในวันเดียวกันคือวันที่ 13 มิถุนายน 2567 สำนักข่าวประชาไท รายงานว่า คณะประชาชนทวงความยุติธรรมปี 2553 (คปช.53) และญาติวีรชนคนเสื้อแดงเดินทางมายื่นหนังสือถึง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง "การดำเนินการที่เป็นจริงเพื่อทวงความยุติธรรมในกรณีเมษา-พฤษภา 2553 ให้ทันการณ์ในสมัยรัฐบาลนี้" โดย มงคลชัย สมอุดร รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นตัวแทนรับหนังสือโดยในจดหมายมีเนื้อหาที่สนับสนุนให้มีการนิรโทษกรรมที่รวมมาตรา 112 ด้วยเช่นเดียวกัน
วันที่ 20 มิถุนายน 2567 เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Get Surariddhidhamrong ซึ่งเป็นบัญชีเฟซบุ๊กของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง ซึ่งเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองที่ถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112 ตั้งแต่ วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ได้ประกาศจัดกิจกรรมเยี่ยมเพื่อนในเรือนจำ เวลา 14.00 น. วันดังกล่าว ภายใต้ชื่อกิจกรรมว่า “20 นาทีอันทรงคุณค่า ร่วมสร้างพลังบวก คนติดไม่ท้อคนรอไม่ทิ้ง” หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่ประชนเข้าร่วม อย่างน้อย 30 คน
และวันที่ 24 มิถุนายน 2567 กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์ได้จัด "ยืน หยุด ขัง" (อภิวัฒน์สู่ประชาธิปไตย เหตุใดยังไร้ความยุติธรรม) เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที สถานที่ ณ บริเวณฝั่งประตูพหลโยธิน ใกล้ BTS สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทางออก 1 เพื่อเรียกร้องการคืนสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมือง
2.ประเด็นความหลากหลายทางเพศ
เนื่องจากเดือนมิถุนายน เป็นเดือน Pride Month เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความภาคภูมิใจและความชอบในตัวตนที่แท้จริง อีกทั้งในเดือนนี้เอง ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่...) พ.ศ. .... หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม วาระที่ 2-3 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 18 เสียง การลงมติครั้งนี้ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายแต่งงานของบุคคลเพศเดียวกัน จึงทำให้ในเดือนดังกล่าวมีการจัดกิจกรรมในหลายจังหวัดดังนี้
วันที่ 1 มิถุนายน 2567 กรุงเทพมหานคร ร่วมกับนฤมิตไพรด์ จัดงาน ‘Bangkok Pride Festival 2024’ ภายใต้แนวคิด Celebration of Love นับถอยหลังสู่การใช้กฎหมายสมรสเท่าเทียมก่อนสิ้นปี 2567 โดยขบวนพาเหรด เริ่มตั้งแต่บริเวณสนามกีฬาเทพหัสดิน และปล่อยขบวนที่ประตูใหญ่ หน้าอาคารกีฬานิมิบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ เดินบนถนนพระราม 1 มุ่งหน้าสู่แยกราชประสงค์ บริเวณลานเซ็นทรัลเวิลด์ รวมระยะทางกว่า 2.5 กิโลเมตร สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี,คุณแพรทองธาร ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย รวมถึงคุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เข้าร่วมงาน และร่วมเดินขบวนพาเหรดไปพร้อมๆ กับชาว LGBTQIAN+
ทั้งนี้เวลาประมาน 14.00 น. ขณะที่ คุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กำลังขึ้นพูดเพื่อเปิดงานบนเวที ระหว่างนั้น เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (มูฟดิ) คือหนึ่งในกลุ่มที่สมัครร่วมขบวนไพร์ดพาเหรดของขบวนที่ 3 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ร่วมกับตัวแทนเครือข่ายประชาสังคม และกลุ่มประชากรต่าง ๆ เช่น คนตาบอด เยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่ม LBT (Lesbian, Bisexual และ Transgender) เครือข่ายสตรี คนทำงานแรงงานข้ามชาติ ผู้ใช้สารเสพติด ผู้ปฏิบัติงานวิชาการด้านสุขภาพ รวมทั้งเยาวชนที่ทำงานประเด็นนักเรียนในโรงเรียน และอาสาสมัคร จำนวนมากกว่า 50 คน พวกเขาแสดงออกผ่านแผ่นป้ายภาพหน้าของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมข้อความ เช่น “นายกฯ (เพื่อ) ไทย เมื่อไหร่จะเซ็นรับรอง ร่าง พ.ร.บ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล” อย่างไรก็ตามมีข้อสังเกตจาก มูฟดิ ว่า เป็นที่น่าเสียดายเมื่อหนังสือที่เครือข่ายฯ ตระเตรียมไว้เพื่อจะนำไปยื่นถึงมือนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ที่มาร่วมเดินขบวนในวันนั้น ไม่ได้อยู่ในความพึงพอใจให้ยื่นในวันดังกล่าว แม้จะยืนยันถึงรูปแบบการเดินขบวนชัดเจนว่า เป็นขบวนรณรงค์เพื่อให้นายกรัฐมนตรี พิจารณารับรอง ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล(ฉบับประชาชน) เท่านั้น เวลาประมาณ 17.46 น. ขณะที่ขบวน Bangkok Pride 2024 กำลังเคลื่อนไปแยกราชประสงค์ ผู้ร่วมขบวน Bangkok Pride 2024 จำนวนหนึ่งตะโกนข้อเรียกร้องปล่อยตัวนักโทษการเมือง นิรโทษกรรมประชาชน พร้อมถือป้ายรณรงค์รูปภาพของ 'บุ้ง ทะลุวัง' นักโทษการเมืองที่หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตลงระหว่างการอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัว เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 พร้อมมีการเขียนข้อความ “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”
ขณะเดียวกันเวลาประมาณ 17.52 น. บริเวณหอศิลป์ฯ กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องการหยุดยิงในฉนวนกาซา เดินขบวนถือป้ายรณรงค์ และตะโกนข้อเรียกร้องต่ออิสราเอลให้หยุดโจมตีทันที โดยขบวนดังกล่าวเป็นหนึ่งในขบวนที่ร่วมกิจกรรม Bangkok Pride 2024 นอกจาก Bangkok Pride ยังมีการจัดกิจกรรมในจังหวัดอื่นๆ เช่น Isaan Pride Festival 2024 จังหวัดขอนแก่น , Discover Phuket PRIDE 2024 จังหวัดภูเก็ต , งานเทศกาลพัทยา อินเตอร์เนชั่นแนล ไพรด์ 2024 จังหวัด ชลบุรี , Pride Nation Samui International Festival จังหวัดสุราษฎร์ธานี และ HATYAIPRIDEFEST2024 จังหวัดสงขลา เป็นต้น
3.ประเด็นทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
อีกหนึ่งประเด็นที่เป็นประเด็นที่มีการชุมเรียกร้องจากพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่ แต่มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง คือประเด็นทรัพยากรณ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเดือนนี้มีการชุมนุมในประเด็นดังกล่าว อย่างน้อย 4 ครั้ง ดังนี้
วันที่ 5 มิถุนายน 2567 เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่และเครือข่ายรานงาน สืบเนื่องจากวันที่ 5 มิ.ย. ของทุกปีเป็นวันสิ่งแวดล้อมโลก ปีนี้สภาวะโลกเดือดกลายเป็นปัญหาหลักที่สร้างผลกระทบให้กับประชาชนทั่วโลก ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ร่วมกับโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (PPM), มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (Enlaw), มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (CRC) และ องค์กร Protection International (PI) ซึ่งประกอบไปด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากหลากหลายเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบและกำลังจะได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองจึงได้ร่วมกันเปิดปฏิบัติการฟ้องยกเลิกนโยบายเพื่อแก้โลกเดือด โดยมีการแสดงป้ายสัญลักษณ์ เช่นข้อความ “ฟ้องเหมืองแร่แก้โลกเดือด” พร้อมกันในหลายๆจังหวัดที่มีโครงการเหมืองแร่ เช่น จังหวัดชัยภูมิ สกลนคร หรืออุดรธานี ที่เป็นแหล่งแร่ขนาดใหญ่ เป็นต้น
วันที่ 7 มิถุนายน 2567 ชุมชนห้วยหินลาดใน ชุมชนห้วยหินลาดนอก และชุมชนบ้านผาเยือง ต.บ้านโป่ง อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงราย ได้เดินทางไปยังสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 จ.เชียงราย ให้ตรวจสอบกรณีเจ้าหน้าที่ชุดดำเข้าดำเนินการอันเป็นการบุกรุกและทำลายทรัพย์สินในพื้นที่ชุมชนและไร่หมุนเวียนของชาวปกาเกอะญอ บ้านห้วยหินลาดใน อ.เวียงป่าเป้า จ.เชียงรายเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา โดยมีธนชัย จิตนาวณิชย์ ผู้อำนวยการส่วนป้องกันรักษาป่าและควบคุมไฟป่า เป็นตัวแทนรับหนังสือจากทางชุมชน ก่อนทางหน่วยงานจะเชิญทางชุมชนเข้ารับฟังการชี้แจงในห้องประชุม โดยทางกลุ่มที่จัดกิจกรรมได้แสดงป้ายเชิงสัญลักษณ์เช่นเดียวกันโดยมีข้อความ เช่น “ใครกันที่คุกคามเรา” “หยุดคุกคาม” เป็นต้น
วันที่ 18 มิถุนายน 2567 ณ ศาลากลางจังหวัดลำปาง สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจังหวัดลำปาง (สกน.ลำปาง) เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเพื่อสะท้อนปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนในพื้นที่ จากกฎหมาย นโยบาย และคำสั่งที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พยายามเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทย ตั้งแต่กรณีนโยบายทวงคืนผืนป่า หรือคำสั่งคสช.ที่ 64/2557 โครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายของรัฐ
วันที่ 25 มิถุนายน 2567 ณ ศาลาประชาคม หมู่ที่ 10 ตำบลเขากะลา อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ มีกำหนดการจัดเวทีประชุมรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนครั้งที่ 2 ของโครงการทำเหมืองหินอุตสาหกรรม ซึ่งจัดโดยบริษัท ตถาตาสิ่งแวดล้อม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาสิ่งแวดล้อม คำขอประทานบัตรที่ 3/2565 หมายเลขหลักหมายเลขเขตเหมืองแร่ที่ 32335 ของบริษัท 347 ดีเวลลอปเปอร์ จำกัด เครือข่ายชุมชนและชาวบ้านกลุ่มรักเขากะลาไม่น้อยกว่า 150 คน จึงนัดหมายกันออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน เนื่องจากเห็นว่า เขากะลาเป็นแหล่งน้ำซับน้ำซึม เป็นแหล่งอาหารและสมุนไพรพื้นบ้าน และเป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศให้ชาวบ้านกับป่าได้พึ่งพาอาศัยกันอย่างสมดุล หากเกิดการสร้างเหมืองหินและระเบิดเขา จะก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศและมลพิษทางเสียง ส่งผลกระทบต่อการทำเกษตรกรรม รวมถึงชุมชนเขากะลาที่เป็นแหล่งน้ำสัมพันธ์กับบึงบอระเพ็ดในฤดูฝนก็จะปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
4.ประเด็นเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรม
ในเดือนนี้มีการชุมนุมประท้วงในประเด็นที่มีการเรียกร้องต่อกระบวนการยุติธรรมอย่างน้อย 3 กรณี โดยจะมีรายละเอียดดังนี้
วันที่ 4 มิถุนายน 2567 เวลา 13.30 น. สิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พี่สาวของวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ พร้อมด้วย พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ประกายดาว พฤกษาเกษมสุข เดินทางยื่นหนังสือถึงแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เรื่อง ทวงถามปัญหา 9 กรณีอุ้มหาย หลังรัฐประหารปี 2557 ที่สำนักงานใหญ่พรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรี ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าระหว่างรอตัวแทนของพรรคเพื่อไทยมารับหนังสือ นภสินธุ์ หรือ สายน้ำ ได้เป่าแตร เพื่อรอให้ตัวแทนพรรคเพื่อไทยมารับอยู่เป็นระยะ ต่อมามี ครูมานิตย์ สังข์พุ่ม รองประธานวิปรัฐบาล พัฒนา สัพโส สส.สกลนคร วันนิวัติ สมบูรณ์ สส.ขอนแก่น เป็นตัวแทนพรรคมารับหนังสือ
วันที่ 14 มิถุนายน 2567 เวลา 17.00 น. ที่หน้าศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กลุ่มประชาชนจัดกิจกรรม "ครบเดือน…ที่เพื่อนเราจากไป" กรณีการเสียชีวิตของ เนติพร เสน่ห์สังคม หรือ บุ้ง นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ที่เสียชีวิตครบ 1 เดือน จากการถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี และภาวะภายหลังจากการอดอาหารประท้วง โดยประชาชนประมาณ 50 คน ร่วมกันแต่งชุดขาว จากนั้นร่วมพิธีกรรมบำเพ็ญกุศลรำลึกในโอกาสครบรอบ 30 วันการเสียชีวิต โดยมี สมณะดาวดิน ปฐวัตโต และ พระประนมกรพุทธิเชฏโฐ เป็นพระสงฆ์ประกอบพิธีดังกล่าว จากนั้นเป็นกิจกรรมยืนหยุดขัง 1 ชั่วโมง 12 นาทีและมีการแสดงดนตรีสดจากนายหนวด ริมทาง ผู้สื่อข่าวรายงานก้วยว่า วันนี้มี ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ ณัฐนิช ดวงมุสิทธิ์ หรือ ใบปอ อันนา อันนานนท์ ร่วมกิจกรรม เมื่อกิจกรรมยืนหยุดขังเสร็จแล้ว ได้มีการวางดอกไม้ จุดเทียน ไว้อาลัย ก่อนยุติกิจกรรมในเวลา 19.30 น.
วันที่ 19 มิถุนายน 2567 โมกหลวงริมน้ำ และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย โดยธนภัทร ธรรมโชติ, ธิติมา ทองศรี แอนนา แอนนานนท์, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และเครือข่ายอีกจำนวน 15 คน รวมตัวกันกันที่ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ถือป้ายข้อความคืนสิทธิประกันตัว พร้อมด้วยรูปภาพของสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ หรือ ขนุน นักศึกษาปริญญาโท อายุ 23 ปี ผู้ต้องหาในคดี ม.112 ผู้ที่มาร่วมกิจกรรมมีการตะโกนข้อความ “จากแม่น้ำถึงขุนเขาปล่อยเพื่อนเราเดี๋ยวนี้” โดยสุชาติ เศรษฐมาลินี และ ปิติกาญจน์ สิทธิเดช ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้มารับหนังสือร้องเรียนจากโมกหลวงริมน้ำและกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย
นอกจาก 4 ประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นแล้วยังมีการชุมนุมในประเด็นอื่นๆ เช่น
กิจกรรมของมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์และตัวแทนพนักงานบริการ เมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2567 ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รวมตัวติดตามความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ.มาตรการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ซึ่งร่างกฎหมายฉบับนี้ได้ผ่านการจัดทำและรับฟังความคิดเห็นมานานกว่า 5 ปี ,
วันที่ 24 มิถุนายน 2567 คณะก่อการล้านนาใหม่ จัดกิจกรรม “92 ปี 2475 กว่าประชาชนจะครองอำนาจนำ” ภายในงานมีการเดินขบวน เพื่อเป็นการรำลึก 92 ปี การอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ประชาธิปไตย และแสดงเจตนารมย์สร้างรัฐธรรมนูญด้วยมือประชาชน โดยมีการขับขบวนรถแห่ตั้งแต่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์รอบถนนคูเมืองและสิ้นสุดเส้นทางประตูท่าแพ โดยที่ประตูท่าแพได้มีการโยนกระดาษที่มีคิวอาร์โค้ดซึ่งหากสแกนจะพบประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 และตลอดทั้งกิจกรรมมีป้ายให้ประชาชนร่วมติดสติกเกอร์แสดงความคิดเห็ว่า เห็นชอบ ไม่ชอบ และไม่แสดงความเห็น ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์
สุดท้ายคือการชุมนุมของกลุ่มเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท) และ ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)ที่มีการชุมนุมปักหลัก บริเวณเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ ข้างทำเนียบรัฐบาล ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งก่อนหน้านี้มีการแจ้งชุมนุมสาธารณะไว้กับ พ.ต.อ.วันชัย วงศ์วาณิชอนันต์ ผกก.สน.ดุสิต ว่า จะชุมนุมเป็นเวลา 1 เดือน ยุติในวันที่ 2 มีนาคม 2567 แต่ยังมีการปักหลักต่อเนื่อง จนถึง 30 มิถุนายน2567 โดยมีข้อเรียกร้องของ คือ 1. ให้นำตัวนายทักษิณกลับเข้าเรือนจำ 2. ให้หน่วยราชการที่เกี่ยวข้องต้องถูกลงโทษกรณีช่วยเหลือนายทักษิณ 3. เรียกร้องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินออกมาชี้แจงกรณีที่ทางกรมราชทัณฑ์ บอกว่า ได้ขึ้นไปพบนายทักษิณชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ 4. เรียกร้องไปยังบุคลากรด้านกฎหมาย ให้แสดงจุดยืน กรณีของนายทักษิณ ว่าเป็นการทำลายระบบยุติธรรม หรือไม่ 5. เชิญชวนประชาชนเข้าชื่อประชาชน 2 หมื่นรายชื่อ เพื่อดำเนินการกับ ป.ป.ช.ที่ไม่ตรวจสอบผู้กระทำความผิด กรณีช่วยเหลือนายทักษิณ